วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ที่ UN ประกาศให้เป็น วันสตรีสากล (International Women’s Day, IWD) ตั้งแต่ค.ศ. 1975 ก็เพราะมีงานวันสตรีสากลมาก่อนหน้านี้แล้วในหลายๆ ประเทศ และเพื่อรำลึกถึงการเคลื่อนไหวต่างๆ ของผู้หญิงตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะกลุ่มนักสังคมนิยมในยุโรปและสหรัฐที่เคลื่อนไหวให้ผู้หญิงมีสิทธิพลเมือง มีสิทธิในการเลือกตั้งได้เสมอผู้ชาย รวมไปถึงการเดินขบวนต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิประโยชน์ สวัสดิการคนงานหญิง ประท้วงเรื่องค่าจ้างที่ไม่ยุติธรรม ราคาอาหารที่สูงขึ้นเพื่อให้รัฐควบคุมราคาในยามสงคราม เพราะเป็นส่วนหนึ่งสิทธิของพวกเธอที่จะดูแลครอบครัว ไปจนถึงการยุติสงครามระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1[1]
แต่ทุกครั้งที่มีวันสตรีสากล ก็มักจะมีคนถามว่าแล้วทำไมไม่มีวันชาตรีสากล วันบุรุษสากลกับเค้าบ้าง ซึ่งนั่นเท่ากับว่าวันบุรุษสากล ไม่เป็นที่รู้จัก เพราะมันมีอยู่จริงตั้งแต่ปี 1999 แล้ว
เมื่อมีวันสตรีสากลได้ไม่กี่ทศวรรษ ก็เริ่มมีวันบุรุษสากล (International Men’s Day, IMD) กำหนดให้ตรงกับวันที่ 19 พฤศจิกายนของทุกปี ซึ่ง UNESCO รับรองเป็นลายลักษณ์อักษร แรกจัดเมื่อสาธารณรัฐตรินิแดดและโตเบโก (อยู่ส่วนไหนของแผนที่โลกวะ) อันเนื่องมาจากว่า Jerome Teelucksingh อาจารย์ภาคประวัติศาสตร์จากมหา’ลัย West Indies เขาเห็นว่ายังไม่มีวันสำหรับหนุ่มๆ บ้าง แม้จะมีวันพ่อ แต่เขาอยากให้มีวันสำหรับเด็กหนุ่ม ผู้ชายที่ไม่ได้เป็นพ่อคน เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างผู้ชายที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย และเพื่อเชิดชูผู้ชายดีๆ เป็นต้นแบบที่น่าเดินรอยตาม
เหตุที่ Teelucksingh เลือกวันที่ 19 พฤศจิกา เป็นวันบุรุษสากลก็เพราะเป็นว่าเกิดของพ่อเขาเอง เพราะเป็นผู้ชายตัวอย่างที่ควรค่าแก่การเอาแบบอย่าง (แบบนี้ก็ได้หรอ) และเป็นวันที่เกี่ยวข้องกับการฟอร์มทีมนักกีฬาท้องถิ่นของประเทศ
อันที่จริง การเรียกร้องให้มีวันบุรุษสากลในฐานะความเสมอภาคทางเพศ เมื่อผู้หญิงมีวันสากลเป็นของตัวเองแล้ว ก็ต้องมีวันสากลสำหรับผู้ชายบ้างจะได้เท่าเทียมกัน มีมาตั้งแต่ 1960 แล้วในสหภาพโซเวียต วันที่ 23 กุมภาพันธ์ อันเป็นวันกองทหารแห่งโซเวียต มีชื่อที่น่าตกใจว่า Defender of the Fatherland Day ใช่ๆ fatherland ‘แผ่นดินของพ่อ’ ที่ประกาศว่าผู้ชายเป็นเจ้าของประเทศ
ต่อมาต้น 1990 สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียและมอลตาจึงเริ่มจัดงานเป็นงานเล็กๆ เพื่อรำลึกคุณค่าสิทธิของผู้ชายบ้าง แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมกัน
วันบุรุษ (ที่เชื่อว่า) สากล 19 พฤศจิกายน มีจุดประสงค์เพื่อสุขภาวะของผู้ชายและเด็กชาย เน้นความสำคัญของผู้ชายที่เป็นแบบอย่างที่ดี ไม่ใช่เฉพาะดาราดังและนักกีฬา แต่ร่วมถึงชายกรรมาชน เฉลิมฉลองความสำเร็จของผู้ชาย สนับสนันความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ชาย ทั้งสังคม สิ่งแวดล้อม อารมณ์ กายภาพและจิตวิญญาณ ยุติการเลือกปฏิบัติทางเพศต่อเพศชาย พัฒนาบทบาทเพศถานะเพื่อความเท่าเทียม เพราะความเป็นอยู่ของผู้ชายสุ่มเสี่ยงต่อชีวิตมากกว่าผู้หญิง ซึ่งองค์กรพ่องานจัดวันบุรุษสากลอ้างอิงข้อมูลสถิติรายงานประจำปีของ WHO เช่นผู้ชายมีอัตราการตายสูงกว่าผู้หญิง อัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่า บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำงานมากกว่า มีสุขภาพแย่กว่าเพราะผู้หญิงมีอายุขัยเฉลี่ยยืนยาวกว่าผู้ชาย 5 ปี
แต่สุดท้าย IMD ก็แสวงหาความน่าชื่นชมของผู้ชายที่วกกลับมาเชิดชู ‘ความเป็นพ่อ’ อยู่ดี เพราะองค์กร IMD ทำงานร่วมและได้รับการจุนเจือจากมูลนิธิ Dads4Kids Fatherhood องค์กรการกุศลออสเตรเลียด้วยความเชื่อว่า คุณสมบัติความเป็นผู้ชายที่ดีย่อมนำไปสู่คุณสมบัติคุณพ่อที่ดี[2]
ไม่ว่าอย่างไร แต่ละปี IMD ฉลองด้วยการกำหนดแคมเปญรณรงค์บางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะที่ดีของผู้ชาย เช่นปีที่แล้ว 2016 มี ‘Stop Male Suicide’ รณรงค์ลดอัตราฆ่าตัวตายในผู้ชาย เพราะอิงจาก WHO ผู้ชายหลายประเทศมีสถิติสูงกว่าผู้หญิง ในปี 2017 นี้ มีแคมเปญ ‘Celebrate Men and Boys’ ซึ่งเป็นการพูดถึงการเลือกปฏิบัติทางเพศต่อเพศชาย ความไม่เสมอภาคทางเพศที่พวกเฟมินิสต์มองข้ามไปหรือเลือกที่จะไม่พูดถึง เช่น เหยื่อข่มขืนที่เป็นผู้ชาย อัตราผู้ชายหยุดเรียนกลางคันมากกว่าผู้หญิงทั้งในระดับโรงเรียนและมหา’ลัย ขณะเดียวกันก็พยายามเผยแพร่หนังสารคดี ‘The Red Pill’ (2016) อันเป็นวาระหนึ่งของการเฉลิมฉลอง IMD
‘The Red Pill’ (2016) กำกับโดย Cassie Jaye ซึ่งนางประกาศว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์ แล้วเข้าไปคลุกคลีตีโมงสัมภาษณ์กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิบุรุษ ซึ่งก็อีกนั่นแหละ ยกตัวอย่างสถิติเดิมๆ เช่นอัตราการตายระหว่างปฏิบัติงานอยู่ที่ผู้ชาย 93 % ผู้ชายถูกส่งไปยังสงครามมากกว่าผู้หญิงนำมาซึ่งความตายของผู้ชาย ซึ่งหนังได้ยกสถิติทหารอเมริกันที่ตายในสงครามเช่น สงครามเกาหลี ผู้หญิงตาย 2 ผู้ชายตาย 36,572 สงครามเวียตนามผู้หญิง 8 ผู้ชาย 58,217 เท่ากับ 99% สงครามอ่าวเปอร์เซียผู้หญิงตาย 15 ผู้ชายตาย 280 คิดเป็น 95%
นอกจากนี้หนังยังเสนอว่า ผู้ชายตกอยู่ในอันตรายจากการที่นักสตรีนิยมเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิทางเพศอีกด้วย การที่เชื่อตามเฟมินิสต์มาก มีแต่จะรังให้มองข้ามสถิติและความทุกข์ระทมของผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงที่ผู้หญิงทุบตีผู้ชาย การที่หน่วยงานป้องกันความรุนแรงในครอบครัวดูแลเฉพาะผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อ
และ ‘Red Pill’ เป็นสำนวนจากหนัง The Matrix (1999) ที่หากรับประทานแคปซูลสีแดงเข้าไปแล้วจะตาสว่าง มองเห็นว่าโลกไม่โสภาอย่างที่คิดฝัน แต่ถ้ารับประทานสีน้ำเงินก็จะเชื่ออย่างที่เชื่ออยู่เชื่องๆ ในโลกสวยต่อไป ทั้งเธอและนักกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้ชายนำมาใช้เปรียบว่ายาเม็ดสีน้ำเงินคือแนวความคิดของเฟมินิสต์ และสีแดงคือของพวกเคลื่อนไหวฝ่ายชาย
หนังของนางจบลงด้วยการที่นางออกมาบอกว่า “ฉันไม่สามารถเรียกตัวเองว่าเป็นเฟมินิสต์ได้อีกต่อไปแล้วค่ะ”
ดีออก… หล่อนไม่กินยาเม็ดสีแดงเข้าไปหรอกค่ะ หล่อนแค่ยังไม่วางถุงกาว
เช่นเดียวกับ David Benatar อาจารย์ภาคปรัชญามหา’ลัย Cape Town ในแอฟริกาใต้ ผู้เขียนหนังสือ The Second Sexism: Discrimination Against Men and Boys (2012) เสนอว่าสถานะของผู้ชายเป็นเหยียดในเหยียด เป็นผู้ที่ถูกเหยียดเพศลำดับที่ 2 (second sexism) ขณะที่ sexism มักใช้กับผู้หญิง เป็น first sexism
ฮีได้ยกตัวอย่าง สำนึกคิดประเภท ‘สตรีและเด็กก่อน’ ด้วยความว่าเด็กและผู้หญิงช่วยเหลือตัวเองได้น้อยกว่าถือว่า เป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศต่อผู้ชายอย่างชัดเจน และในเวลาคับขันความเป็นความตาย ย่อมส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิตของผู้ชาย และเช่นเคย ฮีรวบรวมสถิติมากมาย ตัวเลขเกี่ยวกับอัตราชายหญิงต่างๆ จนสรุปออกมาได้ว่า พ่อแม่มักมักตีลูกชายจำนวนครั้งมากกว่าลูกสาว เช่นเดียวกับการตีนักเรียนในโรงเรียน นักเรียนนักศึกษาชายดรอปเรียนเยอะกว่านักเรียนหญิง เพศสัมพันธ์ที่ผู้ชายไม่ยินยอมถูกยอมรับว่าเป็นการข่มขืนน้อยกว่าของผู้หญิง ความรุนแรงในครอบครัว ผู้ชายเองก็ตกเป็นเหยื่อเช่นกัน ทว่ารัฐ สังคมและแม้แต่นักจิตวิทยากลับให้ความสำคัญใส่ใจผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อมากกว่า สงสารเหยื่อผู้ชายน้อยกว่า และเมื่อหย่ากัน แม่มักได้รับสิทธิดูแลลูกมากกว่าพ่อประมาณ 90% ไปจนถึงคู่สมรสชายรักชายรับบุตรบุญธรรมได้ยากกว่าคู่สมรสหญิงรักหญิงเกย์ชายตกเป็นเหยื่อความรุนแรงดูถูกดูแคลนมากกว่าเลสเบี้ยน ไปจนถึงกฎหมายห้ามรักเพศเดียวกันก็มุ่งปราบปราบเกย์มากกว่า[3] ซึ่งเป็นประเด็นที่ซับซ้อนเกินกว่าจะสรุปว่าเป็นเพราะผู้ชายถูกเลือกปฏิบัติเนื่องจากเป็นผู้ชาย
แม้จะปฏิเสธไม่ได้กับข้อเรียกร้องของกลุ่มเรียกร้องสิทธิบุรุษที่ผู้ชายเองก็ถูกเลือกปฏิบัติทางเพศเช่นกัน แต่การเลือกปฎิบัติทางเพศเป็นผลลัพธ์อันเกิดจากโครงสร้างสังคม มากกว่าความตั้งใจของธรรมเนียมปฏิบัติ และ sexism ก็ไม่ใช่การปฏิบัติ หากแต่เป็นระบบโครงสร้าง และสถาบัน ปฏิบัติการที่เกิดขึ้นเป็นผลผลิตของสังคม
เพราะโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ ผู้ชายเองต้องเผชิญกับความรุนแรง การกดทับจากผู้ชายด้วยกันเอง พอๆกับที่ต้องแบกรับ ‘ความเป็นชาย’ เอาไว้ การต้องอดทนกับคำว่า ‘สตรีและเด็กก่อน’ ที่เป็นทั้งการเลือกปฏิบัติทางเพศต่อผู้ชาย และการลดคุณค่าความเป็นของผู้หญิง ซึ่งอันที่จริงการเลือกปฏิบัติทางเพศ ความรุนแรงต่อเพศชาย ก็มีเฟมินิสต์หลายกลุ่มพูดถึงประเด็นนี้ โดยไม่จำเป็นต้องไปเข้าร่วมกับ IMD
เช่นเดียวกับที่เสียชีวิตของทหารเรือนหมื่นในสงคราม ปัญหามันอยู่ที่สงครามและความรุนแรงที่พลเมืองไม่ว่าเพศไหนก็ต้องออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายสงครามของรัฐบาล เช่นเดียวกับการตายหรือบาดเจ็บในที่ทำงานก็ไม่ใช่เรื่องของเพศโดดๆ แต่เป็นปัญหาของสวัสดิการและการรักษาสวัสดิภาพความปลอดภัย และต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยระบบบริการพยาบาล
การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิผู้ชายกลับเป็นแต่ความกังวลใจบนพื้นที่หรือสถานการณ์ที่ไม่ดีต่อใจและชีวิต แล้วดันมีสถิติตัวเลขผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่ไม่ได้เข้าไปทำความเข้าใจทั้งเงื่อนไขโครงสร้างปิตาธิปไตยจริงจังๆ (เพราะบางคนก็ไม่เชื่อว่าปิตาธิปไตยดำรงอยู่จริงๆ) หรือแม้แต่กระทั่งปัญหาในระดับปัจเจก เหมือนกับที่การเลือกปฏิบัติทางเพศที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวสิทธิบุรุษ (men’s rights) มักหยิบยกมาก็คือการรับใช้ชาติฐานะทหารและการออกไปรบ ที่มักสงวนหรือบีบบังคับผู้ชายมากกว่า ล้วนแล้วแต่นำไปสู่ความเสี่ยงต่อการสูญเสีย แต่ไม่ได้ตั้งคำถามถึงสถาบันหลักๆ ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นศาสนา การเมือง ศาล ทหาร การทูต ที่กำลังทำหน้าที่เป็นตัวแทนของ ‘ความเป็นชาย’
ด้วยเหตุนี้ เมื่อกลุ่มเรียกร้องสิทธิผู้ชายต้องการความรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นตามสถิติ จึงไม่สามารถระบุได้ว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
Michael Flood นักสังคมวิทยา และนักวิชาการด้านบุรุษศึกษาจาก Queensland University ออสเตรเลีย ได้มีจดหมายเปิดผนึกถึงการจัดงาน IMD เมื่อปี 2004 ว่า IMD ไม่ได้มีเพื่อความเสมอภาคทางเพศที่ผู้หญิงเป็นผู้เสียผลประโยชน์ และจำกัดโอกาสบางประการของผู้ชาย เพราะเป็นเพียงการเรียกร้องให้มีวันสำหรับผู้ชายด้วยเหตุผลง่ายๆ เท่านั้น จึงไม่สามารถขนานไปกับวันสตรีสากล หรือ IWD ไปได้ มิหนำซ้ำยังมีลักษณะต่อต้านเฟมินิสต์และไม่เป็นมิตรกับการบริการหรือสถาบันเพื่อผู้หญิง และจะนำมาซึ่งความเข้าใจต่อความสัมพันธ์ชายหญิงแบบอนุรักษ์นิยม และไม่เกิดผลดีระยะยาว เพราะ IMD จัดเพื่อเฉลิมฉลองสรรเสริญรำลึกผู้ชายผู้เสียสละอุทิศตัวเองให้กับบ้าน ครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติ ที่อยู่บนโอกาสมากกว่า ซึ่งยิ่งเป็นการตอกย้ำสนับสนุนให้สังคมชายเป็นใหญ่ให้อยู่ยั่งยืนยง เพราะผู้ชายเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสได้มากกว่าผู้หญิงอยู่แล้ว การที่ผู้ชายอ้างว่าได้รับอันตราย ความเจ็บป่วยและสภาพย่ำแย่ทางกายและใจจากการเป็นทหารนั้นเป็นเรื่องจริง แต่การที่จะอ้างว่าผู้ชายคือกลุ่มที่เสียเปรียบจากบทบาทชายหญิงในโครงสร้างสังคมนั้นก็เป็นการอ้างที่ผิด เป็นความไร้เดียงสาไม่เข้าใจบริบทสังคม
Flood ย้ำว่า IMD ไม่ควรได้รับการสนับสนุน และในโครงสร้างสังคมเช่นนี้ ทุกวันก็เป็นวันบุรุษสากลอยู่แล้ว ไม่ต้องมาปักหมุดวันจัดงานฉลงฉลองอะไรหรอก[4]
วันบุรุษสากลจึงเป็นวันที่มีขึ้นมาลอยๆ ขอให้ได้หมุดหมายในปฏิทินสักวัน ไม่ได้มีความหมายที่มาอะไรมารองรับ ต่อให้ขนสถิติมาแปะก็ไม่สามารถโน้มน้าวให้คล้อยตามได้ นอกเหนือจากการตีความหมายความไม่เสมอภาคทางเพศแบบตื้นเขิน เหมือนกับพวกที่บอกว่าภาษีอัตราก้าวหน้าคือการละเมิดสิทธิ เลือกปฏิบัติต่อคนรวย หรือวันกรรมกรสากล (International Labor Day) 1 พฤษภาคม เป็นอภิสิทธิ์ของกรรมาชีพ ก็ต้องมีวันนายจ้างสากลบ้าง (พูดเป็นเล่นไปมันมี Boss’s Day จริงๆ นะ 16 หรือ 17 ตุลาคม แต่ก็ไม่ได้เพื่อคู่ขนานไปกับวันแรงงานสากล)
พอๆ กับพวกผู้หญิงที่เชื่อว่าข่มผัวได้เท่ากับหญิงชายเท่าเทียม ด่าผู้ชายเลวกว่าหมา ก็เท่ากับเป็นเฟมินิสต์
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Kaplan, Temma. (Spring, 1985). On the Socialist Origins of International Women’s Day, Feminist Studies (11,1), pp.163-171.
[2] เวปไซต์ทางการของวันบุรุษสากล www.internationalmensday.com
[3] Benatar, David. (2012). The Second Sexism: Discrimination Against Men and Boys Chichester: Wiley-Blackwell.
[4] Michael Flood. (25 October 2004) International Men’s Day: An open letter of rejection. www.xyonline.net