Why สาววาย?
ความนิยมของวัฒนธรรม ‘วาย’ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จำนวนสื่อบันเทิงวายกระแสหลักเพิ่มขึ้น รวมถึงความนิยมและการนำเสนออย่างเปิดเผย ก็ทำให้เราแทบลืมไปแล้วว่า ครั้งหนึ่งวัฒนธรรมวายเคยเป็นวัฒนธรรมย่อยใต้ดิน
นอกจากความนิยมแล้ว ประเพณีที่เรามักพบในด้อมวายก็แทรกซึมตัวออกมาอยู่ในสื่อและแฟนด้อมแบบอื่นๆ หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวันของเราบนโซเชียลมีเดีย อาจจะผ่านแฟนฟิกชั่น หรือผลงานรูปแบบใดๆ จากแฟนคลับ ซึ่งที่เราจะพูดถึงในวันนี้คือ การจับคู่ตัวละครหรือบุคคลมาอยู่ในความสัมพันธ์เชิงโรแมนติก หรือที่เราเรียกว่า ‘การชิป’
เราอาจจะนั่งดูผู้ชายคนธรรมดาๆ 2 คนไปเที่ยวกันในยูทูบ แล้วดันมีใครสักคนบอกว่า พวกเขาเหมือนแฟนกันเลย เราอาจจะดูการ์ตูนที่ไร้เส้นเรื่องรัก แต่ฐานแฟนคลับก็จับตัวละครที่ดูมีเคมีกันได้เข้ามาคู่กัน เราอาจมองสมาชิกวงดนตรีที่เราชอบในคอนเสิร์ต แล้วดันไปหาโมเมนต์ผ่านสายตาเล็กๆ น้อยๆ เราอาจมองไปยังลักษณะตัวละครของใครบางคน เพื่อจะใช้สิ่งที่เรารู้มาประกอบร่างว่า เขาเป็นใครในความสัมพันธ์ และการมองเหล่านั้นก็ถูกพาไปยังจุดสูงสุด ผ่านกระแสการชิปและการสร้างอิมเมจให้แก่ดาวเคราะห์และธนาคารพาณิชย์
ถ้าถามว่าทำไมสาววายชอบชิปไปเรื่อย? คำตอบคงไม่จำเป็นต้องซับซ้อนไปกว่า “ก็เพราะมันฟริน” แต่เป็นไปได้ไหมถ้าเบื้องหลังความฟินจะมีอะไรมากกว่านั้น? ฟินแล้วยังไงต่อ? ความขี้ชิปบอกอะไรเกี่ยวกับมุมมองต่อโลกและตัวเองของคนรุ่นใหม่ได้บ้างหรือไม่?
ก็โลกเรามันเหงานี่
คำตอบแรกๆ ที่เรามักใช้ตอบคำถามว่า อะไรทำให้เราเลือกชมและเลือกรับสื่อบันเทิง คำตอบคือ น่าจะเพราะมันตอบสนองความต้องการทางใจของเราในบางรูปแบบ มันให้ความสุขแก่เรา มันทำให้เราเศร้า มันให้เรามีความหวัง มันน่าตื่นเต้น มันอิ่มเอมใจ มันให้ความหมาย มันให้คำตอบ ฯลฯ เช่นนั้นแล้ว ถ้าพูดถึงการจับคู่สิ่งต่างๆ ในโลกเพื่อชิป มันคือความบันเทิงที่เติมเต็มความต้องการอะไรในเรา?
เราอาจพอหาคำตอบได้จากงานวิจัย The Mechanism of CP fandom Behaviors among Chinese Young Adults: A Grounded Theory Study โดยวานชื่อ โจว (Wanqi Zhou) นักวิจัยจากสาขาจิตวิทยา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยซูโจว จากการพาเราไปศึกษาพฤติกรรม CP หรือการชิปในหมู่แฟนคลับชาวจีนวัยผู้ใหญ่ตอนต้นจากแฟนด้อมต่างๆ ตั้งแต่เคป๊อป ซีรีส์ นิยาย ไปจนถึงอนิเมะ ผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึกเกี่ยวกับประเด็นตัวตน วัฒนธรรมแฟนด้อม และการสื่อสารระหว่างบุคคล เพื่อจะหาปัจจัยภายในและภายนอกที่นำไปสู่การชิป พฤติกรรมเมื่อเราชิป และผลกระทบของการชิป ซึ่งเราจะได้เห็นข้อมูลจากงานวิจัยชิ้นนี้ตลอดบทความนี้
“เนื้อหาอีโรติกของวัฒนธรรมการชิป ช่วยผ่อนคลายผู้อ่านได้อย่างรู้สึกปลอดภัยและซ่อนเร้น โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมอนุรักษนิยมของจีน”
ผู้วิจัยเขียนสรุปไว้ภายใต้หัวข้อปัจจัยเชิงปัจเจกของการชิป สำหรับเราหลายๆ คน การชิปอาจเป็นพื้นที่ที่เราสามารถหลีกหนีโลกรอบตัวของเราได้ แม้ว่างานวิจัยชิ้นนี้จะพูดถึงผู้คนและสภาพแวดล้อมในประเทศจีน แต่ผู้วิจัยยังได้วาดภาพถึงสภาพแวดล้อมทุนนิยมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และเต็มไปด้วยการแข่งขัน ซึ่งถูกวางกรอบอย่างคับแคบจากศาสนาและวัฒนธรรมด้วย และเราอาจเถียงได้ว่า ลักษณะเหล่านั้นสามารถใช้สะท้อนภาพสังคมของประเทศเอเชียจำนวนมากได้ รวมถึงไทยด้วย
จากคำตอบของกลุ่มตัวอย่างพบว่า สภาพแวดล้อมดังกล่าวสามารถสร้างความรู้สึกกังวลและสับสนให้แก่คนในวัยของพวกเขา ซึ่งหากเราคิดตามแล้วคงตั้งคำถามได้หลายคำถามว่า เราจะหาตัวตนของเราอย่างไร เมื่อเราต้องเรียนในสายที่การันตีว่า เราต้องถูกป้อนเข้าไปในสายงานที่ทำเงินมากพอ? ค่านิยมทางวัฒนธรรมและศาสนาของเรา มีส่วนทำให้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับเพศเป็นสิ่งที่ดูสกปรก? ความสัมพันธ์จะโรแมนติกได้อย่างไร ถ้าจุดประสงค์ของมันมีเพียงไว้เพื่อสืบเชื้อสาย?
การชิปจึงไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงความบันเทิงเท่านั้น แต่มันคือการฉายภาพความต้องการภายในของเรา ออกไปยังกลุ่มคนที่เรามองเขาว่าเป็นไอดอล ภาพความสัมพันธ์แฟนตาซีของเราที่ไม่ต้องขึ้นต่อค่านิยมของสังคมโดยรอบ คนที่เราเลือกเป็นเมนของเราอาจคือภาพมนุษย์ในอุดมคติ และเราเองก็ต่างค่อยๆ ก่อร่างความเป็นเราผ่านการชิป เช่นนั้นแล้ววิธีการที่คนคนหนึ่งเป็นชิปเปอร์ จึงอาจบอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับพวกเขาได้ โดยผู้วิจัยเขียนไว้ว่า “แฟนคลับบางคนเรียกตัวเองว่า ‘มัมหมี’ (Mother Fans) นั่นคือพวกเขามองว่าไอดอลคือลูกของตัวเอง และพฤติกรรมการชิปก็ยังแสดงถึงความหวังว่า พวกเขาอยากให้ไอดอลของเขาได้รับความสุข และความเติบโตผ่านความสัมพันธ์นั้นๆ”
ความฟินก็อย่างหนึ่ง แต่ลึกๆ แล้ว เราอาจขี้ชิปเพราะโลกใบนี้ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้เราหาตัวตนในแง่ต่างๆ มากที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นแง่ของความสัมพันธ์ ตัวตน และเพศ
Why ‘สาว’ วาย?
ในงานวิจัยชิ้นนี้ยังพบอีกว่า 90% ของเหล่าชิปเปอร์ เป็นเพศหญิง และ 35% จากทั้งหมดเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ และสถิติดังดังกล่าวก็สะท้อนออกมาในโลกจริงผ่านคำว่า ‘สาววาย’ เพราะเรามักไม่นึกถึงผู้ชายเมื่อเราพูดถึงคนกลุ่มนี้ และเรายังอาจแปลความหมายของมันได้หลายแง่ แต่ในงานวิจัยชิ้นนี้จะพาเราไปดูมุมมองด้านค่านิยมทางเพศ และความสัมพันธ์ของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งอาจกำลังบอกว่า เราอาจจะเป็นชิปเปอร์เพราะ ‘ปิตาธิปไตย’
ผู้วิจัยตีความกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับความต้องการของพวกเขา พบว่าแม้จะอยู่ในสภาพความเป็นอยู่ที่เหนื่อยหน่ายและเปลี่ยวดาย แต่เหล่าผู้ใหญ่ตอนต้นโดยเฉพาะผู้หญิง มีความต้องการที่จะเป็นอิสระ และความทะเยอทะยานอยู่ลึกๆ อีกทั้งพวกเขายังมีภาพความสัมพันธ์ในอุดมคติ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคน 2 คนที่แกร่งในระดับเท่ากัน มีความเท่าเทียมและอิสระ เป็นพื้นที่ปลอดภัยต่อกันและกัน และเป็นความสัมพันธ์ที่นำไปสู่การเจริญเติบโต
แล้วการตีความดังกล่าวกับปิตาธิปไตยยังไง?
“ความชอบในคู่ชิปชาย-ชาย สะท้อนถึงความไม่พึงใจ ในสถานะการเป็นผู้พึ่งพาในมิติความสัมพันธ์ต่างเพศตามขนบ”
ข้อความข้างต้นเขียนโดยผู้วิจัย อีกทั้งกลุ่มตัวอย่างบางคนยังเสนอเพิ่มเติมว่า พวกเขาไม่อาจมองเห็นภาพความสัมพันธ์ที่ดีแบบในคู่ชิปของเขาได้เสียด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงเป็นการสะท้อนภาพว่า ในโลกจริงความสัมพันธ์หมู่มากที่พวกเขาเห็น ไม่สามารถเติมเต็มความต้องการเบื้องลึกของเขาได้ โดยกล่าวว่า “เราชอบความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมและเป็นอิสระที่สุด…แต่เราไม่เคยเห็นมันเลยในชีวิตจริงเลย และไม่คิดว่าจะโชคดีพอที่จะได้มีมันด้วย” ดังนั้นจึงเป็นการสะท้อนภาพว่า ในโลกจริงความสัมพันธ์หมู่มากที่พวกเขาเห็น ไม่เติมเต็มความต้องการเบื้องลึกของเขาได้
นอกจากนั้น การชิปยังเป็นไม่กี่พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงรู้สึกได้ถึงการถือครองอำนาจ ซึ่งผู้วิจัยบอกว่า การชิปคู่ชาย-ชายที่ไม่ได้รับสนับสนุนโดยค่าย แต่มาจากจินตนาการของแฟนคลับล้วนๆ ทำให้ผู้หญิงสามารถสลัดทิ้งซึ่งภาพการเหมารวมว่า ผู้หญิงคือคนที่อยู่ใต้อำนาจและการครอบงำ และเป็นคนที่ถูกมองด้วย Male Gaze กลับหัวกลับหางกลายเป็นว่าตัวเองคือผู้กระทำสิ่งเหล่านั้นแทน
แม้หลายๆ คนอาจมองว่านั่นไม่ใช่วิธีการที่ดี การแก้แค้นไม่ใช่การแก้ไข แต่เราอาจต้องไม่ลืมว่า นั่นคืออำนาจมาตาธิปไตยในจินตนาการชั่วครู่คราว ซึ่งต่างจากปิตาธิปไตยที่มีอยู่จริงในทุกขณะชีวิต
ความคาดหวังในความสัมพันธ์อันเหนือจริง
“การชิปน่ะทำให้เรามีความสุข แต่การมีรักของตัวเองมันช่างยุ่งยากเหลือเกิน” หนึ่งในคำพูดจากกลุ่มตัวอย่างที่พูดถึงความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกัน โดยพูดอย่างมีระยะห่าง นอกจากเราจะฉายภาพตัวเองไปยังคู่ชิปของเราแล้ว แต่การชิปนั้นๆ ก็ส่งผลถึงตัวเราด้วยเช่นกัน
ในฐานะชิปเปอร์ เราหลายๆ คนรู้อยู่แล้วว่า การชิปของเรานั้นเป็นจินตนาการในระดับหนึ่ง เราต่างแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง แต่การจะบอกว่าสื่อไม่มีผลกระทบต่อเราเลยคงเป็นเรื่องไม่จริง โดยเฉพาะเมื่อสื่ออาจเป็นวิธีเดียวที่เราจะสามารถเข้าใกล้ชิ้นส่วนบางอย่างของชีวิตได้ ในกรณีของการชิปนี้คือ เราจำนวนมากเข้าใจความสัมพันธ์ผ่านเพียงการชิป
“ในสภาพแวดล้อมสังคมที่มีการแข่งขันสูง ผู้ใหญ่ตอนต้นมักไม่มีเวลาดูแลใจของตัวเอง และหลายๆ คนอาจหาความสัมพันธ์ในฝัน ได้เพียงจากภาพลวงตาด้วยการชิป”
ผู้วิจัยอธิบายไว้ และเมื่อภาพความสัมพันธ์ของเราไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากมนุษย์สู่มนุษย์อย่างแท้จริง นั่นจึงอาจบิดเบือนมุมมองของเราต่อความสัมพันธ์ได้ เราจะรักใครได้ หากเขาหน้าตาไม่ได้ดีแบบไอดอลของเรา? ถ้าเขาไม่สมบูรณ์เหมือนทุกเรื่องแต่งที่มีคนแต่งเกี่ยวกับเขา? และใครจะรักเราได้ หากเราเองก็ไม่ได้ดีเหมือนภาพในอุดมคติของตัวเราเอง?
ความสุข ความบันเทิง การคลายเครียด ความสะใจ การหาตัวตน ฯลฯ การชิปมีหลากหลายมิติ และเราอาจจะชิปด้วยเหตุผลที่หลากหลายและซับซ้อนด้วยเหตุผลที่อาจเข้าใจได้ ทว่าบ่อยครั้งผลกระทบจากการชิป ก็ไม่ใช่การปลดปล่อยความเป็นตัวเองในทุ่งลาเวนเดอร์สวยงามเสมอไป อย่างที่เราว่าไว้ตอนต้น การชิปคือการนำตัวตนและอุดมคติของเราไปใส่ให้กับใครสักคน คนคนนั้นอาจเป็นตัวละครก็ได้ แต่ถ้าการชิปเดินทางเข้าสู่คนจริงๆ ล่ะ?
บ่อยครั้งเหลือเกินที่ภาพจำและตัวตนที่แฟนๆ สร้างขึ้น กลืนกินและลบล้างตัวตนของคนจริงๆ ที่อยู่ในคู่ชิปเหล่านั้นไป บ่อยครั้งลบเลือนตัวตนทางเพศของพวกเขาไปเลยเสียด้วยซ้ำ “คนไหนอยู่ซ้าย?” “คนไหนอยู่ขวา?” การถกกันนับร้อยพันครั้งว่าใครคือคนที่เป็น ‘ชายหรือหญิง’ ในความสัมพันธ์ภายใต้การจินตนาการนี้ เกิดขึ้นทุกวันจนแทบจะกลายเป็นสภาวะปกติของการชิป และก็ดูจะตลกร้าย เมื่อเรานึกได้ว่าหนึ่งเหตุผลของการเริ่มชิป อาจเป็นเพราะเราต้องการนำตัวเองออกมาจากกรอบอันคับแคบของสังคม
แต่เราเองก็ดันเผลอตกหล่มเดิมๆ ที่สังคมขุดเอาไว้
อ้างอิงจาก