1
“ผมรู้สึกคล้ายกับว่า ตัวเองกำลังเสียเวลา ถ้าหากผมทำซ้ำสิ่งที่เคยทำมาแล้ว”
ครั้งหนึ่ง ฮีธ เล็ดเจอร์ (Heath Ledger) เคยบอกไว้อย่างนั้น
ใช่ — มันอาจเป็นสัญญาณ มันอาจเป็นการบอกใบ้ แต่เขาย่อมไม่อาจล่วงรู้ และเราก็ไม่อาจล่วงรู้ ว่านักแสดงที่ดีที่สุดในโลกคนหนึ่งคนนี้ จะมีเวลาให้เสียน้อยเหลือเกิน
เขาจากเราไปเมื่ออายุเพียง 28 ปีเท่านั้น
ช่างเป็นเวลาที่น้อยนิดเหลือเกิน
2
ผลการชันสูตรศพของ ฮีธ เล็ดเจอร์ บอกว่าเขาเสียชีวิตเพราะ ‘ผลรวม’ ของยาต่างๆ ถึงหกชนิด ได้แก่ ออกซีโคโดน (Oxycodone), ไฮโดรโคโดน (Hydrocodone), ไดอะซีแพม (Diazepam), เทมาซีแพม (Temazepam), อัลพราโซแลม (Alprazolam) และดอกซีลามีน (Doxylamine)
ว่าแต่ว่า — พวกมันคือยาอะไรกันแน่ และทำไมเขาถึงต้องใช้ยามากมายมหาศาลถึงเพียงนั้น
มากถึงขั้นที่พรากเขาไปจากโลกนี้
3
ออกซีโคโดน คือยาเข้าฝิ่น <ยาที่มีส่วนผสมของฝิ่น> ที่ใช้เพื่อรักษาความเจ็บปวดรุนแรงหลายอย่าง ผลข้างเคียงอย่างหนึ่งของมันก็คือทำให้ง่วงและหลับ
ไฮโดรโคโดน คือยาเข้าฝิ่นเพื่อใช้รักษาความเจ็บปวดรุนแรงอีกเช่นกัน มีผลยาวนาน และผลข้างเคียงอย่างหนึ่งในท่ามกลางผลข้างเคียงอีกหลายอย่าง ก็คือทำให้ง่วงและหลับ
ไดอะซีแพม มีชื่อทางการตลาดว่า — แวเลียม, มันคือยานอนหลับขนานแรงที่มักใช้เพื่อให้ผู้ป่วยสงบนิ่ง ใช้กับทั้งคนที่เป็นโรควิตกกังวล มีอาการถอนพิษสุรา กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก หรือแม้กระทั่งโรคลมชัก แต่แน่นอน นี่ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากยาสำหรับทำให้นอนหลับ
เทมาซีแพม มีขายในชื่อ เรสโทริล (Restoril) อันเป็นชื่อที่มีคำว่า rest หรือ ‘พักผ่อน’ อยู่ในนั้นด้วย ยานี้จึงบอกใบ้ไปในตัวว่า ใช้เพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับ
อัลพราโซแลม มีชื่อทางการตลาดว่า ซาแนกซ์ (Xanax) ซึ่งปกติแล้วใช้เพื่อบำบัดผู้ป่วยที่มีอาการวิตกกังวล ทำให้เกิดความสงบ และแน่นอน — หลับ
ยาตัวสุดท้ายที่พบในร่างของฮีธ เล็ดเจอร์ คือดอกซีลามีน เป็นยาที่หาได้ไม่ยากนัก เพราะมันคือยาแก้แพ้ชนิดหนึ่ง แต่เราก็คงรู้กันอยู่แล้วว่า ยาแก้แพ้ส่วนใหญ่ มักมีผลทำให้เกิดความง่วงซึม แล้วสุดท้ายก็มักหลับไป ดอกซีลามีนก็เช่นเดียวกัน
นั่นแปลว่า ไม่ว่าจะเป็นยาชนิดไหนในหกชนิด มันล้วนเป็นยาที่มีทั้งผลโดยตรงและผลข้างเคียงเพื่อนำไปสู่ความหลับใหลทั้งสิ้น
ทำไม ฮีธ เล็ดเจอร์ ถึงต้องการการนอนหลับมากมายเพียงนั้นด้วย?
