หลังจากเปิดปีไปด้วยบทความหนักๆ ชวนปวดหัวเรื่องล่าวาฬไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สัปดาห์นี้ก็ขอโหนกระแสปีใหม่อีกหน่อย เพราะยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่เพิ่งนึกได้ว่ายังไม่ได้เขียนเสียที ทั้งๆ ที่ก็เป็นเรื่องน่าสนใจของปีใหม่ในญี่ปุ่น และกลายมาเป็นธรรมเนียมที่แม้แต่สินค้าและบริการจากต่างประเทศ เมื่อเข้ามาทำตลาดในญี่ปุ่นก็ยังต้องเลียนแบบ นั่นคือ
ฟุคุบุคุโระ หรือถุงโชคดี นั่นเองครับ (福袋)
ฟุคุบุคุโระ คือสินค้าที่ร้านค้าในญี่ปุ่นจะวางขายในช่วงปีใหม่ ที่ได้ชื่อนี้ก็เพราะว่า วิธีการขายของเขา คือ เอาสินค้าต่างๆ ในร้านใส่ถุง และให้เราซื้อโดยที่ไม่รู้ว่าข้างในมีอะไร แต่มักจะเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงกว่าราคาที่เราจ่ายไปนั่นเอง ทำให้หลายต่อหลายคนสนุกกับการหาซื้อฟุคุบุคุโระ ส่วนใหญ่ถ้าไม่ขายหมดในวันเดียว ก็จะขายเฉพาะช่วงสัปดาห์แรกของปีเท่านั้น กลายเป็นช่วงเวลาชวนให้คนใช้เงินกันอย่างเพลิดเพลิน
ประวัติของฟุคุบุคุโระก็ไม่ชัดเจนเท่าไหร่นัก แต่เชื่อว่าน่าจะเริ่มในช่วงปลายยุคเมจิที่ญี่ปุ่นก็เริ่มเข้ายุคสมัยใหม่และมีห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้นแล้ว และเป็นแนวทางในการที่จะระบายของค้างสต็อกออกไปไม่ให้เปลืองที่เก็บ เลยเอามารวมๆ ขายแบบใส่ถุงให้คนซื้อได้ลุ้นกันว่าจะได้อะไรไปบ้าง
ไอ้การลุ้นก็คงเป็นนิสัยสนุกๆ ของคนเรานี่แหละครับ คือไม่รู้ว่าจ่ายเงินไปจะได้อะไรบ้าง แต่อย่างน้อยก็คุ้มค่าเงินที่จ่ายไป เพราะหลายเจ้าก็ใส่ของที่มีมูลค่ามากเป็นเท่าตัวของราคาที่คนซื้อจ่าย วิธีนี้คงไปกระตุ้นต่อมความสนใจของคน จนกลายเป็นธรรมเนียมการค้าขายของญี่ปุ่น และกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของช่วงปีใหม่ในญี่ปุ่นไปเรียบร้อยแล้ว
ยิ่งการบริโภคในญี่ปุ่นมากขึ้น ร้านค้าที่ทำแบบนี้ก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งแบรนด์ต่างประเทศที่เข้ามาขายในญี่ปุ่นก็ยังต้องเลียนแบบ ที่คนไทยคุ้นกันดีคงเป็น Apple ที่เห็นคนไทยไปต่อแถวซื้อกันบ้างเหมือนกัน และหลายคนก็เปิดถุงออกมาอย่างมีความสุข เพราะได้สินค้าเกินราคาที่จ่ายไปกัน และในปัจจุบัน กระทั่งแบรนด์เนมดังๆ อย่าง Armani หรือ Coach ก็ยังหันมาทำฟุคุบุคุโระออกวางขายเหมือนกันนะครับ กระทั่ง Starbucks ที่เป็นร้านกาแฟแท้ๆ ก็ยังทำด้วย จะเรียกว่าเป็นเรื่องปกติของการค้าขายในญี่ปุ่นก็ว่าได้เหมือนกัน
แต่ปัญหาอย่างหนึ่งของการขายสินค้าแบบนี้ก็คือ เพราะเราไม่รู้ว่าข้างในมีอะไรบ้าง ต่อให้จ่ายแล้วได้ของคุ้มราคาที่จ่ายไป แต่หลายต่อหลายครั้งก็อาจจะต้องมานั่งถามตัวเองว่า เราต้องการของเหล่านั้นจริงหรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วก็แค่ฟินตอนจ่ายเงินแล้วก็ต้องมาทิ้งไปเพื่อไม่ให้รกบ้านอีก
และก็ตามที่บอกไปว่า เป้าหมายเดิมของฟุคุบุคุโระคือการระบายสินค้าค้างสต็อก ดังนั้น ตัวสินค้าเองก็กลายเป็นความเสี่ยงของคนซื้อเหมือนกัน เพราะหลายต่อหลายครั้ง มูลค่าสินค้าในถุงแม้จะฟังดูน่าตื่นตาตื่นใจ แต่มาคิดอีกทีมันก็คือราคาตั้งต้น และถ้าเป็นสินค้าค้างสต็อก ส่วนใหญ่ก็เอามาลดราคาแบบเทกระจาดอยู่แล้ว ซึ่งราคาจริงอาจจะน้อยกว่าราคาที่เราจ่ายเพื่อซื้อเป็นถุงก็ได้
ยิ่งช่วงที่โซเชียลเน็ตเวิร์กยังไม่แพร่หลาย เวลาเราซื้อของมาแล้วไม่พอใจ ก็ได้แต่บ่นกับตัวเองไป ไม่มีที่ให้ระบายหรือให้รวมหัวกันประนามแบรนด์ต่างๆ ในยุค 90s หรือในศตวรรษที่ 21 นี่แบรนด์เสื้อผ้าหลายต่อหลายเจ้าก็ขายฟุคุบุคุโระแบบตามใจ ซื้อไปก็ได้ของเยอะครับ แต่เปิดมา ไซส์ก็ใส่เข้ามาแบบมั่วๆ ปีใหม่อากาศหนาวจับใจ แต่เปิดมากลายเป็นเสื้อแขนสั้น กางเกงขาสั้น ชุดว่ายน้ำ เพราะค้างมาจากฤดูร้อน กว่าจะได้ใช้ก็รอไปอีกหลายเดือน
แต่ก็ยังดีที่หลายแบรนด์รู้ว่าแทนที่จะระบายสินค้า กลายเป็นว่า สร้างยอดขายในช่วงนี้ดีกว่า เลยทำเป็น ‘ถุงนำโชคใส’ ที่คนซื้อรู้ว่าข้างในมีอะไร พูดง่ายๆ ก็เหมือนไปซื้อของลดราคาแบบชุดใหญ่ที่ขายถูกกว่าปกตินั่นละครับ แบบนี้ก็จัดว่าแฟร์ดี คนขายได้ขาย คนซื้อก็ได้รู้ว่าตัวเองจะได้อะไรและคุมงบได้ถูก
ไปๆ มาๆ ปัจจุบัน เทรนด์แบบนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นมาตรฐานไปแล้ว บางเจ้าถึงไม่บอกชัดเจนว่ามีอะไรโดยละเอียด แต่อย่างน้อยก็บอกข้อมูลให้ประเมินว่า จ่ายเงินแล้วจะคุ้มไหม สบายใจไปได้หน่อย
บางทีฟุคุบุคุโระก็หลุดไปในทางเวอร์ๆ เลยก็มีนะครับ แบบกระเป๋าแบรนด์เนมอะไรพวกนี้ถือว่าธรรมดาไปครับ ที่ไล่อ่านดู เจอห้างสรรพสินค้าในเมืองเซนได มีจัดแคมเปญพิเศษ แทบจะเป็นการจ่ายเงินจับสลากกันเลย เพราะของรางวัลรุ่นพิเศษมีตั้งแต่บัตรโดยสารเรือเดินสมุทร ไปจนถึงรถเฟอร์รารี่คันละ 26 ล้านเยน แต่ที่น่าทึ่งกว่าก็คือ บริษัทที่รับซื้อของแบรนด์เนมเจ้าดังก็ออกมาทำฟุคุบุคุโระขาย ซึ่งราคาถุงละแค่ 1,000 ล้านเยนครับ (!) คงสงสัยว่าของข้างในมีอะไร ซึ่งก็สมกับเป็นบริษัทรับซื้อของแบรนด์เนม มูลค่าของในถุงส่วนใหญ่จะรวมได้ประมาณ 2,000 ล้านเยน หรือก็คือเท่าตัว มีตั้งแต่ ตึก (ครับ โฉนดตึก) เพชร พลอย หรือกระเป๋าแบรนด์เนม 100 ใบ เรียกได้ว่า…บ้าไปแล้ว ประธานบริษัท (ซึ่งก็เป็นที่รู้จักจากทรงผมรีเจนต์เป็นเอกลักษณ์) ก็บอกว่า อยากจะให้มีข่าวอะไรดีๆ ให้สดชื่นสมกับเป็นช่วงปีใหม่บ้าง เอ้า! เอากับเขาสิ
ส่วนที่แบบบ้าๆ แบบว่า แบบนี้ก็ขายได้เหรอ ก็มีพวกร้านขายของมือสองหรืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในอากิฮาบาระทำถุงนำโชคขาย และเว็บไซต์ SoraNews24 ก็วนเวียนไปซื้อทุกปีเพื่อมาเปิดดูความกากของของในถุง เพราะเกือบทุกครั้งจ่ายไป 3,000 เยน แต่ได้ของจากร้านร้อยเยน คละกับสินค้าค้างสต็อก เช่นสายไฟ สายสัญญาณ เรียกได้ว่าเอาขยะมาใส่แล้วขายต้มกันทื่อๆ แต่เว็บก็ได้ความฮาไปครับ ฟุคุบุคุโระที่เปิดมาแล้วปวดตับนี่เขาล้อว่าเป็น ฟุโคบุคุโระ 不幸袋 หรือ อุซึบุคุโระ 鬱袋 ที่แปลว่า ถุงซวย หรือถุงชวนหดหู่ กันไปแทน
ปัจจุบันก็อย่างที่บอกไปว่า หลายเจ้าเริ่มเปิดให้รู้แล้วว่าข้างในของถุงมีอะไรบ้าง และหลายเจ้าก็เริ่มแนวทางใหม่ๆ ไม่ต้องการให้คนมารอหน้าร้านอย่างเดียว เปิดขายมันทางออนไลน์ไปเลย อย่างใน Amazon ก็มีหลายเจ้ามาขายเหมือนกัน แบรนด์ดังๆ คุ้นๆ เจอได้เยอะมาก และเขาก็มักจะบอกว่าข้างในมีอะไรบ้าง หรือบอกแค่คร่าวๆ เช่น เสื้อเชิ้ต 5 ตัว หรือชุดออกกำลังกาย แถมกดเลือกขนาดเสื้อก่อนได้เลย สบายไม่ต้องเสี่ยง
แต่ด้วยความที่เป็นยุคอินเทอร์เน็ตกับโซเชียลเน็ตเวิร์กนี่ละครับ ทำให้มีเว็บไซต์รีวิว รวมข้อมูลของฟุคุบุคุโระมากมาย หรือจะเปิด YouTube ดูของปีก่อนก็ได้ ดังนั้นก็มักจะมีข้อมูลเลยว่า เจ้าไหนควรซื้อ ไม่พลาดแน่ๆ เจ้าไหนควรเลี่ยง …แบบนี้ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ มีสถิติบอกแบบนี้ยิ่งตัดสินใจกันง่ายขึ้น สบายใจคนซื้อ
แต่สงสัยไหมครับว่า ในเมื่อไม่ใช่การระบายสินค้าค้างสต็อกแล้ว แบรนด์ต่างๆ มีอะไรดึงดูดใจให้ทำฟุคุบุคุโระขาย กระทั่งบอกว่าคนซื้อจะได้อะไร เอาจริงๆ แล้ว สำหรับคนซื้อก็เหมือนได้กำไรนั่นละครับ แต่ว่าสำหรับแบรนด์แล้ว เวลาบอกราคาสินค้า—ราคาขายปลีก—แล้วขายในราคาถูกลง ก็เหมือนการขายสินค้าลดราคาเฉยๆ ถึงจะบอกว่าราคาขายปลีกชิ้นละ 2,000 เยน ห้าชิ้นรวมเป็น 10,000 เยน แต่มูลค่าของจริงๆ อาจจะแค่ 3,000 เยน ขาย 5,000 เยน ก็ยังได้กำไร เขาถึงปล่อยมาขายช่วงนี้เพื่อต้องการยอดขายช่วงต้นปี ถ้าขายแพงๆ แล้วถุงนึงทำกำไรได้ 10,000 เยน ขายห้าถุงต่อวันก็ได้ 50,000 เยนแล้ว ช่วงปีใหม่ 6 วัน ขายได้แบบนี้ทุกวันก็ได้ยอด 300,000 เยนเพิ่มเข้ามา ถ้าดูจากพวกร้านเสื้อผ้าทั่วไป ยิ่งพวกแบรนด์ใหญ่ๆ ที่เปิดขายใน Amazon ยิ่ง สามารถคุมการผลิตได้ง่ายอีก แถมจัดสต็อกได้ง่าย สามารถสร้างยอดขายให้พุ่งในช่วงปีใหม่ได้ แบบนี้ใครเขาจะเลิกทำ
ใครมีโอกาสไปญี่ปุ่นช่วงปีใหม่ อยากจะสนุกก็ลองไปต่อคิวของเจ้าดังๆ ดูนะครับ หรือสั่ง Amazon ไปส่งบ้านเพื่อนหรือโรงแรมก็ได้ แต่ถ้าไม่ได้ไป อยากจะลองเสี่ยงดวงกับฟุคุบุคุโระบ้าง เกมในสมาร์ทโฟนของญี่ปุ่นก็มีแพ็คเกจฉลองปีใหม่ออกมาให้เปย์กันช่วงปีใหม่เช่นกัน จะบอกว่าที่มาของการเปิดกาชาพิเศษเฉพาะอีเวนต์มาจากฟุคุบุคุโระก็ว่าได้นะครับ อาจจะมีโอกาสเกลือน้อยลงหน่อยก็ได้มั้ง
อ้างอิงข้อมูลจาก