26 กุมภาพันธ์ 2563, นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากอดีตพรรคอนาคตใหม่อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่ารู้เห็นกับการที่กองทัพใช้เงินภาษีประชาชนมาปฏิบัติการด้านข่าวสาร หรือ information operation (IO) ทำสงครามจิตวิทยากับผู้เห็นต่างทางสื่อสังคมออนไลน์ สร้างความแตกแยกให้ประเทศ
ช่วงเวลาต่อมาในวันที่ 9 ตุลาคม ฝ่ายความปลอดภัยของ Twitter ได้พบบัญชีผู้ใช้งานในไทย 926 บัญชี เชื่อมโยงกับปฏิบัติการข่าวสารหรือ IO ของกองทัพบก และได้ระงับการใช้งานบัญชีเหล่านี้และกลุ่มเกี่ยวข้องอย่างถาวร ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่ถูกตรวจพบ IO รัฐบาลมากที่สุดใน 5 ประเทศ (ไทย คิวบา อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และรัสเซีย ตามลำดับ) ทวิตเตอร์รายงานว่า
“การสอบสวนของเราพบเครือข่ายบัญชีผู้ใช้งานที่มีส่วนร่วมในปฏิบัติการด้านข่าวสาร ซึ่งเรามีข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่แสดงให้เห็นว่าปฏิบัติการนี้เชื่อมโยงกับกองทัพบกไทย”
19 ก.พ.2564 ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยเป็นการอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยมีการเปิดเผยหลักฐานถึงขบวน IO อีกครั้งโดยคราวนี้มีการเปิดทั้งวิดีโอและเอกสารเป็นหลักฐาน
โดยไอเดียพื้นฐานของ IO คือกลยุทธ์การสู้ด้วยข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างกระแสความได้เปรียบมาอยู่ในฝ่ายตนเอง กระจายข่าวสารของ ‘ฝ่ายเรา’ ให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้มากที่สุด คอยโน้มน้าว ทำให้คล้อยตาม ปลุกปั่นยุยง ส่งเสริมให้เป็นไปตามความต้องการ ขณะเดียวกันก็ต้องยับยั้ง ‘ฝ่ายเขา’ หรือศัตรูตรงกันข้าม ลดทอนความน่าเชื่อถือหรือกดขี่ไม่ให้เผยแพร่ความเชื่อมาสู่เป้าหมายได้
คำว่า ‘IO’ เริ่มถูกกล่าวถึงกันมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา แต่มันไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่อะไร สมัยก่อนเราอาจจะเห็นภาครัฐทำซะส่วนใหญ่ เพราะมีอำนาจของสื่อไว้ในมือข่อนข้างเยอะ แต่เมื่ออยู่ในยุคของโซเชียลมีเดีย ทุกคนหรือใครก็สามารถเป็นสื่อได้ ก็ยากที่จะควบคุมทุกอย่างไว้ เพราะฉะนั้น IO มันมีอยู่แล้ว กลยุทธ์การสู้ด้วยข้อมูลข่าวสารเพื่อให้ฝ่ายตนเองได้เปรียบไม่ใช่เรื่องแปลก เพียงแต่ว่าใครจะเชี่ยวชาญและชำนาญมากกว่ากันในการสื่อต่างๆ อย่าง เครือข่ายอินเทอร์เน็ต สื่อสังคมออนไลน์ จิตวิทยามวลชน หรือแม้แต่การบิดเบือนข่าวสาร
ยกตัวอย่างศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯปี ค.ศ.2016 ระหว่าง Donald Trump และ Hilary Clinton ที่มีกรณีข้อมูลส่วนตัวจาก Facebook หลุดผ่านแคมเปญ Cambridge Analytica ที่หลายฝ่ายเชื่อว่าข้อมูลพื้นฐานดังกล่าวนำมาใช้เพื่อการทำ IO สนับสนุนเสียงโหวตฝ่าย Donald Trump จนสามารถพลิกเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งได้
วิธีการทำ IO โดยทั่วไปก็คือการหาสร้างจุดสนใจหรือหัวใจของฝ่ายตรงข้ามแล้วโจมตีตรงนั้น ฝ่ายนั้นล้มเจ้า ฝ่ายนั้นเผด็จการ ฯลฯ เพราะฉะนั้นฝ่ายไหนครอบครองสื่อได้มากกว่าหรือมีความเชี่ยวชาญมากกว่าก็มีโอกาสที่จะโน้มน้าวและสร้างชุดความคิดใหม่ให้กับกลุ่มผู้ที่เป็นเป้าหมายด้วยเช่นกัน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา แพลตฟอร์มใหญ่อีกเจ้า
อย่าง Facebook แจ้งว่าได้ลบบัญชีผู้ใช้และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ
ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของกองทัพ IO ในไทยรวม 185 บัญชี
ประกอบด้วยบัญชีผู้ใช้ 77 แอ็กเคานต์, เพจ 72 เพจ และกลุ่มใน Facebook อีก 18 กลุ่ม นอกจากนี้ยังมีบัญชีผู้ใช้อีก 18 บัญชีใน Instagram ด้วย ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ Facebook ดำเนินการกับบัญชีผู้ใช้ที่มีความเชื่อมโยงกับกองทัพไทย
ตามรายงานของ Reuters, Nathaniel Gleicher ผู้ดูแลฝ่ายนโยบายความมั่นคงทางไซเบอร์บอกว่า
“นี่เป็นครั้งแรกที่ Facebook ดำเนินการปิดบัญชีที่มีความเชื่อมโยงกับกองทัพไทย โดยพบความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างปฏิบัตินี้กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เราพบว่าบัญชีและกลุ่มเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกันและเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการครั้งนี้”
พลตรี ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ชี้แจงในวันต่อมาว่า บัญชีเหล่านั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับ กอ.รมน. และไม่มีนโยบายให้หน่วยดำเนินงานตามที่เป็นข่าว เพราะนโยบายของ กอ.รมน. มีหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานกลางขับเคลื่อนประสานงาน ในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชน
แต่นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Facebook ได้มีการปิดบัญชีหรือลบเพจ ย้อนกลับไปเมื่อสองปีก่อน วันที่ 25 กรกฎาคม 2562 Facebook ได้ลบบัญชีและเพจที่สร้างขึ้นในประเทศไทยรวมจำนวน 12 บัญชี 10 เพจ ที่ “มีพฤติกรรมร่วมกันในการสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวตน” หรือ CIB (Coordinated Inauthentic Behavior) โดย Gleicher ก็ให้คำอธิบายไว้ว่าเป็น “การลบเครือข่ายเหล่านี้สืบเนื่องจาก ‘พฤติกรรมที่หลอกลวง’ ไม่ใช่เกี่ยวกับเนื้อหาที่เผยแพร่”
มันไม่ใช่แค่เรื่องของ Fake News หรือข่าวปลอมอีกต่อไป เพราะถึงแม้ว่าข่าวที่เผยแพร่อาจจะเป็นข่าวจริง แต่กลุ่มคนหรือเพจทั้งหลายรวมตัวกันหลอกลวงคนอื่นว่าตนเองทำอะไรหรือสิ่งที่ตัวเองเป็นก็ถือว่าเข้าข่าย CIB เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นปฏิบัติการด้านข่าวสาร หรือ information operation (IO) นั้นก็จัดเป็น CIB อย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเช่นการหลอกลวงแสดงว่าอยู่ส่วนหนึ่งของโลก แต่ที่จริงแล้วอยู่อีกที่หนึ่ง อาจจะเป็นเหตุผลเรื่องการเมืองหรือเพื่อหลอกเอาเงินคนอื่นก็ตาม
Facebook ใช้การทำงานร่วมกันระหว่าง มนุษย์ และ เทคโนโลยี เพื่อต่อสู้กับปัญหานี้
โดยขั้นตอนแรกนั้นจะมีผู้เชี่ยวชาญที่ถูกจ้างมาเพื่อตรวจสอบเครือข่ายต่างๆ ที่ซับซ้อนว่ามี CIB แอบแฝงอยู่รึเปล่า ซึ่งแน่นอนว่ามันคล้ายกับการงมเข็มในมหาสมุทร และนั้นก็นำมาถึงขั้นตอนที่สองโดยการสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อตรวจสอบการคุกคามหรือสิ่งผิดปกติในเบื้องต้น ซึ่งมันก็เหมือนเป็นการลดขนาดของมหาสมุทธลงให้เหลือเป็นทะเลสาบที่ขนาดย่อมลง ตัวอย่างเช่นระบบที่คอยป้องกันการสร้างบัญชีปลอมหลายล้านบัญชีต่อวัน ซึ่งมนุษย์ก็จะทำงานง่ายขึ้นในการหา ‘bad actor’ หรือบัญชี/เพจต่างๆ ที่หลอกลวงหรือพยายามสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม
ถึงแม้เราจะบอกว่า IO เป็นสิ่งที่มีอยู่มานานแล้ว ในอนาคตก็น่าจะยังไม่หายไปไหน (แถมมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงและแนบเนียนมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย) ในหลายๆ ประเทศก็ยังทำอยู่ ไม่ใช่บ้านเราที่เดียว ทำไมแพลตฟอร์มอย่าง Facebook หรือ Twitter ต้องพยายามกำจัดหรือดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจังขนาดนี้
เหตุผลคือเรื่องของส่ิงที่เรียกว่า Platform Manipulation ที่ทำให้เป้าหมายของการมีอยู่ของแพลตฟอร์มนั้นไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์ที่สร้างขึ้นมา จากการเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน แน่นอนว่ามันมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันตามธรรมชาติของมนุษย์ เถียง ด่ากันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ปฏิบัติการด้านข่าวสารที่ใช้บัญชีปลอมหรือสร้างขึ้นมาเพื่ออวยหรือดิสเครดิตอีกฝั่งมันบิดเบือนเป้าหมายที่แท้จริงของแพลตฟอร์มเหล่านี้
โดยเฉพาะถ้ามีรัฐบาลหรือการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้ว
ทางแพลตฟอร์มจะยิ่งจับตาเป็นพิเศษเพราะถือว่ามีอำนาจอยู่ในมือ
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การลบบัญชีผู้ใช้และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของกองทัพ IO ในไทยรวม 185 บัญชีครั้งล่าสุดของ Facebook เป็นเรื่องที่คนสนใจมากก็เพราะมันเป็นครั้งแรกที่ Facebook ดำเนินการปิดบัญชีที่มีความเชื่อมโยงกับกองทัพไทย และมันทำให้เห็นว่ามันเป็นการใช้เงินภาษีของประชาชนไปใช้อย่างไม่สมเหตุสมผล มีนักวิชาการ นักกิจกรรมที่เห็นต่างทางการเมืองจำนวนมากถูกโจมตีด้วยปฏิบัติการ IO ของกองทัพ ละเมิดสิทธิการแสดงออกทางเสรีภาพของประชาชน ไม่ใช่การถกเถียงเพื่อจะพัฒนาและหาทางแก้ไขปัญหา แต่เป็นการดิสเครดิตและทำลายชื่อเสียงของคนที่เห็นต่างโดยใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย ปฏิบัติการดังกล่าวส่งผลกระทบวงกว้างต่อสังคม จนขนาดที่ว่าโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) นำโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ และ วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ ตัดสินใจฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้มีคำสั่งหยุดปฏิบัติการ IO ของกองทัพ ในวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา
คุณ ‘สฤณี อาชวานันทกุล’ นักเขียน นักแปล และนักวิชาการอิสระ ได้อธิบายถึงความน่าเป็นห่วงนี้ในประเด็นนี้กับการสัมภาษณ์บนเว็บไซต์ The Active เกี่ยวกับปฏิบัติการ IO ที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ว่ามันมีอยู่ในหลายรูปแบบ แบบที่ 1 คือเจ้าหน้าที่ของรัฐทำกันเอง (ซึ่งก็คือที่ Facebook/Twitter ได้ปิดไป) แบบที่ 2 คือสื่อมวลชนที่เชียร์รัฐบาลและพร้อมบิดเบือนเนื้อหาให้ IO นำไปใช้ต่อ และ แบบที่ 3 คือเอเจนซี่ รับงานสร้างเพจ สร้างคอนเทนท์เหมือนคนทั่วไปแต่เป็นงานของ IO แทน
แม้ว่าการต่อสู้ด้วยข้อมูลข่าวสารไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่การที่รัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องหรือเป็นคนทำเองนั้นเป็นสิ่งที่น่ากังวลไม่น้อย (อ้างอิงจากหลักฐานที่มาจากแพลตฟอร์ม) เพราะเมื่อ IO เป็นเรื่องของสงครามทางจิตวิทยา เป็นเครื่องมือทางทหารเพื่อโจมตีศัตรู สร้างภาพลักษณ์ให้ตนเองดูดีและด้อยค่าคู่แข่ง แต่ IO ในปัจจุบันที่กำลังเป็นประเด็นนั้นกับกลายเป็นรัฐต่อสู้กับประชาชนที่เห็นต่าง มองว่าเป็นศัตรูที่ต้องเอาชนะ การใช้ IO เพื่อโจมตี ด่าทอ หยาบคายประชาชนที่แสดงความเห็นต่างนั้นนอกจากจะเป็นเรื่องที่ไม่สมควรแล้ว ในระยะยาวยังส่งผลร้ายทำลายบรรยากาศที่ทำให้การสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแบบเปิดกว้างเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น ทำให้สังคมที่แตกแยกกันมากพออยู่แล้วกลายเป็น “ถ้าไม่ใช่พวกกู ทุกคนคือศัตรู” ไปซะอย่างงั้น
ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือความเชื่อหรือแนวคิดของทุกคนแตกต่างกันได้ ไม่ว่าจะเชียร์รัฐบาล หรือ ตรงกันข้าม จะอยากให้อยู่ต่อ จะอยากให้ยุบ จะอยากให้เปลี่ยนอะไร เราควรจะคุยกันได้ ในยุคสงครามแห่งข้อมูล แน่นอนมันเป็นเรื่องที่ยากจะหลีกเลี่ยง การชักจูง โน้มน้าวต่างๆนานาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สื่อ โฆษณาชวนเชื่อ สร้างข่าว หรือโจมตีคู่แข่งนั้นคงไม่หายไปไหน ซึ่งในฐานะประชาชนและผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียถ้าเรามีเหตุผลที่เชื่อว่ามีปฏิบัติการ IO ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม สิ่งที่ควรทำคือร้องเรียนและรายงานกับแพลตฟอร์มนั้นๆทันที
อ้างอิงข้อมูลจาก