ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 กระแสความนิยมในการสร้างรูปร่างให้อ้วนท้วนเริ่มมีมากขึ้น มันเริ่มมาจากเหล่าคนร่ำรวยที่ไม่ต้องทำงานและมีเวลาสามารถกินอาหารได้มากมาย ต่างเริ่มพากันมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นจากกิจวัตรประจำวันที่ส่วนใหญ่ล้วนหมดไปกับการเสาะหาความอร่อยเข้าสู่ร่างกาย จนทำให้พวกเขามีรูปร่างที่ใหญ่โตชัดเจนกว่าคนทั่วไปในยุคสมัยนั้น
เคอร์รี ซีเกรฟ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Obesity in America, 1850-1939: A History of Social Attitudes and Treatment กล่าวว่า จากความโดดเด่นชัดเจนเรื่องรูปร่างทำให้เหล่าผู้ชายน้ำหนักเกินเกณฑ์ประชากรเฉลี่ยเริ่มรวมตัวกันเป็นกลุ่มพี่น้องที่รักใคร่ปรองดองจนคุยกันว่าพวกเขาต้องมีสโมสรเป็นของตนเอง สโมสรชายอ้วน หรือ ‘Fat Men’s Clubs’ จึงได้ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.1869 ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยชื่อเป็นทางการคือ ‘Fat Men’s Association of New York City’
การก่อตั้งสมาคมนี้ทำให้เกิดกระแสบวกแพร่กระจายไปทั่วประเทศ รวมไปถึงในประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนี เหล่าชายผู้มีความสุขกับการกินอาหารมากมายต่างเริ่มมีค่านิยมในการใช้น้ำหนักของตนเองให้กลายเป็นเครื่องหมายแห่งความภาคภูมิใจและเกียรติยศ ดั่งคำปฏิญาณที่สมาคมได้กล่าวไว้ว่า “พวกเราอ้วน และเราจะทำให้ดีที่สุด!”
นับตั้งแต่นั้นสมาคมที่เรียกตัวเองว่าสำหรับ ‘คนอ้วน’ ก็เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นกลุ่มชายผู้ร่ำรวยหรือเป็นผู้ชายที่มีอำนาจในเมืองใหญ่ๆ ทั่วรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา สมาคมดังๆ ที่มีชื่อ เช่น ‘New England Fat Men’s Club’, ‘Jolly Fat Men’s Club’ หรือ ‘United Association of the Heavy Men of New York’
สมาชิกในสมาคมต่างรวมตัวกันไม่ทำอะไรไปมากนอกเสียจากการกิน แต่ละสมาคมจะมีงานรวมตัวกันประจำปีซึ่งมีกิจกรรมไม่ค่อยต่างกันนักนั่นคือ การรวมตัวกันเพื่อรับประทานอาหารเป็นจำนวนมาก นี่อาจดูเหมือนการพบปะสังสรรค์เหมือนที่บุคคลสังคมทั่วไปทำกันเมื่อพบเจอเพื่อนหรือญาติมิตร แต่ที่มันพิเศษออกไปเพราะสมาคมคนอ้วนต่างกินกันด้วยปริมาณที่มหาศาลเป็นอย่างมากต่อการพบกันหนึ่งครั้ง
ซึ่งคำว่า ’มาก’ นั้น หมายถึงมากจริงๆ ยกตัวอย่างเช่นที่งานเลี้ยงสังสรรค์หนึ่งในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1884 จัดโดยสมาคมผู้ชายอ้วนแห่งนิวยอร์ก มีรายงานว่า ฟิลลิทุส ดอเรียน ประธานสมาคม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นทันที 8 ปอนด์ (หรือประมาณ 3.6 กิโลกรัม) จากงานเลี้ยงอาหารค่ำในสมาคมเพียงมื้อเดียว
แล้วอาหารในงานเลี้ยงสังสรรค์ส่วนใหญ่เป็นอะไร? ที่งานเลี้ยงสังสรรค์หนึ่งของสมาคมชายอ้วนในนิวอิงแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีเมนูทั้งหมด 9 คอร์ส ซึ่งประกอบด้วย ค็อกเทลหอยนางรม ซุปครีมไก่ ปลากะพงต้ม เนื้อวัวกับเห็ด ไก่ย่าง หมูหันย่าง สลัดกุ้ง พุดดิ้งผลไม้นึ่งซอสบรั่นดี เค้กนานาชนิด ชีส และไอศกรีม ตามด้วยกาแฟและซิการ์
หากสงสัยว่าแล้วน้ำหนักเท่าไหร่ถึงจะเข้าสมาคมนี้ได้? ถ้าคุณน้ำหนัก 200 ปอนด์หรือประมาณ 90 กิโลกรัมขี้นไป ยินดีด้วย คุณสามารถยื่นใบสมัครเข้าชมรมนี้ได้ แต่คุณอาจต้องพยายามกินให้มากขึ้นเพื่อไต่ระดับชั้นสู่ความอ้วนที่น่ายกย่องและชื่นชม หนึ่งในขนาดตัวอย่างสมาชิกในกลุ่ม ฌอง ฌูเมล สมาชิกของสโมสร ‘Les Cent Kilos’ สโมสรสำหรับผู้ชายที่มีน้ำหนักเกินในประเทศฝรั่งเศส เขามีน้ำหนักประมาณ 352 ปอนด์ หรือประมาณ 160 กิโลกรัม และมีรอบเอว 64 นิ้ว
ด้วยเรื่องของสุขภาพหรือค่านิยมในปัจจุบันทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ล้วนอยากจะอยากลดน้ำหนัก ซึ่งตรงข้ามกับสหรัฐอเมริกาในยุคนั้นที่ชายหนุ่มต่างพยายามเพิ่มน้ำหนักให้มากกว่า 200 ปอนด์กันถ้วนหน้า เพราะการได้อยู่ท่ามกลางสโมสรชายอ้วนเป็นเสมือนสัญลักษณ์ทางสถานะ เสมือนเป็นเอกสิทธิ์ และหากใครมีน้ำหนักมากเท่าไหร่ ก็อาจมีโอกาสได้เป็นประธานสมาคมมากเท่านั้น
จากหนังสือ Obesity in America, 1850-1939: A History of Social Attitudes and Treatment กล่าวว่ามีสโมสรชายอ้วนหนึ่งในรัฐโอไฮโอได้ใช้เครื่องชั่งน้ำหนักขนาดใหญ่เป็นตัวตัดสินว่าใครจะได้เป็นประธานสโมสร ซึ่งใครที่มีน้ำหนักมากที่สุดก็จะได้ตำแหน่งนี้ไปครองทันที
“โดยทั่วไปแล้วการเป็นสมาชิกได้นั้น จะเปิดให้เฉพาะผู้ชายที่มีน้ำหนัก 200 ปอนด์ขึ้นไป การได้เข้าไป มันทำให้คุณได้เข้าถึงผู้ชายที่มีอิทธิพลมากที่สุดในเมืองของคุณ” ซีเกรฟอธิบายเพิ่มเติมในหนังสือถึงค่านิยมนี้
เช่นสมาชิกในสมาคม ‘Fat Men’s Association’ แห่งนครนิวยอร์กในยุคปี ค.ศ.1870 นั้น เต็มไปด้วยผู้มีอิทธิพลมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ผู้ว่าการประปาเขตการปกครองบรูกลิน ผู้ดูแลเรือนจำคิงส์เคาน์ตี้ ทนายความ ผู้รับเหมารายใหญ่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงใน N.Y.P.D (New York Police Department) องค์กรตำรวจที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา
แดริล ลีเวอร์ธี นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสวอนซีแห่งสหราชอาณาจักร กล่าวว่า สโมสรชายอ้วนไม่ได้เป็นเพียงปรากฏการณ์ทางชายฝั่งตะวันออกของประเทศเท่านั้น เพราะรัฐเนวาดา ยูทาห์ และเทนเนสซีก็มีสโมสรสำหรับคนอ้วนด้วยเช่นกัน และมันไม่ได้เป็นแค่เพียงสถานที่สำหรับเฉลิมฉลองความสุขในการรับประทานอาหารโดยไม่ต้องกังวลเรื่องรูปร่างและเต็มไปด้วยการคุยโวเกี่ยวกับขนาดเส้นรอบเอวของตัวเอง เพราะนอกจากนั้นพวกเขายังมีกิจกรรมอื่นๆ ด้วยกัน เช่น ที่เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี มีทีมเบสบอลชายอ้วนเป็นของตนเอง โดยมีคณะกรรมการทีมเบสบอลที่ประกอบด้วยทั้งผู้พิพากษา รัฐมนตรี และเหล่านักการเมือง
แล้วผู้หญิงในยุคสมัยนั้นชอบผู้ชายอ้วนไหม?
จากการจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นในปี ค.ศ.1899 เกี่ยวกับมุมมองความคิดเห็นของผู้หญิงต่อผู้ชายอ้วน ได้ข้อสรุปส่วนใหญ่เป็นไปทางเดียวกันนั่นคือ พวกเธอมักจะชอบผู้ชายอ้วน หนึ่งในผู้ให้ความคิดเห็นกล่าวว่า “คนอ้วนนอกจากจะเป็นคนที่มีนิสัยร่าเริงแล้วนั้น ยังเป็นคนที่มีน้ำใจและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่นมากที่สุดอีกด้วย”
แบบสำรวจนี้สรุปสุดท้ายว่า “เป็นความจริงที่ว่า ผู้ชายอ้วน 7 ใน 10 คนจะเป็นสามีที่ยอดเยี่ยม”
ตั้งแต่ปี ค.ศ.1920 เป็นต้นมา กระแสความนิยมในน้ำหนักเริ่มเปลี่ยนไป แพทย์ต่างออกคำเตือนเกี่ยวกับผลกระทบด้านลบของความอ้วน โดยเริ่มแนะนำเคล็ดลับอายุยืน ด้วยการการรับประทานอาหารที่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพในปริมาณที่พอเหมาะรวมถึงการออกกำลังกายเป็นประจำ
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เครื่องชั่งน้ำหนักส่วนบุคคลก็เริ่มมีจัดจำหน่ายแพร่หลายในราคาจับต้องได้ มันทำให้ผู้คนเริ่มมีนิสัยคอยตรวจสอบน้ำหนักของตนเองในบ้านเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลตัวเลขน้ำหนักของแต่ละคนกลายเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาพูดคุยในที่สาธารณะอีกต่อไป
จากวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับน้ำหนักในประเทศสหรัฐอเมริกาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดย เดบอราห์ เลวีน อธิบายว่า “การชั่งน้ำหนักในที่สาธารณะ เช่น เครื่องชั่งน้ำหนักหยอดเหรียญเพนนี และการสนทนาเรื่องกับการคาดเดาน้ำหนักของแต่ละคน กลายเป็นเรื่องน่ารังเกียจของสังคมอเมริกัน และค่านิยมความอ้วนเริ่มจางหายไปกับทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง”
สมาชิกชายอ้วนเริ่มหายไปอย่างรวดเร็วและทยอยปิดตัวลง ‘New England Fat Men’s Club’ เคยมียุครุ่งเรืองที่สมาชิกกว่า 10,000 คน และสุดท้ายก็ยุบสโมสรในปี ค.ศ.1924 โดยก่อนยุบมีสมาชิกหลงเหลืออยู่เพียง 38 คน
ความอ้วนเริ่มไม่เป็นที่นิยมและโปรดปรานตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 20 เป็นต้นมา เมื่อโรคที่มากับความอ้วนเริ่มเป็นปัญหาที่ทำให้ประชาชนต่างล้มป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ความอ้วนไม่ใช่สิทธิพิเศษอีกต่อไป การแพทย์ที่พัฒนามากขึ้นเริ่มเข้าใจถึงผลกระทบด้านสุขภาพเชิงลบของความอ้วน และเริ่มรณรงค์ให้คนหันมารักสุขภาพด้วยการกินแต่พอควรและหมั่นออกกำลังกาย ค่านิยมจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และสมาคมคนอ้วนก็ได้ล่มสลายในที่สุด
แต่อย่างน้อยในช่วงเวลาหนึ่ง โลกก็เคยมีคนอ้วนครองเมือง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Kerry Segrave, Obesity in America, 1850-1939: A History of Social Attitudes and Treatment
https://www.texasmonthly.com/bbq/fat-mens-clubs-texas/
https://www.huffpost.com/entry/fat-mens-clubs_n_56fc2d77e4b0daf53aee85d2
https://www.npr.org/sections/thesalt/2016/03/07/469571114/the-forgotten-history-of-fat-men-s-clubs