เดือนนี้เป็นเดือน Pride เดือนที่ LGBTQs ทั่วโลกจะปักหมุดจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเดินพาเหรด หลายคนมองว่ามันเป็นเพียงเรื่องไร้สาระ ออกมาร่อนร่ายส่ายสั่น กลางท้องถนน แต่พาเหรดไม่เพียงไม่ใช่กิจกรรมเฉพาะ LGBTQs เท่านั้น ผู้หญิงผู้ชายก็ออกมาร่วมฉลองกันเยอะแยะ แต่ยังมีความจำเป็นในเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นกระบวนการหนึ่งในการสร้างอัตลักษณ์ เพื่อ ‘come out of the closet’ สร้างความภาคภูมิใจในเพศสภาพตนเองในยุคสมัยที่การประกาศตัวว่ารักเพศเดียวกันเป็นเรื่องต้องห้าม น่าอับอาย ผิดกฎหมาย สุ่มเสี่ยงต่อการถูกทำร้าย
การเดินพาเหรดจึงเป็นการรวมพลัง เปิดเผยตัวเอง grand opening บนที่สาธารณะว่า เพศวิถีของฉันไม่ใช่เรื่องน่าอายและต้องปิดบังอะไร เริ่มมีการเดินขบวนตั้งแต่ ค.ศ. 1955 โดยการรวมกลุ่มตั้งเป็นสมาคมเกย์[1]
ขณะเดียวกันก็ประกาศถึงการไม่ยอมจำนนและต่อสู้กับอำนาจและความรุงแรงของผู้รังเกียจ LGBTs แม้จะต้องแลกด้วยบาดแผลและอิสรภาพในคืนวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1969 หรือที่รู้จักกันว่า ‘Stonewall Riots’ ขอเล่าเหตุการณ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 69 ว่า ขณะที่เกย์บาร์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ตำรวจมักบุกปราบปราม รังควาญ สั่งปิดร้านขณะกำลังเต้นรำกันอยู่เพลินๆ เพียงแค่เกย์จะเต้นรำสังสรรค์หาแฟนในสถานบันเทิงก็ไม่ได้ ซึ่ง ‘เกย์บาร์’ (gay bar) ไม่ใช่แต่เกย์ชายจะเข้าไปสรวลเสสโมสรเท่านั้น แต่รวมไปถึง เลสเบี้ยน คนข้ามเพศ คนแต่งตัวข้ามเพศ ชายหญิง มารวมตัวกันพักผ่อนหย่อนใจ เป็นพื้นที่ที่ความหลากหลายจะมาอยู่ร่วมกันอย่างครื้นเครง เพราะ ‘เกย์’ (gay) ในความหมายของสากลไม่ได้ผูกขาดเฉพาะกับเพศสภาพของชายรักชายแบบที่ภาษาไทยใช้กัน หากแต่รวมเพศอื่นๆ ด้วย เพศสภาพของหญิงรักหญิงก็เรียกเกย์เช่นกัน
คืนนั้นหวยตกที่ Stonewall Inn ในนิวยอร์ก และความอดทนของบรรดาเกย์เลสเบี้ยนคนข้ามเพศก็มาถึงขีดสุด จนเกิดจลาจลปะทะกันรุนแรงกับตำรวจหลายร้อยนายที่สบทบกองกำลังขึ้นเรื่อยๆ แม้พวกเขาและเธอจะเจ็บตัวและถูกจับไปจำนวนมาก แต่ก็ถือว่าเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ LGBTQs นับแต่นั้นปีถัดมา ในค.ศ. 1970 เกย์พาเหรดก็จัดขึ้นเพื่อรำลึก Stonewall Riots ในฐานะการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองยุคใหม่ของเกย์แลสเบี้ยน คนข้ามเพศ และแต่งกายข้ามเพศ เนื้อหาสาระของขบวนพาเหรดจะบอกเล่าถึงเสรีภาพ อิสรภาพ ความภาคภูมิใจในเพศสภาพเพศวิถีของตนเอง และนับแต่นั้น sodomy law หรือกฎหมายที่กำหนดให้ความรักและเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรมก็เริ่มทยอยยกเลิกไปอย่างรวดเร็วในแต่ละรัฐ
