ขอนำเสนอ ‘แฟนาติสิซึม: แฟนคลับพันธุ์คลั่ง พลังมืดบอดดดด’ โอเค ไม่ใช่ แค่อยากลองตั้งชื่ออะไรแบบเวลาที่เค้าชอบแปลชื่อหนังฝรั่งมาเป็นไทยมานานแล้ว เลยลองบ้าง คือ ระยะที่ผ่านๆ มานี้ มีเรื่องนึงที่อยากจะพูดถึงมานานแล้วครับ และช่วงอาทิตย์ที่ผ่านๆ มา ก็เป็นข่าวพูดถึงกันไม่น้อย เลยถือโอกาสจับมาพูดถึงหน่อย นั่นก็คือ เรื่องของบรรดาแฟนคลับของคนนั้นคนนี้ หรือวงนั้นวงนี้ ที่มีดราม่าและการทะเลาะตบตีกันออนไลน์มากมายในช่วงที่ผ่านมานั่นเอง
ก่อนจะเริ่มอะไรใดๆ ด้วยความน่ากลัวของฐานแฟนคลับหลายคณะในประเทศนี้ ผมขอออกตัวก่อนเลยนะครับว่า สิ่งที่ผมจะเขียนนี้เป็นข้อสังเกตในฐานะมนุษย์ที่ไม่ได้มีความอิน ความคลั่งไคล้ถวายชีวิตอะไรใดๆ ให้กับใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่าง ‘แฟนคลับ’ ทั้งหลายที่จะเขียนถึง ส่วนหนึ่งเพราะผมพยายามที่จะระวังตัวเองไม่ให้เป็นแบบนั้น แต่แน่นอนผมเองก็อาจจะมีด้านที่เผลอไปเป็นแฟนคลับใครหรืออะไรสักอย่างชนิดไม่รู้ตัวได้เช่นกัน แต่ในที่นี้ก็ถือว่าเป็นมุมมองของคนนอก มองย้อนกลับไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับกลุ่ม ‘แฟนคลับคลั่ง’ ทั้งหลายแล้วกัน ผ่านกรอบของสิ่งที่เรียกว่า Fanaticism ที่เข้าใจว่ายังไม่มีคำแปลไทย แต่ก็คงพอจะแปลได้ว่า ‘แฟนคลั่งนิยม’ อะไรแบบนั้น
ว่ากันตรงๆ ไม่อ้อมค้อมเลยก็คือ ในระยะที่ผ่านมา เราเจอความอลหม่านจากแฟนคลับสายฮาร์ดคอร์ โดยเฉพาะจากกลุ่มของนุช ที่เป็นแฟนคลับของ เป๊ก ผลิตโชค หรือบรรดาแฟนๆ โอตาคุของกลุ่ม BNK48 อยู่เนืองๆ ทั้งการไล่บุกถล่มโจมตี การขุดหาประวัติต่างๆ การรุมฟลัชประณามหลายๆ ครั้ง ไปจนกระทั่งการข่มขู่ แต่คำถามคือพฤติกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องแปลกไหม? และมันมีปัญหาอย่างไร? และในท้ายที่สุด ผมเองก็อยากจะลองพยายามวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่มันเกิดอะไรแบบนี้ขึ้นด้วย แต่อย่างที่ว่า นี่คือการมองในสายตาคนนอกที่มองกลับเข้าไปเท่านั้น (ใช่ครับ! ผมต้องเขียนอย่างระมัดระวังมาก เพราะผมเองก็กลัวจะโดนบุกเหมือนกัน แต่ผมอยากให้เข้าใจก่อนว่านี่ไม่ใช่การเขียนเพื่อด่านุชหรือคุอะไร แต่เป็นแค่การประเมินภาพโดยรวมให้เห็นกัน และเอาจริงๆ คือ ด้วยการบุกไปทั่วทุกถิ่นทำให้หลายๆ คนก็กลัว ‘แฟนคลั่ง’ ทั้งหลายอย่างที่ผมกำลังกลัวนี้ และไม่กล้าเขียนถึง แต่เพราะการไม่กล้าเขียนถึงมากๆ เข้านี่แหละ ที่จะนำมาสู่ปัญหาได้ว่า อะไรแบบนี้ก็จะเป็นต่อไป และก็ต้องทนอยู่กันไป ซึ่งผมว่าไม่น่าจะเวิร์กนัก)
และเพื่อความชัดเจนขึ้นไปอีก ผมไม่ได้เขียนวิพากษ์วิจารณ์หรือแตะต้องไอดอลในดวงใจคนใดหรือกลุ่มใดทั้งสิ้นนะครับ ผมพูดถึงเฉพาะตัวแฟนคลับเท่านั้น
ก่อนจะไปไหนไกล ผมอยากเริ่มต้นจากการอธิบายแนวคิดเรื่อง Fanaticism ก่อนครับว่ามันคืออะไร
โดยนิยามแล้ว Fanaticism ก็คือ ความเชื่อหรือพฤติกรรมในการอุทิศตนเพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างไม่เคยจะกลับมาคิดทบทวนในเชิงวิพากษ์ต่อตนเองครับ
นักปรัชญาชาวสเปนชื่อดังอย่าง George Santayana ได้เคยให้นิยามในลักษณะเดียวกันนี้ (แต่ภาษาอาจจะกวีกว่าสักหน่อย) ในหนังสือของเค้าที่ชื่อ Life of Reason: Reason in Common Sense (1905) ไว้ว่า Fanaticism คือ “การเพิ่มทวนคูณความพยายามหรือความกระตือรือร้นสนใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเมื่อเราลืมเลือนซึ่งจุดมุ่งหมายของการกระทำนั้นไปแล้ว” (Redoubling your effort when you have forgotten your aim.)
Tõnu Lehtsaar นักปรัชญาและจิตวิเคราะห์ทางศาสนาชาวเอสโตเนียเองก็อธิบายในลักษณะเดียวกันครับว่า Fanaticism นั้นมันก็คือ การเสาะแสวงหาหรือการปกป้องสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือใครคนใดคนหนึ่งอย่างสุดขีด (extreme) และสุดใจ (passionate) จนเกินกว่าปกติภาพ (normality) ของชุมชนการเมืองนั้นๆ ในแง่นี้ (โดยเฉพาะแฟนคลับหรือสาวกคลั่งของศาสนา) จึงมีลักษณะของ Blind Faith ที่แปลว่าความเชื่ออันมืดบอดอยู่ในตัวด้วย
ขออีกสักคนแล้วกันนะครับที่อธิบายคำๆ นี้หรือพฤติกรรมนี้ เพราะอย่างที่บอก ผมต้องเขียนเรื่องนี้อย่างแข็งแรงและรัดกุมที่สุดเท่าที่จะทำได้ หนึ่งในนักทฤษฎีสื่อชื่อดังของสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งเสียชีวิตไปในปี ค.ศ. 2003 อย่าง Neil Postman ได้อธิบายพฤติกรรมแฟนคลับคลั่งหรือสาวกคลั่งนี้ไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ Crazy Talk, Stupid Talk (1976) อย่างน่าสนใจว่า “the key to all fanatical beliefs is that they are self-confirming… (some beliefs are) fanatical not because they are ‘false’, but because they are expressed in such a way that they can never be shown to be false.” หรือก็คือ “ปัจจัยที่สำคัญของความเชื่ออย่างคลั่งไคล้ทั้งมวลนั้นก็คือ การที่พวกมันมีกลไกของยืนยันตัวเองซ้ำๆ … การที่ความเชื่อบางอย่างมันมีสภาพของการถูกคลั่งไคล้นั้นไม่ได้จำเป็นว่ามันจะเป็นเรื่องไม่จริง (เรื่องหลอกลวง) แต่เป็นเพราะว่ามันถูกฉายภาพออกมาในวิถีทางที่ (ผู้เสพ) จะไม่มีทางสัมผัสถึงความไม่จริงใดๆ ได้”
