นับวันโลกดิจิทัลค่อยๆ ทำให้วัฒนธรรมการอ่านจากกระดาษแทบจะกลายเป็นความไม่สะดวกสบาย เทอะทะ สิ้นเปลือง อ่านจากมือถือง่ายกว่าเป็นไหนๆ ข่าวออนไลน์ไม่เพียงเข้าถึงง่ายกว่าไวกว่า ผู้อ่านยังสามารถสื่อสารแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลได้อีกต่างหาก เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของข่าวสารนั้นๆ ไม่ต้องร่อนจดหมายไปถึงสำนักข่าว จนยอดขายหนังสือพิมพ์ กำไร เงินโฆษณาก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ย้อนไปสมัยที่หลายคนยังพึ่งพิงหนังสือพิมพ์ในฐานะพื้นที่สาธารณะ แต่สามารถนำเรื่องส่วนตัวมาเผยแพร่ได้เช่นเรื่องชาวบ้านร้านตลาด ชาวบ้านชาวช่อง ความระทมทุกข์อัดอันตันใจ ความรู้สึก มันจึงมีคอลัมน์ร้องทุกข์ของประชาชนต่อรัฐบาลหน่วยงานราชการที่เกิดจากการกระจายสาธารณูปโภคไม่ทั่วถึง การเอารัดเอาเปรียบของนายจ้าง ปัญหาครอบครัวที่ไม่รู้จะหันไประบายให้ใครฟัง รวมไปถึงความเหงาใจไร้คู่ตุนาหงัน อยากมีคนรัก
ด้วยเหตุนี้จึงมีคอลัมน์ ‘หาคู่ชู้ชื่น’ ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด ที่คอลัมนิสต์ นิวัติ กองเพียร ได้ใช้รหัสในคอลัมน์คือ ‘มาลี’ กับ ‘แมลง’ ความหมายคือ มาลี คือฝ่ายรับหรือคนที่ส่งเรื่องมาลงเพราะอยากมีคู่ ขณะที่แมลงคือฝ่ายรุกหรือผู้ที่ส่งจดหมายติดต่อหามาลี ซึ่งทั้งหมดจะผ่านนิวัติ กองเพียรในการคัดกรองอย่างเข้มงวดและอยู่ภายใต้กติกา ด้วยความต้องการให้เห็นว่าการมีคู่ผ่านคอลัมน์เป็นเรื่องยาก ต้องใช้ความพยายาม ดังนั้นไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชายก็สามารถเป็นทั้งแมลงและมาลีได้
เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่เริ่มมีคอลัมน์ ‘มาลัยเสี่ยงรัก’ ตั้งแต่ปี 2516 ตามนโยบายของ สมิต มนัสฤดี บรรณาธิการ ผู้ต้องการเปิดพื้นที่ประกาศหาคู่และเพื่อน โดยมี ‘ลุงหนวด’ หรือ เทพชู ทับทอง เป็นคอลัมนิสต์ประจำ พร้อมผู้ช่วย 2 คนช่วยกันคัดเฟ้นจดหมายนำมาประกาศโฆษณา และทำหน้าที่เป็นสื่อกลางส่งจดหมายให้ผู้ที่สนใจบุคคลในคอลัมน์ เนื่องจากว่าประกาศในคอลัมน์ไม่เปิดเผยชื่อจริงและที่อยู่ มันจึงเป็นงานหนักสำหรับคอลัมนิสต์เพราะสัปดาห์นึงลงเนื้อหาจดหมายได้แค่ 16 ฉบับ แต่มีจดหมายส่งมาเฉลี่ยวันละมากกว่า 100 ฉบับ[1]
