หลายๆ ท่านคงจะทราบดีแล้วถึงคำพูดของนายกรัฐมนตรีไทยที่ว่า “มึงมาไล่กูดูสิ” เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จากการที่แฮชแท็กนี้ติดเทรนด์อันดับหนึ่งของทวีตเตอร์ในพริบตา คำพูดดังกล่าวนี้มาจากการท้าทาย (ที่นายกฯ บอกว่า “ไม่ได้ท้า”) ครับว่า การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะจะไปลงสมัครเลือกตั้งนั้นมันไม่จำเป็น และไม่มีใครเค้าทำกันมาก่อน ทั้งในไทยและต่างประเทศ ทั้งยังยกย่องสี่รัฐมนตรีอีกว่า ทั้งสี่คนนั้นก็ลาออกทั้งที่ไม่ได้จำเป็นอะไร แต่เลือกทำอย่างนั้นเพราะตั้งใจจะทำงานการเมืองเต็มตัวต่างหาก
ไม่ใช่แค่นั้นประยุทธ์ยังอ้างไปถึงสถานะการเป็น ‘รัฐบาล’ อยู่นั้นไม่ได้ทำให้ได้เปรียบใดๆ จากการเลือกตั้งเลย อย่างตอนอภิสิทธิ์เป็นนายก แล้วต่อมาคนเลือกยิ่งลักษณ์มากกว่า ก็แสดงว่าคนเค้าเลือกที่ผลงาน ความเป็นรัฐบาลไม่ได้ช่วยอะไร
จริงๆ แล้วสปีชนี้ของรัฐบาลนั้นน่าสนใจนะครับ และแม้จะโดนด่าเยอะชนิดทั่วฟ้าเมืองออนไลน์ แต่โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าเป็นครั้งหนึ่งที่ฝั่งรัฐบาลนี้เสนอประเด็นขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจ และค่อนข้างน่าถกเถียงทีเดียวเชียว ไม่เพียงเท่านั้น แม้จะมีการก่นด่าสปีชนี้กันมาก แต่เท่าที่ไล่สังเกตการณ์ดู ผมเองก็ยังไม่พบการแย้งค้านด้วยเหตุผลชัดๆ กลับไปนัก โดยมากจะเป็นเพียงการกระแนะกระแหนเรื่องความหยาบคาย ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้เสียมากกว่า ด้วยเหตุนี้ ผมจึงจะลองอภิปรายประเด็นของตัวสปีชและตอบโต้ในบทความนี้ดู
ในแง่โครงสร้างของตัวสปีชอันนำมาสู่ #มึงมาไล่ดูสิ นั้น ผมคิดว่าประยุทธ์ทำได้ไม่เลวทีเดียว
คือ เริ่มจากการสร้างสถานะความเป็นสากล (universalization) ให้การกระทำ/ทางเลือกของตนว่า ไม่ว่าจะใครก็ตาม ไม่ว่าจะระบอบไหน เค้าก็ไม่มีใครลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปลงเลือกตั้ง โดยยกทั้งกรณีของ(อดีต)ประธานาธิบดีโอบามาของสหรัฐฯ และสี จิ้นผิง ผู้นำจีนขึ้นมาเป็นตัวอย่าง โดยทั้งสองนี้อย่างน้อยที่สุดก็ถูกมองว่าเป็นผู้นำโลกของ ‘สองค่ายระบอบการปกครอง’ ว่าตอนโอบามาลงสมัยที่สองก็ไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี เช่นกันกับกรณีจีน แล้วก็เสริมต่อไปอีกว่า นอกจากสองผู้นำของชาติที่เป็นผู้นำโลกนี้แล้ว ก็ไม่ได้เคยมีใครลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือผู้นำฝ่ายบริหารเพื่อไปลงเลือกตั้งเลย ไม่เพียงเท่านั้น นายกรัฐมนตรีของไทยเอง ก็ยังไม่เคยมีใครทำแบบนั้นมาก่อนในประวัติศาสตร์
ว่าง่ายๆ ก็คือ ด้วยหลักเกณฑ์ หรือบรรทัดฐาน กระทั่ง ‘มารยาท’ ในทางสากลแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำ ไม่กระทั่งว่า ‘ควรทำ’ เพราะฉะนั้นการเรียกร้องให้ประยุทธ์ออก จึงเป็นเพียงการอ้างอย่างไร้หลักการแต่ทำเป็นอ้างว่าทำในนามหลักการเท่านั้น ซึ่งเอาตรงๆ ผมคิดว่านี่คือข้อถกเถียงที่ดีและน่ากลัวมากนะครับ (น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ด้วยที่ประยุทธ์พูดอะไรมีหลักการแบบนี้) และเพราะเป็นข้อถกเถียงที่ดีมากด้วยนี่เอง ที่ผมคิดว่าทำให้เรายังไม่เห็นข้อตอบโต้ที่ฟังขึ้นนัก นอกจากความไร้มารยาท
ในทางข้อมูลและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ กระทั่งในแง่ของการเป็น ‘เกณฑ์มาตรฐานสากล’ ด้วย ผมคิดว่าคงจะเถียงที่ประยุทธ์ว่ามาไม่ได้ครับ เพราะฉะนั้นหาก ‘จะไล่แกลง’ ด้วยเหตุผลว่าเป็นมารยาทสากลอะไรนั้นคงจะไม่เวิร์กแล้ว อันนี้แม้แต่คนที่ไม่เห็นด้วยหรือเกลียดแกก็ควรจะต้องยอมรับ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าที่แกว่ามามันจะไม่มีปัญหาอะไรเลยคือ แม้การยังเลือกอยู่ในตำแหน่งของแก ‘เฉพาะในบริบทที่แกพูด’ นั้นจะอ้างได้ว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล แต่กรณีของประยุทธ์เองก็มีลักษณะจำเพาะ (differentia specifica) ที่แตกต่างไปมากอยู่ จะอ้างแต่ความเป็นสากลไม่ได้ครับ
อะไรคือข้อความต่างของ ‘กรณีประยุทธ์’ กับกรณีอื่นๆ ของโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และจีน หรือกรณีประเทศไทยเอง?
การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคณะผู้บริหารประเทศชุดใหม่ เท่านั้น แต่เป็นการ ‘เปลี่ยนระบอบการปกครอง’ อีกครั้งหนึ่งด้วย ต่อให้พยายามอ้างโดยการเลี่ยงบาลีอย่างไรก็ตามที หรือทำเป็นอ้างตัวบทกฎหมายอะไรก็ตาม ตอนนี้เราเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่ประชาธิปไตยอะไรใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งที่จะมาถึงจึงหมายถึงการปรับเปลี่ยนตัวระบอบการปกครองด้วย แม้อาจจะไม่สามารถเรียกได้ว่าประชาธิปไตยโดยเต็มปาก (เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดบังคับใช้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไว้อยู่ อีกทั้ง สว. ก็แต่งตั้งเองหมด) แต่ก็ปรับหลักการการปกครองใหม่
ในแง่นี้ นี่คือสถานะเชิงโครงสร้างที่ ‘ประยุทธ์มี’ แต่โอบามา หรือสี จิ้นผิง ไม่ได้มีด้วย คือ สหรัฐอเมริกาไม่ได้เข้าสู่การเลือกตั้งพร้อมกับจะเปลี่ยนระบอบการปกครอง เช่นกันกับกรณีของจีน
ในทางตรงกันข้าม ในกรณีที่เป็นการกระทำที่มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ตัวผู้นำที่บริหารประเทศดูจะเป็นคนแรกๆ ที่จะต้องถูกเพ่งเล็งให้ ‘ออกจากตำแหน่ง’ จะด้วยการยินยอมลงเอง หรือด้วยวิธีอื่นๆ (เช่น การใช้กำลังบังคับ) ก็ตามแต่ ในแง่นี้ หากเรายึดเอา ‘การเปลี่ยนแปลงตัวระบอบการปกครอง’ เป็นสำคัญแล้ว ประยุทธ์ก็ควรจะก้าวลงจากตำแหน่งเป็นอย่างยิ่งครับ
ประการที่สอง อันนี้พอจะมีคนที่อภิปรายไปบ้างแล้ว คือ รัฐบาลต่างๆ ที่ประยุทธ์อ้างนั้น (อย่างน้อยๆ ก็รัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย) เค้าเป็น ‘รัฐบาลรักษาการ’ ที่ไม่ได้มีอำนาจเต็มที่ แต่ในกรณีของรัฐบาลประยุทธ์กลับยังคงความเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเล้นฟ้าอยู่ ในกรณีแบบนี้ การอ้างเคสแบบโอบามา หรือประเทศเสรีต่างๆ จึงเป็นการอ้างที่ผิดฝาผิดตัวมากทีเดียว
ประการที่สาม ในเรื่องของที่มาของตำแหน่งนั้น ต่อให้ ‘ไม่ได้เกิดการเลือกตั้ง’ ขึ้น ด้วยการได้มาซึ่งตำแหน่งของประยุทธ์ที่ ‘รัฐประหาร’ หรือปล้นอำนาจประชาชนมานั้น ใครก็ตามมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ประยุทธ์และรัฐบาลนี้ลาออกได้เสมอ ได้ตลอดเวลา (แต่สำเร็จหรือไม่นั้นอาจจะเป็นคนละเรื่อง) เป็นการเรียกร้องที่ชอบด้วยเหตุผลในตัวมันเองอยู่แล้ว และในแง่นี้การเรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออกนั้นก็มีมาตลอดเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา แค่ในช่วงที่กำหนดวันเลือกตั้งแล้ว และพรรคพลังประชารัฐไปสู่ขอประยุทธ์แล้วก็มีกระแสให้ลาออกมากขึ้นเท่านั้นเอง
ว่าง่ายๆ การเรียกร้องให้ประยุทธ์ลงจากตำแหน่งนั้นไม่ใช่อะไรที่ใหม่เลยครับ
จริงๆ ด้วยเหตุผลดังว่าใน ‘ประการที่สาม’ นี้ ทางฝั่งทหารมักจะยกคำอ้างเรื่องความเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของพวกตน หรือการเป็นรัฏฐาธิปัตย์ขึ้นมา ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ผิดนะครับ ผมขอยกตัวอย่างอะไรขึ้นมาให้พอเห็นภาพนะครับ สมมตินาย A เป็นเจ้าของของสิ่งหนึ่ง เรียกว่า X แล้วกัน แบบโดยชอบธรรมเลย หาเงินซื้อมาด้วยตัวเอง แต่อยู่ดีๆ อีตา B โผล่มาจากไหนก็ไม่รู้ เอาปืนมาจี้ แล้วบอกให้มอบ X มาให้ตน ทำให้ตอนนี้ X ตกไปอยู่ในมือ B แล้ว A ก็ร้องว่าให้เอา X มาคืนตนเถอะๆ ประมาณนี้แหละครับสถานการณ์ของไทย
หาก A คือ ประชาชนคนไทย และ X คืออำนาจสูงสุดในการปกครอง นั่นแปลว่า A ‘เป็นเจ้าของ’ X หรือประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครองนั่นเอง ซึ่งจุดนี้เป็นแกนหลักของความคิดเรื่อง ‘รัฏฐาธิปัตย์’ ด้วยคือ การเป็นเจ้าของ จากสถานการณ์ตัวอย่างข้างต้น X ซึ่งเป็นของของ A นั้น ถูกปล้นไปอยู่ในมือ B ทำให้ B ‘ได้ครอบครอง X’ แต่นั่นแปลว่า ‘สิทธิของความเป็นเจ้าของ X’ ได้ย้ายจาก A ไปสู่ B ตามด้วยไหม? ไม่เลยครับ สิทธิยังเป็นของ A อยู่ดี B เพียงแต่มาพรากอำนาจในการครอบครอง X ไปเท่านั้น และนั่นเองที่ทำให้การปล้นมันผิด เพราะของที่ได้มาจากการปล้นไร้ซึ่งสิทธิในการเป็นเจ้าของโดยชอบธรรม กรณีการรัฐประหารที่ปล้นเอาอำนาจสูงสุดในการปกครองไปจากประชาชนก็เช่นกันครับ A หรือประชาชนอย่างเราๆ จึงมีสิทธิโดยชอบธรรม ‘เสมอ’ ในการจะเรียกร้องให้ ไอ้ B หรือคนที่ปล้นของของเราไปนั้น ‘คืน’ ของมาให้เสีย
