ในยุคที่ประเทศอิตาลีถูกครอบงำด้วยระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ที่นำโดยผู้นำประเทศอย่าง เบนิโต มุสโสลินี รัฐบาลต่างใช้ความรุนแรงต่อประชาชนและไล่ฆ่าบุคคลที่พยายามต่อต้านเขา เพื่อสร้างระบบการปกครองในฝันของมุสโสลินี ที่ทุกคนจะต้องเคารพต่อรัฐและอำนาจของผู้นำ ดังเช่นคำที่มุสโสลินีได้กล่าวเอาไว้ว่า
“เราจะไม่โต้แย้งกับคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา แต่เราจะทำลายบุคคลเหล่านั้นแทน”
แน่นอนว่ามีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการปกครองในรูปแบบนี้ และมันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเห็นบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือผู้สร้างชื่อให้กับประเทศ ออกมาแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยกับการปกครองที่เป็นระบอบเผด็จการ
แต่ จิโน่ บาร์ทาลี (Gino Bartali) คือชายผู้ยืนหยัดและแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่เอาลัทธิฟาสซิสต์ อีกทั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขายังต่อต้านนาซีเยอรมนีด้วยการช่วยเหลือชาวยิวไว้มากมาย มันน่าแปลกที่คนที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างเขากลับยอมเสี่ยงทำในสิ่งที่มีความผิดขั้นถูกประหาร ทั้งที่ชีวิตของเขาก็อยู่สุขสบายดีและไม่จำเป็นต้องมามีส่วนร่วมใดๆ
สาเหตุที่ จิโน่ บาร์ทาลี ทำแบบนี้ ก็เพราะเขามีความคิดที่และจิตใจที่แน่วแน่มาโดยตลอด ความคิดที่ว่าคือ “คนเราทุกคนต้องมีความเท่าเทียมกัน”
และเรื่องราวต่อไปนี้คือเรื่องราวของ จิโน่ บาร์ทาลี แชมป์ตูร์เดอฟร็องส์ 2 สมัย ผู้ช่วยชาวยิวให้รอดพ้นจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ตูร์เดอฟร็องส์ (Tour de France) คือการแข่งขันจักรยานทางไกลที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก การแข่งขันที่จัดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1903 ครอบคลุมทั่วประเทศฝรั่งเศสตลอดระยะ 21 วัน กับระยะทางหลายพันกิโลเมตร มันเป็นรายการที่นักปั่นต้องใช้ความอึดและความทรหดอย่างแสนสาหัส และใครที่สามารถคว้าแชมป์รายการนี้ไปครองได้ จะกลายเป็นคนดังและมีชื่อเสียงไปทั่วโลกในทันที
ในการแข่งขันตูร์เดอฟร็องส์ ปี ค.ศ.1938 จิโน่ บาร์ทาลิ นักปั่นจักรยานชาวอิตาลี สามารถเอาชนะคู่แข่งนานาชาติทั้ง 55 คนไปได้ด้วยเวลา 148 ชั่วโมง 29 นาที 12 วินาที กับระยะทางทั้งหมด 4,694 กิโลเมตร ทำให้ชื่อเสียงของเขากระฉ่อนไปทั่วยุโรป
บาร์ทาลิ เกิดมาในครอบครัวยากจน บนชนบทอันห่างไกลในแคว้นของทัสคานี ถึงแม้บาร์ทาลิจะเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสภาพสังคมที่ยากจน แต่สิ่งที่สร้างความสุขให้กับเขามาตลอดตั้งแต่ยังเด็ก นั่นคือการขี่จักรยาน บาร์ทาลิชอบที่จะขี่จักรยานขึ้นเนินเขารอบๆ บ้านกับเพื่อน และด้วยความเพียรพยายามในการทำสิ่งที่รัก บาร์ทาลิก็กลายเป็นนักกีฬาจักรยานอาชีพเมื่อย่างเข้าวัย 20 ปี และเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วในประเทศอิตาลีจากการคว้าแชมป์ตูร์เดอฟร็องส์ในวัย 24 ปี จนประชาชนในประเทศอิตาลีให้ฉายากับเขาว่า ‘ราชาแห่งจักรยาน’
ชัยชนะของบาร์ทาลิในตูร์เดอฟร็องส์ครั้งนี้ มันกลายเป็นช่วงเวลาที่ผู้นำฟาสซิสต์ของประเทศอย่างเบนิโต มุสโสลินี ตั้งตารอคอยมาโดยตลอด มุสโสลินีเชื่อว่าหากมีนักปั่นชาวอิตาลีคว้าชัยในตูร์เดอฟร็องส์ มันจะส่งผลให้ประชาชนชาวอิตาลีเกิดความภาคภูมิใจในชาติและฟาสซิสต์ที่เขาสร้างมา
และกระบวนการต่อไปที่มุสโสลินีต้องการหลังจากที่บาร์ทาลิได้แชมป์แล้วนั้น คือการให้บาร์ทาลิประกาศอุทิศชัยชนะให้กับมุสโสลินี สิ่งนี้จะทำให้ประชาชนภูมิใจในระบอบฟาสซิสต์และเชิดชูมุสโสลินีมากขึ้น มันคือกระบวนการล้างสมองโดยใช้ความสำเร็จของบุคคนอื่นมาเชิดชูให้กับตนเองนั่นเอง
มุสโสลินีได้เชิญบาร์ทาลิมาเพื่ออุทิศชัยชนะให้กับเขา แต่สิ่งที่บาร์ทาลีทำ คือปฏิเสธคำเชิญของผู้นำสูงสุด ซึ่งถือได้ว่าเป็นการดูถูกอย่างร้ายแรงต่อมุสโสลินีและชาติ บาร์ทาลีมีความเสี่ยงสูงมากที่จะโดนลงโทษอย่างสูงสุด
บาร์ทาลีเกลียดมุสโสลินีเข้าไส้ เพราะในช่วงการแข่งขันตูร์เดอฟร็องส์ในตอนนั้น มุสโสลินีได้ออกนโยบายกีดกันเชื้อชาติขึ้นมา ซึ่งทำให้ชาวยิวในประเทศถูกถอดออกจากสัญชาติอิตาลี และถูกไล่ออกจากตำแหน่งในหลายอาชีพด้วยกัน
บาร์ทาลีไม่ใช่ชาวยิว นโยบายนี้มันไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับเขา บาร์ทาลียังรู้ดีว่าเขาจะต้องพบเจออะไรบ้างกับการปฏิเสธผู้นำในครั้งนี้ เพราะเพื่อนนักปั่นชาติเดียวกับเขาก็เคยถูกฆ่าจากการต่อต้านฟาสซิสต์
แต่สิ่งบาร์ทาลีถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเด็ก มันทำให้เขามีความเชื่อมั่นในศีลธรรมอย่างแรงกล้าที่จะไม่ทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ไม่ยุติธรรม และจะไม่สนับสนุนคนที่ทำแบบนี้เด็ดขาด ถึงแม้จะต้องแลกด้วยชีวิตของเขาก็ตาม
ความโชคดียังเข้าข้างบาร์ทาลี เมื่อมุสโสลินีหันไปสนใจกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กำลังจะปะทุ จนลืมในสิ่งที่บาร์ทาลีทำเอาไว้ เขาจึงไม่โดนลงโทษใดๆ กับการกระทำในครั้งนี้
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เปิดฉากขึ้นในปี ค.ศ.1939 กองทัพเยอรมันสามารถบุกยึดประเทศต่างๆ ในยุโรปได้เป็นจำนวนมาก เบนิโต มุสโสลินี ก็ได้อาศัยจังหวะในระหว่างที่ประเทศฝรั่งเศสกำลังจะพ่ายแพ้แก่กองทัพเยอรมัน ด้วยการประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ทั้งที่ฮิตเลอร์ร้องขอให้มุสโสลินีประกาศสงครามมาตั้งแต่ครั้งที่กองทัพเยอรมันปุกประเทศโปแลนด์แล้ว และนั่นก็เป็นการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการของประเทศอิตาลี
มีประชาชนชาวอิตาลีมากมายถูกเกณฑ์เพื่อไปเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 และบาร์ทาลีก็ถูกเกณฑ์ไปเข้าร่วมในสงครามนี้ด้วยเช่นกัน เขาทำหน้าที่ในฐานะผู้ขี่จักรยานเพื่อส่งสารไปยังเมืองต่างๆ ในประเทศ และนั่นก็จุดประกายให้เขาคิดที่จะทำอะไรบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงชีวิตคนหลายคน
ถึงแม้ว่ามุสโสลินีจะประกาศอยู่ฝ่ายเดียวกับประเทศเยอรมนี แต่เขาก็ไม่มีนโยบายที่จะจับ กักขัง หรือฆ่าชาวยิว ทำให้มีชาวยิวเป็นจำนวนมากที่ลี้ภัยมายังประเทศอิตาลี โดยไม่รู้ถึงภัยภาคหน้าที่กำลังจะเกิดขึ้น
ในสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพอิตาลีของมุสโสลินีพ่ายแพ้ย่อยยับเกือบจะทุกสมรภูมิ ทำให้อาณาจักรโรมันอันยิ่งใหญ่ที่เขาวาดฝันเอาไว้ต้องพังทลายลง และในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1943 กษัตริย์วิคโตริโอ เอมมานูเอลที่ 3 ก็รับสั่งให้ปลดมุสโสลินีออกจากตำแหน่ง จากนั้นรัฐบาลชุดใหม่ที่ขึ้นมาแทนที่มุสโสลินีก็ทำสัญญาหยุดยิงกับฝ่ายสัมพันธมิตร เป็นอันสิ้นสุดระบอบฟาสซิสต์ที่นำโดยเบนิโต มุสโสลินีมาตลอด 24 ปี
หลังจากประเทศอิตาลียอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรแล้วนั้น กองทัพเยอรมันก็ได้บุกประเทศอิตาลีและทำการยึดครองพื้นที่ทางตอนเหนือและตอนกลางของประเทศทันที ทหารเยอรมันเริ่มล้อมจับชาวยิวที่หลบหนีมายังประเทศนี้และนำพวกเขาไปยังค่ายกักกันทันที ชาวยิวเกือบ 10,000 คนถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกัน และกว่า 7,000 คนถูกฆ่าอย่างไร้ความปราณี
เอเลีย ดัลลา คอสตา (Elia Dalla Costa) พระคาร์ดินัลซึ่งดำรงตำแหน่งอาร์ชบิชอปแห่งฟลอเรนซ์ ได้ขอร้องบาร์ทาลีผู้เคร่งศาสนา ให้เขาเข้าร่วมเครือข่ายลับใต้ดิน ที่ทำหน้าที่คุ้มครองและช่วยเหลือชาวยิวโดยเฉพาะเด็กๆ ที่กำลังถูกตามล่าเพื่อนำไปฆ่าในค่ายกักกัน
