ในช่วงล็อกดาวน์ที่หลายคนต้องใช้ชีวิตซ้ำๆ วนเวียนจนเกิดความเครียดแบบนี้ การได้เครื่องดื่มซ่าๆ สักแก้วอย่างคราฟต์โคล่าก็ดูจะเป็นความคิดที่ไม่เลว ความผ่อนคลายจากรสหวานโดยธรรมชาติและกลิ่นไอของสมุนไพรคงทำให้เรารู้สึกสดชื่นขึ้นมาได้ทันที เป็นโคล่าเองนี่แหละที่มีส่วนผสมของยาพื้นบ้านในอาหารไทยที่กินกันมานับ 100 ปีแล้ว
โคล่าเกิดจากการลองผิดลองถูกในร้านขายยาเล็กๆ ที่มีชื่อว่า เจคอบส์ ฟามาร์ซี เมื่อครั้ง ค.ศ.1886 โดย จอห์น แพลมเบอร์ตัน เภสัชกรที่นำวัตถุดิบจากธรรมชาติที่เขาพอจะหาได้มาผสมรวมกันให้เกิดน้ำเชื่อมเข้มข้นสีดำ แล้วก็เป็นเหล่าสมุนไพรนี่เองที่เป็นวัตถุดิบหลักในโคล่าของ Coca-Cola (Coke) หรือ Pepsi แบรนด์น้ำอัดลมยักษ์ใหญ่ที่เราคุ้นเคยกันดี สมุนไพรที่ว่าก็ไม่ใช่ที่ไหนไกลเพาะล้วนแล้วแต่ประกอบไปด้วยสมุนไพรก้นครัวไทยที่บ้านเราใช้กันเป็นประจำในครื่องแกงและผัดเผ็ดต่างๆ เป็นสมุนไพรที่เห็นอยู่ประจำทั่วไปในเกือบจะทุกมื้ออาหารของเรา
คราฟต์โคล่าที่ชาวตะวันตกคิดค้นขึ้นมาและเปรียบเสมือนกับน้ำมหัศจรรย์จนขายดีเป็นเทน้ำเทท่าทั่วโลกนั้น มันก็คือเครื่องดื่มที่ทำกินเองที่บ้านได้จากสมุนไพรพื้นบ้านเราเอง
ที่จริงการเดินทางของเครื่องดื่มรสชาติโคล่าเริ่มเข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ในช่วงเดียวกับที่คนไทยมีการติดต่อและการค้าขายกับต่างประเทศคับคั่ง โดยเริ่มวางขายช่วงแรกๆเฉพาะในร้านขายยา ตอนนั้นคนไทยเราเรียกว่า “น้ำมะเน็ด” ที่ย่อมาจากคำว่า น้ำเลมอนเนด ชื่อส่วนผสมและรสชาติหลักของโคล่านั่นเอง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็เริ่มมีการประชาสัมพันธ์คำว่าน้ำอัดลมมากขึ้น โดยมีการลงในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ จนทำให้คนไทยเริ่มรู้จักและเริ่มนิยมดื่มน้ำอัดลมกันมากขึ้น ช่วงนั้นราคาตกอยู่เพียงแค่ขวดละ ประมาณ 3–5 สตางค์ ซึ่งสมัยนั้นก็ยังนับว่าแพงอยู่ จึงทำให้คนสมัยนั้นถ้าใครได้ดื่มน้ำอัดลมนับว่าเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่งเลยทีเดียว
มีอะไรในน้ำโคล่า
ว่าด้วยเรื่องที่มาที่ไปกันไปแล้ว ทีนี้เรามาลองดูกันสิว่า ในความมหัศจรรย์ของรสชาติที่นักเคมีรสชาติเคยกล่าวไว้ว่าเป็นรสชาติที่สามารถสร้างความประทับใจในครั้งแรกที่ได้ดื่มและลืมเลือนได้ภายใน 30 นาที จนทำให้เราต้องการดื่มซ้ำๆ อีกโดยไม่รู้สึกเพียงพอนั้น มีสมุนไพรมีส่วนผสมอะไรกันบ้าง แล้วคุณสมบัติในแต่ละอย่างจะช่วยให้เราสดชื่นได้อย่างไร
- อบเชย : ช่วยขับเหงื่อ ให้ความสดชื่น แก้อาการอ่อนเพลีย ช่วยขับลม ช่วยให้เลือดลมในร่างกายไหลเวียนได้สะดวก
- ลูกจันทน์ : บำรุงกำลัง แก้จุกเสียด ขับลม รักษาอาการอาหารไม่ย่อย คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย กระหายน้ำ ช่วยละลายเสมหะโลหิต บำรุงโลหิต
- ลูกผักชี : แก้กระหายน้ำ แก้ลมวิงเวียน แก้บิด ถ่ายเป็นเลือด แก้ริดสีดวงทวาร แก้ปวดฟัน ช่วยย่อยอาหาร ช่วยขับลม
- ตะไคร้ : ช่วยกระตุ้นให้ตื่นตัว มีชีวิตชีวา ทำให้กระปรี้กระเปร่า คลายเครียด แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร ช่วยเจริญอาหาร
- มะนาว : ช่วยรักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่นท้อง และช่วยขับลม
- ผิวมะกรูด : ผ่อนคลายความเครียด ช่วยขับลมในลำไส้ แก้อาการจุกเสียด ท้องอืด
- เปลือกส้ม : ช่วยผ่อนคลายความเครียด ลดอาการอักเสบผิวได้ บำรุงสายตา ช่วยให้นอนหลับสบาย
- น้ำตาล (ทั้งน้ำตาลอ้อย น้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลโตนด ใช้ 3 อย่างเลย) : ช่วยให้หัวใจแข็งแรง วิตามินซีช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยลดความเครียด
จากรายการเครื่องปรุงที่อยู่ในส่วนผสมหลัก เห็นได้ชัดเลยว่าจุดเด่นของเครื่องดื่มที่เรียกว่าโคล่า นั้นไม่เพียงแต่ความหวานอย่างเดียว แต่จะต้องมีรสชาติเปรี้ยวปลายๆ และกลิ่นน้ำมันหอมระเหยของเปลือกผลไม้และเครื่องเทศที่ต้องผ่านการคั่วเพื่อดึงเอาเอกลักษณ์ของกลิ่นที่เฉพาะออกมาอีกด้วย
เริ่มต้นทำคราฟต์โคล่าที่เราคราฟต์เอง
ถึงเวลาลองทำคราฟต์โคล่ากันแล้ว แน่นอนว่าเอกลักษณ์ของคราฟต์โคล่าคือกลิ่น ดังนั้นอันดับแรกเรามาสร้างกลิ่นและรสชาติไซรัปกันก่อน ด้วยวิธีปรุงง่ายๆ ตามนี้
- คั้นน้ำมะนาว 5–6 ลูก แล้วแยกน้ำพักไว้ก่อน
- นำเปลือกมะนาวที่ได้มารวมกันกับผิวมะกรูดและเปลือกส้ม นำทั้งหมดใส่ภาชนะเติมน้ำเปล่า 500 มิลลิลิตร
- คั่วก้านตะไคร้ อบเชย ลูกจันทร์ ลูกผักชี ในกระทะให้ร้อน ระวังอย่าให้ไหม้ แล้วนำใส่ในถุงกรองชาแล้วนำไปรวมใส่หม้อ
- ต้มทั้งหมดด้วยไฟอ่อนๆ ประมาณ 20 นาที
- เติมน้ำตาลทั้ง 3 ชนิด (น้ำตาลอ้อย น้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลโตนด) อย่างละ 100 กรัม ลงไปแล้วคนจนละลายดี
- ใส่น้ำมะนาวที่คั้นไว้ก่อนหน้านี้แล้วดับไฟทันที
- กรองส่วนที่เหลือด้วยผ้าขาวบาง เก็บใส่ขวดแก้วปิดฝาสนิทใส่ตู้เย็นไว้
ปิดท้ายด้วยขั้นตอนการชง โดยใช้ไซรัปโคล่า 1 ส่วน : โซดา 3 ส่วน
เคล็ดลับแนะนำ ให้ใส่ไซรัปกับน้ำแข็งเข้าไปในแก้วก่อนแล้วจึงเติมโซดาลงไป และถ้าต้องการเพิ่มความหลากหลายสามารถเพิ่มผลไม้ต่างๆ หรือน้ำมะนาว ด้านบนได้อีก ทั้งนี้ส่วนผสมในคราฟต์โคล่ายังขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนอยากทำออกมาให้เป็นแบบไหน … ขึ้นชื่อว่าคราฟต์โคล่าทั้งที ใครอยากได้กลิ่นแบบไหน รสชาติอะไร เชิญทดลอง
โคล่าต้องมีของคู่กัน
คลายเครียดอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะท้องก็ต้องอิ่มด้วย เราลองมาเอาเครื่องดื่มโคล่าจับคู่กับอาหารในชีวิตประจำวันเพื่อสร้างอรรถรสใหม่ๆ ในการกินกัน
เนื้อย่าง : เป็นเมนูที่ต้องการเครื่องดื่มที่มีรสชาติหนาแน่นเพื่อดึงความกลมกล่อมจากรสชาติเนื้อออกมาให้มากที่สุด ความเข้มข้นของน้ำตาลไหม้ในโคล่าจะเสริมเนื้อแดงได้อย่างลงตัว อีกทั้งรสเปรี้ยวจะสามารถลดความเลี่ยนของไขมันที่แทรกในเนื้อได้อีก
ไก่ทอดและพิซซ่า : หลังจากรับประทานของมันทุกชนิด ลิ้นของเราต้องการทำความสะอาดเพื่อได้รับรสชาติอื่นต่อ ความเปรี้ยวของมะนาวและความซ่าของโซดาในโคล่าทำการครูดความมันบนลิ้นให้สะอาดได้
ไก่ย่างและหมูปิ้ง : ความเค็มและความเปรี้ยวเป็นสองคู่หูที่ทำหน้าที่ดึงกลิ่นของควันบนอาหารต่างๆ ให้เกิดกลิ่นในการรับรสมากขึ้น และความหวานในโคล่าก็ผลักดันให้กลิ่นควันในอาหารปิ้งย่างลงตัวขึ้น
เนื้อแดดเดียว : ความเค็มและรสชาติจัดจ้านบนเนื้อต้องการความเปรี้ยวของเครื่องดื่ม เพื่อไปละลายไขมันในตัวเนื้อ โดยจะทำให้รู้สึกสดชื่นในปาก รสชาติหวานของผลไม้ในโคล่าจะเข้าไปปรับสมดุลรสชาติที่เค็มจัดจ้านได้อย่างดี
ต้มกะทิและต้มข่าไก่ : ความมันของกะทิต้องการสารแทนนินที่จะทำให้ความชุ่มชื้นในปากแห้งลง และเมื่อได้รับกับความเข้มข้นของน้ำแกงมารวมกับน้ำมันหอมระเหยของเปลือกของเลม่อนที่อยู่ในโคล่าที่มีรสขมจากแทนนิน ความชุ่มชื้นก็จะเกิดขึ้นและเกิดความอร่อยที่เรียกว่าอูมามิ
ส้มตำ : กลิ่นอันฉุนเฉียวและร้อนแรงในส่วนผสมที่มีทั้งเครื่องเทศสมุนไพร ต้องการตัวช่วยจากเครื่องดื่มที่มีความเป็นรสชาติผลไม้มาทำให้กลิ่นเครื่องเทศเบาลงและกลมกล่อม
ยำวุ้นเส้น : รสชาติเปรี้ยวหวานของอาหารต้องการเครื่องดื่มที่ใกล้เคียงกัน ทำให้รสชาติในเมนูนั้นไปในทิศทางเดียวกันและโคล่าก็มีคุณสมบัตินั้น
น้ำพริก : ความเผ็ดร้อนของเมนูต้องการความเย็นที่เกิดจากธรรมชาติมาทำให้เบาบางลง และต้องเป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของธรรมชาติ
ข้าวเกรียบ : ความกรอบและเบาต้องการเครื่องดื่มซ่าๆ และไม่จัดจ้านจนเกินไปทำให้ได้รสสัมผัสมากขึ้น
ที่จริงแล้วความหลากหลายของอาหารที่สามารถทานควบคู่กับโคล่ามีเกือบทุกแขนง จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเครื่องดื่มอย่างโคล่าจึงครองใจคนทั้งโลกได้อยู่ตลอดจนทุกวันนี้
Illustration by Sutanya Patthanstiubon