“รู้ป้ะ นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ชีวิตคนเราจะมีเพื่อนได้ 150 คนเว้ย”
ประโยคเปิดจากตัวอย่างหนังเรื่อง ‘เพื่อน(ไม่)สนิท’ ที่ตัวละคร ‘โจ (รับบทโดยจั๊มพ์—พิสิฐพล เอกพงศ์พิสิฐ)’ พูดกับตัวละคร ‘เป้ (รับบทโดยโทนี่—อันโทนี่ บุยเซอเรท์)’ ซึ่งเป็นเพื่อนใหม่คนที่ 150 ของเขา คำถามคือสิ่งที่โจพูดนั้นถูกไหม นักวิทยาศาสตร์ที่ว่านั่นมีอยู่จริงไหม เป็นใคร แล้วทำไมเราถึงจะมีเพื่อนได้แค่ 150 คน
อย่างแรก สิ่งที่โจได้ยินแล้วจำมานั้นมีอยู่จริง มีคนเสนอทฤษฎีไว้อย่างนั้นจริงๆ นั่นคือ โรบิน ดันบาร์ (Robin Dunbar) ติดตรงที่เขาไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์อย่างที่โจพูด แต่เป็นนักมานุษยวิทยาและนักจิตวิทยาวิวัฒนาการต่างหาก โดยโรบินได้เสนอในงานวิจัยเมื่อปี 1992 ใน Journal of Human Evolution ว่ามนุษย์แต่ละคนจะสามารถจัดการกลุ่มของตนได้ดีเมื่อกลุ่มของตนมีจำนวนไม่เกิน 150 คนเท่านั้น ข้อเสนอนี้โด่งดังมากในแวดวงวิชาการ จนถึงกับทำให้เลข 150 ถูกเรียกว่า ‘Dunbar’s Number’
แต่เลข 150 นี้มาจากไหน แน่นอนว่าโรบินไม่ได้ฝันขึ้นมามั่วๆ เขาเริ่มต้นจากสมมติฐานที่ว่าสิ่งมีชีวิตตระกูลไพรเมตหรือพวกวานรแต่ละชนิดนั้นมีสมองที่ใหญ่ไม่เท่ากัน และขนาดสมองนี้เองที่เป็นตัวกำหนดความสามารถในการรวมกลุ่มของสิ่งมีชีวิตชนิดนั้น เพราะการมีสมองใหญ่ส่งผลต่อความสามารถในการแก้ปัญหา อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และสร้างความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน สิ่งนี้เรียกว่า ‘Social brain hypothesis’
เพื่อทดสอบสมมติฐานนั้นโรบินได้เอาข้อมูลขนาดสมองของสิ่งมีชีวิตตระกูลไพรเมตมา 38 จำพวก ไม่รวมมนุษย์ แล้วมาหาความสัมพันธ์กับข้อมูลขนาดกลุ่มเฉลี่ยที่ไพรเมตจำพวกนั้น ลองสร้างสมการหลายๆ แบบกับตัวแปรต่างๆ กันไปมา จนพบว่าข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กับขนาดของกลุ่มมากที่สุดคืออัตราส่วนระหว่างปริมาตรของสมองส่วน Neocortex ต่อปริมาตรสมองส่วนที่เหลือหรือพูดง่ายๆ ว่า ยิ่ง Neocortex ใหญ่ ก็ยิ่งจะสร้างกลุ่มเพื่อนได้ใหญ่ขึ้น
เมื่อได้สมการคณิตศาสตร์ที่ว่าแล้ว โรบินก็จัดการเอาอัตราส่วนปริมาตร Neocortex ของมนุษย์ไปแทนลงในสมการเพื่อทำนายว่ามนุษย์คนหนึ่งจะมีกลุ่มความสัมพันธ์ได้ขนาดใหญ่เท่าไร และค่าที่ได้ก็คือ 150 กระบวนการนี้มีชื่อเรียกในทางสถิติว่าการประมาณค่านอกช่วงหรือ extrapolation
หลังจากนั้น โรบิน ดันบาร์และทีมก็ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง หนึ่งในชิ้นที่น่าสนใจที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2005 จำแนกคนในชีวิตเราออกเป็นกลุ่มๆ แน่นอนว่าเราคงไม่ได้สนิททุกคนในชีวิตเท่ากัน ต้องมีคนที่เราสนิทมากและสนิทน้อย และสิ่งที่พวกเขาค้นพบจากการทดลองและทำแบบสำรวจคือ ระดับความสนิทของคนในชีวิตเรานั้นไม่ได้ค่อยๆ ลดหลั่นกันลงไปอย่างเป็นลำดับ แต่เราแบ่งคนในชีวิตของเราออกเป็นลำดับขั้น โดยจำนวนคนในแต่ละขั้นก็จะสนิทพอๆ กัน ถัดจากนั้นระดับความสนิทก็จะลดฮวบลงไปอีกขั้นหนึ่งเลย โดยจำนวนของแต่ละขั้นนั้นเป็นไปตามกฎเลข 3 หรือ rule of three นั่นคือเราจะมีเพื่อนสนิทมากๆ อยู่ 3-5 คนที่ส่วนใหญ่อาจจะเป็นคนในครอบครัว กลุ่มถัดมาที่สนิทน้อยลงมาหน่อยจำนวน 9-15 คน และกลุ่มถัดมาจำนวน 30-45 คน เพิ่มขึ้นทีละ 3 เท่าไล่ไปเรื่อยๆ
นอกจากนั้นเขายังพบอีกว่าเลข 150 นี้นั้นสอดคล้องกับตัวเลขหลายตัว ไม่ว่าจะเป็นจำนวนสมาชิกเฉลี่ยของกลุ่มคนเร่ร่อน ขนาดของกองทัพในสมัยจักรวรรดิโรมัน สเปน มาจนถึงกองทัพโซเวียต ก็ล้วนแต่มีประมาณ 150 คนทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้จึงเหมือนจะเป็นเครื่องยืนยันให้ข้อสรุปของเขาน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น และทำให้มีคนเอาเลข 150 นี้ไปประยุกต์ใช้ในการบริหารองค์กร ธุรกิจ และอื่นๆ
มีคำถามเกิดขึ้นว่าในวันที่เรามีสังคมออนไลน์ที่ผู้คนน่าจะติดต่อและเป็นเพื่อนกันได้ง่ายขึ้น จะทำให้เรามีเพื่อนมากกว่า 150 คนได้ไหม แต่โรบินก็ยังยืนยันว่าเพื่อนส่วนใหญ่ในสังคมออนไลน์ที่ดูเหมือนจะเยอะของเรานั้นต่างเป็นแค่คนรู้จักที่ไม่ได้มีการปฏิสัมพันธ์กันจริงต่างหาก สุดท้ายมนุษย์ก็ยังจะสามารถจัดการความสัมพันธ์ที่เป็นความสัมพันธ์จริงๆ ได้จำกัดอยู่ที่ 150 คนเท่าเดิม
แน่นอน มีคนไม่เห็นด้วยกับตัวเลขนี้ เมื่อปี 2001 มีงานวิจัยที่ประมาณขนาดของกลุ่มสังคมจากข้อมูลที่พวกเขาสำรวจและพบว่าเลขที่ได้คือ 291 ซึ่งสูงกว่า 150 มาก นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยหลายชิ้นที่พยายามสร้างสมการซ้ำแบบที่โรบิน ดันบาร์ทำแต่กับข้อมูลชุดอื่น แล้วก็พบว่าได้ผลไม่ตรงกับข้อสรุปเดิม
ซึ่งหนึ่งในคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการทำวิจัยคือ แพทริก ลินเดนฟอร์ส (Patrik Lindenfors) นักวิชาการด้านสัตวนิเวศวิทยา เขาอธิบายโต้แย้งว่า สมองของไพรเมต (วานร) นั้นไม่ได้จัดการกับข้อมูลแบบเดียวกับที่สมองของมนุษย์ทำ ดังนั้นมันจึงผิดตั้งแต่ต้นที่พยายามจะสร้างสมการจากข้อมูลไพรเมตแล้วเอามาสรุปกับมนุษย์ เขาเชื่อว่าวิธีการสร้างความสัมพันธ์ของมนุษย์แต่ละคนนั้นไม่ได้ถูกกำหนดมาตายตัวจากสมอง แต่ขึ้นอยู่ปัจจัยภายนอกอย่างลักษณะนิสัยและวัฒนธรรมด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ทีมวิจัยของแพทริกยังโจมตีข้อสรุปของโรบินว่า ที่ได้ผลอย่างนั้นเพราะใช้ข้อมูลขนาดเล็กเกินไป
โดยกลุ่มของแพทริก ลินเดนฟอร์สได้ลองวิเคราะห์ข้อมูลชุดดังกล่าวอีกครั้งด้วยเทคนิคต่างๆ ทางสถิติสมัยใหม่แล้วพบว่า ข้อสรุปที่ได้ออกมาคนละทิศคนละทางกันหมด จนถึงขนาดที่เขาตั้งชื่อบทความที่ตีพิมพ์ในปี2019 ว่า Whatever you want: Inconsistent results are the rule, not the exception, in the study of primate brain evolution และในปี 2021 แพทริกก็ตีพิมพ์อีกงานวิจัยโดยใช้ข้อมูลชุดใหม่มาประกอบด้วย และผลที่ได้ออกมานั้นยังไม่สอดคล้องกับข้อสรุปของโรบินอยู่ดี เรียกได้ว่าจองล้างจองผลาญกันสุดๆ
คำถามคือ ถ้า 150 นั้นไม่ถูก แล้วขนาดกลุ่มของความสัมพันธ์สูงสุดที่มนุษย์สักคนจะสร้างได้คือเท่าไรกันแน่ หรือมันไม่เคยมีเลขนั้นอยู่จริงตั้งแต่แรก แน่นอนว่าสิ่งนี้ยังเป็นข้อถกเถียงและถูกศึกษากันอยู่ต่อไปไม่จบไม่สิ้น เหมือนกับคำถามอีกร้อยแปดอย่างในโลกนี้ นี่คือวิถีของโลกวิชาการ มีคนเสนอแนวคิด เดี๋ยวสักพักก็มีคนเสนออะไรมาหักล้าง ยันกันด้วยหลักฐาน และเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมาอยู่เสมอ
อ้างอิงจาก