บาร์ทาลีไม่ปฏิเสธใดๆ เพราะในช่วงเวลาที่ผ่านมา บาร์ทาลีก็ได้ช่วยเหลือ จีอาโคโม โกลเดนเบิร์ก เพื่อนชาวยิวของเขาและครอบครัว ด้วยการแอบซ่อนพวกเขาไว้ที่อพาร์ตเมนต์ของเขา รวมถึงช่วยชาวยิวคนอื่นๆ ให้ซ่อนตัวอยู่ในห้องใต้ดินละแวกใกล้ที่พักของเขา การซ่อนหรือช่วยเหลือชาวยิวมีโทษรุนแรงและถูกฆ่าทิ้งทันทีถ้าถูกฝ่ายเยอรมันจับได้ แต่ด้วยจิตสำนึกอันแรงกล้าของบาร์ทาลี เขาจึงไม่เคยปฏิเสธการกระทำใดๆ ที่จะเป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เลย และด้วยบทบาทในเครือข่ายลับใต้ดินนี้ มันทำให้เขาได้ทำในสิ่งที่เป็นตำนานและเล่าขานมาจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงที่กองทัพเยอรมนียึดครองอิตาลี บาร์ทาลีได้แต่งชุดซ้อมปั่นจักรยานของเขา และทำการปั่นจักรยานไปมาระหว่างเมือง เขาทำเสมือนว่าตนเองนั้นกำลังซ้อมเพื่อไปแข่งให้กับประเทศ แต่หารู้ไม่ว่ามันคือหนึ่งในแผนการของขบวนการใต้ดิน
บาร์ทาลีจะขี่ระหว่างเมืองฟลอเรนซ์และอัสซีซี โดยเขาจะนำข้อมูลและรูปถ่ายของชาวยิวที่แอบอยู่ที่เมืองฟลอเรนซ์ ไปส่งยังเมืองอัสซีซี เพื่อทำการปลอมแปลงเอกสารระบุตัวบุคคลไม่ให้เป็นชาวยิวอีกต่อไป จากนั้นเขาก็จะนำเอกสารปลอมแปลงนี้กลับไปให้ชาวยิวที่เมืองฟลอเรนซ์อีกครั้งเพื่อใช้ในการหลบหนี
บาร์ทาลียังขี่ขึ้นเหนือไปยังเมืองเจนัว เพื่อนำเงินในบัญชีธนาคารสวิสที่เมืองเจนัว มาแจกจ่ายให้กับชาวยิวที่กำลังจะหลบหนีอีกด้วย ชาวยิวที่ได้เอกสารปลอมพร้อมเงินจำนวนหนึ่ง ก็จะสามารถขึ้นรถไฟและหลบหนีออกจากประเทศนี้ไปได้อย่างปลอดภัย
แน่นอนว่าบาร์ทาลีต้องพบเจอการตรวจค้นจากฝ่ายเยอรมันอยู่บ่อยครั้ง แต่เขาซ่อนเอกสาร เงิน และรูปถ่ายไว้ในเฟรมและแฮนด์ของจักรยาน เมื่อจะมีการรื้อจักรยานเพื่อตรวจ บาร์ทาลีจะบอกเสมอว่าอย่าแตะต้องจักรยานของเขา เพราะชิ้นส่วนต่างๆ ในจักรยานได้รับการปรับเทียบอย่างระมัดระวังโดยผู้ชำนาญเพื่อให้สามารถปั่นได้ความเร็วสูงสุด จึงทำให้ไม่มีใครกล้าแตะจักรยานของเขา และจากชื่อเสียงและหน้าตาของเขาที่ฝ่ายเยอรมันรู้จักดี ทำให้เขาสามารถผ่านด่านตรวจและปั่นจักรยานไปทั่วประเทศโดยไม่มีใครสงสัย
การทำแบบนี้ทำให้บาร์ทาลีตกอยู่ในความเสี่ยงเป็นอย่างมาก มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เขาถูกจับไปสอบปากคำโดยหัวหน้าตำรวจลับเนื่องจากต้องสงสัยว่าเป็นผู้ซ่อนชาวยิวเอาไว้ แต่หลังจากสอบปากคำพวกเขาก็ไม่พบข้อมูลและหลักฐานใดๆ บาร์ทาลีจึงถูกปล่อยตัวออกมา จากนั้นเขาได้ไปซ่อนตัวอยู่ในเมืองซิตตา ดิ กัสเตลโลเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนกลับมาทำหน้าที่อีกครั้ง
สุดท้ายแล้ว บาร์ทาลีได้ทำการปั่นจักรยานไปมากกว่า 40 รอบ ไม่มีใครรู้ว่าเขาได้ช่วยชีวิตคนไปได้เท่าไหร่ แต่ประมาณ 80% ของชาวยิวทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในอิตาลีที่สองรอดชีวิตมาได้ ก็เพราะมาจากความพยายามของขบวนการใต้ตินของบาร์ทาลีและชาวอิตาลีที่ร่วมแรงร่วมใจกัน