อย่างไรก็ตามในเดือนนี้เองเมื่อ 2015 ก็ได้เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญและน่าโศกเศร้าอย่างรุนแรงเมื่อคืนของวันที่ 12 มิถุนายน Omar Mateen ชายวัย 29 ปี ได้ยิงกราดสังหารหมู่ผู้ที่เข้ามาสังสรรค์ในเกย์ไนท์คลับ Pulse ที่เมืองออร์แลนโดรัฐฟลอริดา ด้วยปืนไรเฟิล 2 กระบอก และปืนพก 1 กระบอก จนมีผู้เสียชีวิต 50 คน (เหยื่อ 49 คน และเขาเอง) บาดเจ็บอีก 53 คน คืนนั้นเป็นปาร์ตี้ลาตินไนท์ ทำให้ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ 90% เป็นชาวลาติน เหตุการณ์ค่ำคืนนี้ถือได้ว่าเป็นการสังหารหมู่ด้วยคนยิงเพียงคนเดียวที่รุนแรงที่สุด เป็นเหตุการณ์เป็นความอำมหิตที่สุดต่อ LGBTs ในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา และนับจากวินาศกรรม 9/11 ในปี 2001 มา นี่คือการโจมตีโดยผู้ก่อการร้ายที่รุนแรงที่สุด
ทั้งๆ ที่เกย์บาร์ถือได้ว่าเป็นหลุมหลบภัยจากสังคมรักต่างเพศนิยมภายนอก เป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อ LGBTQs จะมาเปิดเผยตัวตน แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของคนชายขอบทางวัฒนธรรม ทั้งเพศสภาพชาติพันธุ์ และอาชีพ เกย์บาร์จึงเป็นอีกสัญลักษณ์ของพหุวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ 1970’s เป็นต้นมาที่ผับบาร์สถานเริงรมย์ของเกย์กลายเป็นแหล่งเคลื่อนไหวทางการเมืองสังคมไปพร้อมกับการดำเนินกิจการ จนได้แปลงโฉมการเคลื่อนไหว อัตลักษณ์และชุมชน LGBTQs
…และคืนนั้นก็เป็นงานลาตินไนท์
เหตุการณ์ในครั้งนี้ถือว่าเป็นอาชญกรรมจากความเกลียดชัง (Hate Crime) ขณะเดียวกันก็นับว่าเป็นการก่อการร้าย (Terrorism) ถูกเชื่อมโยงกับกลุ่ม ISIS หรือ ISIL และศาสนาความเชื่อ อย่างไรก็ตาม ‘ก่อการร้าย’ ก็ยังเป็นศัพท์ทางการเมืองที่ลื่นไหลได้ปรับใช้ได้จนแพร่หลาย และเหตุการณ์นี้นำไปสู่ความหมายของ ‘ก่อการร้าย’ ในความหมายเมื่อแรกมี ในช่วงหลังปฏิวัติฝรั่งเศส ‘terrorisme’ ที่อธิบายบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว[2] ไม่เพียง LGBTQs ทั่วโลก ไม่ว่าจะอยู่ร่วมในเหตุการณ์หรือไม่ก็ตาม ต่างตกอยู่ในความหวาดผวา หลอนว่าสักคืนจะตกเป็นเหยื่อบ้างขณะที่ออกไปผับบาร์ เพราะเหยื่อในคืนนั้นคือตัวแทนเพศสภาพเพศวิถีของพวกเขาและเธอ แต่ยังรวมไปถึง non-LGBTQs ทั้งหลายที่ไม่กล้าเข้าไปในชุมชนพื้นที่หรือใกล้ชิด LGBT เพราะประหวั่นพรั่นพรึงว่าจะพลอยเป็นเป้าสังหารหรือโดนลูกหลงไปด้วย ความหวาดกลัวนี้ยังไปสู่ Islamophobia (ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักสันติวิธีเฉพาะบางเรื่องเรียกว่า ‘โรคกลัวแขก’), การตั้งคำถามต่อนโยบายควบคุมอาวุธปืน, การพิจารณา ‘ความเป็นชาย’ ที่มีพิษภัยต่อสังคม
จากการสอบสวนเผยว่า ฆาตรกรและผู้ก่อการร้ายรายนี้เป็นคนที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง เกลียดคนผิวสี ยิว ลาตินอเมริกัน ผู้หญิง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรักเพศเดียวกัน FBI รายงานว่าเขาเคยอ้างว่าเป็นสมาชิกฮิซบุลลอฮ์ (Hezbollah แปลว่า ‘พรรคแห่งอัลลอฮ์’) องค์กรและพรรคการเมืองของชาวมุสลิมชีอะฮ์ในเลบานอน ซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ. 1982 และมีกองทัพของตนเอง ซ้ำยังอ้างว่ามีครอบครัวเขาก็มีคอนเนคชั่นกับอัลกออิดะฮ์ (al-Qaeda) กลุ่มก่อการร้ายอิสลามสากลที่ก่อตั้งโดยนักรบจำนวนมาก 1 ในนั้นคือ อุซามะฮ์ บิน ลาเดน เขายังมีสายสัมพันธ์กับผู้ก่อการร้ายในเหตุการณ์ต่างๆ แต่นั่นก็เป็นเรื่องโกหกทั้งเพ[3] อย่างไรก็ตามข้อสันนิษฐานของ CIA ที่น่าจะเป็นไปได้คือ IS ได้ให้แรงบันดาลใจเขาในการก่ออาชญากรรมร้ายแรงครั้งนี้ แต่ไม่ได้ฝึกหัดเขาแต่อย่างใด[4]
การกระทำของเขาเป็น ‘การก่อการร้ายภายในประเทศ’ และเขาก็เป็น ‘ผู้ก่อการร้ายในบ้านตนเอง’ ที่เกิดจากการสมาทานความรุนแรง ความเกลียดชังความแตกต่าง โดยใช้ศาสนากับการเมืองเป็นข้ออ้างในการลงมือเหมือนกับกลุ่มนักรบ เนื่องจากใน 2010 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เพิ่มโทษขอบเขตความหมายอาชญากรรมจากความเกลียดชัง ซึ่งรวมไปถึงความเกลียดชังเพศสภาพเพศวิถีไว้ในกฎหมายความมั่นคง (National Defense Authorization Act หรือ NDAA) นำไปสู่การเพิ่มงบประมาณให้กับกองทัพจนกลายเป็นงบประมาณที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งแทนที่จะไปช่วยปกป้องสิทธิ LGBT จากการถูกละเมิด แต่กลายเป็นไปเพิ่มระดับความรุนแรงเข้มข้นในการโจมตีในอัฟกานิสถานและตะวันออกกลาง มันจึงกลายเป็นความรวมตัวกันแบบจับแพะชนแกะระหว่างสิทธิมนุษยชนกับความมั่นคงของชาติโดยจักรวรรดินิยมอเมริกา ข้ออ้างที่ยุติความรุนแรงต่อ LGBTQs จึงกลายเป็นชนวนความรุนแรงที่วกกลับมาหา LGBTQ เสียเอง ณ Pulse Nightclub ระหว่างกราดยิง เขาจึงได้ประกาศคำสัตย์ปฏิญาณว่าเป็นผู้จงรักภักดีต่อ ISIS และการกระทำครั้งนี้เป็นการแก้แค้นในนามรัฐอิสลาม และขณะในช่วงจับตัวประกัน เขายังได้โทรไปยัง 911 บอกให้อเมริกาหยุดระบิด ISIS ที่ซีเรีย[5]
ปฏิเสธไม่ได้ว่า อุดมคติที่เรียกว่า ‘ศาสนา’ ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยหนึ่ง หรือเมื่อหลายศตวรรษก่อน กำลังเป็นอุปสรรคหนึ่งและสิ่งฉุดรั้งของการยอมรับความหลากหลายเช่น เพศสภาพเพศวิถี การยุติการตั้งครรภ์ การคุมกำเนิด ในโลกอีกยุคสมัยหนึ่งที่มีความซับซ้อนหลากหลายมากขึ้น
ศาสนาที่มักกล่าวถึงสันติ แต่ก็เต็มไปด้วยความรุนแรง ไม่เพียงการนำมาใช้เป็นเครื่องมือ หรือการตีความ ตัวบทของมันก็เต็มไปด้วยการตัดสิน ชี้ถูกผิด บุญบาป ข้อบังคับ เลือกปฏิบัติ มอบความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง เหมือนกับที่ศาสนาก็เป็นต้นกำเนิด sodomy law
แม้ sodomy law ในสหรัฐฯ จะเป็นเรื่องของการจัดการภายในแต่ละรัฐ มากกว่าที่จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลาง แต่ก็ยังยกเว้นไว้สำหรับกฎหมายภายในของทหารด้วย เช่นในปี 1963 มีการลงโทษทั้งจำและปรับ แต่ในปี ค.ศ. 2002 sodomy law ถูกยกเลิกไปใน 36 รัฐ จนกระทั่งในปี 2003 ที่ศาลสูงสหรัฐฯมีคำตัดสินที่ทำให้ sodomy law ที่บังคับใช้อยู่ในรัฐต่างๆ ใช้บังคับไม่ได้อีกต่อไป แต่สำหรับภายในกองกำลังทหาร ที่ถือว่าเป็นสังคมที่มีลักษณะเฉพาะ ทำให้ sodomy law ยังคงอยู่ โดยศาลมีคำวินิจฉัยว่า แม้ว่า sodomy law จะต้องไม่มีผลใช้บังคับไปแล้วนั้น แต่ด้วยสภาพสังคมที่มีลักษณะเฉพาะของทหารนั้น เกินขอบเขตของคำตัดสินที่เคยได้มีไปแล้ว ซึ่ง sodomy law หรือมาตรา 125 ของ Uniform Code of Military Justice อ้างว่า ใช้ครอบคลุมเฉพาะการกระทำที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระเบียบและการปกครอง ‘อันดีงาม’ ภายในหมู่ทหาร กองทัพกับการไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายมักเป็นของคู่กันเสมอ
แต่ในความหลากหลายทางเพศเองก็ไม่ได้มีความหลากหลายเสมอไป การที่ Stonewall Riots ถูกหมุดหมายให้เป็นการปฎิวัติครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ LGBTQs เหมือนปฏิวัติ 1789 ในฝรั่งเศส,ปฎิวัติ 1917 ในรัสเซีย, ปฏิวัติวัฒนธรรม1966-1976 ในจีน กระตุ้นเตือนความภาคภูมิใจและเป็นหมุดหมายยุคสมัยสำคัญของ LGBTQs ทั่วโลก ก็เท่ากับว่าประวัติศาสตร์ความทรงจำร่วมและอัตลักษณ์ของ LGBTQs มีลักษณะที่เอาอเมริกาเป็นศูนย์กลาง (Americentrism / Americanocentrism) แน่นอนมันตัดความหลากหลายของความหลากหลายทางเพศออกไป ไม่เพียงให้ สำนึก LGBTQs กลายเป็นสำนึกอเมริกัน แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของอเมริกันภิวัฒน์ (Americanization) ทั้งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมบันเทิง เสื้อผ้าหน้าผม ตัวแม่ gay idol รายการทีวี ธงสีรุ้ง เพลงชาติ LGBT และความเคลื่อนไหวเพื่อเพศทั้งหลาย ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของ soft power และมาจากวัฒนธรรมอเมริกันและยุโรปทั้งนั้น
ด้วยเหตุนี้ LGBTQs หลายคน จึง ‘อิน’ กับโศกนาฏกรรม ‘2016 Orlando nightclub shooting’ ถือว่าจากการกระทำความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ Stonewall Inn มาสู่ก่อการร้ายที่ Pulse Club โดยพลเมืองภายในรัฐที่เป็นจิตอาสาให้กับกลุ่มก่อการร้าย รู้สึกหวาดกลัวตกใจและโกรธแค้นมากกว่าเหตุการณ์รัฐบาลเชชเนีย (Chechnya) หรือสาธารณรัฐเชเชน (Chechen Republic) มีนโยบาลลักพาเกย์ส่งไปค่ายกักกัน จับทรมานถูกฆ่าให้ตายทำให้หายสาบสูญตามอำเภอใจ ซ้ำยังส่งเจ้าหน้าที่รัฐไปขู่พ่อแม่ให้ฆ่าลูกเกย์ของตัวเองมิเช่นนั้นทางรัฐจะปราบปรามเอง ก็สามารถเรียกได้ว่าเป็นการก่อการร้ายได้เช่นกัน ซึ่งเป็น ‘การก่อการร้ายโดยรัฐ’ (state terrorism)[6] หรือกับการเห็นข่าวกับข่าวศาลอิสลามภายใต้อำนาจกองกำลังรัฐอิสลาม (ISIS) ได้พิพากษาตัดสินลงโทษประหารชายรักชายอย่างต่อเนื่องด้วยการจับโยนลงมาจากตึกที่สูงต่อหน้าสาธารณชนเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง (อันเป็นลักษณะของ ISIS ที่จะลงโทษต่อหน้าธารกำนัล ดังนั้นสิ่งแรกสถาปนาหลังยึดครองเมืองใดเมืองหนึ่งก็คือจตุรัสฮุดุด เพื่อเป็นสถานที่ลงทัณฑ์ตามกฎหมายและคำพิพากษาของศาลชะรีอะห์ที่ได้ตั้งขึ้น[7]) ทว่าเหยื่อก็ไม่ได้ตายคาที่เขาจึงถูกรุมปาหินซ้ำจนตายโดยสาธารณชน
ใช้ว่าผู้คนเริ่มชาชิน เห็นความรุนแรงความน่าหดหู่จนเฝือ หากแต่ความสะเทือนใจ เสียใจ โกรธแค้นไม่เท่ากันมาจากความรู้สึกร่วม ความผูกพันที่ไม่เท่ากัน เหมือนกับที่ non- LGBTQs อาจจะสะเทือนใจกับเหตุการณ์พวกนี้น้อยกว่า LGBTQs ขณะเดียวกันสำนักข่าวก็นำเสนอข่าวความรุนแรงรายวันเช่นนี้ซาลงเรื่อยๆ
เพราะมันเป็นความจริงที่ว่าคนเราจะไม่สามารถเสียใจโกรธแค้นกับทุกเรื่องทุกโศกนาฏกรรมและทุกเหยื่ออย่างเสมอภาค แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความรู้สึกที่ไม่ได้รับความเท่าเทียมย่อมสร้างความรู้สึกเป็นอื่นๆ ความไม่ใช่พวกเดียวกัน
แม้การชูประเด็น LGBTQs ที่แยกไม่ขาดไปจากการสร้างอัตลักษณ์ ความทรงจำร่วมและประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวทางเพศในระดับสากล มันดีตรงช่วยให้ LGBTQs เชื่อมสัมพันธ์กันข้ามพรมแดน ไม่ติดกับกรอบชาตินิยมและวัฒนธรรมดั้งเดิมประจำท้องถิ่นที่ไม่ทรงพลังพอจะต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพอะไรได้
แต่ ‘ความเป็นสากล’ ที่ผูกขาดกับชาติใดชาติหนึ่งอาจไม่ส่งผลดีต่อการสร้างความยอมรับความหลากหลายทางเพศในประเทศ/รัฐศาสนา/ชุมชน/กลุ่มศาสนาชาติพันธุ์ที่มีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งเป็นปฏิปักษ์กัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. (2553). ขบวนการเคลื่อนไหวของเกย์ในสังคมไทยภาคปฏิบัติการและกระบวนทัศน์. กรุงเทพฯ : คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
[2] กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช. Thou shall fear : เจ้าจงตื่นกลัว การก่อการร้าย ความรุนแรง และการครอบงำ.กรุงเทพฯ : มติชน, 2559, น. 35,41.
[3] Barry, Dan; Kovaleski, Serge F.; Blinder, Alan (June 18, 2016). “‘Always Agitated. Always Mad’: Omar Mateen, According to Those Who Knew Him”. The New York Times. Retrieved June 19, 2016.
[4] Ackerman, Spencer (June 16, 2016). “CIA has not found any link between Orlando killer and Isis, says agency chief”. The Guardian. Retrieved June 17, 2016.
[5] Zachary Shane Kalish Blair. (2016). The Pulse Nightclub Shooting: Connecting Militarism, Neoliberalism, and Multiculturalism to Understand Violence. North American Dialogue 9(2), pp. 102–116.
[6] อ่านเพิ่มเติม กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช. Thou shall fear : เจ้าจงตื่นกลัว การก่อการร้าย ความรุนแรง และการครอบงำ.กรุงเทพฯ : มติชน, 2559, น.143-151.
[7] Michael Weiss และ Hassan Hassan เขียน ; ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ แปล. ISIS : เจาะลึกกองกำลังรัฐอิสลาม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2558