ตั้งแต่ทศวรรษ 2010s จนถึงปัจจุบัน เราต้องยอมรับว่าหากวัดในระดับวัฒนธรรมแมส สิ่งที่เป็นกระแสหลักก็คือวัฒนธรรม-ศิลปะ-และสื่อบันเทิงจากเกาหลีใต้ อย่างน้อยที่สุดคนไทยส่วนใหญ่ก็น่าจะรู้แล้วว่า BTS ไม่ใช่แค่รถไฟฟ้า แต่ยังหมายถึงวงบอยแบนด์ชื่อดังระดับโลก หรือซีรีส์เกาหลีที่คนยังติดกันงอมแงม จนมี meme จากเรื่องนั้นเรื่องนี้มาให้ชาวโซเชียลใช้กันรายสัปดาห์
หากมองในแง่วรรณกรรม ผู้เขียนสังเกตว่าช่วงสองปีมานี้หนังสือแปลเกาหลีค่อนข้างได้รับความสนใจ อาจเริ่มจาก คิมจียอง เกิดปี 82 ที่แทบจะกลายเป็นหนังสือที่มีทุกบ้าน หรือเล่มอื่นๆ อย่าง ชื่อของเธอคือ… และ ที่จริงแล้ว, ฉันเป็นคนเก็บตัวนะ ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดี อย่างไรก็ตาม แม้เพลงหรือซีรีส์ญี่ปุ่นในทุกวันนี้อาจจะไม่แมสเท่าฝั่งเกาหลี (ความเข้าถึงยากก็มีผล เอ็มวีญี่ปุ่นไม่มีซับไตเติ้ล ละครญี่ปุ่นไม่ค่อยมีสตรีมมิง) แต่สิ่งที่ไม่เคยห่างหายไปจากสังคมไทยเลยก็คือวรรณกรรมญี่ปุ่น
ในความรับรู้ของผู้เขียน (จากการใช้ชีวิตมาราวสามสิบกว่าปี) กระแสวรรณกรรมญี่ปุ่นบูมขึ้นสุดๆ ในช่วงยุค 2000s ช่วงนั้นจะเป็นสำนักพิมพ์ IMAGE (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น BLISS) ที่ตีพิมพ์เรื่องอย่าง ริง คำสาปมรณะ, ซีรีส์ มิเกะเนะโกะ โฮล์มส์ หรือผลงานของโอตสึอิจิ เช่น ฤดูร้อน ดอกไม้ไฟ และร่างไร้วิญญาณของฉัน หรือ โทรศัพท์สลับมิติ ด้วยความว่ายุคนั้นยังไม่มีการซื้อของออนไลน์ ทำให้ผู้คนต้องแห่แหนกันไปต่อคิวซื้อที่งานหนังสือ ศูนย์สิริกิติ์ หรือกระทั่ง โคจิ ซูสุกิ ผู้เขียน ‘ริง’ ก็ยังเคยบินมาแจกลายเซ็นที่บ้านเรา
BLISS ปิดตัวลงในปี ค.ศ.2012 แต่ก็มีผู้มารับช่วงต่ออย่าง TALENT 1 (ปิดตัวไปแล้ว) ที่เน้นซีรีส์ ‘คินดะอิจิ’, แพรวสำนักพิมพ์ ที่ออกงานของ คานาเอะ มินาโตะ อย่างต่อเนื่อง, กำมะหยี่ กับผลงานของ ฮารูกิ มูราคามิ หรือ Maxx Publishing (ปิดตัวไปแล้ว) ที่เน้นงานป๊อปๆ แบบ ‘ตับอ่อนเธอนั้นขอฉันเถอะนะ’ มาจนถึงปัจจุบันที่มีสำนักพิมพ์แปลหนังสือญี่ปุ่นมากมาย อาทิ Bibli, Sandwich Publishing, Chaichai Books, Hummingbooks, Daifuku-Lit, Piccolo, animag ฯลฯ (ขาดตกใครไปต้องขออภัย)
อีกหนึ่งสำนักพิมพ์ผู้มีบทบาทสำคัญ
ต่อวงการวรรณกรรมญี่ปุ่นในไทยก็คือ JLIT
ที่เน้นงานของนักเขียนคลาสสิกอย่าง โอซามุ ดาไซ (ผู้เขียน สูญสิ้นความเป็นคน), เอโดงาวะ รัมโป และจุนอิจิโร ทากิซากิ โดยผลงานล่าสุดของ JLIT ที่เพิ่งออกมาเมื่อกรกฎาคมคือหนังสือที่ชื่อว่า บุไรฮะ
ด้วยความรู้น้อย ผู้เขียนจึงไม่เคยได้ยินคำว่า บุไรฮะ (Buraiha) จนเผลอคิดในใจว่ามันคืออะไร(วะ) เมื่อสืบค้นข้อมูลก็ได้ความว่าเป็นกลุ่มนักเขียนญี่ปุ่นที่ผลิตงานในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง งานของพวกเขามักว่าด้วยความว่างเปล่าของชีวิตและวิกฤตทางอัตลักษณ์ ชื่อกลุ่มแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Decadent School หรือกลุ่มนักประพันธ์เสื่อมทราม มีที่มาจากชีวิตส่วนตัวของนักเขียนกลุ่มนี้ที่มักเกี่ยวข้องกับการดื่มเหล้าเมามาย ใช้ยาเสพติด และเรื่องชู้สาวมากหน้าหลายตา
คำโปรยบนปกของ บุไรฮะ เขียนไว้ว่า ‘รวมผลงานของนักเขียนกลุ่มปฏิปักษ์สังคม’ เนื่องจากงานของพวกเขามักต่อต้านความดีงามหรือแนวคิดสุขนิยมที่เคยมีในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เนื้อหาเต็มไปด้วยความสิ้นหวัง ความตาย และเรื่องเพศ โดยหนังสือประกอบด้วยงานเขียนของ โอซามุ ดาไซ, ซาคุโนสุเกะ โอดะ และอังโกะ ซาคากุจิ ซึ่งถือเป็นสามเสาหลักของบุไรฮะ แม้ว่าบุไรฮะเองจะไม่ได้มีการรวมกลุ่มแบบเป็นเรื่องเป็นราว หากเป็นการจัดหมวดหมู่จากภายนอกเสียมากกว่า
ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณอรรถ บุนนาค (บรรณาธิการ) และคุณเบียร์-พรพิรุณ กิจสมเจตย์ (ผู้แปล) ถึงที่มาของหนังสือเล่มนี้ ทั้งสองเล่าว่าจงใจเลือกงานเขียนหลายประเภททั้งบทละคร เรื่องสั้น และความเรียง แต่ทุกงานจะเป็นผลงานที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1946-1947 หรือช่วงจบสงครามโลกครั้งที่สองหมาดๆ ซึ่งน่าจะช่วยลบล้างมายาคติที่เราชอบมองว่าคนญี่ปุ่นเป็นพวกชาตินิยม
เพราะไม่ใช่คนญี่ปุ่นทุกคนจะเห็นด้วยกับเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง
หรือการพ่ายแพ้สงครามยังทำให้ผู้คนได้ทบทวนทัศนคติของตนเองด้วย บางทีเราอาจคุ้นชินกับภาพหน่วยรบคามิกาเซหรือเหล่าทหารที่สละชีพเพื่อสมเด็จพระจักรพรรดิในหนังฮอลลีวู้ดมากไปหน่อย
มาว่าด้วยงานเขียนของแต่ละคนในเล่มนี้บ้าง หนังสือเปิดด้วยบทละคร ‘ดอกไม้ไฟในฤดูหนาว’ ของ โอซามุ ดาไซ ที่ยังคงลีลาการหยามเหยียด ประชดประชันโลกและชีวิตแบบที่เราคุ้นเคย และความหมายของการจุดดอกไม้ไฟในฤดูกาลที่ผิดที่ผิดทางก็คมคายและเจ็บปวดอย่างยิ่ง ส่วนเรื่องสั้น ‘เมื่อวาน วันนี้ พรุ่งนี้’ โดย ซาคุโนสุเกะ โอดะ เริ่มต้นด้วยฉากหลังอันน่าหดหู่ในค่ายทหาร ตามมาด้วยการเล่ายาวถึงช่วงหลังสงคราม และกลายเป็นงานที่เปี่ยมไปด้วยแสงสว่างจนน่าตกใจ คุณอรรถให้ความเห็นว่าอาจเพราะโอดะมีพื้นเพเป็นคนโอซาก้าซึ่งมีลักษณะโผงผางตรงไปตรงมา งานของเขาเลยมีรสชาติต่างจากคนอื่น
