ประชาธิปไตยกับการบังคับดูเหมือนเป็นอะไรที่เข้ากันไม่ได้
แต่หากคุณเป็นพลเมืองของประเทศประชาธิปไตยสุดแสนเสรีอย่างออสเตรเลีย แต่ดันนอนหลับทับสิทธิโดยไม่มีเหตุผลที่ดีพอ คุณจะต้องเสียค่าปรับและอาจถึงกับต้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันเลยทีเดียว อีกนับสิบประเทศประชาธิปไตยก็มีบทลงโทษทำนองนี้ แม้แต่ประเทศต้นแบบประชาธิปไตยอย่างอเมริกาเอง อดีตประธานาธิบดีโอบามาครั้งหนึ่งก็เคยพูดถึงความเป็นไปได้ในการเอาระบบบังคับเลือกตั้งของออสเตรเลียมาใช้[1]
อะไรคือเหตุผลของการบังคับคนไปเลือกตั้ง?
คำตอบที่โลกประชาธิปไตยโบราณมักใช้ก็คือ การออกไปเลือกตั้งสร้างผลดีให้กับตัวคนถูกบังคับเอง เพราะเป็นการบังคับให้คนออกไปปกป้องผลประโยชน์ ปกครอง หรือฝึกฝนพัฒนาตัวเอง คนไทยในปัจจุบันเองก็มักให้เหตุผลในลักษณะดังกล่าว
แต่เหตุผลแนวทางนี้ไม่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เพราะมีความขัดแย้งในตัวเองแบบแปลกๆ ด้วยเหตุผลที่ว่า การอนุญาตให้มีการเลือกตั้งคือการยอมรับว่าคนสามารถตัดสินใจเรื่องตนเองได้ แต่การบังคับให้ออกไปเลือกตั้งกลับแฝงแนวคิดตรงกันข้ามแบบคุณพ่อรู้ดี คิดว่าประชาชนยังไม่โตพอจะตัดสินใจได้เองว่าควรเลือกทำอะไร[2] เหตุผลดังกล่าวจึงย้อนแย้ง ไม่สมเหตุสมผล และไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่ในสังคมประชาธิปไตยปัจจุบัน
แล้วทำไมหลายประเทศที่ตั้งมั่นกับประชาธิปไตยยังบังคับคนออกไปเลือกตั้งปัจจุบัน? เขาไม่ได้ใช้เหตุผลคุณพ่อรู้ดีแบบโบราณที่เพิ่งพูดถึงไป กล่าวคือเขาไม่ได้อ้างและสนใจว่าการเลือกตั้งจะดีหรือไม่ดีต่อตัวคนที่ออกไปใช้สิทธิเองหรือไม่ แต่ให้เหตุผลว่าการนอนหลับทับสิทธินั้นผิดหลักความเป็นธรรม เพราะไม่แฟร์กับคนอื่นๆ รวมถึงยังสร้างผลกระทบเชิงลบต่อส่วนรวมอีกด้วย
ไม่แฟร์ยังไง?
ไม่แฟร์อย่างแรกคือเป็นการเอาเปรียบ ที่เอาเปรียบก็เพราะว่าการเลือกตั้งที่มีคุณภาพ เช่น การแข่งขันปรับปรุงนโยบายและคัดเลือกผู้สมัครที่ดีนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีคนมาร่วมกันแลกเปลี่ยนเห็น ขบคิด และแข่งขันกันเยอะๆ พูดง่ายๆ ก็คือต้องช่วยๆ กันลงแรง ถ้ามองเช่นนี้ คนที่ไม่ยอมออกไปก็คือคนที่ได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งที่มีคุณภาพโดยไม่ลงแรง (free rider)
ในเรื่องผลกระทบสาธารณะ งานวิจัยหลายชิ้นบอกว่าการไม่ยอมลงแรงของคนบางกลุ่มไม่เพียงเป็นปัญหาในแง่การเอาเปรียบเท่านั้น แต่ยังสร้างผลกระทบทำให้คนออกมาเลือกตั้งในอนาคตน้อยลงเรื่อยๆ เพราะพอคนเห็นว่าคนอื่นไม่ไปเลือกตั้ง คนที่ไปก็อยากไปน้อยลง เพราะเห็นว่าไม่ไปก็ไม่เป็นไร ไม่เกิดความรู้สึกแข่งขัน หรือแม้กระทั่งเกิดความรู้สึกไม่อยากถูกเอาเปรียบ
เมื่อคนโหวตน้อยลง คุณภาพการเลือกตั้งก็จะลดลงไปด้วย
ผลกระทบเรื่องคนมาโหวตน้อยลงก็นำมาสู่ความไม่แฟร์ในมิติที่สอง ประเด็นก็คือหากเราพิจารณาตัวเลขคนออกมาเลือกตั้งในปัจจุบันที่มีแนวโน้มลดลง เราจะพบว่ากลุ่มคนที่ออกมาเลือกตั้งลดลงมีสัดส่วนมากกว่ากลุ่มอื่น เป็นคนที่อยู่ในสถานะเสียเปรียบทางเศรษฐกิจสังคม เช่น คนจนหรือแรงงานไร้ฝีมือ เพราะพวกเขาไม่มีต้นทุนหรือเวลาพอจะออกไปเลือกตั้ง หรือถ้ามี ก็อยากใช้ไปกับกิจกรรมอย่างอื่นที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้มากกว่า
ทิศทางแบบนี้ทำให้กลุ่มการเมืองที่มีนโยบายตอบสนองและต้องการฐานเสียงจากคนผู้เสียเปรียบเหล่านี้ เสียเปรียบในการแข่งขันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่หากทุกคนมาลงคะแนนเสียงพวกเขาอาจจะชนะอย่างถล่มทลาย
ในการเลือกตั้งอเมริกาครั้งที่ผ่านมา ก็มีคนบ่นว่าส่วนหนึ่งที่พรรคเดโมแครตแพ้ไปอย่างเฉียดฉิวก็เพราะคนชั้นล่างจำนวนมากซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคไม่ได้ออกมากาบัตร และเมื่อกลุ่มการเมืองของเหล่าผู้เสียเปรียบทางสังคมแพ้ในการแข่งขัน ผลกระทบต่อเนื่องที่เกิดขึ้นก็คือ กลุ่มคนเหล่านี้จะขาดตัวแทนเข้าไปปกป้องผลประโยชน์ตัวเองและถูกเอาเปรียบทางการเมือง กลายเป็นเสียเปรียบเข้าไปอีกขั้น หรือที่ฝรั่งใช้คำว่า ‘double marginalization’
ปัญหาทั้งหมดนี้ไม่สามารถแก้ได้ด้วยการอำนวยความสะดวกให้กับการเลือกตั้ง เช่น การกำหนดวันหยุดหรือกระจายคูหามากขึ้น เพราะงานวิจัยจำนวนมากพบตรงกันว่ามาตรการต่างๆ จะช่วยเพิ่มจำนวนคนออกมาเลือกตั้งได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น ก่อนจะลดลงเท่าเดิมในระยะยาว ดังนั้นหลายประเทศจึงเห็นว่าการบังคับโหวตเป็นทางออกเดียวที่เหลืออยู่
หลักการ ‘one man one vote’ ไม่ได้หมายความแค่ว่า one man ‘has’ one vote แต่ต้องหมายถึง one man ‘must vote’ one!
คิดเห็นยังไงกันบ้าง?
ที่เล่ามานี้เป็นแนวคิดของคนอื่น ไม่ใช่ของผม ส่วนตัวผมยังไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ เพราะก็มีหลายคนบอกว่าการบังคับคนไปโหวตก็สร้างปัญหาในเรื่องความยุติธรรมและสร้างผลกระทบที่ไม่ดีในอีกหลายแง่มุมเช่นกัน
ในประเด็นที่ว่าการเลือกตั้งจะมีคุณภาพหากคนร่วมกันคิดร่วมกันโหวตเยอะๆ ก็มีคนโต้ว่าหากคนไม่อยากไปโหวต บังคับไปก็เท่านั้น ไม่ช่วยเพิ่มคุณภาพการแข่งขันอย่างไร เพราะคนที่ถูกบังคับก็จะไม่คิดไม่ถกเถียงอะไรกับคนอื่น แล้วก็ออกมาโหวตมั่วๆ ซั่วๆ หรือทำบัตรเสีย
ประเทศที่บังคับโหวตอย่างบราซิลหรือออสเตรเลียก็พบว่ามีบัตรในลักษณะนี้ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า ‘donkey vote’ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับข้ออ้างเรื่องการสร้างสนามแข่งขันที่เป็นธรรมต่อกลุ่มการเมืองของผู้เสียเปรียบ แต่ก็มีคนโต้ว่าการบังคับโหวตก็สร้างปัญหาให้กับผู้เสียเปรียบไม่แพ้กัน กล่าวคือ ที่ปกติคนกลุ่มนี้ไม่ออกไปโหวตก็เป็นเพราะเขาไม่พร้อมจะแบกต้นทุนเวลาและค่าเดินทาง การบังคับคนเหล่านี้ให้ออกจากบ้าน จึงเป็นการซ้ำเติมให้พวกเขาซึ่งต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นไปอีก
บางคนถึงกับบอกว่า การที่คนรู้สึกว่าตนไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งและนอนหลับทับสิทธิอยู่เฉยๆ นั้นเป็นเรื่องยุติธรรมดีแล้ว เพราะคิดว่านี่คือการเปิดโอกาสให้เสียงของคนที่รู้สึกว่ามีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงต่อประเด็นวาระในการเลือกตั้งครั้งนั้นๆ ได้เปล่งออกมาอย่างมีน้ำหนักชัดเจน ไหนจะประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพที่พูดถึงกันบ่อยๆ อีก
แต่ก็อย่างที่บอกไปแหละครับ ผมไม่มีความรู้พอจะฟันธง ที่พยายามเอามาคลี่ให้ดูทั้งหมดนี้คือแผนผังข้อถกเถียงอันสลับซับซ้อนจากฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านการบังคับโหวต ที่จริงข้อถกเถียงยังมีอีกมาก แต่ก็เกินกว่าจะเอามาเล่าทั้งหมดในที่นี้
ที่อยากชวนดูก็คือวิธีที่ทั้งสองฝ่ายสร้างข้อสนับสนุนจุดยืนฝ่ายตนเองและชักชวนให้เราคล้อยตามนี่แหละครับ สังเกตให้ดีจะเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายพยายามต่อสู้ด้วยการสร้างข้อโต้แย้งที่หนักแน่น (valid arguments) สนับสนุนด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ (empirical soundness) รวมถึงพยายามเข้าใจและตอบโต้ข้อโต้แย้งของฝ่ายตรงข้าม (fighting counter-arguments) ไม่ใช่เพียงการย้ำความเชื่อของตนไปเรื่อยๆ
เอาเข้าจริง ไม่ว่าข้อสรุปจะออกมาเป็นเช่นไร อาจไม่สำคัญเท่ากับกระบวนการได้มาซึ่งข้อสรุปตรงนี้แหละครับ เพราะกระบวนการดังกล่าวคือหลักประกันว่าสังคมมีวุฒิภาวะพอจะถกเถียงและตัดสินใจใหม่อีกครั้ง หากพบในอนาคตว่าทางที่เลือกไปแล้วนั้นผิด
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] https://www.theguardian.com/us-news/2016/apr/10/barack-obama-praises-australias-mandatory-voting-rules
[2] https://thematter.co/thinkers/right-to-say-no-to-election/42778