1.
“กูต้องเลี้ยงลูกยังไงวะ”
เพื่อนพ่อลูกอ่อนคนหนึ่งถามโพล่งขึ้นมากลางวงชาบู ในงานเลี้ยงวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
แน่นอนว่าไอ้หมอนี่คงไม่ได้คาดหวังคำตอบอะไรจากเพื่อนกลุ่มชายล้วนวัย 30 ต้นๆ ที่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้แต่งงาน และมันก็เดาถูกเผง เมื่อคำตอบแรกคือ “ให้เมียเลี้ยงดิ”
แต่จากคำตอบแรก บทสนทนาก็เคลื่อนไปเรื่อยๆ จนกระทั่งกลายเป็นวงสาระที่พูดถึงความเปลี่ยนแปลงของโลก เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ธุรกิจใหม่ ความเปลี่ยนแปลง และความยากลำบากในการทำงานที่เพิ่มขึ้นทุกวี่วัน แม้การพูดคุยจะเต็มไปด้วยจินตนาการ ความคาดเดา และความไม่รู้ แต่มันก็จุดประกายความคิดใหม่ๆ น่าดู
แน่นอนครับว่า บทสนทนาวันนั้นไม่ได้ข้อสรุป
ยกเว้นข้อเสนอแรกที่ทุกคนเห็นตรงกันว่าให้ ให้เมียมันเป็นคนเลี้ยงน่าจะดีกว่า
2.
“งานสำคัญที่สุดในชีวิตที่ผมเคยทำ คือ การเป็นพ่อคน และผมอดสงสัยไม่ได้ว่า อุตสาหกรรมใหม่ในอนาตจะส่งผลอย่างไรต่อลูกผมและคนร่วมเจเนอเรชั่นของเขา”
ข้อความข้างบนนี้เป็นของ Alec Ross ที่เขาเขียนไว้ในหนังสือเรื่อง The Industries of the Future (Ross เป็นที่ปรึกษาทางเทคโนโลยีของ Hillary Clinton สมัยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ) ผมอ่านเจอแล้วนึกถึงเพื่อนคนนั้นทันที พร้อมกับสำนึกว่า แท้จริงแล้วคำถามกลางวงชาบูนั้น อาจเป็นคำถามที่สำคัญที่สุดคำถามหนึ่งของยุคสมัย
ในหนังสือ Alec Ross ได้เดินทางไปสัมภาษณ์ผู้นำองค์กรธุรกิจ นักการเมือง และนักเทคโนโลยีชั้นนำจากทั่วโลก เพื่อต้องการฉายภาพให้เห็นอุตสาหกรรมในโลกอนาคต – โลกของหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีพันธุกรรมสุดล้ำที่ทำให้คนใกล้เคียงไซบอร์ก การเงินรูปแบบใหม่ โลกที่ข้อมูลกลายเป็นเหมืองทอง – พร้อมทั้งพยายามหาคำตอบว่า
อะไรคือทักษะที่เด็กในเจเนอเรชั่นเดียวกันกับลูกเขาต้องมีเพื่อประสบความสำเร็จในอนาคต
ในบางส่วนของหนังสือ Ross ได้สรุปข้อเสนอของผู้นำทางความคิดและนักเทคโนโลยีชั้นนำเกี่ยวกับการเรียนของเด็กรุ่นใหม่เอาไว้ ในตอนแรกก็คิดว่าจะส่งให้เพื่อนคนนั้นอ่าน แต่คิดไปคิดมาก็ขอเก็บเอามาเล่าและแบ่งปันกับผู้อ่านด้วยเลย โดยนอกจากที่ Ross เขียนไว้แล้ว ผมได้ลองไปหาคำแนะนำในการเลี้ยงลูกจากผู้นำเทคโนโลยีอื่นๆ มาผสมด้วย
เรียนเขียนโปรแกรม
ทักษะที่สำคัญที่สุดที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันคือ การเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ หรือการเขียนโค้ดโปรแกรมนั่นแหละครับ ซึ่งแต่ละคนให้เหตุผลไว้มากมาย แต่ผมขอเอามาเรียงใหม่ให้เป็นหลายระดับตามความชอบของผม (บก.จะได้รู้สึกคุ้มค่าหน่อย :P)
ในระดับแรกสุดเลย คือ มันทำมาหากินได้ครับ เรื่องนี้คงไม่ต้องเขียนอธิบายอะไรให้มากความ เพราะทุกคนรู้กันดีอยู่แล้วว่า ชีวิตดิจิทัลของเรามันมีแต่จะเพิ่มดีกรีมากขึ้นเรื่อยๆ และคงไม่มีวันหวนกลับไปอีกแล้ว
