“อ่านฟิกกี่ทีก็อยากมีผัว”
เรามักคิดแบบนั้น หรือพูดอะไรประมาณนั้นให้เพื่อนสักคนฟังบ้างสักครั้ง (หรือหลายครั้ง) ในชีวิต เพราะหลายๆ ครั้งที่เราอ่านนิยาย การ์ตูน หรือเรื่องแต่งอื่นใดแล้วเจอกับตัวละครในฝันซึ่งครองใจเรา อาจจะเป็นชายหนุ่มมาเฟียสุดหล่อ หนุ่มน่ารักนิสัยไม่เหมือนใครที่เราเจอในชีวิต บางทีอาจจะดูการ์ตูนแล้วเจอกับหนุ่มสาว 2 มิติจำนวนมากที่ทำให้เราคิดว่า ถ้าคนคนนี้มีอยู่จริงก็คงจะดีสินะ อยากมีแฟนจัง แต่พอมีคนเดินเข้ามาในชีวิตจริงๆ กลับปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย
ทำไมเราบางคนถึงรักตัวละครในโลกที่ถูกสร้างขึ้นอย่างหัวปักหัวปำ และรักเพียงตัวละครเหล่านั้น? แน่นอนว่าเรื่องแต่งไม่ใช่แค่เรื่องแต่ง เพราะมันพูดบางอย่างเกี่ยวกับโลกที่เราอาศัยอยู่ด้วยเสมอ แต่เรื่องความรักและความหลงใหลล่ะ? ความรู้สึกที่เราหลายๆ คนคิดว่า จะสงวนไว้สำหรับมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อด้วยกันนี้ สามารถเกิดขึ้นกับตัวละคร 2 มิติได้อย่างไร?
วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับ Fictosexuality กับเหตุผลที่เรารักคนที่ไม่มีอยู่จริง วิธีคิดและผลกระทบที่มีต่อเรา และอคติที่ตามติดมันมาด้วย
เอาอะไรมาไม่เรียล?
การมีอารมณ์ความรู้สึกจริงๆ ต่อตัวละครที่ไม่มีอยู่จริงนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นในโลกของเรา ตั้งแต่มีการเขียนเรื่องแต่งและตัวละครต่างๆ ขึ้นมา ผู้ประพันธ์อาศัยการเล่นกับหัวใจและความรู้สึกของมนุษย์ เพื่อทำให้เราอินไปกับเรื่องราวมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว ตั้งแต่เรื่องของศาสดาในศาสนาต่างๆ ตำนานรักโศกเศร้าที่ดึงอารมณ์ของคนยุคนั้นจนคนเศร้าไปตามๆ กัน มาจนทุกวันนี้ที่เราต้องปิดหนังสือนอนร้องไห้อยู่บนเตียง เพราะใครสักคนในเรื่องพูดอะไรที่ทัชหัวใจเราเหลือเกิน
เราต่างรู้สึกต่อเรื่องแต่งในแบบของเราเอง แต่หากพูดถึงความรักแล้วละก็ เราอาจต้องมองไปยังประเทศญี่ปุ่น จากมังงะและอนิเมะ สื่อที่ได้รับความนิยมสูงทั้งภายนอกและภายในประเทศ การรักในตัวละคร 2 มิติ หรือตัวละครในเรื่องแต่ง มักทำให้เราถูกแปะป้ายว่า ‘โอตาคุ’ หรือ ‘เบียว’ อยู่เสมอ แต่นักวิชาการมัตซึระ ยู (Matsuura Yuu) นักวิจัยจากคณะมนุษยศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยคิวชู ไม่เห็นด้วยกับการแปะป้ายดังกล่าว
งานวิจัยของมัตซึระจำนวนมาก เกี่ยวข้องกับการมองประเด็นความรักระหว่างบุคคลกับตัวละคร 2 มิติ ผ่านมุมมองวิชาการเควียร์และสตรีนิยม โดยเขาเชื่อว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในบทความวิชาการของเขาชื่อ Multiple Orientations as Animating Misdelivery: Theoretical Considerations on Sexuality Attracted to Nijigen (Two-Dimensional) Objects มีส่วนที่พาเราไปดูทฤษฎีเบื้องหลังการเกิดความรักต่อตัวละครที่ไม่มีอยู่นี้ในหลากหลายแง่มุม หนึ่งในนั้นคือทฤษฎี ‘Database Consumption’
Database Consumption เป็นทฤษฎีและปรัชญาที่ อาซึมะ ฮิโรกิ (Azuma Hiroki) นักวิจารณ์วัฒนธรรมชาวญี่ปุ่นเป็นผู้พัฒนาขึ้น โดยเป็นการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ และปรัชญาการเสพสื่อร่วมสมัยของประเทศญี่ปุ่นในปี 2009 การเสพสื่อที่เขาเชื่อว่า เกินกว่าขอบเขตของการเสพเรื่องราวหนึ่ง แต่ไปถึงการเสพ ‘ฐานข้อมูล’ แล้ว
ในการอธิบายคำว่า ฐานข้อมูล อาซึมะเปรียบเทียบสื่อหนึ่งชิ้นกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยชั้นบนสุด คืออินเตอร์เฟซที่ผู้สร้างต้องการให้ผู้ใช้เข้าถึง ซึ่งเทียบได้กับสิ่งที่เราเห็นบนหน้าจอหรือหน้ากระดาษ ชั้นถัดมาที่โดยปกติแล้วไม่มีใครมองเห็น คือโค้ดที่ทำให้เกิดภาพเหล่านั้น เป็นฐานข้อมูลที่เขาหมายถึงทรงผมเสาอากาศ อิมเมจตัวละคร สีผม ดวงตา ลักษณะของตัวเอก ลักษณะของพระรอง ไปจนการพูดคุยของแฟนคลับ แฟนอาร์ต แฟนฟิก ฯลฯ อยู่มาวันหนึ่ง ผู้เสพสื่อญี่ปุ่นก็รู้ถึงการมีอยู่ของฐานข้อมูลนี้ และการอ่านสื่อทุกอย่างจึงเปลี่ยนไปตลอดกาล
เมื่อเข้าใจในทฤษฎีดังกล่าวแล้ว ก็อาจจะตั้งคำถามต่อว่าแล้วเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความรักตรงไหน? หากเรามองไปยังความละเอียดในโลกของเรื่องแต่งสักเรื่อง มองไปยังความละเอียดของเรื่องราวพื้นหลัง ปูมหลังตัวละคร หรือไบแอสของเราต่อตัวละครบางประเภท คอนเทนต์ที่อาจจะเป็นทฤษฎี หรือแฟนฟิกท่วมไทม์ไลน์ที่เราเสพได้ไม่หมด อาจสร้างบางสิ่งบางอย่างที่นักวิจัยอาซึมะ และนักวิจัยส่วนมากในพื้นที่การศึกษาประเด็นนี้ เรียกว่า สภาพแวดล้อมเทียม (Artificial environment) ซึ่งแม้จะแยกออกจากโลกจริง แต่ก็เป็นอีกที่ที่เรียกได้ว่า ละเอียดพอๆ กันกับโลกที่เราอยู่
หากเป็นเช่นนั้นแล้ว มันยากขนาดไหนกันที่จะเผลอใจไปตกหลุมรักใครบางคน ซึ่งอาศัยอยู่ในโลกสมจริงแบบนั้น?
เพศภาวะและอคติ
ถึงจะอ้างอิงงานของนักวิจัยสายวัฒนธรรมมาเช่นนั้น แต่มัตซึระก็มีความเห็นว่า ประเด็นความรักรูปแบบดังกล่าว ไม่ใช่เพียงเรื่องของสื่อ อนิเมะและมังงะ หรือเฉพาะเรื่องของโอตาคุอย่างเดียว ทว่าเป็นเรื่องของเพศภาวะด้วย โดย Fictosexuality ถือเป็นหนึ่งในสเปกตรัมของ Asexuality เช่นเดียวกัน และอคติที่มาพร้อมกัน ก็เกี่ยวข้องกับประเด็นเพศภาวะ
คำแรกที่เรามักเห็นว่าเป็นเสียงที่ตั้งคำถาม และถากถางความชอบรูปแบบดังกล่าวคือ ‘เบียว’ คำกว้างๆ ซึ่งปัจจุบันใช้เรียกอะไรก็ตามที่ผู้พูดมองว่า ไม่รู้จักโต แปลก น่าอายแทน ฯลฯ แต่มัตซึระก็ถกว่า อคติเกี่ยวกับ Fictosexuality นั้นคือ ผู้ตรงกับบรรทัดฐานอันถูกปลูกฝังเข้าไปในสังคมที่เรียกว่า Heteronormativity เป็นความเชื่อว่า มีเพศวิถีเดียวเท่านั้นที่เรียกได้ว่าธรรมดา
