1
คุณอาจคิดว่า คัมภีร์ไบเบิลเป็นคัมภีร์ที่เขียนขึ้นจากปากคำของใครคนใดคนหนึ่ง (อย่างน้อยก็ปากคำของพระเจ้า) แต่ที่จริงแล้ว ไบเบิลคือคัมภีร์ที่เขียนขึ้นตามอำเภอใจของใครก็ได้ที่อยากจะเขียน โดยสามารถเขียนขึ้นมาเป็น Gospel ต่างๆ ชาวคริสต์เราอาจคุ้นเคยกับพระวรสารของนักบุญลูกา (Luke) นักบุญมาระโก (Mark) แต่ที่จริง กวีอย่าง วิลเลียม เบลค, วอลท์ วิทแมน หรือนักเขียนอย่างชาลส์ โบดเดอแลร์ ต่างก็เคยเขียน ‘กอสเปล’ ของตัวเองขึ้นมาทั้งนั้น
คำว่า ‘ไบเบิล’ มาจากคำว่า Biblia อันเป็นศัพท์กรีก แปลว่า small books หรือหนังสือเล่มเล็กๆ หลายๆ เล่มที่ถูกนำจับมาเรียงต่อกันเข้า
ฉะนั้น ใครอยากจะเขียน ‘หนังสือเล่มเล็กๆ’ สักเล่ม โดยว่าถึงพระเจ้าที่ตัวเอง (คิดว่าหรืออ้างว่า) ได้รับ ‘แรงดลใจ’ มาจากพระเจ้า ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องผิด
และการที่ ‘อำนาจเหนือ’ (Authorization) บางอย่าง (เช่นผู้ที่สังคายนาพระคัมภีร์) นำ ‘หนังสือเล่มเล็กๆ’ เฉพาะบางเล่มที่ ‘อำนาจเหนือ’ นั้นเห็นว่า ‘ถูกต้องชอบธรรม’ มาเรียงกัน แล้วบอกว่านี่คือไบเบิลที่ทุกคนต้องเคารพ คือปากคำของพระเจ้า-ก็ย่อมหาใช่เรื่องผิดไม่
แต่เรื่องผิดน่าจะเกิดขึ้นเมื่อ ‘อำนาจเหนือ’ บอกเราว่า เมื่อมีไบเบิลฉบับที่ถูกต้องเที่ยงตรงเป็นทางการ (Authoritative Bible) แล้ว กอสเปลอื่นๆหรือไบเบิลอื่นๆ คือกอสเปลที่ผิด
เพราะที่จริง กอสเปลทุกแบบทุกเล่ม ต่างก็ล้วน ‘อ้าง’ ว่าเขียนขึ้นจาก ‘การดลใจ’ ของพระเจ้าทั้งนั้นแหละครับ
คำถามก็คือ ‘ใคร’ คือผู้มีสิทธิอำนาจในการ ‘จัดสรร’ ว่ากอสเปลไหนควรเอาไปเก็บเข้ากรุ เผาทิ้ง หรือทำเหมือนไม่เคยมีอยู่ในโลก และกอสเปลไหนสมควรมี ‘ที่ทาง’ อยู่ในคัมภีร์ไบเบิลที่ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์
ใครยึดกุม ‘อำนาจเหนือ’ นั้นเอาไว้
คำตอบไม่ใช่พระเจ้าหรอกครับ!
ระหว่างกอสเปลที่เป็นทางการกับกอสเปลที่ไม่เป็นทางการ มีการต่อสู้ระหว่างกันมาตลอดเวลาหลายพันปี ไม่ใช่ต่อสู้เพื่อยืนยันความถูกต้องว่ากอสเปลไหนถูกกอสเปลไหนผิด (เพราะไม่มีใครรู้หรอกครับ ว่าเรื่องของพระเจ้านั้นเรื่องไหนถูกเรื่องไหนผิด และถ้าว่ากันตามตรรกะแบบคริสต์แล้ว มนุษย์ก็ต่ำต้อยเกินกว่าจะเข้าใจได้ว่าพระเจ้ากำลังทำอะไร เพื่ออะไร-ฉะนั้นมนุษย์จะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรถูก อะไรผิด) แต่การต่อสู้ที่ว่านั้น เกิดขึ้นเพื่อการมี ‘ที่ทาง’ และสร้างทางเลือกให้กับคนอ่านหรือคริสตศาสนิกชนที่ควรมีโอกาสได้รับรู้และมี ‘สิทธิ’ ที่จะตีความพระคัมภีร์ในแบบของตัวเอง
ตั้งแต่จำความได้ ในฐานะชาวคริสต์ ผมถูกสอนมาว่าพระเจ้ามีอยู่แต่เพียงองค์เดียว ยิ่งใหญ่ที่สุดตามที่ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์เก่า เป็นผู้สร้างโลกและสรรพสิ่งทั้งมวลภายในเจ็ดวัน แต่ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า ที่จริงมี ‘กอสเปล’ อื่นๆอีกมาก ที่เล่าถึงโลก ‘ก่อนหน้า’ บทตอนที่พระคัมภีร์ไบเบิลเขียนเอาไว้
สำหรับผม ‘ไบเบิลทางเลือก’ อย่างนอสติกกอสเปล (Gnostic Gospel หรือกอสเปลของเจมส์) หรือเดดซีสครอล (Dead Sea Scroll) หรือสิ่งที่ถูกเรียกว่า อะโปคริฟา (Apocrypha-แปลว่า hidden things) ซึ่งเป็น ‘กอสเปล’ ทางเลือก (ที่จริงศาสนจักรไม่ถือว่าอะโปคริฟาเป็นกอสเปลนะครับ) นั้น, เล่าเรื่องต่างๆไว้ยิบย่อยละเอียดละออมากกว่ากอสเปลอย่างเป็นทางการมากนะครับ มากเสียจนถูกกล่าวหาว่าเป็น pseudoepigrapha หรือ false writings หรืองานเขียนที่ผิดพลาดไปเลย ไม่ว่าจะเป็นกอสเปลลับของมาร์ค (The Secret Gospel of Mark), กอสเปลของฮีบรูว์, กอสเปลของอีบิโอไนต์, กอสเปลของนิโคเดมุส หรือกอสเปลของบาร์โธโลมิว เหล่านี้ล้วนเป็นกอสเปลที่ถูกความสัมพันธ์เชิงอำนาจเขี่ยตกเวทีไปทั้งสิ้น
คริสต์ศาสนิกชน ‘ที่ดี’ จึงไม่มีโอกาสรู้เลยว่า เอาเข้าจริง มีกอสเปล ‘อื่นๆ’ อีกมากมายที่ยืนยันตรงกันว่า ที่จริงแล้วไม่ได้มีพระเจ้าอยู่แค่องค์เดียว!
‘ราก’ ของศาสนาคริสต์ ที่จริงไม่ใช่เอกเทวนิยมแบบที่สอนๆ กันหรอกนะครับ ทว่าที่จริงก็เป็น ‘พหุเทวนิยม’ เหมือนกับพราหมณ์ ฮินดู หรือแม้แต่เหล่าเทพของกรีกและโรมันนั่นเอง
พระเจ้า ‘องค์ปัจจุบัน’ หรือพระยาเวห์ ที่นับถือกันอยู่นี้ ที่จริงนอสติกกอสเปลเห็นว่าเป็นแค่พระเจ้า ‘องค์หนึ่ง’ ซึ่งถูกพระเจ้าอื่นๆ ตั้งฉายาให้ว่าเป็น The Jealous God หรือพระเจ้าขี้อิจฉา ค่าที่วันๆ ก็คอยแต่ไปนั่งอิจฉาพระเจ้าองค์อื่นๆ ที่เดิมทีมีชื่อเสียงมากกว่า จนในที่สุดก็เลยคิดสร้างโลกใบนี้ขึ้นเพื่อให้โลกมายกย่องตัวเอง แล้วก็ไม่ได้สร้างขึ้นมาด้วยตัวเองลำพัง แต่สร้างด้วยความช่วยเหลือของพระเจ้าองค์อื่น (ที่มีเพศเป็นหญิงเสียด้วย) แต่พอเสร็จแล้วก็ยึดไว้เสียเอง พร้อมทั้งสอนผู้คนให้เชื่อด้วยว่า มีพระเจ้าอยู่แต่องค์เดียว (ต้องย้ำว่า นี่เป็นคำสอนของนอสติกกอสเปลนะครับ ผมไม่ได้พูดเอง!)
Oh, my god!
2
นักปรัชญาการเมืองสายมาร์กซิสม์ (ที่ดูจะไม่ค่อยชอบประชาธิปไตยสักเท่าไหร่) อย่าง คาร์ล ชมิดท์ เคยบอกไว้ว่า การเมืองคือการแบ่งแยกมิตรและศัตรูให้ขาด และเมื่อแยกมิตรศัตรูแล้ว เราก็จะสามารถ ‘นิยาม’ ตัวเองได้-ว่าเราคือใคร โดยนิยามตัวเองจากศัตรูของเรา
ถ้าคิดแบบนี้ เราจะเห็นว่าพระเจ้าก็ได้เริ่มเล่น ‘การเมือง’ ในสไตล์ของพระองค์มาตั้งแต่บอกกล่าวให้อับราฮัมผู้เป็นบิดาของชนชาติยิวรู้แล้วว่า-ชาติพันธุ์ของเขาจะต้องอยู่ร่วมกับผู้คนสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่เป็นมิตร และอีกกลุ่มคือกลุ่มที่เป็นศัตรู
แต่ปัญหาของอับราฮัมก็คือ แล้วจะรู้ได้อย่างไรเล่า ว่าใครคือมิตร และใครคือศัตรู
คาร์ล ชมิดท์ บอกว่า ประเทศหนึ่งๆ จะมีความสุขสงบได้อย่างถาวรแท้จริง ก็ต่อเมื่อคนในชาตินั้นๆ ได้มอบอำนาจให้ ‘รัฏฐาธิปัตย์’ (เทียบได้เท่ากับ ‘พระเจ้า’ เปี๊ยบเลยครับ!) สามารถวินิจฉัยได้ว่า ใครคือศัตรูของสาธารณะ ใครเป็นศัตรูภายนอกและศัตรูภายใน
เมื่อพระเจ้าสามารถ ‘รวบรวม’ ชาติอิสราเอลเข้าไว้ด้วยกันให้เป็นปึกแผ่นได้แล้ว พระองค์ก็ต้องเริ่มงาน ‘กำจัด’ ศัตรูภายใน พร้อมกับ ‘สร้าง’ ศัตรูภายนอกขึ้นมาให้ได้ โดยแรกทีเดียว เหล่าศัตรูภายในได้แก่กลุ่มคนอิสราเอลที่ไม่เชื่อฟังพระเจ้า พระเจ้า ‘สั่ง’ ให้ทำอะไรก็ไม่ยอมทำตาม วิธีกำจัดศัตรูภายในนั้นมีต่างๆนานา ไม่ว่าจะด้วยการให้ชาวอิสราเอลตกไปเป็นทาสของชาวอียิปต์ การแสดงฤทธิ์อำนาจต่างๆ รวมไปถึงการ ‘ขู่’ สารพัด จนแทบเรียกได้ว่าหมดสิ้นศัตรูภายในไป
พระเจ้าเป็นนักการเมืองที่หลักแหลมอย่างยิ่ง เพราะพระองค์ใช้กระบวนการแบบนัดเดียวได้นกสองตัว คือทำให้เหล่าชาวอิสราเอลกลัวด้วยคำขู่ (ตามมาด้วยการ ‘ลงมือ’ กระทำจริงๆ ต่างๆ นานา ทั้งบันดาลให้พ่ายแพ้ต่อศัตรู ทั้งภัยธรรมชาติ ทั้งไม่ยอมนำพวกเขาไปสู่ดินแดนแห่งพันธสัญญา เป็นต้น) เป็นการกำจัดศัตรูภายใน และในขณะเดียวกันก็มีกระบวนการสร้าง ‘ความเป็นอื่น’ (the other) ขึ้นพร้อมๆ กับทำให้คนที่มีวัตรปฏิบัติหรือนับถือสิ่งอื่นที่แตกต่างจากตัวเองกลายเป็นคนที่แปลกหน้า (stranger) และแปลกประหลาด (alien) พร้อมที่จะรบพุ่งฆ่าฟัน และทำลายล้างคนเหล่านั้น รวมทั้งบุกเข้าไปยึดที่ดินทำกินที่คนเหล่านั้นได้อยู่อาศัยกันมาก่อนหน้าตั้งแต่ปู่ย่าตายาย
เราจะสู้รบกับศัตรูของเจ้า และเป็นปรปักษ์ต่อฝ่ายที่ตรงกันข้ามกับเจ้า ทูตสวรรค์ของเราจะไปข้างหน้า และนำเจ้าเข้าไปสู่ดินแดนของพวกอาโมไรต์ พวกฮิตไทต์ พวกเปริสซี พวกคานาอัน พวกฮีไวต์ และพวกเยบุส เราจะทำลายล้างพวกนั้นเสียให้สิ้น จงอย่ากราบไหว้หรือนมัสการพระของพวกนั้น อย่าทำตามที่เขาทำเลย จงทำลายพระของคนเหล่านั้นให้หมดสิ้นและทำลายศิลาศักดิ์สิทธิ์ของเขา เจ้าจงนมัสการพระเจ้าของเจ้า แล้วเราจะอวยพรเจ้าให้เจ้ามีน้ำมีอาหารกินบริบูรณ์ เราจะเอาโรคภัยทั้งปวงไปจากเจ้า ในดินแดนของเจ้าจะไม่มีหญิงคนใดแท้งบุตรหรือเป็นหมัน เราจะให้เจ้าอายุยืน
ตอนหนึ่งจากบทอพยพ (23 : 22-33)
พระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาเดิม
แต่ในความเป็นจริง ‘ศัตรูภายใน’ ที่ถูกพระเจ้าทั้งขู่ทั้งปลอบนั้น ไม่ได้ ‘กลับใจ’ หันหน้าเข้ามานับถือพระเจ้าล้วนๆ หรอกนะครับ เพราะศัตรูภายในเหล่านั้นก็ยังมีแนวโน้มอยากจะเคารพนับถือเทพองค์อื่นๆ ไปด้วยพร้อมกัน (ถ้าให้ผมวิเคราะห์ ก็เป็นไปตามนอสติกกอสเปล ที่แสดงให้เห็นชัดๆ ว่าที่จริงศาสนาในทะเลทรายนั้นเริ่มต้นมาด้วยภาวะแบบพหุเทวนิยม-แล้วใครล่ะจะทิ้งวัฒนธรรมและความเคยคุ้นแบบเดิมได้ง่ายๆ)
ด้วยเหตุนี้ วิธีการเดียวที่เหล่าประกาศกต้องงัดขึ้นมาใช้เป็นท่าไม้ตายก็คือ พวกเขาต้องทำให้ชาวอิสราเอล ‘ในรีต’ เห็นว่า เหล่าชาวอิสราเอล ‘นอกรีต’ เหล่านี้ ที่จริงแล้วก็ ‘เลว’ เท่าๆ กับ ‘ศัตรูภายนอก’ นั่นแหละ และวิธีการที่จะรวมเอาศัตรูภายใน (ใจ) เข้ากับศัตรูภายนอก (กาย) ได้ดีที่สุด ก็คือการสร้างสัญลักษณ์ (symbolize) หรืออุปโลกน์อะไรขึ้นมาสักอย่าง ให้เป็นตัวแทนของความเลวทั้งภายนอกและภายในได้ทั้งคู่
สิ่งนั้นคือซาตาน!
ที่จริงแล้ว ถ้าดูจากพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับที่เป็นทางการ ซาตานที่ปรากอยู่ในไบเบิลตั้งแต่แรกหาใช่ผู้ต่อต้านพระเจ้าไม่ แต่คือผู้รับใช้พระเจ้านี่แหละครับ
คำว่าซาตานปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าของชาวฮีบรูว์มาตั้งแต่ก่อนคริสตกาลถึง 600 ปี โดยเดิมทีเดียว ซาตานคือ ‘เทวดา’ หรือ ‘ทูตสวรรค์’ ที่พระเจ้าใช้ให้มา ‘ขัดขวาง’ กิจกรรมบางอย่างของมนุษย์เท่านั้น (รากศัพท์ของซาตานคือ stn ซึ่งที่จริงแปลว่า ‘คนที่ทำหน้าที่ขัดขวางหรือก่อให้เกิดอุปสรรค’ คำเดียวกันนี้ ถ้าเป็นศัพท์กรีก จะเรียกว่า diabolos ซึ่งต่อมากลายเป็น devil ทั้งที่ diabolos แต่เดิมแปลว่า ‘คนที่โยนบางสิ่งไปขวางเส้นทางเอาไว้’ เท่านั้น) แรกทีเดียว ผู้ที่มาขัดขวางมนุษย์ ถูกเรียกว่าทูตสวรรค์ แต่ครั้งแรกที่ ‘ทูตสวรรค์’ ที่ทำหน้าที่ขัดขวางถูกขนานนามว่า ‘มาร’ คือในตอนของ ‘โยบ’ ซึ่งโยบเป็นผู้นับถือและรับใช้พระเจ้าอย่างสุดหัวใจ แต่พระเจ้าเป็นผู้ ‘ใช้’ ให้มารไปทดลองโยบเพื่อดูว่าเมื่อประสบความทุกข์ลำเค็ญ โยบจะยังจงรักภักดีกับพระเจ้าต่อไปหรือเปล่า
เพราะฉะนั้น ซาตานจึงไม่ใช่ฝ่ายตรงข้ามกับพระเจ้ามาตั้งแต่ต้น!
เอาเข้าจริง เรื่องเล่าเกี่ยวกับ ‘กำเนิด’ ของซาตานนั้น ไม่มีความแน่นอนตายตัวเลยนะครับ คนแต่ละกลุ่มต่างก็มีเรื่องเล่าของกำเนิดซาตานที่แตกต่างกันออกไป มีตั้งแต่ซาตานเป็นข้ารับใช้ที่ถูกเขี่ยตกสวรรค์ ไปจนกระทั่งถึงซาตานเป็นพี่น้องกับพระเจ้า แต่แข่งขันกัน แก่งแย่งชิงดีกันจนต้องกลายมาเป็นศัตรู
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ในตอนหลัง ซาตานก็ได้ถูกศาสนจักร ‘สร้าง’ ขึ้นจนมีรูปลักษณ์และภาพลักษณ์ที่ชัดเจนแจ่มแจ้งในความรับรู้ของผู้คน ว่าเป็น ‘ศัตรู’ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระเจ้า และเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดการสร้างอัตลักษณ์ของคริสตศาสนจักรขึ้นโดยใช้ศรัทธาและความกลัวเป็นตัวนำ โดยเฉพาะในยุคกลาง
ถ้าเราพิจารณาการสร้าง ‘ศัตรูภายนอก’ โดยฝีมือพระเจ้า กับชนชาติต่างๆ ที่อาศัยอยู่รายล้อมชนชาติอิสราเอล ไม่ว่าจะเป็นอาโมไรต์ ฮิตไทต์ เปริสซี หรือฮีไวต์ เราจะพบว่า-ที่สุดแล้วพระเจ้าก็ไม่ได้เก่งกาจอะไรมากนักในการเป็นนักการเมืองตามความหมายของคาร์ล ชมิดท์ เพราะกระบวนการสร้างศัตรูภายนอกของพระเจ้ายังมีจุดอ่อนจุดบกพร่องอยู่มาก ผลของความบกพร่องนี้แสดงออกมาให้เห็นจากการที่ชาวอิสราเอลจำนวนหนึ่ง (ซึ่งคงมีเป็นจำนวนไม่น้อย) ยังคงเสาะแสวงหาพระเจ้าองค์อื่นๆอยู่และไม่เชื่อฟังพระยาเวห์ที่พยายามจะสถาปนาตัวเองให้เป็นพระเจ้าหนึ่งเดียวมากนัก
แต่เป็นศาสนจักรในภายหลังต่างหาก ที่เก่งกว่าพระเจ้าในกระบวนการเกลื่อนกลืนเอา ‘ศัตรูภายนอก’ ให้ผสมปนเปไปกับ ‘ศัตรูภายใน’ จนก่อเกิดออกมาเป็นซาตาน ซึ่งมีฤทธิ์อำนาจน่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก
ซาตานสามารถ ‘บุก’ เข้าไปได้ถึงภายในจิตใจของผู้คนได้โดยที่ผู้คนไม่รู้ตัว ซาตานจึงเปรียบเสมือนชาวอาโมไรต์ล่องหนที่สามารถทลายกำแพงเมืองเจริโคลงได้รวดเร็วยิ่งกว่าเสียงแตรของทูตสวรรค์
แต่ที่สำคัญที่สุด บางทีซาตานก็อาจไม่ได้ ‘มา’ จากที่ไหน
เพราะถ้าซาตานมีกำเนิดเป็นพี่น้องหรือเป็นทูตสวรรค์ของพระเจ้า บางทีซาตานก็อาจอาศัยอยู่ใน ‘บ้าน’ หลังเดียวกับพระเจ้า ซึ่งก็คือตัวของเราทุกคนนั่นเอง
ในโลกทุกวันนี้ บางทีเราก็บอกไม่ได้อย่างเด็ดขาดหรอกว่าใครคือพระเจ้า และใครคือซาตาน
เพราะในบางคราว ในบางสายตา และในบางการรับรู้ พระเจ้าก็ประพฤติตัวไม่ผิดอะไรกับซาตาน และหลายคราว ซาตานก็คือแขนขาของพระเจ้า ทั้งที่เป็นซาตานในมุมมองของไบเบิลเช่นกัน
หลายครั้ง อำนาจของทั้งพระเจ้าและซาตาน จึงเป็นเหมือนหมอกควันที่ล่องลอยอยู่ระหว่างคำสองคำนี้ และบดบังสายตาจนทำให้คนธรรมดาๆ ทั่วไปไม่อาจมองเห็นได้อีก,
ว่าอะไรเป็นอะไร
หมายเหตุ : ปรับปรุงจากบทความ ‘เมื่อซาตานสำคัญกว่าพระเจ้า’ ที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร October