ผู้ป่วยกว่าครึ่งได้รับ ‘ยาทั่วไป’ ที่ส่งผลกระทบต่อยีนและก่อให้เกิดผลข้างเคียงตามมา แต่ในปัจจุบันที่การตรวจยีนมีค่าใช้จ่ายถูกลง อาจทำให้แพทย์ออกแบบและสั่งจ่ายยาได้ตรงตามอาการมากขึ้น แต่เมื่อแพทย์หลายคนยังไม่อยากเสี่ยงและประกันสุขภาพก็ยังไม่เล่นด้วย แล้วอนาคตของยารูปแบบใหม่จะสดใสหรือไม่?
เรามีเรื่องของสาวน้อยรายหนึ่งที่น่าบอกเล่ากันเล็กน้อย เจ้าหนู Korei Melene Parker เด็กสาวอายุ 7 ขวบ ที่ดูสดใสร่าเริงเหมือนเด็กๆ ที่ซุกซนตามวัย วันหนึ่งเธอกลับมาบ้านพร้อมด้วยรอยฟกช้ำดำเขียว จากการกระแทกกับขอบโต๊ะที่โรงเรียน แม้จะไม่เป็นแผลลึกอะไรมาก แต่ไม่นานรอยฟกช้ำที่ดูธรรมดา เริ่มปรากฏตามแขนขา หน้าผาก และเหงือกของเธอเริ่มเลือดออก
นี่ไม่ใช่อาการฟกช้ำธรรมดาแน่ๆ
ครอบครัวของเธอเห็นท่าไม่ดี จึงต้องรีบส่งเธอไปโรงพยาบาลเด็กใกล้เคียงอย่าง St.Jude Children’s Research Hospital เป็นการด่วน แพทย์วินิจฉัยว่า อาการของเธอคือ ร่างกายไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดได้ทัน ทำให้เกิดภาวะเลือดออก ปรากฏรอยแผลช้ำๆ และมีการติดเชื้อ เรียกว่า กลุ่มอาการโรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (Aplastic anemia)
แพทย์จึงต้องรีบช่วยให้ร่างกายเธอสร้างเซลล์เม็ดเลือดให้เร็วที่สุด เพื่อต่อต้านกับภาวะติดเชื้อ แต่เมื่อเธอเป็นเด็กน้อยร่างกายบอบบาง การให้ยาล้วนมีผลข้างเคียงระยะยาว และยาแรงหลายชนิดอาจทำร้ายเธอมากกว่าเดิม
ตอนแรกพวกเขาคิดจะใช้ยา Voriconazloe ในการแก้ภาวะติดเชื้อจากเชื้อราเบื้องต้น แต่เอาเข้าจริงๆอาการเด็กน้อยไม่เกี่ยวกับเชื้อราเลย ต่อให้ใช้ยาขนานผู้ใหญ่ในปริมาณมากก็จะไม่มีทางส่งผลดีต่อเธอ ในขณะที่เวลาบีบคั้นเหลือเกิน ทำอย่างไรให้เด็กน้อยปลอดภัยที่สุดและได้ยาตรงตามอาการ
โชคดีที่แพทย์ของโรงพยาบาล St.Jude Children’s Research มีกระบวนการรักษาที่ล้ำหน้าอยู่ในมือ พวกเขาจึงทำการตรวจยีนของสาวน้อย (Genetic Testing) พบว่ามียีน 230 ยีน ที่มีอิทธิพลต่อภาวะสร้างเซลล์เม็ดเลือดในร่างกายของเธอ ซึ่งเป็นชุดยีนเฉพาะที่ทำให้ร่างกายเธอใช้ประโยชน์จากยาที่ถูกขนานได้ โดยไม่ต้องเสี่ยงต่อภาวะดื้อยาและผลข้างเคียง
แพทย์จึงเปลี่ยนยาที่เข้าขากับเอนไซม์ในร่างกายเธอ ให้มันย่อยสลายฤทธิ์ยาได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเอาผลการตรวจยีนเธอเป็นที่ตั้ง และในที่สุด หนูน้อย Korei รอดตายจากอาการโรคโลหิตจางอย่างหวุดหวิด จากการที่แพทย์รู้ก่อนว่าร่างกายของเธอต้องการอะไร
ยาที่สร้างมาเพื่อคุณโดยเฉพาะ
ที่เขียนเกริ่นไว้ยาวขนาดนี้ เพราะนวัตกรรมการตรวจยีนกำลังทำให้ยาในยุคต่อไป ‘เป็นตัวของคุณมากขึ้น’ (Personalized Medicine) หรือที่เรียกกันว่า ‘เภสัชพันธุศาสตร์’ ถือเป็นศาสตร์ใหม่ในการรักษาโรค (Pharmacogenomics) ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก โดยศึกษาความหลากหลายของยีนมนุษย์ที่มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการต่างๆ ในร่างกาย ช่วยพยากรณ์ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในแต่ละบุคคล การป้องกันโรค การตอบสนองต่อยา และการเลือกใช้ยา ซึ่งสิ่งเหล่านี้มาจากองค์ความรู้พื้นฐานว่า มนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่างของรหัส DNA ในยีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค ทำให้ต่อไปการรักษาจะเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น หรือจะว่า ถูกคน ถูกโรค มากขึ้นก็ไม่ผิด
ปัจจุบันคุณสามารถรู้ลำดับจีโนมในร่างกายของตัวเองได้ (Genome sequencing) สนนราคาอยู่ที่ 1,000$ หรือราว 35,000 บาท (ก็แล้วแต่ที่ให้บริการอีก) และกำลังมีราคาที่ถูกลงอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม เภสัชพันธุศาสตร์ ยังเป็นของใหม่ในหลายโรงพยาบาล และองค์ความรู้นี้ต้องการการอัพเดตตลอดเวลา ทำให้นวัตกรรมนี้อาจไม่ได้ติดจรวดอย่างที่คาดการณ์กันไว้นัก
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะโยนทางเลือกนี้ทิ้งไป เพราะมีคนทั่วโลก 5 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ที่มีอาการคล้ายเจ้าหนู Korei ที่กล่าวในเบื้องต้น ซึ่งไม่สามารถใช้ยาทั่วไปได้ เนื่องจากร่างกายปฏิเสธทำให้มีอาการต่อต้าน ดื้อยา และเกิดภาวะติดยาเรื้อรัง
นักวิจัยของ St.Jude Children’s Research Hospital กล่าวว่า “มีคนไข้กว่า 50% ที่ได้รับยาซ้ำๆใน 1 ปี โดยเป็นยาที่มีผลข้างเคียง ก่อผลเสียต่อยีนในร่างกายของพวกเขา”
“มีคนไข้กว่า 50% ที่ได้รับยาซ้ำๆใน 1 ปี โดยเป็นยาที่มีผลข้างเคียง ก่อผลเสียต่อยีนในร่างกายของพวกเขา”
ยีนมีผลกับยาขนาดไหน?
กลับมาที่คำถามเบสิกว่า การค้นพบเภสัชพันธุศาสตร์และการทำความเข้าใจยีนในร่างกายทำให้เราใช้ยาได้ปลอดภัยกว่าเดิมได้อย่างไร
ขอยกตัวอย่างที่ ยาสามัญประจำบ้าน ‘โคดีอีน’ (Codeine) เป็นสารประกอบที่มีอยู่ตามธรรมชาติในฝิ่น ใช้เป็นยาแก้ปวดและระงับอาการไอ มักผสมในยาแก้ไอทั้งหลายแหล่ หาได้ทั่วไปตามร้านขายยา หากรับประทานในปริมาณที่น้อยจะช่วยในเรื่องระงับอาการเจ็บปวดหรือแก้อาการไอ แต่หากรับประทานในปริมาณที่มากจะทำให้เกิดอาการเสพติดได้
ปัญหาคือ มนุษย์แต่ละคนได้รับฤทธิ์ของโคดีอีนต่างกัน โดยเอนไซม์ในตับจะเปลี่ยนโคดีอีนให้เป็นมอร์ฟีน ซึ่งส่งผลในการกดความเจ็บปวดไว้ แต่ร่างกายแต่ละคนกลับมีเอนไซม์ที่ชื่อ CYP2D6 ในจำนวนไม่เท่ากัน ช่างยุ่งยากซับซ้อนเสียจริง
ยาไม่ได้ผล
ประชากรโลกมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ มียีน CYP2D6 ที่ทำงานต่ำกว่ามาตรฐาน ทำให้เอนไซม์ไม่สามารถเปลี่ยนโคดีอีนเป็นมอร์ฟีนได้ ท้ายที่สุดตัวยาจึงไม่ได้เกาะกับปลายประสาทที่ควบคุมความรู้สึกเจ็บปวด ผลคือ ต่อให้ใช้ยามาก ก็ไม่ระงับปวด
ยาได้ผลจนเสพติด
มีประชากรโลกอีก 2 เปอร์เซ็นต์ ที่ดันมียีน CYP2D6 มากกว่า 2 ชุด นั้นหมายความว่าเอนไซม์จะเปลี่ยนโคดีอีนเป็นมอร์ฟีนมากกว่าจนเกินพอดี ทำให้คนไข้ถูกระงับความรู้สึก ทำให้เกิดผลข้างเคียง มีอาการซึมเศร้า หายใจขัด และอาจเกิดการติดยาโคดีอีนเรื้อรัง
