ถึงจะทำงานมานานกว่าสิบปีแล้ว ผมก็ยังคงติดนิสัยเหมือนตอนเรียนอยู่เป๊ะ!
“เราจะไม่ทำงาน จนกว่าจะถึงเวลาส่งงาน!” เหมือนเป็นกฎเลวๆ ที่สลักไว้อย่างลับๆ อย่างไรก็ไม่ทราบ – รู้ทั้งรู้นะครับ ว่ามันเป็นวิธีการทำงานที่ไม่ค่อยดี และถ้าโลกนี้ทุกอย่างเป็นไปอย่างที่คิดได้ละก็ เราก็คงเลือกที่จะทำงานอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า ในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส เรามักคิดในทำนองว่า “เขียนวันละหน้าสองหน้า ครึ่งปีก็ได้หนังสือเล่มหนึ่งพอดีแล้ว!” (นักทำงานแบบไฟลนก้นจะติดการคำนวณแบบนี้) แต่เอาเข้าจริง เราก็ไม่เคยทำได้ ก็เป็นคืนสุดท้ายที่รุ่งขึ้นจะต้องส่งงานนั่นแหละ ที่เราจะมาปั่นเอาหัวหกก้นขวิดทุกที
เราถนัดการสปรินท์ แต่เราไม่เคยถนัดการวิ่งมาราธอน – ไม่เห็นเดดไลน์ ไม่หลั่งน้ำตา
ทำไมเดดไลน์จึงมีพลังนัก?
พลังแห่งเดดไลน์: เดดไลน์หวดให้เราทำงานได้ ‘แค่ไหน’
เรา (ส่วนมาก) รู้อยู่แล้วว่าเดดไลน์นั้นเป็นตัวช่วยให้เราขยับเขยื้อนร่างกาย – ลุกจากความขี้เกียจ และเริ่มทำงานได้เสียที แต่คำถามก็คือ เดดไลน์ ‘มีพลังมากแค่ไหน’ – เราวัดผลได้หรือไม่ว่าการกำหนดเดดไลน์ขึ้นมาจะทำให้คนทำงานหนึ่งๆ เสร็จมากขึ้นกี่เปอร์เซนต์?
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีการพยายามหาคำตอบครั้งหน่ึงโดย Kristen Berman แห่งห้องทดลองด้านการศึกษาพฤติกรรม ร่วมกับแพลตฟอร์มกู้ยืมสำหรับธุรกิจขนาดย่อมโดยปราศจากดอกเบี้ย kiva.org, ในการกู้ยืมเงินผ่าน Kiva ปกติแล้วเจ้าของธุรกิจจะต้องกรอกแบบฟอร์มระบุรายละเอียดของธุรกิจของตนโดยละเอียด แบบฟอร์มนี้ีมีความยาวมากถึง 8 หน้า ทำให้อย่างที่รู้แหละครับ, เจ้าของธุรกิจจำนวนมากก็จะคิดว่า “เฮ้ย เอาไว้ก่อน” ทำให้กรอกไม่สำเร็จเสียที มีคนที่กรอกสำเร็จลุล่วงเพียง 20% ของผู้สมัครทั้งหมดเท่านั้น
ทีนี้ Kristen Berman ก็เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วถ้าเราใส่ ‘เดดไลน์’ ลงไปในเมลที่ส่งให้เจ้าของธุรกิจกรอกแบบฟอร์มล่ะ ผลจะเป็นอย่างไร จากเดิมที่เมลดังกล่าวไม่ได้กำหนดวันหมดเขต ตอนนี้ เมลก็จะเพิ่มคำอย่างเช่น “คุณมีเวลาถึงวันที่ 20 ตุลาคมเท่านั้น ในการส่งแบบฟอร์มนี้” เมื่อเจ้าของธุรกิจได้เมลแบบหลัง ผู้สมัครสำเร็จจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร
ผลปรากฏว่า – มีผู้กรอกใบสมัครจนเสร็จลุล่วง เพิ่มขึ้น 24% ด้วยการเพิ่มประโยคเดดไลน์ลงไปเพียงประโยคเดียว
ยังไม่จบเท่านั้นนะครับ – นักทดลองเกิดสงสัยขึ้นมาอีกว่า เราจะทำให้พลังแห่งเดดไลน์เพิ่มขึ้นได้อีกหรือเปล่า ถ้าเราลองใแรงจูงใจอื่นๆ ลงไป เขาเลยทดลองใส่ประโยคเพิ่มเข้าไปในเมลอีกหนึ่งประโยคต่อมาว่า “แต่ถ้าคุณส่งใบสมัครนี้ก่อนวันที่ 14 ตุลาคม คุณจะได้รับการพิจารณาก่อนใคร” (คือเพิ่มจากประโยคเดิมที่กำหนดเดดไลน์เข้าไปอีก) ลองเดาสิครับว่าผลเป็นอย่างไร
ผลก็คือ มีผู้กรอกใบสมัครจนเสร็จลุล่วงเพิ่มขึ้นจากการมีเดดไลน์เดียวอีก 26% ด้วยการเพิ่มแรงจูงใจเชิงบวก (แทนที่จะเป็นการทำโทษคนที่ส่งเลท) นี้
นอกจากนั้น ยังมีการทดลองก่อนหน้านี้ด้วยว่า เดดไลน์ที่กระชั้น นั้นส่งผลให้คนทำอะไรๆ มากกว่าเดดไลน์ที่ไกลออกไป เช่น ในการทดลองแจก Gift Voucher ครั้งหนึ่ง ถ้ากำหนดไว้ว่า Gift Voucher นี้ใช้งานได้ภายในสองเดือน จะมีีคนใช้จริงๆ แค่ 10% แต่เมื่อกำหนดว่า Gift Voucher นี้มีเวลาเพียงสองสัปดาห์เท่านั้น ก็มีคนใช้ Gift Voucher เดียวกันมากกว่า 30% (ทั้งที่เวลาสองสัปดาห์มันสั้นกว่าสองเดือนตั้ง 3 เท่า)
เมื่อเป็นเช่นนี้ Kristen จึงเสนอแนะว่าเราอาจใช้ประโยชน์จากเดดไลน์ได้ในหลายระดับ รัฐบาลก็อาจทำให้คนกรอกแบบฟอร์มภาษีได้มากขึ้นด้วยการเสนอว่าถ้ากรอกเสร็จก่อนจะได้ส่วนลดหรือมีแรงจูงใจอื่นๆ ให้ หรือ, ก็นั่นแหละครับ, ในการทำงาน เราก็อาจจะมีโอกาสทำได้สำเร็จมากกว่า หากมีเดดไลน์ที่กำหนดมาให้ (มันก็แน่อยู่แล้ว!)
ทำไมเราถึงมีพลังแฝงเมื่อเดดไลน์มาถึง? AKA ทำไมเราจึงต้องรอให้ถึงเดดไลน์ค่อยทำ?
ผมลองถามคำถามนี้กับตัวเองว่า เออ ทำไมนะ ทำไมเราต้องรอให้ถึงเดดไลน์ก่อนถึงจะเริ่มทำอะไรได้ ก็พบว่าถ้าตอบให้ลึกไปกว่าความขี้เกียจ (เรามักเห็นว่าตัวเองในปัจจุบันต้องสุขสบาย แล้วค่อยให้ตัวเองในอนาคตลำบากทีหลัง ไม่เป็นไร!) คำตอบต่อมาก็น่าจะเป็น หนึ่ง ‘ความเชื่อมั่นในตัวเอง’ สอง ‘เพราะเราชอบความกดดัน’ หรือสาม (อย่างที่มีคนชอบอ้าง) ‘เพราะเราเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์’
ทำไมถึงเป็นความเชื่อมั่นในตัวเอง? (ต้องเพิ่มเติมว่า อาจจะเป็นความเชื่อมั่นผิดๆ ก็ได้นะ) ผมคิดว่าโดยส่วนมากแล้ว หลังจากที่เราเรียนรู้ผ่านการทำซ้ำๆ ว่า เราทำงานสำเร็จได้ (โดยที่ไม่เคยโดนด่า) ในเวลาจำกัด เราก็มักจะรอให้ถึงขีดสุดท้ายจริงๆ ก่อนค่อยทำ เราเชื่อมั่นว่า ด้วยความสามารถของเรา เราอยากจะท้าทายเส้นตายตรงนี้ และชนะมันอีกครั้ง
ซึ่งนำมาสู่เหตุผลข้อที่สอง เพราะเรา (ลึกๆ แล้ว) ชอบความกดดัน การตื่นมาทำงานเหมือนเดิมอย่างสม่ำเสมอในทุกๆ วัน ถึงแม้จะดูเป็นกิจวัตรที่ดีงาม แต่เราก็อาจแอบรู้สึกว่ามันก็เป็นกิจวัตรที่น่าเบื่อด้วย เราอาจจะเสพติดเวลาที่สมองหลั่งสารอะไรบางอย่าง เมื่อเราเครียด เค้น หรือกดดันมากๆ แล้วเราก็อาจจะพบว่า งานที่ออกมาจากความกดดันนั้นดีเหลือเชื่อ (ซึ่งอาจเป็นการประเมินที่เข้าข้างตัวเอง)
เหตุผลข้อสุดท้ายที่ผมมักได้ยินหลายๆ คนใช้ Justify การที่ตัวเองต้องรอให้ถึงเดดไลน์ก่อนค่อยเริ่มงานคือ “รอแรงบันดาลใจ” หรือ “คิดไม่ออก ยังคิดสิ่งที่ดีที่สุดไม่ได้” ซึ่งพอลองไล่ๆ ดู ก็จะพบว่าเป็นเพราะ “พวกเขาต้องการให้งานนี้ออกมาดีที่สุด และให้เหตุผลว่า การใช้เวลามากที่สุดกับการคิด (ให้ลุล่วง) ก็จะนำมาซึ่งงานที่ดีที่สุดจริงๆ” – หรืออีกนัยหนึ่งคือพวกเขาอาจเรียกตัวเองว่าเป็น Perfectionist – ประมาณว่า ต้องคิดให้จบก่อนถึงจะเริ่มทำได้ ซึ่งนี่ก็อาจเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นอยู่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ งานบางงานก็ไม่เคยเสร็จในหัว เราต้องลงมือลองทำมันออกมาจริงๆ ก่อน ถึงจะเห็นว่าสิ่งที่เราสมมติในหัวมันบกพร่องอย่างไร (เช่น ผมเคยคิดว่าตัวเองมีเรื่องจะเขียนเยอะมาก แต่พอลงมือพิมพ์จริงๆ ก็พบว่าเขียนแค่สองย่อหน้าก็หมดเชื้อเพลิงแล้ว)
มีคำตอบที่ลึกซึ้งกว่านี้ว่าทำไมเราจึงชอบรอให้ถึงเดดไลน์แล้วค่อยทำงานด้วยนะครับ – ในบทความ Why writers are the worst procrastinators (ทำไมนักเขียนถึงเป็นพวกผัดวันที่ร้ายกาจที่สุด) โดย Megan Mcardle เสนอว่าสาเหตุอาจเป็นเพราะเราเป็น Impostor Syndrome (อาการ “กลัวว่าตัวเองไม่เก่งจริง และใครจะมาเปิดเผยความไม่เก่งของเราในที่สุด”), เราอาจจะ “ชอบเตะตัดขาตัวเอง” (Self-handicapping) เพื่อปกป้องตัวเอง หากงานออกมาไม่ดี (จะได้อ้างว่า “เพราะกูไม่ได้พยายามอย่างเต็มที่ไงล่ะ ถ้ากูพยายามนะ โอ๊ย กูจะต้องทำได้ดีมากแน่ๆ”)
Alain de Botton พูดไว้น่าสนใจว่า “จะเริ่มทำงานได้ ก็ต้อรอให้ความกลัวในการที่จะไม่ได้ทำอะไร เหนือกว่าความกลัวที่จะทำอะไรออกมาห่วยนั่นแหละ” ผมคิดว่าคำพูดนี้จริงทีเดียว
นอกจากสาเหตุเหล่านี้แล้ว Mcardle ก็ยังเสนอด้วยว่า ระบบการศึกษาในปัจจุบันก็ยังมีส่วนที่ทำให้เรายึดติดกับเดดไลน์ด้วย เพราะมันสร้าง ‘กรอบจำกัด หรือภาวะสถิตนิ่ง’ บางอย่าง เธออธิบายว่า ในการเรียนวรรณกรรม เราก็มักจะเห็นเฉพาะงานที่เสร็จแล้วของนักเขียนระบือนาม แต่เราไม่เคยเห็นร่างแรกๆ ของงานเขียนชิ้นนั้นเลย (ทำให้ไม่เห็น ‘กระบวนการ’) และเธอก็ยังเสนอด้วยว่าระบบการศึกษาในปัจจุบันนั้นกำหนดโครงสร้างที่ ‘แข็งแรงและไม่ยืดหยุ่น’ (เธอใช้คำว่า Structured, Clear Boundaries) ให้กับนักเรียน ทำให้นักเรียนรู้สึกปลอดภัยเมื่อได้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ชัดเจนตรงไปตรงมาแบบนี้ และจะทำงานได้ไม่ค่อยดีเมื่อต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้มีอะไรกำหนดไว้ตายตัว
การจัดการความสัมพันธ์กับวันเส้นตาย
ถึงแม้เดดไลน์จะขับเคลื่อนให้เราทำงานได้จริง (อย่างที่มีการทดลองมาแล้ว) แต่ก็อย่างที่เรารู้แหละครับ, การทำงานในสภาวะบีบเค้นมากๆ ก็ไม่ใช่ว่าจะทำให้เราทำงานได้ดีที่สุดเสมอไป (มันอาจจะทำให้เรา ‘ใช้เวลาทำงานน้อยที่สุด’ ก็จริง แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็อาจคุ้มหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกรณี) มีการอ้างว่า (จากบทความ ‘ด้านมือดของเดดไลน์’ ใน Psychology Today) ว่าเดดไลน์ทำให้เราเครียด คร่าเซลล์สมอง ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ลดลง หรือทำให้สุขภาพแย่ แต่ผมก็ไม่คิดว่ามันจะเลวร้ายขนาดนั้นเสมอไป
สิ่งที่ผมคิดว่าควรทำ (และก็พยายามค่อยๆ ปรับพฤติกรรมตัวเองไปทีละนิดละหน่อย) คือการจัดการความสัมพันธ์กับเดดไลน์ของตัวเองให้ดี ผมรู้ว่าเดดไลน์มีประโยชน์ ในวันที่ไฟลนก้น เรามักจะมีพลังแฝง มี ‘ความกล้าที่จะห่วย’ (เพราะถ้าไม่กล้า ก็ไม่มีงานส่ง) และบางครั้งเราก็อาจเซอร์ไพรส์ตัวเองได้ด้วยงานที่ออกมาดีเกินคาด แต่ในขณะเดียวกัน เราก็จะไปหวังพึ่งให้เทพเจ้าแห่งเดดไลน์ประทานพลังแฝงให้ตลอดก็ไม่ได้ เมื่อเรามองย้อนกลับไปพิจารณางานที่ต้องทำตามเดดไลน์ด้วยสายตาที่มีสติจริงๆ เราก็อาจพบว่า งานเหล่านั้นถึงแม้จะดีในระดับหนึ่ง “แต่ถ้ามีเวลาเพิ่มละก็มันคงจะดีได้มากกว่านี้ เราคงจะทำได้สุดกว่านี้” และมันคงจะดี ถ้าเราได้ลองใช้เวลา ทำงานบางชิ้นให้มันสุดจริงๆ (ไม่ใช่มัวแต่แค่บอกว่า ถ้ามีเวลานะ…ถ้ามีเวลานะมึ้งงง)
เทพเจ้าแห่งการไม่ยอมออกหนังสือ George R.R. Martin แห่ง Game of Thrones เคยพูดถึงเดดไลน์ไว้ว่า “ถ้านิยายเล่มไหนยังถูกอ่านเมื่อเวลาผ่านไป 50 ปี คงไม่มีใครบอกหรอกนะครับว่า ‘สิ่งที่เจ๋งที่สุดของหนังสือเล่มที่หกในซีรีส์คือ คนเขียนเขียนได้ตรงเดดไลน์พอดีเป๊ะ’ แต่คนจะชื่นชมคุณภาพของนิยายเล่มนั้นต่างหาก”
ถึงแม้จอร์จจะเลื่อนนิยายเล่มต่อไปในซีรีส์ A Song of Ice and Fire ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือ เขาไม่ได้รอให้ถึงวันสุดท้ายแล้วค่อยเขียน เขาก็… (ผมหวังว่านะ) ยังคงคิดและเขียนนิยายเล่มนี้ทุกวันๆ เวลาที่เขาเลื่อนออกไป คือเวลาที่เขาใช้เกลานิยายให้เหมาะที่สุด ให้ดีที่สุด ไม่ใช่เวลาที่เขาขี้เกียจ นอนอืด หรือรอให้ไฟลนก้น
สำหรับคนที่ชอบอ้างว่าเป็น Perfectionist ทั้งหลาย (ซ่ึงรวมผมด้วย) ผู้ชอบบอกว่าอยากคิดให้จบจึงทำงานไม่เสร็จเสียที ก็อาจต้องรักษาสมดุลระหว่างการมีงาน (ที่กลางๆ) กับการไม่มีงาน (ที่ดีที่สุด แต่ไม่เคยถูกสื่อสารออกมาเสียที) นี่แหละครับ และพวกเราเหล่านักไฟลนก้นก็อาจต้องรำลึกไว้นั่นแหละว่า:
งานดีที่ไม่เสร็จ ก็คืองานที่ไม่มีจริง
อ้างอิง / อ่านเพิ่มเติม
The Deadline Made Me Do It
https://blogs.scientificamerican.com/mind-guest-blog/the-deadline-made-me-do-it/
Why writers are the worst procrastinators
The Dark Side of Deadlines
https://www.psychologytoday.com/blog/counseling-keys/201506/the-dark-side-deadlines