นั่งทำงานที่บ้าน ก็ต้องปรับตารางเวลาแบบนึง กลับไปนั่งทำงานที่ออฟฟิศอีกครั้ง ก็ต้องปรับตัวอีกแบบนึง นอกจากจะไม่เหมือนนั่งที่บ้านแล้ว ยังไม่เหมือนกับการทำงานในออฟฟิศแบบเดิมอีกด้วย หลากหลายรูปแบบการทำงาน ที่เราต้องจดจำและปรับตัวให้เข้ากับมันอยู่เสมอ แต่ลำพังคนที่ไม่ค่อยมีสมาธิเท่าไหร่อย่างเรา แค่นั่งทำงานที่บ้านก็ต้องปรับตัวมากแล้ว พอต้องสลับโลเคชั่นไปมาระหว่างออฟฟิศและบ้าน หรือที่เป็นการทำงานแบบ Hybrid Work สมาธิก็ยิ่งแตกพล่านเป็นแน่ แล้วคนไม่ค่อยจะมีสมาธิอย่างเรา จะรับมือกับเรื่องนี้ยังไงดีนะ?
เราได้เห็นแล้วว่าโลกการทำงานที่พลิกตลบใหญ่มาครั้งหนึ่งแล้ว ยังคงสามารถผุดรูปแบบการทำงานใหม่ๆ เพื่อมารองรับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของมนุษย์ได้เรื่อยๆ อย่าง ‘Hybrid Work’ การทำงานรูปแบบใหม่ที่พนักงานไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน อาจสลับกับการทำงานที่บ้าน (หรืออาจจะคาเฟ่ ริมทะเล หรือที่ไหนก็ตามเมื่อสถานการณ์ปกติแล้ว) โดยเป็นไปตามความเหมาะสมของตำแหน่งและการตกลงกันระหว่างพนักงานและบริษัท เพราะไม่ใช่ว่าทุกตำแหน่งจะสามารถทำงานที่บ้านทุกวันได้ และไม่ใช่ว่าทุกตำแหน่งต้องเข้าออฟฟิศเสมอไป
จากการระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมาทำให้เรารู้แล้วว่า การเข้าออฟฟิศทุกวันอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไปแล้ว รูปแบบการทำงานเดิมๆ ที่เราเคยเข้าใจ อาจจะต้องเปลี่ยนไปเช่นกัน Hybrid Work จึงเป็นคำตอบของเรื่องนี้ เพราะเราสามารถหารือกับองค์กรได้ว่า ในตำแหน่งหน้าที่ของเรานั้น สามารถทำงานที่บ้านได้กี่วันต่อสัปดาห์ ต้องปรับการทำงานอื่นๆ ด้วยหรือไม่อย่างไร แล้วให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตการทำงานในรูปแบบที่ตัวเองมีส่วนในข้อตกลงนี้ด้วย
ฟังดูเหมือนสวรรค์ของคนทำงาน ที่ได้ทำงานอยู่บ้านในบรรยากาศสบายๆ หากรู้สึกเบื่อก็ยังได้เข้าออฟฟิศเหมือนเคย แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเหมาะกับการทำงานรูปแบบนี้ อย่างคนที่รู้ตัวว่าไม่ค่อยจะมีสมาธิในการทำงานเท่าไหร่ อาจจะยังปรับตัวไม่ทันกับการที่ต้องสลับไปมาระหว่างรูปแบบการทำงานที่บ้านกับที่ออฟฟิศ อยู่บ้านอาจจะสบายๆ หน่อย แต่ก็มีข้อจำกัดดังนี้ หนึ่ง สอง สาม สี่ อยู่ออฟฟิศจริงจังมากขึ้น จึงต้องทำดังนี้ หนึ่ง สอง สาม สี่ จากที่โฟกัสอะไรไม่ค่อยได้อยู่แล้ว หากต้องทำงานในรูปแบบ Hybrid Work จะปรับตัวได้ยังไงกันนะ
จริงๆ แล้ว การที่เราโฟกัสอะไรไม่ค่อยได้ อยู่กับอะไรนานๆ ก็เบื่อ วอกแวก อาการเหล่านี้เป็นอาการสมาธิสั้น ซึ่งปกติเรามักจะได้ยินโรคสมาธิสั้นในเด็ก แต่ผู้ใหญ่เองก็มีอาการเหล่านี้ได้เช่นกัน โดยคนที่มีอาการสมาธิสั้นนั้น แต่ละคนมีอาการแตกต่างกันไป เริ่มต้นจากโดพามีนในสมองที่ผลิตออกมาน้อยเกินไป จนทำให้เกิดอาการต่างๆ อย่าง วอกแวก อยู่กับอะไรนานๆ ไม่ค่อยได้ ขี้ลืม จะเดินมาหยิบอะไรนะ เดินมาแล้วแต่ก็ลืม ไปจนถึงปัญหาเรื่องอารมณ์ อย่างหงุดหงิดง่าย เครียดง่าย อาจมีอาการเล็กๆ น้อยๆ ที่พอจะให้เรารู้สึกได้ว่าเป็นคนไม่ค่อยมีสมาธิ ไปจนถึงกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ถ้ารู้สึกว่ามันถึงเลเวลนั้นแล้ว ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการรักษาต่อไป แต่ถ้าเรามีเพียงอาการบางข้อ ก็สามารถปรับตัวและใช้ชีวิตปกติได้เช่นกัน
หากเรารู้สึกว่าเราเองก็มีอาการสมาธิสั้นอยู่บ้างนะ เราจะรับมือการทำงานที่ต้องสลับรูปแบบไปมานี้ได้ยังไงนะ ลองฟังคำแนะนำจาก ทาชา บูธ (Tasha Booth) CEO ของ The Launch Guild ที่เธอเองก็ประสบปัญหาเรื่องนี้เช่นกัน มาดูกันว่าเธอมีวิธีปรับตัวยังไง ในวันที่รูปแบบการทำงานไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ไม่รู้สึกแย่กับการทำงานในรูปแบบของตัวเอง
ตอนเช้ายังสดชื่นดีอยู่เลย ตอนบ่ายเหี่ยวเฉาซะแล้ว พาลให้การทำงานช่วงบ่ายไม่ค่อยราบรื่นเท่าไหร่นัก คิดไอเดียอะไรก็ไม่ค่อยออก แต่คนอื่นเขาทำงานเวลานี้กันได้ ทำไมเราถึงทำไม่ได้นะ?
หากมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถทำงานในรูปแบบเดียวกับคนอื่นได้ ก็อย่าเพิ่งกังวลจนเกินไป แต่ละคนต่างมีช่วงเวลาที่สะดวกและเหมาะสมไม่เหมือนกันอย่ารู้สึกแย่กับรูปแบบการทำงานของเราเอง แต่ละคนต่างรู้ดีว่าตัวเองมีช่วงเวลา prime time ที่สามารถงัดความโปรดักทีฟ งัดไอเดียเจ๋งๆ ออกมาได้ดีในตอนไหน เราลองหาเวลา prime time ของเราเอง และจัดการตารางเวลาชีวิตให้เหมาะสมกับเวลานั้น
สมมติว่าเราเป็นคนที่ทำอะไรได้ดีในช่วงเช้า เราลองจัดตารางการทำงานให้ตัวเองแบบขยับมาช่วงเช้าหน่อย เอางานที่ต้องใช้ไอเดีย อาศัยสมองที่ปรอดโปร่งเพื่อผลิตงานออกมา เอาไว้ในช่วงเช้า และช่วงบ่ายที่เรารู้ตัวว่า เราจะไม่ค่อยมีพลังเหลือในช่วงนี้เท่าไหร่ อาจใส่ตารางเป็นงานที่ไม่ซับซ้อนเกินไปในช่วงนี้แทน โดยลองปรับเอาตามความเหมาะสมของแต่ละคน
รู้จักตัวเองให้มากว่าเราสามารถทำงานได้ดีในช่วงไหน และใช้เวลาช่วงนั้นให้เกิดประโยชน์ที่สุด และอย่ากดดันตัวเองจนเกินไป ในช่วงเวลาที่เรารู้สึกว่าเราทำงานไม่ได้เหมือนเดิม และไม่รูปแบบการทำงานของตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ทำไมเราไม่สามารถทำงานในช่วงบ่ายได้เหมือนคนนั้นเลยนะ ทำไมประชุมเสร็จก็หมดแรง แต่คนอื่นยังทำงานต่อได้สบายเลยล่ะ แต่ละคนมีจุดแข็ง มีเรื่องราว มีช่วงเวลาพีคๆ ที่ต่างกันออกไป รูปแบบการทำงานที่ดีที่สุด คือ การทำงานที่เหมาะกับตัวเอง และดึงศักยภาพของเราเองออกมาใช้ได้ โดยที่งานยังคงคุณภาพไว้ได้เหมือนเดิม
ไม่ว่ายังไงก็ต้องมีเดดไลน์