4
ฮีธ เล็ดเจอร์ เกิดที่เมืองเพิร์ธ, ออสเตรเลีย ในวัย 13 ปี เขาได้เล่นละครเป็น ‘ปีเตอร์ แพน’ ตัวละครผู้ไม่ยอมเติบโตคนนั้น และนับจากนั้นมา เขาก็ไม่อาจถอนตัวออกจากโลกการแสดงได้อีกเลย เขาหลงรักนักแสดงรุ่นก่อนหน้าอย่าง จีน เคลลี่ (Gene Kelly) ที่ท้ังแสดง ร้องเพลง และเต้นรำ ในหนังอย่าง ‘Singing in the Rain’ จีน เคลลี่ คือแรงบันดาลใจที่ผลักดันให้เขาเดินหน้าไปในอาชีพการแสดง จนในที่สุดก็ได้รับบทบาทเล็กๆ ในซีรีส์เล็กๆ ทางโทรทัศน์ของออสเตรเลีย
แล้วในที่สุด เขาก็เดินทางมาฮอลลีวู้ด
หลายคนรู้จักเขาจากหนังเรื่อง ‘Brokeback Mountain’ ที่เขาเล่นเป็นคาวบอยแสนเศร้า ผู้มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับคาวบอยหนุ่มอีกคนหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ต้องจบชีวิตลงเงียบๆ ไม่มีใครจดจำ นั่นคือบทที่ส่งให้เขาได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ ในฐานะนักแสดงนำยอดเยี่ยม แต่พลาดไป
หนังอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้โลกต้องยอมรับในฝีมือของ ฮีธ เล็ดเจอร์ ก็คือหนังเรื่อง ‘I’m Not There’ ของผู้กำกับ ท็อดด์ เฮย์นส์ (Todd Haynes) มันคือหนังที่ฮีธต้องเล่นร่วมกับนักแสดงอื่นอีกห้าคน เพื่อฉายภาพชีวิตของ บ๊อบ ดีแลน (Bob Dylan) ในช่วงวัยและแง่มุมต่างๆ ออกมา
แต่แน่นอน บทบาทที่ทำให้ฮอลลีวู้ดและโลกทั้งใบต้องสยบอยู่แทบเท้าของเขา ก็คือบทบาท ‘โจ๊กเกอร์’ ใน ‘The Dark Knight’ ของคริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) เขาทำให้โจ๊กเกอร์มีชีวิต มีความน่าขนลุก เป็นตัวตลกที่ถูกเหวี่ยงเข้าไปในโลกแห่งโรคจิต กระทั่งสิ้นไร้ซึ่งความเห็นอกเห็นใจคนอื่นในโลก
นั่นไม่ใช่หนังเรื่องสุดท้ายของเขา แต่เป็นหนังที่ทำให้เขาได้รับรางวัลใหญ่เป็นครั้งสุดท้าย หลังจาก ฮีธ เล็ดเจอร์ ตายลง เมื่อบทบาทโจ๊กเกอร์ทำให้เขาได้รับรางวับลออสการ์ในฐานะนักแสดงสมทบยอดเยี่ยมในปีถัดมา และครอบครัวต้องขึ้นไปรับรางวัลแทนเขา รวมไปถึงรางวัลลูกโลกทองคำ ที่ผู้กำกับอย่างโนแลนเป็นผู้ขึ้นไปรับรางวัลในนามของเขา — ผู้จากไปแล้ว
ทั้งหมดนี้อาจฟังดูเผินๆ ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการตายของเขา แต่หากเราพินิจพิจารณาดูภาพยนตร์แต่ละเรื่อง เราจะพบว่า ฮีธ เล็ดเจอร์ ไม่เคยยอม ‘ปล่อย’ ให้แต่ละบทบาทผ่านไปอย่างเปล่าดายเลย เขาอยู่กับมัน ขบคิด ดัดแปลงตัวตน บิดผันจิตใจภายใน บีบอัดร่างกายภาพนอก เพื่อให้ตัวตนของเขาเปลี่ยนไปกลายเป็นตัวละครเหล่านั้นอย่างแท้จริง
เขาเคยพูดไว้ครั้งหนึ่งว่า การแสดงไม่ใช่อะไรอื่น ทว่าคือการ ‘สวมใส่’ ซึ่ง ‘พลังแห่งความเชื่ออันไร้ขอบเขตสิ้นสุด’ ให้กับตัวเอง และใช้ความเชื่อนั้นเป็นเครื่องมือสำหรับการสร้างสรรค์
ผู้กำกับทั้งหลายที่เคยร่วมงานกับฮีธ ต่างประหลาดใจ ทึ่ง และฉงนฉงายไปกับความทุ่มเทเพื่อให้บรรลุถึงตัวตนอันหลากหลายเหนือพ้นความเป็นมนุษย์นี้ ฮีธอยากบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบในทุกบทบาท เขาทั้งมีวินัย จริงจัง ช่างสังเกตในรายละเอียดเล็กจิ๋วที่สุด รวมทั้งมีสิ่งที่เรียกว่า Nous หรือเทียบเท่ากับสติปัญญาหรือความชาญฉลาดในการทำความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และรับรู้อย่างลึกซึ้งถึงชีวิต ความคิด และความรู้สึกของผู้อื่น กระทั่งสามารถถ่ายทอด ‘ความเป็นผู้อื่น’ ออกมาได้โดยใช้ร่างกายและจิตใจของตัวเอง
มันคือการทุบทำลายตัวตนของตนเองจนแหลกสลายเป็นผุยผง แล้วปั้นแต่งให้ขึ้นรูปใหม่ออกมาเป็นผู้อื่น
ไม่ใช่เพียงภายนอก — แต่รวมถึงภายในด้วย
และนั่นเองที่ทำให้บ่อยครั้ง ฮีธไม่อาจ ’หลุด’ ออกมาจากตัวละคร
5
ฮีธ เล็ดเจอร์ เคยให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์กไทมส์ว่า หลังเล่นหนังระดับมหากาฬอย่าง I’m Not There และ The Dark Knight (ซึ่งติดกัน) แล้ว เขาเริ่มมีปัญหากับตัวเอง
การทุ่มเททำงาน การหลุดออกไปสู่ตัวละครอื่น ทำให้เขาไม่สามารถนอนหลับได้
ในบทสัมภาษณ์นั้น ฮีธบอกว่าสัปดาห์ที่แล้ว เขานอนหลับเฉลี่ยแค่คืนละสองชั่วโมงเท่านั้น เพราะเขาหยุดคิดไม่ได้ สิ่งที่อยู่ภายในตัวของเขา คือจิตวิญญาณอันปั่นป่วนของตัวละคร มันพลุ่งพล่านวิ่งวุ่นอยู่ภายใน กระชากลากถูความคิดของเขาไปทางโน้นทางนี้จนเขาไม่อาจหลับได้
แม้กินยานอนหลับขนานแรง แต่มันก็ทำให้ฮีธอยู่ในภาวะคล้าย ‘สลบ’ (ซึ่งไม่ใช่การนอนหลับเพื่อพักผ่อน แต่เป็นการหมดสติเพราะยา) ไปได้แค่ชั่วโมงกว่าๆ เท่านั้น แต่จากนั้นพอฤทธิ์ยาหมด การ ‘กด’ ภายในเอาไว้เริ่มอ่อนแรง จิตของเขาก็จะตื่นข้ึน แล้วจิตนั้นก็จะปลุกร่างกายให้ลุกขึ้นมานั่ง เพื่อพบว่าตัวเองกำลังปั่นป่วนวิ่งวุ่น
เมื่อถ่ายทำหนังเรื่องสุดท้ายในชีวิต คือ ‘The Imaginairum of Doctor Parnassus’ ฮีธมักปรึกษากับ คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ (Christopher Plummer) เพื่อนนักแสดงอาวุโสว่าเขายังคงมีปัญหากับการนอนหลับ และต้องกินยานอนหลับตลอดเวลาเพื่อแก้ปัญหานี้
ที่แย่ก็คือ ในหนังเรื่องนี้ต้องถ่ายทำในสถานที่หนาวเย็น ทำให้ทุกคนป่วยและต้องกินยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ แต่ฮีธเลือกที่จะไม่กิน นั่นทำให้สุขภาพของเขาย่ำแย่ลงไปด้วย
มิเชล วิลเลียมส์ (Michelle Williams) แฟนสาวและคู่หมั้นของฮีธก็ยืนยันตรงกันว่าเขามีปัญหาเรื่องการนอน เขามีพลังงานในร่างกายมากเกินไป มันอาจไม่ใช่แค่พลังงานของเขา แต่คือพลังงานของตัวละคร พลังงานของโจ๊กเกอร์ พลังงานของใครอื่น ที่เข้ามาวิ่งวุ่นปั่นป่วนอยู่ภายใน ทำให้เขาต้องหมุนไป หมุนไป และหมุนไป
6
ราวบ่ายสามของวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 2008 แม่บ้านและนักบำบัดที่เข้าไปหาเขา พบว่าเขานอนหมดสติอยู่บนเตียงในอพาร์ตเมนต์ย่านโซโฮ บนเกาะแมนฮัตตัน
ทั้งคู่เรียกตำรวจและรถพยาบาล แต่ความตายมาถึงฮีธก่อนหน้านั้นแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีใครช่วยอะไรเขาได้ ในเวลา 3.36 น. ก็มีการประกาศการตายของฮีธ และเคลื่อนร่างของเขาออกจากอพาร์ตเมนต์
ผลการชันสูตรระบุสาเหตุการตายว่า ฮีธพบกับภาวะ intoxication จากการใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน ซึ่งทั้งหมดคือยาที่มีฤทธิ์ทำให้หลับ เขาไม่ได้ฆ่าตัวตาย แต่มันคืออุบัติเหตุ
มันคือความปรารถนาที่จะได้หลับตาลง และผ่อนพักจากการ ‘เป็น’ ตัวละครอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตัวตนของเขา
ยาที่ร้ายแรงที่สุด ก็คือออกซีโคโดนและไฮโดรโคโดน แพทย์หลายคนบอกว่า หากกินเฉพาะยาอื่นๆ ไม่ได้กินยาสองตัวนี้ ฮีธ เล็ดเจอร์ จะยังมีชีวิตอยู่
มีการสืบสวนมากมาย ว่าฮีธนำยาสองตัวนี้มาจากไหน แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครรู้ว่าเขาได้พวกมันมาอย่างไร
7
“ผมรู้สึกคล้ายกับว่า ตัวเองกำลังเสียเวลา ถ้าหากผมทำซ้ำสิ่งที่เคยทำมาแล้ว”
ฮีธ เล็ดเจอร์ ไม่เคยรับบทการแสดงซ้ำๆ
เขาไม่อยากเสียเวลา
คล้ายเขารู้มาตั้งแต่ต้น —ว่าชีวิตมีเวลาให้เสียไม่มากนัก