“และตอนนี้ฉันก็ได้ฟังเรื่องจากทั้งสองฝ่ายแล้ว ถึงเวลาที่จะต้องหาข้อมูล ‘เอง’ เพื่อความจริงที่แท้ทรู “
(กูเกิ้ล: ลิงก์แรกที่แสดงขึ้นมา เป็นลิงก์ที่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณคิดพอดิบพอดี)
“เป๊ะเลย!” (ขยับแว่น)
นี่เป็นการ์ตูนที่ผมชอบมากๆ เพราะมันสะท้อนพฤติกรรมของตัวเองได้อย่างไม่มีผิดเพี้ยน
เอ้า – ใครๆ ก็คิดว่าตัวเองมีเหตุผล! เมื่อคุณเถียงกับใครสักคน คุณก็มักจะคิดว่าเหตุผลของคุณชนะเหตุผลของอีกฝ่าย มันเป็นเหตุผลที่ทั้งฟังขึ้นกว่าและดีกว่า และฝ่ายตรงข้ามก็เอาแต่อ้างอะไรไม่รู้ที่ดูฟังไม่เข้าท่าเอาเสียเลย คุณน่ะเป็นคนมีเหตุผล และฝ่ายตรงข้ามก็เป็นแค่คนที่ไม่รู้จักคิดวิเคราะห์!
เมื่อเกิดความรู้สึกแบบนี้ สิ่งที่ผมมักจะย้อนกลับไปดูสม่ำเสมอคือรายชื่ออคติที่ฝังมาอยู่กับใจของทุกคน (Cognitive Biases)
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครๆ จะมีอคติ อคติขัดขวางเราจากการคิดวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วนครบทุกปัจจัยก็จริง แต่มันก็เป็นผลจากการวิวัฒนาการของมนุษย์ด้วย เราไม่ได้ต้องการการตัดสินใจที่ ‘ดีที่สุด’ ในทุกๆ เรื่อง แต่เราต้องการการตัดสินใจที่ ‘ดีพอ’ ในเวลาทีเหมาะสมต่างหากที่ทำให้อคติกลายเป็นเรื่องจำเป็น ลองนึกถึงเหตุการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน จระเข้ตัวหนึ่งยืนจังก้าขวางอยู่ข้างหน้าคุณในขณะที่คุณกำลังคิดว่าควรจะหลบไปทางไหนดี หากคุณต้องใช้เวลาพิจารณาทุกปัจจัย คุณอาจจะตัดสินใจช้าจนโดนจระเข้งาบไปแล้วก็ยังตัดสินใจไม่เสร็จ การตัดสินใจแบบ ‘เร็วๆ’ ถึงแม้จะไม่ได้ฉลาดที่สุด จึงเป็นเรื่องจำเป็นเช่นกัน (เช่น วิ่งขึ้นเนินสูงก่อน ไว้ค่อยคิดข้างหน้าเอาทีหลัง)
พูดอีกอย่างคือ การมีอคตินี้เองที่ทำให้เรามีความเป็นมนุษย์
แต่เมื่อเราดันใช้อคติโดยไม่รู้ตัวในเรื่องท่ีจำเป็นต้องใช้เหตุผลให้มากๆ ปัญหาก็มักเกิดขึ้น เมื่อนั้น สิ่งที่ทำได้คือเราก็ต้องกลับมาตรวจสอบตัวเองว่า : เราคิดอย่างนั้นเพราะมันมีเหตุให้คิดเช่นนั้นจริง หรือเรากำลังตกเป็นเหยื่อของตนเอง
Survivorship Bias : ทำไมเราควรระวังไลฟ์โค้ช
ตัวอย่างหนึ่งของการระบุอคติที่ผมชอบมาก เพราะแค่คิด มันก็อาจเปลี่ยนวิธีพิจารณาของเราไปเลย คือ Survivorship Bias หรืออคติต่อผู้อยู่รอด ตัวอย่างคลาสสิกของอคติประเภทนี้คือการสัมภาษณ์คนที่ประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ เช่น CEO หรือนักแสดงที่ลาออกจากโรงเรียน แล้วพยายามถอดบทเรียนออกมาว่าพวกเขาเป็นคนที่ตามหาความฝันของตนเองจนยอมทิ้งโอกาสทางการศึกษา ดังนั้นถ้าพวกเรามีความฝันอะไร พวกเราอาจจะต้องยอมสละบางอย่างไปเพื่อตามหาความฝันนั้นเหมือนกับพวกเขากันเถอะ ซึ่งนี่อาจเป็นอคติ เพราะมันไม่พิจารณาถึงความจริงที่ว่ามีคนที่ลาออกจากโรงเรียนจำนวนมาก แล้วก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไร (เรามองเห็น เฉพาะสิ่งที่หลงเหลืออยู่)
การ์ตูนของ XKCD พูดถึงเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้น คนบนเวทีพูดว่า “อย่าเลิกซื้อล็อตเตอรี่เด็ดขาดถึงแม้ว่าจะมีใครแนะนำว่าอย่างไร ดูอย่างฉันสิ ฉันล้มเหลว (ในการถูกรางวัล) ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ไม่เคยหยุดซื้อล็อตเตอรี่เลย ฉันทำงานพิเศษด้วยเพื่อจะได้เอาเงินมาซื้อล็อตเตอรี่เพิ่ม แล้วดูสิ ตอนนี้เป็นยังไง ฉันถูกรางวัลแล้ว! ฉันเป็นเหมือนกับข้อพิสูจน์เลยว่า ถ้าคุณตั้งใจจริง อะไรก็เป็นไปได้” ข้อความด้านล่างเขียนว่า “ทุกสุนทรพจน์สร้างแรงบันดาลใจจากคนที่ประสบความสำเร็จควรเริ่มต้นด้วยการพูดถึง Survivorship Bias” เพราะสิ่งที่คนประสบความสำเร็จนั้นๆ พูด อาจไม่ได้ ‘จริง’ สำหรับทุกคนก็ได้ (และที่ร้ายไปกว่านั้นคือส่ิงที่เขาพูดอาจเป็นเงื่อนไขเฉพาะที่ใช้ได้กับเขาคนเดียวเท่านั้นก็ได้)
น่าคิดนะครับ – สมมติว่ามีไลฟ์โค้ชแนะนำให้ทำอะไรอย่างหนึ่ง เพื่อให้ประสบความสำเร็จ “ลองดูอย่างผมสิ ผมเป็นตัวอย่างที่พิสูจน์ทฤษฎีนี้เลยนะ” สิ่งที่เราควรคิดและมองมากกว่าตัวไลฟ์โค้ชคนนั้นคือ คนอีกจำนวนมากที่ทำตามคำแนะนำนั้น แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และไม่มีโอกาสขึ้นมายืนบนเวทีเหมือนกับไลฟ์โค้ชซึ่งอาจเป็นคนเพียง 0.001% ที่ประสบความสำเร็จตามคำแนะนำดังกล่าว
เช่นเดียวกับการให้นักเรียนสักโรงเรียนหนึ่งโยนหัว-ก้อย แล้วคัดคนที่โยนก้อยออกไปเรื่อยๆ สุดท้ายเหลือคนที่โยนหัวได้ต่อเนื่องกันเพียงคนเดียว แล้วเชิดชูคนนั้นว่าเป็น “แชมเปี้ยนนักโยนเหรียญ” สัมภาษณ์ว่า “เคล็ดลับการโยนเหรียญให้ได้หัวติดๆ กันของคุณคืออะไรคะ” ทั้งที่เขาอาจไม่ได้เป็นอะไรเลยนอกจากผลลัพธ์ของการคัดเลือกด้วยโชค
การพูดเช่นนี้อาจฟังดู ‘เกินไป’ และผู้ที่ประสบความสำเร็จก็อาจมี ‘บทเรียน’ บางอย่างให้เราที่เหลือทั้งหลายศึกษาและน้อมรับไปปฏิบัติตามได้บ้าง แต่การคิดถึง Survivorship Bias ในตอนที่ฟังเขาไปด้วย ก็อาจทำให้เราได้บทเรียนที่มีค่ากับตัวเองมากขึ้น
และถึงแม้เราหลายคนอาจรู้เรื่อง Survivorship Bias อยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ได้คิดถึงมันบ่อยๆ ก็ยังอาจตกหลุมพรางได้เช่นกัน – อคติที่ฝังมากับเรามันน่ากลัวตรงนี้!
มีดสวิสสำหรับการคิดให้ทะลุ
นอกจาก Survivorship Bias แล้ว ก็ยังมีการรวบรวมอคติชนิดต่างๆ ไว้หลากหลายครั้ง เช่นหนังสือชื่อ The Art of Thinking Clearly โดย Rolf Dobelli (แปลไทยในชื่อ ’52 วิธีคิดให้ได้อย่างเฉียบคม’ โดยสนพ. WeLearn แต่ผมยังไม่มีโอกาสได้อ่านภาษาไทย) ก็รวบรวม 52 อคติไว้โดยเล่าผ่านกรณีศึกษาต่างๆ ที่ทำให้เข้าใจอคติชนิดนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น หรือหนังสือ “ทางสายเกรียน” โดย สฤณี อาชวานันทกุล (วาดภาพประกอบโดยผมเอง) ก็รวบรวมตรรกะวิบัติชนิดต่างๆ ซึ่งบางชนิดก็ถือเป็น Cognitive Biases ด้วย
ไม่นานมานี้ผมผ่านไปเจอการพยายามรวบรวมอคติครั้งหนึ่งที่คิดว่าใช้วิธีการแยกแยะที่น่าสนใจ คุณ Buster Benson หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ที่ Slack เป็นคนหนึ่งที่ใช้รายชื่อ Cognitive Biases หรืออคติที่มีในใจเราบนวิกิพีเดียในการช่วยคิดอย่างสม่ำเสมอ แต่เขาก็รู้สึกว่ารายการบนวิกิพีเดียนั้นช่างดูยุ่งยากสับสนและมักจะทำให้เขาหาสิ่งที่ต้องการไม่เจอ เมื่อเขามีเวลาเหลือจากการลาเพื่อออกมาดูแลลูก เขาจึงพยายามแยกแยะอคติ 175 ชนิดบนวิกิพีเดียออกเป็นหมวดใหญ่และหมวดย่อยตามลักษณะเฉพาะของอคติชนิดนั้น ในบทความชื่อ Cognitive Bias Cheat Sheet
Benson แยกอคติตาม “ปัญหาใหญ่” ที่อธิบายว่าทำไมเราจึงมีอคติในใจ ดังนี้
ปัญหาข้อแรก: โลกนี้มีข้อมูลมากเกินไป ทำให้เราต้องมีตัวกรองไม่ให้เก็บข้อมูลทุกอย่างมาคิด สมองพยายามเลือกเฉพาะข้อมูลที่เราจะต้องใช้งานเท่านั้น ทำให้
- เราสังเกตสิ่งที่เห็นมาก่อนหน้า หรือเห็นซ้ำๆ ได้ง่ายกว่า นำมาซึ่งอคติเช่น Illusory Truth Effect (คิดว่าอะไรถูกต้องเมื่อได้ยินหรือได้เห็นซ้ำๆ), Cue-depending Forgetting (ลืมจนกว่าจะมีคนมาเตือนให้จำรายละเอียดบางอย่าง แล้วกลายเป็นจำเหตุการณ์ทั้งหมดได้)
- เราเห็นสิ่งที่แปลกประหลาด ตลก เด่น ได้ง่ายกว่า นำมาซึ่งอคติเช่น Humor Effect เราจำอะไรตลกๆ ได้ง่าย, Picture Superiority Effect (จำภาพง่ายกว่าจำคำ)
- เราสังเกตการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่า เช่น Focusing Effect (จำได้เฉพาะเหตุการณ์ย่อยๆ ทำให้ตัดสินเหตุการณ์ใหญ่หรืออนาคตผิด)
- เรามักเชื่อสิ่งที่ยืนยันความเชื่อเดิมของตน เช่น Confirmation Bias (การ์ตูนต้นบทความ)
- เรามักเห็นข้อบกพร่องของคนอื่นมากกว่าข้อบกพร่องของตนเอง (เช่นบทความนี้, Bias Blindspot หรือจุดบอดทางอคติ คือการเชื่อว่าคนอื่นมีอคติมากกว่าตนเอง มีการสำรวจครั้งหนึ่งพบว่าชาวอเมริกัน 85% คิดว่าตนมีอคติน้อยกว่าชาวอเมริกันโดยเฉลี่ย และมีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่คิดว่าตนมีอคติมากกว่า)
ปัญหาข้อที่สอง: “ความหมายน้อยเกินไป” เราจึงต้องพยายามสร้างความหมายให้กับเหตุการณ์ด้วยตนเอง ทำให้
- เราพบเรื่องและรูปแบบในข้อมูลที่ไม่เพียงพอ เช่น เรามักเชื่อว่าเรากำลัง “มือขึ้น” เวลาเล่นไพ่ (Gambler’s Fallacy) หรือเราอาจเห็นใบหน้าคนในวัตถุต่างๆ (Pareidolia)
- เราเติมส่วนที่ขาดหายด้วยการเหมารวม และประสบการณ์ เช่น ‘ทัวร์จีน’ หรือความเชื่อว่าชาติใดชาติหนึ่งต้องเป็นเช่นนั้น (Group Attribution Error) หรือยาหลอก (Placebo)
- เรามักจะคิดว่าสิ่งที่เราชอบหรือคุ้นเคยดีกว่าสิ่งที่เราไม่ชอบหรือไม่คุ้นเคย เช่นเราอาจคิดว่าวิธีที่เราเดินทางมาทำงานบ่อยๆ นั้นใช้เวลาสั้นที่สุด (Well travelled road effect)
- เรามักทำให้ความน่าจะเป็นและตัวเลขง่ายดายเกินไป เช่น Survivorship Bias ที่กล่าวถึงก่อนหน้า
- เราคิดว่าเรารู้ว่าคนอื่นคิดอะไร (ซึ่งเราไม่รู้ว่าคนอื่นไม่รู้อะไรด้วย ทำให้เกิด Curse of Knowledge คือการคิดว่าคนอื่นก็ต้องรู้สิ่งนี้ๆ นั้นๆ อยู่แล้ว ทำให้เวลาอธิบายกับใครเขาก็ไม่เคลียร์อย่างที่ควรเป็น) หรือ Spotlight Effect คือการคิดว่าคนอื่นสนใจเรา มากกว่าที่คนอื่นสนใจจริงๆ
- เราคิดว่าสิ่งที่เราเชื่อในปัจจุบัน นั้นจะเป็นจริงในอดีตและอนาคตด้วย เช่น Rosy Retrospection คือการคิดว่า “อดีตมักดีกว่าปัจจุบัน” แบบ “ตอนนั้นก็ดีเนอะ ตอนนี้ไม่ดีเลย” ซึ่งจริงๆ แล้วตัวเองในอดีต อาจจะไม่แฮปปี้ในตอนนั้นก็ได้ แต่พอมาปัจจุบันก็มีแค่ความแฮปปี้ที่หลงเหลืออยู่
ปัญหาข้อที่สาม: เราต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็วถึงแม้จะมีข้อมูลไม่ครบ ทำให้
- เรามั่นใจเกินไปกับการตัดสินใจ หรือความสามารถของเรา เช่น Dunning-Kruger Effect ที่มักจะถูกอ้างในคำตลกๆ ว่า “คนโง่จะโง่จนไม่รู้ว่าตัวเองโง่” หรือ Lake Wobegon Effect ที่หมายถึงการที่ทุกคนเชื่อว่า “ตัวเองดีกว่าคนที่เหลือ” เช่นจากการสำรวจนักเรียนม. ปลาย มีเพียง 2% เท่านั้นที่เชื่อว่าตนมีภาวะผู้นำน้อยกว่าค่าเฉลี่ย
- เรามักให้ค่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้ามากกว่าอดีตหรือสิ่งที่อยู่ไกล เช่น ภาวะชื่นชมของใหม่ หรือ Appeal to Novelty
- เรามักทำสิ่งที่ทำอยู่ให้จบเพราะเราได้ลงแรงกับสิ่งนั้นๆ ไปแล้ว เช่น Sunk cost Fallacy คือ “ไหนๆ ก็ทำไปแล้ว ทำให้เสร็จเถอะ” ถึงแม้จะรู้ว่าการ ‘ทำให้เสร็จ’ นั้นจะส่งผลลบทางด้านต่างๆ (เช่น การเงิน หรือแรงงาน) มากกว่าการทิ้งไว้ค้างคาไม่ต้องทำจนเสร็จก็ตาม หรือ IKEA Effect คือการที่เราให้ค่ากับสิ่งที่เราทำจนเสร็จเองมากกว่า เช่น เฟอร์นิเจอร์อิเกียที่ลูกค้าสร้างเองจะดูมีคุณค่าต่อจิตใจมากกว่าเฟอร์นิเจอร์ประกอบสำเร็จ
- เรามักคงสถานะในกลุ่มของตนเพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาด และมักเลือกทางที่ดูเสี่ยงน้อยที่สุด
- เรามักเลือกทางที่ดูง่ายหรือมีข้อมูลครบมากกว่าทางที่ดูยาก ซึ่งทำให้เรามักพิจารณาอะไรจากรายละเอียดเล็กๆ ที่อาจไม่จำเป็น แทนที่จะไปใช้เวลาพิจารณาข้อมูลใหญ่ๆ ที่ดูซับซ้อนกว่าด้วย เช่น Bike Shed Effect หรือ Law of Triviality คือการยกตัวอย่างคณะกรรมการสมมติชุดหนึ่งที่แทนที่จะพิจารณาแผนสร้างโรงงานนิวเคลียร์ให้ครบถ้วน คณะกรรมการนี้กลับใช้เวลาไปพิจารณารายละเอียดเล็กๆ อย่างเช่นจะสร้างโรงจอดจักรยานสำหรับพนักงานโรงงานด้วยวัสดุอะไรดี
ปัญหาข้อที่สี่: เราควรจดจำอะไร เพราะข้อมูลมีมากเกินไป เราจำทุกอย่างไม่ได้ เราต้องจำแค่สิ่งที่ิคิดว่าจะได้ใช้ประโยชน์เท่านั้น ทำให้
- เราตัดต่อความจริงและบิดเบือนความทรงจำหลังจากเหตุการณ์ผ่านไป เช่น Misattribution of memory คือการจำรายละเอียดได้ แต่จำแหล่งที่มาของเหตุการณ์นั้นๆ ไม่ได้ หรือการประดิษฐ์ความทรงจำปลอมๆ (False Memory) ขึ้นมาให้ตัวเองเชื่อ
- เราละทิ้งสิ่งเฉพาะเจาะจงไป แล้วจำเฉพาะคอนเซปท์บางอย่างเท่านั้น ทำให้เราอาจเหมารวมบางอย่างทั้งที่มันไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป
- เราลดทอนเหตุการณ์และรายการต่างๆ จนเหลือเพียงสิ่งที่เป็น ‘กุญแจหลัก’ เช่น Peak-end Rule คือเรามักจดจำเหตุการณ์เฉพาะตรงจุดที่เข้มข้นที่สุด (peak) และจุดจบ (end)
- เราเลือกจดจำเหตุการณ์แตกต่างกันตามประสบการณ์ต่อเหตุการณ์นั้นๆ คือเราจะจดจำเหตุการณ์ที่เราคิดว่า ‘สำคัญ’ ในตอนนั้นๆ แต่ปัจจัยต่างๆ อาจส่งผลทำให้เราตีความว่าอะไร ‘สำคัญ’ หรือไม่สำคัญแตกต่างกันเช่น Google Effect คือเราจะไม่จำอะไรที่เรารู้ว่ากูเกิ้ลได้ทีหลัง
หลังจากที่ Benson แยกแยะ Cognitive Biases ออกมาเป็นสี่ปัญหาหลักแบบนี้ ก็มีการนำลิสท์ของ Benson ไปทำเป็นโปสเตอร์เพื่อให้เข้าใจหรือแยกแยะง่ายขึ้นด้วย ลองไปดาวน์โหลดดู เผื่อจะได้เตือนถึงอคติ 175 แบบที่ฝังมากับสมองเรา
ทั้งหมดนี้คือเรื่องของอคติที่จริงๆ แล้วทุกคนมี แต่เรามักจะหลงลืม หรือคิดไปเองว่า ‘เราได้ใช้เหตุผลอย่างเต็มที่แล้ว’ การระลึกว่าเรามีอคติเหล่านี้อยู่ในตัว อาจทำให้เราตัดสินใจได้อย่างครบถ้วนและตรงจุดมากขึ้น แต่ส่ิ่งสำคัญก็คือเราอาจไม่ต้องไม่ลืมว่า ถึงแม้เราจะดูเหมือนรู้เท่าทันมันสักแค่ไหนและยิ่งเรามั่นใจในตัวเองมากเท่าไร จริงๆ แล้ว ก็เป็นช่วxงเวลาเหล่านั้นแหละ ที่อคติจะมาทำร้ายเราได้ง่ายที่สุด
อ้างอิง / อ่านเพิ่มเติม
หนังสือ The Art of Thinking Clearly
https://www.goodreads.com/book/show/16248196-the-art-of-thinking-clearly
This column will change your life: why Rolf Dobelli isn’t thinking clearly เป็นการเถียงคนเขียน Rolf Dobelli ถึงตรรกะบางประการที่เขาระบุไว้ในหนังสือ (เช่น ไม่ควรเสพข่าว) คนเขียนเถียงว่า Rolf บอกข่าวไม่สำคัญเพราะมันมักจะไปให้รายละเอียดกับเหตุการณ์ปลีกย่อยที่ไม่ใช่สารัตถะ (ไม่ Relevant) แต่คำถามคือการ Relevant นั้น Relevant กับใคร?
https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2013/may/04/oliver-burkeman-rolf-dobelli-clear-thinking
Cognitive Bias Cheat Sheet
https://betterhumans.coach.me/cognitive-bias-cheat-sheet-55a472476b18