คอลัมน์หาคู่จึงถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติพื้นที่สาธารณะ เปิดพื้นที่และสร้างอำนาจให้กับเพศใดก็ได้ในการเปิดเผยและแสดงออกตัวตน ความต้องการส่วนตัว ไปจนถึงรสนิยมทางเพศในการมีคู่ครอง ในยุคที่ผู้หญิงเริ่มมีเสรีภาพมากขึ้นไม่ต้องการถูกคลุมถุงชน มีการศึกษามากขึ้น มีหน้าที่การงานสถานภาพมั่นคงและอำนาจในการตัดสินใจ แทนความต้องการของพ่อแม่ที่จะเลือกคู่ครองให้ลูกอย่างแต่ก่อน แต่บางครั้งมันก็ยังหาแฟนไม่ได้ เพราะไม่มั่นใจในรูปร่างหน้าตาเงื่อนไขบางประการของตัวเอง
ลุงหนวดเองก็ได้ให้สัมภาษณ์ว่า แม้มันยังขัดต่อค่านิยมไทยในยุคนั้น แต่ก็ถือว่าในเป็นพื้นที่เพื่อให้คนที่ไม่สามารถหาคู่ได้ ได้มีโอกาสพื้นที่ในการหาคู่ เช่นคนขี้อาย เป็นหม้าย ผู้ชายที่ไม่กล้าจีบผู้หญิง ซึ่งผู้ที่ส่งจดหมายมามีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี[2]
เมื่อแรกมี ‘มาลัยเสี่ยงรัก’ ก็ถูกนักสังคมสงเคราะห์บางคนออกประณามว่าทำลายจารีตประเพณีวัฒนธรรมที่ดีของชาติ ที่ผู้หญิงร้องแรกแหกกระเชอให้หนังสือพิมพ์ช่วยประกาศหาผัว ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เลว
จนสันติ เศวตวิมล ต้องออกโรงอธิบายเป็นบทความลง นสพ.เดียวกันว่า ในบริบทสังคมขณะนั้น แม่สื่อแม่ชักลดบทบาทน้อยลงเรื่อยๆ คอลัมน์ประเภทนี้จึงเข้ามาทำหน้าที่นี้แทนหนังสือพิมพ์จึงไม่ได้เพียงเป็นสื่อกลางช่วยหา ‘คู่ชีวิต’ ที่หายากและขาดแคลนในสังคมไทย ยังเป็นการที่ช่วยเติมเต็มผู้ชายผู้หญิงที่ความว้าเหว่ ผิดหวังในชีวิตรักมาแล้วอยากสมหวัง ผู้ที่ใฝ่ฝันชีวิตให้เหมือนในเทพนิยายที่ตัวละครเอกสมหวังในรัก ไปจนถึงคนยากจน ติดหนี้สิน ต้องการผู้อุปการะช่วยใช้หนี้แล้วยินดีเป็นคู่ชีวิตใช้หนี้ จากการได้อ่านจดหมายหลายฉบับเขาพบว่าแต่ละคนต่างเผชิญและสะสมปัญหาชีวิตเพียงแต่ไม่มีพื้นที่หรือใครที่ได้ระบายอย่างรู้สึกปลอดภัยนอกเหนือจากผู้ที่ชอบความสนุกอยากทดลองจึงส่งจดหมายมาลงประกาศหาคู่รัก บางคนต้องการหาแม่ให้ลูกเนื่องจากเลิกกับเมีย บางฉบับเขียนยาวหลายหน้า เนื่องจากเป็นการได้ระบายความในใจที่อัดอั้นไว้นาน ไม่กล้าพูดกับใคร การเขียนจดหมายประกาศหาคู่จึงเป็นการรักษาบำบัดความทุกข์ได้อย่างหนึ่ง[3]
