ถึงแม้จะจบการศึกษามาก็นานแล้ว, มีการงานหาเลี้ยงตัวเอง (พอจะ) ได้แล้ว แต่ผมก็ยังไม่อยากโต
ผมวัดว่าช่วงไหนมีคุณภาพชีวิตดีหรือไม่ ด้วยจำนวนชั่วโมงที่สามารถใช้เพื่อเล่นเกมได้ ถ้าเล่นเกมไหนจบสมบูรณ์ได้จะแฮปปี้มาก ผมยังซื้อเกมคอนโซลใหม่ๆ มาเล่นสม่ำเสมอ รวมไปถึงของเล่น ตุ๊กตุ่น ฟิกเกอร์ต่างๆ ที่ตอนเด็กเคยอยากได้แต่อ้อนแล้วพ่อแม่ไม่ซื้อให้ แน่นอน ผมยังดูและยังอ่านการ์ตูน
ไม่รู้ว่าเป็นเพราะทำงานในวงการหนังสือและคอนเทนต์หรือเปล่า ที่ทำให้ผมรู้สึกว่าเพื่อนๆ รอบๆ ตัว ก็มีชีวิตไม่ต่างกันนัก – ยังซื้อของเล่น ยังเล่นเกม (โดยเฉพาะที่ว่าเกมสมัยนี้มันเข้ามาอยู่ในมือถือและเล่นไม่นานก็จบ) ยังอ่านการ์ตูน และยังไม่ทิ้ง ‘ความเป็นเด็ก’ ของตัวเองไป
หลายครั้งเมื่อโดนตำหนิ (จากคนที่เป็น ‘ผู้ใหญ่’ กว่า) ว่า “ทำไมโตแล้วยังอ่านการ์ตูน” “ทำไมโตแล้วยังเล่นเกม” หรือ “ทำไมทำตัวเป็นเด็กไม่รู้จักโต” ก็กลับมานึกย้อนถามว่า อ้าว แล้วไอ้การ ‘โตแล้ว’ ต้องเป็นยังไงกันล่ะ? ต้องไม่อ่านการ์ตูน ต้องไม่เล่นเกม ต้องไม่ซื้อของเล่นเหรอ
คำถามก็คือทำไมเรายังไม่อยาก ‘โต’? – ไม่ว่าคำว่า ‘โตแล้ว’ จะหมายถึงอะไรก็ตาม
เด็กสมัยนี้ ‘ไม่รู้จักโต’
เร็วๆ นี้ มีงานสำรวจว่าเด็กสมัยใหม่ (อย่างน้อยก็ในสหรัฐ) ‘เป็นผู้ใหญ่’ ช้าลง โดยสำรวจตั้งแต่ปี 1976 ถึงปี 2016 เป็นเวลารวม 40 ปี การ ‘เป็นผู้ใหญ่’ นี้เขาวัดจากกิจกรรมที่นับเป็นหลักไมล์ของชีวิต (ในแบบดั้งเดิม – โลกใหม่อาจไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว) หลายกิจกรรม อย่างเช่นการมีใบขับขี่, การลองดื่มแอลกอฮอล์, การเดท และการทำงาน (ไม่ว่าจะเป็นงานพิเศษหรืองานประจำก็ตาม)
แนวโน้มที่ชัดเจนคือ ตั้งแต่ปี 1976 เป็นต้นมา วัยรุ่นเป็นผู้ใหญ่ช้าลงทุกที โดยไม่ขึ้นกับชาติพันธุ์ สีผิว พื้นที่ หรือสถานะทางสังคม ถึงแม้ว่าวัยรุ่นเกินครึ่งจะยังทำกิจกรรมเหล่านี้อยู่ (ยังสอบใบขับขี่ ดื่มแอกลอฮอล์ ฯลฯ) แต่ ‘ส่วนต่าง’ ของคนที่ทำกับไม่ทำ ก็แคบลงทุกที ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงแรกเริ่มของการสำรวจ (ปี 1976-1979) มีวัยรุ่นมัธยมปลาย 86% ออกเดท แต่ในช่วงหลังสุดคือปี 2010-2015 นั้นมีเพียง 63% เช่นเดียวกับกิจกรรม ‘ผู้ใหญ่’ อื่นๆ ที่วัยรุ่นทำลดลงทุกอย่างเลย
ทำไมวัยรุ่นจึงทำกิจกรรม ‘ผู้ใหญ่’ เหล่านี้ช้าลง ส่วนตัวผมคิดว่าเทคโนโลยีก็มีบทบาทอยู่บ้าง เช่น อาจทำให้วัยรุ่นออกเดทลดลง เพราะไม่ต้อง ‘ลองเดท’ อีกแล้ว เมื่อมีโซเชียลเนตเวิร์กที่สามารถ ‘ลอง’ สนทนากันได้ก่อนว่าจะคลิกกันหรือไม่ หรือบริการเรียกรถอย่าง Uber หรือ Grab ก็อาจทำให้วัยรุ่นในเมืองใหญ่ไม่เห็นความจำเป็นของการต้องขับรถเองอีกต่อไป แต่เราก็ไม่สามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดด้วยเทคโนโลยีได้ เพราะปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีอินเทอร์เนตด้วยซ้ำ
Jean Twenge นักสำรวจเจ้าของผลงานชิ้นนี้ให้สัมภาษณ์กับ Washington Post ว่าหากอิงจากทฤษฎีจิตวิทยาวิวัฒนาการแล้ว การเปลี่ยนผ่านของชีวิตคนจะช้าลงหรือเร็วขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมรอบตัวคนคนนั้น ก็อย่างที่รู้แหละครับ – ถ้าสภาพแวดล้อมบีบบังคับให้เราต้อง ‘โตเร็ว’ เช่นครอบครัวยากลำบาก หรืออยู่ในประเทศที่ต้องดิ้นรน เราก็มีความจำเป็นที่จะต้องละความเป็นเด็กให้เร็วที่สุดเพื่อความอยู่รอด แต่ในสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์พร้อม และอยู่ได้สบายๆ เราก็อาจจะ ‘ทำกิจกรรมที่เป็นผู้ใหญ่’ ช้าหน่อย (เช่น ไม่ต้องออกไปทำงานพิเศษ)
Twenge ยังให้สัมภาษณ์ด้วยว่าการเลี้ยงดูของพ่อแม่สมัยใหม่ก็อาจมีส่วนที่ทำให้เด็กๆ ‘โต’ ช้าลง เพราะพ่อแม่จะอุ้มชูฟูมฟักและไม่ค่อยปล่อยให้ลูกเผชิญอะไรด้วยตัวเอง สังคมในปัจจุบันเซตเส้นทางเดินให้กับเด็กๆ ยาวขึ้น (จริงๆ เราก็อาจได้ยินคนพูดว่าว่าประเทศไทยนั้น ‘เด็กโตช้า’ กว่าประเทศฝรั่งโดยใช้เหตุผลเดียวกันในยุคก่อนหน้านี้) เช่น ในสังคมชนชั้นกลาง เราคาดหวังได้เลยว่าเด็กๆ โตขึ้นมาจะต้องเข้าเรียนม.ต้น ม.ปลาย มหาวิทยาลัย ฯลฯ จนทำให้กว่าที่เด็กจะ ‘ตัดสินใจ’ เองได้ ก็เป็นช่วงอายุ 20 กว่าๆ นั่นแหละ
การ ‘โตช้า’ นี้มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวมันเอง Twenge เขียนบทความอธิบายเพิ่มเติมถึงงานวิจัยของเธอว่าถึงแม้หลายคนจะมองว่า ‘การโตช้า’ จะทำให้เราได้ผู้ใหญ่ที่ไม่มีทักษะ ไม่มีความพร้อมหรือความรับผิดชอบต่อการพัฒนาสังคม (กระทั่งหน้าที่การงาน) ในอนาคต แต่เธอคิดว่าข้อดีของการโตช้าก็มี คือ “วัยรุ่นจะได้ใช้เวลามากกว่าเดิม เพื่อพัฒนาทางอารมณ์และสังคม (รอบตัว) ก่อนที่จะทำกิจกรรมที่เป็นผู้ใหญ่ (โดยไม่พร้อม) เช่น การเดท การมีเซ็กซ์ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือทำงาน” แต่เธอก็หมายเหตุไว้ด้วยว่าสิ่งจำเป็นที่สังคมจะต้องมอบให้เด็กๆ ยุคนี้คือการช่วยพัฒนาทักษะต่างๆ
Adulting School : โรงเรียนสอนให้ผู้ใหญ่เป็นผู้ใหญ่
สิ่งที่ Twenge พูด ทำให้ผมนึกถึงข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่งเมื่อเดือนมีนาคมว่าในเมืองพอร์ตแมน มีโรงเรียนสอน “ทักษะการเป็นผู้ใหญ่” ชื่อ Adulting School โดยในโรงเรียนนี้จะสอนทักษะต่างๆ ที่ “ทำให้คุณพร้อมเผชิญกับสังคมในด้านต่างๆ ทั้งด้านการเงิน และด้านชีวิตส่วนตัว”
ผู้ก่อตั้งโรงเรียนให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “คนยุคก่อนๆ นั้นมีทักษะในการดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จ แต่คนตั้งแต่ยุคเบบี้บูมเมอร์เป็นต้นมาก็ไม่ค่อยจะได้เรียนรู้ทักษะเหล่านี้เลย” เขาจึงตัดสินใจเปิดโรงเรียนนี้ขึ้นมา (จริงๆ ตอนอ่านบทสัมภาษณ์นี้ก็ไม่เห็นด้วยนิดหน่อย เพราะรู้สึกว่าทักษะสมัยนี้กับสมัยก่อนก็อาจจะเป็นคนละเซ็ตกัน แต่โอเค – ก็มีทักษะบางอย่างที่ ‘แชร์’ กันอยู่)
คอร์สที่ Adulting School สอน ก็อย่างเช่นคอร์สสอนการเข้าสัมภาษณ์งานให้ประสบความสำเร็จ คอร์สจัดการด้านการเงิน คอร์สสอนให้ซ่อมหรือทำงานช่างเล็กๆ น้อยๆ ในบ้านเป็น คอร์สสอนเรื่องการเข้าสังคมและความสัมพันธ์ คอร์สสอนการดูแลสุขภาพ และยังมีการสอนทิปเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ เป็นมินิเซสชั่น อย่างเช่น “การพับผ้าปูพี่นอนให้ดี” หรือ “การทำความสะอาดรอยไวน์หก” ด้วย
เว็บไซต์ของโรงเรียนนี้เคยอยู่ที่ theadultingschool.com ก่อนหน้านี้ตอนเดือนมีนาคมยังเข้าใช้ได้อยู่ แต่ตอนนี้กลายเป็นเว็บ Under Construction แล้ว จึงไม่สามารถรู้ได้ว่าตอนนี้สถานะของโรงเรียนเป็นอย่างไร
นอกจากนั้นยังมีหนังสือชื่อ Adulting : How to Become a Grown-up in 468 Steps ของ Kelly Williams Brown ออกมาในปี 2013 เพื่อล้อเล่นกับเทรนด์นี้ โดยหนังสือเล่มดังกล่าวได้เสนอชื่อเข้าเป็น Goodreads Choice Awards ในสาขาตลก (เจ เจ อับรามส์ บอกว่า “เป็นหนังสือที่เขียนได้อย่างมีเสน่ห์และโคตรตลก ทั้งยังมีประโยชน์ด้วย”)
ขอพื้นที่เล็กๆ ให้ยังเป็นเด็กอยู่ได้มั้ย
ภาวะ “การรักษาความเป็นเด็กไว้ในตัวแม้ร่างกายจะโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว” (หรือที่แม่เราอาจจะด่าว่า “โตเป็นควายแล้วยังจะเล่นเกมอยู่อีก” เนี่ยแหละ) ทำให้มีศัพท์อย่างคำว่า “Kidult” เกิดขึ้น ซึ่งคำนี้ก็มาจาก Kid + Adult ตรงๆ เลย
Beatriz Luna ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Pittsburgh ศึกษาและพบข้อมูลคล้ายๆ ของ Twenge โดยเธอบอกว่า “ที่เคยนิยามว่าวัยเด็กจบลงที่อายุ 18 หรือ 21 นั้น ตอนนี้ไม่จริงอีกแล้ว ตอนนี้วัยเด็ก (adolescence) ถูกยืดยาวมาจนถึงช่วงอายุยี่สิบกลางๆ สัก 25 ขวบนั่นแหละ เธอบอกว่าเทรนด์การแต่งงานช้า, มีลูกช้า และเริ่มต้นอาชีพช้าลง ทำให้สมองอยู่ในสถานะ ‘ผู้ใหญ่ใจเด็ก’ (Kidulthood) นานขึ้น
