วันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี ตรงกับวันฮาโลวีน (Halloween) ของชาวคริสต์ จำกัดความง่ายๆ ว่าคือ ‘คืนปล่อยผี’ ใครต่อใครซึ่งไม่ใช่ผี จึงพากันมาปลอมตัวเป็นผี และสารพัดสิ่งชวนหลอน แล้วออกเดินเพ่นพ่านหลอกผู้คน และที่เป็นเด็กก็แต่งผีออกไปขอส่วนบุญเป็นขนม (อันนี้ตามธรรมเนียมฝรั่ง) คนที่ทั้งไม่ได้แต่งตัวเป็นผี และคนที่ก็ปลอมเป็นผีเหมือนกันให้มั่วไปหมด ว่าแต่ทำไมพวกฝรั่งถึงได้ถือว่าคืนที่ 31 ตุลาคม ของทุกปีเป็นคืนปล่อยผีกันล่ะ?
คำว่า ‘Halloween’ กร่อนมาจากคำว่า ‘All Hollows’-even’ ซึ่งอาจจะแปลได้ว่า ‘เย็นย่ำแห่งความศักดิ์สิทธิ์ทั้งมวล’ เพราะคำว่า ‘even’ นั้นหมายถึง ‘evening’ ที่หมายถึง ‘ยามเย็น’ ฮัลโลวีนที่แท้แล้วก็คือ คืนสุกดิบของวันแห่งความศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดที่จะมาถึงเมื่อรุ่งสาง ดังนั้นตามประเพณีแต่ดั้งเดิมแล้ว วันที่สำคัญจริงๆ คือเช้าของวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 1 พฤศจิกายนของทุกปีต่างหากนะครับ
วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นวันที่พวกเพเกิน (Pagan, แปลตรงตัวว่าพวกนอกรีต ในที่นี้หมายถึงกลุ่มคนที่ไม่ได้นับถือคริสต์ศาสนา) โดยเฉพาะพวกเคลท์ (Celt) โบราณ มีงานเฉลิมฉลองวัน ‘สาห์วิน’ (Samhain)
ส่วนคำว่า ‘สาห์วิน’ เป็นภาษาไอริชโบราณ แปลว่า ‘สิ้นสุดแห่งฤดูร้อน’ ซึ่งถือเป็นฤดูเก็บเกี่ยว วันสาห์วินจึงเป็นวันสิ้นสุดของการเก็บเกี่ยว ก่อนที่ความแห้งแล้งของฤดูหนาวจะมาเยือนไปด้วย และจึงไม่น่าแปลกใจอะไรเลยที่ในอาณาบริเวณของพวกเคลท์จะเต็มไปด้วยงานปาร์ตี้ควบพิธีเฉลิมฉลอง (ในชื่อที่ต่างๆ กันไป) เมื่อล่วงเข้าถึงวันที่ว่า
และอะไรๆ ที่ตายไปแล้วก็นับว่าเป็นความศักดิ์สิทธิ์ (อย่างน้อยที่สุดก็ศักดิ์สิทธิ์ขนาดที่มักจะเชื่อกันว่า บรรดาพี่ๆ ปู่ย่าน้าอา และตาทวดที่จากเราไปแล้วเหล่านั้นให้คุณให้โทษเราได้ จนต้องทำบุญเลี้ยงผีกันอยู่บ่อยๆ ในหลายวัฒนธรรมทั่วโลกเลยก็แล้วกัน) เมื่อศาสนาคริสต์เขาก็ผนวกเอาวันสาห์วิน (ที่มีคืนปล่อยผีแบบฮัลโลวีน เป็นแพคเกจพ่วง) เข้าไปเป็นวันสำคัญในศาสนาของเขาแล้ว ความเชื่ออะไรทำนองนี้ก็เลยกรูกันเข้าไปจับจองพื้นที่ภายในศาสนาของพระคริสต์ด้วย
ศาสนาคริสต์มีความเชื่อในนักบุญ (Saint) ว่ามีเป็นจำนวนมาก และแต่ละวันในรอบปีก็มักจะตรงกับวันที่ระลึกถึงนักบุญองค์ต่างๆ โดยมีอยู่วันหนึ่งที่เรียกว่า ‘วันที่ระลึกถึงนักบุญทั้งมวล’ (All Saints’ Day) ที่หมายถึงวันที่ระลึกถึงนักบุญทั้งหมดที่มีอยู่ตามชื่อเรียกของวันดังกล่าว
วันที่ระลึกนักบุญทั้งมวลที่ว่านี้แต่เดิมจะฉลองกันทุกวันที่ 13 พฤษภาคม โดยเริ่มมีการฉลองมาตั้งแต่ พ.ศ. 1152 แต่ต่อมาในสมัยของพระสันตะปะปาเกรกอรี่ที่ 4 (Pope Gregory IV) เมื่อปี พ.ศ. 1378 ได้เลื่อนมาให้ตรงประจำกับวันที่ 1 พฤศจิกายน ของทุกปี
วันที่ 1 พฤศจิกายน จะเป็นวันไหนไปได้? ก็ตรงกับวันสาห์วิน ตามความเชื่อของชาวเคลท์นั่นแหละ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า การเลื่อนวันออลเซนส์เดย์ออกมาให้ตรงกับวันดังกล่าว เป็นอิทธิพลของพวกเพเกิน ยิ่งเมื่อชนชาวคริสต์ต้องการเพิ่มพูนสมาชิกของตนเอง ด้วยการจับเอาชาวเพเกินเข้ารีตแล้ว ก็ยิ่งไม่ต้องแปลกใจไปใหญ่เลยนะครับ ที่จะจับเอาวันสาห์วินมาเข้ารีตเป็นวันระลึกถึงนักบุญทุกองค์ของตนเอง
เพราะเอาเข้าจริงแล้วนักบุญก็คือ ความศักดิ์สิทธิ์ของบรรพบุรุษร่วมศาสนาความเชื่อที่ตายไปแล้ว ไม่ต่างไปจากผีบรรพบุรุษร่วมวงศ์ตระกูลที่ตายจากเราไป โดยนัยยะหนึ่งนักบุญในศาสนาคริสต์เอง จึงก็ไม่ต่างไปจากผีบรรพบุรุษในพระศาสนาของพวกเขาหรอกนะครับ และนับแต่นั้นเป็นต้นมาคืนวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปีก็เลยกลายเป็นคืนฮาโลวีน หรือค่ำคืนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ทั้งมวล
ในศาสนา ‘พุทธ’ เองก็มี ‘ผีบรรพบุรุษ’ กับเขาด้วยเหมือนกัน ยิ่งในศาสนาไทย (ที่จับเอาความเชื่อแบบผี พราหมณ์ พุทธ ขยำเข้าด้วยกันแล้วโขลกออกมาเป็นศาสนาไทย ในนามของพุทธศาสนาแบบเถรวาท) นี่ยิ่งไม่ต้องสืบ แถมพี่ไทยเราเมื่อรับเอา ผีบรรพบุรุษ ของศาสนาพุทธจากอินเดีย ก็ยังอุตส่าห์จับพี่ผีเขามาจับแต่งเสื้อผ้าหน้าผมเสียใหม่ ให้มันมิกซ์แอนด์แมตซ์ตามแบบไทยๆ จนถ้ามีแขกอินเดียมาเห็นเข้าก็คงจะจำผีบรรพบุรุษของพวกตัวเองไม่ได้มันเสียอย่างนั้น
ยกตัวอย่างเช่นผีที่เราคุ้นหูกันดีอย่าง ‘เปรต’ ซึ่งคำนี้เป็นคำแขกนะครับ ดังนั้นจึงสันนิษฐานไว้ได้ก่อนเลยว่า เจ้าโย่งนี่เป็นผีอิมพอร์ตเข้ามาจากอินเดีย แต่ภาพลักษณ์หรือความเข้าใจบางอย่างจึงแตกต่างออกไปจากในอินเดียแน่ๆ
ความในพุทธประวัติตอนหนึ่งเล่าถึง ‘เปรต’ เอาไว้ว่า มีบรรดาเปรตซึ่งเคยเป็นวงศาคณาญาติของพระเจ้าพิมพิสารมาขอส่วนบุญกับพระองค์ ดังนั้น ตามความเชื่อเก่าแก่จากอินเดียนั้น เปรต นี่แหละครับคือ ‘ผีบรรพบุรุษ’ และต้องเป็นบรรพบุรุษที่ ‘หิวโหย’ ด้วย ไม่อย่างนั้นเขาจะมาขอส่วนบุญพระเจ้าพิมพิสารให้เสียฟอร์มทำไมกัน?
จินตกรรมของเปรต ในอินเดีย จึงมีลักษณะเด่นอยู่ที่ความผอมกรัง เพื่อเน้นย้ำความหิวโหยของพี่ๆ ผีเปรตเขา มากกว่าจะเป็นรูปร่างใหญ่สูงชลูด อย่างที่เป็นลักษณะเด่นของผีเปรตพันธุ์ไทยแท้ที่เรามักจะมโนถึงกัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ พี่ไทยเราจะจับเอาเปรตมายืดตัวให้สูงเล่นมันเสียอย่างนั้นนะครับ เรื่องนี้มันมีที่มาอยู่เหมือนกัน
ในโองการแช่งน้ำพระพัทธ์ (แช่งน้ำพระพัทธ์นะครับ ไม่ใช่พระพิพัฒน์ คำว่า ‘พัทธ์’ แปลว่า ‘สัตย์สาบาน’ ส่วน ‘พิพัฒน์’ แปลว่า ดีงาม พิธีแช่งน้ำคือการทำสัตย์สาบาน ดังนั้นจึงเป็นแช่งน้ำพระพัทธ์ ชื่อพิธีก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นการแช่ง แล้วจะแช่งให้พิพัฒน์ไปทำไม?) ของอยุธยา มีคำว่า ‘ผีชรมื่นดำ’ คำว่า ‘ผี’ หมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นบรรพบุรุษที่สามารถให้คุณให้โทษ ไม่ได้หมายถึงสิ่งเร้นลับน่ากลัว ที่แลบลิ้นปลิ้นตาหลอกหลอนคนอย่างเดียว ก็ทำนองเดียวกับบรรดาพี่ๆ ผีในคืนฮัลโลวีนนั่นแหละ
ส่วนคำว่า ‘ชรมื่น’ แปลตรงตัวว่า สูงทะมึน ก็สูงแบบพี่ๆ ผีเปรตที่เรามักจะนึกมโนถึงกันนั่นเอง ไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ผีชรมื่นดำนี่แหละคือโปรโตไทป์ของสารพัดผีเปรตในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสำนักวัดสุทัศน์ หรือว่าสำนักอาจารย์กู้
หลักฐานอยู่ที่คำว่า ‘ดำ’ ที่ต่ออยู่ข้างท้าย เพราะดำในที่นี่ไม่ได้หมายความว่า พี่ผีชรมื่นเขาจะไม่มีปัญญาหาไวท์เทนนิ่งมาใช้ แต่คำนี้เป็นภาษาเก่า ที่หมายถึง ‘ผีบรรพบุรุษ’ มีปรากฏอยู่ให้เพียบในจารึกของสุโขทัย และอันที่จริงแล้วพี่ผีชรมื่นเขาก็เคยรับจ๊อบไปโชว์ตัวในจารึกของสุโขทัยหลักหนึ่งที่เรียกกันว่า จารึกปู่สบถหลาน (สบถ ในภาษาเก่าแปลว่า สัตย์สาบาน) มาด้วย แต่ในจารึกหลักนั้นเรียกพี่เขาว่า ‘ปู่ชระมื่น’ ซึ่งก็ถูกกล่าวถึงรวมอยู่กับผีบรรพบุรุษคนอื่นๆ ในจารึกหลักที่ว่า
(และถ้ายังนึกไม่ออก คำว่า ‘ดำ’ ในที่นี้ก็คือคำเดียวกับคำว่า ‘ด้ำ’ อย่างที่มีสำนวนว่า ผีซ้ำด้ำพลอย หมายถึงซวยซ้ำซวยซ้อนแบบไม่รู้สาเหตุ เหมือนมีผีมาซ้ำ มีด้ำ ซึ่งก็คือผีเหมือนกัน มาพลอย คือบวกเข้าไปอีกดอก)
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรนักที่พี่ผีชรมื่น ในโองการแช่งน้ำพระพัทธ์ ของอยุธยา หรือปู่ชระมื่นในจารึกปู่สบถหลาน ของสุโขทัย จะเข้าเทคโอเวอร์ตำแหน่งที่มีชื่อเป็นภาษาบาลีสันสกฤตชิคๆ คูลๆ อย่าง ‘เปรต’ เพราะอันที่จริงแล้วความเข้าใจว่า เปรต หมายถึง ผีบรรพบุรุษ ตามอย่างแขกยังคงเหลือร่องรอยอยู่ใน ประเพณีชิงเปรต ทางใต้ของบ้านเรา เพราะ ‘เปรต’ ในพิธีนี้ก็เป็นผีบรรพบุรุษเหมือนกัน และในภาษาใต้บางท้องถิ่นคำว่า เปรต ก็ยังหมายถึง ผีบรรพบุรุษอยู่ด้วยเลยเหอะ