เรื่องหนึ่งที่ผู้อาวุโสชอบทำกัน (พร้อมกับทำตาละห้อยโหยหา) ก็คือการถวิลหาอดีต
เรามักได้ยินประโยคที่ว่า – สมัยก่อนบ้านเมืองมันดีกว่านี้, สมัยที่บ้านเมืองยังดีอยู่ หรือถ้าเป็นฝรั่งก็จะได้ยินวลี Good Old Days อยู่บ่อยๆ
คำพูดแบบนี้ มักจะมาพร้อมกับวลี ‘เด็กสมัยนี้’ ในเชิงบ่นว่าคนสมัยนี้มักจะมีอะไรๆ ไม่ได้มาตรฐานในแบบที่ ‘คนเก่าคนแก่’ เคยเป็น
วิธีคิดแบบนี้ทำให้เกิดผลลัพธ์หลายระดับในสังคม ตั้งแต่ระดับชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป เช่นเกิดเทรนด์การขายของที่ห้อยท้ายชื่อว่า ‘โบราณ’ เช่นกาแฟหรือขนมเบื้องโบราณ ไล่ไปจนถึง ‘ผู้หลักผู้ใหญ่’ ในบ้านเมืองที่มักจะชอบเอาของเก่ามาปัดฝุ่นพร่ำสอนคนอื่นตามความเคยชินเดิม อย่างล่าสุดก็มีผู้เสนอ ‘ประชาธิปไตยแบบไทยนิยม’ ออกมา ซึ่งไม่ว่าผู้เสนอจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม มันคล้ายการย้อนกลับไปสู่ พ.ศ. 2501 อันเป็นยุคที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เสนอ ‘ประชาธิปไตยแบบไทย’ ออกมาด้วยแนวคิดที่ไม่แผกแตกต่าง
ฟังดูแล้วไม่ดีเลยใช่ไหมครับ แต่กระนั้นก็อย่าเพิ่งไปค่อนว่าผู้สูงวัยไปเสียทั้งหมด ที่ดีกว่าก็คือ เราควรต้องกลับมา ‘ตั้งหลัก’ คิดกันเสียก่อน และเมื่อตั้งหลักคิดแล้ว ก็จะพบว่ามีคำถามเกิดขึ้นหลายคำถาม ทั้งยังเป็นคำถามที่ซับซ้อนด้วย
คำถามแรกก็คือ – จริงหรือ, ที่ผู้อาวุโสส่วนมากคิดว่าอดีตนั้นดีกว่าปัจจุบัน
คำถามที่สองก็คือ – และเอาเข้าจริงแล้ว, สมัยก่อนโน้นมัน ‘ดี’ กว่าสมัยนี้จริงๆ หรือ
รวมทั้งคำถามที่สามก็คือ – กลับกัน, แล้วสมัยนี้ดีกว่าสมัยก่อนมากมายแค่ไหนเชียว
เรื่องแบบนี้มันน่าจะมีหลักฐาน เหตุผล หรือความเปลี่ยนแปลงอะไรให้เราเห็นและจับต้องได้ไม่ใช่หรือ
หลายปีก่อน นักเขียนอเมริกันคนหนึ่งชื่อ จอห์น สตาร์ค ได้เขียนบทความชิ้นหนึ่งให้กับสำนักข่าว Next Avenue ซึ่งเป็นสำนักข่าวดิจิทัลในเครือ PBS (อ่านบทความได้ที่นี่ www.nextavenue.org) ว่าด้วยความสงสัยแบบเดียวกัน คือเขาสงสัยว่า ระหว่าง ‘ปัจจุบัน’ กับ ‘อดีต’ อย่างไหนมันดีกว่ากัน แต่เขาคิดว่าถ้าไปถามคนที่อายุหกสิบ ก็อาจมีคนอายุเจ็ดสิบคัดค้านได้ หรือถ้าถามคนที่อายุเจ็ดสิบ คนที่อายุแปดสิบก็อาจบอกว่าไม่จริงหรอก ก่อนหน้านั้นดีกว่า ดังนั้น เขาจึงเลือกไปสัมภาษณ์คนที่สูงอายุที่สุดเท่าที่จะสูงได้ โดยมีข้อแม้ว่าต้องสุขภาพดีด้วย เขาเลยไปสัมภาษณ์คุณยาย แคทเธอรีน โอ’มัลลีย์ (Katharine O’Malley) ซึ่งในปี 2012 คุณยายมีอายุ 104 ปี ทว่ายังมีความทรงจำทุกอย่างดีอยู่
คุณยายยอมให้สัมภาษณ์ พร้อมกับบอกว่า “รีบๆ มานะ เพราะฉันจะไม่อยู่ที่นี่นานนักหรอก” คุณจอห์นก็เลยรีบไปโดยด่วนในวันรุ่งขึ้น เพราะคิดว่าคุณยายอาจจะป่วยอยู่ แต่ปรากฏว่าคุณยายไม่ได้หมายความว่าเธอกำลังจะตาย เพียงแต่คุณยายกำลังจะนั่งเรือบินจากบอสตันเพื่อเดินทางไปเยี่ยมหลานที่ซานฟรานซิสโกต่างหาก
หลังสัมภาษณ์เสร็จ คุณจอห์นประทับใจกับการที่คุณยายบอกว่าปัจจุบันนี้ดีกว่าอดีตมาก คุณยายแยกแยะเป็นข้อๆ ทำให้คุณจอห์นเอามาเขียนได้ง่ายๆ และสรุปเหตุผล (แบบปัจเจก) ของคุณยาย ออกมาหลายข้อด้วยกัน ตัวอย่างเช่น
-ก่อนจะมีสตาร์บัคส์ คุณจะไปหากาแฟดีๆ กินได้ที่ไหนในอเมริกาล่ะ ก็ต้องไปเสาะหากาแฟจากต่างประเทศมา ซึ่งยากลำบากมาก ปัจจุบันจึงดีกว่าแน่ๆ
-ตอนคุณยายอายุ 14 คุณยายเริ่มเป็นไมเกรน และเป็นมาจนตลอดชีวิต คุณยายรู้เลยว่ายาไมเกรนนั้นดีขึ้นเรื่อยๆ แถมยังราคาถูกลงเรื่อยๆ ด้วย ปัจจุบันจึงดีกว่าแน่ๆ
-สมัยเป็นวัยรุ่น ในอเมริกาเชื่อกันว่าน้ำมันมะกอกนั้นเป็นพิษ คนไม่กินกัน แต่ผ่านมาแค่ไม่กี่ทศวรรษ ก็เกิดการปฏิวัติทางอาหาร ทำให้มีน้ำมันสารพัดชนิดที่หาซื้อได้สะดวก ปัจจุบันจึงดีกว่าแน่ๆ
-สมัยยังเด็ก แถวบ้านคุณยายเคยมีสถานีล่าวาฬด้วย ตอนนั้นคุณยายและคนทั่วไปไม่รู้เหนือรู้ใต้หรอกว่าการล่าวาฬมันควรหรือไม่ควร วาฬจะสูญพันธุ์หรือไม่สูญ แต่คุณยายบอกว่า ทุกวันนี้ ความรู้เรื่องการอนุรักษ์ของเราทำให้วาฬกลายเป็นดาราหนังไปแล้ว (โดยเฉพาะวาฬเพชฌฆาต) ปัจจุบันจึงดีกว่าแน่ๆ
-สมัยก่อน คนแทบไม่โทรหากันนอกเขตรหัสโทรศัพท์เลย เพราะการ ‘โทรทางไกล’ มันแพงมากๆ แต่ทุกวันนี้ก็อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ ว่าเราติดต่อสื่อสารกันได้ตลอดเวลาขนาดไหน ปัจจุบันจึงดีกว่าแน่ๆ
-ก่อนหน้าจะมีร้านเสื้อผ้าสำหรับทุกคน (คุณยายยกตัวอย่าง Gap กับ Banana Republic) คนที่สามารถซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆ มาใส่ได้ ต้องเป็นคนรวยหรือคนชั้นสูงเท่านั้น ไม่อย่างนั้นก็ต้องตัดเย็บเสื้อผ้าเอง แต่เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็แต่งตัวสวยๆ กันได้ทั้งนั้นในราคาถูก ปัจจุบันจึงดีกว่าแน่ๆ
ฯลฯ
นั่นเป็นความเห็นของคุณยายต่อเรื่องเล็กเรื่องน้อยในระดับบุคคลหลายๆ อย่าง แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้นี่แหละครับ ที่สะท้อนย้อนกลับทำให้เราเห็นถึง ‘หลักการ’ ใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคมมนุษย์ในหลายด้าน
อย่างแรกสุดที่ผมคิดว่าสำคัญมาก และทำให้เกิดกระบวนการ ‘ประชาธิปไตย’ (Democratization) ในหลายมิติของชีวิตคุณยาย – ก็คือการเกิดขึ้นของ ‘หลักสิทธิมนุษยชน’ ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แล้วค่อยๆ พัฒนาขึ้นจนกลายเป็น ‘คำประกาศสิทธิมนุษยชนสากล’ ในปี 1949 โดยหลังจากนั้นก็มีการปรับปรุงหลักการต่างๆ ของสิทธิมนุษยชนเรื่อยมา แต่กว่าจะเข้ามาถึงสังคมไทยจนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย ก็เนิ่นนานหลังจากนั้นหลายสิบปี
แล้วหลักสิทธิมนุษยชนมันทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้างที่ต่างไปจาก Good Old Days?
ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดเลยก็คือ ทุกวันนี้ คำว่า ‘ความเสมอภาค’ (Equality) และ ‘เสรีภาพ’ (Freedom) กลายเป็นหลักการพื้นฐานของมนุษย์ ในขณะที่ยุค Good Old Days นั้น อำนาจจะลดหลั่นลงมาเป็นชั้นๆ โดยเฉพาะสังคมแบบฟิวดัล รวมถึงสังคมเผด็จการในรูปแบบต่างๆ ที่คนในยุคก่อนคุ้นชินกันดีเพราะอยู่กับมันมาชั่วชีวิต ซึ่งถ้าคุณยายยังคงอยู่ในสังคมแบบเก่า ก็อยากหวังเลยว่าคุณยายจะมีกาแฟดีๆ เสื้อผ้าดีๆ และยารักษาไมเกรนดีๆ บริโภค เพราะของเหล่านี้จะมีราคาสูงลิบลิ่ว และมีการใช้เฉพาะในหมู่คนชั้นสูงเท่านั้น
หลายคนอาจจะบอกว่า ถ้าใช้คุณยายเป็นหลักไมล์ ทุกอย่างก็คงไม่ดีสักเท่าไหร่ เพราะโลกเมื่อเกือบร้อยปีก่อน จะมาดีเท่าโลกปัจจุบันได้อย่างไร ถ้าอย่างน้ัน ลองย้อนเวลากลับไปแค่สัก 50 ปีดูก็ได้นะครับ เราจะพบว่าตอนนั้นโลกอยู่ในภาวะปั่นป่วนวุ่นวายมาก แม้จะผ่านพ้นภาวะสงครามโลกมาแล้ว แต่ก็เกิดสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต ทำให้คนทั้งโลกต้องแบ่งเป็นสองฟากฝั่ง (และมีฟากฝั่งที่สามด้วย คือกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด – ที่ฟังชื่อในปัจจุบันแล้วหลายคนอาจรู้สึกขำๆ)
นั่นเป็นการเมืองระดับโลก แล้วถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันถึงตัวตนของเราโดยตรงล่ะ?
ถ้าเราย้อนกลับไปดูอายุขัยเฉลี่ย จะเห็นได้ชัดว่าคนสมัยก่อนมีอายุขัยน้อยกว่าคนยุคปัจจุบันมาก ตัวเลขจากธนาคารโลก (ดูได้ที่นี่ data.worldbank.org) บอกว่าในปี 1960 คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 55 ปี แต่ในปี 2015 อายุขัยเฉลี่ยพุ่งขึ้นไปเป็น 75 ปี (ซึ่งอาจแปลความได้อย่างหนึ่งว่า เทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ทำให้ผู้สูงวัยจำนวนมากมีชีวิตยืนยาวมากขึ้นจนสามารถรำลึกถึงชีวิตดีๆ ในสมัยเก่าได้)
หรือถ้าย้อนไปดูรายได้ (คือจีดีพีต่อหัว หรือ GDP per Capita) (ดูได้ที่นี่ data.worldbank.org) ก็จะเห็นว่าในปี 1960 ตัวเลขของไทยอยู่ที่แค่ 100.8 เหรียญ แต่พอถึงปี 2015 ตัวเลขพุ่งขึ้นไปเป็น 5,910.6 เหรียญ
จะเห็นว่า ถ้าดูสภาพการณ์การเมืองโลก เศรษฐกิจ และความคิดทางสังคมของผู้คน ต้องบอกว่าโลกมีแนวโน้ม ‘ดีขึ้น’ ในหลายด้าน นี่ยังไม่นับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้เราเรียนรู้ได้มากและเร็วขึ้นกว่าเดิม ทั้งยังติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้ดีขึ้นด้วย
แต่กระนั้น เราก็เห็นได้ชัดเจนเช่นเดียวกันว่า เกิดด้านที่ไม่พึงปรารถนาขึ้นหลายอย่างด้วย เช่นเรื่องใหญ่ๆ อย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นเพราะฝีมือมนุษย์, การที่โลกหดแคบลง ทำให้เกิดการปะทะกันทางอารยธรรม อุดมการณ์ และกระทั่งความเชื่อทางศาสนาอย่างรุนแรงชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
และถ้าไปดูในระดับประเทศ กับเรื่อง ‘เล็กๆ’ อย่างความเป็นอยู่ของผู้คน จะเห็นได้ชัดเลยว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ ของผู้คน (โดยเฉพาะคนไทย) สูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างตัวเลขดัชนีราคาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (ดูได้ที่นี่ www.fpo.go.th) ถ้าดูแค่ดัชนีราคาของกรุงเทพฯ แบบรวมทุกรายการ พบว่า ในปี พ.ศ. 2545 ดัชนีราคาอยู่ที่ 78.20 แต่พอมาถึงปี พ.ศ. 2558 ดัชนีราคาจะอยู่ที่ 106.23 เป็นต้น นั่นอาจแปลว่า ‘ความเป็นอยู่’ ของผู้คนลำบากมากขึ้นก็ได้ เพราะรายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้น อาจเพิ่มไม่ทันค่าครองชีพ ดังนั้น คำถามที่ว่า – ปัจจุบันกับอดีต อะไรดีกว่ากัน จึงเป็นเหมือนปัญหาโลกแตกที่ยากจะตอบ
Pew Research Center เคยไปทำสำรวจมาว่าคนในโลกนี้คิดอย่างไรกันแน่ โลกมันดีขึ้นจริงหรือเปล่า หรือว่าโลกในอดีตน่าอยู่กว่าปัจจุบันกันแน่ (เข้าไปดูรายละเอียดการสำรวจได้ที่นี่ www.pewglobal.org) ในภาพรวม เขาบอกว่าเสียงแตกนะครับ เพราะรวมๆ แล้วน่าจะครึ่งหนึ่งเชียร์อดีต อีกครึ่งหนึ่งเชียร์ปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ถ้าเรา ‘ขุด’ ลงไปในข้อมูลของ Pew เราจะพบว่ามีหลายประเด็นที่น่าสนใจเอามากๆ เรื่องหนึ่งก็คือ Pew พบว่าประเทศที่คนบอกว่าชีวิตในปัจจุบันดีขึ้นกว่าอดีต ไม่ใช่คนจากประเทศหรูหราฟู่ฟ่าศิวิไลซ์อย่างที่หลายคนอาจคิด ทว่าสามประเทศแรกที่บอกว่าปัจจุบันดีกว่าอดีต และดีกว่ามากๆ ด้วย คือประเทศใกล้ๆ บ้านเราอย่าง เวียดนาม, อินเดีย และเกาหลีใต้ นี่เอง
ที่น่าสนใจก็คือ เวียดนามนั้น มีคนบอกว่าปัจจุบันดีกว่าอดีตมากถึง 88% มีคนที่บอกว่าอดีตดีงามกว่าปัจจุบันแค่ 4% เท่านั้น ซึ่งนับว่าต่ำมาก ทิ้งห่างอันดับสองคืออินเดียและเกาหลีใต้ (ที่มีคนบอกว่าอดีตดีกว่าปัจจุบัน 17% เท่ากัน) พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เวียดนามนั้นเป็นประเทศที่ ‘ก้าวกระโดด’ อย่างมากในความเห็นเรื่องนี้
คำถามคือทำไม?
Pew อธิบายว่า ในประเทศที่เศรษฐกิจดีและอยู่ในขาขึ้น มักจะตอบว่าชีวิตของตัวเองดีขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต อย่างเวียดนามนี่ คนมากถึง 91% ตอบว่าเศรษฐกิจของตัวเองดีขึ้นนะครับ จึงสอดคล้องกับตัวเลข 88% ที่บอกว่าปัจจุบันดีกว่าเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว
ถ้าดูเป็นภูมิภาค จะเห็นชัดเจนว่าคนในอเมริกาใต้ส่วนใหญ่ (อันเป็นประเทศที่เศรษฐกิจย่ำแย่) เห็นว่าอดีตนั้นดีกว่าปัจจุบัน โดยประเทศที่คนคิดว่าปัจจุบันแย่กว่าอดีตเป็นจำนวนมากมีอยู่สองประเทศ คือเวเนซุเอลากับเม็กซิโก (72% และ 68% ตามลำดับ) จะมียกเว้นก็แต่ชิลีเท่านั้นที่คิดว่าปัจจุบันดีกว่าอดีต ซึ่งเห็นได้ชัดเจนเลยนะครับ ว่ามันสะท้อนโต้ตอบกับสภาวะเศรษฐกิจจริงๆ
ที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก (คือที่ที่เราอยู่นี่แหละครับ) เป็นกลุ่มประเทศที่มีความเห็นในแง่บวกต่อปัจจุบันมากที่สุด เพราะนอกจากเวียดนามและเกาหลีใต้ที่ว่าไปแล้ว ยังมีญี่ปุ่นอีกประเทศหนึ่งด้วย (คนญี่ปุ่นที่บอกว่าปัจจุบันดีกว่าอดีตมี 65%) ในขณะที่อินโดนีเซียก็ไม่น้อย
Pew ยังสรุปด้วยว่า กลุ่มคนที่คิดว่าปัจจุบันดีกว่าอดีตนั้น มักจะเป็นกลุ่มคนที่ ‘มีการศึกษา’ สูงกว่า ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในแถบเอเชียแปซิฟิกเท่านั้น แต่เป็นแบบนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มประเทศที่ไปสำรวจมา เราจึงพอจะพูดได้แบบเหมารวมว่า กลุ่มคนที่เศรษฐกิจดีและการศึกษาสูง มีแนวโน้มจะเห็นว่า ‘ปัจจุบัน’ ดีกว่า ‘อดีต’
อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจเอามากๆ และเป็น ‘คำถามแรก’ ที่ผมชวนคุณคิดเอาไว้ตั้งแต่ตอนต้น ก็คือแล้วถ้าเราลองมาจำแนกตามอายุดูล่ะครับ คนสูงวัยมีแนวโน้มจะมองเห็นว่าอดีตดีกว่าปัจจุบันมากกว่าคนอายุน้อยๆ หรือเปล่า
จากการสำรวจนี้ Pew บอกว่าโดยรวมๆ แล้วไม่ค่อยเห็นนัยสำคัญเท่าไหร่
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในการสำรวจระดับโลก ในประเทศต่างๆ 38 ประเทศ กับผู้คนเกือบ 43,000 คน ความต่างเรื่องวัยไม่ค่อยส่งผลต่อความเห็นในเรื่องนี้มากนัก คือในประเทศเดียวกัน คนจะแก่จะหนุ่มจะสาว ถ้าเห็นว่าปัจจุบันดีกว่าอดีตหรืออดีตดีกว่าปัจจุบัน – ก็จะเห็นคล้ายๆ กัน ปัจจัยเรื่อง ‘วัย’ ไม่ค่อยเข้ามาเกี่ยวข้องเท่าไหร่ เว้นแต่ในบางประเทศ เช่น อังกฤษ, ออสเตรเลีย, สวีเดน และเยอรมนี
แต่กระนั้น ถ้าดูให้ลึกลงไปในข้อมูลที่ว่า ก็มีข้อมูลหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจในระดับตื่นตาตื่นใจ รวมทั้งน่านำมาขบคิดอย่างยิ่ง ข้อมูลที่ว่าคือการสำรวจในเกาหลีใต้
Pew บอกว่า ‘คนสูงวัย’ ของเกาหลีใต้ (คือคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป) มีอะไรๆ ที่กลับกันกับคนในประเทศอื่นๆ และกลับกันกับภาพมายาที่เราคิดเอาไว้ว่าคนแก่จะต้องถวิลหาอดีตและคิดว่าอดีตดีกว่าปัจจุบัน เพราะคนเกาหลีใต้ที่เป็นผู้สูงวัยมากถึง 73% กลับบอกว่าปัจจุบันดีกว่าอดีต ในขณะที่คนหนุ่มสาววัย 18-25 ปี มีแค่ 59% เท่านั้น ที่เห็นแบบเดียวกัน
พูดง่ายๆ ก็คือ ‘คนแก่’ ของเกาหลีใต้ มีแนวโน้มจะเห็นว่าปัจจุบันมันสดใสซาบซ่ากว่าอดีตตั้งเยอะ!