ที่น่าสนใจคือเธอให้สัมภาษณ์กับ Telegraph ไว้ (คล้ายๆ กับเรื่องสภาพแวดล้อมที่พูดถึงก่อนหน้าแหละครับ) ว่า “เมื่อสภาพแวดล้อมบีบบังคับให้คุณต้อง ‘โต’ มันก็อาจเป็นการส่งสัญญาณให้สมองรู้ว่า ในตอนนี้ชีวิตเราต้องการเสถียรภาพ และความเชื่อถือได้ มากกว่าต้องการความยืดหยุ่น (plasticity)” เธอยังบอกด้วยว่า ถึงแม้ในบางครั้งถึงแม้สมองของวัยรุ่นจะทำงานได้เหมือนสมองของผู้ใหญ่ แต่ส่วนใหญ่แล้วสมองของพวกเขาก็มักจะถูกก่อกวนด้วยความ ‘อยากรู้อยากลอง’ มากกว่า (และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้ใหญ่ชอบด่าว่าวัยรุ่น ‘ทำอะไรโง่ๆ’)
ความเป็นเด็กในร่างผู้ใหญ่หรือ Kidulthood ยังมีแง่มุมทางการตลาด ในปัจจุบัน วงการบันเทิงก็รู้ว่าการสร้างหนัง ‘เด็ก’ นั้นไม่ได้จำเป็นต้องตั้งเป้าเฉพาะ ‘เด็ก’ เท่านั้นอีกต่อไป แต่สามารถจับกลุ่มผู้ใหญ่ใจเด็กได้ เช่นหนังตระกูล Shrek หรือ Harry Potter
ทั้งเกม, หุ่นฟิกเกอร์, โทรทัศน์และของเล่น ก็ไม่ได้จับกลุ่มเด็กโดยเฉพาะอีกแล้ว แต่พุ่งเป้าไปที่ผู้ใหญ่ที่มีกำลังจ่ายมากกว่า ในเกาหลีใต้ก็มีเทรนด์การผลิตสินค้าขึ้นมาขายให้กับผู้ใหญ่กลุ่มนี้ เรียกว่า Kideolteu ซึ่งมีมูลค่าตลาดมากถึง 8.9 พันล้านเหรียญ มีร้านขายของเล่นสำหรับผู้ใหญ่ (ที่ไม่ได้หมายถึงเซ็กซ์ทอย) โยเฉพาะอย่างเช่นร้าน Electro Mart และ Kidult Mania รวมไปถึงพิพิธภัณฑ์และร้านกาแฟธีม Kidult
เพราะต้องเติบโตจึงเจ็บปวด
บางคนอาจรู้สึกว่าคำอธิบายว่า “เราไม่เป็นผู้ใหญ่ เพราะสังคมไม่บีบให้เราเติบโต” นั้นไม่ดีพอเพราะมันไม่ได้อธิบายว่า “แล้วทำไมเมื่อไม่มีแรงบีบ เราจึงยังคงความเป็นเด็กอยู่” ความเป็นเด็กมีเสน่ห์อะไร? หรือความเป็นผู้ใหญ่นั้นน่ากลัวอย่างไรหรือ ถึงทำให้ ‘ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ แล้ว เราก็ไม่ได้อยากโตเป็นผู้ใหญ่นัก‘
ทำไมเราจึงกลัวการเติบโต? อาจเป็นเพราะเรากลัวความโดดเดี่ยว และการเป็นผู้ใหญ่ก็อาจหมายถึงการที่เราต้องเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง โดยที่ไม่สามารถพึ่งพาหรือขึ้นอยู่กับคนอื่นได้อีกแล้วหรือเปล่า? หรือเรากลัวการเติบโตเพราะเรากลัว ‘จุดจบ’ ของชีวิต นั่นคือเรารู้ว่าเมื่อเติบโตขึ้นแล้วจุดสิ้นสุดของมันก็คือความตาย?
Susan Neiman อาจารย์ด้านปรัชญา ผู้เขียนหนังสือ Why Grow Up? อธิบายว่าอีกเหตุผลที่เราไม่อยากเติบโต อาจเป็นเพราะ “การเติบโตหมายถึงการต้องคิดเรื่องต่างๆ ด้วยตนเอง ต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง และเราก็มักจะขี้เกียจเกินไป หรือหวาดกลัวเกินไปที่จะทำอย่างนั้น” เธอไม่คิดว่างานวิจัยที่ศึกษา ‘กิจกรรมผู้ใหญ่’ ต่างๆ (อย่างที่กล่าวมาด้านบน) จะตรงกับนิยามความเป็นผู้ใหญ่ในใจของเธอนัก
แล้วความเป็นผู้ใหญ่คืออะไรสำหรับเธอ?
สำหรับ Neiman, ความเป็นผู้ใหญ่หมายถึง “การรู้จักตัดสินใจด้วยตัวเอง และการพยายามทำสิ่งต่างๆ ให้บรรลุผล ซึ่งคือการรักษาสมดุลและทำความเข้าใจระหว่าง ‘สิ่งที่เราคิดว่าโลกควรเป็น’ (how the world ought to be) กับสิ่งที่โลกเป็นจริงๆ (how the world really is) เธออธิบาย (อย่างมีประโยชน์ในสายตาผม) ว่าวัยเด็ก เป็นวัยที่เราเต็มไปด้วยการคิดถึงโลกในมุมของตัวเองว่าโลกควรเป็นอย่างไร วัยรุ่นเป็นวัยที่เราพยายามต่อต้านและพยายาม ‘ก่อร่างสร้างความจริง’ ต่อทุกสิ่งที่เราเห็น และวัยผู้ใหญ่, อย่างน้อยในสายตาของ Neiman ก็คือการรักษาสมดุลระหว่างสองสิ่ง”
เธอยังย้ำด้วยว่า การเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่ ‘การยอมแพ้และสิโรราบให้กับสังคมรอบข้าง’ (giving in) แต่คือการยังรักษาความคิดของตัวเองและต่อสู้เพื่อมันอยู่ เมื่อคิดตามนิยามนี้แล้วเราจึงอาจเห็นว่าการทำอะไรที่ผู้ใหญ่มองว่า ‘โต’ อย่างเช่นการยอมไหลตามน้ำโดยไม่มีเงื่อนไข การยอมรับความห่วยของระบบ ฯลฯ นั้นไม่ได้เป็นอะไรที่ ‘ผู้ใหญ่จริงๆ’ ควรทำ
‘การเป็นผู้ใหญ่’ จึงไม่ได้หมายถึงคนที่ขับรถได้ มีครอบครัว มีลูก หรือทำงานแล้ว และไม่ได้วัดกันที่ว่า ใครยังเล่นเกม ยังอ่านการ์ตูน หรือยังสะสมฟิกเกอร์อยู่ แต่หมายถึงการเติบโตภายใน และการทำความเข้าใจระหว่างสิ่งที่เป็นกับสิ่งที่ควรเป็น
เราอาจต้องรักษา ‘ความเป็นเด็ก’ ไว้บ้าง เพื่อที่จะได้เป็น ‘ผู้ใหญ่’ อย่างสมบูรณ์
อ้างอิง / อ่านเพิ่มเติม
“งานสำรวจว่าเด็กสมัยใหม่ (อย่างน้อยก็ในสหรัฐ) ‘เป็นผู้ใหญ่’ ช้าลง”
The Decline in Adult Activities Among U.S. Adolescents, 1976–2016
http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/cdev.12930/full
“การ ‘โตช้า’ นี้มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวมันเอง Twenge เขียนบทความอธิบายเพิ่มเติม”
Why today’s teens aren’t in any hurry to grow up
https://theconversation.com/why-todays-teens-arent-in-any-hurry-to-grow-up-83920
“ทำให้ผมนึกถึงข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่งเมื่อเดือนมีนาคม”
The New School That Teaches Adulting
“ที่น่าสนใจคือเธอให้สัมภาษณ์กับ Telegraph ไว้”
True adulthood doesn’t begin until age 25
“ในเกาหลีใต้ก็มีเทรนด์…”
Kidult market in boom in Korea
http://pulsenews.co.kr/view.php?sc=30800024&year=2017&no=496043
หนังสือ Why Grow Up? โดย Susan Neiman
https://www.goodreads.com/book/show/22929604-why-grow-up