ใครๆ ก็คงอยากเจอศิลปินที่ชอบกันทั้งนั้น แต่จะดีกว่าไหม ถ้าจะได้เจอกันแบบแฮปปี้ทั้งสองฝ่าย?
ที่ผ่านมา เรามักเห็นเรื่องราวของศิลปินที่ถูกคนแอบตาม พยายามทำอะไรหลายๆ อย่างเพื่อให้ได้ใกล้ชิดกับศิลปินที่พวกเขาชอบ ไม่เว้นแม้แต่การพยายามเข้าไปอยู่ในเวลาส่วนตัวของศิลปินเหล่านั้น หรือที่หลายคนมักคุ้นชินกันในชื่อของ ‘ซาแซงแฟน’
ซาแซงแฟน มักเป็นหนึ่งในประเด็นที่ทั้งตัวแฟนคลับของศิลปิน ค่ายต้นสังกัด หรือแม้แต่ตัวศิลปินเองหยิบยกมาพูดถึงอยู่บ่อยๆ แต่สปอตไลต์ที่ส่องไปยังซาแซง ก็ไม่ได้เป็นเรื่องในแง่ดีเสียเท่าไรนัก
แล้วอย่างนี้ถ้าเราไม่ได้อยากเป็นซาแซง แต่อยากติดตามศิลปินที่เราชอบในฐานะแฟนคลับ หรือคนธรรมดาทั่วไปเราจะสามารถตามศิลปินได้แค่ไหน เส้นแบ่งระหว่างแฟนคลับกับซาแซงมันอยู่ที่ตรงไหนกัน?
‘ซาแซง’ ก่อวีรกรรมอะไรไว้บ้าง
ก่อนจะไปไกลกว่านี้ เราขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ของซาแซงเพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพกันก่อน .. แม้คำว่าซาแซงแฟนจะมีที่มาจากภาษาเกาหลี แต่พฤติกรรมเหล่านี้กลับแผ่ขยายไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน
หากใครยังจำกันได้ เมื่อช่วงประมาณต้นปี 2022 บิวกิ้น—พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล นักร้องและนักแสดงชายชาวไทย เคยออกมาโพสต์ในไอจีสตอรี่ว่าระหว่างทางกลับบ้านและออกจากบ้าน เขาสังเกตเห็นว่ามีรถคันเดิมขับตาม จนทำให้เขารู้สึกกังวล และเป็นห่วงความปลอดภัยของครอบครัว
“ผมอยากจะขอบคุณทุกๆ คนที่ติดตาม ชื่นชอบในผลงานของผมและตัวผมเอง และมาเจอกันตามงานที่ทางบริษัทได้แจ้ง ผมดีใจและรู้สึกขอบคุณจริงๆ ครับ แต่ขอเว้นพื้นที่ส่วนตัวให้ผมและครอบครัวด้วยเช่นกันนะครับ…ผมอยากให้ทุกคนเคารพความเป็นส่วนตัวซึ่งกันและกันในทุกๆ กรณี และสำหรับทุกๆ คนนะครับ” บิวกิ้นระบุ
รวมไปถึงในประเทศจีนเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็ยังเคยมีคลิปไวรัลของ หวังอี้ป๋อ ศิลปินชาวจีนที่ถูกซาแซงแฟนรายหนึ่ง ทำทีเหมือนจะเดินข้ามถนนในจังหวะที่รถตู้ของเขากำลังขับออกมา ก่อนที่ซาแซงคนนั้นจะเปิดประตูรถตู้คันดังกล่าวแล้วพยายามแทรกตัวเข้าไป
เหตุการณ์เช่นว่า ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะเมื่อในปี 2021 หวังอี้ป๋อก็ยังเคยโดนซาแซงแฟนแอบติดตั้ง GPS ในรถยนต์ ทั้งยังเอาข้อมูลที่ได้ไปขายเพื่อหาเงินอีกด้วย
ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะพฤติกรรมของซาแซงที่เคยถูกนำเสนอยังรวมไปถึงการติดตามศิลปินที่หน้าหอพัก ดักรอตามสถานที่ต่างๆ ในเวลาส่วนตัวของศิลปิน การโทรไปหา และแอบติดกล้องในโรงแรมที่ศิลปินไปพัก เป็นต้น
นอกจากพฤติกรรมดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีการตั้งข้อสังเกตถึงการไปรับส่งที่สนามบินว่าเข้าข่ายซาแซงหรือเปล่า เพราะถ้าเรียกคนที่ไปดักรอศิลปินตามโรงแรมว่าซาแซง แล้วทำไมคนที่รู้ไฟลท์บิน ไปรอรับ-ส่งที่สนามบิน ถึงไม่เรียกว่าซาแซง ทั้งๆ ที่ก็เป็นข้อมูลส่วนตัวและเป็นการไปตามนอกตารางงานเหมือนกัน
พฤติกรรมแบบไหนที่เข้าข่ายซาแซง
เมื่อพฤติกรรมการคุกคามของซาแซงเหล่านี้มีมากมายจนไม่สามารถมาลิสต์ออกมาได้เป็นข้อๆ ว่าแบบไหนที่เรียกว่าซาแซง แล้วอย่างนี้เราจะสามารถนิยามพฤติกรรมที่เป็นการคุกคามศิลปินได้อย่างไรบ้าง?
เพื่อร่วมหาคำตอบในประเด็นนี้ The MATTER ติดต่อหา มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง และกฎหมายอาญา-อาชญาวิทยา จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อมาให้ข้อมูลเรื่องการคุกคามศิลปิน โดย อ.มาตาลักษณ์เริ่มจากการนิยามคำว่า ‘คุกคาม’ ก่อนว่า หมายถึงการกระทำที่มีลักษณะไปล่วงเกิน กระทำโดยผู้ถูกกระทำไม่ยินยอม ฝ่าฝืนต่อความสมัครใจของเขา ไม่ว่าจะทำผ่านวาจา การแสดงออกต่างๆ ซึ่งไม่ได้จำเป็นต้องถึงเนื้อถึงตัวผู้ถูกกระทำก็เป็นการคุกคามได้ทั้งนั้น
ดังนั้น อาจารย์จึงจำกัดความของพฤติกรรมที่ส่อไปในทางคุกคามไว้ว่า กระทำที่เป็นการแสดงอำนาจด้วยกริยา หรือวาจาที่ทำให้เกิดความหวาดกลัว อับอายขายหน้า หรือทำให้เกิดความเดือดร้อน ซึ่งในความหมายของคำว่าเดือดร้อน ก็คือความเป็นทุกข์ ความกังวลใจ รวมถึงความเบื่อหน่าย รำคาญ
นั่นจึงแสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมการคุกคาม สามารถปรากฏให้เห็นได้ทั้งในเชิงกายภาพ กล่าวคือการไปโดนเนื้อตัวร่างกาย เช่น วิ่งเข้าไปกอดโดยที่ศิลปินไม่ยินยอม หรือส่งผ้าอนามัยใช้แล้วไปให้ศิลปินก็เป็นการคุกคามทั้งหมด และปรากฏให้เห็นได้ในเชิงจิตใจ เช่น การโทรหาหรือขับรถตาม จนศิลปินรำคาญหรือหวาดกลัวได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี กฎหมายในประเทศไทยไม่ได้มีบทบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับการคุกคามโดยตรง แต่การคุกคามนี้ ไปปรากฏอยู่ในส่วนหนึ่งของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 ซึ่งเป็นเรื่องของการสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นเท่านั้น
แม้ว่าจะมีการกล่าวถึงการคุ้มครองทางด้านสภาวะจิตใจของผู้ที่ถูกคุกคามไว้ แต่ประเด็นดังกล่าว มาตาลักษณ์ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ยากที่จะพิสูจน์กันในทางกฎหมาย เนื่องจากความสามารถในการรับรู้ทางจิตใจเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน
“พูดง่ายๆ คือสภาพจิตใจของแต่ละบุคคลมันก็แตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นกฎหมายจะไม่ได้โฟกัสไปที่ความเสียหายในเชิงจิตใจ เช่น ทำให้อึดอัด ขาดความมั่นใจ รู้สึกเสียใจ มันเป็นเรื่องที่ประเมินไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นในกฎหมายอาญาซึ่งมีบทลงโทษที่กระทบต่อเสรีภาพขั้นพื้นฐาน จึงเป็นเรื่องยากที่จะใช้ขอบเขตของการเสียหายทางจิตใจมาเป็นตัวชี้วัดบทลงโทษ”
อย่างไรก็ดี มาตาลักษณ์ยังมองว่าประเด็นนี้ก็มีข้อยกเว้นอยู่ เพราะถ้าหากเป็นการกระทำซ้ำๆ จนก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ หรือจนส่งผลต่อภาวะจิตใจในระดับที่ทำให้ผู้ถูกกระทำมีอาการทางจิตเวช เช่น การเฝ้าติดตามอยู่ตลอด ก็สามารถเอาผิดกับบุคคลที่มาคุกคามตาม กฎหมายอาญา มาตรา 397 ได้เหมือนกัน
กฎหมายไทยกับการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคลสาธารณะ
ในหลายๆ ครั้งคนที่เป็นซาแซงศิลปินก็ไม่ได้มีเพียงคนเดียว คนที่เฝ้าติดตามศิลปิน หรือทำอะไรที่เป็นการคุกคามศิลปินก็ไม่ได้มีแค่คนกลุ่มเดียว และไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเช่นกัน
ดังนั้นแล้วจึงเกิดเป็นคำถามว่า ถ้าเหตุการณ์ซาแซงเกิดขึ้นในประเทศไทย ศิลปินจะสามารถเอาผิดใครได้บ้าง โดยมาตาลักษณ์อธิบายถึงการคุกคามศิลปินเอาไว้ว่า ถ้าเป็นเรื่องการคุกคามทางเพศ การทำร้ายร่างกาย หรือการหมิ่นประมาทที่มีกฎหมายบัญญติเอาไว้ชัดเจนว่าเป็นความผิด ตรงนั้นไม่มีปัญหา
แต่อาจารย์มองว่าจริงๆ แล้ว ปัญหาส่วนใหญ่ของการคุกคามศิลปินที่เจอ คือการกระทำที่ในตัวของมันเองไม่ได้เป็นความผิด แต่เมื่อกระทำซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง มันส่งผลต่อผู้ถูกกระทำในเชิงจิตวิทยา ที่ในบางครั้งก็อาจทำให้คนตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าจนฆ่าตัวตาย ซึ่งหลายๆ ประเทศก็อยากให้มีกฎหมายลงโทษ
“จุดที่เป็นจุดบอดมากๆ ก็คือ ใครควรเป็นผู้รับผิด ระหว่างคนแรกกับคนสุดท้าย เพราะถ้าไม่มีคนเริ่มมันก็ไม่เกิดปัญหา หรือถ้าไม่มีฟางเส้นสุดท้ายมันก็ไม่เกิดปัญหาแบบนี้ แต่ถ้าจะถามว่าลงโทษเฉพาะคนแรกกับคนสุดท้ายมันก็ไม่น่ายุติธรรม แต่ถ้าจะลงโทษคนทั้งหมดที่มากระทำ จะเอาคุกที่ไหนไปขัง นั่นคือปัญหาที่พายเรือวนในอ่าง ซึ่งอาจารย์เองก็หาทางลงไม่ได้เหมือนกันว่าจะมีกระบวนการดำเนินการอย่างไร” มาตาลักษณ์กล่าว
ส่วนประเด็นว่าประเทศไทยควรมีกฎหมายเฉพาะหรือไม่ ตรงนี้อาจารย์มองว่ายังไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายบัญญัติถึงการคุ้มครองบุคคลสาธารณะ เพราะในการบัญญัติกฎหมายก็ต้องมองถึงเรื่องความจำเป็นที่ได้สัดส่วน มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และถ้ามีจริงๆ การกำหนดขอบเขตการบังคับใช้ก็เป็นเรื่องยากเหมือนกัน
“สิ่งที่ทำได้คือการใช้หลักในเรื่องของความยินยอม” อาจารย์ระบุ
อีกกรณีหนึ่ง ถ้าไม่มองในมุมของกฎหมายอาญา แต่ไปใช้เรื่องการละเมิดแทน ก็มีความยากในเรื่องการฟ้องร้องอีกเช่นกัน เพราะในตัวบทของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ใช้คำว่าผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขา ‘เสียหาย’ ถึงแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิ ผู้นั้นกระทำละเมิด
แล้วประเด็นที่ว่าการกระทำแบบไหนที่จะผิดกฎหมายตามมาตรา 420 มาตาลักษณ์ก็อธิบายต่อว่า ต้องตั้งต้นด้วย ‘หลักความยินยอม’ เป็นพื้นฐาน เมื่อเขาไม่ยินยอมแล้วไปกระทำต่อเขาก็คือผิด นี่คือหลักการที่ตั้งต้นมาจากรัฐธรรมนูญ ที่ระบุไว้ว่าคนมีเสรีภาพ เมื่อเขาไม่ยินยอมมันก็เลยผิด
แต่ประเด็นที่ยากในทางละเมิด อาจารย์กล่าวว่า เป็นเรื่องของการที่ผู้ถูกกระทำต้องพิสูจน์ความเสียหายมากกว่า ว่าเขาได้รับความเสียหายอย่างไร เช่น บอกว่าเสียหายทางจิตใจ ก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าแล้วผู้ถูกกระทำนั้นเสียหายอย่างไร
บุคคลสาธารณะ vs สิทธิความเป็นส่วนตัว
‘ศิลปินก็คือบุคคลสาธารณะหรือเปล่า ทำไมเราจะตามไม่ได้ล่ะ แค่ตามถ่ายรูปเฉยๆ เอง…’
กลับมาที่ประเด็นถกเถียงเรื่องบุคคลสาธารณะกับสิทธิความเป็นส่วนตัว ก็เคยมีบทความวิจัยเรื่อง ‘ซาแซงแฟน: กลุ่มคลั่งไคล้ศิลปินเกาหลีเกินขอบเขตในเกาหลีใต้’ ที่ระบุไว้ว่าหนึ่งในแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการประกอบร่างซาแซงขึ้นมา ก็คือเหตุผลว่า ‘ศิลปินเป็นบุคคลสาธารณะ’
ส่วนสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็มาจาก ความคิดที่เชื่อว่าบุคคลใดเป็นบุคคลสาธารณะที่สามารถเจอตัวและติดตามไปได้ทุกที่ทุกเวลา แม้จะเป็นเวลาที่ไม่ได้ออกงาน อย่างเวลาส่วนตัวก็ตาม
สอดคล้องกับบทความวิชาการที่มาตาลักษณ์เคยเขียนไว้ว่า มีงานวิจัยที่สัมภาษณ์ถึงสิทธิส่วนบุคคลของบุคคลสาธารณะ ว่าถ้าเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่นนักร้อง นักแสดงว่าควรได้รับการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลมากเพียงไร ซึ่งคำตอบส่วนใหญ่ก็ระบุว่า ถ้าบุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก เป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป สิทธิส่วนบุคคลก็น่าจะลดลงไปด้วย
แล้วอย่างนี้แปลว่าบุคคลสาธารณะย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองหรือเปล่า?
จริงๆ แล้วประเด็นหลักการการคุ้มครองบุคคลสาธารณะเป็นที่ถกเถียงกันเรื่อยมา โดยบางส่วนก็มองว่า ในเมื่อเขาเป็นบุคคลสาธารณะแล้ว ย่อมถือว่าเป็นบุคคลที่ยอมให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินชีวิตไปโดยปริยาย ทำให้สิทธิของบุคคลสาธารณะลดลงไปตามธรรมชาติ และต้องยอมสูญเสียความเป็นส่วนตัวบ้าง
ในขณะเดียวกันก็มีคนที่เชื่อว่าบุคคลสาธารณะก็ยังเป็นบุคคลธรรมดาที่มีสิทธิเท่ากับบุคคลอื่นๆ เพียงแต่ในทางปฏิบัติ กฎหมายได้เปิดช่องให้สังคมได้รับรู้ชีวิตส่วนตัวของบุคคลสาธารณะในเรื่องที่เป็นประโยชน์กับสาธารณชนได้
เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ต้องย้อนมาดูเรื่องสิทธิส่วนบุคคลกันก่อน ซึ่งคำว่า ‘สิทธิส่วนบุคคล’ เป็นส่วนหนึ่งในสิทธิมนุษยชน มีที่มาจากสิทธิตามธรรมชาติที่เชื่อว่ามนุษย์มีสิทธิต่างๆ โดยกำเนิด โดยกฎหมายของรัฐไม่อาจทำลายได้ แต่สิทธิดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นสิทธิที่กฎหมายจะให้การรับรอง 100%
ส่วนในประเทศไทยก็ได้มีการรับรองสิทธิดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 32 ที่ระบุไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว ดังนั้นการกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคล หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใดๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ
หลักความยินยอม คือเรื่องจำเป็น
จากประเด็นข้อถกเถียงเรื่องบุคคลสาธารณะกับสิทธิส่วนบุคคล มาตาลักษณ์ก็ให้ข้อสังเกตเอาไว้ว่า แม้จะมีแนวคิดที่บอกว่าศิลปินก็เป็นคนคนหนึ่งที่ไม่ได้อยากเป็นศิลปินตลอดเวลา แต่หากพูดถึงในสังคมไทยแล้ว เรายังคงมีวัฒนธรรมการตามศิลปินที่มองว่าศิลปินต้องเข้าถึงง่ายอยู่ ดังนั้น ในสังคมไทย อาจกล่าวได้ว่ายังไม่มีการคุ้มครองสิทธิของศิลปินได้เต็มที่
รวมไปถึง มาตาลักษณ์ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า จริงๆ ก็มีหลายคนที่พยายามหาขอบเขตตรงนี้ แต่สุดท้ายมันก็จบลงที่คำว่า ‘คุณเป็นบุคคลสาธารณะ คุณจะได้รับการคุ้มครองด้วยภายใต้คำว่าเท่าเทียมกับคนทั่วไปไม่ได้ เพราะมันไม่เท่าเทียมตั้งแต่แรก’ ทำให้อาจารย์มีข้อเสนอถึงการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของศิลปิน ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 4 ประเภทดังนี้
1. ในพื้นที่สาธารณะ ต้องแยกว่าเป็นเวลางานหรือไม่ใช่เวลางาน ถ้าในเวลางานศิลปินก็ต้องยอมสละความเป็นส่วนตัว ไปเกือบ 100% เช่น เมื่อศิลปินไปงานเปิดตัวแบรนด์ในที่สาธารณะ (ที่ไม่ได้มีกฎห้ามถ่ายรูป) คนทั่วไปก็สามารถถ่ายรูปได้เลยโดยไม่ต้องขอความยินยอมจากเจ้าตัว
2. อยู่ในพื้นที่ส่วนตัว การไปติดตามไปวุ่นวาย ไปติดกล้องวงจรปิดดูเขา ไปแอบส่องจากระเบียงห้องอีกห้องหนึ่ง กรณีนี้เป็นการคุกคามทั้งหมด เพราะตรงนี้คือที่ส่วนตัว
3. ในพื้นที่สาธารณะ แต่อยู่กับครอบครัว เพื่อน หรืออยู่กับคนรอบตัวที่ไม่ได้เป็นบุคคลสาธารณะ กรณีนี้ อาจารย์ก็ยังมองว่าศิลปินก็ยังต้องสละความเป็นส่วนตัวออกไปในระดับหนึ่ง แต่ไม่ถึง 100% ซึ่งตัวศิลปินเองก็อาจแสดงออกบางอย่าง เช่น ใส่แมสก์ ใส่หมวก โบกมือห้ามถ่าย อันนี้คนอื่นก็ไม่สามารถเข้าไปตามได้แล้ว
แต่ในส่วนของบุคคลอื่นๆ ที่อยู่กับศิลปิน ตรงนี้ชัดเจนว่าถ้าไปละเมิดความเป็นส่วนตัวของเขา เช่น การถ่ายรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต นับเป็นการคุกคามแน่นอน
4. อยู่คนเดียวในพื้นที่สาธารณะ โดยทางต้นสังกัดหรือเจ้าตัวยังไม่มีการสร้างเกณฑ์ใดๆ อาจารย์ก็เสนอว่า ต้องมีจุดที่พบกันครึ่งทาง คือต้องบาลานซ์สิทธิเสรีภาพของศิลปินในฐานะมนุษย์ กับในแง่ของการที่เขาเป็นบุคคลสาธารณะ ที่โดยสภาพ ก็อาจถูกติดตาม
โดยอาจารย์ให้เป็นข้อเสนอไว้ว่าถ้าศิลปินออกไปใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะที่ไม่ได้ทำงาน แล้วไม่อยากให้คนอื่นตามถ่ายรูป เขาก็ต้องแสดงความไม่ยินยอมออกไปให้คนเห็นอย่างชัดเจน เช่น การโบกมือห้ามตาม ใส่หมวก ปิดแมสก์ หรือมีการประกาศไว้ตั้งแต่ต้นว่าไม่อนุญาตให้ติดตามหรือถ่ายภาพ ซึ่งถ้ายังมีคนไปตามหรือถ่ายภาพอีก ตรงนี้ก็คือการคุกคาม
ในทางตรงกันข้าม มาตาลักษณ์ก็มองว่า หากเขาไม่ได้ปกปิดตัวตน ไม่ได้แสดงออกโดยชัดเจนว่าไม่ยินยอม ศิลปินก็ไม่น่าจะได้รับความคุ้มครองในส่วนนี้
หรือแม้ว่าในตอนแรกเขาจะเปิดเผยตัวเอง หรือปลอมตัวแล้วมีคนจำได้ ทำให้มีคนไปติดตาม หรือถ่ายรูปแล้วเขารู้ตัว ต่อมาศิลปินจึงแสดงเจตนาไม่ให้ความยินยอม ถ้ายังติดตามเขาต่อ ตรงนี้มาตาลักษณ์ก็มองว่าย่อมเป็นการคุกคามเช่นกัน
ดังนั้น มาตาลักษณ์จึงเห็นว่า ถ้าเราใช้หลักธรรมดาตามคอมมอนเซ้นส์ในเรื่องของความยินยอม จะทำให้การแสดงเจตนาทั้งสองฝ่ายชัดเจนมากขึ้น แล้วก็จะเป็นสิ่งที่ปกป้องเขาในพื้นที่สาธารณะบนพื้นฐานของความเป็นจริง ว่าเขาเป็นบุคคลสาธารณะ เขาก็ต้องยอมรับว่าเงื่อนไขการดำรงชีวิตก็อาจยากกว่าคนอื่นนิดนึง อันนี้เป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับ
เราอาจกล่าวได้ว่าสิทธิความเป็นส่วนตัวนี้เป็นร่มใหญ่ที่คุ้มครองสิทธิของแต่ละบุคคล แต่ภายใต้ร่มคันนั้น ก็ยังต้องมองด้วยว่าแต่ละพื้นที่หรือแต่ละสังคม มีการยอมรับเปิดช่อง หรือให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมากน้อยเพียงไร ส่วนในสังคมไทยตอนนี้ ก็อาจกล่าวได้ว่า ยังไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลสาธารณะมากเท่าไรนัก
อ้างอิงจาก