เชื่อไหมคะ ตอนดิฉันอ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ครั้งแรก ดิฉันคิดว่าสถานีคิงส์ครอสส์ (King’s Cross) ไม่มีจริง แหงล่ะ ชานชาลาที่เก้าเศษสามส่วนสี่มันก็ไม่ใช่เรื่องจริงอยู่แล้ว แฮร์รี่เองก็ไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง แต่เด็กเซ่ออย่างดิฉันคิดว่านี้เป็นสถานีสมมติด้วยซ้ำ จนกระทั่งเริ่มเรียนวรรณคดีอังกฤษจริงๆ นี่แหละ ถึงรู้ว่า เออ มีจริงแฮะ พอมาเรียนต่อปริญญาโท มีคนติดป้าย เอารถเข็นครึ่งคันไปแปะไว้ให้โพสต์ท่าถ่ายรูปกันเหมือนในหนัง/หนังสืออีกต่างหาก พอดิฉันกลับมาเรียนเอก โอ้โห มีร้านใหญ่โตอยู่ข้างๆ มีเจ้าหน้าที่ถ่ายรูปให้ มีคนต่อคิวกันจริงจังด้วย
ใครเป็นแฟนคลับแฮร์รี่ พอตเตอร์ก็คงทราบและไม่พลาดอยู่แล้ว รวมถึงหลายคนที่อาจมีโอกาสนั่งรถไฟจากชานชาลาที่เก้าหรือสิบ แล้วมโนว่าเป็นชานชาลาที่จะพาคุณไปโรงเรียนฮอกวอตส์ก็ได้ บางคนอาจได้ถ่ายภาพกับรถเข็น ไปซื้อไม้กายสิทธิ์ของตัวละครต่างๆ ซื้อเจ้าตุ๊กตานิฟเฟลอร์ตัวอ้วนกลับบ้านไปกอดเล่น หรือของที่ระลึกน่ารักๆ ชิ้นอื่นๆ จากทั้งแฮร์รี่ พอตเตอร์ และสัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่นักท่องเที่ยวแน่นขนัดแทบจะทุกวัน ความฝันของนักอ่านหรือผู้ชมภาพยนตร์ที่จะได้เป็นพ่อมดแม่มดสามารถเป็นจริงได้ที่ร้านนี้ อยากแต่งเป็นใคร อยู่บ้านไหน มีให้ซื้อทุกอย่าง
สถานีรถไฟคิงส์ครอส ซึ่งอยู่ติดกับสถานีรถไฟนานาชาติลอนดอนเซนต์แพงครัส (London St. Pancras International) ถือเป็นสถานที่ที่มีคนเดินทางมากมายเป็นปกติ โดยเฉพาะคนในประเทศอังกฤษที่เดินทางด้วยรถไฟกันเป็นส่วนใหญ่ เมื่อแฟนๆ ของแฮร์รี่ พอตเตอร์เดินทางมายังสถานีเพื่อถ่ายรูปและซื้อของที่ระลึก ในขณะที่สถานีรถไฟมีคนพลุกพล่านเดินเข้าเดินออกตลอดเวลา คนก็ยิ่งมหาศาล แต่ด้านหลังสถานีก็มีโบสถ์เล็กๆ แห่งหนึ่งที่อยู่เยื้องไปอย่างเงียบเชียบ และดูเปลี่ยวดาย ซึ่งนั่นอาจเป็นเรื่องดีของโบสถ์โดยทั่วไป แต่ในมุมของนักวิชาเกินคิดมากอย่างดิฉันก็ชวนให้คิดว่า ที่นี่มีเรื่องราวของนักเขียนชื่อดังอีกคน แต่ไม่มีใครทราบมากเท่าไรนัก
ดิฉันใช้สถานีเซนต์แพงครัสเป็นประจำเวลาเดินทางจากเชฟฟีลด์มายังลอนดอนและดิฉันไม่ได้มีคาถาเวทมนตร์ใดๆ ถ้าดิฉันนั้นมีคาถาเวทมนตร์สักครั้ง มันคงจะง่ายดาย ดิฉันก็คงจะใช้ …. #ผิด (หวังว่าจะมีคนรู้จักเพลงนี้บ้างนะคะ) ดิฉันไม่ได้มาจากฮอกวอตส์ ดิฉันแค่เป็นกะเทยติงต๊องจากทางเหนือที่อยากจะมีเวทมนตร์คาถาบ้าง แต่สุดท้ายแล้ว ดิฉันก็คิดว่าตัวเองอยากไปเยี่ยมสถานที่ที่อาจยังหลงเหลือเรื่องราวเกี่ยวกับนักเขียนหญิงคนหนึ่ง ผู้จุดประกายให้โลกแฟนตาซีส่องสว่าง แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่เธอสร้างขึ้นได้กลบซ่อนเรื่องราวของเธอจนหมด ถ้าร้านชานชาลาที่เก้าเศษสามส่วนสี่ทำให้ทุกคนอยากเป็นพ่อมด และหนีจากโลกแห่งความจริงด้วยการร่ายคาถา นักเขียนท่านนี้ก็สร้างสิ่งที่หลายๆ คนไม่อยากเป็น ตอกย้ำความเจ็บปวดของการเป็นคนนอกที่หลายคนเข้าใจดี แต่อาจมองไม่เห็น