ประการที่สี่คือ ประยุทธ์ต้องเข้าใจด้วยนะครับว่าตอนนี้ตำแหน่งที่ประยุทธ์ ‘นั่ง’ อยู่นั้น ไม่ได้มีแต่เพียงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ยังมีตำแหน่งหัวหน้า คสช. อยู่ด้วย ซึ่งมีอำนาจเต็มมากๆ และใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญเสียอีก ทั้งด้วยอำนาจของมาตรา 44 และอำนาจเชิงกำลังในมือ เพราะฉะนั้นในเงื่อนไขที่จะมีการเลือกตั้งแล้ว และตัวเองมีแนวโน้มจะเป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีด้วยนั้น ต่อให้การจะลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นอย่างที่ประยุทธ์พยายามจะอ้าง แต่การ ‘ลงจากตำแหน่ง, ยกเลิกมาตรา 44 และยุบ คสช.’ นั้นเป็นสิ่งจำเป็นครับ หากคิดจะอ้างหลักการแบบที่ทำๆ อยู่
จริงๆ แล้วในกรณีนี้ พูดได้ชัดๆ ด้วยนะครับว่า ประเทศไม่เพียงแต่ไม่ได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่รัฐธรรมนูญยังไม่ได้มีอำนาจสูงสุดอีกต่างหาก เพราะมาตรา 44 นั้นดูจะมีอำนาจในทางปฏิบัติที่เหนือเสียยิ่งกว่าอำนาจในทางปกครองของรัฐธรรมนูญเสียอีก และหากพูดให้ถึงที่สุดแล้ว ต่อให้ประเทศปกครองด้วยรัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุดจริงๆ ก็ไม่ได้แปลว่าจะดีเสมอไป แต่ต้องดูด้วยอีกครับว่าตัวรัฐธรรมนูญนั้นมีความเป็นประชาธิปไตย คุ้มครองสิทธิมนุษยชน และประกันสิทธิเสรีภาพทางการเมืองไหม อย่างประเทศเผด็จการหลายๆ ประเทศเองก็ให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดเช่นกัน แต่มันไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งก็คงไม่อาจจะนับได้ว่าเป็นประโยชน์อะไรนัก พวก constitutional authoritarianism เนี่ย
กล่าวโดยสรุปก็คือ ไม่มีทางไหนเลยที่รัฐบาลประยุทธ์จะเคลมความชอบธรรมในการ ‘ไม่ลงจากตำแหน่ง’ ของตนเองได้ เพราะ ‘ลักษณะเฉพาะพิเศษ’ ที่รัฐบาลนี้เป็นอยู่มันทำให้การอ้างแบบพยายามอิงตามหลักการที่ว่านั้น ‘ฟังไม่ขึ้นและใช้ไม่ได้’ ครับ
อย่างไรก็ดี ผมเชียร์ให้พูดหรือเถียงอะไรโดยพยายามจะมีเหตุผลและมีหลักการแบบนี้อีกนะครับ เพราะคนที่ต้องพยายามจะเถียงกับพวกคุณอย่างผมนี้จะได้ ‘จับต้นชนปลาย’ หาทางพูดคุยได้ถูก แบบนี้ถือว่าคุยกันได้ครับ ดีกว่าการพูดอะไรสั่วๆ แบบ “ผู้ก่อการร้ายบุกโจมตี เพราะอยากกินอาหารอร่อย” ที่สิ้นคิดเสียจนเริ่มต้นอภิปรายด้วยไม่ถูกเลย