เรื่องหนึ่งที่ฟังดูตลกจนหลายคนอาจไม่คิดว่าเป็นเรื่องจริงจัง ก็คือการศึกษา ‘ปม’ ของนายกรัฐมนตรี
คำว่า ‘ปม’ ในที่นี้แปลมาจากคำว่า complex ซึ่งก็คือสภาวะที่ ‘ซ่อน’ อยู่ลึกๆ ภายในจิตใจ อาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก แล้วฝังลึกจัดเก็บเอาไว้ในจิตไร้สำนึก ก่อนจะมาแสดงออกตอนโต ปมที่เรารู้จักกันดีที่สุด น่าจะคือปมเอดิปุส (Oedipus Complex) ซึ่งก็มีการถกเถียงกันมาตั้งแต่ยุคของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ จนถึง คาร์ล ยุง ว่ามันจริงแท้เชื่อถือได้อย่างไรแค่ไหน
นักจิตวิทยาบอกว่า ปมพวกนี้เกิดจาก ‘การกดเก็บที่มีพลวัต’ หรือ dynamic repression โดยมองว่า คนที่เก็บกดประวัติศาสตร์บาดแผลตั้งแต่วัยเด็กๆ เอาไว้กับตัวเอง จะก่อให้เกิดกลไกการป้องกันตัวเอง (defense mechanism) บางอย่างที่แสดงออกมาเป็นสภาวะไม่พึงประสงค์ เช่น ก้าวร้าว ปากเสีย ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ เปราะบาง ขี้น้อยใจ ฯลฯ
ซึ่งถ้าปรากฏการณ์ก้าวร้าวปากเสียควบคุมตัวเองไม่ได้เหล่านี้เกิดในคนทั่วไป ก็คงไม่มีใครสังเกตสังกาหรือใส่ใจมากสักเท่าไหร่ แต่ถ้ามันเกิดขึ้นกับบรรดาผู้ที่มีอำนาจ โดยเฉพาะมีอำนาจระดับผู้นำประเทศ เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วละก็—ย่อมมีคนสนใจศึกษาแน่ๆ
โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ
ในอังกฤษนั้น เกิดมีคนตั้งข้อสังเกตกันขึ้นมาว่า เอ๊ะ! ทำไมเรา (หมายถึงคนอังกฤษน่ะนะครับ) ถึงได้มีนายกรัฐมนตรีปากเสียเยอะเหลือเกิน ก็เลยมีการศึกษาหลายชิ้น ว่าอะไรเป็น ‘ปมเหตุ’ ให้นายกฯ ต้องปากเสียด้วย คนที่จุดประกายแนวคิดนี้คือ ลูซิล ไอร์มอนเกอร์ (Lucille Iremonger) เธอเขียนงานที่มีชื่อว่า The Fiery Chariot: A Study of British Prime Minsters and the Search for Love ในทศวรรษ 1970 ซึ่งก็ส่งผลต่อเนื่อง ทำให้เกิดงานวิจัยในแนวทางที่กว้างกว่านั้น คือศึกษาในคนสำคัญๆ ทั้งประธานาธิบดีและนักเขียน (เพราะนอกจากนายกฯ แล้ว ก็น่าจะมีนักเขียนนี่แหละที่ปากเสียได้มากพอๆ กัน) เป็นงานชื่อ Execptional Achievement and Early Parental Loss: The Phaeton Effect in American Writers, Presidents, and eminent Idividuals ที่ตีพิมพ์ในวารสารด้านจิตวิทยา โดยนำฐานคิดมาจากงานเขียนของลูซิล ไอร์มอนเกอร์ มาขยาย