มาลัยเสี่ยงรักพัฒนามาจาก คอลัมน์ ‘ดับทุกข์ บำรุงสุข’ ซึ่ง ‘ลุงหนวด’ เป็นคอลัมนิสต์เช่นกัน ทำหน้าที่เป็นเวทีให้ประชาชนเขียนจดหมายมาสะท้อนปัญหา เรียกร้องขอความช่วยเหลือหรือร้องเรียนสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชน ด้วยสโลแกน “รับแจ้งเรื่องทุกข์ร้อนเพื่อไปจี้ไขผู้ใหญ่” สัปดาห์ละ 2 ประเด็น[4]กระทั่งฉบับวันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2516 เริ่มมีการนำเสนอผู้แสวงหาความรักคู่ชีวิตในฐานะความทุกข์ร้อนที่ต้องบำบัดแก้ไข เช่นม่ายสาวที่ใช้ชื่อ ‘อัมพรหาคู่’ ประกาศหาผู้อุปการะ เธอมีอายุเพียง 20 เท่านั้น และกำลังเป็นสาวเต็มตัว แต่เตี่ยกำลังจะถูกเจ้าหนี้ยึดร้านและที่ดิน ไม่มีเงินใช้หนี้จึงขอความเมตตารับอุปการะเธอไม่ว่าจะเป็นเมียน้อยหรือเมียหลวงก็ยอม[5]และพ่อค้าหม้ายที่ต้องการคู่ชีวิตเคยแต่งงานมาแล้ว 2 ครั้ง และมีทั้งลูกผู้หญิงและผู้ชาย แต่ก็ผิดหวังทั้ง 2 ครั้ง โดยฝ่ายแม่บ้านเป็นผู้กระทำเองตนเองไม่ดื่มสุรา ไม่เล่นการพนันและไม่มีความประพฤติเสียหายในทางชู้สาว อยากได้คู่ชีวิตมาเป็นหูเป็นตาค้าขายอยู่ที่ร้าน[6]
ต่อมาในหนังสือพิมพ์วันที่ 4 มีนาคม 2516 คอลัมน์ ‘ดับทุกข์ บำรุงสุข’ ก็มีประกาศว่า “โปรดทราบ ท่านที่ต้องการจะให้ประกาศหาเพื่อนหรือคู่ครองโปรดส่งรูปถ่าย ของท่านมาด้วยนะครับ ไม่เช่นนั้นจะไม่ลงให้” และในคอลัมน์ก็ลงจดหมายประกาศหาความสัมพันธ์ ทั้ง 3 ฉบับมีทั้งจดหมายของผู้หญิงประกาศหาเพื่อนเพศเดียวกัน เนื่องจากเข็ดขยาดเพราะแต่งงานมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ละครั้งผู้ชายมีเมียใหม่, ผู้ที่ไม่ประสงค์ออกนามจากสหรัฐอเมริกา ต้องการเพื่อนสาวที่เป็นพยาบาล ที่ประสงค์เรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาและจดหมายแม่ม่ายเจ้าของโรงเรียนที่ต้องการรักแท้และเป็นคู่ทุกข์คู่สุขและที่ปรึกษา[7]
กระทั่งในฉบับวันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน 2516 คอลัมน์ ‘มาลัยเสี่ยงรัก’ ก็ถือกำเนิดบนบรรณพิภพ ภายใต้สโลแกน “คอลัมน์สื่อสวาทสัมภาษณ์ผ่าน ‘ลุงหนวด’ ” ซึ่งประเดิมประกาศให้หลายคนเลย
เช่น ผิดหวังในชีวิตสมรสมาแล้ว จะตั้งตนชีวิตใหม่ หนุ่มใหญ่วัย 42 ปี อาชีพรับราชการในตำแหน่งหัวหน้างานระดับอำเภอในภาคกลาง เคยผ่านชีวิตสมรสมาแล้ว แต่ต้องผิดหวัง ทั้งๆ ที่เขาทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเธอ แต่เธอกลับผละหนีไป ทิ้งพันธะหนี้สินให้เขาเป็นผู้ชดใช้แต่ผู้เดียว ฉะนั้นจึงต้องการสุภาพสตรี อายุระหว่าง 20-35 ปี มีความประพฤติดี อุปนิสัยเป็นผู้ใหญ่ รู้จักวางตัว มีความรู้พอควร สามารถเข้าสังคมระดับอำเภอ หรือจังหวัดได้ รูปสมบัติอยู่ในเกณฑ์พอควร และที่สำคัญมีความยินดีช่วยเหลือพันธะข้างต้นให้ด้วย สุภาพสตรีผู้สนใจโปรดติดต่อส่งจดหมาย และรูปถ่ายขนาดโปสการ์ดผ่านลุงหนวด แห่งหนังสือพิมพ์นี้ ทุกอย่างจะเก็บไว้เป็นความลับ[8]