ยาในปริมาณพอเหมาะ
คนที่มียีน CYP2D6 สองคู่ปกติ จะทำให้เอนไซม์ในร่างกายเปลี่ยนโคดีอีนเป็นมอร์ฟีนที่ทำงานกับปลายเซลล์ประสาทในสมองและไขสันหลังในระดับพอเหมาะพอเจาะ ทำให้ระงับอาการปวดได้ ไม่เกิดอาการติดยา หากแพทย์รู้จักยีนเขาก่อนเนิ่นๆ
มนุษย์ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติไหนก็ย่อมมีรหัสแห่งชีวิตที่เป็นลําดับเบสในดีเอ็นเอเหมือนกันทุกคน จะแตกต่างกันบ้างก็เพียงร้อยละ 0.1 ของลําดับเบสทั้งหมดในจีโนมเท่านั้น อย่างไรก็ดี เมื่อคิดเป็นตัวเลขแล้ว จํานวนที่แตกต่างนี้นับว่ามหาศาล ความแตกต่างทางพันธุกรรมนี้เองที่ทําให้มนุษย์ทุกคนมีเอกลักษณ์ที่เป็นของตนเอง ยาแต่ละชนิดจึงไม่ได้มีผลอันเที่ยงแท้เช่นกัน
ความล้ำหน้าของโรงพยาบาล St.Jude Children’s Research เก็บข้อมูลพันธุกรรมในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของคนไข้ราว 3,000 รายไว้แล้ว ดังนั้นหากแพทย์จะสั่งจ่ายยาอะไรให้ผู้ป่วย ก็ต้องใช้ระบบสืบค้นและระบุยาที่ต้องการใช้ในเคสนั้น หากฤทธิ์ของยาเกิดความขัดแย้งกับข้อมูลพันธุกรรม ระบบจะแจ้งเตือนแพทย์ทันที เพื่อให้แพทย์หลีกเลี่ยงการใช้ยา และหายาใกล้เคียงหรือกระบวนการรักษาอื่นๆ แทน
อย่างไรก็ตามบริษัทประกันสุขภาพหลายแห่งยังไม่เล่นด้วยกับความก้าวหน้าทางการแพทย์ดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยยังไม่กล้าตัดสินใจทำ Genetic Testing เพราะเป็นกังวลเรื่องค่ารักษา โดยอาจจะต้องใช้เวลามากกว่านี้ เพื่อให้ได้เคสตัวอย่างที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์ความรู้เหล่านี้ทำให้เราผลิตยาได้หลากหลายและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ความรู้เรื่องเภสัชพันธุศาสตร์เอื้ออำนวยให้มีความเป็นไปได้ในการใช้ยาอย่างจำเพาะเจาะจงและให้เหมาะกับลักษณะทางพันธุกรรมของแต่ละบุคคล สำหรับในประเทศไทยยังคงเป็นเรื่องใหม่และต้องระมัดระวัง เพราะข้อมูลการตอบสนองของยาเป็นการศึกษาในกลุ่มประเทศตะวันตกซึ่งเป็นคนละชาติพันธุ์กับคนไทยหรือคนเอเชียอย่างเราๆ
แม้ยาบางชนิดถูกคิดค้นขึ้นมาแล้ว แต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา (US FDA) ยังไม่สามารถออกประกาศใช้ได้ทันทีในบางประเทศ เพราะต้องมีการศึกษาทางคลินิกเพื่อยืนยันปัจจัยทางพันธุกรรมที่มีผลต่อการตอบสนองต่อยาในชาติพันธุ์นั้นๆ ด้วย
นับว่าหน้าตื่นเต้นไม่น้อยที่เราจะได้ยาที่ปลอดภัยขึ้น และเป็นเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น
เพราะต่อให้เราเหมือนกันแค่ไหน แต่ในระดับยีนยังห่างไกลกันหลานล้านลี้ ยาก็ต้องปรับตัวให้ทันเช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Pharmacogenomics in the Clinic.Mary V. Relling and William E. Evans in Nature Vol.526
The Paradox of Precision Medicine.Jeneen Interlandi, The Science of Health, April 2016
www.gofundme.com/ehamz4