ก่อนอื่นต้องบอกว่า ความสำเร็จของ ‘Parasite’ บนเวทีออสการ์ไม่ใช่เรื่องของโชคและจังหวะ
แต่เป็นดอกผลของความพยายามทำงานอย่างหนักมาตลอด 20 ปีของทั้งอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลี ใช่ครับ นี่ไม่ใช่แค่ความสำเร็จของผู้กำกับ บองจุนโฮ (Bong Joon-ho) หรือทีมงานภาพยนตร์เรื่องนี้เท่านั้น แต่เป็นความสำเร็จของทั้งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเขาด้วย ที่เริ่มลงหลักปักฐานตามนโยบายยกระดับอุตสาหกรรมให้สู่เป้าหมายสร้างภาพยนตร์ในมาตรฐานสากล (หรือฮอลลีวูด) มองภาพยนตร์เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมส่งออกที่สร้างมูลค่ามหาศาลให้แก่ประเทศ
ภาพยนตร์ที่นำพาทั้งคนและเรื่องราวของเกาหลีให้โลกได้รู้จัก เข้าใจ และจดจำ
และรากฐานสำคัญสุดของภาพยนตร์ก็คือ ‘บทภาพยนตร์’
บทภาพยนตร์ Parasite เขียนโดย บองจุนโฮ และ ฮันจินวอน (Han Jin–won) เป็นบทภาพยนตร์จากภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเพียงไม่กี่เรื่องที่ได้รางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม เป็นหนังเรื่องแรกจากเอเชียที่ได้รางวัลนี้
“งานเขียนบทเป็นงานที่โดดเดี่ยว ผมไม่เคยคิดจะเขียนเรื่องนี้เพื่อให้มันเป็นภาพแทนประเทศของผม (หมายถึงประเด็นในหนังที่บองเคยให้สัมภาษณ์ในสื่อ Variety ว่ามันแทนประเด็นการชนกันระหว่างชนชั้นในสังคมทั่วโลกได้) แต่รางวัลนี้ (บองหมายถึงรางวัลออสการ์ที่เขาถือในมือ) เป็นสิ่งที่พิเศษมากๆ สำหรับวงการหนังเกาหลี”
คำพูดหลังได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของบองจุงโฮ บอกอะไรเราได้หลายอย่าง
ประการแรก การชนะรางวัลบทภาพยนตร์ที่มีผู้เข้าชิงอย่าง Knives Out, Marriage Story, 1917, และ Once Upon a Time in Hollywood ถือว่าไม่ธรรมดา โดยเฉพาะการเอาชนะเรื่องหลังสุด ผลงานเขียนบท-กำกับของเควนติน ทารันติโน่ (Quentin Tarantino) ที่เล่าเรื่องส่วนตัวของวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดปลายทศวรรษ 60 ที่น่าจะเอาใจกรรมการออสการ์สุดๆ กลับต้องพ่ายแพ้ให้แก่บทภาพยนตร์เรื่อง Parasite ที่เลือกเล่าเรื่องประเด็นระหว่างชนชั้น โลกของคนรวย-คนจนในเกาหลีใต้ ที่เป็นประเด็นจับต้องได้ทั่วโลก ยุคสมัยที่ช่องว่างระหว่างคนรวย-จนห่างกันล้ำเหลือเกินยากจะต่อกันติด กลายเป็นฝ่ายหนึ่งกดขี่อีกฝ่ายจนแทบไม่มีโอกาสโงหัวมีชีวิตที่ดีขึ้นได้เลย
ประการที่สอง วงการภาพยนตร์เกาหลีใต้ไม่ได้เน้นแค่การพัฒนาอุตสาหกรรมในเชิงเทคนิค หรืองานด้านโปรดักชั่นที่รับเอาโปรดักชั่นใหญ่ๆ จากฮอลลีวูดเข้าไปทำอย่างภาพยนตร์ชุด Avengers หรือสร้างภาพยนตร์ที่มีมาตรฐานงานสร้างทัดเทียมฮอลลีวูดเท่านั้น แต่ยังเน้นที่การพัฒนาศักยภาพบุคลากร สนับสนุนให้ผู้กำกับ-คนเขียนบทที่มีฝีไม้ลายมือได้ทำภาพยนตร์ที่หลากหลายและต่อเนื่อง ความต่อเนื่องตลอด 10 ปีนี้แหละที่ทำให้คนทำหนังเกาหลีใต้ก้าวข้ามผ่านกำแพงภาษา และคว้าโอกาสในการทำงานต่างประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมฮอลลีวูดต่อยอดจากยุคผู้กำกับฮ่องกงในสองทศวรรษก่อนได้อย่างเต็มภาคภูมิ
