ตามข่าวที่เมืองไทยช่วงที่ผ่านมาแล้ว ข่าวหนึ่งที่ไม่หลุดสายตาของผมไปแน่นอนคือเรื่องการประท้วงเรื่องเครื่องแบบนักเรียนของเด็กนักเรียนทั้งหลาย ซึ่งขอบอกตั้งแต่ตรงนี้เลยว่า ผมสนับสนุนการเคลื่อนไหวครั้งนี้ครับ เพราะสำหรับผมแล้ว การที่บอกว่า “เพราะทำมาแบบนี้” มันไม่ใช่เหตุผลที่ฟังขึ้น การประท้วงครั้งนี้เป็นโอกาสให้เอาเรื่องนี้กลับมามองอีกครั้งว่ามันจำเป็นแค่ไหน และมีประโยชน์อะไร ใส่ชุดอื่นแล้วเรียนหนังสือได้มั้ย อะไรอีกสารพัด ซึ่งก็เป็นการเปิดประเด็นที่ทำให้สามารถต่อยอดไปยังประเด็นอื่นๆ ได้ ว่า ระบบการศึกษาของเรา ที่ทำๆ กันมานี่มันดีจริงเหรอ
แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจจะย้อนแย้งหน่อยว่า ถึงผมจะสนับสนุนการประท้วงเรื่องเครื่องแบบนักเรียน แต่ตัวผมเองก็อยู่ในประเทศที่มีเครื่องแบบนักเรียน แถมยังเป็นเครื่องแบบที่ขึ้นชื่อลือชาไปทั่วโลกอีกด้วย แล้วแบบนี้มันไม่ตลกเหรอ หรือว่าผมวิจารณ์แต่เมืองไทย (ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้วเพราะเป็นประเทศตัวเอง ถ้าอยากให้ดีขึ้นก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์กันไป) แต่ไม่วิจารณ์ญี่ปุ่น
เอาเข้าจริงๆ แล้ว ถึงเรื่องเครื่องแบบนักเรียน จะเป็นเรื่องที่เหมือนๆ กัน แต่มองลงไปลึกๆ แล้ว มันเอามาเทียบกันยากครับ เกริ่นไว้ก่อนเลยว่า สำหรับเด็กญี่ปุ่นแล้ว เครื่องแบบมันไม่ใช่สิ่งที่เอาไว้ใช้บังคับนักเรียนแต่อย่างเดียว แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งแล้ว มันกลายเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกตัวตนในสังคมของผู้สวมใส่ และกลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่เรียกได้ว่าพึงปรารถนาด้วยสิครับ
ก่อนอื่นเลย คงต้องย้อนไปเล่าเรื่องที่มาของเครื่องแบบนักเรียนของญี่ปุ่นแบบย่อๆ ก่อนว่า เดิมญี่ปุ่นเองในระบบการศึกษาแบบเดิมเขาเองก็มีเครื่องแบบสำหรับนักเรียนแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมที่ออกจะรุ่มร่าม เหมือนชุดซามุไรที่เราเห็นตามละครย้อนยุค ผู้หญิงก็เป็นชุดแบบคล้ายกิโมโนแต่ก็ใส่ง่ายกว่า แต่ก็พองๆ หนาๆ ดูแล้วน่าจะราคาไม่เบาแถมยังเคลื่อนไหวไม่สะดวกเหมือนกัน
ยิ่งถ้าลองเอามาใส่ในปัจจุบันนี้ กว่าจะได้ออกบ้านคงต้องตื่นแต่เช้า แถมเวลาอากาศร้อนก็คงทรมานไม่เบา จนญี่ปุ่นเองก็ไปหยิบยืมเอาวัฒนธรรมต่างถิ่น มาปรับใช้เป็นของตัวเอง โดยชุดนักเรียนชายแบบที่เคยฮิตกัน ใส่เสื้อนอกสีกรมท่า ติดกระดุมจนถึงคอ เครื่องแบบมาตรฐานของโรงเรียนรัฐ ก็บอกว่าเอาแบบมาจากเครื่องแบบทหารเนเธอร์แลนด์ แต่จริงๆ แล้วมีคนชี้ว่าเอามาจากทหารฝรั่งเศสมากกว่า
แต่ว่าในอดีตญี่ปุ่นปิดประเทศไม่ได้สานสัมพันธ์กับต่างชาติ ยกเว้นชาวดัตช์ที่ได้รับการยกเว้น ดังนั้นอะไรที่มาจากตะวันตกจึงมักจะเหมาเป็นของชาวดัตช์ไป ชุดนักเรียนชายเลยได้ชื่อว่า ‘กะคุรัน’ ซึ่ง ‘กะคุ’ แปลว่า ศึกษา เรียน ส่วน ‘รัน’ เป็นคำแทนประเทศเนเธอร์แลนด์ มาจาก รัน ในคำว่า ฮอรันดา หรือฮอลแลนด์ในภาษาญี่ปุ่นนั่นเอง ซึ่งชุดนักเรียนชายก็ถูกเริ่มนำมาใช้ในสมัยไทโช หรือในยุคเดียวกับเรื่อง Kimetsu no Yaiba นั่นเอง สังเกตว่าชุดพื้นฐานของตัวละครก็คล้ายๆ กับชุดนักเรียนชายญี่ปุ่นนะครับ
ส่วนชุดนักเรียนหญิงจากเดิมเป็นชุดญี่ปุ่นแบบที่บอก พอมีชุดนักเรียนชาย ชุดนักเรียนหญิงก็ตามมา ด้วยการไปเอาแบบมาจากชุดทหารเรืออังกฤษ กลายมาเป็นชุดเซเลอร์ หรือชุดกะลาสี ที่เป็นเอกลักษณ์ของนักเรียนหญิงญี่ปุ่นมานานถึงช่วงยุค 90 ก่อนที่จะเด็กรุ่นใหม่จะหันไปนิยมใส่เบลเซอร์แทน เช่นเดียวกับนักเรียนชายที่หลังๆ ก็หันมาเป็นเบลเซอร์กับกางเกงสแลคกันมากขึ้น
ที่เขียนอธิบายมานี่คือเรื่องของเด็กมัธยมต้นและปลายล้วนๆ เพราะในญี่ปุ่นแล้ว ที่ใส่เครื่องแบบเป็นหลักคือเด็กมัธยม เด็กประถมทั่วไปไม่มีเครื่องแบบอะไร ยกเว้นแต่จะเป็นโรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนสาธิต ซึ่งก็จัดได้ว่าหรูหราไฮโซกว่า จัดว่าเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งได้เหมือนกัน
แต่มองแล้วก็พอเข้าใจนะครับ เพราะช่วงประถม เป็นช่วงเวลาที่ขนาดตัวเด็กเปลี่ยนแปลงเยอะ ถ้าต้องซื้อเครื่องแบบก็อาจจะต้องเปลี่ยนบ่อยๆ กลายเป็นภาระของทางบ้านไปอีก ใส่ชุดไปรเวทตามสะดวกก็ดูเมคเซนส์ดี เราเลยไม่ค่อยได้เห็นเด็กประถมญี่ปุ่นแต่งเครื่องแบบเท่าไหร่นัก ดูจากอนิเมะเรื่องดังๆ ทั้งหลายก็ได้ครับ ว่าแทบจะไม่มีตัวละครที่มีเครื่องแบบเลย
กลับมาเรื่องชุดนักเรียนเด็กมัธยมของญี่ปุ่น ผมก็รู้สงสัยเอาเรื่องเหมือนกันว่า ที่ญี่ปุ่นเขาไม่มีแนวคิดจะรณรงค์ยกเลิกเครื่องแบบนักเรียนมัธยมบ้างหรืออย่างไร เพราะก็จัดว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ยังมีเครื่องแบบในระดับมัธยมอยู่ ต่างกับชาติตะวันตกที่ไม่ค่อยมีกันหรือมีก็มักจะเป็นโรงเรียนบางกลุ่มเท่านั้น (ซึ่งมักจะเป็นโรงเรียนหรูนั่นเอง)
ซึ่งพอค้นข้อมูลหาอ่านดู ก็ไม่ค่อยพบการเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรม หรือขนาดใหญ่แบบที่เกิดขึ้นที่ไทยช่วงนี้เท่าไหร่นัก แต่ก็มีการเคลื่อนไหวระดับโรงเรียน เช่น โรงเรียนตัดสินใจยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน ให้ใส่ชุดตามสะดวกมาเรียนได้ ซึ่งก็กลายเป็นว่าบางคนก็ไปหาซื้อชุด คล้ายเครื่องแบบ มาใส่แทน เพราะมันดูเข้ากับช่วงอายุมากกว่าและที่สำคัญคือมันดูน่ารักนั่นเอง
ซึ่งพอมาคิดตรงนี้แล้ว ก็ทำให้รู้สึกได้ว่า ช่วงโรงเรียนมัธยมนี่เองที่เป็นช่วงเดียวที่เด็กวัยรุ่นจะได้ใส่เครื่องแบบ (ยกเว้นแต่จะไปสมัครเข้ากองกำลังป้องกันประเทศ หรือตำรวจ หรืออาชีพเฉพาะทาง) และมันก็เป็นช่วงเวลาที่เบ่งบานที่สุดของวัยรุ่น พอมาใส่เครื่องแบบในช่วงนี้ ก็กลายเป็นว่าเครื่องแบบเหล่านี้กลายเป็นเครื่องหมายของเด็กวัยรุ่นไปโดยปริยาย โดยเฉพาะเครื่องแบบนักเรียนหญิงแบบชุดกะลาสี
ที่ผ่านการปรับปรุงมาให้เป็นวัฒนธรรมป๊อป
แบบวงกว้างมาแล้วหลายต่อหลายรอบ
ตั้งแต่สมัยต้นยุค 80 ที่มากับความนิยมของไอดอลรุ่นนั้น ก็มีทั้งละครทีวี นักสืบสาวสุเคะบัน ที่ใส่เครื่องแบบชุดกะลาสีกระโปรงยาวแบบจิ๊กกี๋ (ศัพท์เก่ามาก) แล้วปราบเหล่าร้ายด้วยลูกดิ่งโยโย่ หรือเพลง Seraa Fuku wo Nugasanaide หรือ อย่าถอดชุดกะลาสีของชั้น ของวง Onyanko Club เจ้าของเดียวกับ AKB48 ที่ รวมไปถึงภาพยนตร์เรื่อง Seraa Fuku to Kikanjuu หรือชุดกะลาสีกับปีนกล ที่ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกัน แล้วมีฉากในตำนานคือ เด็กสายในชุดกะลาสีรัวปืนใส่เหล่าร้าย แล้วปิดท้ายด้วยสีหน้าสุดฟินพร้อมบอกว่า “รู้สึกดีสุดๆ” ที่ถูกพาโรดี้ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง และเมื่อเข้ายุค 90 ก็ยังมีอนิเมะ Sailor Moon มาตอกย้ำความนิยมของเครื่องแบบนักเรียนหญิงในแง่วัฒธรรมป๊อปต่อ
ยังไม่นับว่า ตัวผู้ใส่ชุดเครื่องแบบคือ JK และ JC ซึ่งเป็นคำย่อของ Joshi Koukousei และ Shochi Chuugakusei หรือนักเรียนมัธยมปลายหญิง และนักเรียนมัธยมต้นหญิง ก็กลายมาเป็นหนึ่งในผู้เล่นตัวสำคัญของวัฒนธรรมป๊อปญี่ปุ่น เพราะสำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว JK คือผู้ที่กำหนดว่าอะไรจะฮิตไม่ฮิตนั่นเองครับ ใครอยากรู้ว่าเทรนด์ญี่ปุ่นจะไปในทางไหน ให้ไปดูเลยว่า JK เขานิยมอะไรกัน แล้วสิ่งนั้นก็จะค่อยๆ แมสในวงกว้างเองทีหลัง แล้วมีอะไรที่จะแสดงความเป็น JK ได้ชัดเจนมากเท่ากับเครื่องแบบนักเรียนล่ะครับ
