“ฉันรู้สึกไม่อยากทำอะไรเลย ไม่อยากปั่นจักรยานเพราะแรงปั่นมันรุนแรงไป ไม่อยากเดินเพราะมันเหนื่อย ไม่อยากนอนลงเพราะฉันต้องนอนอยู่อย่างนั้น และฉันไม่อยากเป็นเช่นนั้น หรือไม่ ฉันก็อาจไม่อยากนอนลง เพราะ ฉันไม่อยากลุกขึ้น โดยสรุปแล้วก็นั่นแหละ ฉันไม่อยากทำอะไรเลย”- Either/Or / Søren Kierkegaard
โอ๊ย แค่อ่านก็เบื่อแล้วปะ!!
ความเบื่ออาจฟังดูน่าเบื่อ แต่เชื่อสิว่าความเบื่อไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ!
ในแต่ละวัน เราอาจเบื่องาน เบื่อแฟน เบื่อเพื่อน เบื่อรถติด เบื่อสิ่งที่คนอื่นเป็น หรือกระทั่งเบื่อสิ่งที่เราเป็น แต่ความ ‘เบื่อ’ นั้นก็ไม่ได้มีอยู่แบบเดียว ลองแยกง่ายๆ ว่า เราเบื่อเพราะไม่มีอะไรจะทำ กับ เราเบื่อเพราะต้องทำอะไร ก็ต่างกันมากแล้ว ก่อนที่เราจะ ‘เบื่อให้ได้ดี’ เราอาจต้องแบ่งประเภทความเบื่อออกมาดูก่อนว่าเรากำลังเบื่อแบบไหน
เจาะ ตัด แคะ แกะ เกา ความเบื่อ
ในภาษาไทยเราจะใช้คำว่าเบื่อกับทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เมื่อเราเอาภาษาอังกฤษมาเทียบ เราก็อาจพบว่าบางครั้งเราเบื่อแบบ bored แต่บางครั้งเราก็ใช้คำว่า ‘เบื่อ’ ในความหมายเช่น irritated หรือ annoyed นั่นคือหน่ายหรือรำคาญ เช่น เราอาจเบื่อ (bored) กับงานของตัวเอง แต่เราอาจจะรู้สึกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในงานนั้น ‘น่าเบื่อ’ (เพราะเราไม่สามารถจัดการได้) ซึ่งอาจไปตรงกับคำว่า irritating มากกว่า นั่นคือ ชวนให้หงุดหงิดงุ่นง่านใจ
โดยกว้างๆ ความเบื่อมีอยู่สามประเภท คือ
- ความเบื่อที่เกิดจากการไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำ
- ความเบื่อที่เกิดจากการต้องทำสิ่งที่ไม่อยากทำ
- ความเบื่อที่โดยไม่มีเหตุผลที่ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่ทำอยู่ หรือสิ่งที่ดูอยู่ได้
ส่วนทีมนักวิจัยเยอรมันก็เคยแบ่งความเบื่อออกเป็นห้าสถานะ คือ indifferent , calibrating, searching, reactant และ apathetic โดยอธิบายว่าความเบื่อแบบ indifferent นั้นมาจากการขาดการกระตุ้น และเป็นความเบื่อแบบที่แย่น้อยที่สุด (ตัวอย่างเช่น ความเบื่อที่คุณรู้สึกตอนกลับมาที่บ้านแล้วแฟนบ่นเรื่องงาน แล้วคุณก็เหนื่อยเกินกว่าจะฟัง) ส่วน apathetic boredom นั้นเป็นความเบื่อแบบที่คุณเบื่อมากๆ จนไม่สามารถบอกตัวเองให้ลุกขึ้นมาทำอะไรได้เลย ในขณะที่ reactant เป็นความเบื่อแบบมีการกระตุ้นสูงและเป็นความเบื่อที่ทำให้รู้สึกแย่ที่สุด
มาตรวัดความเบื่อ
ถึงแม้จะดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็พยายามวัดระดับความเบื่อออกมาจนได้! โดยความเบื่อสามารถถูกวัดได้ด้วยสองตัววัดหลักๆ
มาตรวัดชื่อ BPS (Boredom Proneness Scale) ซึ่งถูกคิดขึ้นโดยนักจิตวิทยาในปี 1986 เป็นมาตรวัดที่ทำให้เรารู้ว่าตัวเราเองหรือใครสักคน ‘เบื่อง่าย’ แค่ไหน โดยให้ตอบแบบสอบถามที่ให้เราให้คะแนนตั้งแต่ 1 (เห็นด้วยน้อยสุด) ไปจนถึง 7 (เห็นด้วยที่สุด) ตัวอย่างประโยคเช่น
“การถูกบังคับให้ดูโฮมมูฟวี่หรือรูปถ่ายตอนไปเที่ยวของคนอื่นทำให้ฉันเบื่อมาก” หรือ “ฉันไม่ค่อยตื่นเต้นกับงานของตัวเอง”
สามารถดูตัวอย่างคำถามทั้งหมดได้ที่ http://uwf.edu/svodanov/boredom/bps.htm และลองทำควิซ (แบบสองตัวเลือก) ได้ที่ http://nymag.com/scienceofus/2016/09/how-easily-bored-are-you-take-this-quiz-to-find-out.html ยิ่งได้คะแนนมากแปลว่ายิ่งเป็นคนเบื่อง่าย
จอห์น อีสท์วู้ด นักจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กบอกว่า คนที่ได้คะแนน BPS เยอะๆ มักจะมีช่วงความสนใจหรือสมาธิ (attention spans) ที่สั้น เขานิยามว่าความสนใจ (attention) คือ “ความสามารถในการบริหารความมีส่วนร่วมต่อโลกรอบข้าง” (regulate your engagement with the world) ซึ่งคำว่า engage หรือ “รู้สึกมีส่วนร่วม รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับโลกรอบข้าง” นี้เอง ที่ทำให้ใครคนหนึ่งไม่เบื่ออะไรง่ายๆ
มาตรวัดอีกแบบชื่อ MSBS (Multidimensional State Boredom Scale) มาตรวัดนี้จะต่างจากแบบแรกตรงที่ไม่ได้เป็นการวัดว่าคนคนหนึ่งเบื่อง่ายหรือยาก แต่เป็นการวัดระดับความเบื่อในสถานการณ์ต่างๆ เฉพาะช่วงเวลา (เช่น คุณเบื่อตอนที่มีคนที่คุณอยากหลีกเลี่ยงมาชวนคุยย้าวยาวจะหลบก็ไม่ได้โว้ย มากกว่า คุณเบื่อตอนที่รถติดเส้นสุขุมวิทตอนหกโมงเย็นหรือเปล่า) โดยจะใช้วิธีตอบคำถามเหมือนกัน แต่เป็นคำถามอีกชุด เช่น
“ฉันกำลังติดอยู่ในสถานการณ์ที่ฉันรู้สึกไม่เกี่ยวข้อง” “ฉันกำลังเหงา” หรือ “ฉันถูกบังคับให้ทำอะไรที่ฉันไม่เห็นค่า”
ลองไปทำแบบทดสอบได้ที่ http://www.boredomlab.org/msbs/ ซึ่งถ้าทำขณะทำงานอยู่ บางคนอาจได้คะแนนออกมาปริ่มๆ จะเต็ม!
เมื่อความเบื่อกลายเป็นเรื่องน่าสนใจ
ความเบื่อกลายเป็นสิ่งที่สนใจในแวดวงวิชาการกันมากๆ เพราะมันเป็นภาวะที่นำไปสู่หลายสิ่งหลายอย่าง มีการศึกษาว่าความเบื่ออาจทำให้คนเราขับรถแย่ลง, ดื่มมากขึ้น, มีเซ็กซ์ความเสี่ยงสูงมากขึ้น, กินขนมมากขึ้นแบบไม่คิดด้วยนะว่ากินอะไรเข้าไปบ้าง, และที่สำคัญคือทำให้คนติดพนัน!
