พอดีหนูมีเรื่องอยากปรึกษาคุณพ่อคุณแม่ค่ะ…
เวลามีปัญหาอะไรสักอย่างแล้วลูกอยากนั่งคุยกับพ่อแม่อย่างจริงจัง บางทีคนเป็นพ่อแม่ก็มักจะเมินเฉย หรือทำเหมือนไม่สนใจ จนกลายเป็นว่าพอมีปัญหาครั้งถัดไป ลูกๆ ก็แทบไม่อยากจะคุยกับพวกเขา เพราะแอบหวั่นไม่น้อยว่าจะไม่ได้รับการสนใจเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา
หลายปัญหาถูกนิ่งเฉย จนอาจรวมไปถึงปัญหาเกี่ยวกับความรุนแรงอย่างการถูกคุกคามทางเพศด้วยเช่นกัน ซึ่งหลายครั้งจากปัญหาเล็กๆ ที่ไม่ได้รับความสนใจ ไปถึงการเพิกเฉยในปัญหาใหญ่ ก็อาจทำให้เป็นปัญหาต่อตัวเด็กในระยะยาว
แล้วเพราะอะไรกัน ทำไมปัญหาต่างๆ มากมายกระทั่งเรื่องการละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นความรุนแรงถึงถูกเมินเฉย? แล้วมันจะส่งผลอย่างไรต่อตัวเด็กบ้าง?
เพราะอะไรพ่อแม่ถึงไม่คุยกับลูกเรื่องการล่วงละเมิดอย่างจริงจัง
เด็กหลายคนเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายเกินวัย ก็คงอยากนำเรื่องราวเหล่านั้นไปแบ่งปันกับพ่อแม่ หรือผู้ปกครองใกล้ชิด เพื่อให้พวกเขาช่วยแก้ไขหรือจัดการให้ ทว่าบางครั้งผู้ใหญ่หลายคนกลับเพิกเฉย จนอาจทำให้เด็กบางคนปิดกั้นและไม่กล้าพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปัญหาเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องละเอียดอ่อน อย่างการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นหัวข้อที่มักถูกมองว่าเป็นเรื่องต้องห้าม หรือยากเกินกว่าจะพูดถึงได้ในบางครอบครัว
ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศจึงถือเป็นอีกหนึ่งในปัญหา ที่พ่อแม่หลายคนไม่ได้ให้ความสนใจและใส่ใจต่อการรับฟังลูกๆ ของพวกเขามากเพียงพอ ดร. นิโคลัส เจนเนอร์ (Dr. Nicholas Jenner) นักจิตบำบัด ผู้เชี่ยวชาญการบำบัดเด็กและครอบครัว ได้เผยถึงสาเหตุซึ่งอยู่เบื้องหลังการหลีกเลี่ยงการพูดคุยของพ่อแม่เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศต่อลูกๆ ของพวกเขาเอาไว้ว่า พ่อแม่หลายคนปฏิเสธและไม่ยอมรับต่อความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพราะเชื่อว่าเรื่องราวเหล่านี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับครอบครัวของตนเองได้
อย่างไรก็ตาม ทางด้านงานศึกษาเกี่ยวกับการปฏิเสธของครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก โดยมหาวิทยาลัยในเนเธอร์แลนด์ ก็ได้นำเสนอข้อมูลอันน่าสนใจ ซึ่งช่วยขยายความสาเหตุจากดร.นิโคลัสได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า การปฏิเสธการรับฟังของพ่อแม่นั้นมักเกิดขึ้นเพื่อป้องกันตนเองจากความรู้สึกอับอาย และความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถรับผิดชอบลูกของตนเองได้
อีกทั้งพวกเขายังกังวลต่อผลกระทบด้านความสัมพันธ์ซึ่งอาจเกิดขึ้น ถ้าหากผู้กระทำเป็นคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัว ก็อาจนำไปสู่การถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย ตลอดจนนำไปสู่การแยกเด็กออกจากครอบครัว
นอกจากนี้ ตามความเห็นของดร.นิโคลัส เขายังบอกอีกว่า พ่อแม่หลายคนมองว่าลูกของตนเองนั้นเด็กเกินไปกว่าจะพูดคุยหรือรับฟังเรื่องราวเหล่านี้ ทำให้หลายครั้งคนเป็นพ่อแม่จึงมักหลีกเลี่ยงการสนทนาเรื่องดังกล่าว ซึ่งเขาชี้ให้เห็นชัดเจนถึงผลที่อาจตามมา เช่น เด็กๆ จะไม่ได้เรียนรู้เรื่องของการปฏิเสธ หรือการป้องกันตัวเองจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
ทั้งนี้ การหลีกเลี่ยงการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศโดยตรงในครอบครัว ยังอาจนำไปสู่ปัญหาต่อตัวเด็กในระยะยาวได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการทำความเข้าใจต่อสิทธิเหนือร่างกายตนเอง ซึ่งอาจนำไปสู่การตกเป็นเหยื่อซ้ำอีกครั้ง ตลอดจนปัญหาสุขภาพจิตจากการไม่ได้รับการช่วยเหลือในช่วงเวลาที่เหมาะสม
เพราะฉะนั้นแล้ว คงจะดีกว่าถ้าหากวันใดวันหนึ่ง พ่อแม่หรือผู้ปกครองคอยอยู่เคียงข้างและช่วยเหลือเด็กๆ ให้ผ่านพ้นช่วงเวลาอันเลวร้ายนี้ไปให้ได้
คนเป็นพ่อแม่จะสังเกตลูกยังไงดี?
แน่นอนว่ารู้อย่างนี้แล้ว พ่อแม่หลายคนก็พร้อมจะเปิดใจและรับฟังลูกๆ มากขึ้น ทว่าเด็กผู้ตกเป็นเหยื่อหลายคนเองก็ไม่กล้าพอจะบอกถึงสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ ทั้งอาจมาจากการถูกข่มขู่ การล่อลวง (Grooming) หรือแม้กระทั่งความอับอาย ดังนั้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ในฐานะพ่อแม่เองต้องสังเกตให้ดี เพราะเด็กๆ อาจกำลังส่งสัญญาณเพื่อขอความช่วยเหลืออยู่ก็เป็นได้
แล้วพ่อแม่จะรับรู้ได้อย่างไร? The MATTER ได้พูดคุยกับภูริณัฐ แผนแก้ว นักจิตวิทยาผู้ทำงานกับเด็กและวัยรุ่น ถึงการสังเกตที่ช่วยให้พ่อแม่รู้ได้เท่าทันหลังจากเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศว่า เราสามารถสังเกตได้ผ่านทางร่างกายของเด็ก เช่น บาดแผล รอยช้ำบนร่างกาย รวมถึงคราบเลือด สารคัดหลั่ง และรอยฉีกขาดของเสื้อผ้าที่สวมใส่
ถัดมาคือสังเกตผ่านการพูดคุย ซึ่งสามารถทำได้โดยไม่คาดคั้นข้อมูล อาจต้องค่อยๆ สอบถามเพื่อเก็บรายละเอียด ผ่านคำถามในชีวิตประจำวัน หลีกเลี่ยงการถามให้เด็กรู้สึกตอกย้ำ จนกว่าเด็กจะรู้สึกปลอดภัยและเล่าออกมาด้วยตัวเอง
ท้ายที่สุดคือสังเกตผ่านพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากปกติ เช่น หวาดผวา เก็บตัว กลัว วิตกกังวล หมกมุ่นเรื่องเพศ หรือพูดถึงเรื่องเพศบ่อยๆ เกินกว่าความสนใจตามช่วงวัย หรือกลัวสถานที่คุ้นเคย เช่น บ้าน โรงเรียน ห้องน้ำ
พฤติกรรมเหล่านี้อาจไม่ถูกค้นพบได้ หากพ่อแม่ไม่ให้ความสนใจเด็กเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นแล้วในฐานะพ่อแม่ เราอาจต้องหมั่นคอยสังเกตลูกๆ อยู่สม่ำเสมอ เมื่อมีพฤติกรรมใดที่เปลี่ยนไปอย่างกะทันหัน ก็ต้องมีวิธีในการดำเนินการขั้นต่อไป เพื่อช่วยเหลือเด็กๆ หรือลูกๆ ของเราให้รอดพ้นจากการถูกล่วงละเมิดได้อย่างทันท่วงที
พ่อแม่จะรับมืออย่างไร เมื่อลูกถูกล่วงละเมิดทางเพศ
เมื่อเด็กเผชิญกับการล่วงละเมิดทางเพศ พวกเขามักต้องการและมองหาความช่วยเหลือจากผู้คนรอบข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากครอบครัว ซึ่งเป็นสถาบันสำคัญอันดับแรกที่สามารถให้การสนับสนุน ดูแล และช่วยฟื้นฟูพวกเขาได้
สอดคล้องกับงานศึกษาเชิงจิตวิทยาเกี่ยวกับทัศนคติและมุมมองของผู้ปกครองเกี่ยวกับบทบาทของตนเองในการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก (Child Sexual Abuse Prevention) นั้นที่ได้นำเสนอเอาไว้ว่า ครอบครัวมีบทบาทอย่างมากในฐานะผู้ปกป้อง ผู้ช่วยเหลือ ตลอดจนเป็นผู้ส่งเสริมการเรียนรู้การป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยบทบาทและความสำคัญของครอบครัวต่อตัวเด็ก เราจึงได้คุยเพิ่มเติมกับพญ.ทัตติยา วิษณุโยธิน แพทย์ประจำบ้านสาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลศิริราช สำหรับวิธีรับมือของพ่อแม่ เมื่อรู้ว่าลูกของเราถูกล่วงละเมิดทางเพศ ดังนี้
-
- พ่อแม่ควรมีท่าทีสงบนิ่ง ไม่แสดงความตกใจจนเกินไปหรือต่อว่าเด็ก เนื่องจากอาจทำให้เด็กไม่กล้าเปิดปากเล่าต่อได้
- พ่อแม่ควรขอบคุณลูกๆ ที่เล่าให้เราฟัง พร้อมทั้งย้ำว่าเขาทำถูกต้องแล้วที่บอก (เด็กบางคนจะรู้สึกผิดที่บอก ถ้าผู้กระทำเป็นคนใกล้ตัว)
- พ่อแม่ควรให้ความมั่นใจว่าเขาจะปลอดภัยภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง
- พ่อแม่ควรพาเด็กไปพบกุมารแพทย์ หรือจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อประเมินสภาพร่างกายและจิตใจ
อย่างไรก็ตาม ทางด้านคุณภูริณัฐเองก็ได้เน้นย้ำประเด็นเดียวกัน ในเรื่องของการให้พ่อแม่เป็นพื้นที่ปลอดภัย พร้อมรับฟังและให้กำลังใจอย่างไม่ตัดสินลูก เพราะเด็กๆ มีสิทธิ์ที่จะรู้สึกไม่ปลอดภัย หวาดกลัว ตกใจ ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนต้องทำให้เด็กได้รู้ว่า การถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่ใช่ความผิดของเขา และไม่ใช่เรื่องน่าอาย
เพื่อให้พวกเขาได้รับรู้ถึงการเป็นพื้นที่ปลอดภัยในครอบครัว การไม่ตัดสินและรับฟังลูกๆ คือข้อปฏิบัติสำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ท่านได้เน้นย้ำ เมื่อลูกเริ่มเล่าถึงการถูกล่วงละเมิดทางเพศให้คนเป็นพ่อแม่ฟัง และในฐานะพ่อแม่ ภารกิจอาจไม่ได้จบลงแค่การรับฟังลูกเพียงอย่างเดียว ทว่ายังต้องจัดการไปถึง ‘ผู้กระทำ’ ซึ่งแบ่งได้ออกเป็น 2 กรณีคือ คนใกล้ตัวและคนไกลตัว
ถ้าเป็นคนใกล้ตัวเด็ก คุณภูริณัฐแนะนำว่า พ่อแม่ควรชี้ให้ลูกเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวคือการล่วงละเมิดทางเพศ และไม่ควรมีใครถูกล่วงละเมิดทางเพศ ด้วยท่าทีที่ปลอดภัยและสงบ เพื่อไม่ให้เด็กๆ รู้สึกแตกตื่นหรือตกใจ พร้อมทั้งควรรีบพาเด็กออกจากสถานการณ์เสี่ยงอย่างเร็วที่สุด ไม่ให้มีการถูกล่วงละเมิดทางเพศซ้ำ
ในทางกลับกันหากเป็นคนไกลตัว คุณภูริณัฐชี้ว่า พ่อแม่ควรให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับร่างกายแก่ลูกของเรา โดยสอนให้รู้จักและปกป้องร่างกายของตัวเอง เพราะการให้เด็กได้รู้จักอวัยวะในร่างกายของตัวเองทุกส่วนจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็กรู้จักปฏิเสธ ปกป้องไม่ให้ใครมาสัมผัส จับ ลูบ จูบ กอด เปิดดู ถ่ายรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต
ทว่า พ่อแม่บางคนมักเข้าใจว่า การสอนให้ลูกรู้จักอวัยวะเพศ เช่น จู๋ จิ๋ม ก้น นม เป็นคำหยาบคายจึงมักหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงจนถูกละเลยการตระหนักรู้ในเรื่องเพศ ทำให้เด็กขาดความเข้าใจเกี่ยวกับร่างกายของตนเอง ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยไม่รู้ตัว
พญ.ทัตติยาเองก็ได้ตอกย้ำถึงการโต้ตอบที่พ่อแม่พึงกระทำ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอันสามารถช่วยพาเด็กๆ ผ่านพ้นจากสถานการณ์เหล่านี้ไปได้ ด้วยการขอบคุณและยืนยันต่อการกระทำของเด็กๆ ว่า พวกเขาทำถูกต้องแล้วที่บอกและเล่าเรื่องราวต่างๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ตัวหรือคนแปลกหน้า ก็ไม่มีใครสามารถทำแบบนี้ได้ โดยพวกเขาไม่ยินยอม
พ่อแม่และครอบครัวจึงถือเป็นสถาบันสำคัญ ซึ่งควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้แก่ลูกๆ แม้กระทั่งเรื่องเพศที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ให้กลายเป็นเรื่องสมควรที่เด็กๆ สามารถเปิดอกคุยกับคนที่บ้านได้อย่างเปิดเผย เพื่อสร้างความเข้าใจ ตลอดจนเป็นเครื่องมือและองค์ความความรู้สำหรับการป้องกันการเกิดการล่วงละเมิดทางเพศต่อตัวพวกเขา
ท้ายสุดแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่พ่อแม่ที่ต้องไม่ลืมเป็นหูเป็นตา คอยสอดส่องดูแลลูกๆ ของตนเองอย่างใกล้ชิด แต่ทุกคนเองก็สามารถช่วยสังเกตได้ หากพบเห็นการล่วงละเมิดทางเพศ หรือการทารุณกรรมเด็กทุกรูปแบบ ให้โทรแจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 ทันที เพื่อให้เด็กๆ ทุกคนได้รับความคุ้มครองและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างปลอดภัย
อ้างอิงจาก