ทำให้สังเกตได้ว่าเทรนด์ของแฟชั่นของญี่ปุ่นก็ได้รับอิทธิพลจาก JK ผ่านเครื่องแบบไม่น้อยเหมือนกัน ตั้งแต่ความนิยมของเครื่องแบบกะลาสีจนกลายมาเป็นเบลเซอร์แบบปัจจุบัน ซึ่งก็มีเทรนด์ต่างๆ ผ่านมาผ่านไปไม่น้อย ทั้งถุงเท้าลูซซอกส์หลวมๆ ใหญ่ๆ กองท่วมรองเท้า หรือการตกแต่งเครื่องแบบให้เป็นไปในแบบของตัวเอง หรือการแต่งหน้าสีเข้มแบบแกลแต่ยังใส่เครื่องแบบไว้
จนทำให้ JK ในเครื่องแบบมัธยมปลายกลายเป็นภาพจำของญี่ปุ่นไปอีกหนึ่งอย่าง จึงไม่แปลกใจว่าเมื่อเห็นตัวละคร ‘ญี่ปุ่น’ ในสื่อบันเทิงตะวันตก หลายครั้งจึงเป็นเด็กสาวมัธยมในชุดนักเรียนนี่ล่ะ รวมไปถึงตัวรัฐบาลญี่ปุ่นเองที่ตอนจัด ทูตความคาวาอี้ หรือทูตความน่ารัก ไปเผยแพร่วัฒนธรรมคาวาอี้ของญี่ปุ่น เด็กสาวมัธยมในชุดนักเรียนก็เป็นหนึ่งในสามตัวแทนของญี่ปุ่น เรียกได้ว่าเป็นภาพจำที่มีอิทธิพลสูงจริงๆ
เมื่อเครื่องแบบและวัยรุ่นกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมป๊อปไปแล้ว มันก็เลยกลายเป็นว่า นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการเติบโตของญี่ปุ่น เป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ที่มีโอกาสได้สัมผัสในสิ่งที่คนอื่นไม่มีโอกาสได้สัมผัส ทำให้ไม่ได้มีเสียงต้านอะไรมากนัก แต่ก็มีการปรับให้เข้ากับยุคสมัยบ้าง เช่น โรงเรียนหลายที่ก็เลือกปรับปรุงชุดนักเรียนของตัวเองให้ทันสมัย หรือดูน่ารักยิ่งขึ้น เพื่อดึงให้เด็กสนใจเข้ามาเรียน
ก็ไม่แปลก เพราะเขาขนาดมีสารานุกรมรวมชุดนักเรียนขาย เพื่อให้เช็คว่าที่ไหนแต่งตัวอย่างไร ต้องใช้กระเป๋าอะไรแบบไหน หรือบางโรงเรียนก็ตัดสินใจ อนุญาตให้เด็กนักเรียนแต่งตัวตามเพศที่ตัวเองเลือกได้ ก็ถือเป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อย ก่อนนี้ก็มีข่าวว่ามีโรงเรียนเอกชนในโตเกียวเลือกให้แบรนด์เนมชื่อดังเป็นผู้รับผิดชอบการจัดเตรียมเครื่องแบบ ก็เป็นข่าวฮือฮา แต่ดูจากค่าเรียนแล้ว คงไม่ต้องห่วงเรื่องผู้ปกครองหาเงินซื้อเสื้อผ้าให้ไม่ได้เท่าไหร่ครับ
เรื่องการใส่หรือไม่ใส่ชุดนักเรียน ก็มีความเห็นในเน็ตหลากหลาย เท่าที่เห็นคือ สายที่สนับสนุนให้มีเครื่องแบบก็คือ ไม่ต้องลำบากคิดว่าจะแต่งอะไร ไม่ต้องกลัวใส่เสื้อผ้าเชย ทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันได้ (อันนี้ก็ต้องบอกว่า ทำให้ ดูเหมือน เท่าเทียม มากกว่าครับ) สามารถใช้เป็นชุดทางการได้ (ในญี่ปุ่นถ้าเป็นนักเรียนมัธยม เวลาไปงานทางการ งานศพ งานแต่ง ก็จะใส่ชุดนักเรียนเป็นหลักครับ) เช่นเดียวกับฝ่ายอาจารย์ที่ดูแลได้ง่ายขึ้น (แต่ตอนประถมก็ไม่มีเครื่องแบบนะ) ถ้าไปไหนในนามโรงเรียนก็จะแต่งชุดนักเรียนตลอด ไม่ว่าทัศนศึกษา เดินทางไปแข่งกีฬา ซ้อมกีฬา (อาจจะใส่ชุดพละ) ทำให้ดูแลง่ายครับ
แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็คือ เป็นการลดทอนความเป็นปัจเจกของแต่ละคนไป เป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ รวมไปถึงความเสี่ยงที่จะถูกคนไม่หวังดีตามตัวได้ง่าย เพราะแค่ดูชุดก็รู้แล้วว่าเรียนที่ไหน ทำให้ติดตามตัวได้ง่าย ก็คงต้องถกเถียงกันต่อไปครับ
ชุดนักเรียนก็คงอยู่กับสังคมญี่ปุ่นต่อไปอีกนาน
เพราะอย่างน้อยมันก็สามารถกลายมาเป็น
ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมป๊อปไปได้แล้ว
แล้วมองกลับมาทางไทย เครื่องแบบนักเรียนของเรามีบทบาทอย่างนี้หรือไม่ครับ ยังไม่นับว่า ชุดนักเรียนเราแทบไม่มีพัฒนาการเลย แต่งกันมากี่สิบปีก็แต่งเหมือนกัน รวมถึงทรงผมที่ขนาดกางกฎกระทรวงออกมาให้ดูแล้ว ก็ยังตะบี้ตะบันให้ตัดทรงหัวเกรียนเหมือนเดิม
จนไม่แปลกใจหรอกครับ ที่เด็กเขาจะงงว่า ทำไมต้องทำแบบนี้ และอ้างคำว่า “ก็ทำแบบนี้กันมา” แบบเวลาถกกันเรื่องนี้ มันใช้ไม่ได้ผลแล้ว ส่วนความเห็นของคนที่ไม่ใช่นักเรียนแล้วออกมาบอกว่า “เรียนจบแล้วจะรู้” จริงๆ ก็ควรจะคิดว่า ไม่ต้องไปยุ่งเรื่องของเขานะครับ เพราะคนใส่คือเด็กนักเรียน คนเรียนจบมาแล้วอยากจะใส่ย้อนอดีตก็ใส่ไป อย่าไปบังคับคนอื่นเพราะความถวิลหาอดีตของตัวเอง
สำหรับตัวผมแล้ว ก็ขอบอกว่า ก็ลองให้เด็กเลือกได้เองสิครับ ว่าจะใส่ไม่ใส่ ไม่ต้องเอากฎเอาอะไรมาขู่ มีชุดนักเรียนให้เป็นตัวเลือกแบบไม่บังคับไป (อีกเรื่องนึงที่ผมไม่เข้าใจคือ ชุดพละใส่รองเท้าขาว ต้องซื้อแยกมาอีกคู่ ทั้งที่พละบ้านเราลงไปเตะบอล ไม่ใช่รองเท้าใช้ในโรงยิมแบบญี่ปุ่นเขาซะหน่อย)
แม้ทั้งสองประเทศจะมีชุดนักเรียนเหมือนกัน แต่ในเนื้อหาและการได้รับความยอมรับนั้นต่างกันเอาเรื่องเลยทีเดียว ดังนั้นจะอ้างอะไรง่ายๆ ว่าชาติอื่นเขาก็มี ก็คงฟังขึ้นได้ยากเหมือนกัน แต่ก็นั่นล่ะ ฝ่ายนึงเขาก็ปรับตัวไปเรื่อยๆ แต่อีกฟากหนึ่งพยายามแต่จะยึดของเดิมๆ ไว้ ผลลัพธ์มันก็ต่างกันแบบนี้