ความเบื่อยังอันตรายขนาดที่ว่า มีทีมนักจิตวิทยาทีมหนึ่งพบว่าผู้ชายสองในสาม และผู้หญิงหน่ึงในสี่ ยอมที่จะถูกไฟช็อต แทนที่จะต้องนั่งอยู่เฉยๆ เป็นเวลา 15 นาที เพราะพวกเขา ‘ขอรู้สึกอะไรสักนิด ดีกว่าที่จะนั่งเบื่อโดยไม่ทำอะไรเลย’ มีชายคนหนึ่งที่เอาไฟช็อตตัวเองถึง 190 ครั้ง เพื่อไม่ให้เบื่อ (บ้าไปแล้ว!) [อ่านงานวิจัยได้ที่นี่ http://wjh-www.harvard.edu/~dtg/WILSON%20ET%20AL%202014.pdf ]
ปัจจุบันมีงานสัมมนาวิชาการเกี่ยวกับความเบื่อเด่นๆ สองแห่ง คือ Boredom Conference ที่มีสโลแกนกิ๊บเก๋ว่า “Boredom Academically” (ความเบื่อออย่างเป็นวิชาการ) โดยในงานก็มีการพูดถึงความเบื่อในแง่มุมต่างๆ เช่น “เวลาและความหมายของความเบื่อ” “ความเบื่อของนักวิทยาศาสตร์” หรือที่น่าสนใจมากๆ คือหัวข้อเรื่อง “การใช้ความเบื่อเป็นหนทางรักษาอาการติดชีวิต” (Boredom as a therapy for the addiction to life) ที่บอกว่าเบื่อเยอะๆ เถอะ เป็นวัคซีนป้องกันความเบื่อได้ในอนาคต (ลิงก์ไปบทคัดย่ออยู่ในอ้างอิง)
อีกงานเป็นงานสัมมนาที่ตั้งใจพูดเรื่องน่าเบื่อ ชื่อว่า The Boring Conference โดยอธิบายว่า “งาน Boring Confenence คืองานหนึ่งวันที่จะเฉลิมฉลองสิ่งปกติธรรมดา สิ่งที่รู้กันอยู่แล้ว และสิ่งที่ถูกมองข้าม หัวข้อเหล่านี้มักถูกมองว่าไร้สาระไม่มีประเด็นอะไร แต่เมื่อมองดีๆ ก็พบว่าน่าสนใจมาก” ตัวอย่างหัวข้อพูดเช่น “การจาม ขนมปังปิ้ง เสียงที่ตู้กดน้ำ บาร์โค้ด เส้นสีเหลือง” และอื่นๆ
อื้อหือ แค่ฟังหัวข้อก็กดปุ่มสนูซรัวๆ
เรียนรู้อยู่กับเบื่อ
เมื่อพลิกมุมกลับ-ปรับมุมมองกับความเบื่อ ก็จะพบว่า จริงๆ ความเบื่อมันบอกอะไรเกี่ยวกับตัวเราได้เยอะเหมือนกัน หนึ่งคือมันสามารถให้ภาพร่างคร่าวๆ ได้ว่า “จริงๆ แล้วเราสนใจอะไร” นักวิจัยบอกว่าเราอาจแบ่ง “แรงจูงใจ” (motivation) ได้สองประเภทใหญ่ๆ
หนึ่งคือแรงจูงใจประเภท behavioral-activation ที่จะขับให้เราออกไปยังโลกกว้าง เพื่อค้นพบสิ่งใหม่ กับอีกแบบคือแรงจูงใจประเภท behavioral-inhibition คือแรงจูงใจประเภทที่ดึงเรากลับเข้ามาอยู่ในเซฟโซน ซึ่งถ้าเรามีแรงจูงใจประเภทใดประเภทหนึ่งในสองประเภทนี้สูงๆ เราก็จะเบื่อง่าย
ทำไม? เพราะผู้ที่มีแรงจูงใจสัมผัสประสบการณ์ใหม่มากๆ นั้น จะรู้สึกว่า “โลกหมุนช้าไปสำหรับพวกเขา” เมื่อพวกเขาไม่ได้ทำอะไรให้อะดรีนาลีนหลั่ง จึงรู้สึกเบื่อ ส่วนผู้ที่มีแรงจูงใจให้กลับบ้านมากๆ นั้น ก็จะเบื่อง่ายเพราะแรงจูงใจที่อยากเก็บตัวอยู่ในเซฟโซน มักกีดกันพวกเขาจากประสบการณ์ใหม่ๆ
นั่นคือเราอาจต้องรักษาสมดุลระหว่างแรงจูงใจสองแบบนี้ให้ดี
นักคิดบางคนยังเชื่อว่า ‘ความเบื่อในปริมาณพอเหมาะพอสม ในโลกที่มีแต่สิ่งวุ่นวายกวนใจ’ นั้นดีอีกด้วย เช่น หนังสือ How to be bored ของ Eva Hoffman ก็เขียนขึ้นมาบนหลักคิดนี้ เธอบอกว่า “ในโลกเทคโนโลยีที่จริงๆ ก็ให้ประโยชน์มากมาย แต่มันก็นำปัญหามาด้วยเช่นกัน ฉันคิดว่าการหลีกเลี่ยงไม่ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลในชีวิตประจำวันนั้นเป็นเรื่องยากมาก” และก็เช่นเคยกับนักคิดสายนี้ เธอคิดว่าการติด “จำนวนรีทวีตและเฟซบุ๊ซไลก์” นั้นอาจทำให้เราคุ้นชินกับการได้รางวัล เธอจึงคิดว่าความเบื่อนั้นสำคัญตรงที่ว่า มันให้โอกาสสมองในการพักหายใจ เช่น “การหยุดนิ่งสัก 15 นาทีในตอนเช้าหรือตอนเย็น ปิดมือถือ แล้วนั่งคิดอะไรเรื่อยเปื่อยไปเรื่อยๆ” ก็อาจจะเป็นเรื่องดีสำหรับเรา
Eva บอกว่า เราต้องการ ‘ความเบื่อแบบละมุนละไม’ (gentle boredom) ซึ่งเป็นภาวะดีๆ ที่ทำให้เรารู้สึกกับช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งได้ โดยที่ไม่ต้องทำอะไร
ความเบื่อยังอาจมีข้อดีมากมายเช่น ในงานศึกษาหนึ่ง (Bored George Helps Others: A Pragmatic Meaning-Regulation Hypothesis on Boredom and Prosocial Behaviour) บอกว่า คนที่เบื่อจะเบื่อจนอยากทำอะไรที่มีความหมาย เช่นการช่วยคนอื่น นักวิจัยยกตัวอย่างว่า “ความเบื่ออาจเป็นแรงจูงใจให้คนทำอะไรที่ไม่ชอบ (unpleasant) แต่มีความหมาย เช่น การบริจาคเลือด หรือบริจาคเงิน”
อีกข้อดีหนึ่งที่มักมีคนยกขึ้นมาคือ จริงๆ แล้ว ความเบื่อหน่ายในช่วงเวลาสั้นๆ อาจทำให้เราใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้ดีขึ้น เช่นงานวิจัยหนึ่งบอกว่าเมื่อให้อาสาสมัครคิดวิธีแก้โจทย์ปัญหาหนึ่งๆ เมื่อคำตอบง่ายๆ ถูกตอบไปหมดแล้ว พวกเขาก็ยังตอบเพิ่มได้เรื่อยๆ และสร้างสรรค์ขึ้นเรื่อยๆ (เพื่อไม่ให้เบื่อ) หรืออีกงานวิจัยที่ให้อาสาสมัครคิดวิธีใช้งานแปลกใหม่สำหรับอุปกรณ์ในบ้าน (เช่น ไม้แขวนเสื้อ หรือเครื่องดูดฝุ่น) กลุ่มที่ถูกบังคับให้ทำอะไรน่าเบื่อก่อนตอบคำถาม จะคิดวิธีการใช้งานแปลกใหม่ได้ก่อนกลุ่มที่ไม่ถูกบังคับ
เบื่ออย่างไรให้ได้ดี
เมื่อรู้แล้วว่ามีความเบื่อประเภทที่เบื่อสุดๆ และทำให้ไม่อยากทำอะไรเลย กับความเบื่อแบบที่จิตใจพอจะเดินเรื่อยเปื่อยคิดนั่นคิดนี่ได้บ้าง เราก็อาจต้องหาวิธีล้อมๆ ให้เกิดความเบื่อแบบที่เราอยากเบื่อ (ซึ่ง พูดง่ายแต่ก็ทำยาก!) มีคำแนะนำบางข้อสำหรับคนที่อยากเบื่อแบบโปรดักทีฟจาก 99U มาฝากกัน
- เบื่อให้ถูกประเภท : เบื่อผิดประเภทคืออย่างไร เขาบอกว่าความเบื่อที่ไม่ดีคือความเบื่อที่เกิดจากการทำอะไรไร้ประเด็น ไม่มีคุณค่า แต่เบื่อถูกประเภทคือความเบื่อแบบที่คุณรู้ว่าจริงๆ แล้วคุณก็อยากทำสิ่งนั้นแหละ แต่คุณเบื่อ เพราะคุณคิดไม่ออก แบบนี้ ‘ความเบื่อ’ อาจจะเป็นแค่สัญญาณลวงๆ ของการต่อต้านเท่านั้นเอง
- ตัดสินใจก่อนว่าคุณจะลงมือทำงานจริงๆ เมื่อไร : อย่าผัดวันประกันพรุ่ง
- ตัดตัวเองออกจากสิ่งกวนใจ และสิ่งรบกวนอื่นๆ เช่น อินเทอร์เนตหรือมือถือ อย่าเชื่อใจตัวเองมาก เพราะพอเบื่อแล้วก็จะบังคับตัวเองไม่อยู่
- เตรียมตัวเบื่อ อย่าไปต่อต้านมัน : เขาบอกว่าให้นั่งนิ่งๆ แล้วรู้สึกเบื่ออย่างเต็มตื้น แล้วสังเกตร่างกายและอารมณ์ให้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง รู้จักความเบื่อ ศึกษาความเบื่อของตัวเองว่าเบื่อแล้วเราชอบคิดอะไร เราเบื่อเพราะอะไรและกำลังจะทำอะไรต่อไป
- ถ้าต้องคิดงานก็อย่าเร่งตัวเองให้รีบทำมาก : อนุญาตให้ตัวเองยอมไม่ทำอะไรสักพัก หรือแค่แก้ตรงนั้นตรงนี้นิดๆ หน่อยๆ อย่าไปพยายามบีบให้ตัวเองต้องเร่งงานออกมาให้ได้บัดเดี๋ยวนี้
- ทำให้เป็นนิสัย : สุดท้ายเราจะเห็นรูปแบบของตัวเองว่า พอเบื่อ แล้วนั่งคิดเรื่อยเปื่อยก็อาจจะเริ่มสงสัย แล้วเริ่มสงสัยก็เริ่มสนใจ เริ่มสนใจก็จะจมกับงานได้ เมื่อเห็นวงจรแบบนี้ เราอาจจะเบื่อในครั้งต่อไป (ซึ่งแก้ไม่ได้) ก็จริง แต่เราจะเบื่ออย่างมีความหวัง เราจะรอสเต็ปต่อไปของการเบื่อ แล้วเราก็จะไม่เบื่อจนนอยด์ตัวเอง
สุดท้ายขอโยนโควตรัวๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในตอนที่เบื่อว่า เออ เราก็ไม่แย่เกินไปนะ
Neil Gaiman บอกว่า “วิธีการได้ไอเดียใหม่ๆ เร็วที่สุด คือต้องผ่านความเบื่อสุดๆ ก่อน”
Steve Jobs บอกว่า “ผมเชื่อมั่นในความเบื่อมากๆ ความเบื่อทำให้เราครุ่นคิดสงสัย และเมื่อครุ่นคิดสงสัย เราก็ทำได้ทุกสิ่ง”
และที่ชอบมากคือของคนนี้
Joseph Brodsky บอกว่า
“ความเบื่อคือหน้าต่าง เมื่อหน้าต่างเปิดออกก็อย่าไปปิดมัน แต่ให้เปิดมันให้กว้างๆ ซะ”
อ้างอิง
นิยามของความเบื่อ
https://philosophynow.org/issues/89/A_Philosophy_of_Boredom_by_Lars_Svendsen
นักวิจัยจากเยอรมัน, ประเภทของความเบื่อ
https://link.springer.com/article/10.1007%2Fs11031-013-9385-y หรือ http://mentalfloss.com/article/54074/there-are-5-types-boredom
Boredom is Good For You
https://www.theatlantic.com/magazine/archive/2017/06/make-time-for-boredom/524514/
Boredom Conference
http://boredomconference.com/?page_id=760
การใช้ความเบื่อเป็นหนทางรักษาอาการติดชีวิต” (Boredom as a therapy for the addiction to life)
http://s1044134-8547.home-whs.pl/abstrakty/Christodoulou.pdf
The Boring Conference
https://boringconference.com/about-boring/
วัดความเบื่อและวิเคราะห์
http://nymag.com/scienceofus/2016/09/how-easily-bored-are-you-take-this-quiz-to-find-out.html
รีวิวหนังสือ How to be bored, Eva Hoffman
ความเบื่อทำให้ทำอะไรที่มีความหมาย
https://www.theguardian.com/science/2011/may/06/boredom-good-for-you-claims-study
ความเบื่อทำให้สร้างสรรค์
https://www.sciencedaily.com/releases/2013/01/130108201517.htm
Why Boredom is Good for Your Creativity
http://99u.com/articles/7188/why-boredom-is-good-for-your-creativity
โควตจาก http://austinkleon.com/2015/12/17/the-benefits-of-boredom/