ลึกๆ ภายในใจของเรามักอยากมีส่วนร่วมกับสื่อที่เราตกหลุมรัก
อาจจะเป็นนักสำรวจอวกาศในโลกอนาคต ที่เราเดินทางไปดวงดาวได้ หรือการได้จินตนาการถึงชีวิตในโรงเรียนเวทมนตร์ ที่ผู้เขียนไม่เคยได้เล่าถึง หรือแม้แต่จินตนาการความสัมพันธ์ของตัวละคร 2 คน ที่อาจไม่ค่อยได้มีโอกาสได้พบหน้ากันมากขนาดนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแต่ง การสร้างโลก อารมณ์ร่วมของผู้อ่าน และจินตนาการของพวกเขา สิ่งเหล่านี้มาด้วยกันเสมอในการอ่านนิยาย หรือการรับชมเรื่องแต่งใดๆ
การมีส่วนร่วมอาจมาในรูปแบบของการซื้อสินค้า เพื่อตะโกนบอกโลกว่าฉันชอบเรื่องแต่งเรื่องนี้นะ หรือการจับกลุ่มคุยทฤษฎีกับคนที่ชอบเรื่องเดียวกันในแฟนด้อม แต่สิ่งที่ได้รับการพูดถึงและทะเลาะตบตีกันบ่อยมากที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คืองานสร้างสรรค์โดยแฟนคลับอย่างแฟนฟิกชั่น (Fan Fiction) หรือแฟนฟิก (Fanfic) ซึ่งต่อยอดออกมาจากโลก ตัวละครของเรื่องแต่งเหล่านั้นที่พวกเขาชมชอบ หรือในบางครั้งก็นำไปสู่การนำคนจริงๆ มาเป็นตัวละครก็มี และทั้ง 2 แบบนี้ก็ได้รับความนิยมพอๆ กับการถูกตั้งคำถาม
หากมองจากปัจจุบัน เราอาจจะคิดว่าแฟนฟิกเป็นผลพวงของการมีกลุ่มคนมารวมกันเป็นแฟนด้อม แต่ถ้าลองมองไปยังอดีต บางครั้งเราอาจถึงกับตั้งคำถามว่า แล้วมีอะไรบ้างนะที่ไม่ใช่แฟนฟิก?
แฟนฟิกก่อนยุคอินเทอร์เน็ต
คงเป็นเรื่องยาก หากเราจะบอกได้อย่างแน่ชัดว่าอะไรคือแฟนฟิกเรื่องแรก แต่ถ้ายึดความหมายของแฟนฟิกว่าหมายถึง คนคนหนึ่งนำงานเขียนของผู้แต่งอีกคนหนึ่งมาต่อยอดเป็นงานของตัวเอง เราอาจสามารถย้อนกลับไปได้ถึงยุคโรมัน นั่นคือ Aeneid โดยเวอร์จิล (Virgil) กวีชาวโรมัน หนังสือที่เล่าเรื่องต่อจาก The Iliad โดยโฮเมอร์ (Homer) กวีชาวกรีก ซึ่งเวอร์จิลได้หยิบยืมตัวละครรองชาวโรมันอย่าง ‘อีเนียส’ มาเป็นตัวเอกผู้ดำเนินเรื่องต่อไปในหนังสือของเขา
ตามความหมายดังกล่าว บางทีเราอาจจะเรียกการส่งต่อตำนานเกี่ยวกับเทพเจ้าองค์ต่างๆ ของกรีก ว่าเป็นแฟนฟิกก็ได้ เนื่องจากแต่ละท้องที่และห้วงเวลาที่ต่างกัน ก็มีการหยิบยืมชื่อของเทพเหล่านั้นไปเขียนเป็นตำนานที่แตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น ไดโอนีซุส (dionysus) เทพเจ้ากรีกซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในยุคเฮลเลนิสต์ว่า เป็นเทพแห่งไวน์ ได้รับการสันนิษฐานว่า ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคไมซีนี ผู้ทำหน้าที่เป็นเทพเจ้าแห่งนรกมาก่อน
ทว่าเมื่อพูดถึงนรกแล้ว หนึ่งในหนังสือที่พูดเกี่ยวกับโครงสร้างของนรกอย่างชัดเจนที่สุด The Divine Comedy – Inferno โดยดันเต อาลีกีเอรี (Dante Alighieri) กวีชาวอิตาลี ก็เรียกได้ว่าเป็นแฟนฟิกรูปแบบหนึ่ง เพราะนอกจากการจับนักการเมืองที่ผู้เขียนเกลียด กับฮีโร่ชาวกรีกเอาไว้ในขุมนรกที่ลึกที่สุดในเรื่องแล้ว ตัวเอกยังถูกกำหนดให้เป็นตัวผู้เขียนเอง อีกทั้งไกด์ที่พาทัวร์นรกนี้ก็ไม่ใช่ใครอื่น เพราะเขาคือกวีชาวโรมันคนโปรดของดันเตอย่างเวอร์จิล (ที่เราเพิ่งพูดถึงกันไปก่อนหน้านี้) ซึ่งพูดไปก็ตลกดี แต่หนังสือเล่มนี้ก็นับว่าเป็นแฟนฟิกประเภท Self-Insert ผู้เขียนแบบ Virgil x Writer นั่นเอง
แต่ละประเด็นที่เราคุยกันมาชี้ให้เห็นว่า แฟนฟิกในยุคโบราณและแฟนฟิกในยุคปัจจุบัน มีจุดร่วมกันอยู่มาก เพียงแต่วิธีการ เทคโนโลยี และเทรนด์ค่อยๆ วิวัฒนาการขึ้นไปก็เท่านั้น อาจจะเป็นการที่แฟนคลับเชอร์ล็อก โฮมส์ เขียนเรื่องต่อกันเองหลังจากอาเธอร์ โคนัน ดอยล์ (Arthur Conan Doyle) ตัดจบให้นักสืบตาย ไปจนการขายหนังสือแฟนฟิกทำมือ Spockanalia โดยแฟนคลับสตาร์ เทรค ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นประเด็นรูปแบบการกระทำในพื้นที่สีเทา ที่ยังมีการถกเถียงพูดคุยกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะหลังการมาถึงของกฎหมายลิขสิทธิ์ที่รัดกุมมากขึ้น
อำนาจของจิตปรุงแต่ง
หากเราเคยเข้าไปอยู่ในแฟนด้อมใดสักแห่ง เราอาจพบว่า บางครั้งงานที่ถูกสร้างสรรค์โดยแฟนคลับ ก็มีอิทธิพลต่อเราสูงพอๆ กันกับชิ้นงานของเจ้าของงานเลยทีเดียว แต่นั่นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเรื่องแต่งใดที่ทำงานผ่านการแตะต้องกับหัวใจ ซึ่งบ่อยครั้งเป็นแฟนฟิกบางเรื่องที่โดนใจเรา ก็อาจทำให้ภาพจำของเราต่อตัวละครเหล่านั้นเปลี่ยนไป ทั้งที่เจ้าของลิขสิทธิ์ยังไม่ได้ทำอะไรเสียด้วยซ้ำ และยิ่งถ้าเกิดเหตุเช่นนี้กันทั้งด้อม เราจะเรียกสิ่งนั้นได้ว่า ‘Fanon’
Fanon คือการที่แฟนคลับเชื่อในเรื่องบางอย่าง แม้เจ้าของชิ้นงานไม่เคยระบุเอาไว้ แต่มาจากการเชื่อมโยงต่อเติมช่องว่างที่ผู้เขียนทิ้งเอาไว้ เช่น ตัวละคร 2 คนนี้รักกัน ดูสิ สรรพนามที่เขาใช้คุยกันไม่เหมือนคนอื่นเลย เพื่อนที่ไหนเขาจะพูดว่าหึงกันเอ่ย? ในบางครั้ง Fanon ก็กลายเป็นเรื่องจริงที่ผู้เขียนใส่เข้าไปในเรื่อง เช่น ทฤษฎีว่าด้วยเด็กสวมชุดของเล่นไอรอนแมนใน Ironman 2 อย่างปีเตอร์ พาร์คเกอร์ก็กลายเป็นจริง แต่บางครั้ง Fanon ก็ถูกปฏิเสธหรือไม่ไยดีโดยเจ้าของงานเช่นกัน ตัวอย่างโดยมากเห็นได้จากการจับคู่ตัวละครให้รักกัน หรือการ ‘ชิป’ ซึ่งส่วนมากมักไม่กลายเป็นจริง อย่างไรก็ดี แฟนคลับก็ยังสามารถจิตปรุงแต่งกันต่อไปได้ แม้จะไม่มีโมเมนต์ก็ตาม
การกระทำรูปแบบดังกล่าวเป็นเรื่องปกติมากๆ เมื่อเราพูดถึงแฟนด้อมใดก็ตามเกี่ยวกับตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมา เพราะในที่สุดมันคือปฏิสัมพันธ์อันไม่มีพิษภัยระหว่างแฟนคลับ ในการตั้งคำถามและคาดเดาทฤษฎีกันเอง เพื่อความสุขต่อการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน แต่แฟนด้อมที่เกี่ยวข้องกับผู้คนจริงๆ เองก็รับเอาวิธีการเหล่านี้มาเช่นกัน โดยเฉพาะแฟนด้อมวงดนตรีและดารา
อยู่มาวันหนึ่ง รู้ตัวอีกทีเราดันติดภาพลักษณ์ตัวละครของเขาในเรื่องแต่งโดยใครสักคน แทนที่จะเป็นตัวตนของเขาจริงๆ คิดไปก่อนแล้วว่าเขาต้องคู่กับคนนั้นคนนี้ หรืออยู่มาวันหนึ่ง เรากลับมีความคาดหวังที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานความจริง แต่เกิดขึ้นกับคนจริงๆ ผู้มีเนื้อหนังไม่ต่างจากเราไปซะแล้ว ซึ่งบ่อยครั้งก็อาจทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า สิ่งที่เราทำและคิดนั้น กำลังอยู่บนเส้นความพอดีมากน้อยแค่ไหน และแทบจะห้ามไม่ได้เลย เมื่อสิ่งที่ได้รับความนิยมที่สุดอย่างหนึ่งในแฟนด้อม ก็คือเรื่องราวของแฟนฟิกเกี่ยวกับความรักและความสัมพันธ์
เสียงที่ไม่ได้ยิน
มีความเป็นไปได้หลากหลายที่แฟนฟิกจำนวนมากจะเกี่ยวข้องกับความรัก เพราะพื้นฐานแล้ว ความรักเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่สำคัญมากๆ สำหรับมนุษย์ หรือหากถามผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเภทงาน Boy Love อย่างมิโซกุจิ อากิโกะ (Mizoguchi Akiko) ศาสตราจารย์จากคณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยทามะ ก็อาจจะพูดได้ว่ามันเป็นเรื่องแฟนตาซีของผู้หญิง ที่จะเห็นชายหนุ่ม 2 คนรักกันอย่างที่พวกเธอไม่อาจสัมผัสได้จากร่างของผู้หญิง ฯลฯ
อย่างไรก็ดี หากมองไปยังกลุ่มผู้เขียนแฟนฟิกและตัวตนของพวกเขา เราอาจพอทึกทักหาคำตอบได้บ้างจากงานวิจัย Who writes Harry Potter fan fiction? Passionate detachment, “zooming out,” and fan fiction paratexts on AO3 โดยเจนนิเฟอร์ ดักแกน (Jennifer Duggan) จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนอร์เวย์ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่มองหาลักษณะประชาศาสตร์ ของกลุ่มคนที่เขียนแฟนฟิกเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ ในเว็บไซต์ AO3
งานวิจัยพบว่า ราวๆ ครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้หญิง ในขณะที่มี 13.4% เป็นผู้ชาย 11% ระบุว่าเป็นคนข้ามเพศ 3.9% นิยามตัวเองว่าเป็นคนไร้เพศ 21% นิยามตัวเองเป็นคนนอนไบนารี่และ/หรือเควียร์ โดยมากจะเป็นคนที่อยู่ในช่วงวัยไม่เกิน 20 ปลาย ซึ่งหากตีความจากสถิติข้างต้นแล้ว เราจะพบว่าผู้อ่านและเขียนแฟนฟิกจำนวนมาก คือคนที่กำลังค้นหาตัวเอง หรือเพิ่งผ่านการค้นหาตัวเองไป และในช่วงวัยดังกล่าว ความรักและความสัมพันธ์ก็เป็นส่วนที่ใหญ่มากๆ สำหรับการค้นหาตัวตนของคนคนหนึ่ง
นอกจากนั้น สถิติดังกล่าวยังบอกกับเราอีกว่า ปัจจุบันการเขียนและเผยแพร่งานประเภทนี้ มีกำแพงที่ต่ำลงจากการเขียนและแพร่กระจายของหนังสือเล่มเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ค่าใช้จ่าย และการไม่จำเป็นต้องสร้างทุกอย่างเองทั้งหมด ทั้งพื้นที่ของการเขียนแฟนฟิก ยังอนุญาตให้คนที่บ่อยครั้งไม่มีโอกาสได้สื่อสารเรื่องราวของตัวเอง ได้แสดงออก ได้ค้นหาตัวตน ได้พบชุมชนของตัวเอง ผ่านความชอบร่วมกัน ผ่านเพศและรสนิยมทางเพศ หรือเพียงผ่านตัวอักษรที่ออกมาจากใจของใครบางคน
แน่นอนว่าพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการค้นหาตัวตนของคนจำนวนมากเช่นนี้ อาจต้องเต็มไปด้วยการถกเถียงที่ร้อนแรง การเขียนที่บางครั้งก็อาจจะเอาแต่ใจ แต่จะทำยังไงได้ เพราะมันคือการหาทำในสิ่งที่เราเสน่หาด้วยอย่างแรง? แต่ก็อย่าลืมว่าบางครั้งการกระทำบางอย่าง ก็สามารถลุกลามไปยังผู้อื่นได้เช่นกัน
หากไม่เดินอย่างระวังบนพื้นที่สีเทาแห่งนี้ ตัวตนของเราอาจบดบังและกลืนกินผู้คนในชีวิตก็เป็นได้
อ้างอิงจาก
journal.transformativeworks.org