ก็อย่างที่เห็นครับว่าเรื่อง Fanaticism นั้นเป็นที่ขบคิดกันมานานแล้ว และก็มีความพยายามจะจำแนกประเภทคร่าวๆ เป็นแบบนี้ครับ
1. Consumer Fanaticism หรือความลุ่มหลงอย่างล้นเกิน หรือความคลั่งไคล้ให้กับสินค้า, ศิลปะ, ใครคนใดคนหนึ่ง หรือคณะใดคณะหนึ่งอย่างล้นเกิน ซึ่งหลักๆ กลุ่ม ‘แฟนคลับคลั่ง’ ทั้งหลายก็มักจะถูกจัดอยู่ในหมวดนี้ครับ ไม่ว่าจะเป็นแฟนเพลงคลั่งของวง X-Japan ในอดีต ที่เมื่อมีข่าวการเสียชีวิตของฮิเดโตะ มัตสึโมโตะ หรือ ฮิเดะ มือกีตาร์ของวง (หลังจากที่ประกาศแยกวงไป) และโดยมากเชื่อว่าฮิเดะฆ่าตัวตายนั้น ก็มีแฟนเพลงคลั่งกลุ่มเดียวกันนี้ฆ่าตัวตายตามฮิเดะไปด้วย, โอตาคุสายอนิเมะ ที่หลายครั้งมีความพยายามจะแต่งงานกับคาแรคเตอร์ในอนิเมะที่ตัวเองชอบ (เข้าพิธีวิวาห์กับหมอนข้างรูปตัวละครนั้น อะไรแบบนี้), โอตาคุรถไฟ ที่รู้รอบเดินทางของรถไฟแทบทุกเที่ยว ตามนั่งทุกคัน ทุกรอบ, ไปจนถึงกลุ่มนุช หรือโอตาคุ BNK48 ที่กำลังเป็นกระแสในบ้านเราอย่างมากด้วย
2. Emotional Fanaticism หรือความลุ่มหลง ความคลั่งไคล้อย่างหนักในทางอารมณ์ความรู้สึกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งสิ่งเดียว ซึ่งเอาจริงๆ ก็มีความคาบเกี่ยวกับแบบแรกไม่น้อย แต่อาจจะจำกัดวงให้เล็กลงมาหน่อย คือ ถ้าชอบรถไฟก็ไม่ได้ชอบเรื่องเกี่ยวกับรถไฟทั้งหมดแบบโอตาคุรถไฟ แต่ชอบคันใดคันหนึ่งเป็นการเฉพาะ หรือบางครั้งก็ซ้อนอยู่ร่วมกันกับแบบแรกได้ เช่น โอตาคุ BNK48 ที่ชอบทั้ง BNK48 ในฐานะไอดอลกรุ๊ปด้วย (ซึ่งเป็นแบบแรก) และภายในกรุ๊ปนี้ก็ยังมี Emotional Fanaticism เป็นการเฉพาะให้กับสมาชิกคนใดคนหนึ่งแบบสุดๆ อีกที เช่น น้องเฌอปราง ที่ดูจะมีคนชื่นชอบสุดจิตสุดใจมากมาย เป็นต้น เอาจริงๆ กรณีของ Emotional Fanaticism นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่ไกลตัวอย่างแฟนคลับกับไอดอลก็ได้นะครับ อย่างพ่อแม่ที่หลงลูกมากๆ ใครแตะใครวิจารณ์อะไรลูกไม่ได้เลย ตามใจทุกอย่างสุดคันเร่งเหยียบ ก็นับเป็น Emotional Fanaticism ได้เช่นกัน
3. Ethnic or Racial Supremacist (Fanaticism) ก็คือ การมองว่าเชื้อชาติหรือเผ่าพันธุ์บางกลุ่มนั้นสำคัญกว่า เหนือกว่า ดีกว่าเชื้อชาติหรือเผ่าพันธุ์อื่นๆ นั่นแหละครับ อย่างปัญหาเรื่อง White Supremacist หรือเอกสิทธิ์เหนือชนชาติอื่นของคนขาว ที่เป็นปัญหาร้อนแรงตั้งแต่ทรัมป์ขึ้นครองตำแหน่งมา หรือจะไล่ย้อนอดีตไปยาวยันยุคล่าอาณานิคมที่มากับความคิดเรื่องภาระของคนขาว (Whiteman’s Burden) ที่มองว่าคนขาวนั้นมีอารยะมากกว่า จึงมีภาระที่จะต้องปลดปล่อยคนผิวอื่นออกจากสภาพของความไม่ศิวิไลซ์ที่เป็นอยู่เสีย (ด้วยการทำให้เป็นทาสแทน) นี่เองก็เป็นรูปแบบหนึ่งของ Fanaticism ด้วยครับ
4. Leisure Fanaticism หรือความลุ่มหลงคลั่งไคล้อย่างหนักต่อกิจกรรมการพักผ่อน/ผ่อนคลายบางอย่าง อันนี้เป็นอาการ Fanaticism ที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยถูกคิดถึงนัก แต่เอาจริงๆ มันก็คือ การชอบหรือเสพติดในกิจกรรมเพื่อความผ่อนคลายบางอย่างชนิดหน้ามืดตามัวนั่นแหละครับ เช่น กิน, ท่องเที่ยว, นวดสปา, เที่ยวกลางคืน ไปจนถึงการติดอ่างอย่างแยกตัวจากเทพเจ้าแห่งท้องทะเลแทบจะไม่ได้
5. Nationalistic or Patriotic Fanaticism หรือความหลุ่มหลงคลั่งชาติอย่างล้นเกิน โดยเฉพาะการมองว่าประเทศของตนต้องดีที่สุด เป็นเลิศไม่แพ้ใคร มีความอุดมสมบูรณ์ สวยงามไม่เป็นรองประเทศใดในโลก เป็นเมืองสวรรค์ เมืองเทพสร้างอะไรแบบนี้ และมักจะหลงไหลคลั่งไคล้ในชาตินิยมของตนแรงมาก ชนิดที่ใครด่า ใครว่า ใครให้ความคิดเห็นหรือข้อเสนอเป็นอื่นนี่ไม่ได้เลย จะต้องรุมไล่กระทืบหรือไล่ให้ไปเป็นคนชาติอื่นแทน (หลายๆ ครั้งที่ได้ยินข้อเสนอแบบนั้น ก็อยากจะบอกว่า “อย่าดีแต่ปาก ไปให้ได้นะ แต่เอาเงินมาให้ด้วย”) ชาตินิยมล้นเกินแบบนี้เป็นปัญหามากนะครับ มีนักวิชาการประวัติศาสตร์ชื่อดังท่านหนึ่งเองก็เห็นว่าอาการดังกล่าวนี้ ‘ใฝ่ต่ำ’ ทีเดียว ซึ่งผมเองก็เห็นด้วยมาก เพราะการคลั่งชาตินี้เองนำมาสู่ปัญหาการตบตีกัน การฟังความข้างเดียว และความรุนแรงนับครั้งไม่ถ้วนแล้วในประวัติศาสตร์โลก
6. Religious Fanaticism หรือความคลั่งศาสนาอย่างล้นเกิน จุดนี้คงไม่ต้องอธิบายให้มากความ เพราะก็เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป ซึ่งเอาจริงๆ ความคลั่งศาสนาอย่างล้นเกินนี้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องไปถึงจุดที่ก่อความรุนแรงอะไรอย่างก่อสงครามครูเสดในนามคริสต์ หรือจิฮาดจากทางฝั่งอิสลามนะครับ (แน่นอนพุทธในพม่าที่ไล่ฆ่าโรฮิงญาเองก็ด้วย) แต่ก็เหมือนกับเรื่องชาตินิยมแหละครับ ไม่ต้องเกินความรุนแรง แต่หากคุณไม่ฟังความข้างอื่น รูเดียวตลอด แตะไม่ได้ วิจารณ์อะไรใดๆ ไม่ได้เลย คือ มีการเชื่อแบบหูดับตาบอด (Blind Faith) ด้วยนั้น ก็นับว่าเป็นการคลั่งศาสนาอย่างล้นเกินแล้วครับ ฉะนั้นความเป็นพุทธในไทยก็ควรจะต้องสอบถามหรือตรวจทานตัวเองให้ดีๆ เช่นเดียวกัน
7. Political Ideology Fanaticism หรือความลุ่มหลง คลั่งไคล้ มืดบอดในอุดมการณ์ทางการเมืองบางอย่างมากเกินไป ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงประชาธิปไตยด้วยครับ ไม่มียกเว้น และตัวอย่างนี้ ประเทศไทยก็ชัดเหลือเกิน อย่างการตีกันของเหลืองแดง การรักในอุดมการณ์อำนาจนิยมล้นเกิน รักในระบอบทหารล้นเกิน หรือมืดบอดกับประชาธิปไตยล้นเกิน ความล้นเกินนี้ในทุกๆ ระบอบกรอบคิด ก็นำมาซึ่งการทำให้ไม่เห็นจุดบอด จุดอ่อนของระบอบทั้งสิ้น แม้มันจะตั้งอยู่ทนโท่ตรงหน้า (รวมไปถึงความคลั่งไคล้ต่อบุคคลทางการเมือง หรือพรรคการเมืองใดๆ เป็นพิเศษด้วยนะครับ อย่างนิยมทักษิณ รักประชาธิปัตย์ เป็นต้น)
8. สุดท้ายคือ Sport Fanaticism หรือความคลั่งในกีฬาหรือทีมใดทีมหนึ่งแบบรุนแรง ซึ่งเอาจริงๆ ก็คือแยกออกมาจากหมวดแรกนั่นแหละครับ แต่ด้วยความที่หมวดนี้มีเยอะขึ้นเรื่อยๆ และบ่อยครั้งก่อความรุนแรงด้วย อย่างพวกฮูลิแกนต่างๆ ในหลายๆ พื้นที่อย่างที่คงเคยได้ยินข่าวกันบ้าง แต่เอาจริงๆ ต่อให้ไม่ต้องรุนแรง แต่กับสาวกผี สาวกหงส์ สาวกเรือ ปืน ฯลฯ ที่อินอย่างสุดจิตสุดใจ จิตตกไปวันๆ หรือเป็นอาทิตย์จากการที่ทีมที่ตัวเองเชียร์แพ้ ฟอร์มเห่ย หรือทนฟังคำด่าคำวิจารณ์ต่อทีมตัวเองไม่ได้ (ยกเว้นกลุ่มตัวเองถึงมีสิทธิ์วิจารณ์ทีมตัวเอง) แบบนี้เองก็เข้าข่ายด้วยครือกันครับ
เราจะเห็นได้ว่า พฤติกรรมแบบแฟนคลับคลั่ง หรือลุ่มหลงอย่างล้นเกินนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่พร้อมๆ กันนั้นก็ไม่ได้แปลว่ามันไม่ใช่ปัญหา ‘มันเป็นปัญหาครับ!’
อีกอย่างหนึ่งที่ต้องพึงเข้าใจก็คือ คนๆ นึงนั้นสามารถเป็นแฟนคลับคลั่งในหลายหมวดพร้อมๆ กันในตัวคนเดียวได้ ฉะนั้นปัญหาจึงยิ่งทบเท่าทวีกำลังไปอีก และการเป็นแฟนคลับคลั่งชนิดซ้อนหลายชั้นนี้มีสิทธิเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ด้วย เพราะหากสังเกตดูการเป็นแฟนคลับคลั่งต่างๆ แบบที่ว่ามานั้น ล้วนมีจุดร่วมอย่างหนึ่งร่วมกันคือ ‘การมี Religiosity หรือความรัก เชื่อมั่น ศรัทธา ลุ่มหลงต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งประหนึ่งศาสนา’ คือ Religiosity นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นศาสนา แต่ลุ่มหลงเสมือนหนึ่งความลุ่มหลงเชื่อมั่นที่มีต่อศาสนา
ความลุ่มหลงประหนึ่งศาสนาที่ว่าคืออะไร? มันคือการเชื่อว่ามันมี Absolute Being (ตัวตนสัมบูรณ์สูงสุด) หรือ Absolute Aim (เป้าหมายสัมบูรณ์สูงสุด) ที่สมบูรณ์ในตัวแล้ว ไม่อาจจะไปลบล้าง ถกเถียง ทำลาย ตำหนิ ปฏิเสธ หรือเห็นต่างได้ ไม่ว่าจะเป็น Absolute Being อย่างพระผู้เป็นเจ้า หรือ Absolute Aim อย่างนิพพานก็ตามที
การเข้าสู่โหมดของการเป็นแฟนคลั่งก็คือ การสร้างสถานะ หรือมอบความลุ่มหลงให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในลักษณะที่อุดมไปด้วย Religiosity นั่นเองครับ แต่อย่างที่บอกไป แฟนคลับคลั่งนั้นไม่ใช่อะไรที่ ‘หาแยกเป็นของแปลก’ หรือมีแต่นุช ผลิต กับคุ BNK ของไทยที่ทำแบบนี้ เราเจอแบบนี้ได้แทบทุกที่ในโลกครับ และเอาตรงๆ เลย ก็เป็นปัญหาที่จะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทุกที่ของโลกนั่นแหละ
ในญี่ปุ่นที่ผมอาศัยอยู่ตอนนี้ ก็เรียกได้ว่าโอตาคุ กับแฟนคลับคลั่งด้านนู้นด้านนี้เต็มเมือง ไม่ต้องนับแฟนบอลสุดคลั่งในอังกฤษหรือยุโรป ที่ฟุตบอลแทบจะกลายเป็นศาสนาหนึ่งสืบทอดจากรุ่นปู่ทวดสู่หลาน หรือผิวขาวหลงตัวเองในสหรัฐอเมริกา ไปจนถึงคนคลั่งศาสนาอย่างล้นเกินในแทบทุกที่ในโลก
การมีอยู่ของนุช หรือคุ BNK ที่เกิดในไทยจึงไม่ใช่เรื่องแปลกครับ แต่เป็นปัญหา ไม่ใช่แค่ปัญหาในระนาบเดียวกับที่เกิดในที่อื่นๆ ของโลกด้วยนะครับ เพราะอย่างที่บอกไป คือ เกิดกลุ่มแฟนคลับคลั่งในที่อื่นของโลกนั้น เค้าก็ออกมาพูด มาวิจารณ์ มาอภิปรายถึงปัญหานี้กันไงครับ แต่ด้วยเงื่อนไขของไทย อย่างน้อยๆ 2 ประการหลักๆ มันทำให้คุและนุชไทยน่ากลัวเหลือเกิน คือ
- ด้วยความที่ประเทศไทยเป็นสังคมที่อุดมไปด้วยพลังของ Fanaticism ในทางการเมืองอยู่แล้ว มันจึงมีเครื่องมือทางกฎหมายและการเมืองมากมายที่มาเป็นอาวุธให้กับการห้ามพูด ห้ามวิจารณ์ ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น มาตรา 112, พรบ. คอมพิวเตอร์, และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้คุและนุชเองก็ได้ประโยชน์ในการใช้เครื่องมือทางการเมืองเหล่านี้ในการปกป้องไอดอลรักของตนด้วย หากใครกล้าหือ กล้าอือ กล้าวิจารณ์ Absolute Being ของพวกตน ก็พร้อมจะไปขุดรากเหง้าศักราช ญาติโกโหติกาของคนที่วิพากษ์วิจารณ์ตนมา แล้วขู่ด้วยเครื่องมือสารพัดเหล่านี้ ทั้งด้วย 112 บ้าง หรือ พรบ. คอมพ์ฯ บ้าง ด้วยข้อหาอันเริ่มต้นมาจากการหมิ่นผลิต หรือหมิ่นเฌอปราง
