เมื่อคืนก่อนไปดูละครร้อง ‘แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล’ มา แม้ว่าละครจบ แต่คนไม่จบ
เหมือนแม่นาคพระโขนงที่ไม่มีทางจบ เพราะเธอได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของตำนานที่อยู่ยั้งยืนยง เหนือกาลเวลา เหนือเทคโนโลยีและนวัตกรรมสื่อสารมวลชนใดๆ จากเริ่มมีสิ่งพิมพ์ กลายเป็นนิยายในหนังสือพิมพ์ นิยายคำกลอน เป็นละครร้อง ละครสังคีต ละครวิทยุ ภาพยนตร์ละครทีวี ละครเวที ละครเทวี (ไม่มี!) รายการเรียลลิตี้ทีวีประกวดโชว์ เข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัล การ์ตูนอนิเมชั่น หนังสามมิติ นางปรากฏมาแล้วทุกสื่อ รีเมคก็หลายครั้ง จนละครร้องรีสเตจถึงขั้นแม่นาคเนรมิตฉากบ้านรกร้างให้กลายเป็นบ้านใหม่เอี่ยมเรี่ยมเร้เรไรได้ชั่วพริบตา แถมเหาะเหินเดินอากาศข้ามคนดูได้อย่างกะเซียวเหล่งนึ่ง
กลายเป็นว่านางอยู่ยั้งยืนยง และกลายเป็น pop culture ที่มาถูกจังหวะถูกเวลา หลายๆ ครั้งก็เป็นภาพสะท้อนให้กับบริบทสังคมขณะนั้น ‘แม่นาคอเมริกา’ (2518) ในยุคสงครามเย็นและการต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกาของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนและนักศึกษาขณะนั้น ที่เข้มข้นขึ้นหลังชัยชนะของประชาชนจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
และในวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ‘นางนาก’ (2542) ที่ ทราย เจริญปุระ ‘บันเทิงเชิงร้าย’ ของเราเล่นเป็นนางนาก ไม่เพียงเป็นหนังแฟนตาซีพีเรียดเยียวยาสังคมที่บอบช้ำในขณะนั้น ยังทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงคึกคักอีกครั้งหนึ่ง
และในช่วงวิกฤตการณ์การเมืองร้อนแรงหลังรัฐประหาร 2549 แม่นาคถูกทำเป็นละครสังคีตถึง 3 คณะภายในปีเดียวกัน 2552 ‘แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล’ โดยคณะรัชดาลัย, ‘แม่นาค เดอะมิวสิคัล’ ของคณะ Dream Box และ ‘นางนาก เดอะมิวเซียม’ จัดแสดงโดย คณะมะขามป้อม มี อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ เล่นเป็นแม่นาคด้วยนะเออ (รอให้รีสเตจอยู่นะ)
ในฐานะนิทานปรัมปรา แม่นาคยังถูกอธิบายว่าเป็นเรื่องเล่าความขัดแย้งระหว่างศาสนาดั้งเดิมและศาสนาใหม่ที่นำเข้ามา
แม้ว่าข้อเสนอของไมเคิล ไรท์ (Michael Wright, พ.ศ. 2483 – 2552) นักคิดนักเขียน และนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ด้านไทยศึกษา อุษาคเนย์และเอเชียใต้ อาจจะผิดๆ ถูกๆ ไปหน่อย หลายข้อเสนอถูกพิสูจน์ภายหลังแล้วว่าเด๋อด๋าไปบ้าง แต่ก็เพราะส่วนหนึ่งไรท์วิเคราะห์และอุปมานมาจากการศึกษาพิธีกรรมท้องถิ่นและวรรณกรรมมุขปาฐะของชาวบ้าน ที่ดัดแปลงและเพี้ยนไปบ้างตามบริบท แต่ก็เป็นการเปิดมิติใหม่ให้กับการศึกษาวัฒนธรรม
แม่นาคพระโขนงในแบบฉบับไมเคิล ไรท์ กล่าวว่าเป็นตำนานเทพนิยาย (myth) ที่ดัดแปลงมาจากพิธีกรรมประเพณีดั้งเดิม แม่นาคพระโขนงเป็นบุคคลาธิษฐานความเชื่อท้องถิ่นดั้งเดิมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปเขตลุ่มน้ำที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่มักนับถือผีผู้หญิง งู นาค เงือก เป็นสังคมมาตาธิปไตย (matriarchy) หรือแม่เป็นใหญ่ ปะทะกับศาสนานำเข้าอย่างพุทธที่เป็นศาสนาชายเป็นใหญ่หรือปิตาธิปไตย (patriarchy) เหมือนที่การเข้ามาของศาสนาพราหมณ์ในอุษาคเนย์ก็มีตำนานว่า เดิมมีชุมชนพื้นเมืองที่ผู้หญิงเป็นหัวหน้า เมื่อพราหมณ์จากชมพูทวีปเดินทางมาทางทะเล ก็ต่อสู้กับนางนาคชื่อ ‘โสมา’ หัวหน้าเผ่า นางนาคแพ้และยอมเป็นเมีย จากนั้นก็ร่วมกันสร้างอาณาจักรฟูนัน บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง กลายเป็นรัฐจารีตที่รุ่งเรืองช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1–6
ไรท์ได้หมุดหมายที่ยุคหินใหม่ (Neolithic) เมื่อ 10,200–4,500 หรือ 2,000 ปีก่อนคริสตกาลที่มนุษย์เริ่มอาศัยร่วมกันเป็นหมู่บ้าน เพราะเริ่มรู้จักทำการเกษตรอย่างเป็นระบบ ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ หันมาตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งบริเวณลุ่มน้ำและประกอบพิธีกรรมเพื่อเกษตรกรรมที่วนเวียนอยู่ที่การเกิด ฆ่าเพื่อพลีสังเวย สมสู่ และตาย
ผีผู้หญิงคือเจ้าแม่ดิน ที่ให้ความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร และมักมีพิธีกรรมถวายเลือด การฆ่าสิ่งมีชีวิตเพื่อพลีบูชา เป็นการฆ่าเพื่อให้ได้กิน เป็นการพลีชีวิตเพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อไป ผู้หญิงมักเป็นเจ้าพิธี เป็นประธานประกอบพิธีเพื่อบูชาผีผู้หญิง ที่มักเป็นเจ้าแม่ข้าว หรือนางนาค นางงู เพราะอยู่ในรูดิน แม้ว่าในชุมชนจะมีผู้ชายเป็นหัวหน้าเผ่าก็ตาม แต่พิธีกรรมยังคงเป็นกิจของหญิง และทุกปีร่างทรงเจ้าแม่จะได้ผัวใหม่ ที่เป็นคนหนุ่มแข็งแรงมีกำลัง คัดสรรมาแล้วในหมู่บ้านด้วยการแข่งกีฬา ชายฉกรรจ์จะถูกคัดเลือกให้เป็น ‘เจ้าพ่อ’ ‘เจ้าข้าว’ เพื่อไปสมสู่กับเธอ จากนั้นเขาจะถูกทำให้ตายตามพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ พืชผลงอกงาม นำเลือดหรือเนื้อมาแจกจ่ายชาวบ้านมาบริโภคหรือฝังไว้กับเมล็ดพืชพันธุ์ต่อมาเริ่มแก้ไขให้การบูชาทารุณน้อยลงอย่างเช่น ฆ่าทารก ฆ่าสัตว์สังเวย หรือทำให้สมมติว่าตายแทน
ไรท์เสนอว่าตำนานแม่นาคพระโขนงเป็นผลผลิตและมรดกตกทอดจากเรื่องเล่าพิธีกรรมครั้งบรรพกาล แต่ถูกตบแต่งดัดแปลงเรื่อยมาตามยุคสมัย
จนเป็นเรื่องเล่าผีผู้หญิงชื่อ ‘นาค’ ที่อยู่กินกับผัว ชื่อ ‘พี่มาก’ ซึ่งหมายถึงมากมายก่ายกอง มีนัยถึงความอุดมสมบูรณ์ แต่สุดท้าย นางก็ถูกพระในศาสนาพุทธมาปราบ บ้างก็ว่าเป็นเณร บ้างก็ว่าเป็นพระชื่อดังที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับทางราชการ กลายเป็นสัญลักษณ์ของการแก้ไขพิธีกรรมให้กลายมาเป็นการทำบุญในศาสนาพุทธแทนการสังเวยผี และศาสนาพุทธที่เดินทางเข้ามาเอาชนะความเชื่อเรื่องผีผู้หญิงที่ชื่อ ‘นาค’ [1]ไปจนถึงศาสนาผู้หญิงที่ต้องพ่ายแพ้แก่ศาสนาผู้ชาย
แม่นาคในฐานะร่องรอยวัฒนธรรมยุคหินใหม่ เป็นไปตามสำนึกของสตรีนิยมสายวัฒนธรรม (cultural feminism) แห่งศตวรรษที่ 19 ที่พยายามรื้อฟื้นระบบสังคมที่ผู้หญิงเคยเป็นใหญ่มาก่อน คือสร้างสังคมหน่วยใหม่ที่เป็นมาตาธิปไตย ผู้หญิงมีอำนาจ บทบาทและตัวตน เพื่อสังคมที่ดีกว่าอย่างที่เป็นอยู่ภายใต้โครงสร้างปิตาธิปไตย ที่มีแต่สงคราม ความรุนแรง ความขัดแย้งต่อสู้ และศาสนาสากลที่เป็นศาสนาของผู้ชาย สร้างความชอบธรรมในการกดขี่ผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงเป็นวัตถุของผู้ชาย
สตรีนิยมสำนักนี้กล่าวว่าผู้หญิงมีคุณสมบัติของความเอื้ออาทร มีน้ำใจ อ่อนหวาน อ่อนโยน รักสันติ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ก้าวร้าว ตรงกันข้ามกับคุณลักษณะของผู้ชายเป็นสิ่งไม่ดี และผู้หญิงเองมีธาตุแท้ร่วมกันอย่างเป็นสากล มีติดตัวแต่กำเนิดเป็นธรรมชาติคือ ‘ความเป็นแม่’ การที่ผู้หญิงมีอำนาจทางการเมืองย่อมทำให้โลกสงบสุข เพราะสองมือแม่นี้ที่สร้างโลก ทำให้เฟมินิสต์สำนักนี้หันไปยกย่องผู้หญิงที่เป็นแม่บ้าน ประสบความสำเร็จในงานบ้านการเรือนและครอบครัว อยู่บ้านเลี้ยงลูกอบรมสั่งสอน ปรนนิบัติดูแลสามี เพราะการเป็นแม่และแม่บ้านคืออำนาจของผู้หญิง การออกไปพยายามประสบความสำเร็จนอกบ้านคือการสมาทานโลกแบบผู้ชาย
สตรีนิยมกลุ่มนี้จึงไม่ได้เคลื่อนไหวแก้ไขโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ หากแต่มามานั่งปรับทัศนคติตัวเองว่า บทบาทสถานะของผู้หญิงเช่นนี้ดีอยู่แล้ว จริยธรรมของผู้หญิงก็สูงกว่า สวนกระแสสตรีนิยมสำนักอื่นๆร่วมสมัยที่สนับสนุนให้ผู้หญิงทำงานนอกบ้าน รู้เท่าทันวาทกรรม ‘ความเป็นแม่’ ความอ่อนโยนอ่อนหวาน ที่ล้วนแล้วหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้หญิงให้เป็นแต่แม่และเมียภายในบ้าน เป็นแรงงานที่ไม่ได้ค่าจ้างใดๆ[2]
อย่างไรก็ดีเฟมินิสต์สายนี้มันก็มีเงื่อนไขข้อจำกัดทางเวลา การอ้างคุณค่าผู้หญิงในฐานะผู้นำสัญลักษณ์ ‘ความเป็นแม่’ ผู้ให้กำเนิดความอุดมสมบูรณ์ ประกอบพิธีกรรมความเชื่อ การรื้อฟื้นความรุ่งเรืองของมาตาธิปไตย ก็จะได้สังคมอุดมคติแบบแบบยุคหินใหม่ ที่ผู้หญิงแท้งลูกตายแบบ ‘แม่นาค’ เป็นว่าเล่น เพิ่งจะรู้จักทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นภาชนะ และมีชีวิตแบบอยู่ก่อนพระเยซูจะเกิด 2,000 ปีโน่น
ซ้ำในโลกปัจจุบัน การให้ค่าผู้หญิงในฐานะสัญลักษณ์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผีผู้ประกอบพิธีกรรม ร่างทรง ผู้นำความเชื่อ ไม่เพียงไม่ได้ช่วยยกระดับสถานภาพผู้หญิง หากแต่รังจะทำให้ผู้หญิงอยู่ในฐานะความไม่สมัยใหม่ โบราณล้าหลัง งมงาย ไม่เป็นวิทยาศาสตร์
อย่างไรก็ตามนักวิชาการนักประวัติศาสตร์อย่าง เอนก นาวิกมูลก็ศึกษาประวัติศาสตร์แม่นาค และอ้างถึงเอกสารของก.ศ.ร. กุหลาบที่กล่าวว่าเท็จจริงแล้วเธอชื่อ ‘นาก’ ไม่ใช่ ‘นาค’ และสามีเธอก็ไม่ได้ชื่อ ‘มาก’ แต่ชื่อว่า ‘ชุ่ม’ ต่างหาก และน่าจะเป็นผีที่เค้าล่ำลือว่าเฮี้ยนนักเฮี้ยนหนาตอนปลายรัชกาลที่ 3 ซึ่งผีนางนากนั้นแท้จริงมาจากลูกๆ ของเธอ แกล้งเป็นผีมาหลอกชาวบ้าน หลังแม่ได้คลอดลูกตาย เพราะกลัวว่าพ่อจะมีเมียใหม่ แล้วพวกตนจะไม่ได้สมบัติ[3]ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม อำแดงนาก แห่งบางพระโขนง ก็ถูกจดจำในนามของ ‘แม่นาค’ ที่มีผัวชื่อ ‘มาก’ มากกว่า
และดูเหมือนว่าวัดมหาบุศย์ที่ฝังศพนางนากตามข้อเท็จจริง ก็มีคนตั้งใจมากราบไหว้เธอมากกว่าพระในวัด มีเรื่องเล่าอภินิหารมากกว่า บางตำนานบอกว่าเธอสามารถเหยียบย่ำเพดานศาลาการเปรียญ ห้อยหัวอยู่เหนือพระสงฆ์องค์เจ้าได้ด้วยนะ… เอาซี้
และที่คนมากราบไหว้เธอ ก็มักหวังพึ่งทางใจไม่ให้ต้องเป็นทหารเมื่อไปจับฉลาก เพราะไม่อยากเป็นทหารกัน และเชื่อว่าแม่นาคเองก็ไม่ชอบทหาร เพราะพี่มากต้องไปเป็นทหารประจำการที่บางกอก หรือไปเกณฑ์ไพร่ (สมัยนั้นยังเป็นระบบไพร่เนอะ) บ้างก็ว่าพี่มากถูกเกณฑ์ไปออกรบ ทำให้ต้องพลัดพรากจากกันจนกลายเป็นโศกนาฏกรรม
ไม่ว่าในฐานะนิทาน ตำนานประวัติศาสตร์ หรือ pop culture จะเล่าเรื่อง ‘แม่นาคพระโขนง’ อย่างไร ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ถือว่าเป็นอีกสัญลักษณ์ของการต่อต้านอำนาจรัฐผู้ชาย (male state) รัฐที่สร้างสถาบันสำคัญของรัฐให้ผูกขาดความหมายกับผู้ชายและ ‘ความเป็นชาย’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกณฑ์ไพร่เกณฑ์ผู้ชายไปเป็นทหารของทางราชการ ไม่ว่าจะเกณฑ์ไพร่เข้าเดือนออกเดือน หรือไปเป็นทหารส่งไพร่ไปตายก็ตาม
เรื่องราวของเธอจึงเป็นภาพตัวแทนของระบบการเกณฑ์ทหารที่ไม่เป็นมิตรกับประชาชน และภาพสะท้อนของปัญหาการใช้อำนาจ เอามนุษย์ไปเป็นทรัพยากรแรงงานรับใช้ชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ช่วยรักษาผลประโยชน์ชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งโดยเฉพาะ จนครอบครัวญาติสนิทมิตรสหายที่อยู่ข้างหลังของเขาต้องเดือดร้อนและอยู่อย่างยากลำบาก ต้องคิดถึง เฝ้าคอยคนรักกลับมาอย่างขมขื่น แถมยังไม่กระจายทรัพยากรใดๆ แม้แต่สวัสดิการอนามัยเจริญพันธุ์ที่ดีจนเมียเขาคลอดลูกตายทั้งกลม
ละครแม่นาคพระโขนงจึงมาได้เข้าจังหวะพอดีอีกแล้ว และมาในช่วงเวลาที่ใครๆ เขาก็เหม็นเบื่อทหารจะแย่อยู่แล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] ไมเคิล ไรท์. (สิงหาคม 2532) แม่นาคพระโขนง: เพศและความตาย ผีกับศาสนาพุทธ. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 10 ฉบับที่ 10.
[2] Andermahr, S. (et.al.) (1997) A Concise Glossary of Feminist Theory, London: Arnold. ; Code, L. (ed.) (2000) Encyclopedia of Feminist Theories, London and New York: Routledge. ; Judith Lorber, J. (1997) The Variety of Feminisms and their Contribution to Gender Equality, Oldenburg: Bibliotheks- und Informationssystem der Univ.
[3] เอนก นาวิกมูล. (2549) เปิดตำนานแม่นากพระโขนง, กรุงเทพฯ : มติชน.