และ
ต้องการผู้นำที่ดี วินี (สตรีม่ายวัย 30เศษ) ประสงค์ จะติดต่อกับท่านที่ยอมรับว่าคน ‘ม่าย’ ควรอยู่ในวัย 35-40 ปีเศษ เพื่อมาเป็นผู้นำที่ดีในอนาคต เพื่อชดเชยอดีต ชีวิตปัจจุบันควรอิสระปราศจากภาระหรือข้อผูกพันใดๆ การศึกษาและอาชีพการงานเป็นปัจจัยสำคัญ ควรจะต้องทำงานกันทั้ง 2 ฝ่าย ขณะนี้มีบ้านหลังย่อม โทรศัพท์พร้อมซึ่งเป็นที่พัก รายละเอียดหรือข้อปลีกย่อยคุยกันได้ทางจดหมาย ส่งผ่านคุณลุงหนวดคอลัมน์นี้[9]
และเนื่องจากคอลัมน์นี้มีนำความต้องการของผู้เขียนจดหมายมาลงประกาศอย่างละเอียด จึงเผยให้เห็นรสนิยมความปรารถนาระดับปัจเจกและค่านิยมของสังคมทั้งชาติพันธุ์ เช่นต้องมีเชื้อจีน[10]หรือความรู้ความถนัดด้านวิชาชีพ เช่น
รักกันได้ด้วยยา ‘นิรันดร์’ หนุ่มขายยาอยากมีคู่ครองที่มีความรู้เรื่องยา สำหรับคุณสมบัติของคู่ครองที่ต้องการ 1. มีลักษณะสูง ขาว อายุระหว่าง 20-23 มีนิสสัยใจเย็น สุขุม 2. มีความรู้ทางภาษาอังกฤษพออ่านใบสั่งแพทย์ได้ 3. เป็นแพทย์หญิงหรือเภสัชกร จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ สนใจติดต่อที่ลุงหนวด คอลัมน์นี้ ทางจดหมาย[11]
หรือ
สมรัก ‘น.ส.ด.’ สุภาพสตรีสาววัย 26 หน้าตาน่ารัก รูปร่างบอบบาง สูง 150 หนัก 45 ความรู้ปริญญาตรี ประสงค์จะมีคู่ครองที่เป็นสุภาพบุรุษอายุ 28-38 ที่จบปริญญาตรีทางกฎหมายเป็นอย่างต่ำ หรือปัจจุบันทำงานด้านตุลาการ จะต้องเป็นโสด ถ้าม่ายต้องไม่มีพันธะใดๆ ฐานะไม่สำคัญแต่ต้องจริงใจ สนใจให้เขียนจดหมาย ติดต่อส่งผ่านลุงหนวด รับรองไม่ผิดหวัง[12]
บางคนก็ศาสนาความเชื่อเช่น คนรักจะต้องต้องเป็นอิสลาม[13]หรือต้องนับถือศาสนาพุทธ[14]เช่น สาวในฝันของ ‘คุณเกียรติ’
ความรักคืองาน คุณ ‘เกียรติ’ หนุ่มปริญญาการศึกษาต้องการคู่ชีวิตที่จะร่วมลงทุนลงแรงทำงานอะไรสักอย่างหนึ่ง โดยไม่จำกัดว่าสตรีผู้นั้น จะต้องเป็นโสดหรือไม่ แม้แต่อายุก็ไม่สำคัญ แต่ต้องนับถือศาสนาพุทธและสนใจในหลักธรรมพอสมควร สุขภาพดี มีการศึกษาอย่างน้อย ม.ศ. 3และที่สำคัญก็คือ ไม่มีพันธะใดๆ ทั้งสิ้น สำหรับคุณเกียรติเอง เวลานี้อายุ 35 ปี ยังเป็นโสด สูง 166 ซม. น้ำหนักตัว 60 กก. เป็นคนพูดพอสมควร สุภาพสตรีใด ‘สนใจ’ ติดต่อทางจดหมายส่งผ่านลุงหนวด คอลัมน์นี้ได้ตั้งแต่บัดนี้[15]
ผู้หญิงบางคนก็ร่อนจดหมายมาลงคอลัมน์ที่แสดงถึงความก๋ากั่นก้าวข้ามค่านิยมทางสังคมบางประการเช่น ‘ลาวัลย์’ ในปี 2516
ม่ายสาวพราวเสน่ห์ ลาวัลย์ ม่ายลูก 2 กำลังตกยากเพราะค่าครองชีพสูง ประสงค์จะหาคู่อุปการะ เจ้าตัวยินดีแม้แต่จะเป็นเมียเก็บ สนใจติดต่อทางจดหมายถึงลุงหนวดคอลัมน์หนังสือพิมพ์นี้ ด่วน[16]
ผู้ชายก็เช่นกันที่ป่าวประกาศหาผู้หญิงอุปการะ อย่าง ‘สุพรรณ’ และ ‘เสือ’ ในปี 2527
ไม่สูบ ‘สุพรรณ’ หนุ่มวัย 20 สูง 153 หนัก 54 เหล้าไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ ต้องการผู้อุปการะที่เป็นหญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป รับรองจะปฏิบัติตามทุกอย่าง สนใจให้เขียนจดหมายติดต่อส่งผ่านมาที่ลุงหนวด ซึ่งได้ดีเพราะนารีอุปถัมภ์เช่นกัน[17]
และ
หล่อมาก ‘เสือ’ หนุ่มวัย 22 เคยรับราชการทหารมาก่อน รูปหล่อต้องการแม่ยก อายุไม่เกิน 40 ปี (ต้องเงินถึงเพราะไม่ค่อยมีเงิน) สนใจติดต่อผ่าน ลุงหนวด คนไม่ค่อยมีเงินเช่นกัน[18]
ตลอดสัปดาห์ที่เริ่มมี คอลัมน์ ‘มาลัยเสี่ยงรัก’ จากการสำรวจจดหมายที่ส่งเข้ามายังกองบรรณาธิการอ้างว่า ผู้หญิงอาชีพครูอาจารย์และผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษาส่งจดหมายประกาศหาคู่มากที่สุด ขณะที่ผู้ชายเป็นอาชีพข้าราชการทหารตำรวจ แล้วแต่ละจดหมายที่ส่งเข้ามาส่วนมากเป็นกระดาษราชการ[19]
แม้จะเป็นการแสวงหาคู่ชีวิตที่ก้าวข้ามเงื่อนไขทางสังคมหลายอย่าง ที่ถือว่า progressive ในยุคสมัยนั้นๆ แต่ลักษณะบางประการของคอลัมน์หาคู่นี้ก็คือการหาคู่ครองคนรักแบบ Structuralism หรือโครงสร้างนิยมที่ประกาศโฆษณาหาความสัมพันธ์พร้อมกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบร่วม การพึ่งพาอาศัยกันอย่างมีกฎและระเบียบที่ชัดเจนตายตัว เป็นผัวหาบเมียคอนร่วมทุกข์ร่วมสุขมันจึงมักมีการอธิบายสถานภาพทางสังคม หนี้สิน อาชีพ วุฒิการศึกษา ประวัติพอสังเขปไปพร้อมกับแสวงหาความสัมพันธ์
หรืออีกในนัยนึง คอลัมน์โฆษณาหาคู่ด้วยตัวของมันทำหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์ความเหงา ความโหยหา ความรักความใคร่ของผู้คนมาหลายทศวรรษ จากทั่วประเทศหลากหลายวัย เพศ จังหวัด ฐานะทางเศรษฐกิจ ที่บอกเป็นนัยว่ารักเพียวๆ มันกินไม่ได้ หากแต่จะต้องตามมาด้วยอะไรหลายๆ อย่าง อย่างน้อยที่สุดเงื่อนไขของอีกฝ่าย และการแชร์ทรัพยากรร่วมกัน
ตลอดหลายปี ‘มาลัยเสี่ยงรัก’ เผชิญความเปลี่ยนแปลงมากมาย ไม่เพียงเปลี่ยนคอลัมนิสต์เป็น ‘ศิวะรมย์’ ก่อนมรณกรรมของเทพชู ทับทองในปี 2546 การโฆษณาหาคู่ที่เริ่มไปประดิษฐานบนเว็บไซต์แทนในยุคดิจิทัล และเมื่อยิ่งมีแอพหาคู่มากมายดารดาษ และ niche มากขึ้น การประกาศโจ่งแจ้งบนหนังสือพิมพ์ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงเรื่อยๆ ไปพร้อมกับวัฒนธรรมการอ่านหนังสือจากกระดาษ มิพักต้องพูดถึงแนวคิดที่การมีคู่ครองเป็นสิ่งไม่จำเป็น ‘มาลัยเสี่ยงรัก’ จึงไม่เพียงเอาไปแขวนไว้ในเว็บไทยรัฐออนไลน์ ยังลดอัตราคนโสดประกาศหารักเหลือเพียงอาทิตย์ละคนและความดิ้นรนของ ‘มาลัยเสี่ยงรัก’ อีกเฮือกลมหายใจนึงคือการทำให้เป็นรายการทีวีจับหนุ่มสาวโสดมาทำความ blind date ให้ผู้ชมนั่งดูทางไทยรัฐทีวี ที่มีการสัมภาษณ์คนที่ออกเดทในรายการเพื่อถอดบทเรียนแล้วให้เลือกว่าอยากสานสัมพันธ์กับใครต่อ อารมณ์รายการเรียลลิตี้ Blind Date ตั้งแต่ปี 1999 -2006 หรือรายการ Dismissed ใน MTV ระหว่างปี 2001 – 2005 แต่เพราะด้วยการกระบวนการทางการผลิตและตลาด ‘มาลัยเสี่ยงรัก’ จึงไม่สามารถนำคนขี้ริ้วขี้เหร่มานำเสนอได้อย่างในหนังสือพิมพ์และมีคาดตาดำเป็นการเซ็นเซอร์เพื่อไม่ให้เก้อเขิน ซึ่งออกอากาศเทปแรกในปี 2557 ก่อนจะยุติในปี 2558 ศิริรวม 41EP
จากการสำรวจสถิติจดหมายในปี 2558 พบว่า สัดส่วนเพศชายหญิงยังคงสูสีเสมอกัน แต่ที่เพิ่มเติมคือความสัมพันธ์รักเพศเดียวกัน คนที่ส่งจดหมายมาโฆษณาหาคู่อายุน้อยกว่า 35 ปี มีสัดส่วนเพียง 17 % ช่วงอายุ 36-49 ปี สัดส่วนอยู่ที่ 44 %ขณะที่อายุมากกว่า 50 ปี มีจำนวน 39 %[20]
และหลังวันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม 2560 ก็ไม่เห็น ‘มาลัยเสี่ยงรัก’ ในเว็บไซต์อีกเลยหากแต่คอลัมน์ยังคงดำรงอยู่เรื่อยมาในกระดาษหนังสือพิมพ์รับบทบาทเป็นสื่อกลางช่วยประกาศหารักและความหวังให้กับ ‘แม่ม่ายไร้เรือพ่วง’ พ่อม่ายวัยเกษียณ หรือคนบางคนที่เพิ่งเป็นโสดอีกครั้งในช่วงวัยเกษียณที่ยามว่างชอบท่องเที่ยว ทัศนาจรเปิดหูเปิดตาต่างจังหวัด เข้าวัดทำบุญทำทาน หรือชายรักชายวัย 40 ปลายๆ หาคนฝากผีฝากไข้ ไปจนถึงนักศึกษามหาลัยวัยฉกรรจ์ ถวิลหาหญิงในสเป็คคือเป็นเบญจกัลยาณี ต้องประกอบอาชีพนักเขียนอิสระ ไม่เที่ยวกลางคืน ไม่ดื่มสุรา รักษาศีลห้า ชอบเข้าวัด ทำบุญ ไม่คิดร้าย (เขาประกาศแบบนั้นในปี 2560 จริงๆ นะ)
