“มาเรียกร้องอะไรตอนนี้” “ผ่านมาตั้งนาน ทำไมตอนนั้นไม่แจ้งความล่ะ” หลากหลายคำพูด สารพัดประโยคที่ตั้งคำถามเมื่อใครสักคนตัดสินใจลุกขึ้นมาพูดถึงปัญหาการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศในรั้วโรงเรียน
นี่คือการตั้งคำถามเพื่ออยากช่วยเหลือจริงๆ หรือ?
หลายครั้งที่เรื่องราวการคุกคามและการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียนเวียนวนกลับมาทุกปี (หรือทุกเดือน) แต่สิ่งที่คนเล่าหรือออกมาส่งเสียงต้องจ่ายกลับเป็นคำพูดดูถูก เหยียดหยาม หรือกล่าวโทษผู้ถูกกระทำไปแทน จนหลายครั้งการที่ใครสักคนออกมาพูด เรียกว่าแทบจะเป็นผู้กล้าในโลกที่การโทษเหยื่อง่ายกว่าการให้กำลังใจและช่วยเหลือกัน
หากเราจะลืมกันไปว่าในสถานศึกษามีอำนาจซ้อนทับกันหลายชั้น ทั้งอำนาจของผู้ใหญ่ อำนาจของครู อำนาจของเงิน อำนาจของบุคคลที่ถูกนับหน้าถือตา อำนาจของค่านิยมที่ผูกฝังหัวไว้จากสังคม ในขณะที่ผู้ถูกกระทำเป็นเพียงเด็กคนหนึ่ง ที่ไร้อำนาจอย่างสิ้นเชิง
การออกมาพูดแต่ละครั้งจึงต้องแรกกับความเจ็บปวดมหาศาล กลัวครูให้เกรดไม่ดี กลัวเพื่อนล้อ กลัวคนอื่นนิ่งเฉย ไม่ช่วยเหลือ กลัวพ่อแม่มีปัญหากับโรงเรียน กลัวครอบครัวมองว่าไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ กลัวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเราเองที่คิดมากไป
ทั้งๆ ที่ปัญหาการคุกคามและการล่วงละเมิดทางเพศคือเรื่องใหญ่กว่าที่หลายคนคิด เพราะเราควรมีสิทธิใช้ชีวิตโดยไม่ต้องกลัวการถูกคุกคาม
ปัญหาการคุกคามและการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน
โรงเรียนเป็นสถานที่ที่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก แต่กลายเป็นว่าโรงเรียนกลับเป็นหนึ่งในสถานที่ที่เกิดการล่วงละเมิดทางเพศบ่อยครั้งๆ และการลงโทษนั้นก็ยังไม่มีความชัดเจน เด็ดขาด จนเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
จากรายงานของ ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เคยรวบรวมสถิติการฟ้องร้องคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กนักเรียนในช่วงปี พ.ศ.2556-2560 ซึ่งพบว่ามี 727 ราย โดยมีครูหรือบุคลากรทางการศึกษาเป็นผู้กระทำ ถึง 53 ราย
แต่นี่อาจเป็นเพียงส่วนน้อยนิดที่เกิดขึ้น เพราะในรายงานครั้งนี้ได้บอกเพิ่มเติมว่าเวลาเกิดคดีแล้วยังมีปัจจัยมากมายที่ทำให้ตัวเลขอาจไม่ตรงตามความจริง เพราะยังมีเรื่องของอำนาจระหว่างผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำที่ทำให้ฝ่ายเด็กกลัว ความรู้สึกของการบอกไปก็ไม่ได้รับความยุติธรรม หรือแม้กระทั่งความอับอายซึ่งเกิดจากค่านิยมในสังคม
ในงานเสวนาเรื่อง ‘ปัญหาหรือตัณหา : ธรรมาภิบาลกับเรื่องเพศในโรงเรียนไทย’ เมื่อปี พ.ศ.2561 จิตติมา ภาณุเตชะ จากมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง กล่าวถึงมุมมองทางเพศ ในสถานศึกษาว่าการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียนเกิดขึ้นทุกปี แต่เป็นข่าวเพียง ร้อยละ 5 และซุกอยู่ใต้ภูเขา ร้อยละ 95 ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการล่วงละเมิด พบว่ามาจาก 1.ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ 2.เกิดได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ลับหรือไม่ 3.กระทรวงศึกษาธิการไม่มีนโยบายชัดเจน เพราะต่อให้มีศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน(ฉก.ชน.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แต่ก็เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ต้องร้องเรียนผ่านส่วนกลาง ก่อนส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปแก้ไขปัญหา ซึ่งอาจจะไม่ทัน และ 4.นักเรียน และครูไม่มีความรู้ ความเข้าใจการล่วงละเมิดทางเพศจริงๆ
นอกจากนี้กระบวนการในการลงโทษนั้นยังคลุมเครือและยืดยาว
ไม่มีการปกป้องผู้ถูกกระทำ แต่ยังปล่อยให้ผู้กระทำสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
โดยขั้นตอนหลักๆ ในกระบวนการการสืบสวนและลงโทษ อันดับแรกจะมีการสอบสวนกันภายในโรงเรียนก่อน ซึ่งในขั้นตอนนี้อาจมีการขอให้ไกล่เกลี่ย จ่ายเงินเพื่อปิดปาก หรือข่มขู่ให้ถอนฟ้อง หรือบางรายก็อาจบังคับให้แต่งงานแลกกับการไม่เอาผิด ซึ่งถ้าผู้ถูกกระทำไม่ยอมรับและเอาเรื่องต่อ ก็จะมีการส่งไปให้เขตพิจารณา ก่อนจะมีการให้สอบสวนซึ่งอาจกินเวลากว่าแปดเดือนหรือมากกว่านั้น เพราะสามารถยืดเวลาสอบสวนไปได้อย่างไม่สิ้นสุด โดยบุคลากรในโรงเรียนที่เป็นผู้กระทำจะถูก ‘สั่งย้าย’ ไปที่อื่น ซึ่งอาจเกิดกรณีที่ผู้ถูกกระทำไม่ได้รับความยุติธรรมจนต้องล้มเลิกความตั้งใจในการเอาผิดไปเอง หรือบุคลากรอาจชิงลาออกเพื่อหนีคดีไปก็ได้ กว่าจะถึงกระบวนการตัดสินและให้ครูออกราชการ ก็ไม่ทันการเสียแล้ว
ซึ่งเราจะเห็นผลลัพท์จากความไม่ฟังก์ชันของกระบวนการได้จากสถิติคดีล่วงละเมิดทางเพศกว่า 200 รายในปี พ.ศ. 2555 – 2560 นั้น คุรุสภาถอดใบประกอบวิชาชีพไปเพียง 4 ราย
ทั้งขั้นตอนที่กินเวลานาน ทั้งการไม่มีกลไกปกป้องผู้ถูกกระทำ ทั้งการให้ท้ายผู้กระทำ สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อความรู้สึกให้ผู้ถูกกระทำไร้ตัวตน ไม่ได้รับความยุติธรรม และรู้สึกไร้อำนาจในการต่อรอง จนสุดท้ายอาจนำไปสู่หนทางของการเลือกที่จะเงียบเสียงลง แลกกับการไม่ต้องเสียสุขภาพจิต เสียงเวลาชีวิต และเสียความรู้สึกกับการไม่ได้รับความเป็นธรรม
แล้วอะไรคือการคุกคามและการล่วงละเมิดทางเพศ
เพราะในตำราเรียนนั้นไม่ได้เน้นย้ำถึงเรื่องการคุกคามทางเพศ จนทำให้องค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้หายไปในบทเรียน ครูหรือผู้ใหญ่บางคนก็อาจจะไม่ได้ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหานี้ และมองว่าเป็นเพียง ‘การหยอกเล่น’ ตามประสาเด็กๆ ทำให้ความเข้าใจในเรื่องการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศนั้นบิดเบี้ยวไป
แล้วอะไรบ้างที่เป็นการคุกคามและการล่วงละเมิดทางเพศ?
อันดับแรกคงต้องย้อนกลับไปที่เรื่องของ consent หรือความยินยอม ถ้าฝ่ายผู้ถูกกระทำส่งสัญญานผ่านทางร่างกาย หรือคำพูด ก็ควรจะหยุดและไม่มองว่าผู้ถูกกระทำนั้นคิดมากเกินไป หรือแค่นี้ทำไมหยอกเล่นไม่ได้ เพราะความสบายใจคือสิ่งที่เราต้องตระหนักให้มาก
โดยรูปแบบของการคุกคามอาจแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ คือ
1. การคุกคามด้วยคำพูด เช่น การแซว การพูดสองแง่สองง่าม การวิจารณ์รูปร่างหน้าตาที่ส่อไปในทางลามกอนาจาร การพูดจาหยาบคายเรื่องเพศ หรือการพูดเพื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ
2. การคุกคามด้วยการกระทำที่อาจจะยังไม่ถึงขั้นแตะเนื้อต้องตัว เช่น การจ้องมองไปยังหน้าอก มองขา หรือมองไปยังอวัยวะเพศของผู้อื่น การแอบดูคนอื่นในที่ลับ การส่งต่อรูปโป๊ของคนอื่น
3. การคุกคามที่เป็นการแตะเนื้อต้องตัว เช่น การเข้ามาแตะเนื้อต้องตัวโดยไม่ขออนุญาตหรือไม่ได้รู้จักสนิทสนมกัน การลวนลาม การข่มขืน
“ทำไมไม่ไปแจ้งความ” “ทำไมไม่บอกคนอื่นให้ช่วย” เมื่อเรื่องราวมีราคาที่ต้องจ่ายในสังคมนี้
จากการออกมาเรียกร้องปัญหาการคุกคามทางเพศเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาในม็อบ #นักเรียนเลว นำไปสู่การพูดถึงประเด็นนี้ในวงกว้าง แต่แล้วก็มีการโจมตีกลับมาว่าทำไมถึงไม่ร้องเรียนในตอนนั้น ทำไมถึงไม่ฟ้องร้องตอนที่เกิดเหตุ ทำไมถึงมาเล่าเอาตอนนี้
ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องราวการถูกคุกคามทางเพศในรั้วโรงเรียนมีเรื่องที่ต้องจ่ายมากกว่าที่คิด ไม่ใช่ว่าการเล่าหรือฟ้องร้องแล้วเรื่องราวจะสิ้นสุด เราได้ไปคุยกับหลายๆ คนที่เคยประสบเหตุการณ์คุกคามทางเพศ และเหตุผลที่ในวันนั้น เขาเลือกจะไม่เล่าให้ใครฟัง ซึ่งมีหลากหลายปัญหาที่กดทับพวกเขาไว้จนไม่กล้าเปล่งเสียงออกไป
“ช่วงขึ้นม.ปลาย ตอนนั้นเราไม่ชอบเรียนสายวิทย์ เลยจะย้ายไปเรียนสายศิลป์ ทีนี้ก็มี 2 วิชาที่ต้องเรียนเพิ่มช่วงปิดเทอม แล้ววิชานึง ครูเขาก็มาบอกกับเราว่าวันนั้นไม่สะดวกไปสอนที่โรงเรียน ให้มาเจอกันที่โรงแรม ย้อนกลับไปเราก็โกรธตัวเองตอนนั้นที่คิดไม่ทัน พอเราไปถึงตอนแรกก็สอนกันบนโต๊ะ แต่จู่ๆ เขาก็เรียกเราไปสอนบนเตียง แล้วก็เริ่มลวนลามเรา เราพยายามขัดขืน แล้วจริงๆ มือก็กำคัตเตอร์ไว้แล้ว สุดท้ายเขาก็ปล่อยเราไป”
“ด้วยความเป็นโรงเรียนชายล้วน เราไม่กล้าบอกใครทั้งนั้น เพราะรู้ว่าจะโดนล้อ แล้วต้องอับอายแน่ๆ กลัวเรื่องผลกระทบกับการเรียน กลัวเรื่องอำนาจของครูที่สูงกว่าเรา เขาจะทำอะไรเราก็ได้ ก็เลยเก็บไว้จนสมองมันลืมไปเองเพราะไม่อยากจำ จนมาช่วงมหาลัยที่ทำรายงานเรื่องนี้ มันเลยผุดขึ้นมาอีกรอบ แต่ตอนมหาลัยคือเข้าใจแล้วว่าสิ่งที่เราเจอมันร้ายแรงมากๆ ก็โกรธมากๆ รังเกียจด้วย แต่ถึงตอนนี้ก็ไม่กล้าเล่าให้ใครฟังเลยนอกจากเพื่อนที่ทำรายงานคู่กัน”
นี่คือบทสนทนากับแหล่งข่าวคนหนึ่งที่เราได้คุยเมื่อถามถึงเรื่องในอดีตที่เขาเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งชวนให้เห็นว่าโรงเรียนต่างมีอำนาจซ้อนอยู่หลายชั้น ทำให้การจะออกมาเรียกร้องหรือพูดออกไปนั้นเป็นเรื่องที่มีราคาต้องจ่ายสูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคมแวดล้อมที่อาจถูกล้อเลียน ทั้งเรื่องอำนาจของครูผู้กระทำที่อยู่เหนือกว่าที่มีผลต่ออนาคตการเรียนของเขาเอง
ส่วนแหล่งข่าวอีกคนได้เล่าให้เราฟังว่า “ช่วงม.ต้น ถึงม.ปลาย มีครูท่านนึงเค้าชอบถือไม้เรียว แล้วเวลาเดินผ่านเราชอบตีตูดเรา คือเดินผ่านแบบเฉยๆ เลยนะ เราก็ยืนของเราเฉยๆ เค้าก็ตี แต่ตีแบบไม่แรงนะ เราสนิทกับเค้าประมาณนึง พอโดนบ่อยๆ เข้าเราก็เลยถามไปว่า ครูตีหนูทำไมเนี่ย หนูยังไม่ได้ทำอะไรเลยนะ ครูก็ตอบมาว่า “ทำไม ผมตีไม่ได้หรอ คุณมีปัญหาหรอ อยากมีปัญหาไหมจะได้เขียน 0 ให้เลยจะได้จบๆ” เราก็กลัวอีกนั่นแหละ เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจอะไรจะไปต่อรองกับเค้า”
“แล้วพอช่วงม.5 ครูท่านนี้ก็พาเราไป Open house ที่มหาลัยที่เค้าจบมา แล้วก็บอกเรากับเพื่อนๆ ว่าเนี่ย มหาลัยกว้างมาก ต้องปั่นจักรยานนะ ให้เพื่อนเราปั่นจักรยานแล้วบอกให้เราซ้อนมอไซต์เค้าเพื่อรีบไปจองลงชื่อแทนสำหรับทำกิจกรรมในงานก่อน เค้าอ้างว่ามีจำนวนจำกัด ต้องเอานักเรียนไปคนนึงเพื่อนเขียนชื่อเพื่อน เค้าจำชื่อนักเรียนไม่ได้ เราก็เลยบอกเค้าว่า เดี๋ยวให้เพื่อนอีกคนไปดีกว่า เพราะเราเริ่มรู้สึกไม่สบายใจแล้ว แต่เค้าก็ขึ้นเสียงใส่แล้วบอกว่า “อย่าเรื่องมากได้ไหม ผมบอกให้มาก็มา” เราเลยต้องขึ้นรถไป พอขึ้นไปเค้าก็เบรกแรง และถี่มาก เราเลยบอกเค้าว่าขับช้าๆ ดีกว่าเรากลัว เค้าก็พูดเชิงหยอกๆ ว่า กอดเค้าได้นะ ตอนนั้นเรารู้สึกชามากๆ ชาไปทั้งตัว ทำอะไรก็ไม่ได้ โดดลงจากรถก็ไม่ได้ พอถึงที่ตึกนั้นเราเลยรีบเดินหนีแล้วหลังจากวันนั้นเราก็หลบหน้าครูท่านนั้นมาตลอด”
ซึ่งเธอก็บอกกับเราว่า “ที่เราไม่กล้าพูดเพราะตอนนั้นเราไม่รู้ว่า sexual harassment คืออะไรด้วย ไม่เคยรู้ถึงคำจำกัดความที่แท้จริงว่า แบบนี้คือการถูกคุกคามแล้วนะ แล้วคนรอบตัวก็มองเป็นเรื่องปกติ ทำให้เรากลัวที่จะพูด จริงๆ”
“เคยเล่าให้เพื่อนสนิทฟังนะ แต่เพื่อนก็บอกว่าอย่าคิดมาก
ปกติครูเค้าก็เป็นแบบนี้ มันเลยทำให้รู้สึกว่าถ้าโวยวาย หรือทำอะไรไป มีแต่เสียกับเสียอะ”
“มันมีเรื่องอำนาจด้วยที่เราคิดว่าต่อให้เพื่อนเข้าข้างเรา หรือมีครูท่านอื่นเข้าข้าง เราก็จะเสียเปรียบอยู่ดี เรากลัวการถูกมองว่าเรื่องมาก กลัวเรื่องเกรดที่อาจจะโดนปัดตกไม่ใช่แค่วิชาครูท่านนั้น ท่านอื่นๆ ที่เป็นเพื่อนกันอาจจะไม่ชอบเราแล้วก็ปัดเราตกด้วย”
ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาคือเมื่อมีอำนาจที่เหนือกว่า บวกเข้ากับการไม่ได้เข้าใจเรื่อง sexual harassment ทำให้ผู้ถูกกระทำไม่รู้ตัวว่ากำลังเจอกับอะไรอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางโรงเรียนควรใส่ใจและให้ความรู้
และความน่ากังวลที่เพิ่มมากขึ้นไปอีกคือทุกระดับชั้นเรียนเกิดปัญหาของการคุกคามทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นชั้นประถมไปจนถึงมัธยมปลาย
“ตอนนั้นเป็นช่วงประถม เราจำเหตุการณ์ได้ไม่ค่อยแม่น แต่เท่าที่จำภาพได้คือเราไปนั่งตักครูผู้ชายคนนึง ซึ่งก็จำไม่ได้จริงๆ ว่าไปนั่งได้ยังไง แต่ความรู้สึกตอนนั้น่าจะประมาณก็ไว้ใจผู้ใหญ่คนนี้นะ แต่แล้วอยู่ๆ เขาก็ล้วงมาจับในกระโปรงเรา เราก็ช็อกแล้วนิ่งไปเลย กลับบ้านไปก็นิ่งจนแม่ถาม แม่เค้น เลยยอมเล่า แล้วแม่ก็ไปคุยกับครูที่โรงเรียน แต่จำไม่ได้ว่าหลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น เพราะก็เป็นช่วงที่ไม่นานหลังจากนั้นก็ย้ายโรงเรียนพอดีด้วย”
“ความรู้สึกตอนนั้นคือไม่อยากเล่าให้ใครฟัง แม้กระทั่งขึ้นม.ต้นแล้วก็ยังไม่กล้าเล่า กลัวโดนว่าว่าแบบ ไปนั่งเองรึเปล่าไรงี้ จนกระทั่งเริ่มกล้าเล่าจริงๆ ก็ช่วงเข้ามหาลัย แต่วันก่อนก็นึกอยากถามแม่เหมือนกันว่าตอนนั้นเหตุการณ์เป็นยังไงต่อ แต่ก็ไม่กล้าถาม เพราะไม่รู้ว่าแม่รู้สึกยังไง หรืออยากรื้อฟื้นรึเปล่า เลยเลือกเงียบไป”
แหล่งข่าวอีกคนเล่าให้เราฟังถึงเหตุการณ์ช่วงประถมที่เขาได้พบเจอ ซึ่งเขาบอกกับเราว่าเพิ่งมาเข้าใจว่าโดนคุกคามก็คือช่วงกำลังขึ้นมหาลัย และที่ผ่านมาก็ไม่กล้าเล่าให้ใครฟังเลย เพราะกลัวโดนตัดสินจากสังคมและคนรอบข้าง
และการ sexual harassment ในรั้วโรงเรียนยังเกิดขึ้นได้กับนักเรียนด้วยกันเอง ซึ่งมาจากการไม่เข้าใจเรื่องการคุกคามทางเพศที่มีหลากหลายรูปแบบ
“ตอนนั้น ม.4 ค่ะ เป็นช่วงที่หนูไม่ได้ใส่กางเกงซับเพราะไม่ชอบ แล้วช่วงทำกิจกรรมกัน หนูนั่งลงแล้วกระโปรงเปิดเห็นข้างใน เพื่อนผู้ชายเห็นพอดี คือฟีลตอนนั้นมันแบบ เออ ฉันพลาดเอง แต่คือแทนที่เขาจะเงียบเขากลับพูดแซวประมาณ ดำบ้าง อะไรซักอย่างหนูจำได้ไม่ค่อยแม่น แล้วพอกลับไปนั่งที่ของตัวเอง ข้างหลังก็มีเพื่อนอีกคนของหนูที่เหมือนเขาจะเห็น แล้วเขาไม่หยุดพูดถึงเหตุการณ์เมื่อกี้ พูดไปเรื่อยอะค่ะ สิ่งที่หนูจำได้แม่นคือตอนนั้นโมโหมากแต่ไม่กล้าหันไปด่า”
“ตอนนั้นอึดอัด แต่หนูก็ไม่ได้เล่าเรื่องนี้กับใครเพราะกลัวคนอื่นคิดว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือคิดมาก”
นอกจากพื้นที่โรงเรียนที่ไม่ปลอดภัยพอให้พูดคุย บางครั้ง ‘บ้าน’ ของบางคนก็ไม่ได้ปลอดภัยพอให้เด็กๆ กล้าคุยกับคนในครอบครัว และเลือกเงียบมากกว่า
“ตอนนั้น ม.2 ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร ก็นั่งทำการบ้านใกล้ผู้ชายที่เป็นเพื่อนร่วมห้อง อยู่ดีๆ เขาก็ถามว่าเวลาอาบน้ำตรงนั้นแสบมั้ย เอามือล้วงเข้าไปหรือเปล่า ตอนนั้นค่อนข้างไม่โอเคเท่าไหร่เลยค่ะ เลยเลือกที่ไม่ตอบ เดินหนีไปแทน ตอนนั้นตอบไม่ถูกจริงๆ ค่ะ ช็อกอยู่ว่าทำไมเขาต้องถามเราด้วย ตอนแรกไม่ได้บอกใครเลย อาย ไม่อยากให้เพื่อนรู้ เก็บเอาไว้จนกระทั่งขึ้นม.5 ในทวิตเตอร์คุยประเด็นเรื่อง sexual harassment เลยกล้าเล่ากับเพื่อน เพราะไม่คิดว่าในสังคมจะโดนกันเยอะขนาดนี้ พอเพื่อนรู้ก็ตกใจ เพราะว่าคนที่หนูบอกอยู่ห้องเดียวกันกับเพื่อนผู้ชายคนนี้”
“แต่สุดท้ายแล้วก็ยังไม่กล้าคุยกับครูหรือพ่อแม่ เพราะกลัว
ครอบครัวเองก็ไม่ค่อยเปิดเรื่องนี้ กลัวจะโดนต่อว่ากลับ หรือกลัวเขาจะนิ่งเฉยไปเลย”
หรือแม้แต่กลัวการมีปัญหากับทางโรงเรียนจนทำให้พ่อแม่เดือดร้อน ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เด็กเลือกจะเงียบเสียงตัวเองลง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคนรอบตัวของพวกเขาเอง เหมือนที่แหล่งข่าวอีกคนเล่าให้เราฟังว่า
“ตอนนั้นป.5 เรากลับจากไปแข่ง crossword มา ระหว่างนั้นก็รอแม่มารับ แล้วไม่มีที่นั่งว่าง ครูผู้หญิงคนนึงก็เลยให้ไปนั่งข้างครูผู้ชาย ซึ่งเขาก็นั่งท่าแบบเอาแขนวางพาดยาวกับที่นั่งคล้ายๆ จะโอบ พอเราเข้าไปนั่ง สักพักเขาก็เอามือมาจับแขนเรา แล้วลูบไล้ไปเรื่อยๆ ตอนนั้นเราช็อก แล้วก็นั่งเกร็งมาก ในใจได้แต่คิดว่าเมื่อไหร่แม่จะมาสักที จนครูผู้หญิงคนเดิม ไม่รู้ว่าเขาเห็นรึเปล่านะ เขาก็บอกเราว่าให้เดินไปดูว่าแม่มารึยัง ตอนนั้นโล่งอกมาก”
“วินาทีนั้นเรารู้ตัวเลยว่าโดนคุกคาม เพราะพ่อเพิ่งสอนเราเรื่องนี้ แต่ที่เราโกรธตัวเองมากๆ คือเราไม่ตอบโต้ไปตอนนั้น แถมเวลามองย้อนกลับไป เราก็โกรธตัวเองด้วยที่ไม่กล้าเล่าให้พ่อแม่ฟัง เพราะกลัวพ่อแม่มีปัญหากับที่โรงเรียน เพราะพ่อเราก็เป็นนักจิตวิทยาให้โรงเรียนนี้ แล้วตอนนั้นก็กลัวว่ามันจะเป็นเรื่องใหญ่ด้วย กลัวครูถูกไล่ออก กลัวเขามีปัญหา กลัวโรงเรียนเสียชื่อ ตอนนั้นคือ emphaty ทุกคนยกเว้นตัวเอง”
“เราเพิ่งกล้าเล่าเรื่องนี้ให้คนอื่นฟังครั้งแรกเมื่อสองปีก่อน คือเล่าให้แฟนเราฟัง จำได้ว่าเล่าไปร้องไห้ไป มันโกรธตัวเองมากๆ ที่ทำไมตอนนั้นไม่ตอบโต้ แต่ก็นั่นแหละ เราเป็นคนที่กลัวทำให้คนอื่นมีปัญหา กลัวการเป็นเรื่องใหญ่ ถึงอย่างนั้นเราก็คิดนะว่าไม่รู้ว่าตอนนั้นมีคนที่ต้องเจอแบบเราอีกมั้ย แล้วถ้าเรากล้าพูดออกไป มันคงจะดีที่ได้ส่งเสียงเผื่อคนอื่นๆ”
ทางออกคือการเชื่อใจ รับฟัง และสร้างกลไกที่ป้องกันเด็กๆ ให้ปลอดภัย
