ต้องเป็นคนแบบใด จึงเหมาะควรที่จะมีเรื่องเล่าเป็นของตัวเอง?
ที่ผ่านมา เรามักเห็นการถกเถียงเรื่องความชอบธรรมของตัวละครมากมาย อาจเป็นการตั้งคำถามต่อพล็อตเรื่องของโร้ดมูฟวี่อำลาแฟนเก่าก่อนจะจบชีวิตของ One for the road นั้นท็อกซิคหรือเปล่า? หรือ Doctor Strange in the Multiverse of Madness ออกมา ที่ปลุกการวิจารณ์การกระทำของตัวละครวานด้าตั้งแต่ในซีรี่ส์ Wandavision ว่าการจองจำคนบริสุทธิ์ไว้ในเมืองเล็กๆ เพราะความเศร้าโศกของตัวเองนั้นชอบธรรมขนาดไหน? ความเห็นที่ตามมานั้นมีหลายทิศทางและแตกต่างกันทั้งสิ้น
ต่างจากในอดีตเราเห็นการวิจารณ์ภาพยนตร์และซีรีส์เกิดขึ้นบ่อยขึ้น โดยเฉพาะเมื่อคนวิจารณ์ไม่จำเป็นต้องขึ้นต่อหัวนิตยสาร เว็บไซต์ หรือหนังสือพิมพ์ฉบับใดอีกต่อไป เพราะโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ให้เราสามารถเป็นแสดงความเห็นและข้อวิจารณ์ต่องานศิลปะรูปแบบใดๆ ก็ได้ทั้งนั้น อีกสิ่งที่โซเชียลมีเดียให้กับเราคือพื้นที่การถกเถียงเกี่ยวกับคำวิจารณ์เหล่านั้น และหนึ่งในเรื่องที่เห็นการเถียงกันบ่อยที่สุดน่าจะเป็นความ ‘บ้ง’ ของตัวละครและการเขียนบท
แต่ตัวละครบ้งนั้นจำเป็นหรือเปล่าที่จะแปลออกมาได้ว่าบทหนังเรื่องนั้นบ้ง? เราอยากชวนทุกคนมาคุยเรื่องนี้กัน
ทำความรู้จักกับ Character Flaws
Character flaws หรือความบกพร่องในตัวละคร เป็นเครื่องมือการเล่าเรื่องที่ใส่ลักษณะแง่ลบให้กับตัวละครเพื่อให้ผู้ชมจับต้องตัวละครนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น ความเห็นแก่ตัว ความฉุนเฉียว ความขี้ขลาด ความไม่เชื่อใจ ฯลฯ โดยผู้สร้างสามารถสร้างเส้นเรื่องให้ตัวละครเหล่านั้นแก้ไขปมส่วนตัวเหล่านั้นได้ หรือให้ปมนั้นใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อพัฒนาการตัวละคร (Character development)
โดยการที่ผู้ชมจะเชื่อมต่อกับเหตุการณ์ในหนังผ่านตัวละคร ตัวละครที่เราจะเชื่อมต่อได้มากที่สุดก็คือตัวละครที่ใกล้เคียงกับตัวผู้ชมมากที่สุด ซึ่งความใกล้เคียงนี้มักเกิดขึ้นในตัวละครที่เป็นมนุษย์ที่สุด และเป็นมนุษย์ไม่เพอร์เฟกต์ เพราะแต่ละคนมีข้อดีข้อด้อยในตัวเอง นี่คือเหตุผลที่ผู้สร้างภาพยนตร์มักให้ตัวละครมีข้อบกพร่อง
ข้อถกเถียงมักเกิดขึ้นเมื่อตัวละครมีข้อบกพร่องที่สมจริงแต่ ‘เป็นปัญหา’ (หรือ ‘problematic’ อย่างที่เรียกกัน) เช่น ตัวละครที่มีความชายเป็นใหญ่สุดๆ หรือโลภและเอาเปรียบคนอื่นตลอดเวลา ซึ่งหากมองแล้ว ข้อบกพร่องเหล่านี้อาจไม่ได้เกินความจริงเกินไปเลย แต่สิ่งต่อมาคือการสำรวจว่าบทนั้นมีความละเอียดอ่อนในการถ่ายทอดมันออกมาว่ามันคือตัวละครที่มีข้อบกพร่องเหล่านี้ ไม่ใช่ตัวบทที่มีความบกพร่อง
ตัวเอก ≠ คนดี
ในหนังทริลเลอร์ขำขื่นเรื่อง American Psycho ตัวละครเอกแพทริก เบตแมน เป็นนักธุรกิจวอลล์สตรีทในเวลากลางวัน และฆาตกรต่อเนื่องในตอนกลางคืน เขาเหยียดเพศ เชื้อชาติ และชนชั้น เหมือนกับว่าเราดูหนังสยองขวัญประเภทหนังเชือด (Slasher) แต่เล่ามันผ่านมุมมองของตัวฆาตกร และฆาตกรคนนั้นบังเอิญเป็นพวกยัปปี้ทุนนิยมสุดโต่งไปด้วย
เรายกหนังเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะมันเป็นตัวอย่างที่สุดทางของคอนเซปต์ที่ว่าพระเอกของเรื่องไม่จำเป็นต้องเป็นคนดี เราอาจเรียกเบตแมนว่าเป็นคนที่ไม่มีเศษเสี้ยวของความดีอยู่ในตัวเลยแม้แต่นิดเดียวไม่ว่าจะมองในมุมไหน แต่นั่นแปลว่าบทของหนังเรื่องนี้บ้งหรือเปล่า?
“ฉันคิดว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังเฟมินิสต์ มันเป็นงานที่เสียดสีการแข่งขันกันของผู้ชาย” เกวนเนเวียร์ เทินเนอร์ (Guinevere Turner) ผู้เขียนบท American Psycho กล่าวเกี่ยวกับคำวิจารณ์ว่าหนังเรื่องนี้เป็นชิ้นงานที่กดผู้หญิงหรือไม่ ส่วนแมรี่ แฮรอน (Mary Harron) ผู้กำกับกล่าวตอบคำถามเดียวกันนั้นกับอีกแมกกาซีนว่า “American Psycho เป็นงานทีเสียดสีความเป็นชาย คือการล้อเลียน มันเคยถูกเรียกว่าหนังเหยียดเพศแต่สำหรับฉันมันคือการโจมตีการเหยียดเพศและอีโก้เพศชายเสมอมา”
แฮรอนเรียก American Psycho ว่าเป็นหนังตลกขำขื่น (Dark Comedy) และในมุมหนึ่งเราสามารถเข้าใจได้ว่าทำไมเธอมองมันเป็นอย่างนั้น การที่คนคนหนึ่งจะฆ่าคนด้วยสาเหตุเพราะผู้คนมองว่านามบัตรของเขาสวยกว่าของตัวเอง หรือเพราะเขาเป็นคนเดียวในบทที่จองร้านอาหารสุดหรูได้ในเวลาสองทุ่มดูเป็นเรื่องน่าขัน แต่ในขณะเดียวกันมันคือการวิพากษ์วิจารณ์สังคมนักธุรกิจยุค 80s ที่ให้ความสำคัญต่อวัตถุ ต่อสถานะทางสังคม และการบริโภคมากกว่าชีวิตมนุษย์
แปลว่าตัวละครเอกนิสัยยอดแย่อย่างเบตแมนนั้นก็สามารถเป็นเครื่องมือการเล่าเรื่องได้ และเรื่องที่เล่าออกมานั้นมีแมสเสจที่วางตั้งอยู่ตรงข้ามกับตัวละครตัวนี้โดยสิ้นเชิง
การสร้างตัวละครสีเทาต้องมาพร้อมจุดยืนที่ชัดเจน
ในมุมองของแต่ละคน ภาพยนตร์อาจมีความหมายต่างกัน มันอาจเป็นสื่อบันเทิงที่เอาไว้คลายเครียด เป็นเสียงที่เปิดทิ้งไว้ไม่ให้ห้องเงียบเกินไป หรือเป็นงานศิลปะที่มีความหมายลึกซึ้ง แต่ที่แน่ๆ สิ่งที่ภาพยนตร์เป็นอย่างเถียงไม่ได้เลยคือมันเป็นสื่อชนิดหนึ่ง และในปัจจุบันที่ผู้ชมมีความตื่นรู้เรื่องอิทธิพลของสื่อต่อมนุษย์ ดังนั้นนอกจากภาพยนตร์ที่สนุกน่าติดตามแล้ว ผู้ชมคาดหวังความรับผิดชอบต่อสังคมจากผู้เขียนบทและผู้กำกับในฐานะผู้ผลิตสื่ออีกด้วย
ภาพยนตร์มีส่วนปลูกฝังภาพจำและค่านิยมหลายๆ อย่างให้แก่ผู้ชมมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาพจำของผู้ชายที่แข็งแรงจากเหล่าตัวเอกหนังแอ็กชั่นยุคก่อน หรือจะเป็นการสร้างภาพจำให้คนที่เป็น LGBTQ+ เป็นคนตลก ไปจนภาพชินตาอย่างการล่วงละเมิดทางเพศในละครไทยที่วางภาพมันในเชิงขำขันหยอกล้อ หรืออาจจะเป็นหนทางไปสู่ความรัก ดูเป็นเรื่องที่มีการพูดกันเป็นสิบๆ ปีแล้วแต่หากลองเปิดดูรายการโทรทัศน์ไทยสักเดือนจะรู้ว่าเรื่องแบบนี้ไม่เคยลาจอไปไหนเลย และในเคสเช่นนั้น เราอาจเรียกได้เต็มปากว่าทั้งตัวละครและบทหนังหรือละครเรื่องนั้นบ้งและสร้างภาพจำที่เป็นภัย
ดังนั้นแล้ว การมีตัวละครที่มีนิสัยไม่เมกเซนส์ บ้ง หรือไม่เข้าใจประเด็นปัญหาสังคม อาจไม่ใช่เรื่องแปลกในการมีตัวตนในโลกภาพยนตร์ แต่ท้ายที่สุดคือจุดยืนของบทภาพยนตร์ที่จะเป็นตัวชี้ว่าหนังเรื่องนี้ต้องการสื่อสารอะไรที่เป็นข้อความสำคัญกับสังคมหรือเปล่า
แน่นอนว่าไม่ใช่หนังทุกเรื่องจะจบแบบมีหน้ากระดาษเขียนว่า ‘เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…’ เพื่อบอกความตั้งใจของผู้ทำ ในมุมมองของผู้ทำหนัง หนึ่งในบทเรียนที่มักถูกสอนมาคือการเขียนแมสเสจใส่หนังที่ดีนั้นควรจะ ‘เนียน’ และไม่ยัดเยียดแก่ผู้ชม ไม่เช่นนั้นหนังจะดูไม่ธรรมชาติ และบทที่ดีจะเล่าเรื่องในตัวของมันเอง แต่เมื่อผู้ชมและสังคมเรียกร้องความชัดแล้ว การสร้างงานศิลปะปัจจุบันต้องชั่งความเนียนเหล่านี้เข้ากับความชัดเจนให้ได้
ซึ่งความชัดเจนเหล่านี้ต้องอยู่ในทุกขั้นตอนการผลิต จากเราถามว่าบทนี้เป็นธรรมชาติหรือยัง เราอาจต้องถามเพิ่มว่าสุดท้ายแล้วมันกดทับใครหรือไม่? ช็อตนี้สวยแล้ว แต่มัน Male gaze ไปหรือเปล่า? เราพูดเรื่องนี้แล้ว แต่เราเข้าใจมันมากพอและรอบด้านพอแล้วหรือยัง? ฯลฯ
ท้ายที่สุดก็คือการตีความและวิจารณญาณ
ในขณะที่เรามองว่าไม่มีการตีความแบบไหนเป็นการตีความที่ผิด แต่เราเชื่อว่าการตีความและการนำสิ่งที่ได้จากการตีความนั้นไปปรับใช้ในทางที่เป็นภัยนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ เราพูดถึง American Psycho ไปแล้วว่ามันคือหนังที่ผู้กำกับและผู้เขียนบทตั้งใจให้เป็นการเสียดสี toxic masculinity และไลฟ์สไตล์บริโภคนิยมสุดขั้ว แต่ 20 ปีต่อมาเราก็ยังเห็นคอนเทนต์เช่น วิเคราะห์รูทีนสกินแคร์ยามเช้าของเบตแมน หรือแต่งห้องยังไงให้เหมือนเบตแมน
เรายกประเด็นนี้ขึ้นมาเพื่อสื่อสารว่า ไม่ว่าความตั้งใจของผู้กำกับและผู้เขียนบทเป็นยังไง สุดท้ายขั้นตอนการสื่อสารนั้นไม่ได้มีแค่ผู้ส่งสารอย่างเดียว แต่ในสมการการสื่อสารนั้นมีผู้รับสารด้วย และหน้าที่การแปลสารที่ผู้ส่งสารส่งให้นั้นเป็นหน้าที่ที่ผู้ชมต้องทำ
ซึ่งในฐานะผู้ชม สิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้คือการวิจารณ์ภาพยนตร์ และหลังจากนั้นก็วิจารณ์คำวิจารณ์ของกันและกันแบบไม่รู้จบ พร้อมรับฟังความเห็นของอีกฝ่ายแล้วนำมันไปเป็นอีกมุมมองหนึ่งเพื่อคงไว้ซึ่งอิสระในการแสดงออก ทั้งของผู้ชมและผู้สร้างภาพยนตร์
อ้างอิงข้อมูลจาก