ทศวรรษ 1960 การประท้วงบนท้องถนนในฟินแลนด์เป็นเรื่องปกติ การประท้วงของนักเรียนมัธยม -มหาวิทยาลัยถึงความย่ำแย่ของระบบการศึกษา การนัดหยุดเรียนเกิดขึ้นทั่วไป เช่นเดียวกับขบวนการแรงงานที่มีการรวมตัวกันประท้วงไม่เว้นในแต่ละเดือน ข้อเรียกร้องของพวกเขาคือการปฏิรูปสังคมครั้งใหญ่เพื่อนำไปสู่รัฐสวัสดิการ
ย้อนกลับไปในปี ค.ศ.1956 ฟินแลนด์ผ่านการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ที่มีคนเข้าร่วมมากกว่า 500,000 คน อย่างที่ทราบกันว่าทศวรรษ 1960 คือจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ฟินแลนด์เดินหน้าสู่รัฐสวัสดิการ ประเทศที่มีความเสมอภาค เสรีภาพ และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอันดับต้นๆ ของโลก
รัฐสวัสดิการไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการรับรองความเสมอภาคเท่านั้น มันยังรับรองเสรีภาพทางความคิด และการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคม ทศวรรษ 1960 ยังเป็นช่วงเวลาที่นักศึกษาหัวขบถสองคนพบรักกัน ก่อนที่พวกเขาจะมีลูกที่เติบโตในรัฐสวัสดิการ คือ ลินุส โตร์วัลดส์ (Linus Torvalds) นักศึกษาวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่ก่อตั้งระบบปฏิบัติการ Linux ระบบปฏิบัติการรองรับโปรแกรมฟรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เขาบอกว่าเขาอยากลองทำอะไรที่มันสนุกเท่านั้น และในสังคมของเขาหลายอย่างที่จำเป็นมันฟรี แต่ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์กลับแพงและไม่สามารถใช้งานได้กับทุกเครื่อง เขายืนยันว่า ‘ระบบซอฟต์แวร์ฟรี’ คือทางออกเดียวของการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์
30 ปีผ่าน Linux ถือเป็นผู้บุกเบิกระบบการแบ่งปันองค์ความรู้ในระดับสากล และยืนยันว่าเมื่อมนุษย์ได้รับการสนับสนุนที่ดีมากพอก็จะเกิดความสร้างสรรค์ และความสร้างสรรค์คือสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ต่อไป
อีกผลงานจากศิลปินฟินแลนด์ คือ เจ้ามูมิน (Moomin) โทรลล์ตัวขาวแสนอบอุ่นจากจินตนาการของ ตูเว ยานซอน (Tove Jansson) ผู้สร้างสรรค์ตัวการ์ตูนมูมิน โดยตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์สังคมนิยม Nytid เธอเป็นผู้สนับสนุนสตรีนิยมและแนวคิดรัฐสวัสดิการก่อนฟินแลนด์จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและศิลปินโดยรวมในทศวรรษถัดมา
วันนี้ผู้เขียนจะชวนทุกท่านลองพิจารณาถึงสวัสดิการที่สนับสนุนความสร้างสรรค์ในประเทศรัฐสวัสดิการ ที่สุดท้ายนำไปสู่สำนึก ‘ความเป็นสาธารณะ’—ผลงานที่กลับคืนสู่สังคม
ฟินแลนด์เป็นประเทศรัฐสวัสดิการเต็มตัวนับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ระบบสวัสดิการพัฒนามาต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสวัสดิการตามช่วงวัย ที่ทำให้ผู้คนรู้สึกปลอดภัยในทุกจังหวะของชีวิต โดยวางพื้นฐานเป็นระบบสวัสดิการถ้วนหน้าที่ไม่มีการพิสูจน์ความจนหรือความสามารถเพื่อให้ได้รับสวัสดิการ ระบบง่ายๆ นี้เริ่มต้นโดยที่ประเทศยังไม่มั่งคั่งอะไรนัก ชนชั้นกลางจำนวนน้อย แต่เมื่อเริ่มเดินหน้าเข้าสู่รัฐสวัสดิการ คนส่วนมากจึงสามารถวิ่งตามความฝันได้ ลูกผู้ใช้แรงงานสามารถเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย คนที่เกิดในครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวสามารถเป็นนายกรัฐมนตรี ผู้คนเปลี่ยนอาชีพจากชาติกำเนิด หรือเลือกเรียนสาขาใหม่ๆ ได้ตามใจ
สุดท้ายสังคมก็เริ่มพัฒนาขึ้นจากการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ และเริ่มเสียภาษีจุนเจือรัฐสวัสดิการ เมื่อมนุษย์มีความสร้างสรรค์มากขึ้น งาน อาชีพ ก็มีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้มีแค่ ครู หมอ ตำรวจ ทหาร แต่มีกวี มีจิตรกร มีนักปั้น คนเขียนเพลง คนออกแบบเกมส์ ฯลฯ อาชีพที่หลากหลายมากขึ้นก็ย่อมต้องการการออกแบบระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมมากขึ้นเช่นกัน
‘ศิลปิน’ เป็นคำที่กว้าง โดยเฉพาะในสังคมที่มีประชาธิปไตย รัฐสวัสดิการ อำนาจต่อรอง ทุกคนย่อมมีโอกาสเวียนแวะมาเป็นศิลปินสักครั้งหนึ่งในชีวิต ในประเทศที่ประกันว่างงานยาวนานหนึ่งปี มหาวิทยาลัยเรียนฟรี การที่คนคนหนึ่งจะเริ่มงานใหม่ในฐานะศิลปินจึงไม่ใช่เรื่องแปลกนัก แต่ปัญหาใหญ่คือ ศิลปินเป็นงานที่ไม่มีรายได้ประจำ หากไม่มีสวัสดิการอะไรคุ้มครอง ผู้คนที่จะเข้าสู่วงการนี้ได้ หากไม่ใช่คนที่รวยพอประมาณ ก็ต้องมีใจรักอย่างมาก หรือไม่ก็มีผู้อุปถัมภ์ ทั้งสามประเด็นนี้ไม่เป็นมิตรต่อการสร้างสรรค์งาน เพราะคนรวยมากๆ เมื่อมาเป็นศิลปินก็สะท้อนได้เพียงแต่มุมมองของชนชั้นตนเอง คนที่รักมากๆ ก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนไปทำผลงานอย่างที่ต้องการได้ หรือคนที่อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ก็มีขีดจำกัดในการสร้างสรรค์งานแนววิพากษ์
ทางออกเบื้องต้นจึงกลับมาที่จุดเริ่มต้น ศิลปินต้องการ ‘สหภาพ’ อันเกิดจากการรวมตัวของพวกเขาเอง เพื่อสะท้อนเสียงและเรียกร้องสวัสดิการที่เหมาะสม ให้อาชีพนี้เป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงชีพได้จริง ไม่ใช่แค่งานอดิเรกของคนรวยหรือคนว่าง
สหภาพศิลปินแห่งฟินแลนด์เป็นตัวกลางสำคัญในการเรียกร้องให้มีการพัฒนาสวัสดิการสำหรับศิลปินและผู้สร้างสรรค์ในฟินแลนด์ ประเทศเล็กๆ ที่มีประชากร 5 ล้านคน มีผู้เยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี งานกิจกรรมศิลปะ กว่า 4.6 ล้านครั้ง อุตสาหกรรมสร้างสรรค์สร้างมูลค่า 3.6% ของ GDP และประชาชนฟินแลนด์กว่า 3.5% ก็ทำในงานอุตสาหกรรมนี้ ประชาชนล้วนปรารถนาศิลปะที่เข้าถึงได้ในราคาที่ไม่แพงหรือฟรี ดังนั้น สหภาพจึงเป็นตัวกลางเรียกร้องการสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ และโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการสร้างสรรค์ศิลปะ
รัฐบาลให้อะไรแก่ศิลปินบ้าง? ระบบของฟินแลนด์คือการมองผู้สร้างสรรค์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เมื่อคนเริ่มจะทำงานสร้างสรรค์ ประชาชนทั่วไปสามารถขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งส่วนมากแล้วก็จะอยู่ในรูปแบบเงินเดือน ตั้งแต่หน่วยเริ่มต้นอย่างคนเขียนบท ไปจนถึงการริเริ่มจัดเทศกาลหนัง ทำให้ผู้คนไม่จำเป็นต้องสังกัดค่ายหรือองค์กรใหญ่เพื่อให้ได้รับทุน คนธรรมดาที่เริ่มต้นจะเขียนบทหนังก็ยังได้รับการสนับสนุน ในปี ค.ศ.2017 งบสนับสนุนอยู่ที่ประมาณ 70,000 บาท/เดือน ซึ่งสหภาพเรียกร้องว่าอัตรานี้ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำจนในที่สุดการสนับสนุนปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 90,000 บาท/เดือน
การเริ่มอาชีพเป็นศิลปินจึงไม่จำเป็นต้องไส้แห้งหรือกินอุดมการณ์เสมอไป หากรัฐบาลมีการสนับสนุนที่ดีมากพอ
นอกจากนี้ยังรวมถึงสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย อุปกรณ์ ความต่อเนื่องของรายได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลต้องมาเป็นผู้ส่งเสริมให้เกิดการบริโภคที่สร้างสรรค์ การกำหนดการจ่ายค่าตอบแทนชิ้นงานที่เป็นธรรม หรือลิขสิทธิ์ที่เป็นของเจ้าของของผู้สร้างสรรค์จริงๆ ไม่ใช่ของกลุ่มทุน กระบวนการเช่นนี้ทำให้ผลงานศิลปะสามารถเข้าถึงได้โดยผู้คน ผ่านการสนับสนุนของรัฐที่ไม่ได้เข้ามาจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ผู้สร้างสรรค์กับประชาชนมีโอกาสที่จะสนทนาแลกเปลี่ยน ตอบแทนกันโดยตรงผ่านรัฐ ไม่ได้เป็นผู้เผชิญหน้ากันโดยตรงผ่านระบบตลาด และการที่รัฐบาลสนับสนุนกิจกรรมในงานด้านศิลปะนี้ ก็ย่อมทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของและยึดโยงกับผลงาน เช่นเดียวกันกับที่ศิลปินก็มีอิสระในการสร้างสรรรค์งานมากขึ้นเช่นกัน งบประมาณการสนับสนุนสวัสดิการของศิลปินในฟินแลนด์อยู่ที่ 1% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือหากเทียบกับไทยแล้วก็ประมาณ 30,000 ล้านบาท/ปี
รัฐกับศิลปะอาจเป็นความสัมพันธ์ที่ดูน่ากลัวสำหรับสังคมเผด็จการแบบไทยที่รัฐเข้าควบคุมในทุกมิติ แต่หากเราสามารถออกแบบกลไกอำนาจการต่อรองของแรงงานในฐานะผู้สร้างสรรค์ศิลปะ การเรียกร้องกระจายทรัพยากรที่เหมาะสม จะเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้กับศิลปิน ผู้สร้างสรรค์ มันจะทำให้ศิลปะกลับคืนมาสู่ประชาชนอีกครั้ง และแน่นอนที่สุดทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องการเมือง ทั้งในระดับชีวิตประจำวัน จนถึงระดับชาติ ที่การต่อสู้เท่านั้นที่จะสามารถทวงคืนชีวิตผู้สร้างสรรค์และศิลปะกลับคืนจากอำนาจรัฐและทุนได้ไปพร้อมกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
ข้อเรียกร้องสหภาพศิลปะแห่งฟินแลนด์: www.skjl.fi
Illustration by Krittaporn Tochan