ในระดับที่สอง คือ มันจะกลายเป็นเครื่องมือสามัญในชีวิตประจำวัน (เหมือนที่คนยุคหนึ่งต้องไปเรียนพิมพ์ดีด หรือเรียนใช้คอมพิวเตอร์) และถึงไม่ใช้มันโดยตรงเราก็ต้องรู้เท่าทันมัน Richard Branson ผู้ก่อตั้งเวอร์จินกรุ๊ปบอกเอาไว้ครับว่า ‘เด็กทุกคน’ ควรที่จะได้เรียนรู้การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพราะในอนาคตไม่ว่าเราจะทำอะไร ใหญ่หรือเล็ก – ตั้งแต่เล่นกับเพื่อน เดท ทำงาน แต่งงาน แก้ปัญหาโลกร้อน หรือจะไปอวกาศ – อุปกรณ์ไอทีจะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับเรา
ในระดับที่สาม คือ การเรียนเขียนโปรแกรมให้วิธีคิด ในประเด็นนี้ Jack Dorsey ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของทวิตเตอร์บอกอย่างชัดเจนว่า การเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ไม่ได้หมายความว่าเด็กทุกคนจะต้องทำอาชีพโปรแกรมเมอร์ หรือวิศวกรคอมพิวเตอร์ แต่สิ่งที่ภาษาคอมพิวเตอร์จะให้กับเด็กคือ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การคิดแบบนามธรรม และการคิดเชิงระบบ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่เราต้องใช้แก้ปัญหาในโลกทุกวันนี้อยู่แล้ว นอกจากนี้ เขายังเห็นว่า การสอนให้เด็กรู้จักการเขียนโปรแกรมยังมีส่วนช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะอื่นๆ และมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นด้วย
Eric Schimidt แห่งกูเกิลเห็นคล้ายกับ Jack ในประเด็นนี้ เขาคิดว่า
เด็กรุ่นใหม่ควรจะเรียนอะไร (ก็ได้) ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถทำความเข้าใจความซับซ้อนของระบบได้ เพราะในอนาคตงานหุ่นยนต์จะเข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์ในงานที่เป็นรูทีน โดยมนุษย์จะต้องเป็นคนควบคุม ‘ระบบ’ ที่แวดล้อมหุ่นยนต์อีกทีหนึ่ง
การคิดวิเคราะห์และการคิดเป็นระบบเป็นทักษะที่สำคัญมากในโลกใหม่ เพราะงานวิจัยในช่วงหลังค้นพบว่า ในขณะที่เราเสพข้อมูลข่าวสารมากขึ้น เร็วขึ้น หลากหลายขึ้น เรากลับเสียความสามารถในการคิดวิเคราะห์และทำความเข้าใจในเรื่องที่ลึกซึ้งไป
แต่เหตุผลที่ผมยกให้เป็นระดับอัลติเมท (ชอบที่สุด) คือเหตุผลของบิลล์ เกตส์, เขาบอกว่าเด็กๆ ควรได้ทดลองเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ เพราะว่ามันสนุก
เรียนเพื่อรู้จักความหลากหลาย
เมื่อก่อนเวลาเราได้ยินคนแนะนำให้เรียนภาษา แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้น อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลี และล่าสุดคือจีน ซึ่งเรา (หรือลูกเรา) เรียนอะไรก็ได้ไม่ใช่เรื่องผิดประหลาดแต่อย่างใดครับ ผู้บริหารชั้นนำหลายคนก็ให้แนะนำกับลูกทำนองนี้ อาทิ John Donahoe อดีตซีอีโอของอีเบย์ที่แนะนำให้ลูกเขาเรียนภาษาจีนควบคู่ไปกับการเรียนคอมพิวเตอร์
(ควรบอกย้ำด้วยว่า เท่าที่อ่านเจอคนเหล่านี้แทบทั้งหมดใช้คำว่า ‘แนะนำ’ นะครับไม่ใช่ ‘บังคับ’ แม้กับลูกตัวเองก็ตาม)
แต่ที่ผมค่อนข้างชอบเป็นพิเศษ คือ คำแนะนำของ Chamath Palihapitiya นักลงทุนร่วม (Venture Capitalist) ชื่อดังและ Brigette Lau ภรรยาของเขาที่เป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ ทั้งคู่เสนอว่า นอกจากภาษาแม่แล้ว เด็กควรเลือกเรียนภาษาคลาสสิคสัก 1 ภาษา ทั้งคู่เชื่อว่า เด็กที่รู้ภาษาคลาสสิคจะสามารถเข้าถึงงานวรรณกรรมดีๆ ซึ่งจะช่วยให้เด็กมองเห็นความหลากหลาย เข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างจากตน และสามารถหลอมรวมสิ่งเหล่านี้เข้ามาเป็นวัตถุดิบในตัวเองได้
Ross เป็นอีกคนที่เห็นดีเห็นงามกับความหลากหลาย เขาเสนอว่า เด็กรุ่นใหม่จำเป็นที่จะต้องมี “ความคล่องแคล่วด้านความหลากหลายวัฒนธรรม” (multicultural fluency)
แต่ทั้งนี้ที่มาของความคล่องแคล่วนี้ไม่จำเป็นต้องมาจาก ‘ภาษา’ เท่านั้น แต่มาจากวิธีการใดๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางบ่อยๆ (ถ้าพ่อแม่มีเงิน) หรือการนั่งดูยูทูปอยู่ที่บ้านก็มีส่วนช่วยให้เด็กได้เห็นความหลากหลายของโลกได้
เรียนข้ามศาสตร์
ตอนเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อนผมคนหนึ่ง เคยต้องตัดสินใจว่าเขาควรจะเรียนอะไรดีระหว่างกฎหมายกับวิศวกร ตอนนั้นมันค่อนข้างเครียดมาก เพราะตัวเองอยากเรียนวิศวกร แต่ที่บ้านอยากให้เป็นผู้พิพากษา สุดท้ายเพื่อนคนนี้เลือกเรียนกฎหมายตามความต้องการของที่บ้าน (ซึ่งไม่ได้บอกว่าผิดนะครับ เพราะชีวิตทุกวันนี้เขาก็มีความสุขดีกับสิ่งที่เลือก)
แต่ในมุมมองของนักคิดชั้นนำของโลกในปัจจุบัน ปัญหานี้ควรจะหมดไป หรืออย่างน้อยเบาบางลงในรุ่นลูก รุ่นหลานของเรา ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้ายนะครับ เพราะส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนี้ดันมาจากการบีบคั้นของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป
Jared Cohen ผู้อำนวยการจิ๊กซอว์ (อดีตกูเกิล ไอเดีย) บอกว่า ทุกวันนี้เด็กรุ่นใหม่จำเป็นที่จะต้องรู้จักความรู้ที่หลากหลายสาขา เพราะเส้นแบ่งของสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกำลังพร่าเลือนไป เขาตั้งคำถามอย่างแหลมคมว่า
ทำไมลูกเขาต้องเลือกระหว่างการเรียนรัฐศาสตร์และคอมพิวเตอร์ หรือ ระหว่างวรรณกรรมคลาสสิคกับวิศวกรไฟฟ้า ในเมื่อความรู้ทั้งสองศาสตร์ต่างเกี่ยวข้องและเกื้อกูลกันในเศรษฐกิจแบบใหม่
ในทำนองเดียวกัน Toomas Ives อดีตประธานาธิบดีของเอสโตเนียเคยวิจารณ์การทำงานรัฐบาลว่า คนทำงานรัฐบาลมักจะมีแต่พวกที่จบสายสังคม หรือไม่ก็เป็นพวกที่จบสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้การดำเนินนโยบายมีปัญหา เพราะนักกำหนดนโยบายที่จบวิทยาศาสตร์มักจะไม่เข้าใจผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงของนโยบาย ส่วนนักกำหนดนโยบายที่จบทางสังศาสตร์ก็ไม่ได้เข้าใจผลกระทบที่แท้จริงของเทคโนโลยี
เขาชี้แนะว่า คนรุ่นใหม่ไม่ว่าจะทำงานสายไหนจำเป็นต้องมีความรู้ทางด้านศิลปะศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผสมผสานกันไป
3.
เมื่อเขียนร่างบทความนี้เสร็จ ผมรีบส่งบทความให้เพื่อนพ่อลูกอ่อนคนนั้นอ่าน พลางนึกถึกความเข้มข้นของพูดคุยในวงชาบูวันนั้น ก็อดคิดไม่ได้ว่า เพื่อนคงดีใจที่มีคำตอบเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งทาง แถมคำตอบนั้นยังอยู่บนฐานของการอ่านหนังสือและค้นคว้าบ้างเล็กๆ น้อยๆ
หลังจากนั้นหนึ่งวัน ผมถามมันไปว่า อ่านแล้วเป็นไงบ้าง มันตอบว่า
“ไม่รู้หวะยังไม่ได้อ่าน แต่เมียกูบอกว่าดีนะ”