ประการที่สาม หัวใจของบทภาพยนตร์คือการเล่าเรื่อง สุดท้ายแล้วเรื่องเล่าและกลวิธีในการเล่าคือพื้นฐานสำคัญสุดในการทำบทภาพยนตร์ทุกๆ เรื่อง บองจุนโฮ สนใจในประเด็นสังคม หยิบจับมาเล่าด้วยกลวิธีทางภาพยนตร์ที่ผู้ชมเข้าใจง่าย ใช้ภาษาภาพยนตร์แบบฮอลลีวูด ผสมผสานอารมณ์ขันตลกร้ายส่วนตัวเข้าไป ทำให้ Parasite เป็นภาพยนตร์ที่เข้าใกล้คำว่า ‘สมบูรณ์แบบ’ ที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่วงการภาพยนตร์เกาหลีใต้เคยมีมา เพราะมันสมบูรณ์ตั้งแต่บท ตัวละครทุกตัวมีมิติ ไม่มีผู้ร้าย ไม่มีพระเอก ทุกคนมีเหตุและผลของการกระทำเป็นของตัวเอง คนดูเข้าใจตัวละครอย่างมนุษย์คนหนึ่ง
Parasite ไม่ใช่เรื่องแรกที่ออสการ์เลือกก้าวข้ามผ่านกรอบเกณฑ์เดิมๆ ของตัวเอง
การได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของ ‘Jojo Rabbit’ เขียน-กำกับโดย ไทกา ไวติติ (Taika Waititi) เป็นหนึ่งในความกล้าหาญที่ควรถูกเอ่ยถึง
บทภาพยนตร์เรื่อง Jojo Rabbit ดัดแปลงจากหนังสือชื่อ Caging Skies ของ คริสติน ลูเน็นส์ (Christine Leunens) เล่าเรื่องเด็กชายชาวเยอรมันชื่อ โจโจ้ ผู้อาศัยอยู่กับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวในบ้านหลังเล็กๆ โจโจ้เป็นยุวชนนาซี มีเพื่อนในจินตนาการเป็นฮิตเลอร์เวอร์ชั่นบ้าๆ บวมๆ และร้ายสุดคือโจโจ้มาพบเอาในภายหลังว่า แม่ของเขาได้แอบซ่อนตัวเด็กสาวชาวยิว (ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารนาซีกวาดต้อนยิวทุกคนเข้าค่ายกักกัน) เอาไว้ในบ้านมาตลอด! โจโจ้ค่อยๆ เรียนรู้ว่าแม่เขาเกลียดนาซีเข้าไส้ และความเกลียดชังยิวในตัวโจโจ้เองก็ค่อยๆ มลายหายไป เมื่อได้คลุกคลีสนิทสนมกับเด็กสาวชาวยิวจนเป็นเพื่อนรักกันขึ้นมาจริงๆ
หนังหยิบประเด็นความโหดร้ายของสงครามมาเล่าผ่านมุมมองเด็กๆ ได้น่ารักน่าชัง ด้วยลีลาการเล่าเรื่องแบบตลกร้าย ในบรรดาบทดัดแปลง หนังเรื่องนี้ถือว่ามีสีสันและท้าทายมากที่สุดเรื่องหนึ่งในบรรดาผู้เข้าชิง ปาดหน้าตัวเก็งอย่าง Little Women ไปได้อย่างน่าทึ่ง นั่นเพราะหัวใจของหนังไม่ได้หยุดอยู่แค่สงครามโลกครั้งที่ 2 หรือฮิตเลอร์ แต่มันกำลังพูดถึงเด็กที่ต้องโตมาในโลกอันบิดเบี้ยว โลกที่พวกเขาต้องการผู้ใหญ่คอยปลูกฝังความคิดที่ถูกต้อง Jojo Rabbit กลายเป็นหนังที่เป็นการเมืองยิ่งกว่าหนังที่พูดเรื่องการเมืองอย่าง The Two Popes หรือ The Irishman เสียอีก
เป็นการเมืองของคนรุ่นใหม่ คนที่พร้อมจะเย้ยหยันให้แก่ความคร่ำครึตามจารีตประวัติศาสตร์แบบเก่า มองข้ามความเกลียดชัง แล้วหันมาทำความเข้าใจกันจริงๆ
คำถามสุดท้ายเท่าที่ผู้เขียนพบเจอคือ ทำไม ‘1917’ ถึงได้ชิงบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม
“หนังไม่มีอะไรเลย”
“ตัดต่อกับถ่ายช่วยไว้ตั้งเยอะ บทไม่มีอะไรใหม่”
คำตอบของคำถามนี้จะช่วยตอบข้อสงสัยในทั้ง 2 เรื่องข้างต้นด้วยว่าทำไมทั้ง Parasite และ Jojo Rabbit ถึงได้รับรางวัล เพราะเกณฑ์การพิจารณ์ ‘บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม’ ทั้งในสาขาบทดั้งเดิมและบทดัดแปลงตามระเบียบของออสการ์ หรือชื่อเต็มมันคือรางวัล Academy Awards จัดโดยสมาคม Academy of Motion Picture Arts and Sciences (AMPAS) เป็นรางวัลสำหรับบุคลากรและภาพยนตร์ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูดมาแต่ดั้งเดิม ทว่ากฎเกณฑ์ใหม่ในช่วงยุคหลังได้เปิดรับภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ ให้สามารถเข้าชิงในสาขาอื่นๆ ได้เฉกเช่นเดียวกับภาพยนตร์สัญชาติอเมริกันแท้
Parasite ได้เข้าชิง 6 รางวัลสำคัญ และกวาดไปได้ถึง 4 รางวัลใหญ่ ได้แก่บทดั้งเดิมยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม อันเป็นรางวัลใหญ่สุด
สาขาที่ผู้เขียนมองว่า ‘เซอร์ไพรส์สุด’ เห็นจะหนีไม่พ้นบทและภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะบท อย่างที่ได้กล่าวข้างต้น ผู้เขียนขออธิบายเกณฑ์การพิจารณารางวัลนี้ซักเล็กน้อย โดยปกติแล้วผู้เข้าชิงสาขาบทภาพยนตร์ ทางค่ายผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ จะต้อง ‘ส่งบท’ ตัวที่ใช้ในการถ่ายทำให้คณะกรรมการของสมาคมประกอบการพิจารณา
เมื่อผ่านการอ่านและโหวตเลือกในรอบแรกแล้ว ก็จะคัดเหลือ 5 เรื่องสุดท้ายในทั้งสาขาบทดั้งเดิมและดัดแปลง ก่อนจะเปิดให้สมาชิกทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยผู้กำกับ, นักแสดง และทีมงานซึ่งสังกัดอยู่ในสมาคมวิชาชีพต่างๆ ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูด ไปจนถึงบุคลากรภาพยนตร์ต่างประเทศที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก (คนไทยก็มีอาทิ คุณเจ้ย อภิชาตพงศ์, คุณลี ชาตะเมธีกุล, คุณสยุมภู มุกดีพร้อม และคุณสุทธิรัตน์ ลาลาภ) ซึ่งผู้มีสิทธิโหวตในเคสหลังนี้ จะต้องได้รับเทียบเชิญจากสมาคมโดยตรงเท่านั้น
บทภาพยนตร์ที่ผ่านการพิจารณาเท่าที่ผู้เขียนได้อ่านตัวบทจริงๆ มา ในกรณีของ 1917 นั้นมีความน่าสนใจตรงที่ถ้าหากเทียบกันเรื่องอื่นๆ แล้วจะเห็นบทเรื่องนี้ ไม่ได้ขับเน้นตัวละครและประเด็นหนักมือเท่า แต่กลับเป็นบทที่ถูกเขียนโดยออกแบบเพื่อให้เอื้อต่อการถ่ายทำ – ในแบบที่เราได้ดูกันบนโรง นั่นคือหนังทั้งเรื่องเป็น one shot (ช็อตเดียว) ต่อเนื่องกันไม่สะดุดเลยตั้งแต่ต้นจนจบ
บทภาพยนตร์เรื่อง 1917 เขียนโดย แซม เมนเดส (Sam Mendes) และ คริสตี้ วิลสัน-แคร์น (Krysty Wilson-Cairns) ออกแบบโดยร้อยเรียงฉากต่อฉากเชื่อมต่อกันแนบสนิท และบรรยายบรรยากาศในฉากเพื่อบอกสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ขณะที่บทพูดถูกเขียนขึ้นโดยไม่ได้มีท่าทีนำพาเรื่องมากเท่าแอคชั่นของตัวละครที่ดำเนินไป แต่ถูกออกแบบเพื่อให้แต่ละประโยค บอกเล่าความรู้สึกนึกคิด โดยเฉพาะ ‘ความกลัว’ ของตัวละครและข้อมูลพื้นฐานว่าใครเป็นใคร ภายในระยะเวลาเฉพาะหน้าจำกัด
