ขึ้นชื่อว่าภริยานายกรัฐมนตรีก็ย่อมเป็นที่สนใจอยู่แล้ว ไม่ว่านายกนั้นจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร ยิ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารมีนายกเผด็จการ วางอำนาจบาตรใหญ่ ใช้แต่อารมณ์จนดูเหมือนไร้สติปัญญา ยิ่งน่าสนใจว่าคนเป็นเมียจะรับมือยังไง นางคุมผัวนางได้ไหม นางมีอิทธิพลหรือต้องแบกรับสถานการณ์บ้านเมืองอย่างไร
Nira Yuval-Davis นักวิชาการด้านรัฐชาติ ชาติพันธุ์ และเพศสภาพชาวอิสราเอลอธิบายว่า มักมีความเข้าใจผิดๆ ว่ารัฐประชาชาติสมัยใหม่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากระบบปกครองการจัดการทางสังคมในยุคก่อนสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรัฐประชาชาติที่เกิดขึ้นใหม่หลังยุคอาณานิคม เพราะรัฐเหล่านี้ระบบครอบครัวขยายและความสัมพันธ์ทางเครือญาติยังคงถูกใช้เป็นศูนย์รวมของความรักภักดีต่อองค์กร แม้แต่การก่อตั้งพรรคการเมือง การเข้าถึงสิทธิทางสังคมการเมือง หรือแม้แต่สิทธิพลเมืองก็อาจจะขึ้นอยู่กับการจัดวางตำแหน่งสถานะที่เกี่ยวข้องครอบครัวของพลเมืองนั้นๆ ในรัฐประเภทนี้ รูปแบบสังคมดั้งเดิมและโดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ของครอบครัวยังคงปฏิบัติการ[1]
…รัฐไทยก็เช่นกัน
ดังนั้นผู้หญิงจะมีบทบาททางการเมืองได้ก็เมื่อพวกเธอมีเครือญาติ พ่อ หรือแต่งงานกับนักการเมือง ซึ่งก็ทำให้พวกเธอมีอิทธิพลทางการเมืองแบบไม่เป็นทางการ เป็นอำนาจที่ใช้ผ่าน ‘หลังบ้าน’ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล
ถ้าโชคดีหน่อยสายสัมพันธ์ส่วนบุคคลก็จะพาให้พวกเธอสามารถมีอำนาจทางการเมืองบนพื้นที่สาธารณะได้ ผู้หญิงที่เป็นลูกสาวหรือภรรยาของผู้นำทางการเมืองจึงมักได้รับโอกาสเป็นผู้นำทางการเมืองต่อจากสามีหรือพ่อของเธอหมดอำนาจลง หรืออำนาจทางการเมืองของเธอก็แปรผันตามอำนาจของสามี
ย้อนตัวอย่างไปไกลหน่อยเอาสมัยบ้านเมืองพลิกผันขึ้นลงฮวบฮาบ นายกที่ controversial ตลอดกาลอย่าง ปรีดี พนมยงค์ ขณะที่เขามีอิทธิพลทางการเมือง พูนศุข พนมยงค์ ภริยาก็มีส่วนร่วมการการเมืองบนพื้นที่สาธารณะเรื่อยมา เมื่อปรีดีมีงานใต้ดินใน ‘ขบวนการเสรีไทย’ เพื่อต่อต้านการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่น โดยส่งคณะผู้แทนไปติดต่อสัมพันธมิตรและคนไทยในต่างประเทศ หน้าที่ของพูนศุขในยามนั้นคือ ช่วยปรีดีรับฟังข่าวสารจากวิทยุต่างประเทศ ติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ ก่อนเขียนและถอดรหัสทางโทรเลขด้วยลายมือเธอเองเพื่อเป็นการพรางหลักฐาน หากถูกจับได้ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นลายมือใคร ขณะเดียวกันเธอก็คอยอำนวยความสะดวกแก่เสรีไทยที่มาปรึกษางานที่บ้านปรีดี ซึ่งเปรียบเสมือนกองบัญชาการของบรรดาเสรีไทย[2]
และในช่วงปลายสงครามครั้งที่ 2 ที่ไทยถูกระเบิดอย่างหนัก พระบรมวงศานุวงศ์ย้ายไปอยู่พระราชวังบางปะอิน อยุธยา ตามที่ปรีดีจัดการดูแลให้ พูนศุขและครอบครัวก็ตามไปปรนนิบัติรับใช้ ทั้งยังตั้งโรงเรียนสอนหนังสือเด็กๆ ลูกหลานของเจ้านายและข้าราชบริพารที่อพยพตามเสด็จ รวมถึงลูกของเธอเอง โดยมีอาจารย์จากโรงเรียนเตรียมธรรมศาสตร์และญาติๆ ช่วยกันสอน[3] หรือในคราวที่ปรีดี พนมยงค์พยายามเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการแต่ไม่สำเร็จ ในปี 2492 จนกลายเป็นกบฎ พูนศุขเองก็วางแผนจัดการช่วยสามีหลบหนีออกนอกประเทศไปสิงคโปร์ได้สำเร็จ
นอกจากนี้ เธอยังลงนามสนับสนุนการคัดค้านสงครามเรียกร้องสันติภาพสากล ในปี 2495 ซึ่งได้เกิดสงครามบริเวณคาบสมุทรเกาหลีที่ไทยเข้าร่วมด้วย เพราะตระหนักถึงความรุนแรงโหดร้ายของสงครามที่เคยผ่านประสบการณ์มาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งการลงชื่อของเธอก็ทำให้เธอถูกจับกุมทั้งๆที่ไม่มีหมายจับ และถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎ ร่วมกับลูกชาย นักหนังสือพิมพ์ และปัญญาชนคนอื่นๆ[4]
จากนายกสายพลเรือนมาสู่นายกสายทหารบ้างดีกว่า ไหนๆ ทหารประเทศนี้ก็อยากเป็นนักการเมืองกันอยู่แล้ว แปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในทศวรรษ 2480 แม้จะด้วยกระบวนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาจากมติสภาผู้แทนราษฎร ทว่าก็มีลักษณะอำนาจนิยม (authoritarianism) ตั้งแต่ถ่วงเวลาไม่ให้มีพรรคการเมือง แต่งตั้งตนเองเป็นผู้บัญชาการทหารบก รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม มหาดไทย และต่างประเทศ และสามารถสั่งการโดยไม่ต้องผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอื่นๆ[5] ก่อนจะเป็นเผด็จการเต็มที่ในทศวรรษ 2490 ด้วยการรัฐประหาร อย่างไรก็ตามกับประชาชนแล้ว เขาใส่ใจดูแลสวัสดิการประชาชนอย่างมาก พยายามยกระดับคุณภาพชีวิตให้ทันภาวะสมัยใหม่ของโลก
ในฐานะภริยานายกรัฐมนตรี ละเอียด พิบูลสงคราม มีบทบาทสำคัญในการเป็นหัวหน้าผู้หญิงชักชวนสาวๆ ออกมาทำกิจกรรมเพื่อรัฐบาลและสังคม เมื่อแปลก พิบูลสงครามตั้งกรมประชาสงเคราะห์ ใน พ.ศ. 2483 ละเอียดก็ได้ก่อตั้งการศึกษาสังคมสงเคราะห์ ริเริ่มจัดอบรมผู้ปฎิบัติการด้านสงเคราะห์ในปี 2487 เชิญผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรสหประชาชาติเป็นกรรมการ ก่อตั้งเป็นสถาบันการศึกษาเฉพาะทางชื่อ ‘สถานศึกษาสังคมสงเคราะห์’ ภายใต้การบริหารของสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิงของเธอ สอนทั้งวิชาจิตวิทยา สุขวิทยาจิตและโรคจิต สังคมวิทยา อาชญาวิทยา ซึ่งต่อมาก็พัฒนาเป็นคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ เธอยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง สภาสตรีแห่งชาติ เมื่อปี 2497 ริเริ่มจัดตั้งโรงพยาบาลสงเคราะห์หญิงมีครรภ์และบุตร ที่ต่อมาคือโรงพยาบาลราชวิถี และกรมประชาสังคมในปี 2499
ละเอียด พิบูลสงครามทุ่มเทอย่างมากที่จะยกระดับผู้หญิงให้เสมอภาคกับผู้ชายด้วยสิทธิทางกฎหมาย ในปี 2495 เธอได้เสนอที่ประชุมกรรมการสภาวัฒนธรรม ขอความเห็นชอบและแก้ไขกฎหมายระเบียบบางประการให้สิทธิผู้หญิงอย่างเสมอภาคในการรับราชการในกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งที่ประชุมก็เห็นชอบ ขณะเดียวกันก็พยายามผลักดันชำระสะสร้างประมวลกฎหมายแพ่งฯ ว่าด้วยครอบครัวและมรดก เพื่อให้เกิดความเสมอภาคระหว่างชายหญิง
นอกจากนี้เธอยังได้กระตุ้นกลุ่มแรงงานกรรมกรหญิง ให้ก่อตั้ง ‘สหพันธ์กรรมกรหญิง’ (ในความอุปถัมภ์ของท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม) เพื่อให้กรรมกรหญิงรวมกลุ่มกันเคลื่อนไหวเรียกร้องและรับสวัสดิการที่พึงได้ เช่น ถ้ามีบุตรจะได้รับเงินช่วยเหลือ 150 บาท พร้อมอุปกรณ์เลี้ยงลูก เมื่อเจ็บป่วยสามารถนำใบเสร็จมาเบิกเงินได้ ถ้าเกิดตายขึ้นมาก็จะได้รับค่าทำศพ 500 บาท
มากไปกว่านั้นเธอได้วางแผนส่งเสริมอาชีพ ตั้งโรงเรียนส่งเสริมอาชีพ สอนตัดผม ตัดเสื้อ การบ้านการเรือน มารยาทในการปฎิบัติต่อผู้ใหญ่เจ้านาย การครัว และการทอผ้า ละเอียดมีส่วนร่วมอย่างมากในสหพันธ์ฯ ช่วยเหลือเลขานุการสหพันธ์ฯ ในกรณีต่างๆ เช่น ช่วยเหลือผู้ขายบริการทางเพศทางด้านการแพทย์และจัดหาอาชีพฝึกฝนตามความถนัดหรือส่งกลับภูมิลำเนาตามความประสงค์ เป็นที่ปรึกษาแก้ไขปัญหากรณีพิพาทระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง สร้างโรงเรียนพิบูลประชาสวรรค์สำหรับลูกกรรมกรในสลัมให้ได้มีการศึกษา
กรณียกิจของละเอียด พิบูลสงครามถือได้ว่าช่วยลดทอนลดทอนความแข็งกร้าวของอำนาจนิยมและระบอบเผด็จการสามีเธอ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประชาชนหญิงและวัฒนธรรมสำหรับผู้หญิง เธอปฏิบัติหน้าที่ประธานและกรรมการในสาขาต่างๆ ของสำนักงานวัฒนธรรมฝ่ายหญิง เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนหญิงไม่เก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ออกมามีบทบาททางสังคมตอบรับนโยบายรัฐบาล ในการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ปรับปรุงวัฒนธรรมการแต่งกายสวยงามตามจริตสากล
กิจกรรมผู้หญิงถึงผู้หญิงของละเอียดพัฒนาไปมากจนสามารถชักชวนภริยาผู้ว่าราชการจังหวัดตั้ง ‘สโมสรวัฒนธรรมหญิง’ ตามจังหวัดต่างๆ เชิญภริยาในคณะรัฐบาลคนสำคัญและหญิงที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมบริหารเป็นกรรรมการ กระตุ้นให้ผู้หญิงตื่นตัวต่อบทบาททางสังคม สนใจวิชาการ ออกไปช่วยกิจการของรัฐตามโรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ เยี่ยมเยือนและแจกจ่ายเงินข้าวของเครื่องใช้ให้กับคนเจ็บป่วย ยากจน ทุพพลภาพ เด็กที่ถูกทอดทิ้ง และผู้ประสบภัย[6]
แน่นอน บทบาทโดดเด่นขนาดนี้ แถมเป็นภริยานายกแปลก พิบูลสงคราม ละเอียดตกเป็นเป้าโจมตีอย่างรุนแรงโดยกลุ่มปฏิปักษ์คณะราษฎร คึกฤทธิ์ ปราโมช แสดงตนอย่างเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นผู้ต่อต้าน อยู่ตรงกันข้ามกับรัฐบาลแปลก ไม่เพียงตั้งป้อมโจมตีผลงานต่างๆ ของรัฐบาล ยังกระแหนะกระแหนจิกกัดสโมสรวัฒนธรรมหญิงลงหนังสือพิมพ์สยามรัฐของตนเอง[7]
สำหรับคึกฤทธิ์แล้ว สโมสรวัฒนธรรมหญิงเป็นเพียงสมาคมของพวกเมียของนักการเมืองข้าราชการชั้นสูง นิสัยตกใจง่ายเกิดภัยขึ้นมาก็สู้ใครไม่ได้ เพราะอ่อนแอป้อแป้มัวแต่แช่มช้อยวี้ดว้าย ดีแต่นินทาใส่ร้ายชิงดีชิงเด่น ริษยากันเอง ใครต้องการให้ผัวเจริญในหน้าที่การงานก็คอยประจบประแจง เอาอกเอาใจละเอียด อิจฉาใครก็ไปเพ็ดทูลละเอียดไม่ให้ได้ดิบได้ดี เพราะแปลก พิบูลสงครามกลัวเมีย เชื่อฟังอยู่ในโอวาทของเมีย[8]
ซ้ำวัฒนธรรมหญิงของพวกเธอก็เป็นการทำตัวหรูหราไฮโซ วันๆ เอาแต่แต่งตัวเสื้อผ้าหน้าผม เพราะชีวิตสุขสบายมีบ่าวไพร่ไว้ทำงานบ้านแทน มีทรัพย์สินจำนวนมากสามารถใช้ได้ไม่หมด สามารถซื้อเครื่องประดับเครื่องเพชรราวขนม ซื้อผ้ามาตัดเสื้อสวยๆ ไว้ทำกิจกรรม ทำงาน ประชุมกรรมการ ชุดยามเช้าสายบ่ายค่ำไป จนถึงเล่นไพ่ยามว่างตอนกลางวัน แต่ละวันก็ให้คนขับรถพาไปร้านเสริมสวย ในวันหยุดก็ใส่ชุดว่ายน้ำเดินชายหาด เร่เผยแพร่กิริยามารยาทแบบตะวันตก ยกระดับการครองชีพและความเป็นอยู่ของผู้หญิงให้ทันสมัยโดยไม่ได้ดูบริบทวัฒนธรรมไทยและสถานภาพทางเศรษฐกิจของประชาชนในขณะนั้น ไม่เห็นหัวแม่ค้าหาบเร่ ผู้หญิงในตลาด ชาวนา มีผัวถีบสามล้อ เป็นคนจนหาเช้ากินค่ำ มีชีวิตยากจนขัดสนไม่สามารถปฎิบัติตามวัฒนธรรมหญิงได้ เพราะเผชิญกับค่าครองชีพแพง ต้องกู้เงินมาเป็นทุน ซ้ำผัวยังขี้เมาไม่ช่วยทำมาหากิน พวกแม่ค้าเองก็ไม่มีเกียรติให้ต้องรักษา เพราะต้องทำมาหากินไม่สามารถคำนึงถึงเกียรติใดๆ ได้ ไม่มีสกุลให้สืบสาย ชอบใช้กำลังความรุนแรง ตบตีเป็นกิจวัตรประจำวัน ต้องทำมาหากินไม่ได้ประจบประแจงเพื่อดำรงชีวิต[9]
โอ๊ย!!! เหยียดในเหยียด นี่หล่อนจะด่าละเอียด หรือจะด่าประชาชนกันแน่