มัตซึระวาดภาพให้เราเห็นในบทความที่มองภาพรวมของแนวคิดเขา ผ่านการแจกแจงปัจจัยอันก่อร่าง Heteronormativity ว่าสังคมมองภาพความสัมพันธ์ธรรมดา เป็นคู่รักตรงเพศและต้องมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นความเชื่อลึกๆ ที่ถูกปลูกฝังในสังคมว่า ความสัมพันธ์ใดๆ ที่ไม่ได้จบลงด้วยการมีบุตรหลานนั้น เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ปกติในตัวของมันเอง โดยเป็นอคติเดียวกันกับที่คนในชุมชนเพศหลากหลาย (LGBTQ+) จำนวนมากประสบ หรือแม้แต่มุมมองว่ามนุษย์ธรรมดาๆ จำเป็นต้องมีความต้องการทางเพศ
แยกแยะได้ แต่มีผลต่อมุมมองในโลกจริง
กลับไปคุยกันถึงประเด็นความเบียวที่คนจำนวนมากอาจคิดว่า ดูก็รู้อยู่แล้วว่าตัวละครพวกนั้นไม่มีอยู่จริง และต้องเพ้อฝันขนาดไหนถึงจะไปชอบได้? จากการพูดคุยกับคนประเภทดังกล่าว เราอาจจะพบคำตอบหลายๆ อย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิธีคิดต่อการหลงใหลตัวละครจากเรื่องแต่ง
ในงานวิจัยเชิงคุณภาพ Fictosexuality, Fictoromance, and Fictophilia: A Qualitative Study of Love and Desire for Fictional Characters โดยเวลิ-มัตติ คาร์ฮูลาติ (Veli-Matti Karhulahti) นักวิจัยจากคณะดนตรี ศิลปะ และวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยยูแวสกูแล ประเทศฟินแลนด์ พาเราไปรู้จักแง่มุมต่างๆ ซึ่งแบ่งการค้นพบของงานวิจัยออกเป็น 5 หัวข้อใหญ่ๆ คือ
- Fictophillic Paradox—การแยกแยะเรื่องแต่งกับความเป็นจริงได้ แต่ก็ยังรู้สึกมีความสัมพันธ์อย่างแรงกล้ากับตัวละครเหล่านั้น พร้อมทั้งมีความรู้สึกจริงๆ ให้พวกเขา รวมไปถึงความไม่สบายใจที่เกิดขึ้น เมื่อคิดว่าเราไม่อาจมีปฏิสัมพันธ์ต่อตัวละครเหล่านั้นได้จริง
- Fictophillic Stigma—ผู้คนประเภทนี้มักถูกมองด้วยมุมมองอคติ และมีโอกาสที่จะไม่ยอมบอกคนอื่นเกี่ยวกับความไม่สบายใจดังกล่าว
- Fictophillic Behaviors—ผู้มีพฤติกรรมที่มักจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมอันเกี่ยวข้องกับตัวละครเหล่านั้น
- Fictophillic Asexuality—ในบางคน การมีความต้องการรูปแบบนี้ก็เชื่อมโยงกับ Asexuality
- Fictophillic Supernormal Stimuli—การมีมุมมองว่าตัวละครดังกล่าวเหนือกว่ามนุษย์ทั่วไป
ทั้งหมดนี้ เมื่อมองข้อที่ 1 เปรียบเทียบกับข้อที่ 5 ทำให้เราพบภาพที่น่าสนใจราวกับว่า การมีความหลงใหลในรูปแบบดังกล่าว เป็นการเดินบนเส้นระหว่างเรื่องแต่งกับเรื่องจริงที่สลับไปมาเสมอ เราแยกแยะได้ แต่ได้ขนาดไหนกัน? บ่อยครั้งเหลือเกิน เรามักเผลอไผลไปกับการนำบรรทัดฐานของโลกแต่งติดตัวออกมาด้วย ไดนามิก ‘ซ้าย-ขวา’ ของตัวละคร ไปจนถึงความคาดหวังที่ทำให้มนุษย์จริงๆ ไม่อาจสู้ตัวละครของพวกเขาได้ ทั้งในเรื่องรูปลักษณ์และลักษณะนิสัย
ในโลกปัจจุบัน สื่อมากมายอยู่คาบเส้นระหว่างความจริงกับเรื่องแต่ง ทั้งวีทูบเบอร์ สตรีมเมอร์ ไอดอล ฯลฯ ภาพลักษณ์-โลกจริง-คาแรกเตอร์ จึงยากขึ้นทุกวันที่จะบอกได้ว่า อะไรคือเรื่องจริง อะไรคือเรื่องแต่ง
ทว่าเมื่อถึงเวลาที่เราไม่อาจแยกออกได้แล้ว เราน่าจะต้องมาคุยเรื่องนี้กันซ้ำอีกแน่ๆ
อ้างอิงจาก