ประเทศเราช่างรีเมคละครบ่อยพอๆ กับรัฐประหาร ราวกับว่าโลกทัศน์ รสนิยม หรือตรรกะอะไรใดๆ ของผู้ผลิตผู้เสพไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ทั้งๆ ที่อันที่จริงการดำรงวิถีชีวิตของผู้คนนอกจอทีวีได้เปลี่ยนแปลงไปไกลแล้ว แต่ชีวิตตัวละครในทีวียังคงมีพล็อตเรื่องเดิมๆ ที่อุปสรรคความรักยังคงเป็นเรื่องของความต่างทางชนชั้นฐานะ ชีวิตที่ต่างกันเป็นขั้วตรงข้ามระหว่างคนจนในชนบทกับชนชั้นกลางระดับบนในเมืองใหญ่ พล็อตเรื่องไม่ได้ซับซ้อนอะไร มีแต่ช่องว่างทางสังคม
เหมือนละคร ‘สะใภ้ไร้ศักดินา’ ที่มาจากบทประพันธ์โดย ‘เพ็ญศิริ’ นามปากกาของ เพ็ญศิริ ซ้ายจันทึก ที่มีนวนิยายจำนวนมากเช่น เขยมะริกัน บัลลังก์มาร พ่อมาลัยริมทาง เทพธิดารำวง หรือเรื่อง บ่วงเล่ห์เสน่หา, เพลิงทระนง ที่ใช้นามปากกา ‘รมณีย์กร’ ที่ออกฉายครั้งแรกในปี พ.ศ.2544 ดังเปรี้ยงปร้างจนทำภาค 2 ในปี พ.ศ.2554 ด้วยชื่อละคร ‘สะใภ้ไม่ไร้ศักดินา’ ที่นางเอกจากภาคแรกเล่นบทเป็นแม่นางเอกแทน
แต่ก็นั่นแหละ พล็อตเรื่องหลักก็ยังคงเป็นความเหลื่อมล้ำช่วงชั้นทางเศรษฐกิจ ภูมิลำเนาถิ่นเกิด ความแตกต่างระหว่างคนจนคนรวย กรุงเทพและ ‘ต่างจังหวัด’ นางเอกมาจากแม่ค้าขายส้มตำจากบ้านนาแกลบ ฐานะยากจนติดหนี้ คือเธอไม่เป็นผู้ดี ไม่มีสถานะทางสังคม ชอบร้องเพลงลูกทุ่งที่ถูกให้เป็นภาพตัวแทนของ ‘คนต่างจังหวัด’ ‘คนบ้านนอกคอกนา’ ส่วนพระเอกอยู่คฤหสน์หลังใหญ่โตอลังการมลังมะเลืองในเมืองหลวง เป็นลูกคุณแม่คุณหญิงคุณนายตัวดีรังเกียจคนจน
เช่นเดียวกับคำว่า ‘ศักดินา’ ที่แทบจะไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตแล้วในยุคสมัยปัจจุบัน ความหมายของ ศักดินา ที่เป็นมาตรแบ่งช่วงชั้นบุคคลลดหลั่นกันผ่านชาติกำเนิด ในยุคสมัยที่อำนาจวาสนาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ติดตัวมาแต่กำเนิดและไม่เท่าเทียมกัน ในปัจจุบัน ศักดินาจึงกลายเป็นคำประชดประชันแดกดันมากกว่าเพื่อยกย่องเชิดชูบุคคลว่าสูงส่งยิ่งใหญ่กว่าผู้อื่น เช่นคำว่า ‘ซากเดนศักดินา’
ช่องว่างทางฐานะทางเศรษฐกิจที่เป็นอุปสรรคสำคัญของเรื่องก็เป็นพล็อตที่เชยแสนเชย พอๆ กับชุดความเข้าใจว่าความหมายภาพจำของชนบทและคนต่างจังหวัด (ในความหมายที่กรุงเทพเป็นศูนย์กลาง จังหวัดอื่น เท่ากับ ต่างจังหวัด หมด) ต้องยากจน ตลก เปิ่นเซ่อซ่าเพราะมีพติกรรมหลุดออกไปจากบรรทัดฐานที่กรุงเทพเป็นศูนย์กลาง
การจะรีเมคละครสักเรื่อง หรือการนำนวนิยายสักเรื่องมาผลิตละครจึงต้องคิดหนักว่าความคิดความอ่านผู้ชมเค้าไปถึงไหนกันแล้ว อย่างไรก็ตามละครหลายเรื่องก็ยังคงรีเมคกันต่อไป มีเวอร์ชั่นต่าง ๆ ที่ต่างมีอะไรให้จดจำ เช่นสะใภ้ไร้ศักดินาเวอร์ชั่นแรกปี พ.ศ.2544 ก็ได้สร้างตำนานเพลงที่คนจำชื่อเพลงได้มากกว่าชื่อละครอย่างเพลง ‘โดเรมี’ โดยเฉพาะ ‘กินจุ๊บจิ๊บ’ ที่จำได้ถึงขั้นเมโลดี้
…กินจุ๊บจิ๊บ กินจุ๊บจิ๊บ กินจุ๊บกินจิ๊บกินจุ๊บจิ๊บ… ตือดึ้ดตือดึด ตึ้ด!
ทว่าเวอร์ชั่น พ.ศ.2563 ฉายได้ไม่กี่ EP ก็ได้สร้างฉากภาพติดตาซะแล้ว นั่นคือฉากพระเอกบีบขยำนมนางเอกเล่นอย่างมันมือไม่ว่านางเอกจะดิ้นรนขัดขืนอย่างไรก็ตาม ซึ่งก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของบรรดาหลายฉากหลายซีนที่พระเอกจะซุกนมนางเอกด้วยความไม่ตั้งใจซ้ำไปซ้ำมา แต่ถูกนำเสนอให้เป็นเรื่องเบาสมอง จุดขายขำของละครไป
เอาจริงๆ นะ ไม่ว่าเพศใดก็ตาม
การถูกลวนลามล่วงละเมิดเนื้อตัวร่างกาย มันไม่ขำ
การถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าซีนนี้ ‘ไม่เหมาะสม’ ก็ออกจะเบาไปด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นจริยธรรมที่ไม่ว่าใครก็ต้องเคารพเนื้อตัวร่างกายผู้อื่น ซึ่งคำว่า ‘จริยธรรม’ แปลเปรียบเทียบกับ ‘ethic’ มาจากคำภาษากรีก ethos หมายถึง ลักษณะ กิจวัตร ขนบธรรมเนียม ประเพณี ศีลธรรมซึ่งมีสำนึกของการให้คุณค่า ‘ดี-เลว’ ‘ถูก-ผิด’
เนื่องด้วยสำนึกและเพดานความคิดของคนดูทีวีที่มีพัฒนาการและ civilized มากขึ้นเรื่อยๆ ฉากล่วงละเมิดทางเพศไม่ว่าจะแต๊ะอั๋งไปจนถึงพระเอกข่มขืนนางเอก คนดูชักจะไม่อินแล้ว แต่ทว่าบุคลากรในวงการบันเทิงก็ไม่ได้นำพา ทั้งคนกำกับ คนเขียนบท นักแสดง ยังคงผลิตซ้ำละครหรือฉากแนวนี้เสมอๆ
ที่ผ่านมาก็มีนักเคลื่อนไหวทางสังคม นักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์มากมายจนปากเปียกปากแฉะ มีกระแสโจมตีจากคอละครไปยังผู้จัดผู้ผลิตและช่องหลายครั้ง ที่ผลิตเรื่องราวพระเอกข่มขืน ขืนใจนางเอก พระเอกลักพาตัวนางเอกไปทรมานทรกรรม ปฏิบัติอย่างกับปศุสัตว์หรือแรงงานทาส แต่ถูกนำเสนอในฐานะกระบวนการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ทำให้นางเอกรักพระเอกในที่สุด เรียกรวมๆ ว่าละครตบจูบ ซึ่งละครพรรค์นี้ควรจะตายไปพร้อมกับ พิศาล อัครเศรณี เสียด้วยซ้ำ ที่พิศาลได้กลายเป็นเจ้าพ่อหนังละครตบจูบในตำนานที่ควรจะเป็นตำนานจริงๆ เป็นหลักไมล์บอกยุคสมัยว่าครั้งหนึ่งอุตสาหกรรมบันเทิงเคยนิยมผลิตอะไรแนวนี้
เพราะละครหรือนวนิยายบางเรื่องมีเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ ทำหน้าที่หมุดหมายกาลเวลาช่วงนั้นๆ ที่ละครบางเรื่องก็ไม่อาจจะนำมารีเมคได้อีก เช่นเดียวกับนิยายบางเรื่องก็ไม่น่าจะนำมาสร้างเป็นละครได้ หรือถ้าคนทำกระเหี้ยนกระหือรือจะทำจริงๆ ก็ทำได้เป็นละครพีเรียด ทำหน้าที่เพียงบันทึกประวัติศาสตร์สังคมว่าครั้งหนึ่ง สังคมเคยป่าเถื่อนไร้จริยธรรม ถึงขั้นการลักภาพตัว ล่ามโซ่ โขกสับด่าทอทรมาน ข่มขืน เป็นความรักกุ๊กกิ๊กจิกหมอนได้
เช่นเดียวกับละครที่ละเมิดจริยธรรมแต่กลายเป็นเค้าโครงหลัก
ของนิยายและละครรีเมคบางเรื่องอย่าง ‘ปัญญาชนก้นครัว’
แต่งโดย วินิตา ดิถียนต์ในนามปากกา ว.วินิจฉัยกุล ว่าด้วยตัวละครเอกเป็นนักศึกษาสาวปีสุดท้ายที่ต้องส่งวิทยานิพนธ์เป็นบทละครในวิชาการละคร ซึ่งถูกอาจารย์ตีว่ายังไม่เข้าถึงตัวละครคนจน เพราะชีวิตจริงของนางเป็นลูกเศรษฐี ไม่เคยสัมผัสชีวิตคนทำความสะอาดบ้าน ประกอบอาชีพใช้แรงงาน นางจึงปลอมตัวเข้าไปเป็น ‘คนใช้’ เก็บข้อมูลในครอบครัวใหญ่บ้านคนรวย แถมในที่สุดก็ได้กับลูกชายเจ้าของบ้านนั้นซึ่งเป็นพระเอกของเรื่อง
นิยายเรื่องดังนี้พิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2528 ได้เป็นทั้งภาพยนตร์ในปี พ.ศ.2529 และละครโทรทัศน์ในปี พ.ศ.2531 และผลิตซ้ำเรื่อยตั้งแต่ พ.ศ.2542, พ.ศ.2548, และ พ.ศ.2555 ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายจริยธรรมการวิจัยอย่างมาก เพราะเธอไม่เพียงปลอมตัวเข้าไปทำวิจัยแต่ยังได้กับบุคคลที่อยู่ในกลุ่มที่ต้องสังเกตการณ์ในการทำวิจัยด้วย ซึ่งผิดหลักจริยธรรมในการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์อย่างยิ่ง ที่มีกฎว่าผู้วิจัยต้องเปิดเผยตัวตนนักวิจัยและจะไม่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับ ‘subject’ ที่เข้าไปศึกษา ซึ่งในปัญญาชนก้นครัว subject ในเรื่องก็คือพระเอก
เนื่องจากในโลกของการทำวิจัยศึกษาหาความรู้ เริ่มมีหลักการคำนึงถึงจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์จริงๆ จังๆ ก็หลังจาก Tuskegee Syphilis Study (1932 – 1972) ที่ได้รับการสนับสนุนโดย the U.S. Department of Health ทำวิจัยกับชาว Afro-American ชายรายได้ต่ำ 600 คนใน Tuskegee และ Alabama ซึ่ง 400 คนในจำนวนนั้นติดเชื้อซิฟิลิส ให้เข้าร่วมการทดลองรับยาปฏิชีวนะฟรีและการตรวจสอบสังเกตการณ์ถึง 40 ปี โดยไม่ได้รู้หัวข้อและเนื้อหาการทดลอง แม้แต่ยาที่ให้ทดลอง ก่อนที่สรรพคุณของยาจะได้รับการพิสูจน์และยอมรับในช่วง 1950s เพราะทีมวิจัยเกรงว่าหากรู้ข้อมูลแล้ว ผู้เข้าร่วมจะใช้อำนาจตัดสินใจด้วยตนเองปฎิเสธการทดลอง ต่อมานักวิจัยลองยุติการให้ยาเอง และยินดีให้ผู้เข้าร่วมทดลองก็ปฏิเสธการรับยาด้วย นักวิจัยเองก็รู้อยู่แก่ใจว่าจะทำให้เชื้อโรคดื้อยา ด้วยเหตุนี้มีผู้เข้าร่วมการทดลองทรมานและตายจำนวนมากในโครงการทดลองนี้[1]
งานวิจัยนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า หลอกใช้และทรมานคนจนที่ไม่ได้รับการศึกษา ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลการรักษาและการแพทย์ และนั่นก็นำไปสู่ ‘หลักจริยธรรมการทำวิจัยในคนทั่วไป’ (Ethical Principles and Guidelines for the Protection of Human Subjects of Research) รู้จักกันในนาม “the Belmont Report” เมื่อปี ค.ศ.1979 อันประกอบไปด้วยหลัก 3 ประการ คือ หลักความเคารพในบุคคล (Respect for person), หลักคุณประโยชน์ ไม่ก่ออันตราย (Beneficence), หลักความยุติธรรม (Justice)
ขนานไปกับยุค Third Reich ของเยอรมนี รัฐบาลนาซีก็มีการจับเชลยในค่ายกักกัน บังคับให้ทดลองทางการแพทย์ต่างๆ นานาอย่างไร้มนุษยธรรม ตั้งแต่การศึกษาโรคมาลาเรียโดยให้คนติดเชื้อมาลาเรียจริงๆ, จับแช่เยือกแข็งเพื่อศึกษาวิจัยเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายอันเนื่องมาจากความเย็นจัด, การต้านทานแรงกดอากาศด้วยการปล่อยมนุษย์ในระดับความสูงต่างๆ จากน้ำทะเล ไปจนถึงใช้ร่างกายในการทดลองสารเคมี, แก๊ส, ไวรัส, เชื้อแบคทีเรีย, ยาพิษ, และอุปกรณ์ทางอุตสาหกรรม โดยไม่คำนึงหลักการทางวิทยาศาสตร์หรือชีวิตของผู้ต้องถูกเข้าร่วมการทดลอง มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมหาศาล แลกกับการสร้างคุณูปการทางความรู้เล็กๆน้อยๆและไม่สำคัญ[2]
ดังนั้นหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่เพียงบรรดาแพทย์และนักทดลองจะถูกตัดสินลงโทษยังนำไปสู่ Nuremberg Code (1949) สำหรับการวิจัยทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ในมนุษย์ที่จะไม่ทำให้เป็นอันตรายต่อมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เข้าร่วมการวิจัยการทดลองต้องสมัครใจ อนุญาตให้ทำการทดลองได้ โดยไม่ถูกบีบบังคับหรือหลอกลวง ซึ่งถือว่าเป็นการให้อำนาจในการตัดสินใจที่จะเข้าหรือไม่เข้าร่วมการวิจัยซึ่งจะต้องเข้าถึงข้อมูลในการทำวิจัย
และจริยธรรมการวิจัยที่ถือกำเนิดมาจากสายวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข ก็ได้แพร่ไปสู่โลกวิชาการสายต่างๆ รวมทั้งสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา
เช่นเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่เมื่อก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2499 มีชื่อว่า สภาวิจัยแห่งชาติ (เปลี่ยนชื่อในปี พ.ศ.2515) ที่เน้นและโตมากับวิชาสายวิทย์ คณิต หมอ เกษตร เทคโนโลยี มาตลอด แต่ก็เริ่มให้ความสนใจสายสังคมขึ้นมาบ้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2502 ก็ได้กำหนด ‘จรรยาบรรณนักวิจัย’ ให้เป็นจริยธรรมในการวิจัย 9 ประการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2541[3] ที่ให้คุณค่าอำนาจผู้ที่กำลังจะถูกศึกษาวิจัยว่าสามารถตัดสินใจที่จะให้ข้อมูล เลือกให้ข้อมูลบางประการหรือหยุดที่จะให้ข้อมูลเมื่อไหรก็ได้ตามใจชอบ และผู้ศึกษาวิจัยจะต้องตั้งคำถามด้วยความรอบคอบระมัดระวัง ต้องเคารพศักดิ์ศรีและสิทธิของมนุษย์ไม่หลอกล่อ หลอกลวง ตาม ข้อ 4 ข้อ 5 และในข้อ 6 นักวิจัยจะต้องอิสระทางความคิด ปราศจากอคติ ไม่ว่าจะส่วนตนหรือทางวิชาการ ที่หลายคนเชื่อว่าการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ถูกวิจัยจะจูงไปสู่ความลำเอียงเป็นการส่วนตัว
ฉะนั้นผู้วิจัยจึงไม่สามารถปลอมตัวตีเนียนปะปนเข้าไปในกลุ่มที่ตนศึกษาเพื่อสืบแสวงหาข้อมูลโดยที่ไม่เปิดเผยตัวตน เพราะนั่นเท่ากับกีดกันไม่ให้ผู้ให้ข้อมูลรับรู้จุดประสงค์ เป็นการหลอกลวง ล่วงละเมิดผู้อื่นเหมือนตัวละคร ‘ชะเอม’ ในปัญญาชนก้นครัว”
กลับมาที่การล่วงละเมิดทางเพศ หรือ sexual harassment ในหนังละคร
ที่นับวันยิ่งกลายเป็นสิ่งที่ผู้ชมไม่สามารถอดทนอดกลั้นชมได้อีกต่อไป
เช่นกรณีล่าสุดกับ สะใภ้ไร้ศักดินา พ.ศ.2563 ที่ทางช่องทีวีต้องออกมาอธิบายต่อปฏิกิริยาทางสังคม แต่ดูเหมือนว่ายิ่งสะท้อนถึงความไม่สนสี่สนแปดจริง ๆ ตามบางใจความสำคัญว่า
“ขออภัยที่ฉากจากละคร “สะใภ้ไร้ศักดินา” อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสังคม โดยเนื้อหาในละครมีจุดประสงค์เพื่อสร้างอรรถรสความบันเทิงเท่านั้น มิได้มีเจตนาสื่อหรือชี้นำให้เกิดการคุกคามทางเพศแต่อย่างใด”
อ้าว…ว่าบาปให้คนดูไปอีกว่า เป็นความเข้าใจผิดของคนดูเอง ละครไม่ได้จะสื่อถึงการคุกคามทางเพศสักหน่อย มันเป็นเรื่องตลกบันเทิง พวกมึงไม่มี sense of humor เองเด้อ
ฉากขยำนมในสะใภ้ไร้ศักดินา พ.ศ.2563 จึงเป็นกรณีที่ตรงกันข้ามกับหนังบางประเภทหรือ porn บาง genre ที่เป็นความตั้งใจเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของรสนิยมทางเพศหรือเพศวิถีบางกลุ่มที่ไม่สามารถทำได้ในโลกแห่งความเป็นจริง และเพื่อไม่ให้ออกไปทำแบบนี้กับใครก็ได้ เช่นล่อลวงให้มีเพศสัมพันธ์ เอากับเด็กไม่บรรลุนิติภาวะ ข่มขืน ใช้ความรุนแรง หรือเอากับสมาชิกในครอบครัว ทั้งนักแสดง ผู้ผลิตและผู้บริโภคต่างเข้าใจแล้วว่านี่คือการแสดง หรือแม้แต่หนังตบจูบทารุณกรรมของ พิศาล อัครเศรณี ที่ถูกอธิบายภายหลังว่าเป็นการปลดปล่อยความตึงเครียดของสังคมที่เต็มไปด้วยการจัดลำดับช่วงชั้นชนชั้นแรงงานกับชนชั้นกลางพวกผู้ดี
ท่ามกลางผู้บริโภคละครหน้าจอทีวีที่เพดานความคิดได้รับการยกระดับไปไหนต่อไหนแล้ว เริ่มตระหนักถึงสิทธิเนื้อตัวร่างกาย คุณค่าความเป็นคน และมีจริยธรรมที่คำนึงถึงเพื่อนมนุษย์กันมากขึ้น ผู้ผลิตละครสามารถปรับตัวตามได้เพียงเริ่มมี GPS, smartphone, social media, CCTV. Google maps, Drone ยัดใส่เข้าไปในละครบ้าง มีการปรับละครรีเมคให้ไวเครื่องไม้เครื่องมือเทคโนโลยี แต่จริยธรรมและเพดานความคิดกลับเดินทางช้ากว่า เหมือนกับในสะใภ้ไร้ศักดินา รีเมคปี พ.ศ.2563 ได้เปลี่ยนเรื่องราวจากค่ายคณะดนตรี เป็น youtuber เพื่อให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนไป แต่ยังคงดำรงให้การคุกคามลวนลามทางเพศ เป็นเรื่องสนุกสนานบันเทิงอยู่
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Barnbaum, D., & Michael, B. (2001). Research ethics. Englewood Cliffs: Prentice Hall. ; James Jones. (2001). Bad Blood: The Tuskegee Syphilis Experiment, Heintzelman. ; Robin Levin Penslar(editor). (1995). Research Ethics: Cases and Materials. Bloomington and Indianapolis: Indiana University Press.
[2]Proctor, R. N. (1988). Racial hygiene: Medicine under the Nazis. Cambridge, MA: Harvard University Press. ; Spitz, V. (2005). Doctors from Hell. Boulder: Sentient.; Weindling, P. (2005). Nazi medicine and the Nuremberg Trials. Basingstoke: Palgrave Macmillan.
[3] สภาวิจัยแห่งชาติ . (2552). จรรยาบรรณนักวิจัย และ แนวทางปฏิบัติ. กรุงเทพ: สานักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