ถือว่าละเอียดถูกจิกกัดสาหัสสากรรจ์ แม้ว่าคึกฤทธิ์จะเขียนล้อเลียนลามปามไปถึงเรือนร่างและช่วงวัยก็ตาม[10] เลยเถิดเกินวัฒนธรรมตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็ทำได้แค่นั้น เพราะเธอก็สามารถอดทนอดกลั้นได้ และมันก็เป็นค่าใช้จ่ายของการเป็นภริยาบุคคลสาธารณะที่พลอยทำให้เธอเป็นบุคคลสาธารณะไปด้วย
ในฐานะภริยาบุคคลสาธารณะอย่างนายกรัฐมนตรี รายรับและสถานะทางสังคมของครอบครัวได้มาจากภาษีของประชาชน การถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิ่งที่พวกเธอต้องน้อมรับ เพราะนั่นคือการแสดงความโปร่งใส สามารถตรวจสอบและเข้าถึงได้
ไม่ใช่ทำตัวลึกลับเหมือนซ่อนในที่มืด ใช้อำนาจอย่างลับๆ ล่อๆ เหมือนรัฐประหารที่ต้องลักกินขโมยกิน การมีความอดทนอดกลั้นไม่เอาผิดกับคนที่วิพากษ์วิจารณ์ ย่อมทำให้เธอสง่าผ่าเผยมากกว่าทำตัวเข้าถึงไม่ได้ แตะต้องไม่ได้ ทันทีที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แม้แต่เรื่องพูดถึงยี่ห้อสนนราคากระเป๋าถือ ก็ต้องมีลิ่วล้อออกคำสั่งดำเนินคดี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ารัฐบาลสามีเธอไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ปล้นสิทธิเสรีภาพประชาชนมา ยิ่งต้องหัดอดทนอดกลั้นกับแรงเสียดทานจากประชาชน และก็ต้องยิ่งสังวรด้วยว่า รัฐบาลสามีเธอเองก็เที่ยวไปกลั่นแกล้งข่มขู่พ่อแม่พี่น้อง ลูกเมียใครต่อใครที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยเช่นกัน
มีกี่ครอบครัวก็ไม่รู้ที่ถูกสามีเผด็จการเธอคุกคาม
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Yaval-Davis, Nira. Gender & nation. London: Sage, 1997, p. 81.
[2] พูนศุข พนมยงค์ ; นรุตม์ (ลำดับเรื่อง). หลากบทชีวิตท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์ : ชีวประวัติ. กรุงเทพฯ : แพรว, 2535, น. 82.
[3] เรื่องเดียวกัน, น. 89.
[4] พูนศุข พนมยงค์. เมื่อข้าพเจ้าถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘กบฏ’. มติชนสุดสัปดาห์, 23 กรกฎาคม, 30 กรกฎาคม และ 6 สิงหาคม 2544
[5] สุรวุฒิ ปัดไธสง. (2536). อำนาจและทรัพยากรทางการเมือง: ศึกษากรณีจอมพล ป. (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์, กรุงเทพฯ, น. 52-55.
[6] กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. บันทึกผลงานรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ระหว่าง พ.ศ. 2491-2499. กรุงเทพ: กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. (พิมพ์ในอภิลักขิตสมัยคล้ายวันเกิดครบ 5 รอบ ของพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี 14 กรกฎาคม 2500), น. 199 – 200.
[7] คึกฤทธิ์ ปราโมช ม.ร.ว และ พิจารณ์ ตังคไพศาล. วัฒนธรรมและกษัยธรรม. กรุงเทพฯ: สยามรัฐ, 2523.
[8] เรื่องเดียวกัน.
[9] เรื่องเดียวกัน.
[10] เรื่องเดียวกัน.