ในเวลาที่เกิดการคุกคามทางเพศขึ้น เราแทบนึกไม่ออกเลยว่าจะต้องเดินเข้าไปพึ่งพาใคร มีคนไหนที่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขาได้บ้าง ถ้าเล่าให้ครูคนหนึ่งฟัง เขาจะเอาไปเล่าต่อ หรือไม่เชื่อคำพูดจากเด็กมั้ย ถ้าบอกพ่อแม่ เขาจะคิดว่าเราเผลอทำตัวเรียกร้องเองหรือเปล่า หรือเขาอาจะไม่ได้สนใจและนิ่งเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะมองว่าเป็นเรื่องเล็กหรือเปล่า หรือเพื่อนเองก็อาจจะยิ่งล้อเลียน หรือมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ต้องคิดมากหรือเปล่า
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ victim blaming ในสังคม ที่มักโทษการกระทำของผู้ถูกกระทำมากกว่าผู้กระทำ ซึ่งส่งผลให้ผู้ถูกกระทำไม่กล้าส่งเสียงออกมาเพราะกลัวการตัดสินจากสังคม
ซึ่งทางออกของเรื่องนี้มีสิ่งที่ต้องแก้หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น การสร้างสังคมให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ผู้ถูกกระทำจะกล้าลุกขึ้นพูดว่าตนเองเจออะไรมา หรืออย่างน้อยโรงเรียนและครอบครัว ต้องเป็นที่พึ่งแรกที่เข้าใจผู้ถูกกระทำ ไม่โทษว่าเป็นความผิดของผู้ถูกกระทำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการให้ความรู้ และสื่อในการช่วยกันย้ำความรุนแรงของการถูกคุกคามทางเพศ
นอกจากนี้แผนรองรับระยะยาวนั้น ในโรงเรียนหรือสถานศึกษาควรมีแผนกที่ดูแลเรื่องการคุกคามโดยเฉพาะ โดยอาจให้นักจิตวิทยาเป็นผู้ดูแล ซึ่งจะทำให้พื้นที่โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เวลาเกิดเรื่องขึ้น ผู้ถูกกระทำสามารถหันหน้าไปขอความช่วยเหลือได้
แหล่งข่าวคนหนึ่งได้เล่าผ่านสเตตัสของตัวเองถึงการคุกคามที่เขาเจอว่า
“เรื่องเกิดนานแล้วตอนเราไปค่ายหุ่นยนต์ช่วงมัธยมปลาย ค่ายจัดให้เรานอนห้องเดียวกับรุ่นพี่ผู้ชายคนนึงที่ไม่สนิท วันสุดท้ายพี่ขอขับจู๋แล้วเราไม่ให้ พี่ขึ้นคร่อมแล้วจับจู๋เราอยู่ดี เราไม่รู้จะตอบสนองยังไงก็เลยยิ้มแล้วขำออกมาแบบกลัวๆ พร้อมดิ้นซ้ายขวา ดิ้นยากมากเพราะพี่แรงเยอะกว่าเรา จนเราดิ้นหลุดตกลงจากเตียง พี่เค้าลงมาจะกดที่พื้นต่อซักพัก เราก็ตั้งการ์ดขดตัวไม่ให้พี่เค้าเข้ามาจนพี่เค้าล้มเลิกความตั้งใจ เราเลยเดินออกไปจากห้องแล้วก็โทรคุยกับคนคุยจนเช้า ตกใจมากที่เรื่องนี้เกิดขึ้นกับตัวเอง ตอนนั้นไม่ได้คิดจะแจ้งอาจารย์เพราะไม่อยากให้อาจารย์บาดหมางกับรุ่นพี่แต่สุดท้ายไม่ได้ปรึกษาใครเลย”
ซึ่งเขาได้ให้ความเห็นเรื่องการจัดการการคุกคามการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียนว่า
“เรามองว่าโรงเรียนควรจะมีโครงสร้างที่พร้อมช่วยเหลือเวลาเกิดเรื่องแบบนี้ เราเรียนอยู่ที่มหาลัยในอเมริกาก็มีศูนย์ปรึกษาเรื่องนี้อยู่ ทุกคนรู้ว่าถ้าโดนลวนลามหรือข่มขืนต้องไปปรึกษาที่แผนกไหน เค้าจะพร้อมรับฟัง แล้วจะถามว่าอยากฟ้องตำรวจรึเปล่า อยากฟ้องมหาวิทยาลัยรึเปล่า อยากปรึกษาเพื่อนรึเปล่า และให้คำแนะนำ”
เราจึงชวนเขาคุยต่อถึงวีธีการดูแลนักเรียนที่ถูกล่วงละเมิดหรือถูกคุกคามว่า ที่อเมริกามีระบบหรือกลไกรองรับอย่างไรบ้าง ซึ่งเขาได้อธิบายเพิ่มเติมให้ฟังว่า
“คือทุกมหาลัยจะมีศูนย์ของตัวเอง เป็นข้อบังคับทางกฏหมาย ที่เรียกว่า Title 9 บอกว่าห้ามสถาบันของรัฐ หรือสถาบันที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ กีดกันหรือเลือกปฏิบัติทางเพศ”
“ทีนี้กฏหมายเค้ามองว่า ถ้ามหาวิทยาลัยปล่อยปะละเลยหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการปัญหาความรุนแรงทางเพศ และการกระทำทางเพศที่ผิดกฏหมายต่าง ๆ ก็เท่ากับว่ามหาลัยผลิตซ้ำสภาพแวดล้อมที่กีดกันและเลือกปฏิบัติทางเพศ นักเรียนนักศึกษาก็สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากมหาลัยได้ครับ เพราะฉะนั้น มหาลัยก็เลยต้องตั้งศูนย์มาดูแลรับเรื่องพวกนี้โดยเฉพาะเพื่อจะได้ไม่ปล่อยปะละเลยความผิดทางเพศต่างๆ ครับ นอกจากนี้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยในอเมริกามักจะมีนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาประจำอยู่ด้วย ก็ไปคุยได้เหมือนกัน”
“ถ้าในไทยมีแบบนี้ น่าจะช่วยคนที่โดนกระทำตัดสินใจอะไรต่างๆ ได้ดีขึ้น
และส่งผลให้ผู้กระทำต้องคิดไตร่ตรองมากขึ้นไม่มากก็น้อย”
แน่นอนว่าการมีแผนกรับเรื่องร้องเรียนนั้นจะช่วยทำให้ผู้ถูกกระทำอุ่นใจที่มีคนคอยปกป้องดูแล โดยผู้ที่คอยรับเรื่องนั้นต้องเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและไม่ตัดสินผู้ถูกกระทำ และเป็นตัวกลางในการดำเนินเรื่องแทนผู้ถูกกระทำเพื่อเป็นการปกป้องความรู้สึกของพวกเขาไม่ให้ได้รับผลกระทบทางจิตใจ
อีกส่วนที่สำคัญคือกลไกด้านกฎหมาย หลายเคสที่เลือกไม่แจ้งความต่อเพราะมักถูกซักไซ้และกล่าวหาผู้ถูกกระทำจนทำให้เกิดความกลัวและไม่กล้าเล่าขึ้น บางเคสถูกปฏิเสธรับแจ้งความเพราะมองว่าไม่ได้เป็นเรื่องสลักสำคัญเลยก็มี สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ต้องแก้ไขความเข้าใจให้ได้ และต้องจริงจังกับเรื่องการคุกคามและการล่วงละเมิดทางเพศนี้
หากโรงเรียนและสถานศึกษา รวมไปถึงรัฐบาลจริงจังต่อการยุติปัญหาการคุกคามในรั้วโรงเรียน ก็ต้องทำให้เห็นว่าจริงใจต่อการแก้ไขปัญหา เข้าใจความรู้สึกของผู้ถูกกระทำให้มากขึ้น ไม่ใช้สร้างเงื่อนไขทั้งวิธีการและระยะเวลาที่บั่นทอนจิตใจของผู้ถูกกระทำไม่ให้ได้รับความยุติธรรม กลายเป็นเสียเวลา เสียความรู้สึก เพราะสิ่งเหล่านี้ยิ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้ถูกกระทำเลือกจะปิดปากตัวเองเพราะมองไม่เห็นความหวังในการร้องเรียน
และสุดท้ายปัญหาการคุกคามทางเพศก็จะยังคงวนลูปไม่หายไปจากสังคมเสียที
อ้างอิงข้อมูลจาก