“Find out what your hero or heroine wants, and when he or she wakes up in the morning, just follow him or her all day..”
― Ray Bradbury
“ดูว่าฮีโร่ของคุณอยากได้อะไร ตอนเช้าเขาตื่นกี่โมง แล้วให้ตามพวกเขาไปทั้งวัน”
– เรย์ แบรดบูรี
คุณชื่นชมเขามาตั้งแต่ยังเด็ก – เขาเป็นดัง ‘ศูนย์กลาง’ ของตัวตนของคุณ – คุณพยายามหาบทสัมภาษณ์ที่เขาพูดตามสื่อต่างๆ มาอ่าน – ซื้อนิตยสารสำหรับผู้ใหญ่ที่ปกติแล้วไม่เคยสนใจแล เพียงเพราะมีเขาอยู่บนปก – คุณอ่านหนังสือที่เขาแนะนำ, ฟังเพลงที่เขาเคยพูดถึง, ดูหนัง และพยายามจะเข้าใจสิ่งที่เขาบอกว่าดีแสนดี, แน่ล่ะ บางเรื่อง คุณก็ไม่เข้าใจหรอก แต่คุณก็คิดว่าถ้าเมื่อไหร่ที่คุณมีความสามารถพอที่จะเข้าใจละก็ คุณจะต้องเท่ – ต้องเก่ง – ต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ดีๆ แบบเขาแน่ๆ
แล้วโอกาสก็มาถึง ในที่สุด – หลังจากชื่นชมมาเนิ่นนาน คุณก็ได้เจอเขาตัวเป็นๆ เสียที ผ่านการแนะนำของเพื่อน คุณทักทายเขา สวัสดีเขา พูดคุยกับเขา ก่อนที่, ก่อนที่คุณจะพบว่า…
คุณผิดหวัง
ประสบการณ์เช่นนี้อาจเป็นประสบการณ์ร่วมของใครหลายคน เราอาจเชิดชูใครสักคนในวัยเด็กหรือวัยรุ่น แล้วเมื่อเติบโตขึ้นมา ก็พบว่า ที่เคยเชิดชูนั้นผิดทั้งเพ – กลับด้านร้อยแปดสิบองศา หรือคุณอาจได้รู้จักเขาด้วยตัวเองในชีวิตจริง (โชคดีเป็นบ้า!) แล้วก็พบว่า – อ้าว ที่เขาพูดๆ ไว้ ผ่านตามสื่อต่างๆ นั่นเขาไม่ได้เป็นอย่างนั้นจริง หรือไม่ได้เชื่อแบบนั้นจริงนี่นา (โชคร้ายที่สุด!)
แล้วทั้งหมดนี้ก็ทำให้คุณรู้สึกว่า… สิ่งที่เคยยึดถือ เคยเชื่อมั่นมาตลอดนั้นพังทลาย
แล้วต่อจากนี้คุณจะฟังเพลง, ดูละคร, ดูหนัง, อ่านงาน, หรืออ่านสเตตัสของเขาด้วยความรู้สึกแบบไหนดี
ความสำคัญของฮีโร่
ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้จะบอกว่าคนเราไม่ควรมีฮีโร่เลยนะครับ อันที่จริงแล้ว การมีต้นแบบ หรือมีคนให้เราดำเนินรอยตาม, มองอย่างชื่นชม นั้นสำคัญมาก Scott LaBarge จากมหาวิทยาลัยซานตา คลาร่า บอกว่า
“สำหรับคนในสมัยกรีกโบราณ ฮีโร่คือมนุษย์ที่ทำบางสิ่งที่เหนือความสามารถของมนุษย์ทั่วไป จนประทับรอยทรงจำไว้ในใจของคนที่เหลือ แม้ตัวเขาจะตายไปแล้ว ด้วยการสร้างผลงานอันยิ่งใหญ่นี้เอง ที่ทำให้ฮีโร่ถูกบูชาราวกับเทพ โดยความหมายดั้งเดิมแล้ว ฮีโร่ไม่จำเป็นต้องเป็น ‘คนดี’ แต่เป็นเพียง ‘คนที่ทำอะไรไม่ธรรมดา’ เท่านั้น ในขณะที่ปัจจุบัน เราอาจแยกความหมายของคำว่าฮีโร่ กับความดีออกจากกันไม่ได้แล้ว”
เขาพูดถึงหน้าที่ของ ‘ฮีโร่’ ไว้ว่า “เราต้องการฮีโร่ เพราะฮีโร่นั้นช่วยนิยามความทะยานอยากและค่านิยมของเรา เรามักจะพัฒนาความคิดความเชื่อ อย่างเช่นเรื่องความกล้าหาญ, เกียรติยศและความยุติธรรม ตามแบบอย่างที่เรายึดถือในใจ ดังนั้น ฮีโร่จึงเปรียบดังสัญลักษณ์ของคุณสมบัติทั้งหลายที่เราอยากเป็น และเป็นสัญลักษณ์ของความฝันหรือเป้าหมายที่เราอยากไปให้ถึง”
ในขณะที่ Scott T. Allison ผู้เขียนหนังสือ Heroes: What They Do & Why We Need Them ซึ่งเป็นหนังสืออธิบายวิธีคิดของเราต่อฮีโร่ ในทางจิตวิทยา ก็พูดถึงเหตุผลสำคัญที่เราต้องมีฮีโร่หรือต้นแบบไว้ว่าเพราะไอเดียของ ‘ฮีโร่’ นั้นตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ในแทบทุกด้าน ตั้งแต่ การอยู่รอด, การเลี้ยงดู, การเจริญเติบโต, การศึกษา, ความปลอดภัย, ความมั่นคง, ความสุข ไปจนถึงความยุติธรรม
[ในบล็อก Heroes ที่มหาวิทยาลัยริชมอนด์ พวกเขายังเขียนถึงฮีโร่ในแง่มุมหลากหลาย อย่างในตอนหนึ่ง พวกเขาก็จำแนก ‘ความเป็นฮีโร่’ ในซีรีส์ชุด Game of Thrones ออกมาเป็นประเภทๆ (Archetypes) ว่ามันเป็นซีรีส์ที่เน้นไปที่สุนัขรองบ่อน (Underdog), ฮีโร่เชื้อสายกษัตริย์, เรื่องราวของการกลับตัว (Redemption) เช่น ธีออน และเจมี่, การเปลี่ยนผ่าน (Transformation) เช่นอาร์ย่า และการอบรมเลี้ยงดูฟูมฟักฮีโร่ (Mentor) หรือในตอนอื่น พวกเขาก็ใช้วิธีคล้ายคลึงกันในการแยกส่วนวรรณกรรมเยาวชนอย่าง Harry Potter ออกมาเป็นฉากๆ]
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือมีงานศึกษาเพื่อค้นหา ‘ยีนฮีโร่’ ว่าความเป็นฮีโร่ (ความดี, การทำเพื่อผู้อื่น) นั้นแฝงมาในรหัสพันธุกรรมเลยหรือไม่ด้วย หากสนใจลองดูได้ที่นี่
แต่จะทำยังไง…ถ้าฮีโร่ไม่ได้ดี?
คำว่า ‘ฮีโร่ไม่ได้ดี’ นั้นอาจมีสองความหมาย
ความหมายแรกคือ ฮีโร่ไม่ได้ดีในฐานะ ‘ต้นแบบ’ ที่ใครสักคนคาดหวัง (ส่วนใหญ่จะเป็น ‘คนอื่นที่ไม่ได้นับถือฮีโร่คนนั้นๆ’) เช่นเราจะได้ยินผู้ใหญ่ถึงการนิยม ‘ไอดอล’ ในวัฒนธรรมกระแสหลักของคนรุ่นหลังบ่อยๆ ว่าเด็กๆ สมัยนี้ (สมัยนี้อีกแล้ว!) ไปนิยมอะไรก็ไม่รู้ ไปนิยมพวกเนตไอดอลทาหน้าขาวขายครีมไปวันๆ หรือไปนิยมนักร้องเพลงแร็ปที่ติดยา
ตัวอย่างของคำบ่นในลักษณะนี้เช่น คุณ Paolo Gallo เขียนไว้ในบทความว่า เขาไปสำรวจฮีโร่ของคนสมัยนี้โดยสอบถามคน 200 คนว่าหากพูดถึง ‘ฮีโร่สมัยใหม่’ แล้วคุณนึกถึงใคร แล้วพบว่าทุกคนไปนิยมดาราดังๆ นักกีฬา หรือนักแสดงโทรทัศน์กันหมด “ไม่ค่อยมีใครพูดถึงนักการเมือง หรือต้นแบบทางวัฒนธรรม อย่างเช่นนักเขียนหรือศิลปินเลย” ในขณะที่พอเขาถามว่า “แล้วฮีโร่ของคุณคือใคร” คำตอบก็จะเปลี่ยนเป็นคนในครอบครัว ครู หรือเพื่อนแทน เขาบอกว่า คำตอบในลักษณะนี้แสดงให้เห็นว่า “ตอนนี้พวกเราทั้งหลายอาจคิดถึง ‘ฮีโร่’ ว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ เป็นต้นแบบอันกลวงเปล่า [ถึงได้ตอบคำถามแรกอย่างนั้น] แต่พอพูดถึงฮีโร่ส่วนตัว พวกเรากลับนึกถึงคนที่อยู่ใกล้ชิดกับตัวเองซึ่งอาจจะไม่ต้องเด่นดังอะไรก็ได้”
Paolo จึงเสนอไว้ว่า เราควรจะเปลี่ยนค่านิยมของการนับถือใครสักคน โดยไม่ได้ดูที่ว่า ‘เขามีฟอลโลวเวอร์เท่าไหร่ หรือเขาได้ค่าตัวจากการหลงตัวเองออกโทรทัศน์แค่ไหน’ แต่ควรไปดูที่คุณธรรมหรือค่านิยมของเขาแทน, ตัวอย่างที่ Paolo เสนอคือ “ฮีโร่ควรเป็นชายวัยกลางคนสักคน ที่เพิ่งถูกไล่ออกจากงาน แล้วมีความกล้าที่จะหางานใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า” หรือ “ฮีโร่คือคนงานที่ตรากตรำทำงานกะกลางคืน หรือตื่นตีห้ามาทำงานทุกวัน คือคนทำความสะอาดที่ขยันมาทำงานก่อน 8 โมง” “ฮีโร่คือหมอ พยาบาล ผู้พิพากษาฯลฯ ที่ทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์”
ผมก็เห็นด้วยกับคุณ Paolo นะครับ – แต่ไม่เต็มที่นัก (ฮ่า!) คือเห็นด้วยว่าเราควรจะนับถือคนทำงาน หรือคนที่มีความกล้าหาญ หือคนที่มีคุณธรรมอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่ได้คิดว่า เราต้องหักโค่น ‘ความมีชื่อเสียง’ หรือ ‘ฟอลโลวเวอร์ในโซเชียลเนตเวิร์ก’ มากขนาดนั้น (แล้วก็ใช่ว่าสองอย่างนี้จะมาพร้อมกันไม่ได้เสียเมื่อไหร่)
ก็อย่างที่ ทอม ฮิดเดิลสตัน (โลกิ) เคยบอกไว้นั่นแหละครับว่า “ตัวร้ายทุกตัวก็คิดในใจนั่นแหละ ว่าตัวเองดี ตัวเองเป็นฮีโร่” (อาจต้องพูดเพิ่มว่า ‘สาวกของตัวร้ายตัวนั้นก็เชื่อว่าเขาเป็นฮีโร่ด้วยเหมือนกัน’ ฮ่า)
ความหมายแรก ‘ฮีโร่ไม่ได้ดี’ จึงต้องมาพร้อมกับคำถามตัวโตๆ ด้วยว่า ‘ดีของใคร?’ (ความดีมีจริงไหม ความดีเป็นคุณสมบัติสัมพัทธ์ที่แล้วแต่ว่าคนจะมองจากด้านไหนหรือเปล่า เป็นคำถามที่น่าคิดต่อ)
ความหมายที่สองของ ‘ฮีโร่ไม่ได้ดี’ คือ ไอเดียของ ‘ฮีโร่’ นั้นดี แต่พอไปเจอตัวเองแล้วกลับไม่ได้ดี (อย่างที่คิด) เหมือนเวลาเราไปเจอคนที่เรานับถือ แล้วเขากลับทำตัวไม่น่านับถือเหมือนที่อยู่ในสื่อนี่แหละครับ ซึ่งกรณีแบบนี้มีเยอะมาก จนแทบจะเป็นคำแนะนำเลยว่า ‘อย่าไปเจอฮีโร่ตัวเองเลย (เดี๋ยวจะผิดหวัง)’ (Don’t meet your heroes.)
