เวลาพูดถึงรถไฟในญี่ปุ่นแล้วนึกถึงอะไรกันครับ การตรงต่อเวลา? ความสะดวกสบาย? ความเร็ว? สถานีชวนงง? ก็คงได้คำตอบหลากหลายต่างกันไปตามแต่ประสบการณ์หรือภาพจินตนาการของแต่ละคน แต่คิดว่า คงต้องมีบางคนแอบแวบเรื่อง ‘การลวนลาม’ ขึ้นมาในหัวแน่นอน
เวลาพูดเรื่องการลวนลาม โดยเฉพาะในรถไฟ ก็เหมือนจะมีภาพจำไปซะแล้วว่ามันต้องเกิดในญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งคงเพราะเป็นชาติที่ใช้รถไฟกันเป็นกิจวัตร และรถไฟเขาก็แน่นระดับที่แทบจะแนบเนื้อกันแบบไม่สนพื้นที่ส่วนบุคคลกันเลย ทำให้โอกาสกระทำการลวนลามเป็นไปได้ง่ายมาก และเราก็ได้เห็นการเล่าเรื่องราวพวกนี้ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งภาพยนตร์ และมังงะต่างๆ กระทั่งปัจจุบัน ก็ยังคงเป็นปัญหาที่ต้องถกกันในสังคมเช่นเคย แต่ในยุคที่ค่านิยมเปลี่ยนไปจากเดิม การลวนลามและการป้องกันแก้ไขก็มีการเปลี่ยนแปลงให้เห็นเหมือนกัน
ตั้งแต่รถไฟเป็นพาหนะหลักของชาวเมืองใหญ่ที่ทุกคนอาศัยใช้ในการเดินทางเพื่อไปทำงานในแต่ละวัน ยิ่งช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นบูม รถไฟก็หนาแน่นขนาดที่ต้องมีคนช่วยดันเข้าไปข้างใน เวลาแน่นแบบนี้ เกิดอะไรในรถก็ไม่รู้ล่ะครับ ขนาดทุกวันนี้ เวลาผมเองเจอรถไฟสายที่แน่นๆ ก็แน่นขนาดที่สามารถยืนหลับได้โดยไม่ล้ม เพราะโดนดันจากรอบทิศจนไม่ต้องพึ่งอะไรเพื่อทรงตัว รถที่แน่นทำให้เป็นโอกาสง่ายมากของคนที่จะหาเศษหาเลยจากคนอื่น อาศัยจังหวัดชุลมุนเอื้อมมือไปจับผู้หญิง (ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าเป็น sexual fantasy หรืออาการทางจิต หรือทั้งสองผสมกัน แต่ว่ามีหนังเอวีแนวนี้ขายเยอะเหลือเกิน แสดงว่าก็ต้องมีคนชอบไม่น้อย)
คนที่ชอบลวนลามผู้หญิงมักจะมีสกิลในการเลือกเหยื่อที่คิดว่าไม่น่าจะต่อต้านหรือโวยวายเมื่อโดนลวนลาม และมักจะเลือกลงมือในรถไฟที่แน่นขนัด และระยะเวลาวิ่งระหว่างสถานีนาน เช่นเดียวกัน สำหรับผู้หญิงหลายคนแล้ว พวกเธอก็อายและกลัวเกินกว่าที่จะตะโกนว่าถูกลวนลามอยู่ นอกจากนี้ หลายคนก็โดนกดดันว่าต้องไปทำงานตรงเวลา จนไม่กล้าร้องเรียนหรือแจ้งความเพราะกลัวไปทำงานสาย ทำให้กลายเป็นเหยื่อของนักลวนลามเหล่านี้
ในอดีต การลวนลามในรถไฟก็แทบไม่ได้เป็นข่าว จนในปี 1988 มีกรณีที่ผู้หญิงในโอซาก้าร้องเรียนว่าถูกลวนลาม แต่ฝ่ายคู่กรณีกลับโมโหและร่วมมือกับชายคนอื่นลากเธอลงจากรถไฟแล้วข่มขืนโดยไม่มีใครยื่นมือช่วย ทำให้ปัญหานี้ได้รับความสนใจจากสังคมบ้าง แต่กลายเป็นว่า สื่อกลับให้ความสนใจกับกรณีที่ฝ่ายชายถูกกล่าวหาว่าลวนลามอย่างผิดๆ โดยเฉพาะกรณีที่มีชายคนหนึ่งถูกกล่าวหาว่าลวนลามก่อนหนีจากที่เกิดเหตุจนถูกรถไฟทับเสียชีวิต ดูเหมือนว่าการเล่าเรื่องส่วนนี้จะได้รับความสนใจมากกว่าการถูกลวนลามของผู้หญิง ที่กลายเป็นเหมือนเรื่อง ‘ช่วยไม่ได้’ ในสังคมชายเป็นใหญ่ (แน่นอนว่าก็มี ‘เหยื่อตัวปลอม’ ที่ร้องเรียนว่าถูกลวนลามโดยมีเป้าหมายเพื่อเรียกค่าเสียหายจากฝ่ายชาย)
แต่ก็ยังดีที่เขาก็พยายามแก้ปัญหา นอกจากการเพิ่มกล้องวงจรปิดแล้ว ก็จัดให้มีตู้รถไฟเฉพาะผู้หญิงในเวลาเร่งด่วน โดยเฉพาะกับสายที่มีผู้ใช้เยอะ จะสังเกตได้จากชานชาลาที่จุดยืนรอรถมักจะมีป้ายแจ้งว่าตู้ที่จะจอดตรงตำแหน่งนี้เป็นตู้เฉพาะผู้หญิงในช่วงเวลาไหน ก็ช่วยให้ผู้หญิงสามารถเดินทางไปทำงานได้อย่างสบายใจขึ้น แต่ก็กลายเป็นว่า มีผู้ชายบางส่วนออกมาประท้วงว่านี่ก็เป็นการกีดกัน เอาจริงๆ ก็ไม่มีข้อกฎหมายไหนบังคับผู้ชายให้ทำตามระเบียบนี้ เป็นเพียงการขอความช่วยเหลือของบริษัทเดินรถไฟ ทำให้มีกลุ่มผู้ชายที่ต่อต้านและต้องการเรียกสิทธิของตัวเองในการเดินทางไปทำงานให้ทันด้วยการขึ้นรถขบวนเฉพาะผู้หญิงด้วย
ในทางกลับกัน คำว่า การลวนลาม ก็เริ่มขยายขอบเขตมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
ปัจจุบันมีการลวนลามรูปแบบใหม่ที่ถูกจับตามองมากขึ้น ไม่ใช่แค่การใช้มือลวนลาม การแอบถ่ายใต้กระโปรง หรือการเอาหว่างขามาถูตรงๆ อย่างเคยเท่านั้น แต่รวมไปถึง การตั้งใจเข้ามาประชิดโดยอาศัยจังหวะที่รถเลี้ยวทำให้เกิดแรงเหวี่ยง การตั้งใจดมกลิ่นของฝ่ายหญิง การตั้งใจพ่นลมหายใจใส่ฝ่ายหญิง (ฟืดฟาดๆ) รวมไปถึงการตั้งใจจับสิ่งของส่วนตัวของฝ่ายหญิง เช่นเสื้อผ้าหรือกระเป๋าถือ พูดง่ายๆ คือ ไม่ต้องแตะต้องตัวก็ถือว่าเป็นการลวนลามได้แล้ว คล้ายๆ กับการล่วงละเมิดทางเพศที่ผมเคยเขียนไปว่า ถ้าทำให้ฝ่ายหนึ่งรู้สึกไม่ดีก็ถือว่าเป็นการล่วงละเมิดทางเพศแล้ว ซึ่งตรงนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เพราะว่าแม้ตำรวจจะเอาตรงนี้เป็นบรรทัดฐานในการดำเนินคดีหลายครั้ง แต่ในรายละเอียดของการลวนลามในเว็บไซต์ของตำรวจก็ไม่ได้ครอบคลุมถึงตรงนี้ด้วย กลายเป็นปัญหาที่ชวนให้ผู้ชายหลายคนหนักใจ เพราะวันดีคืนดีก็อาจจะถูกร้องเรียนว่าลวนลามได้ แม้จะไม่ได้ตั้งใจทำ
เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาขนาดที่มีคอลัมน์แนะนำฝ่ายชายว่าควรจะทำอย่างไรถึงจะไม่กลายเป็นเหยื่อถูกแจ้งความโดยที่ไม่ได้มีเจตนาอะไร เพราะถ้าหากถูกร้องเรียนแล้ว มีโอกาสที่จะถูกควบคุมตัวนานสูงสุดถึง 23 วัน และถ้าเกิดการฟ้องร้อง ก็มักจะแพ้คดีเสมอ เขาจึงแนะนำให้ระวังตัวตั้งแต่แรก โดยไม่ยืนใกล้ผู้หญิง หรือถ้าจำเป็น ก็พยายามยกมือขึ้นเหนือหัวหรือจับราวไว้ก็ได้ (เวลาแน่นๆ ผมก็ทำ) เพื่อลดความเสี่ยง ถ้าหากเกิดเป็นเรื่องขึ้นมาโดยไม่ได้กระทำผิด ก็ให้พยายามตั้งสติ นึกถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่มัวแต่อ้ำๆ อึ้งๆ ที่สำคัญคือ ถ้าจำเป็น ให้พยายามเรียกทนายไว้เพื่อเป็นการป้องกันตัว อันนี้ก็ขอแนะนำคนที่จะไปเที่ยวญี่ปุ่นด้วยนะครับ ว่ามีความเสี่ยงแบบนี้อยู่เหมือนกัน เลี่ยงได้เป็นเลี่ยง ยิ่งช่วงฤดูท่องเที่ยวนี่คนยิ่งเยอะ ก็ยิ่งเผลอกันง่าย
การลวนลามบนรถไฟเป็นปัญหาที่ต้องระมัดระวังกันทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายหญิงที่เป็นเหยื่อของการลวนลาม รวมถึงฝ่ายชายที่บริสุทธิ์แต่กลับโดนฟ้องร้อง กลายเป็นว่าไปๆ มาๆ กลับเปิดช่องให้นักลวนลาม และมิจฉาชีพหาประโยชน์จากตรงนี้ไปซะได้
อ้างอิงข้อมูลจาก