ที่ว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้นั้นไม่จริงเสมอไปหรอก อย่างน้อยมันก็ช่วยเติมเต็มให้วันที่แย่ๆ ดีขึ้นได้ประมาณนึง ด้วยการ ‘retail therapy’ หรือ ‘ช้อปปิ้งบำบัด’
จู่ๆ เจ้านายก็เรียกไปบ่น เพื่อนโทรมายกเลิกนัด แถมแฟนก็ชวนทะเลาะ ไม่มีอะไรได้ดั่งใจเลยสักอย่าง ในวันที่ไม่สามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ บางคนก็อาจจะไประบายความเครียดด้วยการออกกำลังกาย เล่นกีฬา ดูหนัง ฟังเพลง กินของอร่อยๆ แต่สำหรับบางคนอาจจะค้นพบว่าการออกไป ‘ช้อปปิ้ง’ ซื้อเสื้อผ้า ซื้อของใช้ใหม่ๆ ช่วยทดแทนความสุขที่หายไปให้กับชีวิตได้มากกว่า
พอพูดถึงการช้อปปิ้งบำบัด เราก็จะมีภาพของเพื่อนสาวหรือแฟนสาวกำลังถือถุงเสื้อผ้าแบรนด์เนมหลายสิบถุงผุดขึ้นมา เพราะ ‘ผู้หญิง’ มีแนวโน้มที่จะใช้วิธีนี้บำบัดจิตใจมากกว่าผู้ชาย และเป็นวัยรุ่นตอนปลายซะส่วนใหญ่ โดยอ้างอิงจากผลการวิจัยในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ระบุอีกว่า มีประชากรกว่า 1 ใน 3 ที่ใช้การช้อปปิ้งบำบัดในการจัดการกับความเครียด ความวิตกกังวล
จิตวิทยาแห่งการช้อปปิ้ง
การช้อปปิ้งไม่ได้ช่วยแค่ชาติ แต่ช่วยให้ชีวิตที่ขาดความสุขถูกเติมเต็มได้
อย่าเพิ่งหลุดขำหรือคิดว่าดูไร้สาระ เพราะขึ้นว่า therapy มันก็หมายความว่าการช้อปปิ้งสามารถช่วยบำบัดให้คนเรารู้สึกผ่อนคลายและหายเครียดได้จริงๆ ยิ่งสำหรับคนที่ยารักษาหรือการนั่งสมาธิสงบจิตใจอาจช่วยได้ไม่เท่ากับความรู้สึกที่ได้สัมผัสรองเท้าคอลเลกชั่นใหม่ กระเป๋ารุ่นลิมิเต็ดอิดิชั่น พาเลตทาตายี่ห้อดัง หรือเสียงเวลารูดบัตรเครดิต
แต่สัมผัสเหล่านั้นก็เป็นเพียงแค่ความสุขผิวเผินที่พอจะนึกออกได้ในตอนนั้น ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้การจับจ่ายใช้สอยของต่างๆ คือความรู้สึกของการที่เราได้มี ‘อำนาจ’ ต่างหาก
พอเราเจอกับเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ ผลกระทบที่ตามมาเลยทำให้เราเกิดความเครียด ความเซ็ง ความหงุดหงิด แต่พอได้ลองมาเป็นเดินช้อปปิ้ง เดินเลือกของ เลือกสี เลือกไซส์ เลือกจำนวนที่อยากจะได้ ทำให้เรารู้สึกเหมือนมีอำนาจในการ ‘ควบคุม’ สิ่งต่างๆ (อย่างน้อยก็ของที่เรากำลังหยิบจับอยู่) ซึ่งวันทั้งวันของเราไม่มีสิ่งนี้เกิดขึ้นเลย
ยิ่งในสมัยนี้ที่การช็อปปิ้งย้ายไปอยู่ในโลกออนไลน์ จะสั่งของก็แค่เปิดแล็บท็อปหรือโทรศัพท์มือถือ ไม่ต้องขับรถออกจากบ้านไปห้างสรรพสินค้าให้เสียเวลา เสียน้ำมันรถ ก็เป็นไปได้ว่าคนจะหันผ่อนคลายด้วยวิธีนี้มากขึ้นไปอีก และพอทุกอย่างง่ายแค่ปลายนิ้ว การช้อปปิ้งบำบัดก็ถลำลึกไปไกลมากกว่าเดิม จนรู้ตัวอีกที กล่องไปรษณีย์ก็มากองเต็มบ้าน พนักงานเคอร์รี่ก็โทรมาถามที่อยู่ไม่หยุด และสุดท้ายก็พบว่าเงินในบัญชีธนาคารแทบจะติดลบ!
สุดท้ายก็อาจจะช่วยได้แค่ในระยะสั้น
หลังจากถลุงเงินไปกับรองเท้า กระเป๋า หรือเครื่องสำอางต่างๆ นานา ความสุขที่ได้มาจากอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยนั้นก็เกิดขึ้นในจิตใจ แต่ไม่ได้คงอยู่เสมอไป เรารู้สึกอาจจะชื่นชม เห่อ หรือดีใจกับสิ่งของเหล่านั้นไปหลายชั่วโมง หลายวัน หรือหลายสัปดาห์ แต่พอหลังจากผ่านคลื่นแห่งความสุขลูกแรกที่ว่าไปแล้ว ความรู้สึกเสียดายจะเริ่มค่อยๆ ครอบงำ จนทำให้เฝ้าถามตัวเองซ้ำๆ ว่า “ซื้อมาทำไมเนี่ย ไม่น่าเลย” เพราะดันรู้สึกตัวขึ้นมาว่า เราได้ใช้เงินก้อนใหญ่ไปกับของที่เราไม่ได้ต้องการสักเท่าไหร่นัก น่าจะเอาเงินไปทำอย่างอื่นมากกว่า เสร็จแล้วก็มานั่งเสียใจ เครียด และกังวลกับเงินทั้งหมดที่เสียไป
เมื่อไหร่ที่รู้ตัวว่าเราเกิดความรู้สึกแย่ในภายหลัง นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าการช้อปปิ้งเป็นวิธีแก้ไขปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น เพราะการช้อปปิ้งจะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ชั่วขณะก็จริง แต่อาจเป็นเพียงเวลาสั้นๆ และยังทำให้เรามีปัญหาเรื่อง ‘การเงิน’ ตามมา ยิ่งถ้าสถานะการเงินของเราไม่สัมพันธ์กับราคาของที่ซื้อเลยแม้แต่นิด การนำเงินที่เราอุตส่าห์ลำบากลำบนหามาได้ไปลงกับสิ่งของที่ไม่จำเป็น จึงเป็นทำให้เกิดความเครียด ความเศร้า และความรู้สึกเชิงลบมากมายเพิ่มขึ้นอีก
แต่ ณ โมเมนต์นั้นมันก็มีความสุขดีแหละเนอะ
ช่างโชคร้ายจริงๆ ที่เราต้องติดอยู่ในวงจรกระเป๋าเงินแฟบนี้
ถ้าอยากให้การช้อปปิ้งบำบัดเป็นเรื่องของการบำบัดจริงๆ ไม่นำไปสู่ stress spending หรือการใช้จ่ายที่นำไปสู่ความเครียดที่มากกว่าเดิม มีคำแนะนำจากเว็บไซต์ huffpost.com บอกว่า ให้ลอง ‘จดลิสต์’ สิ่งของที่ ‘จำเป็น’ จะต้องซื้อจริงๆ แล้วยึดเอาลิสต์นี้ไว้ ห้ามลอกแลกแวะไปซื้ออย่างอื่นเพิ่มเติม หรือทางที่ดีเลยก็คือ ทิ้งบัตรเครดิตไว้ที่บ้าน และ ‘พกเงินสด’ ออกไปจำนวนหนึ่งก็พอ เพื่อเป็นการกำหนดโควตาการใช้เงินของวันนั้น
ยิ่งรู้ตัวเร็วก็จะยิ่งปรับพฤติกรรมได้เร็ว แม้การช้อปปิ้งบำบัดเราจะช่วยให้เราควบคุมความสุข ความต้องการของตัวเองในชั่วขณะนั้นได้จริง แต่ถ้ามันมากเกินความจำเป็น จนไม่อาจสามารถควบคุมการเงินของตัวเอง ความผ่อนคลายนี้ก็จะเปลี่ยนมาเป็นความเครียดเอาได้
อ้างอิงข้อมูลจาก