ส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนคิดว่างานที่น่าประทับใจและท้าทายที่สุดคืองานของ อังโกะ ซาคากุจิ เรื่องสั้น ‘เซ่อซ่าปัญญาอ่อน’ เล่าผ่านมุมมองของชายผู้ทำหนังโฆษณาชวนเชื่อให้รัฐบาล และความหวาดระแวงว่าละแวกบ้านของเขาจะถูกเครื่องบินทิ้งระเบิดใส่ ส่วนอีกชิ้นคือความเรียง ‘ทฤษฎีความเสื่อมทราม’ ที่ตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วความเสื่อมคือความงามแท้จริงของมนุษย์หรือเปล่า
หากสรุปอย่างรวบรัดต้องกล่าวว่างานของซาคากุจิอัดอั้นไปด้วยความทุกข์ระทมแทบทุกบรรทัด แถมหลายประโยคก็ไม่สามารถอ่านเข้าใจได้ในครั้งเดียว ต้องวนกลับไปอ่านซ้ำเพื่อตีความอีกรอบ อาทิ “เฉกเช่นความยิ่งใหญ่มหึมาของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าประวัติศาสตร์ มนุษย์เองก็ยิ่งใหญ่มหึมาจนน่าตกใจเช่นกัน การมีชีวิตอยู่ช่างเป็นปริศนาน่าพิศวงอยู่เพียงสิ่งเดียว”
คุณเบียร์เล่าว่ามีการสันนิษฐานว่าซาคากุจิอาจจะเขียน ‘ทฤษฎีความเสื่อมทราม’ ขณะกำลังเมายา ซึ่งนี่ก็เป็นโจทย์ยากในฐานะนักแปล ว่าควรจะแปลโดยคงความมึนงงสับสนเอาไว้ หรือจะต้องสื่อความกับผู้อ่านขนาดไหน แต่ทั้งคุณอรรถและคุณเบียร์เห็นตรงกันว่าได้พยายามคงสารและน้ำเสียงดั้งเดิมไว้มากที่สุด (คุณเบียร์แปลจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นโดยตรง) ซึ่งอาจจะต่างจากวรรณกรรมญี่ปุ่นฉบับแปลภาษาอังกฤษที่หลายครั้งผู้แปลมักฟันธงหรือสรุปความไปเลย
จากการสอบถามคุณอรรถว่านักเขียนญี่ปุ่นร่วมสมัยมีลักษณะตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์สังคมแบบนักเขียนกลุ่มบุไรฮะหรือไม่ ซึ่งคุณอรรถให้ความเห็นว่าไม่ค่อยจะมีนัก เพราะงานเขียนในยุคหลังมักเน้นที่ความปัจเจกเสียมากกว่า แม้แต่เหตุการณ์สึนามิ 3.11 ที่สั่นสะเทือนสังคมญี่ปุ่นพอประมาณ ก็อาจไม่ได้ส่งผลงอกเงยทางวรรณกรรมอย่างแพร่หลาย หากแต่น่าสนใจว่า COVID-19 จะมีอิทธิพลต่อวงการวรรณกรรมญี่ปุ่นขนาดไหน เพราะนี่เป็นเหตุการณ์ระดับสากลโลก และญี่ปุ่นเองก็เจ็บช้ำจากโควิดหนักหนาอยู่
ผู้เขียนเห็นด้วยว่าวงการศิลปะยุค COVID-19 เป็นอะไรที่น่าติดตามอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะภาพยนตร์ ดนตรี คอนเสิร์ต ละครเวที หรือวรรณกรรม ทั้งในต่างประเทศหรือกระทั่งประเทศไทยเอง ถึงกระนั้นในอันดับแรกเราคงต้องมีชีวิตรอดไปจนถึงยุค Post-Covid ให้ได้เสียก่อน ซึ่งอาจจะทำได้ยากลำบากเป็นพิเศษหากอยู่ในประเทศไทย
หมายเหตุ: เนื้อหาส่วนหนึ่งของบทความนี้เรียบเรียงจากงานเสวนา “Book Launch: บุไรฮะ รวมผลงานของนักเขียนกลุ่มปฏิปักษ์สังคม จากสำนักพิมพ์ JLIT” ในงาน Bangkok Book Festival 2021 สามารถดูวิดีโอได้ที่ https://fb.watch/v/EK-hdFPT/