1.
“ช่วงนั้น ผมหยุดพักหลายวัน และไม่ได้ตามข่าวหรือฟังวิทยุเลย พอกลับมาทำงาน ก็เห็นเรื่องนี้ในทีวี จึงรีบรุดไปจุดเกิดเหตุ รู้เลยว่าไม่ต้องกังวลว่าจะเอาข่าวอะไรขึ้นพาดหัวหน้า 1 แล้ว”
เช้าตรู่ของวันที่ 16 สิงหาคม ปี ค.ศ.1988 ที่ธนาคารดอยช์แบงก์ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองแกลดเบค (Gladbeck) ทางแคว้นรูห์ ในเยอรมันตะวันตก ชาย 2 คนประกอบด้วย ฮันส์ เจอร์เก้น โรสเนอร์ (Hans-Jürgen Rösner) และดีเทอร์ เดกอว์สกี้ (Dieter Degowski) ถือปืนบุกปล้นธนาคาร ทั้งสองจับพนักงานทั้งหมดไว้เป็นตัวประกัน ขณะนั้นธนาคารแห่งนี้ยังไม่เปิดทำการ จึงไม่มีลูกค้า หลังเกิดเหตุ ตำรวจได้รีบเดินทางมาถึงทันที
ไม่มีใครรู้ว่า มันจะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความอลหม่านในอีก 54 ชั่วโมงต่อจากนี้
เจ้าหน้าที่ปิดล้อมธนาคาร ขณะที่สองโจรซึ่งมีประวัติก่อเหตุอาชญากรรมเป็นหางว่าว ได้ยิงปืนต่อสู้และไม่ยอมจำนน ตำรวจไม่อาจใช้ความรุนแรงจัดการได้ เพราะมีตัวประกันอยู่ในธนาคารแห่งนั้น ฮันส์ได้เรียกค่าไถ่เพื่อปลดปล่อยตัวประกัน การต่อรองเจรจากับเจ้าหน้าที่กินเวลาชั่วโมงกว่าๆ ก่อนที่ทางการจะยินยอมมอบเงินสด 3 แสนมาร์กเยอรมัน พร้อมรถออดี้ 1 คัน สองหนุ่มพาพนักงานหญิงเป็นตัวประกันขึ้นรถไป 2 คน
รถแล่นผ่านไป ทางฮันส์ยังได้แวะรับแฟนสาวของเขาด้วย
ระหว่างนั้นช่องข่าววิทยุได้รายงานสดเหตุการณ์นี้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่คนทั้งประเทศรับรู้การจี้ตัวประกันที่เมืองแกลดเบคทันที
วันที่ 17 สิงหาคม ฮันส์และแฟนสาว พร้อมดีเทอร์ กับตัวประกันหญิง 2 ราย ขับรถไปอย่างมั่วสั่ว พวกเขาไม่มีจุดหมายแน่นอน ท่ามกลางการติดตามไล่ล่าของตำรวจ ในที่สุดหลังขับออกจากเมืองแกลดเบคมายังเบรเมน ซึ่งเป็นระยะทางกว่า 230 กิโลเมตร ฮันส์ก็ได้สละรถออดี้ แล้วบุกเข้ายึดรถเมล์ที่มีผู้โดยสารกว่า 30 คน
คราวนี้สื่อมวลชนให้ความสนใจอย่างมาก ขณะที่ตำรวจทำอะไรไม่ถูก ไม่เคยมีเหตุแบบนี้เกิดขึ้นมาก่อนในประเทศ
“เหตุการณ์แกลดเบคนี้ เป็นอะไรที่ใหม่มากกับตำรวจ พวกเขารับมือกับมันไม่ถูก และเช่นกัน มันก็ดันเป็นอะไรที่ใหม่มากกับสื่อด้วย”
ถึงตอนนี้กองทัพนักข่าวเดินทางไปยังรถเมล์ที่ถูกจี้ ช่างภาพต่างรัวภาพ บางคนถึงขั้นไปถ่ายภาพบนรถด้วยตัวเองด้วยซ้ำ นักข่าวสัมภาษณ์ตัวประกัน ขณะที่ตำรวจก็ปิดพื้นที่รอบรถไว้ เพื่อจะเจรจา แต่ปัญหาเกิดขึ้น เมื่อนักข่าวรุมล้อมผู้ก่อเหตุ ตัวประกันผู้โดยสาร
ยิ่งทำให้ตำรวจทำงานยากกว่าเดิม
ความอลหม่านที่สื่อสัมภาษณ์และรายงานสดเหตุจี้ตัวประกันรถเมล์นี้วุ่นวายขึ้นไปอีก ตัวประกันถูกถามอยู่ตลอดเวลา เพื่อหาความคืบหน้าในสถานการณ์ ในที่สุดฮันส์ได้พูดออกมาว่า “จากนี้ผมคนเดียวเท่านั้นที่จะคุยกับสื่อ”
ไม่เพียงเท่านั้น เขายังถือปืนลงจากรถเมล์แล้วมาให้สัมภาษณ์นักข่าว นับเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้คนทั้งเยอรมันตะวันตกหันมาสนใจชมข่าวกันอย่างมาก เหตุการณ์นี้ก็ยังดังไปทั้งโลก มันเหมือนรายการถ่ายทอดสดให้ฮันส์กับดีเทอร์ได้แสดงความคิดเห็นโชว์อย่างเต็มที่
ตอนนั้นเองที่สื่อตั้งชื่อเหตุการณ์นี้ว่า ‘วิกฤตตัวประกันเกลดเบค’ ซึ่งเป็นเมืองที่มือปล้นธนาคารเริ่มก่อเหตุ ระหว่างการเจรจาระหว่างตำรวจกับโจร โดยมีสื่อมวลชนเกาะติดอย่างหนักหน่วง การแข่งขันระหว่างสำนักข่าวด้วยกันเอง ยิ่งผลักดันให้สื่อมวลชนทำอะไรสุดโต่งมากกว่าเดิม
พวกเขาชิงกันล้วงลึกเกาะติดสถานการณ์กันโดยไม่สนใจหลักการจริยธรรมใดๆ แล้ว สถานการณ์ไปไกลถึงขนาดว่ามีนักข่าว 2 คนได้ร้องขอกับฮันส์ ให้พวกเขาขึ้นไปบนรถเพื่อทำข่าวด้วย แลกกับการปล่อยตัวประกัน 2 คน ฮันส์ตกลง นั่นทำให้มีสื่อมวลชนรายงานเหตุอาชญากรรม ขณะอาชญากรกำลังก่อเหตุ เป็นครั้งแรกๆ ของเยอรมันด้วย
รถเมล์ได้ขับมุ่งหน้าไปยังเมืองฮัมส์บูร์ก ระหว่างจอดที่ปั๊มน้ำมันข้างทางออโตบาห์น ทางฮันส์ได้ปล่อยตัวประกันจากธนาคาร 2 คนลงรถไป ส่วนแฟนสาวของเขาก็ขอตัวไปเข้าห้องน้ำด้วย
เจ้าหน้าที่ซึ่งเฝ้ารออยู่แล้ว จึงเข้าตะครุบหญิงสาวทันที แต่ดันเป็นการกระทำที่ผิดพลาดอย่างมาก เมื่อฮันส์เห็นว่าแฟนเขาไม่ได้กลับมาขึ้นรถ จึงยื่นคำขาดด้วยความโมโห
“ถ้าไม่ปล่อยเธอกลับมา
กูจะยิงตัวประกันทุกๆ 5 นาที”
ตำรวจวางแผนผิดพลาดอีกครั้ง พวกเขาไม่ส่งตัวแฟนสาวของฮันส์คืน เพราะประเมินว่าไม่น่าเกิดการยิงใครขึ้น
แต่เมื่อผ่านไป 5 นาทีตามเส้นตาย และไม่มีอะไรคืบหน้า ดีเทอร์ก็ลั่นกระสุนใส่เด็กหนุ่มชาวอิตาลีอายุเพียง 15 ปี นั่นทำให้ตำรวจรีบปล่อยแฟนสาวของฮันส์ นักข่าว 2 คนที่ขึ้นไปบนรถก่อนหน้านี้ ได้ลากตัวเด็กน้อยที่ถูกยิงลงจากรถ ตำรวจประสานรถพยาบาลมารับตัวทันที แต่ทุกอย่างช้าเกินไป เด็กหนุ่มทนพิษบาดแผลไม่ไหว เสียชีวิตหลังนำตัวส่งรพ.ได้เพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น
พยานบนรถเมล์คันนี้เผยว่า ผู้ตายพยายามปกป้องน้องสาววัย 9 ขวบจากผู้ก่อเหตุเท่านั้น และนั่นคือสิ่งที่ตระหนักว่า นี่คือวิกฤติตัวประกันที่แสนอันตราย และตำรวจวางแผนผิดพลาด จนทำให้เกิดเหตุสลดนี้ขึ้น
รถเมล์ขับออกไป ท่ามกลางการเกาะติดของสื่อ และรถตำรวจที่ขับตาม โดยระหว่างนั้น รถสายตรวจคันหนึ่งได้ชนเข้ากับรถบรรทุก ทำให้ตำรวจเสียชีวิตเป็นศพที่ 2 จากเหตุวิกฤตินี้ เพิ่มอีกราย
แถมสถานการณ์ก็ยังไม่ใกล้เคียงกับคำว่าคลี่คลายเลย แม้แต่น้อย
2.
คืนนั้นรถเมล์ขับมุ่งหน้าออกจากเยอรมันตะวันตก เข้าสู่ประเทศเนเธอร์แลนด์ กลายเป็นหน้าที่ของตำรวจดัตช์ในการรับมือกับวิกฤตินี้ และพวกเขายืนยันว่าจะไม่มีการเจรจาใดๆ ทั้งสิ้น หากฮันส์ แฟนสาวและดีเทอร์ ไม่ปล่อยผู้หญิงและเด็กๆ จุดนั้นเหล่าผู้ก่อเหตุจึงปล่อยตัวประกันเพิ่มอีกเกือบทั้งหมด โดยได้เก็บหญิงสาว 2 คนซึ่งเป็นผู้โดยสารในรถเมล์ไว้ ทั้งสองอายุเพียง 18 ปีเท่านั้น หนึ่งในนั้นเป็นเด็กฝึกงานบริษัทกฎหมาย ชื่อ ซิเก้ บิชอฟ (Silke Bischoff) โดยก่อนเธอเพิ่งเลิกงานจากบริษัท และรอเพื่อนเพื่อนั่งรถเมล์กลับบ้านด้วยกัน ซึ่งดันเป็นรถเมล์คันที่ฮันส์เข้าไปจี้พอดี
เช้าตรู่วันที่ 18 สิงหาคม วันที่ 3 ของเหตุจี้ตัวประกันแกลดเบค รถเมล์ได้ขับออกจากเนเธอร์แลนด์ เข้าสู่เยอรมันตะวันตกอีกครั้ง คราวนี้ตำรวจเริ่มเจรจาต่อรองและมอบรถบีเอ็มไว้ให้
ทั้ง 5 คนขึ้นรถคันใหม่ ฮันส์ขับ ขนาบข้างด้วยแฟนสาว ส่วนดีเทอร์นั่งเบาะหลังเอาปืนจี้ตัวประกันหญิง 2 คนไว้ รถขับออกไป ก่อนแวะพัก ฮันส์ลงมากินกาแฟ สูบบุหรี่ พร้อมถือปืนลูกโม่ไว้ และเขาได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่รอทำข่าวอย่างคึกคัก จากสถิติมีคนเยอรมันตะวันตกติดตามข่าวนี้นับล้านคน ทุกอย่างถูกรายงานความคืบหน้าทุกวินาที ขณะที่ตำรวจต่างวางแผนที่จะจบวิกฤตครั้งนี้ให้ได้โดยเร็ว
แต่ความอลหม่านของสื่อยังไม่จบเพียงเท่านี้
ตอนที่ฮันส์จี้รถเมล์นั้น เขาได้ระบายกับช่างภาพข่าวว่า อยากจะฆ่าตัวตาย หากมีการบุกเข้ามา โดยทำท่าเอาปืนจ่อที่ปาก ช่างภาพถ่ายภาพนั้นได้และตีพิมพ์ลงไป ยิ่งเพิ่มชื่อเสียงให้กับผู้ก่อเหตุและดึงความสนใจของสังคมเยอรมันตะวันตกเข้าไปใหญ่ ทุกคนติดตามข่าวนี้อย่างใกล้ชิด
ซิเก้เป็นคนที่ถูกสื่อสัมภาษณ์ถี่มาก เธอพูดด้วยความเหนื่อยล้า แต่ยังพยายามจะปริยิ้มออกมาเพื่อให้กำลังใจตัวเอง ด้านดีเทอร์นั้นก็เมายาบ้าและเบียร์สุดฤทธิ์ เขาหันไปถามช่างภาพทีวี ที่ต้องการภาพข่าว แล้วถามว่า “ผมควรเอาปืนไปจ่อที่หัวตัวประกันหญิงไหม” ก่อนจะเอาปืนจ่อหน้าซิเก้ ให้ช่างภาพรัวภาพอย่างเมามัน ต่อมามันจะกลายเป็นภาพที่ถูกเผยแพร่ และเป็นที่จดจำมากที่สุดของวิกฤตครั้งนี้
แม้ตำรวจจะยังจับฮันส์กับดีเทอร์ไม่ได้ แต่ก็ยังเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด การลงรถมาให้สัมภาษณ์สื่อ เจอคำถาม เจอความเครียดที่กะจะหนีรอดจากเจ้าหน้าที่ ทำให้ผู้ก่อเหตุมีความเครียดเหมือนกัน มองไปนอกรถ ก็เจอกองทัพนักข่าวรุมล้อม
“หนีไปออโต้บาห์นยังไงวะ” ฮันส์เปรยออกมาต่อหน้าสื่อ สายตาและท่าทางเขามีความกังวล ในช่วงเวลานั้นเอง นักข่าววัย 30 กว่าปี อย่างอูโด โรเบล (Udo Röbel) ได้บอกทางให้ แต่ดูเหมือนฮันส์จะหงุดหงิดยิ่งกว่าเดิม “แล้วมันขับไปทางไหนวะ กูกับเพื่อนเริ่มจะหมดความอดทนแล้วนะโว้ย”
ตรงนี้สถานการณ์ดูตรึงเครียดอย่างมาก อย่าลืมว่า 2 ผู้ก่อเหตุได้ยิงคนตายมาแล้ว 1 ศพ ดังนั้นมันไม่มีอะไรการันตีได้เลยว่า เขาจะไม่ฆ่าตัวประกัน 2 คนบนรถ
อูโดพยายามอธิบายทาง แต่ดูเหมือนฮันส์จะไม่อยากฟัง “ทำไมเอ็งไม่ขึ้นมาบนรถ แล้วบอกทางเราล่ะ”
เสี้ยววินาทีนั้น อูโดต้องตัดสินใจ มันมีเวลาไม่มาก หลายปีผ่านไป เขาบอกว่า ความรู้สึกขณะนั้นคือ เขาต้องรับผิดชอบสถานการณ์ที่ใกล้จะคุมอะไรไม่ได้แล้ว และเขาใช้สัญชาตญาณของนักข่าว
“ผมต้องการข่าวชิ้นนี้
มันจะต้องเป็นของผมคนเดียว”
ดังนั้นอูโดจึงขึ้นรถไปด้วย โดยเขานั่งเบาะหลัง ข้างซิเก้กับดีเทอร์ รถขับฝ่ากองทัพสื่อ ตำรวจและคนเยอรมันตะวันตกที่ออกมามุงไป
ระหว่างนั้นนักข่าวหนุ่มพยายามลดความตึงเครียด เขาเชื่อว่ารถคันนี้ ตำรวจจะต้องติดเครื่องดักฟังอย่างแน่นอน เขาก็เลยเริ่มพูดข้อมูลบนรถที่อาจเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ได้ แต่ทางดีเทอร์ได้จ่อปืนมาทางเขาแล้วบอกว่า “หุบปากซะ”
40 นาทีผ่านไป รถบีเอ็มของคนร้ายก็ขับมาถึงทางหลวงออโต้บาห์นสำเร็จ อูโดจึงถูกปล่อยตัวจากรถ เมื่อนักข่าวทีวียื่นไมโครโฟนสัมภาษณ์ นักข่าวหนุ่มก็ถึงกับเข่าทรุดไปกองกับพื้น ด้วยความโล่งใจ พร้อมกับอุทานว่า
“นี่กูทำอะไรไปวะเนี่ย เกือบจะโดนฆ่าตายแล้วไหมล่ะ”
3.
เป็นเวลา 54 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุปล้นธนาคารที่เมืองแกลดเบค ตำรวจตัดสินใจว่าพอกันที ต้องจบมันลง ณ ชั่วโมงนี้ พวกเขาวางกำลังซุ่มที่ออโต้บาห์น หลังรถบีเอ็มของคนร้ายปล่อยอูโด แล้วขับออกไปได้เพียง 2-3 กิโลเมตร เจ้าหน้าที่ก็บุกชาร์จปิดล้อมจบวิกฤตินี้ทันที
เสียงปืนดังขึ้นหลายนัด ท่ามกลางความตลบอบอวลของฝุ่น ควันปืน รถบีเอ็มก็จอดนิ่ง ฮันส์และดีเทอร์หมอบยอมแพ้กับพื้น ตำรวจใส่กุญแจมือ แฟนสาวของฮันส์ถูกจับ ตัวประกันหญิงคนหนึ่งรอดตายหวุดหวิดจากการดวลปืนนี้
แต่ซิเก้ ไม่ได้เหมือนคนอื่นบนรถ เธอถูกยิงเข้าที่หน้าอก จากปืนของฮันส์ และเสียชีวิตคาที่ทันที
นี่คือศพที่ 3 จากวิกฤตครั้งนี้ มันนำมาซึ่งความช็อกตกใจไปทั่วเยอรมันอย่างมาก “ผมช็อกไปเลย ตอนทราบข่าว เพราะผมเพิ่งนั่งข้างเธอไม่กี่นาทีก่อนจะเกิดเรื่องเท่านั้นเอง”
ตำรวจปิดล้อมสถานที่ ภายหลังสังคมเยอรมันตามติดวิกฤตนี้มา 54 ชั่วโมง ในที่สุดพวกเขาก็ตื่นจากภวังค์ และเริ่มด่า ตำรวจโดนก่อน พวกเขาใช้เวลาจัดการเรื่องนี้นานมาก เกือบ 3 วัน แถมยังมีตัวประกันตาย 2 ราย เจ้าหน้าที่ตาย 1 นายด้วย
สื่อมวลชนโดนตามมา พวกเขาก้าวข้ามเส้นการทำงาน ไปเกาะติดรายงานสด ชนิดที่ว่าอยู่ร่วมกับเหตุการณ์ไปด้วย ไม่สนหน้าที่ของสื่อใดๆ ทั้งสิ้น การรุมล้อมผู้ก่อเหตุ การแข่งกันทำข่าว โดยไม่สนใจเหตุการณ์ตรงหน้า ซึ่งทำให้ตำรวจทำงานลำบากอย่างมาก เหตุการณ์นี้ทำให้สภาการนักข่าวเยอรมันได้ออกคำแนะนำว่า
ต่อไปนี้ขอสื่อมวลชน
อย่าสัมภาษณ์อาชญากรขณะก่อเหตุ
โดยเด็ดขาด
เหตุการณ์นี้สร้างความตกตะลึงให้กับสังคม สำหรับอูโด เขากลับมาเขียนข่าวโดยเน้นช่วงนาทีสุดท้ายของซิเก้โดยละเอียดที่สุด ซึ่งทำให้เขามีชื่อเสียงและได้ย้ายไปทำงานสื่อยักษ์ใหญ่ของเยอรมันในเวลาต่อมา
ภาพของซิเก้กลายเป็นฝันร้ายของประเทศ สร้างความบอบช้ำให้กับครอบครัวเธอจนถึงปัจจุบัน สังคมก่นถามสงสัย ทำไมหญิงสาวอายุ 18 ปีต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ด้วย ทุกคนต่างชี้นิ้วโบ้ยกันไปมา ตำรวจว่านักข่าว สื่อบอกตำรวจ
ในเวลาต่อมา ศาลได้ตัดสินให้จำคุก ฮันส์ แฟนสาวของเขา และดีเทอร์ แต่ความยุติธรรมไม่อาจเยียวยาปิดซ่อนความฉาวของวิกฤตแกลดเบคได้ มันกลายเป็นบาดแผลของสังคมเยอรมันจนถึงทุกวันนี้ อูโดบอกว่า เหตุการณ์นี้สื่อได้ข้ามเส้นบางอย่าง ไม่ได้ทำหน้าที่นักข่าว และมันไม่ควรเกิดขึ้นอีกต่อไป
อย่างไรก็ดีผู้พิพากษาที่ตัดสินจำคุกผู้ก่อเหตุ ได้บอกกับอูโดว่า ถ้าคุณไม่ขึ้นไปบนรถตอนนั้น มันอาจเกิดการยิงกันกลางเมืองก็เป็นได้และสถานการณ์คงจะวุ่นวายกว่านี้
คำให้สัมภาษณ์นี้ ทำให้สื่อดูดีขึ้นมาหน่อย และเป็นตำรวจที่โดนด่าไปเต็มๆ ต่อมาทางครอบครัวผู้เสียชีวิต ทั้งเด็กหนุ่มวัย 15 ปีและลุงของซิเก้ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อทางการที่ทำงานหละหลวมจนทำให้ตัวประกันต้องตาย
4.
ปัจจุบันนี้ แฟนสาวของฮันส์ออกจากคุกแล้ว หลังต้องโทษไปได้ 9 ปี ส่วนดีเทอร์ติดไป 30 ปี เขาเพิ่งออกจากคุกเมื่อไม่กี่ปีมานี้ และได้เปลี่ยนชื่อนามสกุล เก็บตัวอยู่เงียบๆ ขณะที่ฮันส์ซึ่งถือว่าเป็นหัวโจกในการก่อเหตุนี้ ยังชดใช้กรรมในคุกอยู่
เมื่อพูดถึงวิกฤตแกลดเบค นอกจากตำรวจ นักข่าวและผู้ก่อเหตุแล้ว ทุกวันนี้ทุกคนยังจดจำซิเก้ ตัวประกันที่เสียชีวิต จากภาพที่เธอถูกปืนจ่อ มันเป็นภาพที่ย้ำเตือนความเลวร้ายนี้ และมันกระทบต่อแม่ของซิเก้เป็นอย่างมาก
หญิงสาวที่สูญเสียลูกให้สัมภาษณ์สื่อว่า เธอเสียใจมาก เจ็บช้ำทุกครั้งที่ได้เห็นภาพนี้ ในเวลาต่อมาเธอยอมรับว่าลูกของเธอแกร่งมากๆ ที่รับมือกับเหตุการณ์นี้ได้ โดยทุกครั้งที่เห็นภาพนี้ แม่ของซิเก้ถึงกับเก็บไปนอนฝันร้ายเลยทีเดียว
“แต่ทุกวันนี้ฉันค่อยๆ รับมือกับมันได้ แน่นอนว่ามันยังเจ็บปวดอยู่ แต่ฉันจะไม่เบือนหน้าหนีภาพนี้อีกแล้ว มันคือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าลูกสาวของฉัน กล้าหาญอย่างมาก ใช่…เธอกล้าจริงๆ”
ข้อมูลอ้างอิง