รอบที่แล้ว ผมเขียนเรื่องเครื่องแบบญี่ปุ่น ว่าทำไมในสังคมญี่ปุ่นที่ชอบแต่งตัวกัน แต่กลับไม่มีเสียงต้านเครื่องแบบนักเรียนเท่าไหร่นัก ซึ่งก็ได้แสดงความเห็นผมไปตามที่สังเกตไว้ แต่หนึ่งในประเด็นที่ยังไม่ได้แตะก็คือ เรื่องของเครื่องแบบในแง่ของเพศและเพศสภาพ ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนไม่เบา เพราะประเทศที่หลายต่อหลายเรื่องดูจะเป็นอนุรักษนิยมเอาเรื่อง แต่พอบทจะทำอะไรก้าวหน้าขึ้นมาก็ก้าวหน้าได้อย่างน่าทึ่งเหมือนกัน ซึ่งในตอนนี้แนวคิดเรื่อง ‘Genderless’ ก็เริ่มเป็นที่ยอมรับในโรงเรียนญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ
ตัวอย่างแรกก็คือเรื่องเครื่องแบบนี่ล่ะครับ ที่ผ่านมาก็คือทุกคนก็ใส่เครื่องแบบตามเพศสภาพของตัวเองเหมือนกับไทยเรา ซึ่งที่ผ่านมาก็คงไม่ได้มีใครให้ความสนใจอะไรเท่าไหร่นัก เกิดมาอย่างไรก็ใส่ตามนั้นไปสิ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปและมีการแสดงความเห็น เรื่องความทุกข์ทรมานในการที่ต้องใส่เครื่องแบบที่ไม่ต้องกับเพศที่ตนเองระบุ ก็ทำให้เริ่มมีการเห็นปัญหาตรงนี้และมีการพยายามยามเปลี่ยนแปลง
จนปัจจุบัน คณะกรรมการการศึกษาในหลายจังหวัดของญี่ปุ่นเริ่มมีแนวทางให้โรงเรียนมีเครื่องแบบที่เป็นกลางทางเพศในสถานศึกษา หรือให้แต่งเครื่องแบบตามเพศที่ตนเองเลือกได้ ถือเป็นทางเลือกใหม่สำหรับนักเรียนที่ไม่สบายใจกับเครื่องแบบที่ตนเองต้องใส่
ในตอนนี้เท่าที่เห็นก็คือ เครื่องแบบที่ให้นักเรียนหญิงเลือกใส่กางเกงแทนกระโปรงได้ แต่ในทางกลับกัน ก็มีการอนุญาตให้นักเรียนชายใส่กระโปรงได้ในบางที่ (เครื่องแบบท่อนบนเหมือนกัน) ซึ่งก็เรียนตามตรงว่ายังมีอาจารย์ที่ห่วงกรณีหลังอยู่ เพราะนักเรียนหญิงใส่กางเกงยังดูไม่เป็นจุดเด่นเท่านักเรียนชายใส่กระโปรง และอาจจะทำให้เกิดการกลั่นแกล้งกันได้
ถึงอย่างนั้นก็ยังยืนยันว่าควรมีเป็นทางเลือกให้นักเรียน
แทนที่จะปิดตายไม่ให้โอกาสเลือกอะไรเลย
แต่ในขณะเดียวกัน บางแห่งก็มีการเสนอให้นักเรียนชายสามารถใส่กางเกงขาสั้นได้ เพื่อให้เข้ากับช่วงฤดูร้อนที่ร้อนนรกของญี่ปุ่น แต่กลับกลายเป็นว่านโยบายส่วนนี้ผ่านได้ยากกว่า ก็น่าสนใจว่าทำไม
แต่ในส่วนตัวผมก็มองว่าการที่มีตัวเลือกให้นักเรียนหญิงใส่กางเกงได้นี่ก็ถือเป็นเรื่องดีตรงที่นอกจากในแง่ของเรื่องเพศแล้ว ยังเหมาะกับสภาพอากาศช่วงฤดูหนาวด้วย (มีช่วงนึงเด็กผู้หญิงใส่กางเกงวอร์มไว้ข้างในกระโปรงช่วงฤดูหนาว ผมเห็นแล้วก็ได้แต่ อืม ต่อไปคงไม่ต้องลำบากกันแล้ว) และนักเรียนหญิงบางคนก็บอกว่า แบบนี้ปั่นจักรยานมาโรงเรียนได้ง่ายกว่า ไม่ต้องกังวลกระโปรงเปิด เท่าที่อ่านมาคือ เพราะมันเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทำให้ตอนนี้อาจจะยังไม่มีใครเปลี่ยนไปใส่เครื่องแบบที่ตัวเองต้องการมากนัก แต่ในอนาคต ประเด็นนี้อาจจะเป็นสิ่งที่เด็กที่จะสอบเข้าเรียนเอามาคิดเวลาจะเลือกโรงเรียนต่อไปอีกด้วยครับ
ประเด็นที่ผมคิดว่าดีคือ เสนอมาเป็นทางเลือก เพื่อให้มีตัวเลือกตามที่ตัวเองต้องการ ไม่ใช่ว่าต้องตะบี้ตะบันบังคับให้แต่งต่อไปโดยบอกว่า ก็ทำมากันแบบนี้ นั่นล่ะครับ อย่างน้อยก็จะได้มองเด็กเป็นปัจเจกแต่ละคนไปบ้าง ไม่ใช่เอะอะต้องแต่งเหมือนกันให้หมด
แต่เส้นทางกว่าจะได้มาถึงวันนี้ก็ไม่ใช่ง่ายเหมือนกันนะครับ เพราะนอกจากการรณรงค์จากตัวนักเรียนเองแล้ว ผู้ใหญ่ทั้งหลายก็มีส่วนเข้ามาช่วยเหมือนกัน โดยเฉพาะนักการเมืองระดับท้องถิ่น ซึ่งที่น่าสนใจมากๆ คือ นักการเมืองที่มีบทบาทในการผลักดันประเด็นนี้เป็นอย่างมากก็คือนักการเมืองจากพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นครับ
เอาจริงๆ แถวบ้านผมมีที่ทำการท้องถิ่นพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นอยู่ด้วย เลยได้เห็นใบปลิวของเขาบ่อยๆ ที่น่าสนใจก็คือเขาชูประเด็นของความเท่าเทียมกันของทุกเพศ เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของพรรคด้วย ทำให้ไม่แปลกใจที่นักการเมืองท้องถิ่นของพรรคนี้จะร่วมผลักดันนโยบายแนวนี้ให้ผ่าน ก็ต้องขอยอมรับความพยายามของฝ่ายนักการเมืองด้วย และเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าถ้านักการเมืองทำงานเพื่อประชาชนที่เลือกเข้าไปแล้วก็จะเห็นผลดีเช่นนี้ล่ะครับ
ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเครื่องแบบนะครับ แต่ว่าเริ่มมีหลายจังหวัดที่ในตอนสมัครสอบเข้า ไม่มีให้ระบุเพศของผู้สมัครในเอกสารสมัครอีกด้วย จากที่ผ่านมาแบบฟอร์มพวกนี้ของญี่ปุ่นจะมีช่องให้กาเลือกเพศเป็นปกติ
ถือว่าเป็นอีกก้าวที่น่าสนใจมากๆ
ในการที่ก้าวข้ามธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมาได้
ที่เขียนมานี่ส่วนใหญ่จะพูดถึงเด็กระดับมัธยมเป็นหลัก เพราะเป็นช่วงที่มีเครื่องแบบและระดับมัธยมปลายก็ไม่ได้เป็นการศึกษาภาคบังคับ (เขาบังคับแค่ถึงระดับมัธยมต้น) ดังนั้นทำให้สามารถเลือกไปสอบเข้าที่โรงเรียนไหนตามความต้องการของตัวเองได้ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ใช่ว่าในระดับประถมจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรนะครับ
แม้เด็กประถมญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไม่มีเครื่องแบบ แต่ก็ยังมีเครื่องแต่งกายบางอย่างที่จำเป็นต้องใช้ในบางโอกาส ซึ่งเครื่องแต่งกายกลุ่มนี้ล่ะครับ ที่ยังมีการแยกชายหญิงอยู่ เช่น หมวกสีเหลืองที่ใส่เพื่อความปลอดภัย ที่ผ่านมาบางที่ก็กำหนดให้เด็กชายใส่หมวกแก๊ปแล้วเด็กหญิงใส่หมวกทรงที่มีปีกหมวกรอบ (คล้ายหมวก Bucket Hat) แต่บางเขตการศึกษาก็ได้มีการประกาศว่า ให้เด็กเลือกหมวกที่อยากใส่ได้ตามใจ ไม่ต้องกำหนดตามเพศสภาพอีกต่อไป
แต่ไม่ใช่แค่เรื่องเครื่องแบบหรือเครื่องแต่งกาย แต่ปัจจุบัน โรงเรียนประถมหลายแห่งก็เริ่มเข้าใจปัญหาเรื่องห้องน้ำของเด็ก เนื่องจากเด็กหลายคนก็ไม่สะดวกใจที่จะเข้าห้องน้ำตามเพศสภาพของตัวเอง ซึ่งแนวทางในการจัดการปัญหาก็มีหลายแนวทาง เช่นทำห้องน้ำที่ไม่ว่าใครก็ใช้ได้ ทั้งนักเรียนและอาจารย์ เพื่อให้เด็กได้เลือกใช้
แต่มีอีกแนวทางหนึ่งที่เริ่มได้รับความสนใจจากหลายโรงเรียนคือ ห้องน้ำแบบไม่แยกเพศ นั่นคือ ออกแบบห้องน้ำใหม่ให้ไม่ว่าจะเพศไหนก็สามารถใช้ร่วมกันได้ เปลี่ยนห้องน้ำแบบเดิมที่แยกเพศกัน กลายเป็นห้องน้ำใหญ่ที่เด็กชายหญิงใช้ร่วมกันเลย
จากที่แต่เดิมเด็กชายก็มีโถปัสสาวะเป็นหลัก ก็กลายเป็นห้องน้ำรวมที่เป็นส้วมแบบนั่งที่มีจำนวนมากขึ้น และไม่มีโถปัสสาวะ หรือมีก็โถเดียวและอยู่ในห้องแยกเหมือนส้วมแบบนั่ง โดยอาจจะระบุโถนั่งห้องหนึ่งเป็นเฉพาะหญิง และอีกสองห้องเป็นของทั้งชายหญิง รวมไปถึงเพิ่มห้องน้ำเพื่อเด็กที่ต้องใช้รถเข็นเข้าไปด้วย แบบนี้เด็กก็สามารถที่จะเข้าใช้ห้องน้ำแบบสบายใจมากขึ้น ไม่ต้องกังวลว่าจะเข้าห้องไหนดี ก็เป็นการออกแบบที่น่าสนใจ
และรายการข่าวเขาไปสัมภาษณ์เด็ก ก็บอกว่าสะดวกดี ไม่รู้สึกอะไร ซึ่งผู้ออกนโยบายก็อธิบายว่า เพราเป็นเด็กทำให้ยังไม่มีอคติเรื่องนี้มากนัก จะบอกว่าเด็กใจกว้างกว่าผู้ใหญ่ก็ได้ (จริงๆ เรื่องการเปลี่ยนห้องน้ำเป็นแบบโถนั่งหมดนี่ผมเห็นมีโรงเรียนทำเมื่อสิบกว่าปีก่อน แต่ไม่ใช่เพื่อเรื่อง LGBT แต่เพราะว่า เด็กจะได้ใช้ห้องน้ำแบบเดียวกันหมด ไม่รู้ว่าใครอึที่โรงเรียนจนโดนแกล้ง เป็นเล่นไป ตอนเด็กๆ การอึที่โรงเรียนนี่ต้องอาศัยความกล้าเอาเรื่องเหมือนกันนะครับ)
นอกจากนี้บางโรงเรียนยังยกเลิกคำเรียกที่แสดงเพศ ถ้าใครอ่านมังงะหรือดูอนิเมะคงคุ้นว่า ญี่ปุ่นมีคำห้อยท้ายชื่ออยู่ประจำ ไม่ว่าจะเป็น ซัง ซามะ คุง จัง ซึ่งในโรงเรียนเวลาอาจารย์เรียกนักเรียน ก็มักจะใช้ คุง กับเด็กชาย และ จัง กับเด็กหญิง เป็นปกติ รวมไปถึงเวลาเด็กนักเรียนคุยกันเองด้วย (โนบิตะคุง ชิซุกะจัง) แต่ปัจจุบันป้องกันปัญหานักเรียนไม่สบายใจ จึงเปลี่ยนเป็นการใช้คำว่า ซัง เหมือนกันหมด ซึ่งเด็กก็บอกว่า สบายดีเหมือนกัน ง่ายดี
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีหลายต่อหลายเรื่องที่ยังต้องขบคิดกันต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชุดพละ วิชาว่ายน้ำ การตรวจร่างกาย กิจกรรมนอกสถานที่ที่ต้องค้างแรม อีกหลายเรื่องที่เขาก็เริ่มถกหาแนวทางใหม่ๆ กัน เอาจริงๆ แล้วกับประเทศที่ดูอนุรักษนิยมจ๋าๆ ในหลายๆ เรื่อง เห็นการพัฒนาในแนวทางนี้ผมเองก็ทึ่งเหมือนกันว่าเขาก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเมื่อจำเป็น แม้หลายครั้งจะดูเป็นความพยายามเพื่อ ‘ให้ดูเหมือนได้ทำ’ แต่ถ้าไม่เริ่มอะไร ไม่กล้าเปลี่ยนอะไรเลย ก็คงอยู่กันไปเรื่อยๆ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็ต้องขอชมบุคลากรและผู้เกี่ยวข้องที่พยายามผลักดันเรื่องเหล่านี้ หวังว่าจะมีบุคลากรที่พยายามทำความเข้าใจตัวเด็กนักเรียนแบบนี้เพิ่มขึ้นนะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก