1
“แกดูดเลือดประชาชนมามากพอแล้ว”
วันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ.1999 ที่รัฐสภาทรงเกียรติของประเทศอาร์เมเนีย ชาติเล็กๆ ในยุโรป ซึ่งเพิ่งได้รับเอกราชจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ.1991 ประเทศซึ่งไม่คุ้นหูชาวโลก เกิดเหตุการณ์ระทึกขวัญขึ้น
เช้าวันนั้น สภากำลังมีการอภิปรายตอบกระทู้ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้แทนประชาชน ระหว่างการโต้เถียงอยู่นั้น มือปืน 5 รายบุกเข้ามาในสภา ก่อนกราดกระสุนลั่นสนั่น ทำเอาผู้คนแตกตื่นตกใจ จากนั้นหัวหน้ามือปืนได้ขึ้นไปยืนที่โพเดียมอภิปราย แล้วชักอาวุธสงคราม กระหน่ำยิงไปยังวาซเก้น ซาร์คิเซียน (Vazgen Sarkisyan) นายกรัฐมนตรีอาร์เมเนีย เจ็บสาหัส
เขาถูกนำตัวไปส่งโรงพยาบาล แต่เพราะถูกยิงเข้าที่หน้าอก เพียงแค่ชั่วโมงเศษๆ นายกฯ แห่งอาร์เมเนียก็ทนพิษบาดแผลไม่ไหว เสียชีวิตในเวลาต่อมา
ผู้ตายเพิ่งเป็นนายกฯ ในเดือนมิถุนายน หลังพรรคของเขาชนะการเลือกตั้งสภาผู้แทน เพียง 4 เดือนในเส้นทางผู้นำนิติบัญญัติ ก็จบชีวิตลงเพราะคมกระสุนเสียแล้ว
นักข่าวที่ทำข่าวสภาโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อน ได้กลายเป็นพยานในเหตุฆาตกรรมระดับโลกนี้แทน โดยมือปืนยิงนายกฯ ในระยะแค่ 1-2 เมตร
“เป็นไปไม่ได้เลยที่ท่านจะรอด”
การสังหารโหดนี้จบชีวิต ไม่เพียงนายกรัฐมนตรีของอาร์เมเนียเท่านั้น แต่ยังมีรัฐมนตรีและผู้แทนอีก 10 ชีวิตถูกรัวกระสุนเป่าดับไปด้วย
เท่านั้นไม่พอ กลุ่มมือปืนยังจับตัวประกันกว่า 50 ชีวิตที่วิ่งหนีออกจากสภามาไม่ทันไว้ด้วย พร้อมเรียกร้องขอถ่ายทอดสด โดยยืนยันว่า นี่คือ ‘การก่อรัฐประหาร’
ช่างภาพที่อยู่ในเหตุการณ์สังหารโหดนี้ จับภาพเศษซากกระสุนที่ฝังในกำแพงของรัฐสภา หัวหน้าของกลุ่มมือปืนหันมาหาแล้วพูดว่า “ใจเย็นๆ ไอ้น้อง พวกพี่ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย”
2
อาร์เมเนียปกครองด้วยระบอบประธานาธิบดี ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ เขาจะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีมาบริหารงาน โดยมีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นฝ่ายตรวจสอบถ่วงดุล สำหรับซาร์คิเซียน อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น อายุเพียงแค่ 40 ปีเท่านั้น
ตัวเขามีความสามารถโดดเด่น สมัยอาร์เมเนียอยู่ใต้การปกครองของโซเวียต เขาเป็นโค้ชกีฬา และเป็นเจ้าหน้าที่กองโฆษณาการของโซเวียต จนเมื่ออาร์เมเนียมีเอกราช เขาก็รับใช้ประเทศเกิดใหม่นี้ โดยอาสาเป็นทหาร ไต่เต้าสู่เส้นทางการเมือง ได้ตำแหน่งรมว.กลาโหม และสนิทสนมกับประธานาธิบดีคนปัจจุบันเป็นอย่างดี
ที่จริงแล้วการเมืองหลังอาร์เมเนียได้รับเอกราช ก็ไม่ได้ราบรื่นเสียทีเดียว มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่คนสงสัยว่าอาจจะมีการโกง มีการประท้วง ซาร์คิเซียนสมัยคุมกระทรวงกลาโหม เคยได้รับคำสั่งจากประธานาธิบดีคนเก่าให้กวาดล้างประชาชนที่ออกมาประท้วง และในเวลาต่อมาเขาก็หักหลังประธานาธิบดีคนเก่า เขี่ยออกจากอำนาจ เมื่อประธานาธิบดีคนใหม่ได้รับการเลือกตั้ง พรรคการเมืองของซาร์คิเซียนก็ชนะการเลือกตั้งในสภา เส้นทางของเขาก็จรัสแสงสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเร็ววัน
บทบาทครั้งแรกของนายกฯ ผู้อาภัพรายนี้ก็คือ การแก้ปัญหาพรมแดนพิพาทกับเพื่อนบ้านอย่างอาเซอร์ไบจาน
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าอาร์เมเนียนั้นมีปัญหากับอาเซอร์ไบจาน เรื่องภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาเซอร์ไบจาน ประเทศที่ร่ำรวยจากการค้าน้ำมันและมีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม อย่างไรก็ดีดินแดนที่ขัดแย้งนี้ มีชาวอาร์เมเนียเป็นประชากรกลุ่มใหญ่
มันจึงเป็นเหมือนความขัดแย้งในดินแดนส่วนใหญ่ทั่วโลก ที่คนในเขตนั้น ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ในประเทศที่เขาสังกัดอยู่
ที่ผ่านมาความขัดแย้งระหว่างอาเซอร์ไบจานกับอาร์เมเนียในดินแดนพิพาทนี้ มีมาตลอด แต่ไม่ปะทุดุเดือด เพราะทั้ง 2 ชาติ อยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต ซึ่งให้ภูมิภาคกอร์โน-คาราบัคอยู่ในการปกครองของอาเซอร์ไบจาน ซึ่งฝืนความต้องการของคนในพื้นที่อย่างมาก แต่นั่นคือวิถีแห่งการแบ่งแยกและปกครอง ที่เจ้าอาณานิคมอย่างโซเวียตใช้ในการกุมอำนาจอย่างได้ผล
จวบจนเมื่อโซเวียตถึงแก่กาลอวสาน สงครามเย็นสิ้นสุด อาเซอร์ไบจาน และอาร์เมเนียเป็นเอกราช ปัญหาพิพาทนี้จึงร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง ลุกลามเป็นสงครามที่อาร์เมเนียส่งกองทัพเพื่อขับไล่ทหารอาเซอร์ไบจาน ตามประสงค์ของคนในภูมิภาค แน่นอนว่ามีหรือที่อาเซอร์ไบจานจะยอม พวกเขาก็ต้องสู้เพื่อปกป้องเขตแดนตรงนี้
ในช่วงเวลาปะทะดุเดือดทำสงครามกันนั้น ซาร์คิเซียนไปรบ มีผลงานโดดเด่น พอเข้ามาเล่นการเมือง เขาก็มุ่งมั่นจะยึดดินแดนนี้คืน แต่ช่วงเวลานั้น ยุโรปไม่ต้องการสงครามวุ่นวายอีกแล้ว การปะทะกันของ 2 ชาติ ทำให้มีคนเสียชีวิต ไร้ที่อยู่เป็นจำนวนมาก ยังไม่นับว่ากองกำลังของซาร์คิเซียนนั้น ละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นที่จับตาของอเมริกาและสหประชาชาติ
สุดท้ายทางรัสเซีย ประเทศเกิดใหม่แต่ทรงอำนาจ ก็ต้องเข้ามาร่วมวงเจรจา เช่นเดียวกับชาติมหาอำนาจตะวันตก
ผลของคำตัดสินคือยืนยันว่าภูมิภาคกอร์โน-คาราบัค ต้องอยู่ในอาณัติปกครองของอาเซอร์ไบจานเหมือนเดิม แต่ภูมิภาคนี้จะถูกปกครองโดยประชากรอาร์เมเนีย แต่หนทางเจรจาสันติภาพไม่เคยสำเร็จ ทั้งสองชาติไม่เคยพอใจผลลัพธ์นี้ และยังคงมีการปะทะเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ซาร์คิเซียนมีความโดดเด่น ในช่วงเวลาที่ไปรบ เขาสนิทสนมกับโรเบิร์ต โคคาเรียน (Robert Kocharian) ประธานาธิบดี ซึ่งก็ไปรบในความขัดแย้งนี้ และเข้าสู่เส้นทางการเมือง ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแล้วชนะ เขาจึงเอาเพื่อนซี้ หนุ่มมากความสามารถอย่างซาร์คิเซียนมาเป็นนายกฯ
อย่างไรก็ดีผลของดินแดนพิพาทที่ไม่ถูกใจนักชาตินิยมในประเทศ แต่สังคมอาร์เมเนียก็ไม่ได้มีใครคิดว่า มันจะเป็นเหตุผลหลักในการปลิดชีพผู้นำอันดับ 2 ของประเทศลงได้
3
ย้อนกลับไปที่วิกฤตสังหารโหดนี้ นับได้ว่าเป็นสถานการณ์สุดตึงเครียดอย่างมาก ประธานาธิบดีโรเบิร์ตสั่งการให้ตำรวจ ทหารเข้าล้อมสภา เพื่อจัดการแก้ปัญหาวิกฤตนี้โดยเร็ว ขณะที่ผู้ก่อเหตุซึ่งได้ปรากฏตัวผ่านสื่อ จนทราบชื่อว่า นายไนรี อูนาเนียน (Nairi Unanian) ซึ่งพี่แกก็ก่อเหตุโดยการใช้เครือญาติ และเพื่อนฝูงรวมกันได้ 5 คน บุกขนอาวุธสงครามเข้ามายังรัฐสภาอันทรงเกียรติได้อย่างลึกลับมาก
อย่างไรก็ดีระหว่างการเจรจา ไม่มีใครทราบถึงมูลเหตุจูงใจของแก๊งวายร้ายนี้เลย ได้แต่คาดกันว่าเพราะปัญหาภูมิภาคกอร์โน-คาราบัค ที่รัฐบาลอาร์เมเนียจัดการไม่สำเร็จ น่าจะทำให้อูนาเนียนพาพวกมาก่อเหตุอุกอาจนี้
“พวกเรามาลงโทษนักการเมือง ในสิ่งที่มันทำกับประเทศนี้”
คำอธิบายของผู้ก่อเหตุที่เปิดเผยต่อนักข่าวที่อยู่ในสภาและถูกจับเป็นตัวประกันด้วย
สำหรับอูนาเนียนนั้น จากการตรวจสอบของทางการพบว่า เขาเคยอยู่ในกลุ่มหัวรุนแรงของอาร์เมเนียด้วย มีความเป็นนักชาตินิยมขวาจัดตกขอบ อย่างไรก็ดีองค์กรที่เขาสังกัดเปิดเผยว่า ชายคนนี้ถูกขับไล่ออกไปแล้วหลายปีแล้ว และกลุ่มหัวรุนแรงไม่เกี่ยวข้องกับเหตุสยดสยองนี้เลย
นักข่าวสภาต่างจำหน้าอูนาเนียนได้ทันที นี่คืออดีตนักข่าว เคยเจอกันในงานภาคสนาม แต่แล้วเวลาผ่านไป เขาได้กลายเป็นมือปืนไปเสียแล้ว
ในช่วงสถานการณ์ตึงเครียด กลุ่มมือปืนได้ทยอยปล่อยตัวประกัน พร้อมเจรจากับรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง พวกเขาขออ่านแถลงการณ์จากสื่อโทรทัศน์ แม้กระทั่งขอเฮลิคอปเตอร์จากทางการเพื่อหลบหนี
“เพื่อนร่วมชาติอาร์เมเนียกำลังทุกข์ยาก มันจึงไม่มีรูปแบบการต่อสู้ไหนเหมาะเท่าวิธีนี้อีกแล้ว นี่คือการแก้ปัญหาที่เจ็บปวดของพวกเรา”
อูนาเนียนเปิดเผยกับเพื่อนสื่อมวลชน
ท่ามกลางความตึงเครียดผ่านพ้นไป วันที่ 28 ตุลาคม อยู่ดีๆ รัฐบาลกับกลุ่มผู้ก่อเหตุก็เจรจากันรู้เรื่อง ในที่สุดมือปืนทั้ง 5 คนก็มอบตัวต่อทางการ ปล่อยตัวประกัน ยุติวิกฤตในเวลาไม่นานเฉยเลย โดยมีคำมั่นสัญญาจากประธานาธิบดีแห่งอาร์เมเนียที่บอกว่า จะจัดการดำเนินคดีไต่สวนอย่างยุติธรรมที่สุด
นั่นทำให้เหล่ามือปืนยอมวางอาวุธ หลังก่อเหตุสังหารโหดอย่างง่ายดาย ท่ามกลางความแปลกใจของคนทั้งโลก
4
ในปี ค.ศ.2003 มือปืนทั้งหมดถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ระหว่างการไต่สวนอูนาเนียนเผยว่า เขายิงนายกฯ ตาย เพื่อต้องการฟื้นระเบียบของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับตำแหน่งประธานาธิบดีโรเบิร์ตด้วย
อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบัน ก็ไม่มีใครรู้ว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุเหล่านี้มีแรงจูงใจอะไร คำถามนี้ยังคาใจสื่อมวลชนและสังคมอาร์เมเนียเสมอมา
ถึงวันนี้ ก็มีคนตั้งคำถามว่า เป็นไปได้หรือ ที่มือปืน 5 คน จะใส่แค่เสื้อโค้ตตัวใหญ่ เพื่อปิดบังอาวุธปืน แล้วบุกเข้ามาในสภา ก่อนก่อเหตุยิงนายกรัฐมนตรี ส.ส.ตายได้อย่างง่ายดาย
แถมช่วงเวลาการเจรจาก็จบลงด้วยการมอบตัว มันเหมือนพล็อตที่ถูกเขียนไว้ล่วงหน้าอย่างไรก็ไม่รู้ มันจึงมีข้อสงสัยว่า บางทีอาจจะมีมาสเตอร์มายด์ หรือนายใหญ่ที่บงการเรื่องนี้อยู่เบื้องหลังก็เป็นได้
อดีตนักข่าวอย่างอูนาเนียน ที่แม้จะหัวรุนแรง แต่เขาสามารถเข้ามาในสภา ที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มข้น เข้าถึงอาวุธสงคราม กระสุนปืน ได้อย่างไร
ขณะที่หนึ่งในสมาชิกมือปืนรายหนึ่ง ได้ก่อเหตุผูกคอตายในเรือนจำปี ค.ศ.2004 เหตุการณ์ตรงนี้ยิ่งสร้างความไม่ชอบกลของเรื่องนี้อย่างมาก แต่ก็มีสื่อกลุ่มหนึ่งก็บอกว่า คนร้ายก่อเหตุกันเอง ไม่ได้มีใครอยู่เบื้องหลังหรอก และเพราะความหละหลวมในเรื่องการรักษาความปลอดภัยต่างหาก จึงเกิดโศกนาฏกรรมนี้ขึ้น
อย่างไรก็ตามข้อถกเถียงนี้ ไม่นำไปสู่ความจริงที่แจ่มแจ้ง มันจึงกลายเป็นคำถามที่ไร้คำตอบอยู่แบบนี้ แม้กระทั่งนายกฯ และประธานาธิบดีคนปัจจุบันยังต้องออกมาปฏิเสธว่า พวกเขาไม่เกี่ยวข้องกับการสังหารโหดนี้แม้แต่น้อย
ด้านอาเซอร์ไบจาน คู่พิพาทในแดนดิน ก็ออกมาปฏิเสธเช่นกันว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังในเรื่องนี้ด้วย และเป็นไปไม่ได้ที่จะยิงนายกฯ ที่กำลังเจรจาหาทางแก้ปัญหาขัดแย้งดินแดนเด็ดขาด ทำไปแล้วมันจะได้อะไรกับอาเซอร์ไบจาน
ทางนักข่าวที่อยู่ในเหตุการณ์บุกยิงนายกฯ เผยว่า พวกเธอต้องรีบซ่อนตัวในห้องสมุดของสภา เอาเก้าอี้หรือข้าวของมากั้นที่ประตูเพื่อป้องกันการบุกเข้ามาของคนร้าย
“เรารู้ว่าพวกเขาไม่ได้มีกันแค่ 5-6 คนแน่ มันมีคนมากกว่านั้นในการบุกสภานี้”
ขณะที่นักข่าวซึ่งไปทำข่าวการพิจารณาคดีนี้ ก็ผิดหวัง เพราะแม้จะมีการไต่สวนข้ามปี แต่เหล่าวายร้ายก็ยังให้การคลุมเครือถึงมูลเหตุจูงใจของการก่อเหตุ มีแต่การคาดเดาว่าพวกเขาไม่พอใจเรื่องการแก้ปัญหาดินแดนพิพาท แต่ทั้งหมดนี้ มันก็ไม่กระจ่างแจ้งว่า เป็นเหตุผลเพียงพอที่กลุ่มคนร้ายจะบุกมายิงนายกฯ ตายเลยหรือ ทั้งที่อำนาจสูงสุดของประเทศนี้ อยู่ที่ประธานาธิบดีต่างหาก
นี่จึงเป็นคำถามไร้คำตอบในอาร์เมเนียจนถึงปัจจุบัน มันยังเป็นฝันร้ายของประเทศ เพราะก่อนการสังหารโหด ทีวีต่างถ่ายทอดเหตุการณ์ในรัฐสภา โดยก่อนจะถูกยิง นายกฯ ซาร์คิเซียนกำลังเตรียมจะอ่านแถลงการณ์ผ่านวิทยุ
แต่เขาไม่มีโอกาสได้อ่าน เพราะกลุ่มคนร้ายได้สาดกระสุนปลิดชีวิตนายกฯหนุ่มคนนี้เสียก่อน
5
การบุกลอบสังหารนายกรัฐมนตรีอาร์เมเนียนี้ ทำให้ประธานาธิบดีโรเบิร์ตตัดสินใจรวบอำนาจไว้ในมืออย่างว่องไว เขารื้อถอนโครงสร้างสถาบันประชาธิปไตยในอาร์เมเนียอย่างต่อเนื่อง และเสริมพลังอำนาจให้กับตำแหน่งประธานาธิบดี รัฐสภากลายเป็นเบี้ยล่างของผู้นำ แทนที่จะเป็นองค์กรที่ถ่วงดุลอำนาจประธานาธิบดี
สถาบันหนึ่งได้ก้าวขึ้นมามีอำนาจ กุมความเด็ดขาดยิ่งกว่าใคร พวกเขาได้บดขยี้ขั้วอำนาจของสถาบันอื่นในสังคมให้ศิโรราบต่อตำแหน่งประธานาธิบดี
พรรคการเมืองถูกทำให้อ่อนแอลง สื่อมวลชนอิสระที่คอยตรวจสอบก็ถูกสั่งปิด เสรีภาพของประชาชนในประเทศก็เหือดหายลงอย่างน่าเศร้า เพียงเพราะการสาดกระสุนวันนั้น แม้ทุกปีจะมีการรำลึกถึงซาร์คิเซียน และผู้จากไป มีการสร้างอนุสรณ์ แต่ปริศนามากมายก็ยังปรากฏอยู่ ไม่มีใครตอบได้ว่าในวันนั้นเกิดอะไรขึ้นจริงๆ กันแน่
สื่อมวลชนที่เกาะติดเรื่องนี้ได้สรุปการลอบสังหารโหดนี้อย่างน่าสนใจว่า มีข้อสงสัยมากมายจากเหตุการณ์นี้ คำถามใหญ่ยังคงปรากฏ
“แต่มีเรื่องหนึ่งที่กระจ่างแจ้งก็คือ หลังวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ.1999 อาร์เมเนียได้เดินออกห่างจากเส้นทางประชาธิปไตย ก้าวเข้าสู่ระบอบอำนาจนิยมอย่างเต็มตัว จนถึงปัจจุบัน”
ข้อมูลอ้างอิง
Illustration by Manita Boonyong