ฝนตกปรอยๆ เมื่อดิฉันเดินเข้ามาในซอยเล็กๆ โบสถ์หลังย่อมแห่งนั้นชื่อว่า โบสถ์เก่าเซนต์แพงครัส (St Pancras Old Church) วันนั้นประตูโบสถ์ปิดสนิท แต่ดิฉันไม่ได้คิดจะเข้าไปในโบสถ์อยู่แล้ว เพราะตั้งใจจะเข้าไปที่บริเวณสุสาน ดิฉันเดินหาอยู่นาน จนพบหลุมศพขนาดใหญ่ของเอไลซา โซน (Eliza Soane) ภรรยาของสถาปนิกชื่อดังอย่างเซอร์ จอห์น โซน (Sir John Soane) ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ตู้โทรศัพท์แดงในลอนดอน
แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ดิฉันตามหา ดิฉันเดินทางมาตามหาแท่นหลุมศพแท่นหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก และเมื่อดิฉันเห็นสภาพก็อดรู้สึกเศร้าไม่ได้ ดิฉันเดินทางตามหาแท่นหลุมศพของแมรี โวลสโตนคราฟต์ (Mary Wollstonecraft) นักปรัชญาและนักเขียนผู้สำคัญยิ่งต่อวงการสตรีนิยม เธอเป็นผู้เขียน Vindications of the Rights of Woman หรือข้อเขียนปกป้องสิทธิของสตรี ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นงานเขียนเชิงปรัชญาชิ้นแรกๆ ในสหราชอาณาจักร ที่ว่าด้วยสิทธิสตรี เธอเขียนงานหลากหลายประเภทเพื่อสนับสนุนสิทธิสตรีและสร้างข้อถกเถียงทางปรัชญากับนักคิดร่วมสมัยหลายท่าน โดยเธอได้เสียชีวิตลงหลังจากให้กำเนิดลูกสาวคนที่สองได้ไม่นานนัก น่าเสียดายเหลือเกินที่อนุสรณ์ดั้งเดิมของนักคิดนักเขียนคนสำคัญอย่างนี้มีขนาดใหญ่กว่าหลักกิโลเมตรในไทยเพียงเล็กน้อย แต่อย่างไรเสีย อนุสรณ์อื่นๆ นั้นยังคงเด่นตระหง่าน แม้จะตั้งได้ไม่นาน เช่นป้ายสีน้ำเงิน ณ บริเวณบ้านของเธอ หรือป้ายสีเขียว ณ โรงเรียนที่เธอร่วมก่อตั้ง นอกจากนี้ หลานของเธอยังได้อัญเชิญร่างเธอไปสถิตที่สุสานของครอบครัวที่บอร์นมัธ (Bournemouth) ซึ่งเป็นเมืองทางตอนใต้ เรียบร้อยแล้ว
ลูกสาวที่เธอให้กำเนิดก่อนเสียชีวิตชื่อว่าแมรีเหมือนกับเธอ แม้แม่จะจากไปตั้งแต่เธอยังแบเบาะ แต่การได้อยู่กับพ่อผู้เป็นนักปรัชญาเช่นเดียวกับแม่ อย่างวิลเลียม กอดวิน (William Godwin) ก็ทำให้ชีวิตของสาวน้อยอย่างแมรีเติบโตขึ้นอย่างแตกต่างจากลูกสาวของชนชั้นกลางทั่วไปในสมัยนั้น เธอฉลาด เธอเขียนงานล้ำสมัย แปลกประหลาดหลายชิ้น บางชิ้นท้าทายขนบของสังคมจนวิลเลียม กอดวินสั่งห้ามไม่ให้ลูกสาวตีพิมพ์ (ถึงแม้จะได้รับการตีพิมพ์ในภายหลังอีกร้อยกว่าปีก็ตาม) นอกจากนี้เธอยังคบหากับนักคิดนักเขียนผู้เป็นลูกศิษย์ของพ่อ แมรีได้มาพบเจอ พูดคุย พลอดรักกับลูกศิษย์คนนั้นของพ่อ ณ สุสานแห่งนี้ สถานที่ที่ร่างของแม่เธอถูกฝังอยู่ ซึ่งชีวิตของเธอหลังจากนั้นโลดโผน ทุกข์ทน และมหัศจรรย์เกินกว่าใครสักคนจะจินตนาการถึงชีวิตผู้หญิงชนชั้นกลางสมัยนั้นได้ อย่างไรเสีย แม้เธอจะเขียนงานจำนวนหนึ่ง แต่มีเพียงงานชิ้นเดียวที่เป็นที่รู้จัก และชื่อเสียงของตัวละครตัวหนึ่งในงานชิ้นนั้นได้กลบชื่อของเธอ เรื่องราวของเธอ และเนื้อเรื่องต้นฉบับ จนแทบจะหายไปจากกาลเวลา น่าเศร้าที่คนในสมัยนั้นไม่เชื่อว่าเธอเป็นคนเขียนเพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง
หากสถานีคิงส์ครอสพาคุณไปพบกับโลกเวทมนตร์จากวรรณกรรมชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์อันมหัศจรรย์และน่าหวาดกลัวในเวลาเดียวกัน โบสถ์เก่าๆ ที่อยู่ไม่ไกลกันนี้ก็เป็นจุดสำคัญและจุดเริ่มต้นของตัวละครอันโด่งดังที่หลายๆ คนเรียกกันว่า แฟรงเกนสไตน์ (Frankenstein) ซึ่งมาจากนวนิยายชื่อเดียวกัน ผู้เขียนแฟรงเกนสไตน์มีชื่อว่า แมรี เชลลี (Mary Shelley) ค่ะ เธอเป็นภรรยาของเพอร์ซี บีช เชลลี (Percy Bysshe Shelley) กวีโรแมนติกชื่อดัง ผู้เป็นลูกศิษย์ของพ่อเธอ นับจากวันแรกที่นวนิยายตีพิมพ์จนถึงวันนี้ ก็ครบสองร้อยปีแล้วค่ะ เนื่องในโอกาสนี้ ดิฉันจะขอแนะนำให้ทุกคนรู้จักนวนิยายที่หลายๆ คนรู้จักแต่สัตว์ประหลาด หรือที่หลายๆ คนเรียกว่าแฟรงเกนสไตน์ ให้มากกว่าเดิม ด้วยการพาผู้อ่านไปดูที่มาที่ไปของนวนิยายเรื่องนี้โดยใช้โบสถ์เก่าแห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้น และชี้ให้เห็นแง่มุมหลากหลายเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดตนนี้ ที่เป็นมากกว่าสัตว์ร้ายเขย่าขวัญ และดิฉันหวังว่า บทความนี้คงจะเป็นบทนำ เชื้อเชิญให้ทุกคนหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นอ่าน คุณอาจจะมองเจ้าสัตว์ประหลาดตนนี้เปลี่ยนไปหลังอ่านจบก็ได้
ขออนุญาตทำความเข้าใจกันตรงนี้ก่อนสองข้อนะคะ แฟรงเกนสไตน์ เป็นชื่อผู้สร้างสัตว์ประหลาดนะคะ ในเรื่องสัตว์ประหลาดถูกเรียกว่า monster หรือสัตว์ประหลาด หรือไม่ก็ creature หรือสิ่งมีชีวิต (ตามรากศัพท์ของ creature มาจากคำว่า create ความหมายของคำว่า creature เดิมหมายถึงสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้น) เจ้าสัตว์ประหลาดที่แฟรงเกนสไตน์สร้างขึ้นไม่มีชื่อนะคะ เพราะฉะนั้นเวลาพูดถึงแฟรงเกนสไตน์หลังจากนี้ ดิฉันจะหมายถึงผู้สร้างสัตว์ประหลาดตนนี้ขึ้นมานะคะ
ส่วนอีกข้อคือ แฟรงเกนสไตน์ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ. 1818 หลังจากฉบับนั้นตีพิมพ์ ผู้เขียนก็ได้ตรวจทานต้นฉบับร่วมกับคู่ชีวิตของเธอ เพอร์ซี เชลลี และได้รับอิทธิพลจากละครเวทีที่ดัดแปลงจากนวนิยายของเธอ จนนำไปสู่ฉบับที่สอง ตีพิมพ์ปีค.ศ. 1831 ซึ่งหากอยากไปซื้อนวนิยายฉบับภาษาอังกฤษของเรื่องนี้มาอ่าน ดิฉันขอแนะนำให้เช็คปีที่ตีพิมพ์ด้วย เนื่องจากฉบับ ค.ศ. 1831 ตีพิมพ์มาอย่างต่อเนื่อง บางแห่งจะเรียกฉบับนี้ว่าฉบับมาตรฐาน แต่ช่วงหลังมานี้ โดยเฉพาะในปีนี้ (ค.ศ. 2018) ฉบับพิมพ์ครั้งแรกก็ได้รับการตีพิมพ์ใหม่จากหลายสำนักพิมพ์ ใครเคยอ่านฉบับ ค.ศ. 1831 แล้วอยากจะลองอ่านฉบับก่อนหน้าดูก็ย่อมได้ แต่ถ้าใครไม่เคยอ่าน ดิฉันขอแนะนำแบบนี้ว่า ฉบับที่สองคือฉบับที่คนรู้จักมากที่สุด แต่ก็เป็นฉบับที่เชลลีเปลี่ยนโครงเรื่องให้ ‘เบา’ ลงด้วย
ขอพาผู้อ่านย้อนไปยัง ค.ศ. 1812 ตอนนั้นแมรี เชลลี ยังเป็นแมรี โวลสโตนคราฟต์ กอดวิน เด็กสาววัยรุ่นอายุสิบห้า เริ่มสะสวย ถูกแม่เลี้ยงส่งไปพักที่สกอตแลนด์ด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพ บางคนก็บอกว่า แม่เลี้ยงอิจฉาที่เห็นเธอสวยเหมือนแม่เธอ แถมยังเก่งกว่าเด็กสมัยนั้นหลายๆ คน (รวมทั้งลูกติดของเธอเอง) แม่เลี้ยงเลยส่งเธอไปสกอตแลนด์ แต่ว่าแมรี เชลลีไม่ใช่นางซินค่ะ ชีวิตของเธอที่ดันดี (Dundee) ไม่ได้ทุกข์ระทม รอให้นางฟ้ามาช่วย เธอมีความสุขมาก เพราะเธอชอบอยู่กับตัวเอง ได้เขียนนิทาน นิยายต่างๆ อย่างที่เธอชอบ เมื่อแวะกลับมาบ้าน เธอก็ได้พบกับเพอร์ซี บีช เชลลี ผู้ชื่นชมทั้งพ่อและแม่ของเธออย่างจริงจัง ณ ตอนนั้นเพอร์ซีแต่งงานแล้วกับแฮเรียต เวสต์บรูก (Harriet Westbrook) หลังจากนั้นสองปี เธอได้กลับมาอยู่บ้านอย่างถาวร กลายเป็นสาววัยสิบเจ็ดปี ในขณะที่เพอร์ซี เชลลีกับภรรยากำลังมีปัญหาระหองระแหง สุดท้ายเพอร์ซีก็นัดพบแมรีที่หลุมศพของแม่เธอ ณ โบสถ์เก่าเซนต์แพงครัส โดยทั้งสองพูดจาพลอดรักกันในบริเวณสุสาน ซึ่งแมรีน่าจะพอทราบดีว่า มีคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสมัยนั้นเรียกกันเล่นๆ ว่า resurrectionist หรือ resurrection men ที่อาจพอแปลเป็นไทยได้ว่านักชุบชีวิต กำลังทำงานของเขาอยู่ คนพวกนี้ไม่ได้เล่นของ ใช้คุณไสยมนตร์ดำน่ากลัวอะไรนะคะ ไม่ได้จะชุบชีวิตใคร แต่เขาขุดศพไปขายนักศึกษาแพทย์ เพราะในยุคสมัยนั้นยังไม่มีอาจารย์ใหญ่ ปกตินักศึกษาแพทย์จะได้ศพนักโทษประหารมาเป็นเครื่องมือศึกษา ต่อมาระบบกฎหมายเปลี่ยน มีนักโทษถูกตัดสินประหารชีวิตน้อยลง จึงเกิดอาชีพนักชุบชีวิตขึ้น ญาติพี่น้องของผู้ตายหลายคนถึงขั้นหากรงหาเหล็กมากั้นไว้ไม่ให้คนมาขุดเอาศพไปได้ เพราะการฝังศพคือการฝังร่างรอวันสิ้นโลกตามความเชื่อของศาสนาคริสต์ หากศพถูกขุดออกไป ก็เท่ากับตัดโอกาสการเดินทางสู่อาณาจักรพระเจ้าในวันสิ้นโลก ต่อมาในปี ค.ศ. 1832 ได้มีพระราชบัญญัติกายวิภาค (Anatomy Act 1832) อนุญาตให้นักศึกษาแพทย์รับบริจาคศพเพื่อการศึกษา ตามความยินยอมของผู้ตายหรือญาติของผู้ตาย นอกจากนี้ยังสามารถรับศพนักโทษที่เสียชีวิตในคุกหรือในโรงอนาถา (Workhouse) ซึ่งเป็นสถานที่จัดหางานและเป็นที่พักให้แก่คนยากไร้ในสมัยนั้น
ถึงแม้ช่วงนั้นแมรีจะยังไม่เริ่มเขียนแฟรงเกนสไตน์ แต่จุดเริ่มต้นของความรัก-ความชอบระหว่างเธอกับผู้ชายที่อยากให้เธอลองเขียนงานนั้น มีเบื้องหลังเป็นพื้นที่สุสาน ซึ่งมีกลุ่มคนที่ใช้ศพจากสุสานเป็นเครื่องประกอบอาชีพ ไม่ใช่แค่นักชุบชีวิต แต่ยังรวมถึงนักศึกษาแพทย์ และวงการแพทย์ทั้งหมด ณ ช่วงเวลาพบรักและพลอดรักกับกวีหนุ่มผู้สนับสนุนอเทวนิยม หรือลัทธิไม่เชื่อพระเจ้า (Atheism) ผู้สนใจเวทมนตร์คาถาและการปฏิวัติทางชนชั้น ไมห่างจากหลุมศพของของมารดาผู้เป็นนักเคลื่อนไหวสิทธิสตรี
สำหรับแมรี่ โบสถ์แห่งนี้เป็นมากกว่าพื้นที่ระลึกถึงมารดาผู้มีแนวคิดนำสมัย หรือพื้นที่ระลึกถึงความรักความหลังของเธอกับคนรัก แต่เป็นพื้นที่ที่เธอได้ตระหนักรู้ถึงการขับเคลื่อนของโลกวัตถุ โลกนวัตกรรม ไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงของโลกความคิด ศีลธรรมจริยธรรม เมื่อนวัตกรรมทางการแพทย์ ต้องอาศัยการละเมิดความเชื่อทางศาสนา หรือแนวคิดทางศาสนาว่าด้วยเรือนร่าง ที่อาจไม่เหมาะกับยุคสมัยที่กำลังก้าวหน้าต่อไปอีกแล้ว ถึงแม้แมรี เชลลีจะไม่ได้เขียนแฟรงเกนสไตน์ทันทีหลังจากเธอได้พบเจอและคบหากับเพอร์ซี เชลลี แต่โบสถ์แห่งนี้ก็อาจถือเป็นจุดเริ่มต้นของวรรณกรรมเรื่องนี้ก็ว่าได้
หลังจากพบรัก พลอดรัก และคบหากันแบบแอบๆ โดยที่พ่อแม่ของแมรีไม่ยอมรับ และแน่นอน แฮเรียต ภรรยาของเพอร์ซี เชลลีก็ไม่ยอมรับ (ภายหลังแฮเรียตฆ่าตัวตาย เพอร์ซีและแมรีจึงแต่งงานกัน) แต่แล้ว ทั้งคู่ก็พากันไปยุโรปพร้อมกับเจน หรือคลารา แมรี เจน แคลร์มองต์ (Clara Mary Jane Clairmont) ลูกติดแม่เลี้ยงของแมรี ผู้คอยช่วยให้ทั้งคู่พบกันและคอยส่งสาส์นรักให้ เจนคาดหวังว่าจะไปพบเจอกับครอบครัวข้างพ่อของเธอที่สวิตเซอร์แลนด์ ในทริปนั้น ทั้งสามท่องเที่ยวและแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องวรรณกรรมและปรัชญากัน แมรี กอดวินเอานิยายที่เธอเคยเขียนเล่นตอนอยู่ดันดีให้เพอร์ซี เชลลีดู เชลลีก็เริ่มเชียร์ให้เธอเขียนงาน ไม่นานนักแมรีก็ท้องและมีลูกกับเพอร์ซี เชลลี ตั้งชื่อให้ว่า วิลเลียม และแล้วทั้งคู่ก็ไปเจอกับกวีชาวอังกฤษชื่อดังอีกคนที่สวิตเซอร์แลนด์ กวีผู้นั้นชื่อจอร์จ กอร์ดอน (George Gordon) หรือรู้จักกันในนามลอร์ด ไบรอน (Lord Byron) เขาเป็นที่รู้จักในวงสังคมเพราะเป็นลูกท่านหลานเธอ เป็นกวีฝีปากกล้า และมีเรื่องชู้สาวมากมาย ลอร์ด ไบรอนเดินทางมากับจอห์น โพลิโดรี (John Polidori) แพทย์ประจำตัว ผู้สนใจวรรณกรรม ซึ่งทั้งสองกลุ่มพักอยู่ไม่ไกลกัน เนื่องจากปีนั้นอากาศวิปริต ฤดูร้อนอุณหภูมิตกมาถึงศูนย์องศาเพราะภูเขาไฟทัมโบรา (Tambora) ที่อินโดนีเซียระเบิดจนเกิดเขม่าควันจำนวนมากบังแสงอาทิตย์ชนิดที่ทำให้ประเทศแถบยุโรปฟ้าครึ้ม ฝนตก อากาศเฉอะแฉะ ณ ยุคสมัยที่โลกยังไม่เชื่อมถึงกันง่ายเหมือนเดี๋ยวนี้ คนตะวันตกจำนวนมากไม่รู้สาเหตุของปีที่ไร้ฤดูร้อน (A Year without Summer) เลย รู้แต่ว่าโลกวิปริตผิดเพี้ยน บางคนก็คิดถึงพลังเหนือธรรมชาติ
อากาศแย่อย่างนี้จะไปนั่งเรือเล่นในทะเลสาบเจนีวาตามประสาคนมีสตางค์ทำเวลาหน้าร้อนก็คงไม่ได้ ลอร์ดไบรอนเลยชวนอีกบ้านมาร่วมพูดคุยกันเรื่องวรรณกรรมและปรัชญาที่คฤหาสน์ อ้อ ปรัชญาสมัยนั้นหมายถึงวิทยาศาสตร์ด้วยนะคะ เพราะฉะนั้นเขาคุยกันทุกเรื่องไม่ว่าจะเรื่องศาสนา เรื่องการปกครอง หรือแม้แต่เรื่องกระแสไฟฟ้ากับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ตามการทดลองของลุยจี กัลวานี (Luigi Galvani) บางทีก็อ่านเรื่องผีให้ฟัง แต่แล้ว ไบรอนก็บอกให้ทุกคนลองเขียนเรื่องสยองๆ แล้วมาอ่านให้ฟัง ณ ตอนนั้นแหละค่ะ สัตว์ประหลาดจากแฟรงเกนสไตน์ก็ได้ถือกำเนิด ถ้าใครอ่านแฟรงเกนสไตน์ ก็คงจะไม่แปลกใจที่ฉากของเรื่องส่วนหนึ่งอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เนื้อเรื่องว่าด้วยนักศึกษาปรัชญาธรรมชาติ (Natural Philosophy สมัยก่อนยังไม่มีคำว่าชีววิทยา หรือวิทยาศาสตร์แยกออกมาจากปรัชญาหรอกค่ะ) ชื่อวิกเตอร์ แฟรงเกนสไตน์ ผู้ต้องการจะหาความหมายของชีวิตและได้ทดลองสร้างสิ่งมีชีวิตรูปร่างคล้ายคนขึ้นมา แต่เขากลับไม่สามารถสร้างให้มันสมประกอบได้ เมื่อสัตว์ประหลาดมีชีวิต เขาได้วิ่งหนีมันไปเพราะตกใจกลัว เมื่อเขากลับมาบ้าน สัตว์ประหลาดก็ได้หนีหายไปแล้ว จากนั้นโครงเรื่องของการหนี ตามหา ตามล่าระหว่างผู้สร้างและผู้ถูกสร้างก็ได้เริ่มขึ้น
ถึงแม้แฟรงเกนสไตน์จะมีที่มาจากการทดลองเขียนวรรณกรรมลึกลับสยองขวัญในบรรยากาศน่าหวาดหวั่น และยังถูกมองว่าเป็นวรรณกรรมประเภทนั้นจนถึงทุกวันนี้ แต่สัตว์ประหลาดที่วิกเตอร์ แฟรงเกนสไตน์สร้างขึ้น ทำให้ผู้อ่านบางคนเริ่มไม่แน่ใจว่างานชิ้นนี้จะเป็นงานลึกลับสยองขวัญหรือไม่ เพราะสัตว์ประหลาดเริ่มเรียกร้องความยุติธรรมจากนักวิทยาศาสตร์ที่สร้างเขาขึ้นมา ณ ยุคสมัยที่แฟรงเกนสไตน์ถูกเขียนขึ้นนั้น วรรณกรรมกอธิก (Gothic) ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่เน้นความลึกลับสยองขวัญได้ถือกำเนิดมาแล้วหลายสิบปี แต่เซอร์ วอลเตอร์ สก็อต (Sir Walter Scott) นักเขียนในยุคนั้นถึงกับพูดว่า “นี่ไม่ใช่งานกอธิก” สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะเป็นงานแนววิทยาศาสตร์ ไม่พูดถึงสิ่งเหนือธรรมชาติเหมือนงานกอธิกชิ้นอื่นๆ เพราะแม้งานบางชิ้นจะไม่มีสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่ก็ไม่มีชิ้นไหนพูดถึงสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้นหรือทดลอง นอกจากนี้ งานกอธิกในยุคก่อนหน้าหลายชิ้นมีตัวละครดำขาวค่อนข้างชัดเจน มีปีศาจร้ายหรือคนร้ายที่จะต้องปราบ แต่แฟรงเกนสไตน์ชวนให้เราสับสนว่าใครเป็นคนผิดหรือคนถูกกันแน่ สัตว์ประหลาดที่น่าเกลียดน่ากลัว มาจากการทดลองของนักศึกษาที่ไม่รับผิดชอบ กลับดูเหมือนมีน้ำตาไหลออกมาเมื่อถือกำเนิด แถมสัตว์ประหลาดตนนี้กำลังพูดจาท้าทายความคิดเรื่องศาสนา และพูดจาเหมือนออกมาเรียกร้องสิทธิ เพราะสัตว์ประหลาดตนนี้กำลังเรียกร้องความยุติธรรมจากผู้สร้าง ซึ่งกำลังดูเหมือนจะรับบทพระเจ้าอีกด้วย เราอาจกล่าวได้ว่า สัตว์ประหลาดอัปลักษณ์ผู้น่าเห็นใจตนนี้กำลังพูดแทนชนกลุ่มน้อย กำลังประท้วงแทนทาส ผู้หญิง และชนชั้นแรงงานที่เหยียดและถูกเกลียด ตัวเรื่องไม่ได้เล่าว่าสัตว์ประหลาดอาละวาดและทำลายชีวิตแต่อย่างเดียว (เพราะอะไรไปอ่านเอง) แต่ตัวเรื่องได้ให้สัตว์ประหลาดตนนี้พูดอธิบายยาวๆ ว่าเขาพบเจอผู้คนทำร้าย ทุบตี วิ่งหนีมามากมาย นอกจากนี้ เขายังสามารถเรียนภาษาของมนุษย์จากการฟังและการอ่านหนังสือที่เขาพบในกระท่อมแห่งหนึ่ง การรู้ภาษานั้นเหมือนเป็นการช่วงชิงอำนาจผ่านภาษา ผ่านการเข้าถึงความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของทาสอัฟริกัน ซึ่ง ณ ช่วงเวลที่เขียนนั้น กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านยกเลิกทาสทั่วจักรวรรดิอังกฤษ เราจะเห็นได้ว่างานเขียนชิ้นนีทำให้ปีศาจน่าสงสาร น่าเห็นใจ ต่างจากงานกอธิกก่อนหน้าที่ทำให้ปีศาจในหลายๆ เรื่องดูชั่วร้ายโดยสมบูรณ์
สิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือวิทยาศาสตร์และจริยธรรมว่าด้วยการทดลองสิ่งต่างๆ และสร้างองค์ความรู้ เพราะนี่คือสาเหตุที่สัตว์ประหลาดทุกข์ทรมานและสร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ผู้อื่น สัตว์ประหลาดเป็นผลลัพธ์ของการอ่าน จินตนาการ และดัดแปลงธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ว่าจะด้วยวิทยาศาสตร์หรือด้วยจินตนาการ แต่ในขณะเดียวกัน มนุษย์กลับรับปัญหาหรือผลพวงของการดัดแปลงและจินตนาการนั้นไม่ได้ และที่แย่ยิ่งกว่านั้น การโหยหาธรรมชาติของเราบางทีก็อาจเป็นไปเพราะเรากำลังวิ่งหนีความสกปรกในธรรมชาติที่เราเป็นคนก่อไว้เสียเอง ฉากหนึ่งที่ดิฉันชอบมากในนวนิยายเรื่อง
แฟรงเกนสไตน์ และเป็นฉากที่พูดถึงเสมอเวลาอาจารย์ทุกท่านสอนเรื่องนี้ คือฉากที่วิกเตอร์ แฟรงเกนสไตน์ไปชมหน้าผา ชมหมอก ชมธารน้ำแข็งบริเวณเทือกเขาแอลป์ ณ จุดที่เรียกในสมัยนั้นว่ามงต็องแวต์ (Montanvert) แต่ปัจจุบันเรียกว่าแมร์ เดอ กลาซ (Mer de Glace) ขณะที่เขากำลังดื่มด่ำกับธรรมชาติ พิจารณาว่าตัวตนมนุษย์นั้นช่างเปราะบาง เล็กน้อยเมื่อเทียบกับความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่ตัวเองได้มองจากบนนั้น เขาร่ายกลอนอะไรต่างๆ ขณะกำลังนั่งชมโขดหิน พร่ำพรรณนา อยู่ดีๆ ในภาพธรรมชาติอันงดงาม เขาก็เห็นร่างมนุษย์เคลื่อนบนก้อนน้ำแข็งอย่างรวดเร็วแล้วมาอยู่ตรงหน้า ร่างนั้นไม่ใช่ใคร สัตว์ประหลาดที่เขาสร้างขึ้นมานั่นเอง เหตุการณ์ตอนนี้วิพากษ์วิจารณ์ว่ามนุษย์โหยหาธรรมชาติแบบสวยงาม เลิศเลอ และที่สำคัญควบคุมได้ แต่กลับวิ่งหนีการทำลายธรรมชาติของตัวเอง ยิ่งทำลายก็ยิ่งโหยหา วิกเตอร์สามารถพร่ำพูดว่าตัวเองรักธรรมชาติ ธรรมชาติยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ได้ ณ จุดที่ธรรมชาติไม่ได้ทำอะไรตัวเอง และเอาจริงๆ ธรรมชาติตรงนั้นไม่ได้สวยนะคะ แต่วิกเตอร์ก็อินกับความหม่นทึม ความผุพังที่ดูเก๋ แต่ฉากที่สัตว์ประหลาดกลับมาก็เหมือนเป็นความผิดที่หลอกหลอนเขา เหมือนเป็นความผิดที่เขาทดลองอะไรในธรรมชาติแต่สุดท้ายแล้วเขาก็ไม่รับผิดชอบ จินตนาการเกี่ยวกับธรรมชาติก็พังทลายลงหมด
ประเด็นความไม่รับผิดชอบของวิกเตอร์ก็ชวนให้เรามองวรรณกรรมเรื่องนี้ในบริบทของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้มาลอยๆ และนวัตกรรมไม่ได้ดำรงอยู่ในสุญญากาศ ผลิตผลอันน่าเกลียดจากห้องทดลองนั้นได้วิ่งหนีออกไปจากห้องปฏิบัติการ และออกไปอยู่ในสังคม ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้แยกขาดจากสังคมเพราะในขณะที่พัฒนาสังคม มันก็นำคำถามที่ว่าด้วยจริยธรรม ศีลธรรม มาหาเราด้วย
วรรณกรรมเรื่องแฟรงเกนสไตน์จึงกลายเป็นโจทย์ที่ยังเกี่ยวข้องกับโลกแห่งนวัตกรรมในปัจจุบัน ซึ่งถามเราว่า ถ้ามีมนุษย์โคลนที่เกิดมามีชีวิตแต่ล้มเหลวจริงๆ เราจะทำอย่างไร อะไรคือชีวิต อะไรคือคุณค่า และสังคมควรทำอย่างไร เรื่องเล่าของสัตว์ประหลาดในเรื่องกำลังชี้ให้เห็นว่าสัตว์ประหลาดโดนข่มเหงรังแกในสังคมเพียงเพราะมีเรือนร่างผิดประหลาดจากมนุษย์และอัปลักษณ์ หากนวัตกรรมจำเป็นต่อโลกมนุษย์ เราก็จำเป็นต้องทบทวนหรือสร้างแนวคิดเรื่องจริยธรรมใหม่ตามเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาเหล่านั้น โลกของนวัตกรรมและการหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์จึงไม่อาจหนีจากการปะทะของความเชื่อและความคิดความอ่านของผู้คนในสังคมได้ หากนวัตกรรมหมายถึงความก้าวหน้าของอำนาจมนุษย์ วรรณกรรมเรื่องนี้กลายเป็นเครื่องย้ำเตือนพิษภัยและปัญหาทางจริยธรรมอันเกิดจากการทดลองเหล่านั้น ร่างสัตว์ประหลาดซึ่งประกอบกันขึ้นมาจากศพเป็นเครื่องเตือนใจว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นผู้นำอารยธรรมอันประเสริฐและรุดหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง แต่มนุษย์ก็มีข้อจำกัด มีความตาย มีเรือนกายที่อาจผุพังไปในวันหนึ่ง มีความผิดพลาดที่ไม่อาจหลีกหนีและไม่อาจปัดความรับผิดชอบได้
ดิฉันยอมรับว่าดิฉันก็อาจจะไม่ต่างจากวิกเตอร์ แฟรงเกนสไตน์ ที่พยายามจินตนาการเรื่องราวต่างๆ ในพื้นที่ของสุสานเก่าๆ ในโบสถ์เก่าเซนต์แพงครัส เพื่อระลึกถึงนักเขียนมหัศจรรย์อย่างแมรี เชลลี และผลงานอันโด่งดังชิ้นนี้ แต่การระลึกถึงสัตว์ประหลาดในนวนิยายเรื่องแฟรงเกนสไตน์เป็นเครื่องย้ำเตือนไม่ให้เราจินตนาการโดยไร้ความรับผิดชอบ และไม่ให้เราจินตนาการโดยเข้าข้างตัวเองแต่เพียงผู้เดียว ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องโลกสวย แต่นี่คือปัญหาที่ส่งผลต่อสังคมและการเมือง การจินตนาการตามใจฉันทำให้เราไม่ได้ยินเสียงของคนที่กำลังต้องการความยุติธรรม หรือมองไม่เห็นโลกอันด่างพร้อยด้วยมือของเรา ยิ่งสังคมสนับสนุนภาพที่เราจินตนาการมากขึ้นๆ สุดท้ายแล้วภาพหรือเสียงของคนอื่นๆก็จะเลือนหาย ณ ช่วงเวลาที่เพอร์ซีและแมรี เชลลีพบกัน นอกจากจินตนาการของนายทุนและนักวิทยาศาสตร์จะผลักดันนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจของจักรวรรดิ จินตนาการของแมรี โวลสโตนคราฟต์ เพอร์ซี เชลลี และแมรี เชลลีกำลังช่วยเปิดพื้นที่ให้กับคนที่นวัตกรรมกำลังกลืนกินและมองไม่เห็นตัวตน แมรี โวลสโตนคราฟต์เรียกร้องสิทธิให้ผู้หญิง เพอร์ซี เชลลีสนใจการปฏิวัติต่อต้านนายทุนและชนชั้นนำ แมรี เชลลีได้สร้างสัตว์ประหลาดที่ออกมาพูดแทนทาสและคนที่ถูกกดขี่
ดิฉันหวังว่าวรรณกรรมเรื่องแฟรงเกนสไตน์ที่แฝงความขัดแย้งของความก้าวหน้าทางความคิด อันถือกำเนิดที่โบสถ์เซนต์แพงครัส จะทำให้ผู้อ่านหันไปเห็นสัตว์ประหลาดที่ผู้อ่านสร้างขึ้น สัตว์ประหลาดที่เป็นข้อจำกัดทางจินตนาการของเรา สัตว์ประหลาดอัปลักษณ์เพราะความคิดอันเป็นพิษของเรา หวังว่าคุณจะได้เจรจากับเขาในวันหนึ่ง และเมื่อวันนั้นมาถึง คุณอาจจะได้โบกสะบัดไม้กายสิทธิ์ที่ชานชาลาที่เก้าเศษสามส่วนสี่ เพื่อร่ายคาถาเชิญชวนให้สัตว์ประหลาด ผู้เป็นเพื่อนบ้านของแฮร์รี่ พอตเตอร์ และคนใกล้ตัวของคุณเอง ออกมาร่วมเริงระบำกับโลกจินตนาการใหม่ ที่อาจไม่เป็นจริงในวันนี้ แต่ก็ใช่ว่าจะคิดไปไม่ถึง
อ้างอิงข้อมูลจาก
“Frankenstein: Graveyards, Scientific Experiments and Bodysnatchers”. The British Library, https://www.bl.uk/romantics-and-victorians/articles/frankenstein-graveyards-scientific-experiments-and-bodysnatchers. สืบค้น 29 พฤศจิกายน 2018.
“Mary Shelley, Frankenstein and the Villa Diodati”. The British Library, https://www.bl.uk/romantics-and-victorians/articles/mary-shelley-frankenstein-and-the-villa-diodati. สืบค้น 29 พฤศจิกายน 2018.
Seymour, Miranda. Mary Shelley. Simon & Schuster UK, 2018.
The Diary of a Resurrectionist: The Value of Death « UT Health Science Center Library. http://library.uthscsa.edu/2015/04/the-diary-of-a-resurrectionist-the-value-of-death/. สืบค้น 1 ธันวาคม 2018.
Wright, Angela. “Mary Shelley: The Gothic Tradition” Off the Shelf: Sheffield Literary Festival. 19 ตุลาคม 2018, Millenium Gallery, Shefffield.
Wright, Angela. “Frankenstein at 200 and Why Mary Shelley Was Far More than the Sum of Her Monster’s Parts”. The Conversation, http://theconversation.com/frankenstein-at-200-and-why-mary-shelley-was-far-more-than-the-sum-of-her-monsters-parts-90206. สืบค้น 26 พฤศจิกายน 2018.
Illustration by Kodchakorn Thammachart