ราชการก็ดี มีสวัสดิการ มีความมั่นคง แต่เอกชนก็เงินเดือนเยอะกว่า ไม่ต้องอยู่กับระบบที่โบราณ ล้าช้า อึดอัดกับระบบอาวุโส ไม่รู้จะเลือกอะไรดี
เวลาที่ใกล้จะเข้าสู่การสอบ ก.พ. ภาค ก หรือประตูขั้นแรกสู่การเข้าทำงานราชการ บางคนอาจจะลังเลว่าจะทำงานราชการดีไหม ในขณะที่บางคนก็อาจจะโดนพ่อแม่คาดหวัง หรือผลักดันให้ไปสอบ เผื่อทำงานในสายนี้ในอนาคต
แต่ภาพลักษณ์ของระบบราชการไทย มักถูกมองว่าเก่าแก่ คร่ำครึ ระบบที่มีกระบวนการทำงานล้าช้า ไม่ทันใจ ไม่ใช่งานของรุ่นใหม่แล้ว กว่าจะได้เติบโตก็หมดไฟเสียแล้ว ขณะที่ใครหลายคนก็เลือกไปทำงานในสายเอกชนที่คิดว่ามีระบบที่เอื้อกับการเติบโตมากว่า
The MATTER ได้ไปคุยกับปลัดอำเภอรุ่นใหม่ ไฟแรงหลายคนว่า ทำไมพวกเขาถึงเลือกเข้ามาทำข้าราชการ โดยเฉพาะ ‘ปลัดอำเภอ’ สวัสดิการข้าราชการ และความมั่นคงที่เป็นสิ่งที่โดดเด่นของสายงานนี้มีปัจจัยต่อการตัดสินใจไหม และในฐานะปลัดรุ่นใหม่ ยังมีความหวังในระบบราชการไทยหรือไม่
ทำไมถึงเป็นปลัด ความฝันและเป้าหมายในอาชีพนี้
พูดถึงอาชีพปลัดแล้ว เราคงนึกถึงภาพข้าราชการสูงวัย ใส่ชุดสีกากี อยู่ในระบบราชการที่มีวัฒธรรมการทำงานโบราณ เคร่งครัด หรือบ้างก็อาจจะมองว่าอาชีพข้าราชการนี้มีการทำงานแบบ ‘เช้าชาม เย็นชาม’ ไม่ได้เป็นอาชีพที่น่าสนใจกับคนรุ่นใหม่ หรือยุคสมัยที่เปลี่ยนไปแล้ว
เราถามพวกเขาว่า ทำไมและอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เขาสนใจ และเลือกทำอาชีพนี้?
“เราเลือกมาสอบปลัด เพราะไปทำค่ายอาสาพัฒนาชนบทที่คณะจัดขึ้น และมีค่ายหนึ่งที่เราไปเจอปลัดคนนึงที่เค้าขึ้นเขา ลงห้วย อยู่กับชาวบ้าน และชาวบ้านก็แฮปปี้กับเขา แล้วเราก็เห็นรุ่นพี่ในคณะที่สอบได้ ไปทำงานในที่ที่ค่อนข้างทุรกันดาร ทำงานออกพื้นที่ เราก็เลยมองว่ามันเป็นอาชีพที่ดี ได้ทำอะไรเพื่อคนอื่น และอยู่กับชาวบ้าน เลยเลือกมาสอบ”
ปลัดหญิง คนหนึ่งเล่าว่า เธอมองว่าอาชีพนี้มีเสน่ห์ที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรับรู้
“เราว่าปลัดอำเภอเป็นข้าราชการที่มีเสน่ห์อย่างหนึ่งนะ ส่วนหนึ่งคือได้ใกล้ชิดกับประชาชนหรือชาวบ้านที่เขาเดือดร้อน ซึ่งบางเรื่องคนที่เกี่ยวข้องหรือดำเนินการได้คือ ‘ปลัดอำเภอ’ เรียกได้ว่าปลัดอำเภอเปรียบเหมือนหน้าด่านหรือเป็นตัวแทนของรัฐในระดับพื้นที่ ขณะเดียวกันก็เป็นคนประสานระหว่างความต้องการของประชาชนในพื้นที่กับการดำเนินงานของรัฐ และยังเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติด้วย แม้คนอาจจะมองว่าตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งเล็ก แต่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในพื้นที่มาก และบางครั้งเองหลังจากเราได้แก้ปัญหา หรือปฏิบัติจรองแล้ว สิ่งที่สะท้อนกลับมาในบางครั้งมันคือความภาคภูมิใจนะที่อย่างน้อยเราก็สามารถแก้ปัญหาหรือช่วยเหลือคนที่เขาเดือดร้อนได้”
ในขณะที่ปลัดอำเภอทางภาคอีสานคนหนึ่งก็เล่าว่า เป็นเพราะอิทธิพล และความฝันของครอบครัวที่ต้องการให้รับราชการ
“ตอนแรกไม่รู้เลยว่าปลัดต้องทำอะไร ตอนเด็กๆ แม่ก็พูดให้ฟังเสมอว่าอยากไปใช้ชีวิตในต่างจังหวัดเงียบๆ มีลูกเป็นกำนันไม่ก็นายอำเภอ แบบตามละครช่อง 7 ในทีวีเลย เราก็ไม่ได้คิดว่าผิดอะไรเพราะเป็นความฝันของแม่ว่าอยากมีชีวิตที่สงบสุข ตั้งเป้าไว้แค่นั้นเลยว่าจะเป็นอะไรสักอย่างตามนั้นให้ได้ มันคือความสุขที่เราอยากทำให้กับครอบครัวที่มีอยู่”
การทำอาชีพอย่างข้าราชการ รวมถึงปลัดอำเภอขึ้นชื่อว่า ต้องมีการสอบหลายด่าน ไม่ว่าจะภาค ก ภาค ข และรอบรรจุต่างๆ เราคุยกับปลัดรุ่นใหม่ต่อว่า ในการก้าวเข้ามาทำอาชีพตรงจุดนี้ พวกเขามีความฝัน เป้าหมาย หรือความตั้งใจอะไรในการทำงานปลัด ซึ่งบางคนก็มองว่าสำหรับอาชีพนี้จำเป็นต้องมีการเติบโตขึ้นไปอีก
“เรามองถึงการเป็นคนที่อยู่ระดับ Top ของการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่นนายอำเภอ หรือผู้ว่าฯ เรามองว่ามันสามารแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ได้จริง และการที่จะไปถึงจุดๆ นั้น วิธีการหนึ่งก็คือการเริ่มจากการเป็นปลัดอำเภอ”
รวมถึงอีกหลายคนที่มองว่าข้าราชการและปลัดอำเภอ คืองานที่ทำงานกับชาวบ้าน และเพื่อประชาชน พวกเขาจึงอยากทำอาชีพนี้ให้เกิดประโยชน์จริงๆ
“อยากจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมดีขึ้น และชาวบ้านได้รับประโยชน์จากการทำงานของเรา เลยตั้งใจเข้ามาทำงานเพื่อเป็นปลัดอำเภอ เราคิดว่าขอบเขตหน้าที่ของปลัดอำเภอมีเยอะมาก แทบจะครอบคลุมทุกๆ ด้านในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน และเรามองว่า ปลัดอำเภอเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ใกล้ชิดชาวบ้านมากที่สุด ”
ขณะที่ปลัดรุ่นใหม่อีกคนเล่าให้ฟังว่า “ลองเทียบเคียงกับเอกชน เป้าหมายสูงสุดของการทำงานบริษัทอาจจะเป็นกำไร หรือทำงานได้ตามแผน เพื่อตอบสนองหัวหน้าหรือผู้บริหาร ข้าราชการก็มีเป้าหมายเหมือนกัน คือเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือทุกคนที่อยู่ในประเทศ ทุกคนที่จ่ายภาษีได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานของราชการ การทำงานฐานะปลัดอำเภอหรือข้าราชการเองก็มีเป้าหมายสูงสุดคือ ประโยชน์สาธารณะ สำหรับเราความตั้งใจของการเข้ามาทำอาชีพตรงนี้คงเป็นเรื่องของการตอบสนองต่อเป้าหมายของการเป็นข้าราชการหรือการมีขึ้นของข้าราชการให้ได้”
ปลัดอำเภอ อาชีพที่ติดภาพลักษณ์ความโบราณ เก่าแก่
ถึงแม้ว่า หลายๆ คนสังคมเราจะมีภาพลักษณ์งานปลัดที่ดูโบราณ เก่าแก่ ทำงานแบบคนรุ่นเก่าไม่ทันใจ แต่ในฐานะที่คนรุ่นใหม่เหล่านี้เข้าไปทำงาน ปลัดอำเภอบางคนก็เล่าว่า พวกเขาเองก็เคยคิดแบบนี้เหมือนกัน แต่จุดหนึ่งที่ได้เข้ามาทำงานจริงๆ ก็เข้าใจระบบมันมากขึ้น และคิดว่าภาพลักษณ์นี้จะเปลี่ยนไปได้
“เราเคยไปเจอระบบราชการ ต้องติดต่อประสานงานที่ล่าช้า เจอคนรุ่นเก่าที่เขามีทัศนคติเหมือนข้าราชการที่เรามองกันทั่วไปว่า ‘เช้าชามเย็นชาม’ เราก็คิดว่า ถ้าเราทำน่าจะทำได้ดีกว่า และดีขึ้น แต่พอเข้ามาทำจริงๆ ก็รู้ว่าบางอย่างไม่ได้ทำได้เลย มันมีกฎ มีระเบียบ บางอย่างที่ช้าพราะต้องตามกระบวนการ ขั้นตอน ตอนนี้เราจึงพยายามทำส่วนของเราให้ดี บางอย่างเราก็พยายามใช้ทักษะที่เรารู้มา อย่างคอมพิวเตอร์ ให้งานทันสมัยขึ้น”
ปลัดอีกคนบอกว่า “ตอนเรียน เราก็มีความคิดต่อภาพลักษณ์ของข้าราชการในแง่ลบเหมือนกัน คือ ระบบที่ล่าช้า ไม่มีประสิทธิภาพ มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น จนเรารู้สึกว่าเราต้องทำอะไรซักอย่าง ถ้าเกิดว่าเราโทษว่ามันไม่ดีแต่เราไม่ได้ทำอะไรเลย เราว่ามันไม่เปลี่ยน ปัญหาก็เกิดเหมือนเดิม แล้วใครจะเปลี่ยน? มันเลยเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้เราคิดว่า ในเมื่อเรามองเห็นปัญหาจากทัศนะของคนภายนอกแล้ว สิ่งที่เราจะทำได้คือเข้าไปเปลี่ยนมันเอง แต่เราก็ต้องมีความเป็นตัวเอง ปรับตัวเองให้เข้ากับระบบราชการ และอย่าให้ระบบทำให้ตัวตนของเราถูกกลืนไป เราไม่ได้มองว่าตัวเราคนเดียวจะเปลี่ยนทั้งระบบได้แต่เรามองว่าถ้าหลายคนเกิดการตั้งคำถามเหล่านี้ขึ้นเหมือนกับเรา เราว่าคุณน่าจะเป็นคนที่ราชการต้องการมากที่สุด อันนี้มองในเชิงของการพัฒนาให้ดีขึ้นนะ”
ส่วนบางคนก็มองว่า สำหรับเขางานนี้ไม่ใช่งานโบราณเลย และยังมีจำนวนคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
“หากเรามองว่างานข้าราชการเป็นงานของคนรุ่นเก่า เราก็จะไม่มีคนรุ่นใหม่ๆ เข้าไปในระบบ และไปช่วยขับเคลื่อนงานของราชการต่อไป เราเองไม่ได้มองว่าราชการนั้นเป็นอาชีพที่โบราณแต่อย่างใด เพราะจริงๆ แล้วงานทุกงานในโลกนี้ก็อาจจะเป็นงานที่โบราณได้ ถ้าความคิดของตัวเราเองไม่ได้เปิดรับมัน จริงๆ ตอนนี้ข้าราชการกรมการปกครอง หรือคนที่เป็นปลัดอำเภอเองก็มีคนหนุ่มคนสาว และคนรุ่นใหม่ เข้ามาเป็นจำนวนมาก จึงอาจจะไม่ได้เป็นอาชีพของคนรุ่นเก่าซะทีเดียว”
สวัสดิการ ความมั่นคง และการทำงานของราชการ vs เอกชน
ถ้าพูดถึงงานราชการ ก็ต้องมีการเปรียบเทียบกับงานเอกชน ที่สมัยนี้ คนรุ่นใหม่มองว่าได้เงินเดือนมากกว่า และโตเร็วกว่า จึงน่าสนใจว่าทำไมปลัดอำเภอรุ่นใหม่ที่เราพูดคุยยังสนใจงานราชการมากกว่าเอกชน
“จริงๆ ตอนแรกก็ลังเลนะ อยากได้เงินเยอะๆ รวยไวๆ แต่พอได้คลุกคลีกับรุ่นพี่ที่รับราชการ ที่ส่วนมากเป็นปลัดอำเภอ มันเลยมีความคิดที่อยากทำงานที่มันช่วยอะไรได้จริงๆ แถมพอมาทำจริงๆ มันไม่ต้องทำงานเป็นกิจวัตรซ้ำๆ ด้วย ไม่ต้องนั่งอยู่กับคอมฯตลอดเวลา ได้ไปลงพื้นที่ อยู่กับชาวบ้าน เงินมันน้อยก็จริงนะ แต่ก็ไม่ได้ใช้ไรมากมาย แถมมันก็สนุกดี การทำงานมันมีอะไรมากกว่าการได้เงิน ความสุขในการทำงานก็สำคัญ”
คล้ายกับปลัดแถวภาคอีสานอีกคน เขาเล่าว่า “เคยคิดเรื่องทำงานเอกชนบ้าง แต่เราก็ชัดเจนตั้งแต่แรกแล้วไงว่าอยากราชการ เงินเดือนมันน้อยก็จริง แต่ก็ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวนี้มันหาอาชีพเสริมพอทำได้ ตอนนี้ก็เลยเริ่มไปขายของตามตลาดนัดแถวศาลากลางจังหวัด หานู่นหานี่มาขายไปเรื่อย เงินมันไม่ได้เยอะขึ้นมาหรอก แต่ก็ช่วยให้เรามีชีวิตมิติอื่นๆ นอกจากชีวิตข้าราชการได้บ้าง”
นอกจากเรื่องเงินเดือนแล้ว สำหรับบางคนก็มีเรื่องทัศนคติของครอบครัวก็ยังมีส่วนในการตัดสินใจด้วย
“เราเคยทำงานเอกชน แต่พื้นฐานบ้านเราทำราชการ ก็เป็นจากพื้นฐานที่พ่อแม่อยากเห็นเรามั่นคง พูดง่ายๆ ตอนทำเอกชน แม้ว่าเราจะได้เงินเดือนเยอะ แต่พ่อแม่ก็รู้สึกปล่อยวางไม่ได้ แต่พอเรามาทำราชการ พ่อแม่เราก็มองว่าเรามั่นคงแล้ว มันก็เป็นส่วนนึงด้วยเนื้องานด้วย บางทีเราก็ลบมันได้ไม่หมดหรอกเรื่องทัศนคติของพ่อแม่ โดยเฉพาะคนที่เกิดในครอบครัวข้าราชการ”
แต่คิดถึงงานราชการ ก็ย่อมมีการคิดถึงสวัสดิการที่แตกต่างจากเอกชน รวมถึงความมั่นคงของอาชีพ ซึ่งปลัดบางคนก็บอกว่าเป็นปัจจัยที่มีส่วนทำให้ตัดสินใจทำอาชีพนี้
“เราว่าก็มีส่วน เพราะตัวเองหรือพ่อและแม่ก็มีสิทธิในการเบิกค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเราว่าเรื่องนี้มันก็กลายมาเป็นจุดเด่นของข้าราชการแทนเรื่องเงินเดือนหรือความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งเทียบเท่ากับเอกชน แต่อย่าลืมว่าการที่เรามีสวัสดิการจากรัฐ เราก็ถูกคาดหวังว่าจะทำอะไรตอบแทนเหมือนกัน เพราะเราเคยไปหาหมอ และหมอพูดกับเราว่า ‘หมอทำเรื่องให้แล้ว ตั้งใจทำงานด้วยหละ’ ซึ่งสำหรับเราเราตีความว่า เงินหรือสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลได้มาจากภาษีของประชาชนและภาษีของเขา เพราะฉะนั้นเงินส่วนนี้คุณไม่ได้ได้มาฟรีแต่คุณต้องทำงานให้ดีด้วย”
แต่สำหรับปลัดอำเภอ จากส่วนกลางก็มองว่า เรื่องนี้ไม่ได้มีส่วนในการตัดสินใจ
“จริงๆ แล้ว เรื่องสวัสดิการของรัฐในเรื่องต่างๆ ไม่ค่อยมีส่วนในการตัดสินใจเข้าไปทำงาน แต่เป็นขอบเขตหน้าที่ของงานในอาชีพนี้มากกว่าที่ท้าทายให้เราอยากจะเข้าไปทำงาน”
ความหวังของปลัดรุ่นใหม่ในระบบราชการ
เป็นคนรุ่นใหม่ต้องมีไฟแรง มีแพชชั่นอยากเปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนสังคม กับงานราชการก็เหมือนกัน บางคนกังวลว่าเมื่อคนรุ่นใหม่ต้องมาเจอระบบการทำงานโครงสร้างอาวุโส การทำงานแบบบนลงล่าง (top-down) และระบบเหล่านี้จะกลืน หรือเปลี่ยนคนรุ่นใหม่เข้าไปไหม ปลัดรุ่นใหม่บางคนก็ตอบว่าพวกเขาไม่ได้เปลี่ยนไป แต่เป็นการปรับตัวมากกว่า
“แน่นอนว่ามันเป็น top – down ตั้งแต่นโยบายของรัฐบาลมาถึงกรมมาระดับสำนักกอง แต่มันก็มีส่วนดีคือเวลามีเรื่องคนที่รับผิดชอบคือ top จะเป็นคนกลั่นกรองความถูกต้อง แต่ขณะเดียวกันเวลามีความคิดเห็นใหม่เสนอ ถ้า top ไม่เอาด้วยมันก็ยากที่จะเกิด ถ้าถามว่าเรามีความคิดที่จะเปลี่ยนไหมก็มี ถ้าเปลี่ยนในระดับโครงสร้างเลยก็คงไม่ใช่ เพราะบางอย่างหรือบางเรื่องที่ดีก็มี แต่บางเรื่องก็ควรปรับ สำหรับการเข้ามาทำงานราชการในฐานะของคนรุ่นใหม่เรามองว่า เราไม่สามารถ ‘เปลี่ยน’ ตัวเองไปทั้งหมดได้ เรายังคงมีอัตลักษณ์หรือความเป็นตัวตนของ Gen Y อยู่ แต่สิ่งที่เราทำได้คือ การ ‘ปรับตัว’ มากกว่า”
ปลัดจากภาคกลางอีกคนเล่าว่า ระบบแบบนี้ ไม่ได้เปลี่ยนอุดมคติ แต่ยิ่งรู้สึกผลักดันความฝันมากกว่า
“แรกๆ มานี้อึดอัดมากๆ หลายๆ ครั้งกว่าจะทำแต่ละเรื่องมันช้ามาก กว่าจะผ่านแต่ละขั้นตอน บางทีมันก็ไม่ทันแล้ว หรือความคิดว่าเราว่ามันดี ถ้าผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วยก็จบ อีกอย่างคนคิดนโยบายก็มาจากข้างบนเค้าไม่ได้สัมผัสกับปัญหาที่เกิดขึ้น หลายๆ ครั้งมันเลยแก้ปัญหาไม่ถูกจุด งบที่ลงมามันเสียเปล่ามัน เลยทำให้สิ่งที่เราเคยมองว่ามันจะแก้ได้ในเร็ววัน
“ถ้ายังไม่เปลี่ยนการทำงานจากบนลงล่างปัญหาก็อาจจะไม่มีทางแก้ได้ แต่ต้องมีการสัมผัสกับปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน คิดแบบเดียงกันไม่ได้มันไม่ได้เปลี่ยนอุดมคติเรานะ มันยิ่งทำให้อยากจะไปถึงจุดๆนั้นไว้ๆ มันยิ่งผลักดันความฝันที่เรามีเพิ่มขึ้นไปอีก”
เมื่อเรามองภาพระบบราชการ หลายคนคงมองว่าควรมีการปฏิรูปทั้งระบบ หรืออาจจะไม่มีทางแก้ไขปัญหาของระบบนี้ได้แล้ว แต่สำหรับปลัดรุ่นใหม่เหล่านี้ ทุกคนต่างมองว่ายังมีความหวัง และคิดว่าภาพของข้าราชการในอนาคตจะดีขึ้นด้วย แต่อาจจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงทันที แต่ใช้เวลาค่อยๆ เปลี่ยนมันไป
“คนในระบบบางส่วนก็ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น มีการปรับตัวเพื่อเปิดรับแนวคิดใหม่เพิ่มขึ้น แต่อย่าลืมว่าระบบข้าราชการไทยมีข้าราชการจำนวนหลายแสนคนเราว่าถ้าจะเปลี่ยนแบบฉับพลันทันทีเลยไม่ได้ มันต้องอาศัยเวลาและการปรับตัว ต้องให้เวลากับทั้งคนและระบบ โดนส่วนตัวเราเชื่อและก็ยังหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีเกิดขึ้น”
หนึ่งในปลัดรุ่นใหม่ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า
“เรามีหวัง จริงๆ การทำงานอย่างมีความหวังทำให้การทำงานของเรานั้นมีเป้าหมาย โดยภาพหวังของเราอาจจะไม่ใช่ภาพใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างในช่วงเวลาอันใกล้ แต่เป็นภาพหวังทีละขั้นๆ ในเรื่องที่เล็กๆ น้อยๆ ใกล้ตัวก่อน และมองดูตัวเองว่าศักยภาพ ณ ขณะนี้ของเรานั้น สามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งเราคิดว่าการที่เราจะทำให้คนมองราชการในภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นได้ เราต้องเริ่มจากตัวเองก่อน
เราคิดว่าหากพวกเราคนรุ่นใหม่ ยังมีความต้องการและไม่หมดหวังในการทำให้ราชการนั้นดีขึ้น สักวันภาพลักษณ์ของราชการที่ถูกมองว่าล้าช้า และโบราณอาจจะหมดไปได้”