เดือนกุมภาพันธ์นอกจากจะเป็นเดือนแห่งความรักแล้ว ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ยังเป็นวันที่เสียชีวิตของ ‘แมรี่ เชลลี่ หรือ Mary Wollstonecraft Shelley’ นักเขียนหญิงต้นศตวรรษที่ 19 เจ้าของผลงานแฟรงเกนสไตน์ หรือ ‘The Modern Prometheus’ ต้นฉบับภาพ ‘อสูรกาย’ คือปีศาจร่างปุปะที่นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง (คือด็อกเตอร์แฟรงเกนสไตน์) สร้างขึ้นมา โดยเมื่อเราเห็นชื่อเต็มของแมรี่ เชลลี่เราก็จะพบว่า เธอเป็นลูกสาวของสองผู้ยิ่งใหญ่ที่ตัวเธอเองก็เผชิญกับการสูญเสียตั้งแต่เกิดและส่งผลกับการสร้างงานของเธอด้วย
ทีนี้ถ้าเราย้อนดู งานแฟรงเกนสไตน์ถือเป็นงานเขียนที่สำคัญมากทั้งต่อวงการวรรณกรรมอังกฤษและวรรณกรรมโลก แฟรงเกนสไตน์เป็นต้นแบบของงานของแบบโกธิค เป็นต้นแบบของงานสยองขวัญ และในขณะเดียวกันปีศาจจากห้องทดลองนั้น ก็ยังเป็นเหมือนภาพสะท้อนความวิตกกังวลต่อวิทยาศาสตร์ ถือกันว่างานของเชลลี่เป็นงานแนวไซไฟชิ้นแรกของโลก
แน่นอนว่าภาพที่เรามักนึกถึงตัวอสูรกายจากแฟรงเกนสไตน์คือศพตัวปุปะ มีน๊อตบนหัว ซึ่งอันที่จริงแล้วเจ้าอสูรกายนั้นไม่มีชื่อ เชลลีได้แรงบันดาลใจจากการทดลองจริงในยุคนั้น ในตัวเรื่องเราเรียกตัวปุปะเดินได้ว่ามอนเตอร์ คือเราไม่รู้จัก ไม่ให้ชื่อ ไม่เรียกขานมันเพราะด็อกเตอร์แฟรงเกนสไตน์นั้นรังเกียจมันยิ่ง ถ้าเราอ่านแฟรงเกนสไตน์ฉบับจริงจะพบว่า ด็อกเตอร์นี่แหละที่แอบห่วย แถมเจ้าอสูรกายนั่นมันยังพูดได้ มันเรียนหนังสือแบบศึกษาเอง (คือมอนสเตอร์ใช้ภาษาสวยงามกว่าเราอีก) แต่ในที่สุดการถูกปฏิเสธจากผู้สร้างก็ยังผลเป็นความเคียดแค้น เรื่องราวเลยกลับตาลปัตร ไปสู่หายนะ
ในประวัติชีวิตแมรี่ เชลลี่ เธอเองก็สูญเสียแม่ไปตั้งแต่เกิด ความตายของแม่กลายเป็นปมในใจ สิ่งที่แมรี่ทำคือการใช้เวลาอยู่ที่หลุมศพของแม่ อ่านงานของแม่ตัวเองซ้ำๆ ราวกับว่าจะปลุกแม่ของเธอและกลับมาเชื่อมต่อเข้าสู่บาดแผลในใจของเธออีกครั้ง สิ่งที่เชลลี่ทำจึงคล้ายกับการกระทำของ ดร.แฟรงเกนสไตน์ที่พยายามชุบชีวิตแม่ของตัวเองขึ้นมาด้วยการปะร่างที่ไร้ลมหายใจแล้วเข้าไว้ด้วยกัน
ความตายของแม่ และการรื้อฟื้นเสียงหน้าหลุมศพ
แมรี่ เชลลี่เป็นคนที่มีประวัติน่าสนใจ เกิดในครอบครัวของสองนักคิดนักเขียนยักษ์ใหญ่คือ พ่อของเธอคือ วิลเลียม ก็อดวิน (William Godwin) นักปรัชญาการเมืองและนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญ ส่วนแม่ของเธอก็ยิ่งตำนานคือ แมรี่ วอลสโตนคราฟ (Mary Wollstonecraft) นักคิด นักเขียนแถมยังเป็นแม่ของเฟมินิส หญิงผู้ลุกขึ้นปกป้องสิทธิของผู้หญิงด้วยกันก่อนใครเพื่อน
แน่นอนว่าการที่เธอเลือกอาชีพนักเขียนโดยมีเงาอันยิ่งใหญ่ของพ่อและแม่นั้นก็ว่ายากอยู่แล้ว แต่ชีวิตของแมรี่ก็ออกจะเป็นยิ่งกว่านิยาย แม่ของเธอตายตั้งแต่เธอคลอด ซึ่งความตายของแม่นี้กลายเป็นปมสำคัญของแมรี่ แถมยังเป็นจุดพลิกผันให้กับชีวิตของเธอ
ปมสำคัญของแมรี่ เชลลี่จึงเริ่มตั้งแต่เกิด คือเธอค่อนข้างคิดว่าเธอคือตัวซวยที่ทำให้แม่เธอตาย แต่อันที่จริงแม่ของเธอตายเพราะปัญหาเรื่องความไม่สะอาดในยุคนั้น คือหมอที่ทำคลอดแม่ของเธอไม่ได้ล้างมือให้ดีและทำให้ติดเชื้อหลังคลอด (Puerperal fever) และเสียชีวิตในที่สุด
การมีปมว่าทำให้แม่ตาย ประกอบกับเมื่อพ่อของเธอแต่งงานกับเพื่อนบ้าน แมรี่เองก็เข้ากับแม่ใหม่ไม่ได้ดีเท่าไหร่ โดยหนึ่งในพื้นที่ที่เธอชอบไปก็คือสุสานของแม่เธอนั่นแหละ สิ่งที่เธอคล้ายกับการไขว่คว้าทั้งเงาและความสำคัญอันใหญ่หลวงของผู้เป็นพ่อแม่ในฐานะนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ทั้งสอง เธอใช้เวลาอยู่กับหลุมศพจนนักวิชาการที่ศึกษางานของเธอบอกว่าหลุมศพนั้นเป็นเหมือนแม่ที่แท้จริงของเธอ เธอใช้เวลาอ่านทบทวนงานของพ่อแม่อยู่ในสุสานวันแล้ววันเล่า
ด้วยเงื่อนไขในชีวิตของแมรี่ เลยทำให้อดีตของเธอนั้นดูจะเชื่อมโยงกับงานอย่างมีนัยสำคัญ ในตอนนั้นสิ่งที่แมรี่ทำจึงคล้ายกับว่าเธอเองกำลังพยายามเชื่อมโยงและฟื้นชีวิตแม่ของเธอผ่านการอ่านงานเขียน ชุบชีวิตแม่ผ่านเสียงและความคิดขึ้นมาอีกครั้ง
การปะติดร่างของแม่ กลวิธีทางการประพันธ์ และการกระทำต้องห้ามในนามของมนุษย์
จริงอยู่ว่าแมรี่ เชลลี่ได้แรงบันดาลใจเรื่องการทดลองของแฟรงเกนสไตน์จากการทดลองจริงๆ และเขียนงานนี้ขึ้นตอนไปพักผ่อนหย่อนใจ แต่ตัวเรื่องและกิมมิกบางจุดเรื่องแม่ เรื่องการชุบชีวิตก็ดูจะสอดคล้องกับปมเรื่องแม่ของเธอพอสมควร
การสูญเสียแม่ และการฟื้นคืนชีพอสูรกายของด็อกเตอร์แฟรงเกนสไตน์จึงค่อนข้างมีความเชื่อมโยงกัน เทคนิคการเล่าเรื่องหนึ่งที่เชลลี่ใช้คือการเล่าเรื่องผ่านจดหมาย เหมือนเราค่อยๆ รับรู้เรื่องราวของเรื่องการผ่านการอ่านที่ซ้อนกับตัวเรื่องอยู่อีกชั้นหนึ่ง ด้านหนึ่งก็เลยคล้ายๆ กับการค่อยๆ ปะติดปะต่อเรื่องเข้าหากันอันเป็นจุดเด่นของงานแนวสยองขวัญ และพ้องกับการอ่านตัวตนของแม่ของเธอผ่านงานเขียน
ทีนี้ถ้าเราดูไปที่ตัวอสูรกาย อสูรกายของเชลลี่นั้นก็เต็มไปด้วยความซับซ้อน เจ้ามอนสเตอร์นี้ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่โง่งม วิ่งกินคนอย่างไม่มีสมอง ในลำดับแรกเจ้าอสูรกายนั้นแค่อัปลักษณ์ และถูกวิคเตอร์ แฟรงเกนสไตน์ผู้สร้างปฏิเสธ เกือบครึ่งเรื่องคือเจ้าอสูรกายต้องเติบโตขึ้นอย่างโดดเดี่ยว แล้วค่อยๆ หาทางกลับมาเจอกับวิคเตอร์ผู้สร้างอีกครั้ง
ในภาวะของอสูรกายนั้นก็เลยมีคนตีความว่าเหมือนเชลลี่ คือเป็นปีศาจที่ถูกทอดทิ้ง เติบโตขึ้นโดยไร้แม่ ในหลายๆ ตอนคืออสูรกายตัวนี้ก็หากินเอง หาหนังสืออ่าน แอบฟัง แอบเรียนภาษาจากที่คนคุยกัน ตอนหนึ่งตัวมันถึงขนาดระบุว่า เนี่ย จะรังเกียจกันไปทำไม มันไม่เคยฆ่าใคร สัตว์ก็ไม่ฆ่า แพะแกะไม่กิน กินแต่ผัก พีต้าต้องชื่นชม
ในการสร้างอสูรกายของด็อกเตอร์เองแน่นอนว่าสร้างขึ้นจากศพ แต่จากบันทึกก็มีหลายจุดเหมือนกันที่คล้ายๆ ว่าศพนี้จะสัมพันธ์กับแม่ของวิคเตอร์เอง มีการฝันถึงว่าเขากำลังสร้างศพนี้ขึ้นมาจากศพของแม่ (he becomes immerged in guilt-ridden dreams, creating images of “the corpse of [his] dead mother) การทดลองนี้จึงอาจเป็นความพยายามในการชุบชีวิตแม่ทั้งในทางตรง คือชุบแม่ขึ้นมาจริงๆ หรืออาจเป็นการเผชิญหน้าในเชิงความหมายก็ได้ ก็น่าคิดว่าดูจะสัมพันธ์กับการขาดแม่ และการไปอยู่ที่หลุมศพสุสานของแมรี่ เชลลี่เอง
ในแง่ของการตีความอสูรกายของเชลลี่จึงอาจจะหมายถึงตัวแมรี่ เชลลี่เองที่เป็นผู้หญิงที่ตอนแรกก็ถูกทิ้ง และต้องเติบโตขึ้นด้วยตัวเองก่อนที่จะกลับมาหลอกหลอนผู้คนอย่างทรงพลังอีกครั้ง หรือความปรารถนาในการเรียกคืนชีวิต อันเป็นความปรารถนาสำคัญ และเป็นความปรารถนาต้องห้ามของมนุษย์ ที่ในที่สุดแล้วด้วยวิทยาการนั้น การสร้างมนุษย์ในนามโพรมิเทอุสนั้น ก็เป็นเรื่องต้องห้าม เป็นขีดจำกัดที่มนุษย์ไม่อาจเล่นบทพระผู้เป็นเจ้า
ความปรารถนาสำคัญคือการฟื้นคืนชีพแม่ของเธอขึ้นนั้น จึงจำกัดอยู่เพียงการปะติดปะต่อความคิดและตัวตนขึ้นผ่านการอ่านงานเขียน และอาจรวมถึงการสร้างงานเขียนขึ้นอีกชิ้นที่ได้รับอิทธิพล สืบทอดเสียง สำนวน และจิตวิญญาณบางอย่าง ที่แม้ว่าเธอเองจะไม่ได้เป็นนักปรัชญา แต่งานเขียนของเธอก็กลายเป็นตำนานของ และได้รับการปลุกชีพทุกครั้งที่เราอ่านแฟรงเกนสไตน์อย่างไม่รู้จบ
อ้างอิงข้อมูลจาก