ดูผลสำรวจจาก Pew แล้ว จึงน่าสนใจวิเคราะห์ต่อนะครับ เพราะประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกที่คนเห็นว่าปัจจุบันดีกว่าอดีต คือ เวียดนาม, อินเดีย, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น น้ัน ล้วนเป็นประเทศที่กำลัง ‘ก้าวไปข้างหน้า’ ในทุกๆ มิติ พูดอีกอย่างก็คือถ้าไม่ใช่ประเทศเจริญแล้ว ก็เป็นประเทศที่กำลังพุ่งไปหาความเจริญแบบฉุดไม่อยู่ทั้งนั้น
ทั้งหมดนี้ทำให้คิดย้อนกลับมาหาประเทศ ‘ไทยนิยม’ อันเป็นที่รักยิ่งของเราเหลือเกิน,
เอาเข้าจริงแล้ว การเห็นว่าอดีตดีกว่าปัจจุบันไม่ใช่อะไรอื่น นอกเสียจากการสร้างความชอบธรรมให้กับคนใน Generation ที่เคยมีชีวิตอยู่ในอดีต เพื่อ ‘ยก’ การเคยมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลานั้นๆ ให้ ‘เหนือ’ กว่าคนที่มีชีวิตในรุ่นหลัง
เมื่อเห็นว่าชีวิตของตนดีงามสูงส่งหรือ ‘เหนือ’ กว่าชีวิตของคนรุ่นหลังอย่างพิสูจน์ไม่ได้ (เพราะคนรุ่นหลังไม่สามารถย้อนเวลากลับไปพิสูจน์ได้) คนรุ่นก่อนก็มักจะมึนเมาอยู่กับความชอบธรรมที่ตัวเองสร้างขึ้น ว่าถูกต้องแล้ว – ที่คนรุ่น Good Old Days จะต้องเป็นผู้ควบคุมตั้งแต่รสนิยมการกินขนมเบื้องและกาแฟโบราณ – ไปจนกระทั่งถึงการร่างรัฐธรรมนูญและวางแผนประเทศนั่นแหละ เพราะคนเหล่านี้ ‘รู้ดี’ กว่า เนื่องจากเคยผ่านสิ่งที่ ‘ดีๆ’ มาก่อน อย่างที่คนรุ่นใหม่หรือ ‘เด็กสมัยนี้’ ไม่เคยรู้จัก เพราะมัวแต่ถูกวัฒนธรรมจากชาติอื่น (โดยเฉพาะตะวันตก) เข้ามาฉาบย้อม จนเสียความ ‘ไทยนิยม’ (ที่อาจแปลว่า Thai-ism ก็ได้) ไป
แต่คำถามที่เกิดข้ึนจากการทอดตามองตัวเลขจากทั่วโลกก็คือ – เอาเข้าจริงแล้ว, การถวิลหา ‘อดีต’ แบบไม่บันยะบันยังของคนสูงวัยไทยนิยมในสังคมไทย มันส่งผลต่อการก้าวเดินไปข้างหน้าของเรามากน้อยแค่ไหนหนอ