หากให้เข้าใจว่าทำไมในฟุตบอลโลกปี 1938 ทีมชาติออสเตรียถึงถอนตัว และนำผู้เล่นไปเล่นให้กับทีมชาติเยอรมนี ที่สุดท้ายลงเอยด้วยการตกรอบแรกอย่างไม่มีใครคาดคิด คงต้องเล่าพื้นเพที่มาของเหตุการณ์นี้เสียก่อน
หลังจากที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) หัวหน้าพรรคนาซี ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนี หนึ่งในสิ่งที่เขาวาดฝันไว้ คือต้องการให้ชาติที่พูดภาษาเยอรมันทั้งหมดในยุโรปกลายเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนี และหนึ่งในนั้นคือประเทศออสเตรีย ฮิตเลอร์วางแผนที่จะรวมประเทศเยอรมนีเข้ากับบ้านเกิดเมืองนอนของเขาอย่างออสเตรียอีกครั้ง แม้จะขัดเงื่อนไขของสนธิสัญญาแวร์ซายที่ห้ามมิให้เยอรมนีและออสเตรียรวมเป็นหนึ่งเดียวกันก็ตาม
การทำลายเอกราชของออสเตรียคือเป้าหมายแรกของฮิตเลอร์ ในปี 1934 ฮิตเลอร์สั่งให้พวกนาซีในออสเตรียใช้กำลังล้มรัฐบาลออสเตรีย แต่ก็ล้มเหลวเพราะกองทัพออสเตรียกลับเข้ามาร่วมต่อสู้สนับสนุนรัฐบาลออสเตรีย
ต่อมาไม่นาน เบนีโต มุสโสลินี (Benito Mussolini) ผู้นำเผด็จการอิตาลี ได้ทำข้อตกลงกับคูรท์ ฟอน ชูชนิกก์ (Kurt von Schuschnigg) นายกรัฐมนตรีออสเตรียคนใหม่ โดยสัญญาว่าจะปกป้องออสเตรียจากการรุกรานของประเทศภายนอก กองกำลังทหารอิตาลีเคลื่อนที่ไปยังชายแดนออสเตรียทันทีเพื่อหยุดการรุกรานของฮิตเลอร์
ปี 1936 ชูชนิกก์ นายกรัฐมนตรีออสเตรีย พยายามลดความตึงเครียดระหว่างสองประเทศด้วยการตัดสินใจร่วมมือกับฮิตเลอร์ให้มากที่สุดเพื่อรักษาประเทศไม่ให้กองทัพเยอรมันเข้ารุกราน ทั้งสองคนลงนามข้อตกลงเยอรมัน-ออสเตรีย เนื้อหาในข้อตกลงบอกถึงความเป็นอิสระของออสเตรีย แต่สิ่งที่เสียไปคือนโยบายด้านต่างประเทศของออสเตรียต้องสอดคล้องกับเยอรมนี รวมถึงยังอนุญาตให้คนในพรรคนาซีสามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองในออสเตรีย แน่นอนว่าความประนีประนอมไม่สามารถทำลายอุดมการณ์ของฮิตเลอร์ได้ ปี 1936 ฮิตเลอร์และมุสโสลินีจับมือสถาปนาเป็น ‘อักษะโรม-เบอร์ลิน’ อย่างเป็นทางการ นั่นหมายความว่าออสเตรียจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากอิตาลีอีกต่อไป และเสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากเยอรมันตลอดเวลา
แต่ชูชนิกก์ไม่ยอมแพ้ เขาไปเข้าพบฮิตเลอร์ ในปี 1938 ฮิตเลอร์เพิ่มข้อเสนอหากออสเตรียไม่อยากถูกรุกราน โดยขอให้คนในพรรคนาซีได้รับตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลของออสเตรีย ชูชนิกก์จึงยอมและให้ อาร์ทัวร์ ไซส์-อินควาร์ท (Arthur Seyss-Inquart) หนึ่งในสมาชิกพรรคนาซีได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของออสเตรีย และแน่นอนว่านั่นไม่ใช่จุดจบของความขัดแย้ง มันคือแผนการของฮิตเลอร์ เขายังคงแผนการเดิม สั่งให้นาซีในออสเตรียสร้างปัญหาในประเทศมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากฮิตเลอร์สามารถทำให้ออสเตรียเกิดปัญหาและการปกครองพังทลายลง เขาก็สามารถอ้างการเดินทัพกองกำลังเยอรมันเข้าสู่กรุงเวียนนาได้ว่าเพื่อฟื้นฟูสันติภาพ
9 มีนาคม 1938 ชูชนิกก์รู้แผนการ เขาจึงประกาศจะให้ประชาชนลงประชามติในออสเตรียว่าต้องการเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนีในการปกครองของฮิตเลอร์หรือไม่ ฮิตเลอร์เมื่อรู้เข้าก็โกรธมาก เพียง 1 วันต่อมาฮิตเลอร์สั่งให้ชูชนิกก์ยุติการลงประชามติ และสั่งให้กองทัพของเขาเตรียมพร้อมบุกออสเตรีย ชูชนิกก์พยายามขอความช่วยเหลือจากอิตาลี ฝรั่งเศส และอังกฤษ แต่ก็ไม่มีคำตอบรับใดๆ ชูชนิกก์หมดทางเลือก เขายกเลิกการลงประชามติและลาออกจากนายกรัฐมนตรี อันที่จริงเหตุที่ฝรั่งเศสและอังกฤษไม่ช่วยเหลือออสเตรียเป็นเพราะการเมืองของฝรั่งเศสตกอยู่ในความโกลาหลมานาน และ 2 วันก่อนที่เยอรมนีจะบุกออสเตรีย นักการเมืองรัฐบาลฝรั่งเศสทั้งหมดได้ลาออกไปแล้ว ส่วนเนวิลล์ แชมเบอร์เลน (Neville Chamberlain) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ต้องการเอาใจฮิตเลอร์เพื่อโอกาสในการเจรจากับมุสโสลินี ผู้นำเผด็จการฟาสซิสต์ของอิตาลี คนสนิทของฮิตเลอร์ เขาจึงมีความตั้งใจที่จะไม่ต่อต้านเยอรมนี รวมถึงยังมองว่าการรวบประเทศไม่ได้ถือเป็นภัยคุกคามต่ออังกฤษ เนื่องจากทั้ง 2 ชาติพูดภาษาเยอรมันจึงไม่มีเหตุผลที่ดีที่ออสเตรียและเยอรมนีจะไม่รวมกัน
2 วันต่อมากองทหารเยอรมันกรีธาทัพเข้าสู่ออสเตรียโดยปราศจากการต่อต้านใดๆ ตอนนี้ฮิตเลอร์สามารถควบคุมออสเตรียโดยไม่มีประเทศใดๆ คัดค้าน 1 เดือนต่อมาเขาจึงจัดให้มีการลงประชามติแบบที่หลายคนมองว่าไม่โปร่งใสเท่าใดนัก และผลการลงประชามติก็ออกมาว่าชาวออสเตรียนั้นเห็นด้วยกับการให้เป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนี แน่นอนว่าการเดินหมากในครั้งนี้ฮิตเลอร์เป็นฝ่ายได้เปรียบ พวกเขาได้รับทรัพยากรเพิ่มเติมมากมาย เช่น แร่เหล็กและทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของออสเตรีย เพิ่มดุลอำนาจในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เขามีอิทธิพลในคาบสมุทรบอลข่านมากขึ้น หมากที่มีส่วนทำให้เยอรมนีได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในช่วงเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ในอีก 1 ปีต่อมา
3 เดือนหลังจากการรวมประเทศออสเตรียเข้าสู่เยอรมนี ฟุตบอลโลกครั้งที่ 3 ในปี 1938 ก็ได้เริ่มต้นขึ้นในประเทศฝรั่งเศสที่ได้รับเลือกเป็นประเทศเจ้าภาพจากฟีฟ่า โดยแข่งขันใน 10 เมืองใหญ่ระหว่างวันที่ 4 มิถุนายน ถึง 19 มิถุนายน 1938 มีทีมชาติที่เข้ารอบมีทั้งหมด 16 ประเทศ และหนึ่งในนั้นคือประเทศออสเตรีย ทีมชาติของออสเตรียเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘Wunderteam’ เต็มไปด้วยนักเตะประสบการณ์สูงและทีมเวิร์คที่ยอดเยี่ยม พวกเขาเพิ่งได้รับเหรียญเงินในกีฬาฟุตบอลโอลิมปิกปี 1936 ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี และสร้างความประทับใจให้กับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นอย่างมาก
อันที่จริงฮิตเลอร์ผิดหวังเยอรมนีในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงเบอร์ลินปี 1936 เพราะแทนที่จะเป็นงานแสดงโฆษณาชวนเชื่อของระบอบนาซีและความเหนือกว่าทางด้านกีฬาของชาติอารยัน แต่ในโอลิมปิกครั้งนั้น เจสซี่ โอเวนส์ (Jesse Owens) นักวิ่งผิวดำชาวอเมริกันกลับสร้างความประหลาดใจให้คนทั้งโลกด้วยการขโมยเหรียญทองวิ่งทั้ง 4 รายการ ฟุตบอลโลกในครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนการแก้แค้นทางเผ่าพันธุ์ของฮิตเลอร์
“ชาติเยอรมันเหนือกว่าชาติอื่นใด หรือ Deutschland über alles” คือท่อนหนึ่งของเพลงชาติเยอรมนีในสมัยที่ฮิตเลอร์ปกครอง เขาเชื่อว่าชนชาติของตนเองนั้นยิ่งใหญ่และเป็นสายพันธุ์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดในโลก หนึ่งในโฆษณาชวนเชื่อที่ฮิตเลอร์สร้างมาให้คนเยอรมันภาคภูมิใจในความเหนือกว่าชนชาติอื่น ดังนั้นการที่นักวิ่งผิวดำมาแซงหน้าชนผิวขาวทำให้ฮิตเลอร์รับไม่ได้ และนั่นทำให้เขาต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ชนะในฟุตบอลโลกครั้งนี้
ก่อนที่จะเริ่มการแข่งขันฟุตบอลโลกนัดแรก ทีมชาติออสเตรียก็โดนตัดออกจาก 1 ใน 16 ทีม เนื่องจากเยอรมนีอ้างฟีฟ่าว่าพวกเขาคือประเทศเดียวกัน และสั่งให้นักเตะฝีมือฉกาจ 5 คนของออสเตรียสวมเสื้อทีมชาติเยอรมันพร้อมสัญลักษณ์นาซีบนอกด้วยความไม่เต็มใจ
แมททิอาส ซินเดลาห์ (Matthias Sindelar) วัย 35 ปี กองหน้าจอมยิงและผู้เล่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของออสเตรียรู้จักกันในชื่อ ‘The Paperman’ เป็นหนึ่งในผู้ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมทีมชาติเยอรมนี ซินเดลาห์อ้างว่าเขามีอายุที่มากและมีร่างกายที่โรยรา แต่เหตุผลที่แท้จริงคือเขาเป็นผู้ที่รักชาติมากและไม่สนับสนุนการยึดครองของนาซี แต่การตัดสินใจไม่เข้าร่วมฟุตบอลโลกในครั้งนี้ และนี่อาจเป็นเหตุทำให้เขาต้องเสียชีวิต อีก 7 เดือนต่อมา ในเดือนมกราคม 1939 ซินเดลาห์และแฟนสาวของเขาถูกพบว่าเสียชีวิตในอพาร์ตเมนต์ของพวกเขาที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ผลการชันสูตรศพพบว่าทั้งสองเสียชีวิตจากพิษของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์
ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าพวกเขาเสียชีวิตได้อย่างไร เพื่อนสนิทของซินเดลาห์คาดเดาว่าซุปเปอร์สตาร์ของออสเตรียเสียชีวิตด้วยน้ำมือของตำรวจลับเยอรมัน แต่บางส่วนก็บอกว่าการเสียชีวิตของซินเดลาร์และแฟนสาวของเขาเป็นแค่อุบัติเหตุเครื่องทำความร้อนในห้องของเขาอาจดูแลไม่ดีและอุดตันจนทำให้มีควันคาร์บอนมอนอกไซด์เป็นจำนวนมากในห้องขณะที่ทั้งสองหลับ
4 มิถุนายน 1938 ทีมชาติเยอรมันที่ประกอบไปด้วยนักเตะออสเตรียก็ได้เริ่มการแข่งขันนัดแรกกับทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ ผลออกมาด้วยความไม่น่าประทับใจด้วยการเสมอกัน 1-1 ดังนั้นตามกฎในขณะนั้นทั้งสองทีมจึงต้องแข่งกันอีกรอบเพื่อดูว่าใครจะผ่านเข้าสู่รอบสอง และผู้ที่แพ้จะตกรอบไป
5 มิถุนายน 1938 ทั้งสองทีมพบกันอีกครั้งที่สนาม Parc des Princes ในกรุงปารีสต่อหน้าผู้ชมที่โห่โวยวายทีมชาติเยอรมนีจากการไม่เห็นด้วยกับระบอบการปกครองนาซีและไล่คุกคามประเทศเพื่อนบ้าน การแข่งขันเริ่มต้นขึ้น เยอรมนีขึ้นนำไปก่อน 1-0 ในนาทีที่ 8 จาก วิลเลี่ยม ฮาห์เนมันน์ กองหน้าดาวรุ่งชาวออสเตรีย และมาเป็น 2-0 ด้วยการทำเข้าประตูตัวเองของสวิตเซอร์แลนด์ในนาทีที่ 22 แต่หลังจากครึ่งหลัง ทิศทางบอลกลับเปลี่ยนไปยังฝ่ายสวิตเซอร์แลนด์อย่างน่าประหลาดใจ พวกเขายิง 4ประตูรวดเอาชนะไปด้วยสกอร์ 2-4
เซปป์ เฮอร์เบอร์เกอร์ (Sepp Herberger) โค้ชทีมชาติเยอรมันหนึ่งในสมาชิกพรรคนาซี รู้สึกโกรธเป็นอย่างมากที่ทีมตกรอบแรกอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด และตำหนิว่าความพ่ายแพ้นี้เกิดจากทัศนคติของผู้เล่นชาวออสเตรียที่เล่นด้วยความไม่เต็มใจและไม่มีสปิริต
“ไม่มีใครมีทางรู้ว่านักบอลออสเตรียตั้งใจแพ้โดยเจตนาหรือไม่ แต่สิ่งที่รู้ได้แน่นอนคือพวกเขาไม่ได้เล่นในรูปแบบที่พวกเขาสามารถเล่นได้” สตานิสลอส พุกลีเซ่ (Stanislao G. Pugliese) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮอฟสตรา และผู้เขียนหนังสือ ‘Football and the Boundaries of History: Critical Studies in Soccer กับ Brenda Elsey’ กล่าว
พุกลีเซ่ ยังตั้งข้อสังเกตว่าระบอบฟาสซิสต์ของทั้งเยอรมนีและอิตาลี ต่างพยายามทุกวิถีทางเพื่อชัยชนะในฟุตบอลโลกครั้งนี้ โดยเฉพาะ เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำอิตาลี จากการสืบสวนพบว่าผู้ตัดสินฟุตบอลโลกบางคนถูกควบคุมโดยมุสโสลินี โดยเฉพาะในฟุตบอลโลกปี 1934 ที่อิตาลีเป็นเจ้าภาพและได้รับชัยชนะ รวมถึงชัยชนะอีกครั้งในปี 1938 แม้ว่าทีมของอิตาลีจะดีพอที่จะได้ถ้วยโดยไม่ต้องติดสินบนและข่มขู่กรรมการก็ตาม
“กีฬาไม่เคยปราศจากการเมือง แม้ว่าเราจะมีความฝันว่ามันคงจะดีที่จะเอาทั้งสองแยกออกจากกัน แต่มันจะไม่มีวันเกิดขึ้น” – พุกลีเซ่
อ้างอิงจาก