กระทั่ง Moby ยังเคยให้คำแนะนำแบบเดียวกัน เขาเล่าตอนที่เขาไปงานปาร์ตี้เดียวกับ นีล ยัง (Neil Young) ศิลปินที่เขาชื่นชม แต่เขาก็กลับไม่เข้าไปทักทาย ไม่ไปเจอนีล ยัง ตัวจริง เพราะว่า “ผมมั่นใจแหละว่านีล ยังน่าจะเป็นคนไนซ์ๆ แต่จะเป็นยังไงล่ะ ถ้าวันนั้นนีล ยัง เกิดอารมณ์ไม่ดีพอดี – นั่นแปลว่า ถ้าผมไปเจอนีล ยัง แล้วผมผิดหวัง ผมจะเสียเพลงโปรดไป 20 เพลงเลยเหรอ”
แต่ถ้า เจอไปแล้ว – ผิดหวังไปแล้ว เราควรทำยังไง?
คอลัมน์ให้คำแนะนำผู้ปกครองของ CNN แนะนำว่า หากฮีโร่ของลูกคุณ ทำบางอย่างที่ทำให้ลูกผิดหวัง คุณควรถือโอกาสนี้ในการพูดคุยกับเขาว่าถึงใครสักคนจะเป็นฮีโร่ แต่เขาก็เป็นเพียงมนุษย์เท่านั้น มีโอกาสทำผิดพลาดกันได้ เช่นเดียวกับที่ลูกๆ ก็อาจเคยผิดพลาด และให้ชักชวนให้ลูกโฟกัสถึงคุณสมบัติที่ดีในตัวฮีโร่เหล่านั้นแทน (เช่นเดียวกัน หากลูกดันเอาวายร้ายมาเป็นฮีโร่ อย่างเช่น ไปชื่นชอบเฟรดดี้ ครูเกอร์ หรือแดร็กคูล่า คอลัมน์นี้ก็แนะนำว่าไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด ให้ลองถามลูกว่า คุณสมบัติอะไรในตัววายร้ายพวกนี้ที่น่าประทับใจ แล้วโฟกัสเฉพาะสิ่งเหล่านั้น)
เร็วๆ นี้ หลังจากมีข่าวอื้อฉาวของนักแสดง ดาราตลก และพิธีกรหลายคน ผมเคยเกิดคำถามกับตัวเองว่า ‘แล้วเราจะยังชื่นชมผลงานของพวกเขาได้ไหม’ ‘เราควรจะทำยังไง เมื่อรู้ว่าจริงๆ แล้วพวกเขาเป็นคนที่มีข้อเสียร้ายแรงขนาดนี้’ แน่นอน – หลังข่าว บางคนรู้สึกอกหัก บางคนโกรธขึ้ง สาบานว่าจะไม่เสพงานของคนเหล่านั้นชั่วชีวิต งานที่เคยชอบในอดีตก็จะไม่ชอบแล้ว ฯลฯ
ถามตัวเองแล้วผมก็พบว่าตัวเองทำอย่างนั้นไม่ได้
ภายในใจ เราก็ยังนิยมงานของพวกเขาจริงๆ และเป็นงานของพวกเขานี่แหละ ที่พาให้เรานิยมในตัวพวกเขาตั้งแต่แรก
เรานิยม ‘งาน’ ของเขาก่อนที่นิยม ‘ตัว’ ของเขาใช่ไหม? ถ้าใช่ – ก็ไม่น่าจะมีปัญหาหากจะแยกสองอย่างนี้ออกจากกัน
แล้วผมก็คิดได้ว่า : ผมอาจต้องรู้จักชื่นชมในสิ่งที่ใครสักคนหนึ่งทำ มากกว่าสิ่งที่ใครสักคนหนึ่งเป็น
อ้างอิง / อ่านเพิ่มเติม
Why Heroes are Important, SCU
https://www.scu.edu/ethics/focus-areas/more/resources/heroism-why-heroes-are-important/
Reasons Why We Need Heroes
https://works.bepress.com/scott_allison/
https://blog.richmond.edu/heroes/2013/05/17/10-reasons-why-we-need-heroes/
Moby
http://uk.businessinsider.com/moby-on-why-you-should-never-meet-your-heroes-2016-5
When heroes disappoint our kids
http://edition.cnn.com/2012/11/14/living/parenting-kids-disappointed/index.html