ถ้าอ่านชื่อการศึกษาชิ้นหลังดูดีๆ เราก็จะเห็นคำแปลกๆ อยู่คำหนึ่ง คำนั้นคือ The Phaeton Effect ซึ่งเอาเข้าจริง มันคือ ‘ผลลัพธ์’ ที่เกิดจาก ‘ปม’ ทางจิตวิทยาอย่างหนึ่งซึ่งลูซิล ไอร์มอนเกอร์ ใช้เรียกขานในหนังสือของเธอ
ปมนั้นก็คือ ปมฟีตัน (Phaeton Complex)
ในปกรณัมกรีก ฟีตันเป็นเทพองค์หนึ่งเหมือนกัน แต่เป็นเทพที่มี ‘ปมด้อย’ อยู่อย่างหนึ่ง คือเป็นเทพที่ถูกพ่อทิ้ง หรือจะพูดว่าเป็นเทพที่พ่อไม่รักก็เห็นจะได้
จริงๆ แล้ว ฟีตันเป็นลูกของเทพเฮลิออส (Helios) หรือเทพแห่งดวงอาทิตย์ คำว่าฟีตันนั้นแปลว่าความเจิดจ้าฉายแสง (คือ shining หรือ radiant) แต่ดูเหมือนว่า ฟีตันจะไม่ได้มีแสงสว่างในตัวเอง เขาจึงยังมีอาการคล้าย ‘หิวแสง’ มากขึ้นไปอีก ด้วยการอยากให้พ่ออย่างเฮลิออสผู้เป็นเจ้าของแสงสว่างท้ังปวงยืนยันว่าเป็นพ่อของตัวเองจริงๆ
ฟีตันออกเดินทางไปยังพระราชวังของพ่อที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก แล้วก็เข้าไปหาพ่อของตัวเอง ซึ่งพ่อก็จำเขาได้ แล้วก็ยืนยันว่าพ่อเป็นพ่อของลูกนะ แต่ก็ยังไม่ทำให้ฟีตัน ‘ฟิน’ มากพอ เขาขออะไรอย่างหนึ่งจากพ่อ นั่นคือขอขับรถให้พ่อนั่งสักหน่อย
อันว่ารถของเฮลิออสย่อมไม่ใช่รถธรรมดา แต่คือราชรถของพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นความเชื่อคล้ายๆ ในเรื่องรามเกียรติ์อยู่เหมือนกัน นั่นคือการที่พระอาทิตย์จะลอยข้ามฟากฟ้าไปได้ จะต้องใช้ราชรถลอยเลื่อนผ่านไป เป็นราชรถนี้นี่เอง ที่ฟีตันขอพ่อลองขับเพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าเขาเป็น ‘ลูกพ่อ’ จริงๆ เฮลิออสไม่ค่อยอยากให้ฟีตันขับเท่าไหร่ เพราะคนที่ไม่ได้ฝึกปรืออะไรเลยกับการควบคุมม้าชักลากรถให้พระอาทิตย์ อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับผืนโลกเบื้องล่าง รวมไปถึงปวงประชาอาณาราษฎรได้
แต่ฟีตันก็ไม่เชื่อ ไม่ว่าพ่อจะหว่านล้อมว่าอาจเกิดอันตรายอะไร เขาก็ยังอยากขึ้น ‘กุมบังเหียน’ เถลิงอำนาจหลังราชรถ เป็นผู้ควบคุมแสงสว่างทั้งปวงของผืนโลกนี้ให้ได้
ซึ่งก็แน่นอน ผ่านไปไม่นาน ยังไม่ทันถึงแปดปี ฟีตันก็ ‘เอาไม่อยู่’ ม้าเตลิดออกไป ทำให้เขาพาราชรถเข้าใกล้ผืนโลกเกินควร โลกแทบจะเผาไหม้เป็นจุณ สุดท้าย มหาเทพอย่างซุส (Zeus) เห็นท่าไม่ได้การ ก็เลยต้องยิงแสงฟ้าผ่าเข้าใส่ฟีตัน ส่งผลให้ฟีตันตายคารถของพ่อ ร่างของเขาตกลงไปยังแม่น้ำบนผืนโลก และกลายเป็นคำอธิบายว่าทำไมโลกถึงได้เกิดพื้นที่ที่คนอยู่อาศัยไม่ได้ โดยเฉพาะทะเลทรายที่ถูกแสงแดดแผดเผาจนร้อนไหม้