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง บาร์ทาลีก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคน ความเครียดจากเรื่องราวในสิ่งที่เขาทำรวมถึงการขาดแคลนอาหารในช่วงเวลาหลังสงคราม ส่งผลกระทบกับเขาทั้งทางร่างกายและจิตใจ บาร์ทาลีไม่ออกมาซ้อมปั่นจักรยานอย่างเช่นเคย แรงกายและแรงใจของเขาหายไปหมดสิ้น หลายคนคาดการณ์ว่าเขาคงไม่สามารถกลับสามารถคว้าแชมป์ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ได้อีกแล้ว
แต่ด้วยแรงเชียร์และกำลังใจของประชาชนชาวอิตาลีที่พยายามส่งให้กับบาร์ทาลีมาโดยตลอด หลังจากนั้นไม่นานบาร์ทาลีก็ได้พยายามฟื้นฟูจิตใจและร่างกายของตนเองให้กลับมาอีกครั้ง จนในที่สุด จิโน่ บาร์ทาลี ก็สามารถคว้าแชมป์ในการแข่งขันตูร์เดอฟร็องส์ ปีค.ศ.1948 ได้สำเร็จ นับเป็นเวลา 10 ปีที่เขากลับมาเป็นแชมป์อีกครั้ง
ทุกคนจำบาร์ทาลีได้ เพียงเพราะความสามารถสูงสุดของเขาในฐานะนักปั่นจักรยาน แต่ไม่มีใครรู้จัก จิโน่ บาร์ทาลี ในฐานะผู้ช่วยเหลือชาวยิว เขาไม่เคยบอกใคร หรือเล่าเรื่องราวนี้ให้ใครฟัง นอกเสียจาก อันเดรีย บาร์ทาลี ลูกชายของเขา
จิโน่ บาร์ทาลี เล่าเรื่องราวการช่วยเหลือทีละเล็กทีละน้อยให้ลูกชายของเขาฟัง และทุกครั้งที่เขาพูดจบ เขาจะสั่งให้อันเดรียสัญญากับเขาว่าจะไม่บอกเรื่องราวนี้กับใครต่อเป็นอันขาด
อันเดรียเคยถามพ่อของตนว่าทำไมเขาถึงบอกใครไม่ได้ จิโน่ บาร์ทาลี จึงได้บอกกับลูกชายว่า
“เราต้องทำในสิ่งที่ดี แต่เราต้องไม่พูดถึงมัน เพราะถ้าเราพูดถึงเรื่องนี้
แสดงว่าเรากำลังฉวยโอกาสจากความโชคร้ายของคนอื่น เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง”
จิโน่ บาร์ทาลี เสียชีวิตลงในปี ค.ศ.2000 ด้วยวัย 86 ปี หลังการเสียชีวิตของเขา อันเดรีย บาร์ทาลี จึงตัดสินใจเผยแพร่เรื่องที่พ่อของตนได้ทำเอาไว้ และมันต้องใช้เวลาถึง 14 ปีต่อจากนั้นในการวบรวมหลักฐานและพยานที่ยังคงหลงเหลืออยู่เพื่อบันทึกเรื่องราวของนักปั่นจักรยานผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศอิตาลีได้ทำเอาไว้
“เมื่อมีคนบอกเขาว่า ‘จีโน่ คุณคือฮีโร่’ เขาจะตอบกลับว่า ‘ไม่ ไม่ ฉันไม่ใช่ฮีโร่ ฉันแค่อยากถูกจดจำในด้านความสำเร็จด้านกีฬาเท่านั้น ฮีโร่ตัวจริงคือคนอื่นๆ ที่กำลังทุกข์ทรมานในจิตวิญญาณของพวกเขา คนอื่นๆ ที่กำลังทุกข์ทรมานเพื่อคนที่พวกเขารัก นั่นแหละคือฮีโร่ตัวจริง ส่วนฉันมันเป็นแค่นักปั่นเท่านั้น'”
อันเดรีย บาร์ทาลี กล่าว
ปัจจุบันจักรยานของจิโน่ บาร์ทาลี ยังคงจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์การปั่นจักรยาน Madonna del Ghisallo บนเนินเขา Magreglio ใกล้กับทะเลสาบโคโม่ ประเทศในอิตาลี
อ้างอิงข้อมูลจาก
หนังสือ History of world war 2 โดย พันเอกศนิโรจน์ ธรรมยศ