- ผมคิดว่าปัญหาของสังคมไทยที่สำคัญอย่างหนึ่ง อันทำให้ปัญหาของแฟนคลับคลั่งของไทยดูจะ ‘บิดเบี้ยว’ (twisted) กว่าแฟนคลับคลั่งในพื้นที่ที่เจริญแล้วในจุดอื่นของโลกไปอีกขั้นก็คือ ประชากรของประเทศไทย (ทั้งมวล ไม่ใช่แค่กลุ่มแฟนคลับคลั่ง) ไม่เคยได้รับการสอนให้คิดในเรื่อง Accountability หรือสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมอันมาจากการกระทำของตน เราถูกสอนมาด้วยความคิด 2 ฐานหลักๆ แทนคือ เชื่อฟังคำสอนผู้ใหญ่ (โดยไม่ต้องตั้งคำถามอะไร) อันนำมาสู่ปัญหาการเชื่ออะไรแบบมืดบอดได้ง่ายมากๆ และแนวคิดแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาหรือพวกน้ำขึ้นให้รีบตัก ซึ่งเอาจริงๆ เป็นเรื่องปกติในโลกแบบเสรีนิยมใหม่ แต่เมื่อมันผนวกกับการไม่มีอยู่ของแนวคิดเรื่อง Accountability ด้วยแล้ว มันจึงทำให้เรามือใครยาวสาวได้สาวเอา แบบไม่สนไม่แคร์โลก อยากทำอะไรก็ทำในแบบที่ตนคิดว่าพอใจ โดยไม่สนว่าจะไปก่อความลำบากให้คนอื่นอย่างไร
ผมคิดว่าลักษณะ 2 อย่างนี้เองทำให้แฟนคลับคลั่งไทยน่ากลัว เพราะถูกสอนมาให้เชื่ออย่างมืดบอด ไม่สนใจฟังแนวคิดแบบอื่นๆ หรือคำวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ แต่ในขณะเดียวกันก็พร้อมจะ ‘ตอบโต้’ โดยไม่มี Accountability ใดๆ อีก ขอแค่สะใจตนเป็นพอ และหนักหนาที่สุดคือ ประเทศไทยดันมีเครื่องไม้เครื่องมือทางการเมืองที่อนุญาตให้ทำอะไรแบบนี้ได้โดยสะดวกอีก ก็ไม่แปลกครับที่ผลจะออกมาว่า คนกลัวไม่กล้าแตะต้องนุช หรือคุ อย่างมิตรสหายของผมท่านหนึ่งที่ทำงานสื่อและพยายามจะแตะประเด็นนี้ ก็โดนรุมโหมบุกกระหน่ำอย่างไม่สนใจอะไรใดๆ ทั้งสิ้น เพียงเพราะไปตั้งคำถามซิมเปิลมากๆ เบามากๆ กับ ‘ไอดอล’ ของแฟนคลับคลั่งไทยเข้า
อย่างที่บอก ผมไม่คิดและไม่ได้ไปแตะอะไรตัวไอดอลของเหล่าท่านนักรบนุชและคุผู้เกรียงไกรทั้งหลาย เพราะเอาตรงๆ ผมเองก็กลัว แต่คิดว่าปัญหานี้ต้องถูกพูดถึงบ้างแล้ว ไม่เช่นนั้น เราก็อาจจะเห็นเคสที่แฟนคลับคลั่งบ้าหนักรุนแรงขึ้น ไร้เหตุผลมากขึ้น จนนำไปสู่การพยายามจะเก็บเอาไอดอลคนนั้นเป็นของตนแต่เพียงผู้เดียว อย่างกรณีที่ Christina Grimmie ถูกแฟนคลับยิงเสียชีวิตในงานแฟนมีตกับแฟนคลับตัวเอง ไม่ต้องพูดถึงปัญหาการลวนลามหรือแม้แต่เอามีดจ้วงแทง ด้วยความคลั่งไคล้ล้นเกินต่อไอดอลที่เป็นข่าวอยู่แทบทุกปีในหลายๆ มุมโลกด้วย
ก็ขอฝากไว้เท่านี้ก่อนครับ เพราะเกินพื้นที่อีกแล้ว นี่ยังไม่ต้องพูดถึงการตีกันเองในหมู่แฟนคลับคลั่งที่สามัคคีกันเป็นพักๆ เวลามีคนวิจารณ์วงที่ตัวเองคลั่งไคล้อยู่ แต่พอจบศึกนอกก็ฟัดกันนัวเนียข้างในอีก จริงๆ อันนี้เป็นกันทั้งโลกนะครับ และไม่ใช่แค่กับคนจริงๆ ด้วย กับคาแรคเตอร์ในการ์ตูน นิยายต่างๆ ก็ตีกันจนสุดท้ายมันไปตีกรอบและบั่นทอนชีวิตของสิ่งที่หลงรักเสียเอง