คอลัมน์ประเภทนี้บนหนังสือพิมพ์จึงเป็นอีกที่พึ่งพิงหนึ่งและเครื่องยืนยันของการดำรงอยู่ของกลุ่มผู้บริโภคการสื่อสารระบบแอนะล็อก การติดต่อของพวกเขาและเธอยังคงเป็นเบอร์โทรศัพท์ เบอร์บ้านและบ้านเลขที่ทางไปรษณีย์ ขณะเดียวกันรูปประกอบที่แนบมาเพื่อประกาศหาคู่ก็เป็นรูปถ่ายประเภท ใส่ชุดครุย ชุดทำงาน ข้าราชการ โปรดักชั่นสตูดิโอถ่ายรูปใกล้บ้านมากกว่าจะเซลฟี่ หรือถ่ายกล้องมือถือ บางคนเขียนลายมือประณีตตัวบรรจงลงกระดาษส่งจดหมายมาก็มี
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] ภาวินี อินเทพ, กามเทพ แขวนศร ลุงหนวด อำลา มาลัยเสี่ยงรัก, เนชั่นสุดสัปดาห์; 6, 294 (23-29 ม.ค.41) 27-29
[2] เรื่องเดียวกัน,หน้าเดียวกัน.
[3] สันติ เศวตวิมล. ใน แม่สื่อ พ.ศ. 2516 ปีที่ 12 (29 เมษายน 2516),หน้า 9-10.
[4] ลุงหนวด. ดับทุกข์บำรุงสุข. ใน ไทยรัฐ ปีที่ 12(7 มกราคม 2516), หน้า 6.
[5] ลุงหนวด. ดับทุกข์บำรุงสุข. ใน ไทยรัฐ ปีที่ 12 (11 กุมภาพันธ์ 2516), หน้า 6.
[6] ลุงหนวด. ดับทุกข์บำรุงสุข. ใน ไทยรัฐ ปีที่ 12 (11 กุมภาพันธ์ 2516), หน้า 6.
[7] ลุงหนวด. ดับทุกข์บำรุงสุข. ใน ไทยรัฐ ปีที่ 12 (4 มีนาคม 2516), หน้า 6.
[8] เรื่องเดียวกัน,หน้าเดียวกัน
[9] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน
[10] ลุงหนวด. มาลัยเสี่ยงรัก. ใน ไทยรัฐ ปีที่ 23 (2 ธันวาคม2527), หน้า 9.
[11] ลุงหนวด. มาลัยเสี่ยงรัก. ใน ไทยรัฐ ปีที่ 12 (4 พฤศจิกายน 2516), หน้า 6.
[12] ลุงหนวด. มาลัยเสี่ยงรัก. ใน ไทยรัฐ ปีที่ 23 (2 ธันวาคม 2527), หน้า 9.
[13] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
[14] ลุงหนวด. มาลัยเสี่ยงรัก. ใน ไทยรัฐ ปีที่ 12 (22 เมษายน 2516), หน้า 6.
[15] ลุงหนวด. มาลัยเสี่ยงรัก. ใน ไทยรัฐ ปีที่ 12 (22 เมษายน 2516), หน้า 6.
[16] ลุงหนวด. มาลัยเสี่ยงรัก. ใน ไทยรัฐ ปีที่ 12 (5 สิงหาคม 2516), หน้า 6.
[17] ลุงหนวด. มาลัยเสี่ยงรัก. ใน ไทยรัฐ ปีที่ 23 (4 พฤศจิกายน 2527), หน้า 9.
[18] ลุงหนวด. มาลัยเสี่ยงรัก. ใน ไทยรัฐ ปีที่ 23 (9 ธันวาคม2527), หน้า 9.
[19] สันติ เศวตวิมล. แม่สื่อ พ.ศ. 2516 ใน ไทยรัฐ ปีที่ 12 (29 เมษายน 2516), หน้า 9-10.