นักจิตวิทยาฝรั่งเศสอย่าง มาริส ชัวซี (Maryse Choisy) ได้หยิบเอาตำนานของฟีตัน มาตั้งเป็น ‘ปมฟีตัน’ โดยบอกว่าปมนี้เป็นทั้งความคิดและอารมณ์ที่เจ็บปวด เกิดขึ้นเพราะคนคนหนึ่งเคยสูญเสียหรือขาดหายพ่อแม่คนใดคนหนึ่งหรือทั้งคู่ไปตั้งแต่ยังเด็ก หรือไม่พ่อแม่ก็เย็นชา เข้มงวด หรือทำบางสิ่งที่ทำให้ลูกรู้สึกทุกข์ทรมานทางใจมาแต่เด็กๆ ส่งผลให้เกิดความก้าวร้าวหรือคับข้องใจต่างๆ ขึ้นมา
อย่างที่บอกนั่นแหละครับ ว่าถ้าอาการพวกนี้เกิดกับคนทั่วไปก็คงไม่กระไรนัก แต่ถ้ามันเกิดขึ้นกับคนระดับผู้นำประเทศอย่างนายกรัฐมนตรี ก็ต้องนับว่าไม่ดีแน่ๆ เพราะคนระดับนายกฯ จะมาทำตัวงอแงง้องแง้ง ปากเสียหรือเอาแต่ใจตัวเองเหมือนเด็กก็น่าจะกระไรอยู่
และนายกฯ คนหนึ่ง ที่ชาวอังกฤษเขารู้สึกว่ามีอาการอย่างที่ว่ามา ก็คือนายกฯ ที่เพิ่งประกาศว่าจะ ‘เลิกแล้วค่ะ’ กับตำแหน่ง นั่นก็คือบอริส จอห์นสัน
แล้วก็เป็นบอริส จอห์นสัน นี่เอง ที่ทำให้คำว่า ‘ปมฟีตัน’ ที่เคยโด่งดังในทศวรรษ 1970 ถูกนำกลับมารื้อฟื้นกันใหม่ เพราะสื่อจำนวนมากต่างวิเคราะห์ว่า ที่คุณจอห์นสันมีลักษณะอาการดังที่เป็นอยู่นั้น น่าจะเกิดจากปมในวัยเด็กแน่ๆ
สื่อต่างๆ (ที่ชอบสอดส่ายสายตาเข้าไปตรวจสอบนายกฯ ทุกซอกทุกมุม) สังเกตเห็นว่า ในวันที่จอห์นสันได้รับเลือกตั้งให้เป็นหัวหน้าพรรคนั้น เขาลงจากเวทีเดินไปหาครอบครัวของตัวเองที่นั่งอยู่ตรงแถวหน้า เขาจูบและกอดกับพี่ๆ น้องๆ ทั้งหญิงทั้งชาย แต่พอพ่อยื่นมือมาให้จับ เขากลับไม่สนใจ
สื่อจอมสอดวิเคราะห์ว่า ชั่วขณะแห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่นั้น บอริส จอห์นสัน ปฏิเสธการแสดงความยินดีจากพ่อของตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้อาจบ่งชี้ก็ได้ว่า จอห์นสันมี ‘ปม’ อะไรบางอย่างในวัยเด็ก และปมนั้นก็น่าจะเป็นปมฟีตันนี่เอง
ลูซิล ไอร์มอนเกอร์ ได้ศึกษานายกรัฐมนตรีอังกฤษ 24 คน นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1809-1940 และพบว่าในจำนวนนี้ มีอยู่ถึงราว 62% ที่เคยสูญเสียพ่อหรือแม่ (หรือสูญเสียทั้งคู่) ไปตั้งแต่อายุ 15 ปีหรือก่อนหน้านั้น โดยสถิติของคนทั่วไปจะอยู่ที่เพียง 10-15% เท่านั้นเอง
ถัดจากนั้นมาในปี ค.ศ.1974 ฮิว เบอร์ริงตัน (Hugh Berrington) ก็ได้ศึกษาทฤษฎีของไอร์มอนเกอร์เพิ่มเติม และพบว่าคนที่มีปมฟีตันนั้น จะมีลักษณะที่เข้าสังคมได้น้อยกว่า และยืดหยุ่นหรืออดทนได้น้อยกว่าคนทั่วไป ทว่าจะมีลักษณะทะเยอทะยาน ทะนงตัวว่าเก่งเลอเลิศ แต่ก็มีความเปราะบางอ่อนไหว แตะต้องไม่ได้มากกว่าคนทั่วไปด้วย
ตัวอย่างของนายกฯ ที่เป็นแบบนี้ก็เช่น เนวิล เชมเบอร์ลิน (Neville Chamberlain) ที่เป็นนายกฯ ในช่วงปี ค.ศ.1937-1940 เขาเสียแม่ไปตั้งแต่อายุหกขวบ และว่ากันว่ามีลักษณะทุกประการของคนที่มีปมฟีตัน นอกจากนี้ยังมีนักการเมืองอีกหลายคนที่ ‘เข้าข่าย’ ว่าอาจจะมีปมฟีตันได้ เช่น เธเรซา เมย์, บิล คลินตัน, โทนี แบลร์ รวมถึงบอริส จอห์นสัน ของเราด้วย
อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้โต้แย้งว่า คนที่สูญเสียพ่อหรือแม่ หรือมีวัยเด็กอย่างที่อาจก่อให้เกิดปมฟีตันนั้น ไม่จำเป็นต้องเกิดลักษณะอาการไม่พึงประสงค์เสมอไป มีการศึกษาคนอย่าง วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) พบว่า แม้เชอร์ชิลจะมีวัยเด็กที่ไม่ดีนัก เข้าข่ายจะมีปมฟีตันได้เหมือนกัน แต่ผลลัพธ์สุดท้ายกลับเป็นตรงข้าม คือจริงๆ เชอร์ชิลก็ปากร้ายเหมือนกัน แต่เขากลับนำพาประเทศไปได้ด้วยดี ซึ่งหลายคนก็โต้แย้งว่าอาจเป็นเพราะสถานการณ์พาไปก็เป็นได้
เอาเข้าจริง เราคงบอกไม่ได้ชัดนักหรอกว่าการที่คนคนหนึ่งมีอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ เช่น ปากเสีย ขี้น้อยใจ หลงตัวเอง คิดว่าตัวเองสำคัญที่สุดในโลก จนถึงระดับอาสามา ‘ขับพระอาทิตย์’ แต่สุดท้ายก็ทำงานได้พินาศวอดวายนั้น มีสาเหตุมาจากปมฟีตัน หรือปมพ่อไม่รักหรือเปล่า เขาอาจจะมีปมอื่นๆ ในวัยเด็ก หรือไม่มีอะไรเลย เป็นเพียงแต่คนนิสัยเสียด้วยตัวเองเท่านั้นก็ได้
อย่างไรก็ตาม เราน่าจะเห็นพ้องต้องกันได้ว่า การทำงานอะไรก็ตามที่เกี่ยวพันกับคนจำนวนมาก โดยเฉพาะงานในระดับขับพระอาทิตย์นั้น อย่างน้อยที่สุดไม่ควรจะเกิดจาก ‘ความดึงดัน’ ของใครคนใดคนหนึ่งที่เห็นว่าตัวเองสลักสำคัญและถือตัวเป็นใหญ่เสียจนบุกเข้าไป ‘ขอพ่อ’ ทำหน้าที่นี้แต่เพียงผู้เดียว แต่ควรเกิดจาก ‘มติร่วม’ ของสังคม (โดยเฉพาะสังคมประชาธิปไตย) ที่จะ ‘เลือก’ ให้ใครเข้าไปทำหน้าที่กุมบังเหียนมากกว่า
เพราะคนอย่างฟีตัน แม้สุดท้ายแล้วจะถูกลงโทษให้ตาย แต่บาดแผลของเขาก็ยังเป็นตัวการก่อเกิดบาดแผลให้โลกในรูปของทะเลทรายที่จะดำรงคงอยู่ไปตลอดกาลได้อยู่ดี
Illustration by Kodchakorn Thammachart