แม้จะมีการสลับไปมาระหว่างการทำงานที่บ้านและที่ทำงาน อาจทำให้เรามีเรื่องวุ่นๆ ให้คิดมากกว่าปกติ จนทำให้เราหลงลืมเดดไลน์ไปเสียสนิท แม้การมีอยู่ของเดดไลน์จะทำให้เรากดดันทุกครั้งที่นึกถึง อย่าทาชาเอง เธอเคยกดดันเมื่อนึกถึงเดดไลน์ เธอเลยรีบทำงานให้ทันเวลา จนกลายเป็นว่าคุณภาพงานลดลง เธอเลยลองใช้วิธีไม่มีเดดไลน์ดูบ้าง เน้นคงคุณภาพงานเป็นหลักและใช้เวลาตามใจตัวเอง ทำไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะเสร็จ
แต่วิธีนั้นกลับไม่เวิร์กเอาเสียเลย สุดท้ายยังไงเดดไลน์ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในการทำงานอยู่ดี แม้มันจะสร้างความกดดันให้เราในบางครั้งที่นึกถึง ความเครียดจากความกดดันจะไม่เป็นผลดีกับคนที่ไม่ค่อยมีสมาธิเท่าไหร่ แต่หากไม่มีมันอยู่เลย เท่ากับว่างานของเราก็จะบกพร่องเรื่องเวลาตามมาตรฐานไปเช่นกัน วิธีแก้ที่ทาชาใช้ก็คือ เธอยังคงยึดถือเดดไลน์เป็นสำคัญ และเธอเปิดเผยไทม์ไลน์การทำงานของเธอให้เพื่อนร่วมงานรู้เสมอ ว่าเธอขยับมาตรงนี้แล้วนะ กำลังจะทำอะไรต่อ และเธอกำลังติดขัดตรงไหน
หากมีข้อสงสัยหรือติดขัดอะไรขึ้น การขอความช่วยเหลือจากเพื่อนในทีมจะเป็นเรื่องง่าย จากการที่เพื่อนในทีมรับรู้ไทม์ไลน์การทำงานของกันและกันมาโดยตลอด และอย่ารู้สึกผิดที่จะขอความช่วยเหลือจากเพื่อนในทีม ยังไงเราเองก็สามารถให้ความช่วยเหลือตอบแทนเพื่อนในทีมในอนาคตได้เช่นกัน
เลิกนิสัย กำหนดเวลาไว้ แล้วทำไม่ได้เลย
การกำหนดเวลาในการทำงานแบบ Time Blocking ที่อาจเคยเห็นเราแนะนำไปในบทความก่อนๆ เราอาจจะคิดว่ามันเป็นวิธีที่ดีในการหาช่วงเวลาให้เราได้ทำงานให้เสร็จแน่นอน โดยไม่ต้องล่องลอยไปมาว่าวันนี้จะทำตอนไหนดีนะ ด้วยการหาเวลาที่แน่นอน และจับงานชิ้นนั้นลงตารางให้ตัวเอง ว่าถึงเวลาแล้วต้องทำงานนี้ ในเวลานี้และเสร็จในเวลานี้นะ แต่วิธีมันอาจไม่เวิร์กสำหรับคนที่โฟกัสไม่เก่งก็ได้นะ
เมื่อปกติแล้ว เราเองก็ไม่อาจอยู่กับอะไรได้นานๆ หรือวอกแวกง่ายอยู่แล้ว หากต้องมาทำตามที่ตัวเองกำหนดไว้วันก่อน แต่วันนี้ไม่อาจทำได้ อยู่ดีๆ จะฮึบขึ้นมามีสมาธิแล้วเสร็จงานภายในสามชั่วโมงแบบที่คิด มันอาจเป็นการกดดันตัวเองจนเกินไป ถ้าเราโฟกัสได้เก่งก็อาจจะทำได้ แต่เราโฟกัสไม่ไหวขนาดนั้นนี่นา เราจึงไม่จำเป็นต้องกดดันตัวเองด้วยวิธีนี้ ถ้าหากเราไม่ได้เป็นคนตั้งสมาธิง่ายขนาดนั้น อาจลองใช้วิธีอื่นในการทำงานแทน
เราเลยต้องย้อนกลับไปที่คำแนะนำข้อแรก เราต้องรู้ก่อนว่าเราสามารถทำงานได้ดีในช่วงเวลาไหน การจัดตารางที่เหมาะสมกับตัวเอง โดยไม่ต้องยึดติดกับรูปแบบของคนอื่นจะดีที่สุด และพยายามยืดหยุ่นกับตัวเองให้มากๆ วันนี้เราอาจทำช่วงนี้ได้ดี แต่ถ้าพรุ่งนี้เราดันไปมีสมาธิตอนบ่ายแทน ก็ต้องยืดหยุ่นและยอมรับตัวเองในเรื่องนั้นด้วย
สุดท้ายวิธีการทำงานที่ดีที่สุด อาจจะเป็นวิธีที่เหมาะกับเรามากที่สุด รู้จักตัวเองให้มาก ลองปรับการทำงานให้เข้ากับศักยภาพของเราเอง และอย่าลืมยืดหยุ่นกับตัวเองเสมอ เหมือนเราในตอนนี้ ที่ทำงานเสร็จช้าไปกว่าวันปกตินิดหน่อย แต่เราก็พอใจกับงานของตัวเองเช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก