1
เชื่อไหม—พระสันตะปาปาที่สั่งลงโทษกาลิเลโอ กาลิเลอี, แท้จริงเคยเป็นเพื่อนและผู้ที่ชื่นชมกาลิเลโอมาก่อน
กาลิเลโอเคยคิดด้วยซ้ำ—ว่าเป็นพระสันตะปาปาองค์นี้เอง ที่จะช่วยผ่อนคลายความเป็นปฏิปักษ์ของศาสนจักร—ที่มีต่อวิทยาศาสตร์ว่าด้วยโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์
แต่ที่สุดท้ายไม่เป็นอย่างนั้น—ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำบางอย่างของกาลิเลโอเอง
2
หลายคนเชื่อว่า กาลิเลโอ กาลิเลอี ค้นพบว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ และเมื่อประกาศการค้นพบนั้น เขาจึงถูกศาสนจักรสั่งลงโทษ และบางคนก็เชื่อถึงขั้นที่ว่า ศาสนจักรสั่งประหารกาลิเอโอเสียด้วยซ้ำ
สำหรับหลายคน กาลิเลโอจึงเป็นคล้ายสีขาว และศาสนจักรยุคนั้นเป็นสีดำ
แต่หากบอกว่า ที่จริงแล้ว กาลิเลโอเคยเป็นเพื่อนของพระสันตะปาปา ทั้งยังเป็นคนเคร่งศาสนา เขาไม่ได้ลุกขึ้นมาคัดง้างความเชื่อศาสนาตรงๆ แบบขบถ แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นคนโผงผาง ปากคอเราะร้ายไม่ธรรมดา, หลายคนอาจเริ่มงุนงงว่าสามเรื่องนี้เกี่ยวพันกับชะตากรรมของกาลิเลโอตรงไหน
แล้วหากบอกมากไปกว่านั้นอีกว่า—กาลิเลโอไม่ได้เป็นคนค้นพบหรือแม้แต่เสนอเป็นคนแรกว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ และไม่ได้ปีนขึ้นไปบนหอคอยปิซาแล้วโยนก้อนหินสองก้อนลงมา เพื่อบอกว่ามวลของวัตถุไม่เกี่ยวอะไรกับความเร็วในการตก—อย่างที่เราเคยรับรู้เล่าเรียนกันมาตั้งแต่เด็กๆ
คุณจะว่าอย่างไร
3
แกรนด์ดยุคแห่งทัสคานี มีดำริอยากฝังศพของ กาลิเลโอ กาลิเลอี เอาไว้ในโถงหลักของมหาวิหาร Basilica of Santa Croce แต่ได้รับการคัดค้านจากพระสันตะปาปาเออร์แบน ที่แปด เนื่องจากกาลิเลโอถูกศาสนจักรตั้งข้อหาที่เรียกว่า Vehement Suspicion of Heresy หรือ ‘ต้องสงสัยอย่างร้ายแรงว่าจะเป็นพวกนอกศาสนา’
นั่นทำให้ศพของกาลิเลโอถูกนำไปฝังไว้ในห้องเล็กๆ สุดปลายทางเดิน เป็นห้องที่อยู่ติดกับ ‘โบสถ์น้อย’ (Chapel) ที่เหล่าพระบวชใหม่ใช้ในการสวดภาวนา ซึ่งแม้ถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติ ทว่าก็แสดงให้เห็นว่าศาสนจักรไม่ได้มองกาลิเลโอเลวร้ายถึงขั้นเป็นพวก ‘นอกรีต’ หรือเป็นผีปีศาจที่มาทำลายทำร้ายศาสนจักร ศพของเขายังได้รับการฝังอยู่ในเขตของมหาวิหาร ซึ่งแปลว่าเขาไม่ได้ ‘นอกรีต’
แม้แต่ข้อหาที่กาลิเลโอโดน ก็ยังเป็นเพียง ‘ถูกตั้งข้อสงสัย’ เท่านั้นเอง
ที่จริงแล้ว พ่อของกาลิเลโออยากให้เขาเป็นแพทย์ เพราะในศตวรรษที่ 17 (หรือที่จริงในปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่) การเป็นแพทย์เป็นอาชีพที่ ‘ทำเงิน’ มากกว่าการเป็นนักคณิตศาสตร์
แต่แล้ววันหนึ่ง เมื่อกำลังเรียนแพทย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งเมืองปิซา กาลิเลโอสังเกตเห็นโคมไฟแชนเดอเลียร์แกว่งไกวอยู่เหนือศีรษะ สิ่งที่เขาทำคืออัจฉริยภาพของผู้ที่ ‘นับรวม’ เอาทุกสรรพศาสตร์ในชีวิตเข้าด้วยกัน นั่นคือเขาสังเกต ‘คาบ’ การแกว่งของแชนเดอเลียร์ แล้ววัดความเร็วของการแกว่งนั้นด้วยการ ‘จับชีพจร’ ตัวเอง
กาลิเลโอใช้การสังเกตเยี่ยงนักวิทยาศาสตร์ นำสิ่งที่รับรู้มาผนวกเข้ากับศาสตร์ทางการแพทย์ที่เขาร่ำเรียนอยู่ เพื่อให้ความรู้สองอย่างนี้รวมตัวแล้วระเบิดออกเป็นความคิดใหม่ที่นำทางเขาไปสู่การคำนวณและคณิตศาสตร์
กาลิเลโอค้นพบตั้งแต่ตอนนั้นว่า ไม่ว่าลูกตุ้ม (หรือแชนเดอเลียร์) จะมีสายยาวแค่ไหน คาบการแกว่งของมันเมื่อกวาดจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งจะใช้เวลาเท่ากันเสมอ สิ่งนี้นำไปสู่การคิดค้นนาฬิกาลูกตุ้มในอีกเกือบร้อยปีต่อมา แต่ ณ ขณะนั้น มันทำให้กาลิเลโอรู้ตัว—ว่าเขาไม่ได้ต้องการเป็นแพทย์ เขาต้องการเป็นนักคณิตศาสตร์ ต้องการคำนวณ ต้องการ ‘อธิบายโลก’ ด้วยคณิตศาสตร์ต่างหากเล่า
นั่นคืออัจฉริยภาพแห่งการค้นพบตัวตนโดยแท้
แต่กระนั้น กาลิเลโอก็เป็นมนุษย์ เขาเคยทำบางสิ่งที่ผิดพลาดด้วย
ก่อนหน้ากาลิเลโอ ผู้ที่เสนอว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ (หรือเรียกว่าทฤษฎี heliocentrism) ไม่ได้สถิตย์นิ่งอยู่กับที่แล้วดวงดาวต่างๆ หมุนรอบโลก (เรียกว่าทฤษฎี geocentrism) ก็คือนิโคลาส โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus)
มันเป็นแนวคิดที่ใหม่มาก และคนรุ่นใหม่ในยุคนั้นก็หันมาเชื่อแนวคิดนี้ รวมทั้งกาลิเลโอด้วย
แต่คำถามก็คือ—แล้วจะ ‘พิสูจน์’ แนวคิดนี้อย่างไรกันเล่า?
ในตอนแรก กาลิเลโอคิดว่า ปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงน่าจะพิสูจน์เรื่องนี้ได้ เพราะน้ำนั้นไหลไปมา และหากโลกหมุนคว้างไปในอวกาศจริง น้ำก็ต้องถูกเหวี่ยงให้สูงขึ้นลดต่ำลงได้เนื่องจากเกิดแรงเหวี่ยง กาลิเลโอจึงคิดทฤษฎีนี้ขึ้นมา ด้วยหวังจะยืนยันความถูกต้องของโคเปอร์นิคัส
แต่แล้วเขาก็ล้มเหลว
ล้มเหลวเพราะหากทฤษฎีของกาลิเลโอเป็นจริง น้ำขึ้นน้ำลงจะต้องเกิดขึ้นเพียงวันละ 1 ครั้งเท่านั้น ไม่ใช่สองครั้งอย่างที่เราเห็นกัน
ตอนนั้น คนที่อธิบายปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงได้ถูกต้อง ก็คือโยฮันเนส เคปเลอร์ (Johannes Kepler) ผู้บอกว่าเป็นดวงจันทร์ต่างหากที่ส่งอิทธิพลมายังกระแสน้ำขึ้นน้ำลง แต่กาลิเลโอไม่เชื่อ เขายังไม่เชื่อว่าดาวเคราะห์โคจรเป็น ‘วงรี’ อย่างที่เคปเลอร์เสนอด้วย โดยคิดว่าดาวต่างๆ โคจรเป็นวงกลมที่สมบูรณ์แบบ
นั่นคือสิ่งแรกๆ ที่กาลิเลโอพลาด—และไม่ใช่สิ่งสุดท้าย
4
ไม่มีหลักฐานยืนยัน ว่ากาลิเลโอปีนขึ้นไปบนหอคอยปิซ่า แล้วทิ้งลูกตุ้ม หิน หรืออะไรลงมาจากหอเอนเมืองปิซาเพื่อสาธิตว่า เวลาที่วัตถุใช้เพื่อตกลงมานั้น ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับมวลของมัน
นักประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่า อย่างดีที่สุด นี่เป็นเพียง ‘การทดลองทางความคิด’ คือกาลิเลโอลอง ‘คิด’ เพียงว่า ถ้าเอาเชือกมาผูกลูกตุ้มสองชิ้นเอาไว้หลวมๆ ให้ทั้งสองชิ้นเชื่อมโยงกันอยู่ มันจะยังคงตกลงมาประดุจเป็นวัตถุคนละชิ้นที่ร่วงลงมาด้วยความเร็วต่างกันอยู่อีกหรือเปล่า
นักประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่งเสนอว่า มีหลักฐานการทดลองนี้อยู่จริง แต่คนที่ทดลองไม่ใช่กาลิเลโอ ทั้งยังเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนยุคกาลิเลโอด้วย และหอคอยที่ใช้โยนลูกตุ้มหรือหินลงมาก็ไม่ใช่หอเอนที่เมืองปิซา เป็นที่อื่น แต่โดยสรุปแล้วก็คือ—กาลิเลโอไม่เคยทำการทดลองที่ว่านั่นอย่างที่เราเชื่อกัน
ดังนั้น สองเรื่องที่กาลิเลโอไม่ได้ทำแน่ๆ ก็คือเป็นผู้เสนอว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์เป็นคนแรก ทั้งยังไม่ได้ทำการทดลองโยนหินลงมาจากหอเอนเมืองปิซา
แล้วเขาทำอะไรเล่า?
สิ่งที่กาลิเลโอทำนั้นสลักสำคัญต่อ ‘ความเป็นวิทยาศาสตร์’ อย่างยิ่ง มันไม่ใช่การค้นพบอะไร
แต่คือการลงมือทำสิ่งหนึ่ง—สิ่งนั้นก็คือการ ‘พิสูจน์’
โคเปอร์นิคัสอาจเสนอทฤษฎี heliocentrism หรือดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางจักรวาล (อย่างน้อยก็สุริยจักรวาล) แต่เขา ‘พิสูจน์’ คำกล่าวนี้ไม่ได้ เมื่อพิสูจน์ไม่ได้ แม้ศาสนจักรจะไม่พอใจเรื่องนี้มากนัก ทว่าก็ไม่ได้ออกมาต่อต้านอะไรหนักหนา
แต่แล้วในวันที่ 7 มกราคม ค.ศ.1610 กาลิเลโอก็ได้ค้นพบเรื่องสำคัญยิ่งเรื่องหนึ่ง นั่นคือเขาใช้กล้องโทรทรรศน์ที่ประดิษฐ์เอง ส่องขึ้นไปบนท้องฟ้าเพื่อสังเกตดวงดาว เขาบันทึกดาวที่พบเห็นในแต่ละวันเอาไว้ และเมื่อถึงวันที่ 10 เขาพบว่าดาวดวงหนึ่งหายลับไป ก่อนที่จะมาปรากฏอีกครั้งหนึ่งในอีกหลายวันถัดมา
ใช่แล้ว, สิ่งที่กาลิเลโอค้นพบก็คือ ‘ดวงจันทร์’ ของดาวพฤหัส เมื่อมันโคจรเคลื่อนคล้อยเข้าไปด้านหลังดาวพฤหัส เขาจึงมองไม่เห็นมัน ดูเหมือนมันหายลับไป แต่ดวงจันทร์นั้นก็กลับมาใหม่เมื่อโคจรพ้นดาวพฤหัสออกมา
กาลิเลโอค้นพบดวงจันทร์ขนาดใหญ่ที่สุดของดาวพฤหัสถึงสามดวง (จากที่มีดวงจันทร์ขนาดใหญ่ทั้งหมดสี่ดวง) เป็นการค้นพบนี้เอง ที่ ‘ยืนยัน’ หรือ ‘พิสูจน์’ ทฤษฎีของโคเปอร์นิคัส—ว่าเทหวัตถุบนท้องฟ้ามันโคจรรอบกันและกันจริงๆ นั่นทำให้เกิดการปฏิวัติวงการดาราศาสตร์ จากจักรวาลวิทยาแบบอริสโตเติลที่เชื่อกันมาว่าเทหวัตถุต่างๆ หมุนรอบโลก กลายมาเป็นการหมุนคว้างไปรอบกันและกันและรอบดวงอาทิตย์แทน การค้นพบนี้คือเรื่องยิ่งใหญ่ในระดับ ‘เปลี่ยนโลก’ และทำให้กาลิเอโอได้รับการต้อนรับเยี่ยงวีรบุรุษเมื่อเขาเดินทางกลับสู่กรุงโรมในปี ค.ศ.1611
แต่หากเป็นเช่นนั้นแล้ว—เพราะอะไรเขาจึงถูกศาสนจักรลงโทษด้วยการตั้งข้อสงสัยว่าเขาเป็นพวกนอกรีตเล่า?
5
มาฟฟิโอ บาร์เบรินี (Maffeo Barberini) เกิดในตระกูลพ่อค้าที่ร่ำรวยแห่งเมืองฟลอเรนซ์ เขาเติบโตอย่างรวดเร็วในศานจักรคาทอลิก ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัลในปี ค.ศ.1606 และขึ้นสู่ตำแหน่งพระสันตะปาปาในปี ค.ศ.1623 ได้รับการสถาปนาเป็นพระสันตะปาปาเออร์แบนที่แปด
ที่จริงแล้ว พระองค์เป็นเพื่อนของกาลิเลโอ
ในช่วงต้นๆ ของยุคสมัยพระสันตะปาปาเออร์แบนที่แปด กาลิเลโอมีเหตุผลทุกประการที่จะเชื่อมั่นว่า ศาสนจักรจะผ่อนคลายการต่อต้านความคิดแบบโคเปอร์นิคัส เพราะพระสันตะปาปาใจกว้าง และสนใจแนวคิดของกาลิเลโอ รวมทั้งเคยให้กาลิเลโอเข้าไปเล่าเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ถวายหลายต่อหลายครั้งด้วย ดังนั้น จึงไม่มีอะไรน่ากลัวเลยสำหรับแนวคิดของโคเปอร์นิคัส
แต่สิ่งที่กาลิเลโอไม่เคยรู้มาก่อนก็คือ ก่อนหน้าจะรับตำแหน่ง พระสันตะปาปาได้รับคำสั่งจากพระสันตะปาปาองค์ก่อนมาว่า แนวคิดของโคเปอร์นิคัสนั้น แม้สามารถนำเสนอได้ พูดถึงได้ แต่เรื่องต้องห้ามก็คือ ต้องไม่มีวันทำให้มันเป็น ‘เรื่องจริง’ ในแบบที่ ‘จับต้องได้’ (หรือ physically true) ขึ้นมาเป็นอันขาด แต่กระนั้น ในฐานะเพื่อนและผู้ที่ชื่นชมกาลิเลโอมาตลอด พระสันตะปาปาเออร์แบนที่แปดก็ไม่ได้ทำอะไร พระองค์ถึงขั้นเคยต่อต้านการประณามกาลิเลโอในปี ค.ศ.1616 เสียด้วยซ้ำ
พระองค์เคยบอกกาลิเลโอว่า จะเขียนหนังสือถึง heliocentrism ก็ได้ แต่ควรเขียนถึงทั้งแง่มุมสนับสนุนและแง่มุมคัดค้าน และต้องระวังอย่าแสดงความเห็นสนับสนุนออกมาตรงๆ
แต่แล้ว กาลิเลโอ—ชายผู้โผงผาง ปากตรงกับใจ และไม่เกรงกลัวสิ่งใด, ก็ได้เขียนหนังสือชื่อ Dialogue Concerning the Two Chief World Systems ออกมาในปี ค.ศ.1632
สมัยนั้น การเขียนหนังสือความรู้เหล่านี้ ไม่ได้เขียนกันเป็นระบบ ความเป็น fiction และ non-fiction ผสมปนเปกัน ดังนั้น ในหนังสือเล่มนี้จึงมีตัวละครหนึ่งซึ่งออกมาปกป้องและเป็นตัวแทนแนวคิดโลกคือศูนย์กลางจักรวาล โดยกาลิเลโอเขียนให้ตัวละครนี้มีชื่อว่า Simplicio ซึ่งมีนัยบ่งบอกว่า เจ้า Simplicio นี้ คือคนโง่ (simpleton) และให้ตัวละครนี้แสดงออกถึงความผิดพลาดและมีสติปัญญาต่ำต้อยหลายครั้ง
ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ ด้วยความที่กาลิเลโอสนิทสนมกับพระสันตะปาปา เขาจึงนำ ‘คำพูด’ ของพระสันตะปาปาที่สนับสนุนแนวคิดเรื่องโลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล ใส่เข้าไปใน ‘ปาก’ ของ ‘เจ้าโง่’ หลายหน
คนอ่านรู้ คนอ่านหัวเราะเยาะ คนอ่านร่ำลือกัน—ว่ากาลิเลโอเสียดสีพระสันตะปาปา
นั่นเองที่ทำให้พระสันตะปาปารับไม่ได้
ด้วยงานเขียนของกาลิเลโอที่พูดถึง ‘ความจริง’ ด้วยฝีปากอันร้ายกาจและโผงผางของกาลิเลโอ เขาได้ทำให้เพื่อนและผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดในตอนนั้น คือตัวพระสันตะปาปาเอง—กลับกลายเป็นศัตรู
แล้วการไต่สวนลงโทษก็เกิดตามมา
แม้กาลิเลโอจะไม่เคยโดนข้อหาว่าเป็นพวก ‘นอกรีต’ (หรือ heresy) อย่างเป็นทางการ เขาโดนข้อหาเบากว่านั้น (แต่ก็ร้ายแรงเอาการสำหรับยุคสมัย) นั่นคือต้องสงสัยอย่างรุนแรงว่าจะเป็นพวกนอกรีต ทว่าแค่นั้นก็มากพอแล้วที่จะทำให้ถูกกักบริเวณอยู่แต่ในบ้าน และจะอยู่อย่างนั้นต่อไปจนถึงวาระสุดท้าย
6
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เรียกกาลิเลโอว่าเป็น ‘บิดาแห่งวิทยาศาสตร์สมัยใหม่’
สตีเฟน ฮอว์กิง ก็คล้ายกัน เขาบอกว่ากาลิเลโอน่าจะเป็นคนที่มีส่วนต่อการให้กำเนิดวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มากยิ่งกว่าใครทั้งปวง โดยหลักการที่ทำให้เกิดวิทยาศาสตร์ ‘สมัยใหม่’ ขึ้นมา—ก็คือการ ‘พิสูจน์’ ทฤษฎี อย่างที่กาลิเลโอพิสูจน์แนวคิดของโคเปอร์นิคัสนั่นเอง
ในปี ค.ศ.1992 พระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่สอง ได้แถลงแสดงความเสียใจกับการที่ศาสนจักรปฏิบัติต่อกาลิเลโออย่างที่เกิดขึ้น และในปี ค.ศ.2008 วาติกันประกาศจะสร้างอนุสาวรีย์ของกาลิเลโอขึ้นภายในกำแพงของวาติกัน อันเป็นเกียรติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
แต่กระนั้นก็ดูคล้ายกาลิเลโอจะไม่แคร์เท่าไหร่นัก
ก่อนหน้านี้ ในปี ค.ศ.1737 ศพของกาลิเลโอถูกขุดขึ้นมาจากห้องเล็กๆ นั่น เพื่อนำมาฝังใหม่อย่างสมเกียรติในห้องโถงใหญ่ของมหาวิหาร โดยมีการตั้งอนุสาวรีย์เป็นเกียรติให้แก่เขาด้วย
ที่น่าสนใจก็คือ—ในระหว่างเคลื่อนย้ายศพ นิ้วกลางของกาลิเลโอหลุดออกมาจากมือขวาของเขา
ในทางวิทยาศาสตร์ นี่คือเป็นเรื่องบังเอิญ แต่จะอย่างไรก็ตาม—ปัจจุบันนี้ นิ้วกลางของกาลิเลโอที่หลุดออกมาได้รับการจัดแสดงอยู่ที่ Museo Galileo ในเมืองฟลอเรนซ์ของอิตาลี มันได้รับการจัดวางให้ตั้งขึ้น ราวกำลังชี้ขึ้นไปสู่ฟ้าสวรรค์ ณ ดินแดนที่พระเจ้าก็ไม่เคยไปถึง
แม้ในปัจจุบัน จะมีนิ้วชี้ นิ้วหัวแม่โป้ง และฟัน จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์เดียวกัน แต่ก็ยังเป็น ‘นิ้วกลาง’ ของกาลิเลโอนั่นเอง—ที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนมากที่สุด
เป็นไปได้ ว่านี่อาจเป็นการ ‘มอบนิ้วกลาง’ ให้แก่สาธารณชนที่น่าสนใจที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ก็ตาม