1917 ในเชิงบทภาพยนตร์นับเป็นความท้าทายอย่างมากไม่แพ้งานสร้าง เพราะผู้เขียนต้องเล่าตัวละครนับสิบตัวที่ตัวละครเอกเดินทางไปเจอ โดยไม่มีแฟลชแบค (ฉากเล่าย้อนไปในอดีต) ไม่มีชุดข้อมูลก่อนหน้าที่ผู้ชมจะรู้จักและเอาใจช่วยตัวเอกได้ก่อนเข้าสู่เรื่อง คนดูจำเป็นจะต้องอาศัยข้อมูลยิบย่อยตามรายทางเท่าที่ผู้เขียนได้คอยโปรยเอาไว้ เพื่อให้เราปะติดปะต่อ จนกระทั่งร่วมเป็นส่วนหนึ่งไปในการเดินทางสู่แนวหน้าในการรบครั้งนี้
อีกประการหนึ่งที่บทภาพยนตร์ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมคือการออกแบบการถ่ายทำ การเชื่อมระหว่างฉากต่อฉาก (transition) ที่ทำให้คนดูรู้สึกว่าหนังเดินหน้าต่อเนื่องด้วยช็อตเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ ปรากฏตั้งแต่ในบทภาพยนตร์แล้ว เรียกได้ว่าถูกต้องตามตำราการสร้างหนังที่ทุกอย่างถูกออกแบบไว้ในบทภาพยนตร์แล้วปรับเสริมเพิ่มต่อยอดขึ้นอีกทีเมื่อเข้าสู่กระบวนการโปรดักชั่น (การถ่ายทำจริง)
บทภาพยนตร์ที่เข้าชิงส่วนหนึ่ง จึงถูกพิจารณาในเงื่อนไขว่า
มันเป็น ‘รากฐาน’ ที่ดีพอสำหรับการสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมาหรือไม่
มันได้นำเสนอเทคนิคการเล่าเรื่องใหม่ๆ (ผ่านการเขียนบท) มากน้อยอย่างไร บทภาพยนตร์ในอดีตอย่าง ‘Pulp Fiction’ ที่ได้รับรางวัลออสการ์ จึงเป็นบทภาพยนตร์ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเสมอๆ ในฐานะการทำลายรูปแบบการเล่าเรื่องตามจารีต ภาพยนตร์ไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่องเป็น 3 องค์ ต้น กลาง จบ อีกต่อไป เราเลือกจะหยิบส่วนไหนมาเล่าก่อนหรือหลังก็ได้
สำคัญอยู่ที่เรากำลังจะเล่าอะไรอยู่
บทภาพยนตร์จึงเป็นองคาพยพสำคัญที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่แข็งแรงนั้นต่างใส่ใจและให้ความสำคัญมากเป็นลำดับต้นๆ มันคือกระดูกที่สามารถตัดสินชะตากรรมของคนอีกร้อยชีวิตได้ มันถูกใช้เพื่อประเมินโปรดักชั่น ทุนในการสร้าง ดึงดูดดารานักแสดง และหากมีประเด็นที่ดี บทหนังดีๆ สามารถทำให้เรื่องดีๆ พูดถึงบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวหนังเอง พูดถึงการเมือง สังคม พูดถึงโลกใบนี้ที่เปลี่ยนแปลงทุกขณะไม่เคยหยุดนิ่ง
Parasite – Jojo Rabbit – 1917 รวมทั้งภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ในปีนี้ที่เข้าชิงบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมทั้งสองสาขา ได้แก่ Ford v Ferrari, Once Upon a Time in Hollywood, The Irishman, Joker, The Two Popes, Little Women และ Knives Out ได้พิสูจน์ให้เราเห็นอีกครั้งหนึ่งว่า
ภาพยนตร์ = พลังของการเล่าเรื่อง (และเรื่องเล่าชั้นดี) อย่างแท้จริง