“มันไม่ได้อยู่ที่ว่าจะเป็นเครื่องบินรุ่นไหน แต่มันอยู่ที่คนขับต่างหาก” กัปตัน พีท ‘มาเวอริค’ มิทเชล ไม่ได้ลอกประโยคนี้มาจากโดมินิค โทเรตโต แต่อย่างใด แต่ประโยคที่คล้ายคลึงกันนี้นำมาจากจากหนังสือ The Red Battle Flyer โดย มันเฟรท ฟ็อน ริชท์โฮเฟิน (Manfred Albrecht Freiherr von Richthofen) หรือที่รู้จักในนาม ‘เรดบารอน’ (Red Baron)
เรดบารอน คือเสืออากาศของจักรวรรดิเยอรมันเจ้าของสถิติที่ยิงเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรตกจากท้องฟ้ามากกว่า 80 ลำ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 เรดบารอนกล่าวเอาไว้ในหน้า 128 ของหนังสือ The Red Battle Flyer ว่า
“The quality of the box matters little. Success depends upon the man who sits in it.”
ภูมิปัญญาและจิตวิญญาณของเรดบารอน กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเทคนิคการต่อสู้ทางอากาศจนถึงปัจจุบัน และหนึ่งในนั้นถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในหลักสูตรของ ‘TOPGUN’
ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพยนตร์เรื่อง ‘Top Gun’ ที่ออกฉายภาคแรกในปี ค.ศ.1986 และภาคต่อมาในปี ค.ศ.2022 ได้สร้างชื่อเสียงอย่างก้าวกระโดดให้แก่หลักสูตร The United States Navy Strike Fighter Tactics Instructor program หรือที่รู้จักกันแพร่หลายในชื่อของ ‘TOPGUN’ ที่เปิดมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1969 หลักสูตรนี้สอนยุทธวิธีเทคนิคในการสู้รบ การจู่โจมของเครื่องบินรบแก่นักบินกองทัพเรือ และเจ้าหน้าที่การบินของกองทัพเรือที่ถูกคัดเลือก
U.S. DepartmentofDefense
‘TOPGUN’ เป็นหลักสูตรที่สอนทักษะการต่อสู้แบบ Dog fight แก่นักบินรุ่นใหม่ที่พึ่งพาขีปนาวุธ และเทคโนโลยีเป็นหลัก และความพยายามของพวกเขาได้พลิกกระแสของสงครามทางอากาศไปตลอดกาล
(Dog fight คือการรบระหว่างเครื่องบิน โดยมีลักษณะการต่อสู้ในระยะใกล้ที่สายตาของนักบินมองเห็น)
แต่ที่มาและจุดเริ่มต้นของมันอาจไม่ได้ดูสวยงามนักอย่างที่เราเข้าใจ ชื่อเสียงและต้นกำเนิดที่เริ่มจากลานจอดรถ มาสู่สิ่งตอกย้ำจิตวิญญาณของนักบินรบจนถึงปัจจุบัน ว่าถึงแม้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา จุดจบของนักบินรบอาจกำลังจะสูญพันธุ์ แต่การต่อสู้คลาสสิคแบบ Dog Fight ในสมัยสงครามโลกยังคงดำเนินต่อไป
“อาจจะเป็นแบบนั้นครับท่าน แต่ไม่ใช่วันนี้” กัปตัน พีท ‘มาเวอริค’ มิทเชล
ในช่วงเวลาสงครามเย็น ตั้งแต่ปี ค.ศ.1965 ถึง ค.ศ.1968 กองทัพสหรัฐอเมริกาได้เข้าร่วมปฏิบัติการโรลลิงธันเดอร์ (Operation Rolling Thunder) ปฏิบัติการที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำสงครามกับเวียดนามเหนือที่ปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ โดยสหรัฐอเมริกาสนับสนุนเวียดนามใต้ซึ่งปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย
โรลลิงธันเดอร์ คือการทิ้งระเบิดครั้งใหญ่ในประเทศเวียดนามตั้งแต่ช่วงมีนาคม ค.ศ.1965 – พฤศจิกายน ค.ศ.1968 เพื่อบีบบังคับให้เวียดนามเหนือยอมยุติการสนับสนุนคอมมิวนิสต์ในเวียดนามใต้
กองทัพเรือและกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาได้เริ่มปฏิบัติภารกิจนี้ โดยนำเครื่องบินไล่ทิ้งระเบิดแถบเวียดนามเหนือ เพื่อทำลายความสามารถทางทหารของพวกเขา แต่การป้องกันทางอากาศแบบดั้งเดิมของเวียดนามเหนือได้ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องกลับมาฉุกคิดอีกครั้งว่า พวกเขาประเมินความสามารถของฝ่ายตรงข้ามน้อยเกินไป
จากการสนับสนุนของสหภาพโซเวียตและจีน ทำให้พวกเขามีระบบป้องกันภาคพื้นที่น่ากลัว ไม่ว่าจะเป็นขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศ ปืนต่อต้านอากาศยาน หรือแม้แต่เครื่องบินขับไล่ไอพ่น แม้มันจะไม่ทันสมัยเท่ากับสหรัฐอเมริกา แต่สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความประหลาดใจและตื่นตระหนกให้กับสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก
เพราะปัญหาของสหรัฐอเมริกาในตอนนั้น นับตั้งแต่สงครามเกาหลีได้สิ้นสุดลง กองกำลังรบของสหรัฐฯ ได้ปรับปรุงหลักสูตรการฝึกฝนนักบิน โดยเน้นการฝึกสกัดกั้นเครื่องบินทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียตเป็นหลักเท่านั้น เพราะพวกเขามองว่ามันเป็นภัยคุกคามขนาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นได้มากที่สุดในยุคนั้น การรบคลาสสิคแบบ Dog fight ในยุคสงครามโลกที่ต้องใช้ความสามารถขีดสุดของนักบินก็ได้หดหายไปตามกาลเวลา จนกระทั่งพวกเขาต้องเจ็บปวดกับความสูญเสียในสงครามเวียดนามถึงฉุกคิดขึ้นได้ว่าการรบแบบนี้ยังไม่ได้จางหายไป
“ในช่วงสงครามเวียดนาม นักบินรบของกองทัพเรือ และลูกเรือเสียชีวิตด้วยอัตราที่น่าตกใจ กองทัพเรือสูญเสียเครื่องบินจำนวนมาก และที่สำคัญกว่านั้นคือ นักบินจำนวนมาก”
ดัสติน พีเวอริล อดีตทหารผ่านศึกและครูการบิน TOPGUN กล่าว
NAVY FIGHTER WEAPONS SCHOOL
นอกจากการด้อยทักษะการต่อสู้ระยะประชิดแล้วนั้น แม้จะมีความได้เปรียบทางเทคโนโลยี แต่กองทัพเรือก็ยังประสบความสูญเสียนักบิน และเครื่องบินมากมายจากหลักนิยมการรบที่เปลี่ยนไปในช่วงต้นทศวรรษที่ 60 เครื่องบินรบสหรัฐฯ ในยุคนั้นล้วนไม่ติดปืนกล และหวังพึ่งระบบอาวุธนำวิถีต่อสู้กลางอากาศอย่าง AIM-7 Sparrow และ AIM-9 Sidewinder ทำให้กลายเป็นปัญหาขนาดใหญ่ที่ไม่คาดถึงเมื่อต้องสู้รบในระยะประชิด และเมื่อมิสไซล์หมดไป ทำให้พวกเขาไม่เหลืออะไรนอกจากกลายเป็นเป้าบินกลางอากาศ
เรื่องราวนี้ทำให้เกิดการสอบสวนถึงความเลวร้ายที่เกิดขึ้น สุดท้ายแล้วกองทัพเรือได้มอบหมายให้กัปตันแฟรงค์ อัลท์ (Frank Ault) จัดทีมงานในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
กัปตันแฟรงค์ อัลท์ แห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ เขาเป็นนักบินทหารผ่านศึกในสงครามโลกครั้งที่ 2 และในระหว่างการปฏิบัติการรบที่เวียดนาม ปี ค.ศ.1966 – ค.ศ.1967 เขาได้บัญชาการเรือรบ USS Coral Sea อัลท์มีทั้งพรสวรรค์ในการเป็นผู้นำ และพรสวรรค์ในการเสาะแสวงหาการแก้ปัญหา
กัปตันแฟรงค์ อัลท์ ได้รวบรวมข้อมูลจนพบสถิติที่แย่จนน่าแปลกใจ นั่นคือนักบินของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่ได้บินเครื่องบินรบที่ทันสมัยที่สุดในโลกขณะนั้น นั่นคือ F-4 Phantom II และ F-8 Crusader ซึ่งขึ้นบินต่อกรกับศัตรูที่ค่อนข้างเก่ากว่าของกองทัพอากาศเวียดนามเหนืออย่าง MiG-17 MiG-19 และ MiG-21 มีอัตราส่วนการสังหารอยู่ที่ 2.5:1 เท่านั้น
อัตราส่วนนี้หมายถึงจำนวนเครื่องบินข้าศึกที่ถูกทำลายต่อนักบินฝ่ายสหรัฐที่สูญเสีย ซึ่งอัตราที่ 2.5:1 นั้นน่าใจหายมาก เพราะมันหมายถึงเราต้องสูญเสียนักบินไป 1 คนต่อเครื่องบินฝ่ายตรงข้ามตก 2.5 ลำ
ทำไมถึงน่าใจหาย?
เพราะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งจบลงไปเพียง 20 ปีก่อนสงครามทางอากาศในเวียดนามจะเริ่มต้นขึ้น อัตราส่วนการสังหารของเครื่องบินกองทัพสหรัฐฯ อยู่ที่ 14:1 ส่วนในสงครามเกาหลี มีอัตราการสังหารที่ 12:1
เห็นได้ชัดว่าแฟรงค์ อัลท์ต้องทำอะไรบางอย่าง
ทีมของอัลท์ใช้เวลา 3 เดือนในการรวบรวมข้อมูล จากนั้นจึงเผยแพร่รายงานตามด้วยเสนอคำแนะนำจำนวน 104 ข้อไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างหน่วยปฏิบัติการกองทัพเรือ จัดลำดับความรับผิดชอบในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ ดำเนินการศึกษาการควบคุมคุณภาพของการผลิต AIM-7 Sparrow และพัฒนาอุปกรณ์ทดสอบขีปนาวุธใหม่
ในรายงานของอัลท์ยังให้พิจารณาถึงความจำเป็นในการปรับปรุงการฝึกอบรมนักบินด้วย อัลท์เสนอแนะหลายข้อเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในการฝึกนักบินลูกเรือ หนึ่งในข้อแนะนำนั้น คือการสร้าง “โรงเรียนใช้อาวุธนักบินขั้นสูง” ด้วยเหตุนี้โรงเรียน TOPGUN จึงถือกำเนิดขึ้นมาในปี ค.ศ.1968 โดยกัปตันแฟรงค์ อัลท์
NAVY FIGHTER WEAPONS SCHOOL
การจัดตั้งโรงเรียน TOPGUN อัลท์อยากให้มันเป็นมากกว่าโรงเรียนที่ฝึกอบรมทั่วไป เขาอยากให้มันเป็นสถาบันการศึกษาสำหรับแบ่งปันประสบการณ์จากการรบจริง และพัฒนาหลักการรบและยุทธวิธีใหม่ตลอดเวลา ผู้สอนจะต้องเป็นบุคลากรที่มีประสบการณ์สูง นักเรียนที่มาเรียนจะต้องถูกดึงมาจากหน่วยบินรบที่มีประสบการณ์การบินมามากและมีฝีมืออยู่ในอันดับต้นๆ อัลท์หวังว่าความรู้และประสบการณ์ของนักเรียนที่จบกลับไปจะถูกย้อนกลับเข้าไปพัฒนาในหน่วยบินทุกหน่วย
แต่จุดเริ่มต้นของการสร้างโรงเรียน TOPGUN ไม่ได้ราบรื่น หลังจากได้รับอนุมัติให้สร้างโรงเรียนที่ Naval Air Station ในมิรามาร์ เขตทางตอนเหนือของเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย (ภายหลังย้ายไป Naval Air Station ฟอลลอน รัฐเนวาดา ในปีค.ศ.1996) แดน พีเดอร์เซน นักบิน Douglas F-4 Phantom II ผู้มากประสบการณ์ ได้รับมอบหมายให้เป็นนายทหารประจำหน่วยคนแรกของโรงเรียน เขาได้รับงบจำนวนน้อยกว่าที่คาดมาก รวมถึงเจ้าหน้าที่ และพนักงานประจำโรงเรียนก็น้อยเช่นกัน
“พวกเขาร่วมกันสร้างหลักสูตรและสร้างโรงเรียนโดยแทบไม่ได้รับการสนับสนุน”
โทมัส แมคเคลวีย์ คลีเวอร์ เขียนอธิบายความยากลำบากของการสร้างโรงเรียน TOPGUN ไว้ในหนังสือ The Tonkin Gulf Yacht Club
จากสถานที่ลานจอดรถใน Naval Air Station อันทรุดโทรม พีเดอร์เซนจะต้องปรับเปลี่ยนมันให้เป็นโรงเรียนที่พลิกโฉมหน้าการรบของสหรัฐอเมริกาไปตลอดกาล มันแทบมองดูเป็นไปไม่ได้เลยในทีแรก พีเดอร์เซนพบรถพ่วงชำรุดทรุดโทรมซึ่งดูเหมือนถูกทิ้งร้างมากมานบนลานจอด เขาต้องติดต่อรถเครนให้ย้ายพวกมันไปข้างๆ โรงเก็บเครื่องบิน เฟอร์นิเจอร์ที่ได้มาก็เป็นสภาพมือสองที่ทรุดโทรม พวกเขาต้องนั่งขัดรอยและทาสีใหม่ มันช่างห่างไกลจากความเย้ายวนใจในภาพยนตร์ที่เข้าฉายในอีกเกือบ 20 ปีข้างหน้ายิ่งนัก
แต่หลังจากที่มันเริ่มดูเป็นร่องเป็นรอย ในเดือนมีนาคม ค.ศ.1969 โรงเรียนก็ได้เริ่มเปิดรับนักเรียนรุ่นแรก ในช่วงแรกมีครูการบินเพียง 8 คน การฝึกสอนใช้เครื่องบินแบบ F-4 Phantom โดยก่อนที่จะได้รับอนุมัติเครื่องบินเพื่อใช้ฝึก พีเดอร์เซนต้องไปทำเรื่องยืมจากฝูงบินอื่นมาก่อนเนื่องจากความล่าช้า แต่เมื่อโรงเรียนขยายอย่างรวดเร็วเครื่องบิน F-8 Crusader ก็เข้ามาในโรงเรียน ตามด้วย F-14 Tomcat และในปัจจุบันคือ F-18 Hornet และที่กำลังเข้ามาล่าสุดคือ F-35
การฝึกนั้น ครูการบินจะบินจำลองเป็นข้าศึกที่ส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินขนาดเล็กและเบา (โดยเฉพาะเครื่องบินแบบ MiG-17 ของเวียดนามเหนือ) พวกเขาจะใช้เครื่องบิน A-4 Skyhawk บินให้เหมือนข้าศึกให้มากที่สุด ต่อมาก็มี F-5, A-6 Intruders, A-7 Corsair และ USAF F-106 Delta Darts เพื่อให้นักบินที่รับการฝึกได้รับประสบการณ์การรบกับเครื่องบินที่มีคุณลักษณะแตกต่างกันออกไป แม้แต่เครื่องบินของสหภาพโซเวียตบางลำที่หาได้มาก็ยังถูกใช้ขึ้นบินเพื่อทำการจำลองการต่อสู้
TOPGUN ที่ไม่ได้สำเร็จเพียงแค่ในภาพยนตร์ เพราะ 3 ปีหลังจากการเปิดตัวหลักสูตรอันเข้มข้น อัตราส่วนการสังหารของนักบินกองทัพเรือในสงครามเวียดนามก็เพิ่มขึ้นกระฉูดเป็น 13:1 โดยเฉพาะผู้ที่สำเร็จการศึกษาจาก TOPGUN นั้นล้วนได้คะแนนอันดับต้นๆ ในการสังหารเครื่องบิน MiG
“สำหรับท็อปกัน ผลลัพธ์อัตราส่วนการฆ่าในปี ค.ศ.1972 และต้นปี ค.ศ.1973 เรียกได้ว่าคือไอซิ่งบนเค้ก” แบรด เอลวาร์ด เขียนไว้ในหนังสือของเขาที่ขื่อว่า Top Gun: The Legacy
หลังสิ้นสุดสงครามเวียดนาม หลักสูตร TOPGUN ยังคงเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โรงเรียนได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่าโปรแกรม Strike Fighter Tactics Instructor ซึ่งเพิ่มการสอนยุทธวิธีทางอากาศสู่พื้นดินเข้าไปด้วย
“ผลกระทบของ TOPGUN ต่อกองทัพเรือนั้นยอดเยี่ยมมาก ในทีแรกจุดมุ่งหมายเพียงอย่างเดียวของโรงเรียนคือการฝึกนักบินเพื่อรบในยุทธวิธีการต่อสู้ทางอากาศเป็นหลัก เพื่อถ่ายทอดคำสอนเหล่านั้นไปยังกองทัพเรือและแก้ไขอัตราส่วนการสังหารที่น่าสยดสยองของF-4 ที่กองทัพเรือกำลังประสบในสงครามเวียดนาม แต่ TOPGUN ทำมากกว่านั้น มันกลายเป็นที่โด่งดังไปทั่วโลกในฐานะศูนย์กลางของความเป็นเลิศและเป็นบ้านของนักบินรบและนักยุทธวิธีที่เก่งที่สุดในโลก” แบรด เอลวาร์ด เขียนไว้ในหนังสือ Top Gun: The Legacy
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan